fbpx
ปัญหาของพรรคการเมืองในปัจจุบันกับระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

ปัญหาของพรรคการเมืองในปัจจุบันกับระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การหวนกลับคืนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ทำให้พรรคการเมืองกลับมาเป็นผู้แสดงคนสำคัญบนเวทีแห่งการเมืองอีกครั้ง คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นคือการที่รัฐนั้นๆ มีระบบพรรคการเมืองอันเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองหลักๆ ทุกขั้ว ทั้งนี้เพราะการเกิดขึ้นและมีอยู่ของพรรคการเมืองหลากหลายเฉดอุดมการณ์ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้คนที่สมาทานอุดมการณ์นั้นๆ มีพื้นที่ในการแสดงออกและขับเคลื่อนประเทศไปตามแนวคิดของตน ไม่ถูกผลักออกไปเล่นการเมืองนอกกรอบ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาคือสถาบันทางการเมืองอย่างเช่นพรรคการเมืองเริ่มหมดความสามารถในการเป็นตัวแทนประชาชน กล่าวคือไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงของประชาชนและไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ประชาชนต้องการ กระนั้นก็ดีแม้ว่านักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าในปัจจุบันประชาชนจำนวนมากในลาตินอเมริการู้สึกผิดหวังและขาดความเชื่อมั่นในสถาบันทางการเมืองอย่างเช่นพรรคการเมือง แต่ในทางกลับกัน หลักฐานและการศึกษาวิเคราะห์อีกจำนวนไม่น้อยก็บ่งชี้ว่าขีดความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หากแต่ว่าเป็นไปอย่างช้าๆ และยังคงไม่นิ่งมากนัก

งานศึกษาของ Luna[1] ทำการวิเคราะห์กรณีตัวอย่างพรรคการเมืองสองพรรคที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการขยายฐานเสียงไปสู่ประชาชนให้หลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น พรรคแรกคือพรรคสหภาพประชาธิปัตย์อิสระ (Independent Democratic Union หรือ Unión Demócrata Independiente เรียกโดยย่อว่า UDI) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาในประเทศชิลี ส่วนอีกพรรคหนึ่งคือพรรคแนวหน้าบริบูรณ์ (Broad Front/Frente Amplio) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย

Luna อธิบายว่าทั้งสองพรรคประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเพราะมีการวางยุทธศาสตร์ไว้ โดยลำดับแรกเป็นการแยกประชาชนผู้ลงคะแนนออกเป็นกลุ่มต่างๆ จากนั้นพรรคก็หาจุดร่วมที่ประชาชนแต่ละกลุ่มมีเหมือนๆ กัน แล้วจึงใช้จุดร่วมนั้นในการหาเสียง ผลลัพธ์ที่ได้คือพรรคจะมีฐานเสียงที่เป็นประชาชนผู้ซึ่งมีจุดร่วมในประเด็นบางอย่างเหมือนกัน แต่ว่ามาจากคนละกลุ่มในสังคมที่แตกต่างกันออกไปนั่นเอง

งานของ Luna ทำการวิเคราะห์ไว้ด้วยว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำถือเป็นปัจจัยที่กำหนดและส่งผลต่อโครงสร้างของการเมืองแบบตัวแทนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในลักษณะใดบ้าง ตลอดจนประเด็นปัญหาของยุทธศาสตร์การขยายฐานเสียงเช่นนี้ของพรรคทั้งสองด้วย จริงอยู่ที่พรรคประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการใช้วิธีการดังกล่าว ทำให้ตนได้เป็นตัวแทนของประชาชนจากหลากหลายกลุ่มของสังคม แต่ในทางกลับกันยุทธศาสตร์เช่นนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง ซ้ำร้ายยังเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ความเหลื่อมล้ำธำรงต่อไปอีกด้วย

ในงานของ Hagopian[2] ซึ่งเขียนขึ้นช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ตั้งข้อสังเกตว่าสายใยแห่งการเป็นผู้แทนที่เชื่อมประชาชนเข้ากับสถาบันทางการเมืองตกอยู่ในสถานะที่ผุกร่อนลงเพราะว่าหลายๆ ประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในอัตราที่เร็วกว่าการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ๆ

ส่วนข้อมูลในรายงานของ UNDP[3] ชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทั่วลาตินอเมริกา ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงแค่การมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่เสียงของประชาชนสามารถผลักดันทิศทางและแนวนโยบายของรัฐบาลที่เลือกขึ้นมาด้วย

กระนั้นก็ดี ข้อมูลจาก Latinobarómetro[4] ในปี ค.ศ. 2013 บ่งชี้ว่ารูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบปกติอย่างเช่นการเลือกตั้ง ไม่ได้สร้างความกระตือรือร้นแก่ประชาชนในช่วงที่ประชาธิปไตยเป็นปึกแผ่นแล้ว ประชาชนไม่ค่อยสนใจการเมือง และประชาชนกลุ่มที่พูดถึงการเมืองบ่อยๆ ถือเป็นส่วนน้อย มีผู้ที่ตอบแบบสอบถามเพียงแค่ร้อยละ 9 เท่านั้นที่ตอบว่าตนเคยทำงานให้กับพรรคการเมืองหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มากไปกว่านั้นประชาชนในลาตินอเมริกาจำนวนมากยังคงคิดว่าการเป็นประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีสภาหรือพรรคการเมืองก็ได้ ดังนั้นที่มีการพบว่าประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพิ่มขึ้น จึงมีนัยยะว่าประชาชนรู้สึกพึงพอใจที่ตนได้มีผู้แทนเป็นกระบอกเสียงที่ถูกใจ ซึ่งแต่เดิมอาจจะไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ประชาธิปไตยไม่ได้แข็งแรงนัก ผลสำรวจของ UNDP พบว่าผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองจะเกิดขึ้นมากก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองที่ ‘ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหน้าเดิมๆ’ เช่น การเลือกสนับสนุนผู้ลงสมัครอิสระ การเข้าร่วมกับกลุ่ม/องค์กรทางสังคมที่แสดงตนว่าเป็นทางเลือกใหม่ ไม่ใช่พรรคการเมืองเดิม ๆ ตลอดจนการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน เป็นต้น

ทั้งนี้ข้อมูลของ Latinobarómetro พบว่าประชาชนในลาตินอเมริกาให้การสนับสนุนการประท้วงมากกว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบอื่นๆ มากเป็นพิเศษ พวกเขาพร้อมเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องประเด็นต่างๆ และมักจะออกมารวมตัวกันเป็นเรื่องๆ ไป ข้อมูลตรงนี้เองที่เป็นหลักฐานชี้ว่าระบบการเมืองแบบตัวแทนของลาตินอเมริกากำลังประสบปัญหา พรรคการเมืองขาดความเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของประชาชน จึงไม่อาจเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนได้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าระบบพรรคการเมืองในลาตินอเมริกากำลังมีปัญหาคือจำนวนพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีกัวเตมาลาประจำปี ค.ศ. 2015 มีพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งทั้งหมด 14 พรรค ส่วนในการเลือกตั้งสมาชิกสภามี 17 พรรค ทางด้านบราซิลในช่วงรัฐบาลฆุสเซฟ มีพรรคที่อยู่ในสภาทั้งหมดมากถึง 35 พรรค สิ่งนี้เองที่เป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลผสมของฆุสเซฟและพรรคแรงงาน (Workers’ Party หรือ Partido dos Trabalhadores – เรียกโดยย่อว่า PT) อ่อนแอและพังทลายลงในที่สุด แค่ว่าในฝ่ายรัฐบาลฆุสเซฟเองก็ประกอบไปด้วย 13 พรรคการเมืองแล้ว

สาเหตุที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในสถาบันทางการเมืองแบบดั้งเดิมซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทน ได้แก่ ปัญหาเรื่องการทุจริต ความไม่พออกพอใจกับสภาพเศรษฐกิจ หรือแม้แต่บทบาทของสื่อโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน เพราะโทรทัศน์ก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ส่งผ่านข้อมูลทางการเมืองสู่สาธารณชนดังเช่นที่พรรคการเมืองเคยทำแต่ก่อนในอดีต

ในรายงานของ UNDP[5] มีการสัมภาษณ์ผู้นำทางการเมืองในลาตินอเมริกาในประเด็นเรื่องการเสื่อมศรัทธาต่อพรรคการเมืองและความสามารถของพรรคในการเป็นผู้แทน คำตอบที่ผู้ให้สัมภาษณ์ให้ไว้ก็เช่นว่าเป็นเพราะการเมืองหมุนรอบระบอบการปกครองที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล (Personalistic Leadership) บ้าง การขาดความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคบ้าง นักการเมืองชอบใช้ระบบอุปถัมภ์ (Clientelism) ในการซื้อเสียงบ้าง เรื่อยไปจนถึงการที่พรรคการเมืองต่างๆ มีอุดมการณ์ที่คล้ายกัน จึงทำให้ขาดความโดดเด่นและแตกต่าง

มีการตั้งข้อสังเกต[6] ไว้ว่าสำหรับประเทศที่เพิ่งเดินเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบตัวแทนแบบสัดส่วนอาจไม่เหมาะสมมากนัก ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดาอาจทำงานดีกว่าและอาจส่งผลที่ดีกว่าต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย (Democratization) เหตุผลคือพรรคการเมืองในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่แข็งแรงมากนักมีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างไปจากประเทศที่ประชาธิปไตยแข็งแรงเป็นปึกแผ่นแล้ว เช่น พรรคยังไม่มีอุดมการณ์ที่หนักแน่นชัดเจน อาจยังขาดแผนงานและหลักการ ภายในพรรคอาจไม่ค่อยมีความเป็นประชาธิปไตยมากเท่าใดเป็นต้น

อีกหลักฐานหนึ่ง[7] ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนต่อประเด็นเรื่องการเสื่อมศรัทธาต่อพรรคการเมืองและความสามารถของพรรคในการเป็นผู้แทนคืออัตราการออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง การงดออกเสียง (Abstention) และทัศนคติที่ประชาชนมีต่อการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่นประเทศเม็กซิโก โคลอมเบีย บราซิล กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ เอกวาดอร์ เปรู ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 พบว่าทั้ง 7 ประเทศมีอัตราการงดออกเสียงที่สูงมาก ในกรณีการเลือกตั้งในเฮติปี ค.ศ. 2015 มีประชาชนเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนกรณีการเลือกตั้งในเม็กซิโก (ค.ศ. 2012) และเอลซัลวาดอร์ (ค.ศ. 2014) เมื่อไม่นานมานี้ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิเกินร้อยละ 50 แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น กระนั้นก็ดี จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในหลายๆ ประเทศก็แกว่งไปมาอยู่เสมอ

Hagopian ศึกษาวิเคราะห์การเสื่อมศรัทธาต่อพรรคการเมืองและความสามารถของพรรคในการเป็นผู้แทนด้วยการเข้าไปมองปัจจัยเรื่องความต่อเนื่องของพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นองค์กรและการจัดการนโยบาย/โครงการต่างๆ ของพรรค ถ้าหากว่าพรรคการเมืองมีโครงสร้างองค์กรที่หละหลวม มีสมาชิกพรรคที่ไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ พรรคนั้นๆ ก็จะเป็นแค่เพียงช่องทาง (vehicle) ให้ผู้นำพรรคได้ขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองแค่นั้น และพรรคจะไม่มีความรับผิดชอบสาธารณะข้องเกี่ยวใดๆ กับประชาชนที่เลือกพรรคนั้นเข้ามา อีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสามารถชี้วัดค่าความเสื่อมถอยของขีดความสามารถของพรรคการเมืองในการเป็นผู้แทนประชาชนได้คือการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ ‘การหมดสิ้นศรัทธา’ (dealignment) ในพรรคการเมืองที่ตนเคยฝักใฝ่ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าประชาชนนั้นถูกพรรคอื่นแย่งไปเป็นฐานเสียงของพรรคใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นในตัวพรรคเดิมของอีกต่อไปแค่นั้น กับอีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ ‘ความผันผวน’ (volatility) ของผลคะแนนการเลือกตั้งของทุกพรรคเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ สัญญาณข้อหนึ่งที่บ่งบอกถึง ‘การหมดสิ้นศรัทธา’ ต่อพรรคในดวงใจได้แก่การที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าตนยืนอยู่บนขั้วการเมืองไม่ว่าจะฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาก็ตาม ผลสำรวจของ Latinobarómetro ชี้ให้เห็นว่าการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยจะมีแนวโน้มลดลงถ้าหากประชาชนรู้สึก ‘เฉยๆ’ กับอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งฝั่งซ้ายและขวามากขึ้นและไม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายใดเลย

Hagopian เสนอว่าปรากฏการณ์ความหมดสิ้นศรัทธาในพรรคการเมืองเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วในลาตินอเมริกาเช่นกัน หลักฐานและผลการศึกษาที่ Hagopian ได้มาทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว การเสื่อมถอยในระบบการเมืองแบบตัวแทนเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ชั่วครู่ชั่วคราวดังที่นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้หรือไม่

ส่วนในงานของ Mainwaring and Scully[8] ก็พบว่าแม้แต่ในประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองมาอย่างเก่าแก่มาเป็นเวลานาน เช่น โคลอมเบีย เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ค่าความผันผวนของผลคะแนนการเลือกตั้งก็อยู่ในระดับสูงมากมาตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1980 แล้ว

อันที่จริงแล้วนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าหลายพรรคการเมืองที่ขยายฐานเสียงของตนไปทางฝั่งซ้ายมากขึ้นจะประสบผลสำเร็จบนเวทีการเลือกตั้ง ซึ่งเหตุผลที่ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่แค่เพราะว่าพรรคการเมืองดั้งเดิมเหล่านี้ปรับเปลี่ยนจัดการยุทธศาสตร์เสียใหม่ให้ตนสามารถเป็นผู้แทนของคนที่หลากหลายอุดมการณ์ได้มากขึ้นแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นเพราะว่ามีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเพิ่มเติมด้วย โดยมากแล้วพรรคการเมืองใหม่ประเภทนี้มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการเมืองในระบบหรือเคยจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองอย่างทางการมาแต่เริ่มแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการและเข้ามาเล่นการเมืองในระบบ ตัวอย่างเช่นพรรคกรีน (Green Party) ในหลายๆ ประเทศ เช่น บราซิล โคลอมเบีย เม็กซิโก ซึ่งถือว่าเป็นพรรคแถวหน้าของประเทศ นักการเมืองจากพรรคกรีนในประเทศเหล่านี้บางครั้งถึงกับได้รับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีด้วย

ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมในหมู่ประชาชนเพื่อเรียกร้องและกดดันรัฐในประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ศาสนา การพึ่งตนเอง ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ทำให้การเมืองของลาตินอเมริกาเปลี่ยนทิศทางได้[9]

Pogrebinschi[10] อธิบายว่าที่ประเทศในลาตินอเมริกาหลายแห่งลองใช้ระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) แท้จริงแล้วไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายสถาบันทางการเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนหรือถึงขั้นจะนำเอาระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาใช้แทนระบบการเมืองแบบตัวแทนแต่อย่างใด จุดมุ่งหมายจริงๆ ที่นำเอาระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาลองใช้คือเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของสถาบันทางการเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนนั่นเอง ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นชัดเจนเป็นพิเศษในประเทศที่มีลักษณะเป็น ‘ประชาธิปไตยแบบทำแทน’

Pogrebinschi อธิบายเพิ่มเติมว่าการที่หลายประเทศนำเอาระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาทดลองใช้ ส่งผลทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามถึงมาตรวัดที่นักวิชาการใช้ประเมินคุณภาพของประชาธิปไตยกันอย่างจริงจังว่ายังคงใช้ประเมินได้จริงหรือไม่ อาจต้องมีการกำหนดจัดการมาตรวัดกันใหม่หรือไม่อย่างไร

มีหลายกรณีเช่นกันที่ผู้เล่นทางการเมืองเลือกใช้ทางลัด (bypass) ในการหลบหลีกขั้นตอนบางอย่างหรือเลี่ยงสถาบันในระบบการเมือง แล้วหันไปใช้การกระทำทางตรง (direct action) เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการแทน การกระทำเช่นนี้มักบ่งชี้ให้เห็นว่าสถาบันทางการเมืองกำลังสูญเสียความชอบธรรมและประชาชนกำลังรู้สึกไม่พออกพอใจกับสภาพการเมือง ความขุ่นข้องหมองใจกับสภาพการเมืองบ่อยครั้งปะทุเป็นการลุกฮือขึ้นประท้วงซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภูมิทัศน์การเมืองในลาตินอเมริกาอยู่เสมอ บางครั้งการประท้วงอาจมีน้ำหนักมากถึงขั้นที่ทำให้ประธานาธิบดีต้องลาออกจากตำแหน่งเลยทีเดียว

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตของการเมืองแบบตัวแทนในลาตินอเมริกาได้แก่เรื่องการกดดันให้รัฐบาลกลางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น (decentralization) โดยมากแรงกดดันประการนี้มักจากฝ่ายค้าน หรือไม่ก็มาจากการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อที่ว่ารัฐธรรมนูญหลังปรับแก้แล้วจะสามารถช่วยทุเลาปัญหาวิกฤตการขาดความเชื่อมั่นในระบบการเมืองแบบตัวแทนได้

อย่างไรก็ดี การกระจายอำนาจไม่จำเป็นจะต้องทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลงเสมอไป ถ้าออกแบบไว้เป็นอย่างดี ระบบการเมืองที่กระจายอำนาจก็สามารถทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งได้เช่นกัน ซ้ำยังจะไม่เป็นการทำลายอำนาจรัฐส่วนกลางด้วย[11] ทั้งนักวิชาการและนักการเมืองประชานิยมมักกล่าวว่าต้นตอปัญหาของระบบการเมืองแบบตัวแทนอยู่ที่พรรคการเมืองซึ่งล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ประชาชนอีกต่อไป แต่การศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียด[12] กลับบอกเราว่าแท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในบางกรณีการที่ตัวรัฐเองไร้ประสิทธิภาพก็อาจเป็นหัวใจของปัญหาด้วย ดังนั้นก่อนที่จะลงมือปรับปรุงระบบการเมืองแบบตัวแทนและสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องมีการปฏิรูปให้รัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้นเสียก่อนเป็นลำดับแรก

 

 


[1] Juan Pablo Luna, Segmented Representation: Political Party Strategies in Unequal Democracies (New York: Oxford University Press, 2014).

[2] Frances Hagopian, “Democracy and Political Representation in Latin America in the 1990s: Pause, Reorganization, or Decline?,” in Felipe Agüero, and Jeffrey Stark (eds.), Fault Lines of Democracy in Post-Transition Latin America (Coral Gables: North-South Center Press, 1998).

[3] UNDP, Democracy in Latin America: Towards a Citizens’ Democracy: Statistical Compendium (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004b).

[4] Latinobarómetro, 2013 Report (Santiago: Corporación Latinobarómetro, 2013).

[5] UNDP, Democracy in Latin America: Towards a Citizens’ Democracy: Statistical Compendium (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004b).

[6] Timothy M. Meisburger, “Debating Electoral Systems: Getting Majoritarianism Right,” Journal of Democracy 23, no. 1 (2012): 155–163.

[7] Frances Hagopian, “Democracy and Political Representation in Latin America in the 1990s: Pause, Reorganization, or Decline?,” in Felipe Agüero, and Jeffrey Stark (eds.), Fault Lines of Democracy in Post-Transition Latin America (Coral Gables: North-South Center Press, 1998).

[8] Scott Mainwaring, and Timothy Scully, “Introduction: Party Systems in Latin America,” in Scott Mainwaring, and Timothy Scully, (eds.), Building Democratic Institutions: Party Systems in Latin America (Stanford: Stanford University Press, 1995).

[9] UNDP, Democracy in Latin America: Towards a Citizens’ Democracy (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004a).

[10] Thamy Pogrebinschi, “The Pragmatic Turn of Democracy in Latin America,” Study (Berlin: Friedrich-Ebert-Stiftung (FES), 2013).

[11] Jean-Paul Faguet, Ashley M. Fox, and Caroline Pöschl, “Decentralizing for a Deeper, More Supple Democracy,” Journal of Democracy 26, no. 4 (2015): 60–74.

[12] Scott Mainwaring, “The Crisis of Representation in the Andes,” in Larry Diamond, Marc F. Plattner, and Diego Abente Brun, (eds.), Latin America’s Struggle for Democracy (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 2008).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save