ธีรภัทร อรุณรัตน์ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
หลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เพียงหนึ่งวัน การประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อคนผิวสีก็ถูกจุดประกายทั่วสหรัฐอเมริกา และลามไปอีกหลายประเทศ
บทสนทนาของผู้คนทั้งในและนอกท้องถนนคละคลุ้งไปด้วยความคิด ข้อเสนอ และภาพฝัน
คำหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในห้วงสนทนานี้ว่าด้วยประเด็น ‘อนาธิปไตย’ ซึ่งสืบสาวไปถึงทวิตเตอร์ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา
ทรัมป์ทวีตข้อความพร้อมวิดีโอจับภาพผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งว่า “นักอนาธิปไตยทั้งหลาย เราจับตาดูคุณอยู่! (Anarchists, we see you!)”
วันถัดมา ทำเนียบขาวได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับทวีตคลิปวิดีโอ ภาพกองอิฐจำนวนหนึ่งที่วางเรียงกันและภาพกลุ่มคนขว้างอิฐและทำลายข้าวของ พร้อมกับข้อความว่า “พวกกลุ่มต่อต้านระบอบฟาร์สซิสม์ (Antifascist – Antifa) และนักอนาธิปไตยมือฉมังพวกนี้กำลังบุกรุกชุมชนของพวกเรา พวกเขาตระเตรียมอิฐและอาวุธเพื่อหวังจุดประกายให้เกิดความรุนแรง”
และข้อความก็เสริมต่อว่า “เหล่านี้คือก่อการร้ายภายในประเทศ”
วิดีโอดังกล่าวถูกพิสูจน์ว่าบิดเบือน จากนั้นคลิปก็ถูกลบออกจากบัญชีทวิตเตอร์ในเวลาไม่นาน
ความพยายามเช่นนี้ถูกตีความว่าเป็นยุทธศาสตร์ดิสเครดิตขบวนการประท้วงและสร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณชนด้วยการป้ายสีภาพความรุนแรง
ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ภาพสังคมที่ฝันมาพร้อมกับคำถามที่ว่า เราจะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร
101 ชวนสำรวจข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในบริบทการประท้วงในสหรัฐอเมริกา ผ่านมุมมอง ‘อนาธิปไตย’ ‘ความรุนแรง’ และ ‘การเปลี่ยนแปลงสังคม’
“หยุดโทษทุกอย่างมาที่อนาธิปไตยได้แล้ว!”
Kim Kelly เรียกร้องผ่านบทความตอบโต้กระแสต่อต้าน ‘อนาธิปไตย’ ใน Washington Post โดยโยนคำถามใหญ่ให้ผู้ที่กล่าวหา ‘ความรุนแรง’ ในขบวนประท้วงและโยนความผิดทั้งหมดมายังอุดมการณ์นี้ว่า พวกเขาเข้าใจความหมายและสิ่งที่แนวคิดนี้เสนอมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร
ข้อเสนอแรก เธอบอกให้แยก ‘ความวุ่นวาย’ ออกจากคำว่า ‘อนาธิปไตย’ ที่ถูกใช้กันไปทั่วเสียก่อน
ส่วนความหมายของอนาธิปไตยที่ปรากฏใน พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า “ภาวะที่บ้านเมืองไม่มีรัฐบาล ไม่มีกฎหมายและระเบียบ ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง”
หากมองจากข้อเสนอของเคลลี่ การให้ความหมายเช่นนี้ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว
เคลลี่เสนอว่า แนวคิดอนาธิปไตยคือสภาพสังคมในแนวราบซึ่งไม่มีลำดับชั้นทางสังคม ไม่มีรัฐบาล แต่มีการบริหารจัดการกันในพื้นที่
แนวคิดอนาธิปไตยชักชวนให้ตั้งคำถามกับสถาบันทางสังคมที่ก่อให้เกิดการกดขี่และความรุนแรง ดังเช่นการมีอยู่ของรัฐบาล คุก กองทัพ
และสถาบันทางสังคมที่เป็นคู่กรณีโดยตรงกับคนผิวสีในการประท้วงครั้งนี้ก็คือสถาบันตำรวจ
ข้อเสนอของเคลลี่แม้จะเป็นการปกป้องจุดยืนอนาธิปไตย แต่เธอก็ไม่ได้ปฏิเสธข้อสรุปการเชื่อมโยงความคิดอนาธิปไตยกับความรุนแรง
กล่าวคือนักอนาธิปไตยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงในการบรรลุเป้าหมาย ขณะเดียวกันนักอนาธิปไตยก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการบรรลุเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเสมอไป
แล้ว ‘ความรุนแรง’ ในการประท้วงเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นเป็นอย่างไร
“แค่ไหนเรียกรุนแรง?”
คำถามนี้ได้รับคำตอบอย่างอ้อมๆ จากบทความ “ทำไมการประท้วงบางส่วนถึงกลายเป็นความรุนแรง (Why Do Some Protests Turn Violent?)” โดย Helier Cheung ผู้สื่อข่าว BBC
บทความของเฉิงโดยรวมมุ่งหาสาเหตุของการประท้วงในสหรัฐอเมริกาที่รุนแรงจากหลายมุมมองของนักวิชาการ
แต่การมองความรุนแรงของเธอดูจะจำกัดไว้เพียงด้านของผู้ชุมนุมเท่านั้น เฉิงแสดงขอบเขตของความรุนแรงในการประท้วงไว้ที่สามคำหลัก ได้แก่ การทำลายข้าวของ การแย่งชิงข้าวของ และการเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของผู้ชุมนุม
ขณะที่อีกมุมหนึ่ง Nathan J. Robinson บรรณาธิการนิตยสาร Current Affairs ต้องการขยายขอบเขตการมองและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่าความรุนแรงต่อการกระทำและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากฝ่ายผู้ชุมนุม แต่กลับมองข้ามความรุนแรงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
ข้อเสนอหลักของโรบินสันคือ คำว่าความรุนแรงควรสงวนไว้สำหรับการกระทำที่เป็นภัยต่อผู้คนเท่านั้น และต้องขีดเส้นความแตกต่างและคำจำกัดความของความรุนแรงต่อทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์ให้ชัด
หากมองจากมุมนี้ ความรุนแรงจะไม่ได้จำกัดเพียงแค่การมองที่ฝักฝ่ายเท่านั้น แต่ควรมองที่บริบทและผลที่ตามมาของการกระทำนั้นๆ ด้วย
โรบินสันยกตัวอย่างสถานการณ์อีกมุมหนึ่งว่า “หากผู้ชุมนุมทำลายรถตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจทำลายลูกตาของผู้ชุมนุม […] รถตำรวจถูกทดแทนได้ แต่สายตานั้นไม่”
แต่ข้อสรุปการมองขอบเขตความรุนแรงเช่นนี้อาจตามมาด้วยความซับซ้อนในสถานการณ์การชุมนุมของคนหมู่มาก
และคำถามสำคัญที่เขายกขึ้นมาเมื่อต้องกวาดสายตาประเมินการกระทำใดๆ คือ การกระทำนั้นส่งผลอย่างไรต่อผู้คน
ที่เขายกมาเช่นนี้ เพราะการทำลายทรัพย์สิน การเขวี้ยงข้าวของ หรือการลักขโมยก็ดี แม้จะไม่ใช่ความรุนแรงโดยตรงต่อตัวบุคคล แต่หากการกระทำนั้นเกิดขึ้นโดยมีตัวบุคคลอยู่ใกล้ หรือมีเป้าหมายและเจตนาที่ตัวบุคคล (เช่น การทำลายข้าวของในบ้าน) ก็อาจส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้นได้
การมองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อตัวบุคคลอาจช่วยตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นเหมาะสมแค่ไหน
โรบินสันยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติสองกรณีขึ้นมาเพื่ออธิบาย กรณีแรกคือการสกัดรถประจำทางไม่ให้ผ่าน และกรณีที่สองคือการสกัดรถพยาบาลฉุกเฉินไม่ให้ผ่าน
เขาเห็นว่ากรณีแรกมีความชอบธรรมมากกว่าอย่างหลัง เพราะเหตุการณ์แรกอาจเพียงทำให้คนในรถเสียเวลา แต่เหตุการณ์หลังอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่โรบินสันไม่ยอมรับเด็ดขาดคือความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
แต่ข้อถกเถียงเรื่องความรุนแรงก็ไม่ได้จบเพียงเท่านี้
โรบินสันเองยอมรับโดยนัยว่าประเด็นนี้ต้องถกเถียงกันอีกมาก หากสถานการณ์ซับซ้อนขึ้นว่าความรุนแรงควรมีส่วนใน “การเปลี่ยนแปลงสังคม” มากน้อยเพียงใด
และนำไปสู่ประเด็นสำคัญอีกชุดหนึ่งคือวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมอเมริกันครั้งนี้ควรเป็นเช่นใด
จะรอหย่อนบัตรเลือกตั้ง ลงท้องถนน หรือทั้งสองทาง ?
“พวกเอ็งกลับบ้านนอนแล้วรอวันเลือกตั้งซะ!”
เป็นข้อเสนอหลัก (ที่แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ) จาก Aaaron Ross Coleman ผ่าน Vox ในชื่อบทความ “อะไรคือสิ่งที่ผู้ประท้วงต้องการ และทำไมพวกเขาจะไม่ได้รับมัน (What The Protesters Want And Why They Might Not Get It.)”
โคลแมนจับภาพกว้างของการชุมนุมและมองว่า แกนกลางข้อเรียกร้องเพื่อความยุติธรรมของคนดำครั้งนี้คือการโอนย้ายทรัพยากรที่ใช้ไปกับการเสริมกำลังและความแข็งแรงของสถาบันตำรวจ ให้มาลงที่การพัฒนาชุมชน สาธารณูปโภค การจ้างงาน เพื่อความเท่าเทียมของคนดำให้มากขึ้น
ข้อเสนอการมองขบวนการปัจจุบันของเขาคือ ต้องมองย้อนกลับไปมากกว่าบริบทปัจจุบันภายใต้สมัยของประธานาธิบดีทรัมป์
เขาชวนกลับไปดูบริบทในสองเหตุการณ์ คือ ช่วงทศวรรษ 1960 ที่เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองโดย Martin Luther King และช่วงปี 1992 ซึ่งเกิดขบวนการเคลื่อนไหวภายหลังการทำร้าย Rodney King ในแคลิฟอร์เนีย
โคลแมนยกรายงานจากฝ่ายนิติบัญญัติในแคลิฟอร์เนียซึ่งศึกษารากเหง้าของการลุกฮือในช่วงดังกล่าวว่าสาเหตุการลุกฮือของประชาชนสองช่วงนั้นคล้ายคลึงกัน และเขาก็เห็นว่าเป็นเช่นเดียวกันในการประท้วงครั้งล่าสุดนี้
สาเหตุสำคัญที่ว่ามีอยู่สองประการ คือ ความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติและความไม่เป็นธรรมของสถาบันตำรวจ
โคลแมนพยายามชี้ให้เห็นอีกว่าสถานการณ์เช่นนี้คือวงจรที่วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก
ตั้งแต่กรณีความรุนแรงของตำรวจต่อคนดำ – การประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม – ความรุนแรงต่อทรัพย์สินในการประท้วง – ความพยายามศึกษาและเสนอทางแก้จากฝ่ายนิติบัญญัติ – ความพยายามไม่เกิดผลเปลี่ยนแปลง – ความรุนแรงและการประท้วงปะทุขึ้นอีกคำรบหนึ่ง
แต่ความหวังที่เขาพยายามชี้ให้เห็นในครั้งนี้คือ ช่วงเวลานี้อาจจะไม่วนซ้ำเดิมอีกแล้ว
ด้วยสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกและวิกฤตเศรษฐกิจที่ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของคนดำ และด้วยความหวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนจะน้อมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงและลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เสียที
ข้อเสนอของโคลแมนคือการแก้ไขปัญหาจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการประท้วงบนท้องถนนอันยืดยาว แต่ผ่านการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ต่างหาก
“รอวันเลือกตั้งซะ” …โคลแมนไม่ได้กล่าวไว้ (ตรงๆ)
“ประท้วงเถิดอรชุน”
ข้อเสนอของโคลแมนข้างต้นถูกวิพากษ์โดย Paul Heideman ผ่านนิตยสาร Jacobin
ไฮเดอมันตอบโต้แนวคิดที่ตั้งคำถามต่อการแสดงออกบนท้องถนนว่า “การประท้วง/จลาจลคือการตอบโต้อันสมเหตุสมผลต่อความยากจนและการกดขี่จากสถาบันของรัฐ”
เขาชี้ให้เห็นว่าแนวทางเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่ดูรุนแรงเช่นนี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นเพราะความไม่เข้าด้ายเข้าเข็มกับการอนุมัติจากฝ่ายที่ต้องการจำกัดกรอบการเปลี่ยนแปลงไว้แค่กระบวนการรัฐสภาหรือการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น
ไฮเดอมันไม่ได้ปฏิเสธว่าการประท้วงหรือการก่อจลาจลจะโน้มให้เกิดแนวร่วมมุมกลับที่ส่งผลต่อการขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายตรงข้าม เช่น การได้รับชัยชนะของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) จากพรรครีพับลิกัน ในช่วงปลายทศวรรษ 1960
แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งคือแม้ว่าผลของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองช่วงทศวรรษ 1960 ทางหนึ่งทำให้เกิดการเถลิงอำนาจของนิกสัน แต่อีกด้านหนึ่งที่มักจะไม่ยกขึ้นมาพูดกันคือ การลงทุนพัฒนาพื้นที่จากภาครัฐเพิ่มขึ้นในบริเวณที่เคยเกิดการลุกฮือ
ขยับเข้ามาใกล้ปัจจุบันอีกนิด ตัวอย่างที่เขายกมาเพื่อแสดงว่าการประท้วงได้ผลคือการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Black Lives Matter (BLM) ในช่วงปี 2014-2015 ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คนว่าความเท่าเทียมของคนดำในสหรัฐยังไม่ถึงจุดที่น่าพึงพอใจ
ในอีกนัยก็คือการประท้วงลุกฮือคือภาษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่อาจทำความเข้าใจได้ คือภาษาของผู้ที่ถูกทำให้มองไม่เห็น ผู้ถูกมองข้าม และไม่อาจยอมรับได้ในโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน
ส่งท้าย
ในบรรดามุมมองต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว อีกมุมมองหนึ่งของ Slavoj Žižek นักปรัชญาฝ่ายซ้ายชาวสโลเวเนีย ต่อการประท้วงที่สหรัฐอเมริกาก็น่าสนใจไม่น้อย บทความของเขาเผยแพร่ผ่าน The Independent โดยตั้งข้อสังเกตต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกระแสการชุมนุม
แม้เขาเห็นว่าความพยายามจำกัดกรอบความรุนแรงของการประท้วงเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การละเลยเบือนหน้าหนีสิ่งนี้ทำให้เรามองข้ามความสำคัญที่สื่อออกมาจากการกระทำที่รุนแรง
ชิเชคเปรียบเทียบข้อเรียกร้องที่ไม่อาจทำความเข้าใจได้ของขบวนการประท้วงกับมุกตลกจากเยอรมนีตะวันออก เรื่องมีอยู่ว่า แรงงานชาวเยอรมันคนหนึ่งกำลังจะไปทำงานในไซบีเรีย และเขาก็ตระหนักดีว่าจดหมายที่จะส่งกลับมาหาเพื่อนนั้นจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจเสมอ
เขาจึงบอกเพื่อนของเขาว่า “เรามาสร้างรหัสลับของพวกเรากันเถอะ”
รหัสลับนั้นมีเงื่อนไขว่าถ้าเขาเขียนข้อความในจดหมายด้วยหมึกสีน้ำเงิน แสดงว่าข้อความที่เขียนเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเขาเขียนด้วยหมึกสีแดง นั่นหมายความว่าเป็นเรื่องเท็จ
หนึ่งเดือนผ่านไป เพื่อนๆ ได้รับจดหมายสรรเสริญสภาพความเป็นอยู่ของเขาในไซบีเรีย ทั้งอาหารการกิน ห้องพักกว้างขวางและอบอุ่น ทุกอย่างล้วนดีเลิศเลอไปหมด
“แต่สิ่งที่หาไม่ได้เลยคือหมึกสีแดง”
นี่คือสิ่งที่ผู้ประท้วงในสหรัฐต้องการหรือไม่
พวกเขาต้องการหมึกสีแดงเพื่อร้อยเรียงความต้องการของพวกเขาออกมา
แต่สิ่งที่พวกเขาไม่มีคือหมึกสีแดง