fbpx
สถานการณ์ฆ่าวีรบุรุษ Richard Jewell

สถานการณ์ฆ่าวีรบุรุษ Richard Jewell

‘นรา’ เรื่อง

 

คลินต์ อิสต์วูดเพิ่งอายุครบ 90 ปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่ Richard Jewell เป็นผลงานกำกับหนังเรื่องล่าสุดของเขา เพิ่งออกฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

 

 

จนถึงปัจจุบัน ก็สิ้นสงสัย ไร้ข้อกังขาด้วยประการทั้งปวง หากจะกล่าวว่า คลินต์ อิสต์วูดเป็นตำนานสำคัญอีกบทหนึ่งของโลกภาพยนตร์ ทั้งในฐานะนักแสดง และในฐานะผู้กำกับรุ่นใหญ่ ‘แรงเหลือ’ ที่ขยันทำงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการยกย่องว่า เป็นคนทำหนังจำนวนไม่มากนัก ที่มีมาตรฐานสูงชนิดไว้เนื้อเชื่อใจได้

คลินต์ อิสต์วูดไม่ใช่นักแสดงประเภทเจ้าบทบาท แต่เป็น ‘ดารายอดนิยม’ ที่เล่นหนังด้วยบุคลิกและมาด ‘พูดน้อย ต่อยหนัก’ ในลีลาเดียวกันแทบจะทุกเรื่อง ส่งผลให้เขาถูกมองข้ามเรื่องความสามารถอยู่นานหลายปี

กระทั่งว่าเมื่อเริ่มเกิดคำยกย่องชื่นชม กลับเป็นวงการหนังฝรั่งเศสที่มองเห็นคุณค่าในผลงานของเขาก่อน ไม่ใช่ฮอลลีวูด

ก่อนหน้านี้ คลินต์ อิสต์วูด มีผลงานดีๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไตรภาคหนังคาวบอยสปาเกตตีอันสุดแสนจะคลาสสิกของเซอร์จิโอ เลโอเน ประกอบไปด้วย A Fistful of Dollars (1964), For a Few Dollars More (1965) และ The Good, the Bad and the Ugly (1966) และหนังชุด ‘มือปราบปืนโหด’ จ่าแฮร์รี คัลลาแฮน ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 ภาค คือ Dirty Harry (1971), Magnum Force (1973), The Enforcer (1976), Sudden Impact (1983) และ The Dead Pool (1988) รวมถึงบทบาทอื่นๆ อาทิเช่น Hang ‘Em High (1968), Where Eagles Dare (1968), Kelly’s Heroes (1970), Play Misty for Me (1971), The Outlaw Josey Wales (1976), Tightrope (1984), และ In the Line of Fire (1994) ฯลฯ

Play Misty for Me ไม่เพียงแต่เป็นงานเด่นด้านการแสดงของคลินต์ อิสต์วูดเท่านั้น ทว่ายังเป็นการแจ้งเกิดในฐานะผู้กำกับอย่างสวยงาม นับจากนั้นมา เขาก็เล่นหนังที่คนอื่นกำกับ สลับกับเล่นหนังที่ตัวเองกำกับอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

งานกำกับช่วงสิบกว่าปีแรกของคลินต์ อิสต์วูด เป็นหนังตลาดเน้นความบันเทิง แม้จะมีหลายเรื่องที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดหรอกนะครับว่า ต่อมาเขาจะกลายเป็นคนทำหนังระดับมือรางวัล

Bird (1988) หนังประวัติชีวิตชาร์ลี พาร์คเกอร์ นักดนตรีแจซผู้ยิ่งใหญ่ เป็นจุดเปลี่ยนครั้งแรกที่คลินต์ อิสต์วูดฉายแววเป็นคนทำหนังเอากล่องเต็มตัว และมาประสบความสำเร็จสูงสุดจาก Unforgiven (1992) ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์หนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ, นักแสดงสมทบชาย (จีน แฮ็คแมน) และตัดต่อลำดับภาพ

งานถัดจาก Unforgiven สืบมาจนถึงปัจจุบัน อาจถือได้ว่าเป็นอีกยุคหนึ่งของคลินต์ อิสต์วูด และเป็นช่วง ‘ท็อปฟอร์ม’ อย่างแท้จริง มีงานระดับมาสเตอร์พีซออกมาติดๆ กันหลายเรื่อง เช่น The Bridges of Madison County (1995), Mystic River (2003), Million Dollar Baby (2004), Flag of Our Fathers (2006), Letters from Iwo Jima (2006), Changeling (2008), Gran Torino (2008), Invictus (3009) และ American Sniper (2014)

ระยะนี้เองที่คลินต์ อิสต์วูด เริ่มเป็นที่จดจำในฐานะผู้กำกับมากกว่านักแสดง เน้นทำงานอยู่เบื้องหลังมากขึ้น เล่นหนังน้อยลง (ที่น่าสนใจคือ ช่วงที่เล่นหนังน้อยลงนี้ คลินต์ อิสต์วูดกลับได้รับคำยกย่องและเป็นที่ยอมรับในฐานะนักแสดงมากยิ่งกว่าอดีตที่ผ่านๆ มา)

สไตล์การทำหนังของคลินต์ อิสต์วูด มีความเป็นสกุลช่างแบบ old school เต็มตัว เรียบง่าย เน้นไปที่การเล่าเรื่องอย่างใจเย็น ปราศจากโปรดักชันที่หวือหวาน่าตื่นตา ขณะเดียวกันก็กระชับรัดกุม ตรงไปตรงมา มีจังหวะผ่อนหนักผ่อนเบาที่แม่นยำ งานสร้างทำหน้าที่เพียงแค่คอยสนับสนุนเรื่องราวเท่านั้น

นอกเหนือจากความเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจในแบบฉบับลีลาของตนเอง อีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าคลินต์ อิสต์วูด เก่งชนิดหาตัวจับยาก คือ การดึงศักยภาพของนักแสดงออกมาได้เต็มเปี่ยม หนังของเขาไม่ใช้วิธีเร้าอารมณ์ด้วยดนตรีประกอบ การตัดต่อ หรือเทคนิคทางภาพยนตร์อื่นๆ แต่มักปล่อยให้การแสดงและเหตุการณ์นำพาผู้ชมไปสู่ฉากดรามาสะเทือนอารมณ์

ความชัดเจน แตกฉานช่ำชอง และยึดมั่นในแนวทางดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น ส่งผลให้หนังของคลินต์ อิสต์วูด (ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดก็ตาม) มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเด่นชัด และสามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับคนทำหนังชั้นครูร่วมยุคสมัยอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี, สตีเวน สปิลเบิร์ก, วูดดี อัลเลนได้สบายๆ เลยนะครับ

Richard Jewell ผลงานล่าสุดของคลินต์ อิสต์วูด ล้มเหลวไม่เป็นท่าในเรื่องรายได้ สวนทางกับคำวิจารณ์ที่ได้รับคัดเลือกติดกลุ่ม 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปี 2019 ของ American Film Institute และ National Board of Review รวมทั้งการเข้าชิงรางวัลสาขานักแสดงจากสถาบันต่างๆ ของ 3 ดาราในบทสำคัญ คือ พอล วอลเตอร์ ฮาวเซอร์, แซม ร็อคเวลล์ และ แคที เบตส์

 

 

Richard Jewell สร้างจากเหตุการณ์จริง เขียนบทดัดแปลงโดยอ้างอิงจากบทความที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Vanity Fair เมื่อปี 1997 ชื่อ American Nightmare:The Ballad of Richard Jewell โดยมารี เบรนเนอร์ และหนังสือปี 2019 เรื่อง The Suspect:An Olympic Bombing, the FBI, the Media, and Richard Jewell, the Man Caught in the Middle เขียนโดยเคนท์ อเล็กซานเดอร์ และเควิน ซาลเวน

โดยตัวเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา (หมายถึงเรื่องจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 1996 ที่ Centennial Olympic Park ช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังมีการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่แอตแลนตา) หนังเรื่องนี้สามารถเลือกนำเสนอได้หลายแบบหลายแนวทาง เช่น หนังตื่นเต้นระทึกขวัญเกี่ยวกับการก่อการร้าย หนังสืบสวนสอบสวนค้นหาว่าใครคือผู้ลงมือ หนังต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคนที่ตกเป็นฝ่ายโดนกล่าวหา (รวมถึงการต่อสู้กันทางด้านกระบวนการตามกฎหมาย)

คลินต์ อิสต์วูดเลือกทำหนังเรื่องนี้ในรูปแบบที่เรียบง่าย เน้นเป้าหมายปลายทางไปที่ความเป็นดรามา ควบคู่ไปกับเนื้อหาสาระหลัก ทิ้งความตื่นเต้นเร้าใจและความลึกลับไปจนหมดสิ้น รวมทั้งเปิดเผยเงื่อนปมสำคัญที่ผู้ชมอยากรู้ตั้งแต่ต้นว่า ใครเป็นคนร้าย

พูดได้อีกแบบว่า หนังไม่ได้นำเหตุลอบวางระเบิดเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราว แต่เล่าเรื่องที่มีตัวบุคคล (ริชาร์ด จิวล์) เป็นแกนหลัก และมีเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา

พล็อตคร่าวๆ เริ่มเรื่องเมื่อปี 1986 ชายหนุ่มชื่อ ริชาร์ด จิวล์ ทำงานเป็นพนักงานเดินเอกสารในบริษัทกฎหมาย ไม่นานก็ลาออก เปลี่ยนงานใหม่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จนโดนไล่ออกข้อหากระทำเกินกว่าเหตุ (หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เขาทำตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัดเถรตรง)

ช่วงเริ่มเรื่องดังกล่าวทำหน้าที่บอกเล่าอยู่ 2-3 ประการ คือ ประวัติความเป็นมาของตัวละคร, จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างริชาร์ดกับวัตสัน (ทนายความที่บริษัทเดิม) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในอีกหลายปีต่อมา นิสัยใจคอ ตลอดจนพฤติกรรมแปลกๆ ของริชาร์ด

ริชาร์ดมีความใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ อยากทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพ ดูแลสันติสุขแก่ปวงชน ความใฝ่ฝันนี้แรงกล้าถึงขั้นหมกมุ่นหลงใหล ทั้งการฝึกยิงปืนจนแม่นยำชำนาญ เรียนรู้ตัวบทกฎหมาย และศึกษาขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเผชิญเหตุต่างๆ ด้วยตนเอง

กล่าวโดยสรุป ริชาร์ดถูกปลูกฝังให้เคารพเชื่อฟังกฎหมาย และศรัทธาต่อทุกๆ คนผู้ทำหน้าที่รักษากฎหมาย

พ้นจากความฝันดังกล่าว ริชาร์ดก็ใสซื่อเหมือนเด็กที่ยังไม่โต ไม่มีพิษมีภัยกับใคร ชอบเล่นวิดีโอเกมจนเก่งกาจ อาศัยอยู่กับแม่ ซึ่งรักและผูกพันกันมาก

ในปี 1996 ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ริชาร์ดได้งานชั่วคราวเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในคอนเสิร์ตซึ่งจัดขึ้นที่ Centennial Olympic Park

คืนวันที่ 3 ของงานคอนเสิร์ต ริชาร์ดเข้าไปห้ามปรามกลุ่มวัยรุ่นที่เอะอะโวยวายด้วยความเมา แล้วได้พบเป้สะพายทิ้งไว้บนพื้นใกล้ๆ กัน จึงทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่เรียนรู้มาตามลำดับ ตั้งแต่ไปแจ้งต่อตำรวจที่อยู่ในงาน เตือนภัยและแจ้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้รับทราบ โทรศัพท์ติดต่อหน่วยกู้ระเบิด กันฝูงชนออกห่างจากพื้นที่อันตรายโดยสงบ

 

 

ขณะรอผู้เชี่ยวชาญด้านกู้ระเบิดเดินทางมาถึง ระเบิดก็ทำงาน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บหนักเบารวมกันนับร้อย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่า หากปราศจากริชาร์ด ผู้พบเห็นระเบิด แจ้งเตือนภัยและช่วยเคลื่อนย้ายฝูงชน เหตุร้ายดังกล่าวน่าจะสร้างความสูญเสียรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่มากมายหลายเท่า

สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งสังเกตเห็นแง่มุมนี้ และเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะเพิ่มสีสัน ดึงดูดความสนใจจากผู้คนให้มากขึ้น จึงสัมภาษณ์ริชาร์ด เชิดชูและปลุกปั้นให้เขากลายเป็นวีรบุรุษในชั่วข้ามคืน

อายุงานในฐานะวีรบุรุษของริชาร์ด เกิดขึ้นและจบลงภายในเวลาแค่ 3 วัน เพราะขณะที่เอฟบีไอกำลังไล่ล่าค้นหาตัวคนร้าย ก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหารวิทยาลัยซึ่งเคยไล่ริชาร์ดออกจากงาน (และได้เห็นการสัมภาษณ์วีรบุรุษของชาติทางโทรทัศน์) บอกเล่าถึงประวัติการทำงานเชิงลบในอดีต พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่า การกระทำของริชาร์ดอาจเข้าข่าย ‘ชงเอง กินเอง’ เจตนาลอบวางระเบิดเพื่อสร้างสถานการณ์ให้ตนเองเป็นฮีโร่

เอฟบีไอขานรับข้อสงสัยข้างต้น โดยเทียบเคียงกับหลายๆ คดีในอดีต ที่คนร้ายลงมือก่ออาชญากรรมเพื่อสวมรอยเป็นพระเอก และพบว่ามีความสอดคล้องตรงกันหลายอย่าง ยิ่งเมื่อตรวจสอบประวัติของริชาร์ด แนวโน้มและน้ำหนักความเป็นไปได้ก็ดูจะเข้าเค้ามากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น คือ ขณะที่เอฟบีไอกำลังมุ่งหน้าสืบสวนสอบสวนโดยปกปิดเป็นความลับเพื่อรักษารูปคดี นักข่าวสาวชื่อแคธี สครักส์ ต้องการสร้างผลงานจากข่าวลอบวางระเบิด จึงเข้าหาเจ้าหน้าที่เอฟบีไอผู้ทำคดี เสนอข้อแลกเปลี่ยน ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย แลกกับข้อมูลลับ โดยตกลงกันว่า จะไม่มีการเปิดเผยที่มาของแหล่งข่าว จนกระทั่งทราบเรื่องเอฟบีไอตั้งสมมติฐานว่า ริชาร์ด จิวล์คือผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการหาหลักฐานเอาผิด

แคธีนำข้อมูลที่ได้มาไปเขียนข่าว (และพาดพิงถึงเอฟบีไอโดยไม่พยายามปกปิด) ผลก็คือ ชีวิตของริชาร์ดพลิกผันจากวีรบุรุษที่ทุกคนยกย่องสรรเสริญ กลายเป็นจอมลวงโลก ผู้ร้ายใจเหี้ยม ฆาตกรโรคจิตไปในชั่วพริบตา

 

 

เนื้อเรื่องคร่าวๆ มีเพียงเท่านี้ และหนังก็เล่าในทิศทางที่ผู้ชมสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่าเหตุการณ์จะลงเอยเช่นไร โดยปราศจากการล่อหลอกหักมุมใดๆ

ที่เรียบง่ายยิ่งไปอีก คือ เมื่อถึงบทคลี่คลาย มันก็ลงเอยด้วยความธรรมดาเหลือเกิน ไม่มีการค้นพบข้อมูลลับแบบนึกไม่ถึงที่กลายเป็นจุดพลิกโฉมคดี ไม่มีการดิ้นรนต่อสู้ด้วยความยากลำบาก จนกระทั่งได้มาซึ่งไพ่ใบสำคัญ ตัวละครทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้ไปตามครรลองปกติทั่วไป

Richard Jewell ไม่ใช่หนังที่เน้นความสนุกยอกย้อนของเหตุการณ์หรอกนะครับ แต่ความน่าติดตามของหนังอยู่ที่ 2 สิ่ง อย่างแรกคือ การใช้เนื้อเรื่อง (ธรรมดาสามัญ) ที่มีอยู่ เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์ 2 องค์กรทรงอำนาจสูงสุดในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ อำนาจรัฐและสื่อมวลชน

หนังพูดถึง ความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยสะท้อนผ่านความบกพร่อง ความชั่วของตัวบุคคล ไม่ใช่ความเลวร้ายขององค์กร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ในระบบนั้นมีช่องว่าง มีรูรั่ว มีการให้อำนาจ จนสามารถนำเอาการกระทำที่ถูกกฎหมาย มารังแกชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรมและโหดร้ายได้น่าสะพรึงกลัวมากเพียงไร

ส่วนบทบาทของสื่อมวลชน หนังเล่าไว้ 2 แง่มุม แรกสุดคือ การทำทุกวิถีทางเพื่อมุ่งขายข่าวและแสวงหาความสำเร็จให้แก่ตนเองโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่คำนึงถึงความถูกต้องชั่วดี ไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณ อีกแง่มุมหนึ่ง คือ พฤติกรรมแบบแร้งรุมทึ้ง (ทั้งในช่วงที่ริชาร์ดเป็นฮีโร่และช่วงที่เป็นผู้ต้องสงสัย) ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น

ทั้ง 2 ประเด็นนี้ หนังเล่าไว้ชัด และเป็นแง่มุมที่ไม่มีอะไรใหม่ หรือผิดแผกแตกต่างไปจากที่เคยเล่าไว้ในหนังจำนวนมาก แต่สิ่งที่ผมชอบคือ หนังใช้สิ่งเดิมๆ เหล่านี้ ขับเคลื่อนไปสู่ ‘หัวใจสำคัญ’ สูงสุดของงานชิ้นนี้

แม้คลินต์ อิสต์วูด จะทำหนังเรื่อง Richard Jewell โดยไม่เน้นเงื่อนปมชวนสงสัยว่าใครถูกใครผิด ไม่เน้นเรื่องความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่มีกระทั่งการดึงอารมณ์คนดูไปสู่จุดสะเทือนใจแรงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาใส่ใจมาก และนำเสนอออกมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงทำได้วิเศษเป็นที่สุดก็คือ สภาพเหมือน ‘ตกนรกทั้งเป็น’ ของคนบริสุทธิ์ซึ่งตกเป็นเหยื่อจากอคติของผู้รักษากฎหมาย และการปั้นข่าวให้ขายได้อย่างไร้เมตตาของสื่อมวลชน

ทั้งสภาพการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ภายในบ้าน ท่ามกลางการรุมล้อมจ้องมองของฝูงนักข่าว, การตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาออกสื่อ, การถูกคุกคามและควบคุมโดยทางการ, ความวิตกกังวลต่อชะตากรรมตนเองในอนาคต, ความอับอายเมื่อต้องออกไปสู้หน้าสาธารณชน, ชีวิตการงานประจำวันที่สั่นคลอน (กรณีนี้หมายถึงแม่ของริชาร์ด), ความตึงเครียดระหว่างกันภายในครอบครัว เมื่อถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสารพัน ฯลฯ

รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ นำไปสู่ฉากดรามาดีๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นฉากเรียบๆ เหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่ผมคิดว่า เป็นวิธีเร้าอารมณ์แบบหนึ่งซึ่งทำให้ดีได้ยาก เริ่มจากเล่าเรื่องไปตามปกติ ตัวละครพูดคุยเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวัน แล้วการแสดงอันยอดเยี่ยมของทุกคน ก็ทำให้มันกลายเป็นฉากดรามาที่เรียบง่าย สมจริง และทรงพลังน่าประทับใจเหลือเกิน

หนึ่งในฉากที่เด่นมากๆ คือ ตอนที่ริชาร์ดกับวัตสันนั่งคุยกันเรื่องหนทางสู้คดี ขณะที่แม่นั่งฟังอยู่ข้างๆ บนโซฟา ถึงจุดหนึ่งหัวข้อสนทนาก็กลายเป็นความตึงเครียด แม่กดรีโมทเร่งเสียงโทรทัศน์ดังลั่น ริชาร์ดเหลืออด ขึ้นเสียงโวยวายต่อว่า จนแม่เดินหนีไปหลบในอีกห้อง ริชาร์ดรู้สึกตัวไปเคาะประตูกล่าวง้องอนขอโทษ (และได้ยินเสียงสะอื้นดังมาจากอีกห้อง) จนท้ายที่สุด แม่ก็เดินออกมาน้ำตานองหน้า ต่างฝ่ายต่างโอนอ่อนคืนดีกัน แล้วแม่ก็พูดอะไรบางอย่างสั้นๆ ง่ายๆ แต่เป็นคำอธิบายความรู้สึกเบื้องลึกในใจของเธอ

เจอฉากนี้เข้าไป ผมถึงกับยกมือไหว้นักแสดงทุกคน และไหว้คลินต์ อิสต์วูด ด้วยความนับถือในฝีมือความสามารถ

ตลอดการดู Richard Jewell ผมไม่ได้นับว่า ไหว้ไปทั้งหมดกี่ครั้ง แต่จำได้ว่าไหว้เยอะทีเดียว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save