การเมืองเรื่องผ้าอนามัย : เริ่มหวั่น แม้วันมามาก

การเมืองเรื่องผ้าอนามัย : เริ่มหวั่น แม้วันมามาก

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพ

 

ไม่นานมานี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ออกมาเล่าประสบการณ์อดข้าวเพื่อซื้อผ้าอนามัย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ตรงใจผู้หญิงหลายคน จนกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ ว่าด้วยราคาของผ้าอนามัย ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือ ‘ราคาการดำรงชีวิต’ ของผู้หญิง

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลสก็อตแลนด์ได้ทุ่มเงินกว่า 4 ล้านยูโร เพื่อดำเนินนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีแก่ประชาชน หลังจากรัฐ Aberdeen เคยนำร่องโครงการแจกผ้าอนามัยในโรงเรียน เป็นเวลาเกือบปี เพราะเห็นว่าเป็นกลไกทางร่างกายที่ผู้หญิงเลือกไม่ได้ ขณะที่ประชาชนบางคนมีเงินน้อย ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยที่มีราคาแพงได้ จนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคมตามมา

และช่วงวันที่  24 ก.พ. ที่ผ่านมา ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Period. End of Sentence.’ สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มหญิงสาวในหมู่บ้านเล็กๆ ของอินเดีย ที่ผลิตผ้าอนามัยใช้และขายในราคาย่อมเยาว์ ก็คว้ารางวัลออสการ์ สาขาสารคดีขนาดสั้นไป ด้วยเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาและความลำบากของผู้หญิงในสังคมชนบทในการเข้าถึงผ้าอนามัยที่มีคุณภาพและราคาแพง

บรรยากาศจากหยิบหย่อมของมุมโลกนี้ ทำให้เราเห็นว่า ‘ผ้าอนามัย’ สุขภาวะหนึ่งของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามและต้องการการถกเถียงอยู่ไม่น้อย

ในช่วงที่วันเลือกตั้งใกล้เข้ามา 101 ถือโอกาสยกหูถามความเห็นของตัวแทนจากพรรคการเมืองที่มีต่อประเด็นนี้

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ในฐานะคนที่ทำงานคลุกคลีกับผู้ป่วยที่นอนติดเตียง เรื่องราคาผ้าอนามัย รวมถึงสินค้าประเภทเดียวกันอย่างแพมเพิร์สผู้ใหญ่ เป็นสินค้าที่มีราคาแพงมาก โดยมองว่าสาเหตุหลักมาจากเรื่องกลไกในตลาดเสรี ประกอบกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการทำการตลาดของผู้ผลิต

“ผมขออนุญาตตั้งขอสังเกตว่า ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เสียเงินค่าแพคเกจจิ้ง ค่าโฆษณาไปเท่าไหร่ ต้นทุนจริงๆ ในทางอุตสาหกรรม แผ่นนึงอาจไม่ถึง 5 บาท แต่พอมีค่าการตลาด ราคาเลยมาถึงจุดนี้”

“จริงๆ ไม่ใช่แค่ผ้าอนามัยหรอก พวกยาสีฟัน ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ที่ทำให้คนรายได้น้อยมีปัญหา เรารู้ว่าทางเคมีมันราคาไม่เท่าไหร่ แต่ไปแพงกับอย่างอื่น เช่น เรื่องแพคเกจจิ้ง เรื่องการตลาด ดังนั้นถ้ามีคนทำการตลาดที่ไร้นาม ไร้แบรนด์ ไม่ต้องสกรีนฉลาก แต่ดูคาแรกเตอร์แล้วรู้กันว่าแพคเกจจิ้งนี้คือของแบรนด์นี้ ก็น่าจะช่วยได้ ประเด็นคือต้องเป็น SE ถึงจะทำแบบนี้ได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีคนทำ”

สำหรับวิธีการแก้ปัญหา สมบัติชี้ว่าแทนที่จะหวังพึ่งนโยบายหรือการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ซึ่งอาจประสบปัญหาเรื่องความล่าช้า ไม่คล่องตัว แนวทางที่เป็นไปได้มากกว่า คือการส่งเสริมผู้ประกอบการที่เป็น Social Enterprise ที่สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์เรื่องราคา แต่ยังรักษาคุณภาพได้

“โรงงานจำนวนมากที่ผลิตสินค้าให้แบรนด์ต่างๆ เขาทำเป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) คือการที่โรงงานผลิตให้ทุกแบรนด์ สมมติผมอยากจะทำผ้าอนามัย ผมก็ไปจ้างโรงงานที่ทำผ้าอนามัย แล้วก็ตีตรา ราคาของ OEM ไม่แพงหรอก แต่ว่าพอมาถึงผม ผมต้องทำการตลาดเพื่อให้ผมขายได้ ทำยังไงให้ผมเข้าไปอยู่ในเชลฟ์ของร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้า กระบวนการเหล่านี้ทำให้ราคาสูงขึ้น คำถามคือจะทำยังไงให้ของพวกนี้ไม่ต้องไปวางที่เชลฟ์ แต่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้”

 

ด้าน เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ตัวแทนจากพรรคสามัญชน กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง ‘อนามัยเจริญพันธุ์’ โดยชี้ว่าหลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะถือเป็นเรื่องสิทธิของผู้หญิงทุกคน

“หากพูดในเชิงหลักการ จะเห็นว่าในต่างประเทศก็มีการสนับสนุนเรื่องนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องถุงยางอนามัย เรื่องผ้าอนามัยต้องมีความสำคัญมากกว่าอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เราเลือกไม่ได้ว่าจะมีหรือไม่มี การมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของผู้หญิงอยู่แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดหาให้โดยไม่ต้องคิดซับซ้อน”

“ในอเมริกา อนามัยการเจริญพันธุ์เป็นเรื่องสิทธิของผู้หญิง เรื่องการมีประจำเดือนหรือการดูแลเรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้หญิงทุกคน”

ทั้งนี้ เกรียงศักดิ์มองว่าองค์กรที่สามารถเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องนี้ได้ คือองค์กรที่ทำงานเรื่องการวางแผนครอบครัว ทว่าเมื่อพูดถึงคำว่า ‘การวางแผนครอบครัว’ ในบริบทของประเทศไทย เขามองว่ายังครอบคลุมแค่บางเรื่องเท่านั้น และแน่นอนว่ายังไม่ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการเข้าถึงผ้าอนามัย

“เรื่องผู้หญิงเป็นเรื่องที่เราไม่พูดกันมาเท่าไหร่แล้ว โดยเฉพาะสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของคน เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพูดกันอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ไม่มีการสนับสนุนเรื่องนี้มาก่อน พูดง่ายๆ ว่าเรื่องแบบนี้ วัฒนธรรมไทยยังไม่กล้าพูดกันเปิดเผยด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องต่ำเรื่องสกปรก ทั้งที่เป็นเรื่องพื้นฐาน คล้ายเรื่องที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์อื่นๆ ที่ในสังคมไทยไม่ค่อยพูดกัน”

สำหรับมาตรการด้านภาษี ที่หลายคนชี้ว่าอาจช่วยแก้ปัญหาได้ เกรียงศักดิ์มองว่าในแง่ของการปฏิบัติจริง อาจเป็นเรื่องซับซ้อน โดยเฉพาะในแง่ของการจัดการ

“ทัศนะผมคือ ควรมีการจัดหาให้เข้าถึงได้ในราคาถูก ผ้าอนามัยเป็นสินค้าพื้นฐาน เหมือนปัจจัยสี่ แต่ไม่จำเป็นต้องมีกลิ่นหรือคุณสมบัติอะไรเหมือนที่เขาโฆษณา แต่ต้องใช้ได้และเข้าถึงได้ในราคาที่ไม่ทำให้คนเดือดร้อน”

 

ช่อ – พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นว่า เมื่อนำราคาผ้าอนามัยมาเปรียบเทียบกับค่าแรงหรือรายได้ขั้นต่ำของประเทศไทยในวันนี้ ถือว่าผ้าอนามัยมีราคาแพงจริงๆ

“สำหรับประเทศไทยเอง ผ้าอนามัยถูกจัดอยู่ในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ทำให้เป็นสินค้าที่มีภาษี ทั้งที่จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นสินค้าที่ ถ้าไม่ให้ฟรี ไม่ควบคุมราคา ก็ควรจะปลอดภาษี เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็น เป็นกลไกทางร่างกายที่ทำให้ผู้หญิงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น”

พรรณิการ์ยังเสนอแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาในอนาคตไว้ว่า หากรัฐไม่แจกผ้าอนามัยฟรีในทุกที่ อย่างน้อยในรพ.รัฐ ควรจะมีผ้าอนามัยฟรี ผลักดันเป็นรัฐสวัสดิการให้กับประชาชน

“จริงๆ เรื่องรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องของประชานิยม แต่เป็นเรื่องของการคืนสิทธิให้กับประชาชนผู้เสียภาษี และเกลี่ยกระจายความมั่งคั่ง เรื่องก้าวหน้าอย่างเรื่อง ภาษีผ้าอนามัย และรัฐสวัสดิการไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ในบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้เราเห็นประเด็นใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าถูกพูดถึงเยอะมาก เช่น เรื่องปลดล็อกกัญชา เรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร เรืองปฏิรูปกองทัพ แก้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเชื่อว่าประเด็นก้าวหน้าต่างๆ จะถูกนำมาพูดมากขึ้นในสภาอย่างแน่นอน”

ช่อยังเล่าประสบการณ์จากการไปหาเสียงพบปะประชาชนว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ให้ความสำคัญกับประเด็นก้าวหน้าเหล่านี้อย่างมาก
“เราคาดหวังว่าจะถูกถามคำถามเรื่องการศึกษา AI เทคโนโลยี ปรากฏว่าทุกที่ สิ่งที่ทุกคนถามเหมือนกันหมดคือ ทำยังไงไม่ให้ประเทศนี้มีรัฐประหารอีกต่อไป เรื่องกัญชา คมนาคม และแน่นอน ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงความตื่นตัวต่อการเมืองอย่างน่าสนใจ“

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save