fbpx
โรนัลดินโญ, ไทสัน และไอเวอร์สัน ข้อพิสูจน์ว่าพรสวรรค์นั้นไม่จีรัง

โรนัลดินโญ, ไทสัน และไอเวอร์สัน ข้อพิสูจน์ว่าพรสวรรค์นั้นไม่จีรัง

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หากคุณเคยอ่านมังงะ Eyeshield 21 ที่ว่าด้วยกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่แข่งขันอเมริกันฟุตบอลกันอย่างดุเดือด คงพอจะนึกภาพข้อเปรียบเทียบนี้ออกผ่านตัวละครหลักอย่างฝาแฝดคอนโงแห่งทีมชินริวจิ นาคา เมื่ออุนซุย แฝดพี่ คือนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของความมานะบากบั่น แทบจะแลกวิญญาณกับการฝึกซ้อมเพื่อชัยชนะและทีม ขณะที่อากอน แฝดน้อง ผลาญเวลาส่วนมากไปกับการวิวาทและหญิงสาว แต่กลับเป็นกำลังสำคัญของทีมเสียจนแม้แต่อุนซุยก็ต้องยอมก้มหัวให้เงียบๆ กับพรสวรรค์อันล้นเหลือของน้องชาย

อย่างนั้นแล้ว การฝึกซ้อมมันยังจำเป็นอยู่จริงๆ หรือ เมื่อเราฝึกกันแทบรากเลือดเพื่อจะพบว่า ถึงที่สุดเราอาจตกที่นั่งเดียวกับอุนซุย กลายเป็นคนที่ก้มหน้าก้มตาออกแรงและแทบเก็บดอกผลอะไรไม่ได้

ในโลกแห่งความจริง มีนักกีฬาระดับโลกจำนวนไม่น้อยที่มาพร้อมพรสวรรค์ และคว่ำนักกีฬาที่ซ้อมหนักกว่าพวกเขามาแล้วมากต่อมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าปลายทางของพวกเขาจะกรุยด้วยกลีบกุหลาบไปทั้งหมด

 

ที่มาภาพ : Oh my goal

 

ถ้าคุณเป็นเด็กช่วงปลายยุค 90’s เชื่อมต่อมายังกลางทศวรรษ 2000 ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจมีโรนัลดินโญ เป็นไอดอลในการเลี้ยงบอล หรืออย่างน้อยๆ ก็น่าจะเคยพยายามสวิงสวายสลับสองขาเพื่อหลอกล่อทีมตรงข้าม หรือแม้แต่พยายามเล่นลูกตอกส้นให้บอลเข้าประตูอย่างเขา

ชื่อของโรนัลดินโญไม่ได้เป็นที่รู้จักอยู่แค่กลุ่มคนดูฟุตบอล หากแต่เขายังเป็นที่รู้จักของคนทุกแวดวงในฐานะนักกีฬาที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย ปราศจากการกังขาว่าทักษะในการครองลูกบอลของโรนัลดินโญอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก จนถึงทุกวันนี้ ความแพรวพราวในการควบคุมลูกหนังของโรนัลดินโญ เรียกว่าแทบไม่มีใคร -หรืออาจจะไม่มีเลย- ที่ทำแบบเขาได้อีก และชายผู้กล่อมลูกกลมๆ สีขาวสลับดำลูกนั้นให้อยู่ในโอวาทตลอด 90 นาทีของการแข่งขัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระเจ้าคงให้ของขวัญนี้มากับเขาตั้งแต่แรกเกิด

หลายคนถึงขั้นเรียกเชิงบอลของเขาว่าเป็นศิลปะด้วยซ้ำไป มันเต็มไปด้วยความกระหายอยากเอาชนะ หากแต่ก็ปราศจากความกราดเกรี้ยวเอาเป็นเอาตาย สวยงามและชวนมองจนคนที่ไม่ดูฟุตบอลยังต้องหันมาสนใจจังหวะที่เท้าทั้งสองนั้นพาลูกฟุตบอลหลบหลีกหน้าแข้งอีก 11 คู่ของทีมตรงข้ามในสนาม

เรื่องเหล่านี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากโรนัลดินโญไม่ใช่ ‘ของจริง’ เขาคือเด็กหนุ่มผู้ครั้งหนึ่งทำให้ เซลโซ ร็อธ โค้ชของสโมรสรเกรมิโอ -สโมสรแห่งแรกในชีวิตของเขา- ออกปากอย่างชื่นชมแกมหวั่นเกรงว่า “ผมทำงานกับนักเตะเก่งๆ มาเยอะ ทุกคนที่ผมเจอล้วนแต่มีช่วงเวลาที่น่าจดจำในสายอาชีพนักฟุตบอลทั้งนั้น” ร็อธว่า “แต่ด้วยความเคารพกับนักเตะเหล่านั้นนะครับ พวกเขาเทียบโรนัลดินโญไม่ติดเลย”

ในเวลาต่อมา เขาคือชายผู้สวมเสื้อเบอร์ 10 แห่งทีมบาร์เซโลน่า มาพร้อมรอยยิ้มกว้างขวาง และบางครั้งบางคราวก็เต้นรำอยู่กลางสนาม (ไม่ว่าจะยิงเข้าหรือไม่เข้า… แถมบางครั้งก็แค่เต้นเพราะอยากเต้นเท่านั้นอีกต่างหาก) ติดทีมชาติบราซิลตั้งแต่รุ่นอายุต่ำกว่า 17 ปี คว้ารางวัลบัลลงดอร์ได้ในวัย 25 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เขาได้รางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกแห่งปี (FIFA World Player of the Year)

ยากจะเชื่อและยากจะทำใจ ว่าอีกราวห้าปีหลังจากนั้น -แม้จะยังแพรวพราวและวาดลวดลายได้สวยงาม- แต่โรนัลดินโญก็ทรุดโทรมและเสื่อมถอย หลายคนออกความเห็นว่า ก็แน่นอน อายุที่มากขึ้นย่อมเป็นอุปสรรคสำหรับนักกีฬาทุกคนบนโลกทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่โรนัลดินโญ แต่ก็มีบางคนที่อดมองไม่ได้ว่า สำหรับชายผู้ได้รับฉายาว่าเป็นพระเจ้าแห่งวงการฟุตบอลอย่างโรนัลดินโญ นี่นับว่าเป็นการร่วงหล่นจากบัลลังก์ที่เร็วเกินไปมาก

เป็นที่รู้กันดีว่าโรนัลดินโญเป็นคนรักสนุก ในความหมายที่ว่าเขาชอบการสังสรรค์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในปารีสตีข่าวว่าเจอตัวเขาในผับดึกๆ ดื่นๆ ตั้งแต่สมัยที่เขาสังกัดทีมปารีส แซ็ง-แฌร์แม็ง และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเขาย้ายมาอยู่บาร์เซโลน่า ที่ซึ่งเขาประสบความสำเร็จสุดขีดจนมีเงินมากพอจะออกไปเฉลิมฉลองความสำเร็จได้อยู่บ่อยๆ จนขาดซ้อมอยู่บ่อยครั้ง ยังไม่ต้องพูดถึงตอนเขาย้ายไปเล่นลีกอิตาลี ที่คนดูมักพบว่าเขานั่งอยู่ข้างสนามบ่อยกว่าการได้ลงเล่นเป็นตัวจริง

“ก็ไม่ได้น่าแปลกใจเท่าไหร่หรอกมั้ย” คาร์โล อันเซล็อตติ โค้ชทีมเอซี มิลาน (ในขณะนั้น) ตอบเรียบๆ “แน่ล่ะว่าเรื่องพรสวรรค์ของเขานั้นปราศจากข้อกังขา แต่ก็ต้องบอกว่าศักยภาพร่างกายเขาไม่เสถียรเหมือนก่อนแล้ว”

เรื่องน่าสนใจคือ ตัวโรนัลดินโญเองเคยเปรยว่า สำหรับเขาแล้ว ฝีเท้าที่ปรากฏในสนามนั้นเป็นพรสวรรค์มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ของการฝึกซ้อม “เวลาผมเล่น มันมาจากสัญชาตญาณอยู่บ่อยครั้ง กองหน้าแบบเราๆ ไม่มีเวลาคิดเยอะนักหรอก” เขาว่า “คุณมีเวลาแค่เสี้ยววินาทีเดียวที่จะตัดสินใจว่าจะเลี้ยงหลบ จะยิง หรือจะส่งต่อไปปีกซ้ายปีกขวา ทั้งหมดนี้มันมาจากสัญชาตญาณทั้งนั้น”

 

ที่มาภาพ : The Ring Magazine

 

สำหรับวงการมวย ตัวอย่างอมตะที่สุดตลอดกาลคือ ไมค์ ไทสัน นักชกแชมป์โลกเฮฟวี่เวตสามสถาบันคนแรกของโลก ควบตำแหน่งเจ้าของสถิติที่อายุน้อยที่สุดด้วยการครองแชมป์ได้ในวัยเพียง 20 ปีกับอีก 4 เดือนเท่านั้น กับการขึ้นสังเวียนทั้งหมด 58 ครั้งและชนะ 50 ครั้ง (แบ่งเป็นชนะน็อค 44 ครั้ง… 12 ครั้งในนี้เขาน็อคคู่ต่อสู้ได้ในยกแรก)

เช่นเดียวกับนักกีฬาอีกหลายคนในโลก ชีวิตของไทสันไม่เรียบง่ายนัก เขาเป็นอันธพาลข้างทางที่ถูกเทรนเนอร์มวยบังเอิญมาพบตัวเข้า และชวนไปฝึกด้วยกันเท่านั้น เพื่อจะหนีจากความโหดร้ายและอดอยากของชีวิต ไทสันจึงกระโจนเข้าสู่สังเวียนอย่างเต็มตัว แลกกับการฝึกซ้อมอย่างทรหดและเอาเป็นเอาตาย ไทสันที่ไม่มีอะไรจะเสียในเวลานั้น เล่าว่าเขาต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพราะ “ชีวิตผมเดิมพันอยู่กับมวย ถ้าผมไม่ได้ต่อยมวย ผมก็ไม่เหลืออะไรอีกเลย”

ชีวิตของไทสันพุ่งถึงขีดสุด เขาคว้าเข็มขัดจากหลากสถาบันและสังเวียนจนถูกขนานนามว่าเป็น ‘มฤตยูดำ’ จากการปิดฉากจบอย่างรวดเร็วบนสังเวียน จนมีเรื่องเล่าขำๆ ว่า ถ้ามาดูการถ่ายทอดสดของไทสันช้าเพียงแค่นาทีเดียว ก็เท่ากับคุณพลาดการแข่งของเขาทั้งเกมแล้ว  เท็ดดี แอตลาสต์ เทรนเนอร์มวยที่รู้จักไทสันตั้งแต่ยังเด็กเล่าว่า “เห็นได้ชัดว่าพระเจ้ารักเขาแค่ไหน ถ้าเราพูดกันแค่เรื่องพรสวรรค์อย่างเดียวละก็ เขาเหนือกว่าใครทั้งหมดแหละ” แอตลาสต์อธิบาย “เขาฉลาด มีศักยภาพ และจะพุ่งตรงเข้ามาหาคุณเหมือนรถถังคันยักษ์เลย”

นั่นคือเรื่องราวก่อนการมาถึงของปาร์ตี้ ข่าวฉาวที่ทำให้ไทสันต้องขึ้นโรงขึ้นศาลถี่เกือบเท่าๆ กับที่ไปค่ายมวย ชื่อเสียงและชีวิตในเมืองใหญ่อย่างลาสเวกัส -ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการพนัน- ทำให้ไทสันหมกมุ่นกับการเดิมพันจนเสียหลัก บวกกับการชกต่อยนอกสังเวียนที่แชมป์โลกอย่างเขาดันไปสาวหมัดใส่เด็กวัยรุ่นหลังปะทะคารมกันบนท้องถนน ลงเอยด้วยการที่เขาถูกจำคุกอยู่เก้าเดือน และหลังจากนั้น แม้จะพยายามกลับมาทำฟอร์มอีกครั้งก็ดูเหมือนทุกอย่างจะไม่เอื้อให้เขาอีกแล้ว ทั้งยังขาดซ้อมจนขึ้นชกด้วยศักยภาพร่างกายที่เสียเปรียบคู่ต่อสู้อยู่บ่อยๆ เสียจนกลายเป็นฝ่ายแพ้น็อคในปี 2002 หลังพยายามกู้ชื่อเสียงกลับมาอีกครั้ง

ไทสันกลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับนักชก ไม่มีใครปฏิเสธลีลาและความแข็งแกร่งที่เขามี เป็นอย่างที่แอตลาสต์พูด พระเจ้าไม่เพียงมอบร่างกายทรงพลังมาให้เขาเท่านั้น หากแต่ยังมอบไหวพริบและเชิงมวยที่ยากจะเลียนแบบมาให้ด้วย ซึ่งเขาได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าแล้วในช่วงวัยหนุ่ม ก่อนจะพบว่าของขวัญจากพระเจ้านั้นดูจะหมดอายุเร็วเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อขาดการรักษาดูแลด้วยการหมั่นฝึกซ้อม

 

ที่มาภาพ : hypebeast.com

 

ในแวดวงบาสเก็ตบอล คนที่พอจะเทียบเคียงกับสองคนข้างต้นได้มากที่สุดคือ อัลเลน ไอเวอร์สัน อดีตพอยต์การ์ดของ Philadelphia 76ers เจ้าของฉายา ‘The Answer’ ที่โดดเด่นตั้งแต่เรียนไฮสคูลด้วยการเป็นนักกีฬาตัวจริงของทั้งอเมริกันฟุตบอล (ตำแหน่งควอเตอร์แบ็ค) และบาสเก็ตบอล จนโค้ชโรงเรียนให้เขาเลือกกีฬาอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เขาใช้พรสวรรค์อันล้นเหลือของตัวเองไปกับมันซะ

แน่นอน ไอเวอร์สันเลือกบาสเก็ตบอล และเป็นผู้เล่นไม่กี่คนที่มีคดีอาชญากรรมเป็นห่วงคล้องคอ (หลังคดีทำร้ายร่างกายคนขาว ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันจนนาทีนี้ว่าเขาลงมือทำจริงๆ หรือเป็นแค่แพะ) แล้วลีกยักษ์อย่าง NBA ยังอ้าแขนต้อนรับอยู่ และหากว่าคุณเป็นเด็กที่โตมาในต้นยุค 2000 ทั้งยังหลงใหลในบาสเก็ตบอล ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกันว่าคุณน่าจะเคยพยายามเลียนแบบไอเวอร์สันด้วยท่าควงบอลลอดใต้หว่างขา จังหวะเลื้อยหลบ แถมยังทำผู้เล่นฝั่งตรงข้ามหัวหมุน วิ่งตามจนขาขวิดอยู่บ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะอยู่ติดตัวไอเวอร์สันมาตั้งแต่ก่อนเขาจับลูกบาสเสียอีก

เขาเคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “พระเจ้ามอบสิ่งนี้ (พรสวรรค์) ให้กับผม” จนนิตยสาร The New York Times เคยพิจารณาว่า หากวัดกันแบบตัวต่อตัว ไอเวอร์สันอาจเป็นผู้เล่นทรงประสิทธิภาพที่สุดของลีก NBA โดยเฉพาะจากผู้เล่นที่มีขนาดตัวเล็กกว่าค่าเฉลี่ยอย่างเขา (ไอเวอร์สันสูงเพียง 180 ซม. เท่านั้น) แถมยังคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยม All-Star สองสมัย เคยสร้างภาพจำ (และฝันร้าย) ให้กับแฟนๆ เลเกอร์สในปี 2001 เมื่อเขาเผชิญหน้ากับเจ้าเด็กอสรพิษอย่าง โคบี ไบรอันต์ (ที่ฟอร์มพุ่งสุดขีดด้วยการแท็กทีมกับยอดเซ็นเตอร์ของยุคอย่าง ชาคีล โอนีล) แห่งเลเกอร์ส และพาทีมเอาชนะเลเกอร์สได้แบบชวนใจหายใจคว่ำในช่วงต่อเกม

แต่พร้อมๆ กันนี้ เขาก็ถูกโค้ชทีมอย่าง แลร์รี บราวน์ เตือนบ่อยๆ ว่าไอเวอร์สันนั้นขาดซ้อมอยู่เสมอ ลากยาวไปจนถึงมีข่าวลือว่าบราวน์อาจจะอยากเทรดหรือแลกตัวไอเวอร์สันกับผู้เล่นทีมอื่นก็ได้ แน่นอนว่าในเวลานั้นมันเป็นข่าวที่ชวนช็อคสำหรับคนรักไอเวอร์สันไม่น้อย โดยไอเวอร์สันตอบโต้ประเด็นนี้กับผู้สื่อข่าวว่า “ใครต่อใครก็บอกว่าผมขาดซ้อม ก็ถ้าโค้ชว่าแบบนั้นผมก็คงขาดซ้อมจริงๆ แต่ผมหมายความว่า ทั้งปีนี้ผมอาจจะขาดซ้อมแค่ครั้งเดียวก็ได้ แต่ถ้ามีคนพูดว่า ‘เขาไม่มาซ้อม’ ก็อาจหมายถึงการขาดซ้อมแค่ครั้งเดียวจากการซ้อมทั้งปีได้”

“ผมก็บอกโค้ชบราวน์แหละว่าอย่าไปทำให้ชาวฟิลาเดลเฟียเขาคิดเยอะ หรือกังวลอะไรเกี่ยวกับการเทรดผมออกจากทีมเลย ถ้าคุณต้องเทรดนักกีฬาสักคน มันก็เพราะคุณอยากทำให้ทีมดีขึ้น ง่ายๆ แค่นั้นแหละ ผมเข้าใจ ชาวฟิลาเดลเฟียสมควรคว้าชัยสักครั้ง

“ถ้าผมไปซ้อมไม่ได้ก็แปลว่าผมไปซ้อมไม่ได้ ถ้าผมเจ็บก็แปลว่าผมเจ็บ มันก็เท่านั้นแหละ เวลาพูดถึงเรื่องการซ้อมในเวลาแบบนี้น่ะมันง่าย เรานั่งกันอยู่ที่นี่ คือผมควรจะเป็นผู้เล่นที่เป็นแกนหลักของทีม (franchise player) แต่เรามาอยู่นี่กันเพื่อพูดถึงการฝึกซ้อม ฟังนะพวก เราพูดเรื่องการซ้อม ไม่ใช่เกม ไม่ใช่เกมที่ผมลงเล่นจริงๆ แบบพร้อมถวายชีวิตเพื่อให้ทีมชนะ หรือเหมือนเป็นการลงแข่งครั้งสุดท้าย แต่เรามานั่งกันที่นี่เพื่อพูดเรื่องการฝึกซ้อมกันอยู่ได้ มันซื่อบื้อจะตายไป” (อย่างไรก็ตาม การย้ำคำว่า ‘ฝึกซ้อม’ นับสิบหนในการตอบคำถามของไอเวอร์สัน กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮาในสายตาของคนดูบาสไปเสียอย่างนั้น จนเขาถูกแซวว่าพูดน้ำท่วมทุ่ง แบบเดียวกับเวลาคุณกำลังสอบแล้วไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรลงไปในกระดาษให้เต็มหน้าดี เลยใช้คำซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ และได้แต่หวังว่าอาจารย์จะยังให้คะแนนอยู่)

 

วกกลับมาที่เรื่องราวของแฝดคอนโง ท้ายที่สุดเราอาจพบว่า ผู้ที่สยบพรสวรรค์อันบ้าคลั่งของอากอนได้นั้นอาจไม่ใช่แฝดพี่เขา หากแต่มันก็ยังเป็นดอกผลของความพยายามและการฝึกซ้อมจนแทบจะอ้วกออกมาเป็นเลือดของทีมตรงข้าม อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อากอนลืมตามองโลกที่อยู่นอกเหนือจากบัลลังก์ราชาได้เป็นครั้งแรก และอาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่เขาคงจะฝันร้ายถึงมันไปอีกนาน

เช่นเดียวกันกับเรื่องของโรนัลดิโญ, ไทสัน และไอเวอร์สัน พรสวรรค์นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หากแต่ถึงที่สุดแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่ถูกทำลายได้เหมือนกัน… จะช้าจะเร็วก็เท่านั้นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save