fbpx
จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2020 : จากเลือกตั้งสหรัฐฯ – พายุสงครามการค้า – ชาตินิยมตื่นตัว

จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2020 : จากเลือกตั้งสหรัฐฯ – พายุสงครามการค้า – ชาตินิยมตื่นตัว

กองบรรณาธิการ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านทำให้เศรษฐกิจการเมืองโลกร้อนแรงตั้งแต่เปิดปี 2020 ไม่นับสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนที่ดำเนินมาต่อเนื่อง

ปมการเมืองหลายปมจากปี 2019 ส่งผลให้การเมืองไทย 2020 ไม่ง่ายเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฝ่าฟันความวุ่นวายผันผวนนี้ได้อย่างไร

อะไรคือความท้าทายที่ต้องพร้อมรับมือในปี 2020 คือคำถามที่ทุกสังคมต้องเผชิญ

101 เปิดวง Round Table ชวน อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ China 5.0 และ จีน-เมริกา พร้อมด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) มาคุยลึกๆ ยาวๆ กว่า 2 ชั่วโมงเพื่อตอบคำถามข้างต้น

 

 

ภูมิศาสตร์การเมืองโลก

 

อาร์ม ตั้งนิรันดร
อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

นอกจากกรณีความขัดแย้งของสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ไปจนถึงกรณีการประท้วงที่ฮ่องกง และเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้ผลสรุปอย่างการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา

ในภาพใหญ่ของการเมืองโลก อาร์ม ตั้งนิรันดร พยายามตอบคำถามประเด็นที่ผู้คนต้องคอยจับตา และจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งในแวดวงต่างประเทศ

อาร์มเริ่มต้นว่า ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่องจีนและสหรัฐ โดยความขัดแย้งที่มีมายาวนานน่าจะลดความร้อนแรงลงในปีแห่งการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา

“จีนและสหรัฐฯ กำลังจะเซ็นข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกกันเร็วๆ นี้ แต่แม้สถานการณ์จะลดความร้อนแรงลงแล้ว ความขัดแย้งในระยะยาวอาจยังคงอยู่ ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นหัวใจของ geopolitics ไม่ใช่แค่ในปี 2020 แต่ในอีก10 ปีต่อจากนี้” อาร์มกล่าว

อย่างไรก็ตาม อาร์มได้สรุปเทรนด์สำคัญๆ ที่จะเกิดไว้หลายข้อ ประเด็นแรกคือ การเมืองโลกจะผูกกับการเลือกตั้งสหรัฐ

การเลือกตั้งจะกลายเป็นตัวตัดสินเทรนด์หลายๆ อย่าง และหากสังเกตจะพบว่า ลักษณะของความผันผวนที่โดนัลด์ ทรัมป์ทำ ไม่ได้ทำให้การเมืองโลกถึงกับแตกหัก หรือเกิดความขัดแย้งจนโลกวุ่นวาย แต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดวิกฤต และรีบทำให้คลี่คลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างบรรยากาศที่ดี เป็นผลบวกให้กับการเลือกตั้งของทรัมป์เอง แต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเร็วๆ นี้ อาร์มทำนายว่าทรัมป์ไม่น่าจะได้กลับมา

“หลายคนถามว่าการกระทำต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่ค่อยสนใจระเบียบโลก จะเป็นเทรนด์ระยะสั้น เป็นแค่ข้อยกเว้นเฉพาะยุคของทรัมป์ หรือจะเป็นอย่างนี้ในระยะยาว ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญของคำถามนี้คือ ทรัมป์จะได้อยู่ต่อไหม เพราะถ้าอยู่ต่อก็จะดึงเทรนด์นี้ให้ยาวขึ้น

“แต่ในระยะสั้นของปี 2020 เราพูดได้อย่างหนึ่งว่า หลายๆ อย่างจะคลี่คลาย เช่น เรื่องอิหร่าน เรื่องสงครามการค้าของจีนที่ไม่น่าจะยกระดับในปีนี้ ทั้งหมดนี้ผมคิดว่ามันตอบโจทย์สหรัฐ น่าจะอยู่ในการคำนวณของทรัมป์ในการตัดสินใจเรื่องนโยบายต่างประเทศ”

อาร์มกล่าวต่อว่าเศรษฐกิจและความขัดแย้งกับต่างประเทศเป็นเทรนด์ที่มีผลต่อการเลือกตั้ง หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดี หรือหากสหรัฐฯ มีสงครามความขัดแย้ง ประธานาธิบดีคนเดิมมักจะได้กลับมา เพราะเป็นช่วงที่สังคมกำลังอินกับกระแสชาตินิยมและต้องการผู้นำคนเดิม

อาร์มเล่าว่าหากดูโพลคะแนนเสียงโดยทั่วไป เสียงโหวตของทรัมป์จะคงที่ตลอด ไม่สูงแต่ก็ไม่ขยับลดลง ทั้งนี้อนาคตผลโหวตจะเป็นอย่างไร อาจต้องจับตาดูที่คู่แข่งของทรัมป์ว่าทำให้คนตื่นเต้นไหม สถานการณ์เลือกตั้งในสหรัฐอาจจะกลับมาสู่คำถามที่ว่า “คุณไม่ชอบใครมากกว่ากัน”

“เช่น เอลิซาเบท วอร์เรน และ เบอร์นี แซนเดอร์ส จากพรรคเดโมแครตมีแนวคิดแบบซ้าย จนทำให้ประชาชนที่นิยมฝ่ายขวาต่อต้าน และอาจจะเลือกทรัมป์ในที่สุด”

นอกจากนี้ อาร์มยังวิเคราะห์ลักษณะของการเมืองสหรัฐที่คล้ายการเมืองไทยไว้ว่า ปัญหาพื้นฐานของประเทศจะบีบให้เกิดการตอบสนองสองแบบที่ขัดแย้งกันเอง

“ปัญหาใหญ่ของสหรัฐคือความเหลื่อมล้ำ คนกลุ่มหนึ่งตอบสนองต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยบอกว่า เขาต้องการอำนาจนิยม ชาตินิยม และผู้นำที่แข็งแกร่ง ขณะที่อีกกลุ่มกลายเป็นหัวก้าวหน้า ต้องการจะเปลี่ยนระบบภาษี ต้องการเก็บภาษีคนรวย

“เมื่อสังเกตจะพบว่ามันไม่ได้สวิงไปข้างเดียว มันมีผลกระทบกับทั้งสองฝั่ง การเมืองไทยก็เหมือนกัน ทุกคนเห็นว่าปัญหาพื้นฐานคือความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจ ขณะที่คนกลุ่มนึงกลัวความผันผวน ต้องการให้ทุกอย่างอยู่แบบเดิม อีกกลุ่มนึงก็เป็น progressive ทำให้เกิดกระแสขัดแย้งระหว่างสองกลุ่ม เป็นเทรนด์ที่การเมืองไทยคล้ายกับการเมืองโลก”

อีกประเทศที่สำคัญไม่แพ้กัน และผู้คนจำเป็นต้องจับตาเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองโลก คือ ประเทศจีน อาร์มได้แบ่งประเด็นเกี่ยวกับจีนที่น่าจับตาเป็นสองมิติ เรื่องแรกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ และสงครามการค้า

หลายคนประเมินว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่น่าจะร้อนแรง เพราะจะมีการเซ็นข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ อาร์มแสดงความเห็นว่า แม้ทั้งสองประเทศจะยังไม่ได้พูดคุยถึงข้อตกลงการค้าในเฟส 2-3 แต่ไม่น่าจะขัดแย้งกัน เพราะทรัมป์ต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจดี เพื่อได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย

“หากตัดสินใจเรื่องสงครามการค้ากับจีนพลาดไปจะมีผลกระทบเยอะต่อเศรษฐกิจ และจะมีผลกับคะแนนเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ ทรัมป์น่าจะใช้ข้อตกลงเฟส 1 ในการหาเสียงกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ เพียงแต่ไม่ใช่ระยะยาว เฟส 2-3 ก็ยังต้องติดตามหลังเลือกตั้ง”

มิติที่สองของจีนที่ต้องติดตามคือเรื่องฮ่องกงและไต้หวัน อาร์มวิเคราะห์ว่าตอนนี้ฮ่องกงกลายเป็นเรื่องระยะยาว ไม่มีทีท่าว่าจะจบ และจะกลายเป็น ‘new normal’ อีกแบบหนึ่งสำหรับจีน ประเด็นสำคัญคือความขัดแย้งกับฮ่องกงส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ของไต้หวันซึ่งเพิ่งมีการเลือกตั้งไม่นานมานี้

โดยอาร์มได้กล่าวถึงสองปัจจัยที่ทำให้ ไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ปัจจัยแรกคือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ เพราะทำให้ธุรกิจไต้หวันจำนวนมากที่อยู่ในจีนเริ่มย้ายฐานการผลิตกลับไปที่ไต้หวัน

“มีธุรกิจของไต้หวันอยู่ในจีนเยอะมาก โดยเขาใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาต่ำของจีน และส่งออกไปตลาดสหรัฐ แต่พอเกิดสงครามการค้า เกิดกำแพงภาษี ธุรกิจเหล่านี้ก็ไม่มีข้อได้เปรียบหากยังอยู่ที่จีน เมื่อย้ายกลับมาไต้หวันก็ได้ประโยชน์”

ปัจจัยที่สองคือการประท้วงในฮ่องกง การที่คนรุ่นใหม่ของฮ่องกงออกมาเรียกร้องว่าจีนแทรกแซงการเมือง และบอกว่าการเป็นหนึ่งประเทศสองระบบมีปัญหา ถือเป็นการปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ของไต้หวันไปด้วย

“คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่ามีลักษณะร่วมกับฮ่องกง มีสำนักความเป็นไต้หวัน ก็เป็นชาตินิยมอีกแบบที่ปลุกกระแสของ ไช่ อิงเหวิน ให้กลับมา เราจะเห็นว่าการหาเสียงเลือกตั้งสองครั้งสุดท้าย เป็นการหาเสียงจากกรณีของฮ่องกงเลย เช่น การบอกว่าเราต้องการอนาคตให้ลูกหลาน ไม่ต้องการให้จีนแทรกแซง”

อย่างไรก็ตามอาร์มไม่คิดว่าเรื่องฮ่องกงและไต้หวันจะก่อให้เกิดสถานการณ์รุนแรงในปี 2020 แต่จะเป็นความขัดแย้งในระยะยาวมากกว่า แม้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า จีนแสดงความก้าวร้าวต่อไต้หวันเพื่อตอบโต้ผลการเลือกตั้ง แต่อาร์มกลับไม่คิดเช่นนั้น เขามองว่าการกระทำต่างๆ ของจีนเป็นเพียงการปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศของตัวเอง ขณะเดียวกันไต้หวันเองก็ไม่ได้ต้องการมีปัญหากับจีนด้วย

“ผมคิดว่าเขาไม่ได้จะสื่อสารกับคนไต้หวัน เขาน่าจะรู้ว่ายิ่งทำแบบนี้ คนไต้หวันจะยิ่งโหวตไช่ อิงเหวิน ผมคิดว่าเขาสื่อสารกับคนในประเทศเขา ตอบรับกระแสชาตินิยม และส่งสัญญานต่างๆ ให้กับคนในชาติตัวเอง นอกจากนี้เขาเองก็คงทำนายผลการเลือกตั้งไต้หวันไว้อยู่แล้วว่าจะออกมาเป็นแบบนี้

“ไช่ อิงเหวินก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะยกระดับความขัดแย้ง เพียงแต่จะไม่กลับไปเป็นมิตรกับจีน คนไต้หวันไม่ได้ต้องการสงคราม สถานะของเขาคือ เราไม่กลับไปรวม เราไม่เอาหนึ่งประเทศสองระบบ แต่เราก็ไม่ต้องการรบเหมือนกัน”

ในสถานการณ์การเมืองโลกที่วุ่นวายนี้ หลายคนตั้งคำถามว่าแล้วประเทศไทยจะวางตัวเองไว้ตรงไหนของการเมืองโลก การดำเนินนโยบายต่างประเทศในปัจจุบันเป็นอย่างไร ซึ่งอาร์มได้สะท้อนมุมมองของเขาไว้ว่า รัฐบาลต้องบาลานซ์ความสัมพันธ์กับต่างประเทศให้สมดุล ขณะเดียวกันก็ต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์เช่นกัน

“การบริหารจัดการเรื่องนี้เป็นศิลปะ ผมคิดว่าลักษณะของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเรายังทำตามรูทีน ไม่หวือหวา ขาดจุดยืนและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าประเทศไทยเราต้องการทำอะไร ต้องการใช้ประโยชน์อะไร ตอนนี้เราดูเหมือนพยายามเอาใจทุกฝ่าย

“ในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เราก็ต้องพยายามบาลานซ์ และไม่ควรจะไปยึดโยงกับประเทศมหาอำนาจข้างใดข้างหนึ่ง ในฐานะที่จีนอยู่ใกล้ไทยมากและมีผลกระทบกับเราทุกมิติ เช่น การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ทุน ฯลฯ โจทย์ใหญ่อันนึงคือ เราจะรับมือกับจีนอย่างไร ไม่ใช่การคิดว่าเราจะตัดสินใจเอียงไปทางใดทางหนึ่ง”

 

เศรษฐกิจโลก – เศรษฐกิจไทย
พายุลูกใหญ่กำลังจะมา

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

“ถ้าไม่รู้ว่าฝนเป็นอย่างไร ก็จะไม่รู้ว่าฟ้าใสดีอย่างไร”

พิพัฒน์เปรียบเปรยถึงความไม่แน่นอนของความขัดแย้งในสถานการณ์โลก โดยเฉพาะสถานการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างอเมริกากับอิหร่านซึ่งย่อมส่งผลต่อนักลงทุนทั่วโลก

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เขาได้รับคำถามทันทีว่าถ้าราคาน้ำมันขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจในอาเซียน

“ยังถามไม่ทันจบเลย ราคาน้ำมันลงแล้ว” เขายกตัวอย่าง

ในบรรดาการประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2020 จะเป็นอย่างไร สังคมไทยส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าปีที่แล้วเผาหลอก ปีนี้เผาจริง แทบไม่มีใครคิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์อย่างพิพัฒน์ เขาอธิบายย้อนไปว่าจากปี 2018 เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงจริง ส่วนการส่งออกนั้นติดลบ ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจโดยรวมแผ่วลง, สงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา และค่าเงินบาทแข็ง

“เราเห็นผลกระทบต่อเนื่อง พอส่งออกไม่ค่อยได้ การผลิตก็ลดลง บริษัทลดกำลังการผลิต ปิดหรือปลดคนงาน ซึ่งลามส่งต่อไปถึงความต้องการในการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ผลกระทบที่ว่านี้เกิดขึ้นค่อนข้างเร็วในปี 2019

“พอปี 2020 ทุกคนขอว่าอย่างน้อยตัวเลขการส่งออกอย่าติดลบได้ไหม ถ้าการส่งออกติดลบอีก เรามีสิทธิเห็นเศรษฐกิจไทยลงไปได้อีก และเราจะเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะทวีความรุนแรงหนักกว่าเดิม”

พิพัฒน์ไม่ปฏิเสธว่าเวลานี้ เงินในกระเป๋าของคนในภาคอุตสาหกรรมกำลังถูกกระทบ รายได้และค่าโอทีลดลง ส่วนรายได้ภาคการเกษตรก็ถูกกระทบต่อเนื่องมาหลายปี ราคาสินค้าทางการเกษตรต่ำกว่าเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว

“จากราคาโลกก็แย่อยู่แล้ว เงินบาทก็ยังแข็งอีก ถูกกระทบถึง 2 ชั้น บวกกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กำไรก็ยิ่งหาย แล้วปัญหาภัยแล้งที่กำลังมาถึง ผมมองว่าเราอาจจะเจอพายุลูกใหญ่ได้ ถ้าเราโชคไม่ดีจริง”

พิพัฒน์วิเคราะห์ปัจจัยต่อมาว่า ที่ผ่านมาภาคธนาคารจะใส่เครดิตเข้าไปในเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้า แต่ปีที่ผ่านมาพบว่าภาคธนาคารทั้งระบบ สินเชื่อแทบไม่โตเลย ธนาคารเริ่มปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีน้อยลง เพราะกังวลว่าปล่อยไปเดี๋ยวจะไม่รอด สินเชื่อรายย่อย เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เริ่มเห็นว่าชะลอตัวลง

“ผมเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจจะทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง แล้วจะกระทบกลับมาที่เศษฐกิจอีกรอบ”

เมื่อดูเหมือนไม่มีความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่เขาออกตัวโต้ทันทีว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีแต่ด้านที่แย่ ถ้ามองย้อนกลับไปในปี 2017 ก่อนหน้านั้นสองปี การค้าโลกกำลังทรุด การส่งออกไทยติดลบ จู่ๆ พอปี 2017 การส่งออกไทยเป็นผลบวกขึ้นมา แล้วเศรษฐกิจโลกก็ฟื้นตัวพร้อมกัน เป็นไปได้ว่าถ้าเศรษฐกิจโลกปีนี้ดีขึ้น ก็อาจจะฉุดให้ไทยดีขึ้นตามไปด้วย

 

รับมือกระแสชาตินิยม-ไทยยังไม่พ้นความเสี่ยงรัฐประหาร

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ
ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

สำหรับการเมืองไทย ประจักษ์ มองว่าสถานการณ์การเมืองไทยในปีนี้จะไม่เหมือนช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้ง มี.ค. 2562 เป็นจุดเริ่มต้นสภาพแวดล้อมทางการเมืองใหม่

ปีนี้จะมีแรงกระเพื่อมหลายอย่างเกิดขึ้นในการเมืองไทย โดยมีเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นประเด็นสำคัญในปีนี้ และเหตุการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่มีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุง การอภิปรายงบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่อาจนำไปสู่การปรับครม. การตัดสินคดีอนาคตใหม่ การเลือกตั้งท้องถิ่น การเกษียณอายุของ พล.อ.อภิรัตน์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. โดยมีเรื่องรัฐประหารเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึง

สถานการณ์ที่เริ่มมีประชาชนทั้งสองฝั่งมารวมตัวแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น ประจักษ์มองว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าสังคมไทยยังแตกแยกอย่างชัดเจน

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยยังเป็นสองขั้ว มีความขัดแย้งขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้รับการแก้ไขในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา บางคนบอกว่าตอนนี้เป็นความขัดแย้งรอบใหม่ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เพียงแต่ที่ผ่านมาเรากดมันไว้ เมื่อพื้นที่การเมืองเปิดมันจึงกลับมา แล้วเส้นความขัดแย้งใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อก่อนคนอาจบอกว่าเป็นความขัดแย้งของสังคมเมืองและชนบท แต่ตอนนี้จากเดินเชียร์ลุงและวิ่งไล่ลุงจะเห็นชัดเรื่องช่วงวัย ซึ่งเราเห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งมาแล้ว

“ความขัดแย้งตอนนี้เป็นเรื่องจุดยืนที่มีต่อกองทัพและการครองอำนาจของกองทัพ คนที่ไปวิ่งไล่ลุงเขารู้สึกว่าเลือกตั้งแล้วเหมือนเดิม ได้ผู้นำเหมือนเดิม กองทัพยังมีอำนาจครอบงำการเมืองไทยเหมือนเดิม แต่ผมคิดว่าจะคาดหวังการปรับตัวของรัฐบาลจากเรื่องนี้คงยาก เพราะเขาเริ่มต้นจากจุดที่ไม่มีอะไรจะเสียตั้งแต่ต้น ไม่มี ‘ฮันนีมูนพีเรียด’ แล้วรัฐบาลรู้ว่าปัจจัยที่จะทำให้เขาอยู่รอดได้ไม่ได้อยู่ที่เสียงในสภา แต่อยู่ที่ส.ว.และกองทัพ ตราบใดที่เขายังได้รับการสนับสนุนจากส่วนนี้ รัฐบาลก็อยู่ได้ แล้วกลุ่มทุนต่างๆ ยังมองว่าคุณประยุทธ์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นต่อให้มีคนวิ่งไล่เท่าไหร่รัฐบาลก็อยู่ต่อได้ แต่จะเกิดความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ และหากมีเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ จะทำให้ประชาชนส่งเสียงดังขึ้น คนจะไม่พอใจและหงุดหงิดกับสภาพการเมืองมากขึ้น”

ประจักษ์มองว่าความหวังทางการเมืองอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ บทเรียนความสำเร็จจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้เห็นว่าปัจจัยอยู่ที่มติมหาชนนอกสภาที่กดดันให้นักการเมืองไม่สามารถสวนกระแสได้ ขณะนี้ก็อยู่ที่ว่ามติมหาชนจะก่อตัวได้แค่ไหน

“ผมเห็นว่าเริ่มเกิดฉันทามตินอกสภา ในแวดวงต่างๆ คนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีช่องโหว่ในแง่กติกาการเมืองที่ใช้ปกครองประเทศ แต่จะแก้ตรงไหนยังไงยังเห็นไม่ตรงกันทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุด ส.ว. จะเป็นปราการด่านสุดท้ายในการปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นปราการใหญ่มาก ถ้าไม่ได้เสียงจาก ส.ว. จะแก้ไม่ได้”

กระแสชาตินิยมสุดขั้วที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประจักษ์ชี้ว่าเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นระยะยาวเมื่อระเบียบเศรษฐกิจโลกถูกสั่นคลอนด้วยหลายปัจจัย ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การก่อการร้าย ความผันผวนทางการเมือง

“เมื่อคนรู้สึกไม่มั่นคงก็หันกลับไปหาอะไรที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจที่สุด โดยมีนักการเมืองและพรรคการเมืองช่วยโหมกระพือกระแสชาตินิยม เทรนด์ระยะยาวนี้จะไม่หายไปง่ายๆ ตราบใดที่คนรู้สึกว่าระเบียบเศรษฐกิจ-การเมืองโลกแบบที่เป็นอยู่ไม่ตอบโจทย์คนทั้งหมด

“หากอยากรู้ว่าทำไมฝ่ายขวาถึงสามารถรวมตัวกันได้เหนียวแน่น ในทางรัฐศาสตร์ต้องไปดูจิตวิทยาของฝ่ายขวา เขารู้สึกว่าโลกที่เขาเคยชอบกำลังสูญสลายไป กำลังเสื่อมถอย โดนภัยคุกคามบางอย่างมาสั่นคลอน ระเบียบทางศีลธรรม ชุดคุณค่าบางอย่างโดนคุกคาม เช่น เรื่องการเคารพผู้อาวุโส ความรักชาติ ประเพณี ความยิ่งใหญ่ในอดีต ในกรณีไทยคนกลุ่มหนึ่งมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวแทนค่านิยมไทย-ความเป็นไทยที่เขาชอบ แล้วมีคนคุกคามคือคนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจระเบียบเหล่านั้น เขาต้องการผู้นำที่แข็งกร้าว เหนียวแน่นในความคิดความเชื่อของตัวเอง”

ประจักษ์ เล่าว่าเขาเพิ่งกลับมาจากการประชุมที่สิงคโปร์ในหัวข้อว่าประเทศในอาเซียนจะรับมืออย่างไรกับความขัดแย้งสหรัฐ-จีน ในที่ประชุมเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มองไม่เห็นยุทธศาสตร์ชัดเจนว่าจะฉกฉวยประโยชน์อย่างไรกับกระแสนี้ ซึ่งน่าเสียดาย เพราะไทยเคยเป็นผู้นำอาเซียนที่เป็นหัวหอกผลักดันการริเริ่มต่างๆ แต่ทุกคนเห็นว่าการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังนี้ ทำให้ไทยมองแต่ภายในและสนใจแต่ปัญหาของตัวเอง ไม่สามารถมีวิสัยทัศน์หรือแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเวทีระหว่างประเทศหรือระดับภูมิภาคได้อีกต่อไป

“ถึงวันนี้ไม่แปลกที่ไทยจะยังอยู่ในความเสี่ยงต่อการรัฐประหารอยู่ เพราะหลังสงครามเย็น ทั่วโลกเกิดรัฐประหารน้อยมาก แต่ไทยเกิดรัฐประหารซ้ำสองครั้งใน 8 ปี ในยุคที่โลกไม่ทำรัฐประหารกันแล้ว ประเทศเราอยู่ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ไม่ปกติ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือเราต้องสร้างฉันทามติในสังคมว่ารัฐประหาร 2557 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายแล้ว” ประจักษ์กล่าว

ทั้งหมดนี้คือทัศนะที่น่าใคร่ครวญของผู้เชี่ยวชาญทั้งสามคน ซึ่งต้องจับตาดูอนาคตที่กำลังจ่อเข้ามาอย่างไม่กระพริบตา

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save