fbpx
เปิดใต้พรมอเมริกา-ไทย: จากคนดำถึงห้องเรียน

เปิดใต้พรมอเมริกา-ไทย: จากคนดำถึงห้องเรียน

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพประกอบ

 

ปรากฏการณ์ลุกฮือของ #BlackLivesMatter จากกรณีความตายของจอร์จ ฟลอยด์ ได้แพร่ลามไปหลายประเทศทั่วโลก พอๆ กับคำถามว่าทำไมประเทศที่ก้าวหน้าทั้งเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างสหรัฐฯ ถึงดูเหมือนจะถอยหลังในประเด็นดังกล่าวไปเรื่อยๆ

และอีกหลากคำถามคลาสสิกได้ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประชาธิปไตยยังเป็นโมเดลที่ดีของระบอบการเมืองการปกครองอยู่ไหม

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้บทเรียนอะไรแก่สังคม, ความขัดแย้งเป็นภัยคุกคามสังคมจริงหรือ

กระทั่งว่าท่ามกลางความคิดความเชื่ออันหลากหลาย สิทธิมนุษยชนจะปักหลักลงในใจผู้คนได้อย่างไร

ทั้งสิ้นทั้งปวง คำถามดังกล่าวไม่ได้พุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงแค่บริบทสังคมอเมริกันเท่านั้น แต่ยังลัดฟ้าเข้ามาที่สังคมไทยด้วย

ถ้าความตายของจอร์จ ฟลอยด์ เสมือนการกระชากพรมผืนใหญ่ออกให้เห็นสิ่งที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายใน เรากำลังเจอปัญหาอะไร โลกกำลังบอกอะไร…

 

รุนแรงที่ซึมลึก

 

“มีรายงานว่าคนดำที่ถูกฆ่าไม่ได้เป็นคนที่ละเมิดกฎหมาย เพียงแต่เป็นคนที่อาจไปละเมิดสิ่งที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย หรือละเมิดคนขาวนั่นเอง แม้ว่าระบบทาสจะเลิกไปแล้ว แต่พวกเขาก็ยังถือหลักการของตัวเองไว้ว่าเป็นคนที่สูงส่งกว่าคนอื่น”

รศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จากภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาความรุนแรงทางการเมืองและการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในไทย อ้างถึงรายงานขององค์กร Equal Justice Initiative (EJI) ว่าช่วงศตวรรษที่ 19-20 มีคนดำกว่าสี่พันคนในอเมริกาถูกฆาตกรรมด้วยวิธีแบบศาลเตี้ยและคนทำผิดยังคงลอยนวล

ไทเรลอธิบายพร้อมยกตัวอย่างกรณีที่น่าสะพรึงว่า อาชญากรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการลงโทษเฉยๆ แต่เป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับคนดำในชุมชน

“บางกรณียังมีการขายตั๋วให้คนจ่ายเงินมาดูการประชาทัณฑ์ ซึ่งถูกอธิบายว่าวิธีใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะนั้นเป็นไปเพื่อควบคุมคนผิวดำในที่ต่างๆ”

มีอย่างน้อย 5 กรณีที่ไทเรลยกตัวอย่าง ได้แก่ ปี 1889 ที่รัฐมิสซิสซิปปี คนทั้งเมืองร่วมกันประชาทัณฑ์ Keith Bowen เพียงเพราะเขาพยายามเข้าไปในห้องพักที่มีผู้หญิงผิวขาวอาศัยอยู่, ปี 1894 William Brooks ถูกประชาทัณฑ์ เพียงเพราะเขาไปขอเจ้านายว่าอยากแต่งงานกับลูกสาวเจ้านาย

ปี 1904 General Lee ถูกประชาทัณฑ์ เพียงเพราะไปเคาะประตูบ้านของหญิงผิวขาวที่เมืองเซาท์ แคโรไลนา, ปี 1912 Thomas Miles ถูกประชาทัณฑ์เพียงเพราะเขียนจดหมายชวนผู้หญิงผิวขาวไปดื่มโค้กในที่สาธารณะ

กรณีสุดท้าย ปี 1934 John Griggs ถูกแขวนคอและถูกยิง 17 นัด ถูกมัดร่างไว้กับท้ายรถ เพียงเพราะเขาเข้าไปคุยกับหญิงผิวขาวที่เท็กซัส คนที่ฆ่าเขาทั้งหมดไม่เคยต้องรับผิด ไม่เคยถูกดำเนินคดีเลย

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือแผลเรื้อรังของสังคมอเมริกันที่ยังไม่ได้รับการรักษา แต่ไทเรลมองข้ามมาที่สังคมไทยและชวนตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่อาจเข้าข่ายการสร้างบาดแผลเรื้อรังไม่ต่างกันก็คือกรณีล่าสุดอย่างการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่ใช่คนแรกในฐานะผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหาย

และกรณีสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 มีการแขวนคอที่สนามหลวง ไทเรลเรียกร้องว่าเหตุการณ์เหล่านี้ควรจะถูกรวบรวมข้อมูลไว้เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบัน

 

บนถนนสายประชาธิปไตย

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยกำลังมีชีวิตชีวา”

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามตอบคำถามที่มีคนไม่น้อยเชื่อว่าความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกาคือประชาธิปไตยที่กำลังถดถอย ซึ่งประจักษ์มองว่านั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะเอาไปลดคุณค่าของมัน

ประจักษ์มองว่าการทำความเข้าใจปัญหาการเมืองทั้งอเมริกาและไทยเวลานี้ สิ่งที่ควรเชื่อมโยงกันคือความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับความเสมอภาค

“เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยในอเมริกา เราจะเห็นข้อบกพร่องตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการก่อตั้งขึ้นมา และข้อบกพร่องนี้มันเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องภายในระบบคือการไม่ยอมรับความเสมอภาคของคนทุกกลุ่ม”

นักรัฐศาสตร์ มธ. มองว่า นี่เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับคำประกาศของอเมริกาที่บอกว่าทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน นี่คือหัวใจของประชาธิปไตยในอเมริกา แต่พอไปดูในข้อเท็จจริงปรากฏว่าคำนี้เป็นแค่คำขวัญสวยหรูเฉยๆ ในทางปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะว่าคนหลายกลุ่มในอเมริกาถูกกีดกันสิทธิออกไป แม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานคือสิทธิพลเมือง สิทธิในการไปเลือกตั้ง ผู้หญิงเองก็ไม่มีสิทธิ

“คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นบิดาหรือนักก่อตั้งประชาธิปไตยในอเมริกาช่วงแรก หลายคนยังมีทาสอยู่ในบ้านเลยด้วยซ้ำ”

แล้วจะทำความเข้าใจอย่างไรต่อ…

ประจักษ์บอกว่า ประเด็นนี้มี 2 มิติ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ การมีทาสอยู่ในบ้านก็สบายดี แต่อีกมิติคือการกดผู้หญิงและคนดำ บางคนเขาไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่าคือปัญหา

“เขาไม่ได้คิดว่าเป็นตัวเองโหดร้าย ไม่มีมนุษยธรรม หรือชอบกดขี่คนอื่น แต่มันเหมือนเขาตาบอดสีต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน มองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าคนดำเป็นคนที่มีความเท่าเทียมกับเขา เขามองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งแบบนี้เป็นปัญหาร้ายแรงยิ่งกว่า

“ในแง่นี้ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในอเมริกา การต่อสู้ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในการยืนยันสิทธิของตนเอง ต่อสู้เพื่อความเป็นพลเมืองเต็มขั้นของตัวเอง จริงๆ แล้วก็คือประชาชนต่างหากที่เป็นคนพยายามสร้างประชาธิปไตยให้ไปสอดคล้องกับคำที่ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้

“กลุ่มที่เขาต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิการเลือกตั้ง ในช่วง 1960 ก่อนที่เขาจะมาสู้เรื่องพวกนี้ เขารณรงค์ยุติความรุนแรงต่อคนดำมากก่อน เพราะเขาบอกว่าถ้าคนไม่มีกระทั่งสิทธิในการมีชีวิตอย่างปลอดภัยซะแล้ว สิทธิอื่นๆ ก็ไม่มีความหมาย

“ปัญหาความไม่เสมอภาคเป็นปัญหาที่มีรากฐานมายาวนาน หลายคนมองว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่หรอก แค่ตำรวจเลวไม่กี่คน แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องโครงสร้างทั้งหมด ทั้งระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษาที่ทำให้คนดำกลายเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง และโดนัลด์ ทรัมป์เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

เมื่อประจักษ์ชวนมองมายังสังคมไทย เขามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแทบไม่ต่างกัน ความคิดที่ว่าคนเกิดมาไม่เท่าเทียมกันยังฝังลึกอยู่เสมอ ชนชั้นนำไทยยังเชื่อว่าถ้าทุกคนเท่าเทียมกันหมด ระเบียบทางสังคมก็จะล่มสลาย

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้แปลว่าถนนสายประชาธิปไตยจะมืดสนิท ประจักษ์ชี้ให้เห็นถึงคนหนุ่มสาวที่ออกมาแสดงความคิดทางการเมืองในช่วงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นดาราหรือนางงาม หลายคนที่ออกมาปกป้องสิทธิของคนอื่น นับเป็นสัญญาณที่ดี

“เวลานี้เกิด new conscious ขึ้นมา ผมคิดว่าสำคัญกว่า new normal” ประจักษ์ทิ้งท้าย

 

สร้างคุณค่าใหม่

 

การศึกษาจะทำให้ประชาธิปไตยนำไปสู่ความเสมอภาคอย่างไร”

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา(นานาชาติ) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งคำถามต่อจากที่นักรัฐศาสตร์เปิดประเด็นไว้ตอนต้น และยกคำของจอห์น ดิวอี นักปรัชญาการศึกษาอเมริกันที่พูดว่า “Democracy has to be born anew every generation” หมายความว่าเราไม่สามารถคิดว่าอเมริกามีประชาธิปไตยมาตลอด 200 ปีแล้วมันจะอยู่อย่างนั้นไปตลอด เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง มีความท้าทาย เราจะต้องสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่

“จอห์น ดิวอียังบอกว่าการศึกษานี่แหละจะทำหน้าที่เป็นคนทำคลอด midwife หรือหมอตำแย และประโยคเต็มๆ คือ Democracy has to be born anew every generation, and education is its midwife”

นอกจากเรื่องความไม่เสมอภาคในอเมริกา วัชรฤทัยมองว่าในสังคมไทยก็มีคำอธิบายไว้ในตำราเรียนเช่นเดียวกัน อาทิ เราต้องทำหน้าที่ของแต่ละคนให้ดี เพราะแต่ละคนมีสถานะไม่เท่ากัน

นี่เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความไม่เสมอภาคมาอย่างยาวนาน และยังมีความคิดที่ไปปกป้องชุดความคิดดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง เช่น คำพูดที่ว่าคนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจ ชอบแบ่งปัน รักการให้ ทั้งที่อาจเป็นเครื่องมือให้คนมีอำนาจมากกว่าทั้งทางทรัพยากร เงินทอง ทรัพย์สิน เครือข่าย ฯลฯ สามารถใช้ประโยชน์กับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ทำให้สร้างความเสมอภาคที่ทำให้คนทุกคนได้เข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงโอกาสต่างๆ ถูกปิดกั้นได้

หรือที่เรารู้จักกันในคำว่าระบบอุปถัมภ์หรือการสวามิภักดิ์นั่นเอง

อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ มองว่าปัญหาดังกล่าวถูกซุกซ่อนไว้ในระบบการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่ส่งต่อความไม่เสมอภาคมาอดีตจากอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

“เด็กที่มีโอกาสมากกว่าได้เข้าสู่โรงเรียนที่มีคุณภาพ เด็กที่มีโอกาสน้อยกว่ากลับหลุดออกไปอยู่ในโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ ระบบการศึกษาแบบนี้ย่อมได้ผลผลิตเป็นความไม่เท่าเทียม ระบบการศึกษาแบบนี้ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตยแบบที่สังคมไทยอยากเห็นได้”

แต่จะเริ่มอย่างไรเมื่อปัญหาดังกล่าวดูใหญ่เกินกว่าใครจะอยากขยับตัว

วัชรฤทัยทิ้งท้ายอย่างเรียบง่ายว่า เราเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กเล็กๆ ได้ เราฝึกที่จะฟังและเรียนรู้การยอมรับความเห็นต่างกันได้

ใช่, เริ่มจากง่ายๆ ไม่ใช่ยากๆ

 

 


หมายเหตุ – เก็บความจากวงเสวนา “มองอเมริกาและหันมามองไทย” จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save