“เพราะข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้ามีความรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบต่อความผาสุกของคนไทยทั้งประเทศ…เปรียบเสมือนครอบครัว พ่อบ้านเห็นลูกคนไหนไม่ดี จะอัปเปหิขับไล่ตัดเป็นตัดตายเสียเลยทีเดียว โดยไม่อบรมดุด่าว่ากันเลย ก็ไม่ถูก ข้าพเจ้าเป็นดั่งพ่อบ้าน เห็นท่านไม่ดีจึงสั่งให้มาจับตัวมากักไว้ อบรมว่ากล่าวให้รู้ตัวชั่วดีกันเสียก่อน”[1]
แม้ว่าภาพจำทางการเมืองไทยในปัจจุบันของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทยจะมีภาพจำที่มิสู้ดีนัก กล่าวคือ เป็นภาพจำของผู้นำเผด็จการทหารที่โหดเหี้ยม เด็ดขาด และรุนแรง กระนั้นก็ปฏิเสธมิได้ว่า สำหรับผู้คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้สูงวัยบางคนที่เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตทางการเมืองในยุคจอมพลสฤษดิ์ (พ.ศ. 2500-2506) กลับมีอาการ ‘คิดถึงจอมพลสฤษดิ์’ ในยามที่บ้านเมืองไทยเต็มไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง
เป็นไปได้ว่า สาเหตุหนึ่งของอาการ ‘คิดถึงจอมพลสฤษดิ์’ มาจากภาพความทรงจำว่าด้วยบุคลิกภาพที่น่ากลัวและน่าเกรงขามของจอมพล ด้วยการเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติและนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจสั่งการอย่างเด็ดขาด รุนแรง และการดำเนินนโยบายทางการเมืองแบบ ‘ยาแรง’ เช่น การสั่งประหารชีวิตด้วยวิธีการ ‘ยิงเป้า’ ผู้ต้องสงสัยในกรณีลอบวางเพลิง ไปจนถึงการปราบปรามบรรดาเหล่านักเลงอันธพาล ทำให้จอมพลสฤษดิ์ที่มีภาพจำในฐานะของผู้นำเผด็จการทหาร แต่ในขณะเดียวกันก็ทำกลับทำให้หลายคนมีภาพความทรงจำว่า ยุคสมัยการปกครองของจอมพลสฤษดิ์เป็นยุคที่สังคมไทย
มีความสงบสุขเรียบร้อยอย่างที่มิเคยเป็นมา
ตลอดยุคสมัยทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ หนึ่งในนโยบายที่ถือได้ว่าเป็นนโยบาย ‘โบว์แดง’ คือนโยบายปราบอันธพาล ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังนับตั้งแต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ได้ทำการยึดอำนาจในนามของการ ‘ปฏิวัติ’ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ดังที่จอมพลสฤษดิ์ในนามหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ออกประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันเพียงไม่นานหลังการปฏิวัติสำเร็จว่า
“ด้วยปรากฏว่า ได้มีบุคคลประพฤติตนเป็นอันธพาล กระทำการด้วยตนเองหรือสนับสนุนคนอื่น รังแกข่มเหง ขู่เข็ญ หรือรบกวนให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน และในบางกรณีก็กระทำการแสดงตนให้บุคคลอื่นเกรงกลัว จำต้องยอมทนรับกรรมบางประการ ไม่กล้าขัดขืนหรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการ เพราะเกรงภัยอันจะเกิดแก่ตน ทั้งนี้ นับเป็นภัยอันตรายแก่ความสงบสุขของประชาชนพลเมืองทั่วไป นอกจากนั้น ยังปรากฏว่ามีบุคคลอยู่ไม่น้อยที่ดำรงชีพด้วยการกระทำผิดต่อกฎหมาย เช่นเป็นเจ้ามือการพนันสลากกินรวบอันเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของชาติ คณะปฏิวัติเห็นเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจจะได้จัดการปราบปรามบุคคลเช่นว่านั้น เพื่ออำนวยความสุขแก่ประชาชน และความเจริญของบ้านเมือง”[2]
แม้เหตุผลตามประกาศคณะปฏิวัติจะเป็นไปเพื่อความสงบสุขของประชาชน แต่นโยบายปราบอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์ก็มีความเป็นการเมืองอย่างมาก เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นที่รับรู้กันดีว่า เหล่าบรรดานักเลงอันธพาลส่วนใหญ่ซึ่งมักจะมีอาชีพเป็นคนคุมซ่อง คุมบ่อนการพนัน และคุมแหล่งอบายมุขต่างๆ อยู่ภายใต้การสนับสนุนดูแลของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ผู้เป็นนายตำรวจใหญ่และนักการเมืองมือขวาคู่ใจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทำให้เหล่าบรรดานักเลงอันธพาลที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 2490 ในเขตพระนครอย่าง ‘เกชา เปลี่ยนวิถี’ และ ‘โอวตี่’ นิลราช แซ่โค้ว ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางเจ้าหน้าที่
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มนักเลงอันธพาลส่วนใหญ่ถือเป็นฐานเสียงและหัวคะแนนให้แก่พรรครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองไว้สำหรับคอยก่อกวนรังขวานคู่แข่งทางการเมืองหรือฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล[3]
ดังนั้น ในด้านหนึ่ง นโยบายปราบอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์จึงเป็นการทำลายเครื่องมือและกลไกอำนาจทางการเมืองของกลุ่มพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งถือเป็นฝ่ายอำนาจเก่าที่จอมพลสฤษดิ์ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ (ในครั้งแรก) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ก่อนที่หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี จอมพลสฤษดิ์ก็ทำการปฏิวัติยึดอำนาจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ในนามของ ‘คณะปฏิวัติ’
นโยบายปราบอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์ดำเนินไปอย่างเข้มข้นตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ และปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์หลายฉบับอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติบัญชีผลการปราบปรามบุคคลอันธพาลของตำรวจนครบาลระบุว่า นับจากวันปฏิวัติ 20 ตุลาฯ จนถึงสิ้นปี 2501 มีเหล่าอันธพาลถูกเจ้าหน้าที่จับกุมจำนวนทั้งสิ้น 894 คน ในขณะที่ตลอดทั้งปี 2502 ซึ่งเป็นปีที่มีการจับอันธพาลมากที่สุด มีอันธพาลถูกเจ้าหน้าที่จับกุมจำนวนมากถึง 2,210 คน และตลอดสมัยทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ (พ.ศ. 2501-2506) มีเหล่าอันธพาลถูกจับกุมไปทั้งสิ้นเป็นจำนวนมากถึง 7,539 คน[4]
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง นโยบายปราบอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์ก็ช่วยสร้างเสริมภาพลักษณ์การเป็นผู้นำทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเด็ดขาด ดังที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับในสมัยนั้นมักกล่าวถึงจอมพลสฤษดิ์ด้วยวาทศิลป์ว่า ‘เด็ดขาด’ หรือ ‘เฉียบขาด’ ดังรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่รายงานข่าวนโยบายปราบอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์ ว่า ‘จะปราบอันธพาลเด็ดขาด’
“จอมพลสฤษดิ์ก็ได้ดำริที่จะปราบปรามอันธพาลให้หมดสิ้นไปโดยเด็ดขาด เพราะเห็นว่าเหล่าอันธพาลเหล่านี้เป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญของประเทศชาติ ทั้งทำให้การปฏิบัติของคณะปฏิวัติบังเกิดความไม่สะดวกตามจุดประสงค์ แม้คณะปฏิวัติจะดำเนินการลดค่าครองชีพประชาชนหรือแก้ไขสิ่งเลวร้ายในสังคมให้ดีขึ้น แต่ถ้ายังมีเหล่าอันธพาลคอยก่อกวนก็เสมือนยังมีโรคร้ายอยู่ ประชาชนผู้สุจริตถูกพวกอันธพาลเบียดเบียนอยู่เสมอดังนี้ จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปราบอันธพาลเหล่านี้ให้หมดสิ้นให้จงได้ และจะถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่คณะปฏิวัติจะต้องกระทำอย่างรีบด่วนอีกด้วย”[5]
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงแรกๆ ของการดำเนินนโยบายปราบปรามอันธพาล จอมพลสฤษดิ์ยังเดินทางไปสถานีตำรวจต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อสำรวจตรวจสอบการจับกุมอันธพาลของเจ้าหน้าที่ และได้สั่งสอนเหล่าบรรดาอันธพาลที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมนำตัวมาไว้ที่โรงพักด้วยตัวเอง ดังรายงานข่าวฉบับหนึ่งที่รายงานว่า “จอมพลสฤษดิ์ตักเตือนอันธพาล ยังไม่สายเกินไปที่จะกลับตัว”
“หลังจากที่ได้ไปตรวจสถานีตำรวจพญาไทและเบิกตัวอันธพาลมาทำการอบรมสั่งสอนให้กลับตัวเสียใหม่มาคืนหนึ่งแล้ว คืนต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติได้ไปตรวจและเบิกตัวบุคคลเป็นอันธพาลมาอบรมที่สถานีตำรวจพลับพลาไชยทั้งสองเขต 22 คน และจากคำสั่งสอนนี้เอง ทำให้อันธพาลบางคนได้สำนึกความผิดถึงกับหลั่งน้ำตาว่า ‘ผมผิดไปแล้ว’ ก่อนจะกลับได้สั่งให้ทำการกวาดล้างอันธพาลที่ยังเหลือต่อไปอีก
...ขณะที่จอมพลสฤษดิ์กำลังอบรมอยู่นั้นอันธพาลสองคนซึ่งภายหลังทราบว่าชื่อนายฮั๊ว แซ่เบ้ กับนายชิด แซ่ลิ้ม ยืนร้องไห้น้ำตาไหลได้สารภาพกับจอมพลสฤษดิ์ว่าจะพยายามกลับตัวเป็นคนดี เพราะสำนึกถึงความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว”[6]
อย่างไรก็ดี คงไม่มีการจับกุมอันธพาลครั้งใดจะเป็นข่าวความสนใจได้เท่าการจับกุมนายเกชา เปลี่ยนวิถี นักแสดงประเภท ‘ดาวร้าย’ ชื่อดังของวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งได้เริ่มต้นอาชีพการแสดงในช่วงยุคปลายทศวรรษ 2490 ทว่าก็มีชื่อเสียงทางด้านการเป็นนักเลงดังย่านฝั่งพระนคร รวมทั้งยังมีข้อมูลด้วยว่า นายเกชา เคยเป็นฐานเสียงและหัวคะแนนให้กับพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2500
นายเกชาจึงถือเป็นเป้าหมายอันดับแรกๆ ของคณะปฏิวัติในการดำเนินนโยบายปราบอันธพาล โดยปรากฏข่าวว่า จอมพลสฤษดิ์ได้เรียกตัวให้นายเกชาไปพบและตักเตือนนายเกชาด้วยตนเองว่า “ไม่ให้ประพฤติตนเป็นอันธพาล ถ้าไม่เชื่อฟังจะจัดการเด็ดขาด”
“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติคาดโทษนายเกชา เปลี่ยนวิถี กับนายเต้อ หรือวิชัย วานิชยทัตต์ ในขณะที่รองอธิบดีตำรวจนำตัวไปพบ ณ กองบัญชาการคณะปฏิวัติว่า ให้กลับตัวเป็นคนดีเสีย หากยังขืนข่มเหงรังแกประชาชนอีกจะจัดการอย่างเด็ดขาดต่อไป…
จอมพลสฤษดิ์ได้สอบถามปากคำบุคคลทั้ง 2 และตักเตือนสั่งสอนให้เลิกประพฤติตัวเป็นนักเลงอันธพาลเกะกะเกเรเสียที หากพ้นและถูกปลดปล่อยเป็นอิสระไปแล้วยังขืนทำตัวเป็นนักเลงรังแกชาวบ้านอีกละก้อจอมพลสฤษดิ์ได้คาดโทษว่าจะจัดการอย่างเฉียบขาด ซึ่งตลอดเวลาที่จอมพลสฤษดิ์สั่งสอนอยู่เกือบ 1 ชั่วโมงนั้น ทั้งสองก้มลงกราบอยู่ไม่ขาด”[7]
กล่าวได้ว่า ข่าวการจับกุม ตักเตือน และสั่งสอนนายเกชา ได้ช่วยสร้างเสริมภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีความ ‘เด็ดขาด’ และ ‘เฉียบขาด’ ให้แก่จอมพลสฤษดิ์ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นอย่างมาก เป็นการแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการดำเนินนโยบายปราบอันธพาล และในอีกด้านหนึ่ง นโยบายปราบอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์ก็ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในการเป็น ‘พ่อบ้าน’ ทางการเมืองไทยของจอมพลสฤษดิ์ ภายใต้การปกครองแบบไทยด้วยคติ ‘พ่อปกครองลูก’
ควรกล่าวนำก่อนว่า ภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางการเมืองไทยมีภาพลักษณ์เป็น ‘พ่อขุนอุปถัมภ์’ มาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยมีอิทธิพลมาจากข้อเสนอในงานวิชาการคลาสสิคเรื่อง ‘การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’ ของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ[8]
อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอชิ้นหนึ่งของผู้เขียนก่อนหน้านี้ ได้พยายามเปิดประเด็นให้เห็นว่า ผู้นำทางการเมืองไทยที่มีภาพลักษณ์เป็น ‘พ่อขุน’ ทางการเมืองนั้นมีเพียงคนเดียว คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งภาพลักษณ์พ่อขุนก็กลับเป็นภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่จอมพล ป.พิบูลสงคราม อยู่มาก ภาพลักษณ์ ‘พ่อขุนจอมพล ป.’ จึงกลายเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่จอมพลสฤษดิ์ว่า ภาพลักษณ์ ‘พ่อขุน’ ทางการเมืองไทยจะไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกันหากจอมพลสฤษดิ์จะนำมาใช้[9]
ดังนั้น เมื่อสำรวจโอวาทและคำกล่าวต่างๆ ของจอมพลสฤษดิ์โดยละเอียดแล้วนั้น จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าแม้คติการปกครองของจอมพลสฤษดิ์จะเป็นคติแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ หากแต่จอมพลสฤษดิ์มิได้เปรียบตนเองว่าเป็นพ่อขุนดังที่เข้าใจกันมา แต่จอมพลสฤษดิ์ได้เปรียบตนเองเป็นดั่ง ‘พ่อบ้าน’ หรือ ‘หัวหน้าครอบครัว’
น่าสนใจว่า จอมพลสฤษดิ์ นิยมกล่าวว่าตนเองเป็นดั่ง ‘พ่อบ้าน’ หรือ ‘หัวหน้าครอบครัว’ ในพิธีปิดการอบรมอันธพาล ซึ่งเป็นการอบรมที่จอมพลสฤษดิ์ได้มีนโยบายให้นำเหล่าอันธพาลที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปเข้ารับการฝึกอบรมบ่มนิสัย ฝึกหัดระเบียบวินัยแบบทหาร และให้ฝึกหัดอาชีพต่างๆ เป็นระยะเวลาหลายเดือน โดยจอมพลสฤษดิ์ได้ให้ความสำคัญกับพิธีการดังกล่าวนี้เป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากจอมพลสฤษดิ์จะเดินทางมาเป็นประธานให้โอวาทแก่เหล่าอันธพาลในพิธีปิดการอบรมด้วยตนเองอยู่เสมอ ดังเช่น โอวาทในพิธีปิดการอบรมอันธพาล วันที่ 6 กันยายน 2503 จอมพลสฤษดิ์ได้ให้โอวาทว่า
“ข้าพเจ้าไม่ได้เกลียดท่านชังท่านทั้งหลาย เพราะท่านจะเป็นอันธพาลหรือเป็นอะไรท่านก็เป็นเพื่อนร่วมประเทศของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถืออยู่เสมอ ว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัวอันใหญ่ จะเป็นบุญหรือกรรมก็ตามที ข้าพเจ้าเผอิญต้องมารับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวในเวลานี้”[10]
และในพิธีปิดการอบรมอันธพาล รุ่นที่ 4 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2504 จอมพลสฤษดิ์ได้ให้โอวาท ว่า “เพราะข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้ามีความรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบต่อความผาสุกของคนไทยทั้งประเทศ…เปรียบเสมือนครอบครัว พ่อบ้านเห็นลูกคนไหนไม่ดี จะอัปเปหิขับไล่ตัดเป็นตัดตายเสียเลยทีเดียว โดยไม่อบรมดุด่าว่ากันเลย ก็ไม่ถูก ข้าพเจ้าเป็นดั่งพ่อบ้าน เห็นท่านไม่ดีจึงสั่งให้มาจับตัวมากักไว้ อบรมว่ากล่าวให้รู้ตัวชั่วดีกันเสียก่อน”[11]
กล่าวได้ว่า ภายใต้เหตุผลเพื่อความสงบสุขของประชาชน นโยบายปราบอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์ไม่เพียงแต่จะเป็นการทำลายฐานอำนาจคู่แข่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นนโยบายที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็น ‘พ่อบ้าน’ ทางการเมืองไทยของจอมพลสฤษดิ์ ด้วยคติการปกครองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ ให้เด่นชัด
และหากจะกล่าวมากไปกว่านั้น ในบริบทที่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีสถานะราวกับเป็น ‘คนแปลกหน้า’ ของสังคมการเมืองไทย ลึกๆ ลงไปแล้ว นโยบายปราบอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์ แสดงให้เห็นถึงมโนทัศน์การปกครองของไทยด้วยคติการปกครองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ ทำให้เห็นถึง ‘กระบวนการสร้างความเป็นเหตุเป็นผล’ ของการปกครองด้วยระบบอำนาจนิยมแบบเผด็จการของไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ใช้มิติทางการเมืองวัฒนธรรมอธิบายความสันพันธ์ทางอำนาจการปกครองผ่านการเปรียบเปรย เปรียบเหมือน หรืออุปลักษณ์ (metaphor) ว่าผู้นำทางการเมืองเป็นดั่ง ‘พ่อบ้าน’ ที่ปกครองลูกๆ ประชาชน
บุคลิกภาพที่น่ากลัวและน่าเกรงขามของจอมพลสฤษดิ์ในฐานะผู้นำเผด็จการทหาร จึงได้ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นภาพของ ‘พ่อบ้าน’ ที่มีหน้าที่และความชอบธรรมในการอบรมสั่งสอนและว่ากล่าวลูก ๆ ประชาชน ให้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นประชาชนพลเมืองที่ดีของระบอบปฏิวัติ หรือที่เรียกกันในอีกชื่อว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ’
[1] จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, โอวาทในวันปิดการอบรมเพื่อปลดปล่อยอันธพาล รุ่นที่ 4 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2504, ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2505-2506 (เล่ม 2), คณะรัฐมนตรีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, 2507), 578.
[2] ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 (2 พฤศจิกายน 2501) ใน ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม 75 ตอน 89 (2 พฤศจิกายน 2501), 2.
[3] ดูประเด็นนี้ใน วรยุทธ พรประเสริฐ, นักเลงพระนคร: ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ – สังคมกับการเกิดนักเลงแบบเมืองในสังคมไทย พ.ศ.2411 – 2500, วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2562, 206 – 217.
[4] ประเสริฐ รุจิรวงศ์, การปราบปรามบุคคลอันธพาล, ใน ประวัติและผลงานของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะรัฐมนตรี พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิริน
ทราวาส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2507, (พระนคร: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี), 50.
[5] ชาวไทย 21 ธันวาคม 2501
[6] สารเสรี 20 ธันวาคม 2501
[7] ชาวไทย 29 ธันวาคม 2501 ใน ก/ป7/2501/บ. 21.1 การกระทำการปฏิวัติ
[8] ดู ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552).
[9] ดู อิทธิเดช พระเพ็ชร, กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง : “จอมพล ป. นักประชาธิปไตย” ถึง “พ่อขุนจอมพล ป.”ภาพลักษณ์ทางการเมืองสุดท้ายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 44 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2566).
[10] จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, โอวาทและคำกล่าวปิดการอบรมอันธพาล ในวันที่ 6 กันยายน2503, ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2502-2504 (เล่ม 1), คณะรัฐมนตรีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, 2507), 215.
[11] จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, โอวาทในวันปิดการอบรมเพื่อปลดปล่อยอันธพาล รุ่นที่ 4 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2504, ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2505-2506 (เล่ม 2), 578.