fbpx

72 ปี รังสรรค์ : อนิจลักษณะของ ‘รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์’

อนิจลักษณะของ 'รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์'
บทอภิปรายของ ปกป้อง จันวิทย์ ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” ร่วมเสวนาโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ วันพุธที่ 27 มีนาคม 2562 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ในฐานะศิษย์คนหนึ่ง ขอเริ่มด้วยการขอบคุณคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดงาน 72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ในวันนี้ รวมทั้งจัดทำหนังสือ 72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และเว็บไซต์ สรรนิพนธ์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งรวบรวมงานเขียนทั้งหมดของอาจารย์

นี่คือวิธีการรำลึกถึงอาจารย์ได้อย่างสมศักดิ์ศรีและดีที่สุด เพราะทำให้มรดกทางความคิดและผลงานเขียนของอาจารย์มีชีวิตอยู่ต่อไปให้เหล่า ‘นักอ่าน’ และ ‘นักเรียนรู้’ ได้ศึกษา ตั้งคำถาม คิดต่อ คิดใหม่ คิดวิพากษ์ และคิดไปให้ไกลกว่ารังสรรค์

 

(1)

 

ตัวผมเองรู้จักชื่อ ‘รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์’ ครั้งแรกสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ราวปี 2535 จากการอ่านคอลัมน์ จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ขณะนั้น ไฟการเมืองในใจผมกำลังลุกโชน อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535

ในตอนนั้นผมอยากค้นหาคำตอบหลายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองไทย เช่น ปัญหารากฐานของการเมืองไทยอยู่ตรงไหนกันแน่ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือรัฐประหารขึ้นอีก และจะสร้างประชาธิปไตยให้ยั่งยืนในประเทศนี้ได้อย่างไร ช่วงนั้นผมเลยไล่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยและตำรารัฐศาสตร์อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง รวมถึงบทความของนักวิชาการตามหน้าหนังสือพิมพ์

เมื่อแรกอ่านคอลัมน์ของอาจารย์รังสรรค์เป็นชิ้นๆ ก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมด และยังเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบไม่ได้ แต่ก็รู้สึกว่าวิธีวิเคราะห์น่าสนใจ ต่างจากงานสายรัฐศาสตร์ที่เคยอ่าน จนกระทั่งได้อ่านหนังสือ อนิจลักษณะของการเมืองไทย: เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยการเมืองไทย  ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือรวมงานคอลัมน์ชุดแรกของอาจารย์ ได้แก่ อนิจลักษณะของเศรษฐกิจไทย (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2536) อนิจลักษณะของการเมืองไทย (สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2536) และ อนิจลักษณะของสังคมไทย (โครงการหนังสือวิชาการในเครืออมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2538)

 

หนังสือรวมบทความชุดแรกของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
หนังสือรวมบทความชุดแรกของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

 

ผมจำได้แม่นว่าซื้อหนังสือเล่มนี้ทันทีที่เห็น อ่านรวดเดียวจบด้วยความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ และ ‘ปิ๊ง’ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับหนังสือเล่มไหนมาก่อน  นี่คือหนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผมมากที่สุด เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนมุมมอง และสร้างพื้นฐานความคิดในวันนั้น ก่อนที่จะวิวัฒน์ต่อจนเป็นตัวเราในวันนี้ คือถ้าถอดรากความคิดของตัวเองย้อนกลับไปจะเจอหนังสือเล่มนี้  ถ้าใช้ภาษาของ ‘สิงห์สนามหลวง’ ย่อมต้องบอกว่า “อำนาจวรรณกรรมมีจริง”

อาจารย์รังสรรค์ในฐานะ ‘ครู’ เศรษฐศาสตร์คนแรก สอนอะไรผมบ้าง

หนึ่ง แก่นหัวใจของเศรษฐศาสตร์

อาจารย์รังสรรค์ทำให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาว่าด้วยธุรกิจ เศรษฐกิจ หรือเรื่องเงินๆ ทองๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย การลงทุน งบประมาณแผ่นดิน ดังที่เด็กนักเรียนคนหนึ่งเคยเข้าใจผิดจากการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ แต่เศรษฐศาสตร์เป็นชุดเครื่องมือหรือวิธีคิดที่ใช้อธิบายโลกได้อย่างกว้างขวาง

ด้านหนึ่ง เราใช้เศรษฐศาสตร์ในการอธิบายเรื่องที่ไม่ใช่เศรษฐกิจได้ด้วย เช่น การเมือง กฎหมาย สังคมวัฒนธรรม

ด้านหนึ่ง เราจะไม่มีทางเข้าใจเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่เข้าใจการเมือง เศรษฐกิจกับการเมืองแยกขาดออกจากกันไม่ได้

และอีกด้านหนึ่ง เราไม่มีทางเข้าใจปัจจุบันหรือมองอนาคตได้ หากปราศจากความเข้าใจเกี่ยวกับอดีตและวิถีความเป็นมาของสังคม ข้อมูลเชิงประจักษ์ในบทวิเคราะห์ของอาจารย์รังสรรค์จึงไม่ได้ใช้แต่คณิตศาสตร์หรือสถิติ แต่ใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นพระเอกในการสร้างชุดเรื่องเล่า

สอง การอธิบายโลกเพื่อเปลี่ยนโลก

อาจารย์รังสรรค์ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการวิเคราะห์ ‘สิ่งที่เป็นอยู่’ กับ ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’  อาจารย์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกวิเคราะห์การเมืองไทยเพื่อทำความเข้าใจและอธิบาย ‘สภาพที่เป็นอยู่’ ของการเมืองไทย ไม่ว่าเราจะถูกใจหรือไม่ก็ตาม เช่น ทำไมจึงเกิดรัฐประหาร ทำไมผู้มีอำนาจถึงโกง ทำไมคนไม่ยอมออกไปเลือกตั้ง ขั้นตอนนี้ต้องวางตัวเองให้ออกห่างจากสิ่งที่เราศึกษา วิเคราะห์และอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์สังคม ไม่ใช่ด้วยอุดมการณ์และค่านิยมส่วนตัว กระทั่งเมื่อเข้าใจโลกแบบที่มันเป็นอยู่แล้ว เราจึงคิดออกแบบปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น สู่สภาพที่ควรจะเป็นด้วยหลักวิชาได้

ตัวอย่างเช่น ผู้มีอำนาจตัดสินใจโกงเพราะประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการโกงสูงกว่าต้นทุนในการโกง ฉะนั้น ทางแก้คือเพิ่มต้นทุนการโกงให้สูงขึ้นจนไม่คุ้มที่จะโกง เช่น มีกระบวนการยุติธรรมที่ลงโทษคนผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดเผยข้อมูลต่างๆ สู่สาธารณะให้ประชาชนและสื่อมวลชนตรวจสอบได้ง่าย รวมถึงลดการใช้ดุลพินิจและการผูกขาดอำนาจของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่มุ่งแก้โกงด้วยการหวังพึ่งบ้าน-วัด-โรงเรียนเท่านั้น

สาม ความสำคัญของ ‘สถาบัน’ หรือ ‘ระบบ’

แทนที่อาจารย์รังสรรค์จะเรียกร้องให้นักการเมืองเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ กลับเสนอกรอบการวิเคราะห์โดยมองนักการเมืองเป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดให้ตนเองและเครือข่าย หรือแสวงหาคะแนนนิยมสูงสุด มิได้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวม

เรื่องเล่าว่าด้วยการเมืองของอาจารย์จึงสอนเราว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือ ‘ปุถุชน’ ไม่ใช่ ‘อรหันต์’ และ ตัว ‘ระบบ’ หรือ ‘สถาบัน’ มีความสำคัญมากกว่า ‘ตัวบุคคล’

คำว่า ‘สถาบัน’ ในที่นี้คือ ‘กติกาการเล่นเกม’ ที่กำกับปฏิสัมพันธ์ของผู้คน กำหนดและปรับเปลี่ยนความเชื่อ การตัดสินใจ และพฤติกรรมของคน สถาบันมีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น วัฒนธรรม จารีต และค่านิยมส่วนรวมของสังคม (norm)

การปฏิรูปการเมืองจึงมิใช่การเรียกร้อง ‘คนดี’ แต่โจทย์อยู่ที่การออกแบบ ‘สถาบัน’ ที่ดี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตัวละครต่างๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมขัดแย้งกันน้อยที่สุด เช่น ออกแบบรัฐธรรมนูญให้โครงสร้างตลาดการเมืองมีการแข่งขันสมบูรณ์บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคและเท่าเทียม ลดต้นทุนธุรกรรมในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มีการควบคุมกำกับตลาดการเมืองในระดับที่เหมาะสม และสร้างกลไกความรับผิดของรัฐบาลต่อประชาชน เป็นต้น

สี่ ความหลากหลายในโลกวิชาการ

เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ ในสังคมได้ผ่าน ‘แว่นตา’ หลายแบบ เรื่องการเมืองที่เราสนใจ มองมันด้วยวิธีแบบนี้ก็ได้ด้วย ต่อมาจึงขมวดคิดได้ว่า นักวิชาการแต่ละศาสตร์มี ‘แว่นตา’ ในการมองโลกต่างกัน แว่นตาแต่ละแบบต่างก็มีจุดคมชัดและจุดบอด-เบลอในการมองไม่เหมือนกัน นักเศรษฐศาสตร์เองยังมีแว่นตาหลายแบบ ความสนุกทางปัญญา คือ การใส่ๆ ถอดๆ แว่นแต่ละแบบ แล้วพยายามตัดแว่นหาวิธีมองโลกในแบบของตัวเอง

ทั้งหมดนี้คือสปิริตของวิถีวิชาการแบบรังสรรค์ เมื่อผมได้อ่านงานของอาจารย์รังสรรค์อย่างต่อเนื่อง และต่อมาได้อ่านและรู้จักอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ครูเปลี่ยนชีวิตอีกท่านหนึ่ง ผมก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ได้ และสนใจศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง

 

(2)

 

เมื่อเข้ามาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็ได้เป็นศิษย์รังสรรค์สมใจ ผมเรียนวิชา EC441 หรือเศรษฐศาสตร์การคลังว่าด้วยรายจ่ายรัฐบาลกับอาจารย์ และชอบไปนั่งฟังบรรยายวิชา EC460 หรือเศรษฐกิจประเทศไทย เป็นประจำ

ตอนเรียนหนังสือ ผมก็ชอบเข้าห้องสมุดเหมือนกัน วันหนึ่งห้องสมุดเอาหนังสือเก่าๆ มาโละทิ้ง วางไว้ตามระเบียงทางเดิน ผมก็เข้าไปคุ้ยเขี่ยหาอาหารสมอง นอกจากจะโชคดีได้หนังสือ เศรษฐศาสตร์ ของท่าน พอล เอ. แซมวลสัน แปลโดย เดือน บุนนาค กลับบ้านแล้ว ยังได้หนังสือ ทฤษฎีการภาษีอากร (สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2516) ของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กลับบ้านด้วย

 

หนังสือเล่มแรกในชีวิตของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
หนังสือเล่มแรกในชีวิตของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

 

อาจารย์รังสรรค์เขียนหนังสือเล่มนี้เมื่ออายุทางการได้ 27 ปี นับเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต แม้เป็นตำราเรียน แต่กลับทำให้ผมเห็น ‘ตัวตน’ ของคนชื่อรังสรรค์มากขึ้น

ส่วนที่สนุกที่สุดของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ ‘คำนำ’ รังสรรค์หนุ่มขึ้นต้นหนังสือเล่มแรกของเขาว่า

“อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองไทยนั้น เป็นอาชีพเสือนอนกิน เพราะเพียงแต่ตระเตรียมคำบรรยายเพียงครั้งเดียว ก็หากินได้ตลอดชีวิต ยิ่งนักศึกษาไทยมีความรู้ภาษาอังกฤษอ่อนด้วยแล้ว อาจารย์ย่อมหาทางขูดรีดนักศึกษาด้วยวิธีการเช่นว่านี้  การที่ตำราทางวิชาการต่างๆ ที่เป็นภาษาไทยยังขาดแคลนอยู่ทั่วไป … เป็นเพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ประเภทเสือนอนกิน ขาดฉันทะทางวิชาการ และมีความทะเยอทะยานทางการเมือง ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอันมาก ยอมขายตัวให้นักการเมืองและนายธนาคาร เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและอำนาจ ถ้าหากองค์ประกอบส่วนใหญ่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยยังคงเป็นเช่นนี้ ย่อมยากที่จะมีความเป็นเลิศทางวิชาการได้ และคุณภาพของบริการการอุดมศึกษาย่อมยากที่จะดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้”

อีกตอนหนึ่ง อาจารย์รังสรรค์เผยความในใจ

“หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเขียนเพียงสามเดือนเศษ …. การทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำตลอดระยะเวลาสามเดือนดังกล่าวนั้น ทำให้บ้านของผู้เขียนมีสภาพเสมือนหนึ่งโรงแรมสำหรับเป็นที่ซุกหัวนอนเท่านั้น บ่อยครั้งที่มารดาและน้องๆ ของผู้เขียนเป็นที่ระบายอารมณ์อันตึงเครียดของผู้เขียนอย่างไร้เหตุผล ผู้เขียนจึงขออภัยในความไร้เหตุผลเหล่านั้นไว้ ณ ที่นี้ด้วย”

ผมขอแทรกเกร็ดตรงนี้สักเล็กน้อย รู้ไหมครับว่าอาจารย์รังสรรค์เคยเขียนแบบเรียนด้วย เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ของกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อ ภาษีทุกบาท ช่วยชาติพัฒนา (โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2526) อ่านดูแล้วจะเห็นฝีมือการเล่าเรื่องภาษี ตั้งแต่หน้าที่ของรัฐบาล ทฤษฎีภาษีอากร สินค้าและบริการสาธารณะ (public goods and services) ผลกระทบภายนอก (externalities) จนถึงภาษีกับการพัฒนาประเทศ อาจารย์เล่าความรู้เหล่านี้ผ่านเรื่องราวรอบชีวิตตัวละครหลักชื่อ ด.ช.จิต รักชาติ เช่น บทสนทนาระหว่างจิตกับพ่อว่าทำไมต้องมีรัฐบาล แล้วรัฐบาลต้องหารายได้มาจากไหน

 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยเขียนแบบเรียนเรื่องภาษี สำหรับเด็ก ป.5-6
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยเขียนแบบเรียนเรื่องภาษี สำหรับเด็ก ป.5-6

 

ตัวอย่างเนื้อหาบางตอน พ่อสอนจิตว่า

“รัฐบาลแปลว่าผู้มีหน้าที่ดูแลและปกครองประเทศ สังคมจะดำรงอยู่ได้อย่างมีสันติสุข ก็ต่อเมื่อมีกฎและระเบียบที่ประชาชนในสังคมยึดถือเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน เรียกว่า กฎหมาย พ่อเคยยกตัวอย่างให้ฟังว่า หากบ้านเมืองปราศจากกฎหมาย โจรผู้ร้ายจะเข้าปล้นบ้านเรือนได้โดยไม่ต้องกลัวถูกตำรวจจับ … “บ้านเมืองจะต้องมีขื่อมีแป” สังคมมอบอำนาจในการวางกฎและระเบียบให้แก่ผู้ปกครองหรือรัฐบาล ยิ่งในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้ว รัฐบาลย่อมเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง แต่พ่อเองก็ย้ำว่า แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับมอบหมายอำนาจในการกำหนดกฎหมายของบ้านเมืองก็มิได้หมายความว่าจะเลือกออกกฎหมายได้ตามใจชอบ … ต้องให้ความเป็นธรรมแก่คนในสังคมโดยเสมอหน้า … ต้องเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น”

นี่คือตำราภาษีระดับประถมศึกษาตอนปลายในยุคสมัยนั้น อ่านแล้วรู้สึกว่า เสียดายที่เด็กไทยสมัยนี้ไม่ได้อ่าน

ตอนท้ายของแต่ละบทจะมีคำถามท้ายบท คำถามหนึ่งที่ผมชอบมากคือ

“ข้อ 4. นักเรียนควรถามผู้ปกครองหรือครูที่ใกล้ชิดถึงความหมายของคำว่า ‘บ้านเมืองต้องมีขื่อมีแป’ ว่าท่านเข้าใจว่าอย่างไร”

คืออาจารย์ไม่ได้ถามให้เด็กตอบเองด้วยนะครับ แต่ให้เด็กที่อ่านไปถามครูถามพ่อแม่อีกทางหนึ่ง ไม่รู้ว่าอาจารย์หวังให้เด็กประถมไปสอนพ่อสอนแม่สอนครูในเรื่องบ้านเมืองต่อหรือเปล่า

กลับมาที่ประเด็นเรื่องการศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ในหนังสือ 72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ บทความชิ้นแรกที่อาจารย์คัดสรรมาคือ ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา เดือนกันยายน 2509 ถ้าเผลอไม่ดูเชิงอรรถให้ดี อ่านบทความแล้วจะนึกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นใหญ่เขียน แต่ไม่ใช่ อาจารย์เข้าธรรมศาสตร์ปี 2507 ฉะนั้น ช่วงที่อาจารย์เขียนบทความชิ้นนี้ในปี 2509 จึงน่าจะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3

“เมื่อหวนระลึกถึงคำกล่าวที่ว่า ‘นักศึกษาเป็นชนชั้นปัญญาชน (Intellectuals) ของประเทศ’ ก็อดคิดไม่ได้ว่า นศ.มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ได้ประพฤติปฏิบัติตนสมกับที่ได้ชื่อว่า ‘ชนชั้นปัญญาชน’ หรือไม่ … เมื่อคำนึงถึงคำนิยามที่ว่า ‘ปัญญาชน คือ บุคคลที่สนใจการเปลี่ยนแปลง’ หรือ ‘ปัญญาชน คือ นักคิดที่สนใจในปัญหาสังคมต่างๆ เป็นผู้เสาะแสวงหาคำตอบและลู่ทางในการเปลี่ยนในสังคมนั้น’ (กมล สมวิเชียร 2509: 97-112) ซึ่งหากเป็นคำนิยามที่ถูกต้องแล้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่นั้นดูเหมือนว่าจะไม่รู้สึกยินดียินร้ายต่อภาวะพิการของสังคมเท่าใดนัก ทั้งเฉยเมยที่จะแสดงความคิดเห็น และเฉยเมยที่จะแสดงความเอื้ออาทรต่อสังคมด้วย”

จากนั้นนักศึกษารังสรรค์ ก็วิพากษ์อุปสรรคต่อการเรียนรู้ในเชิงสถาบันและเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการ กิจกรรมนอกหลักสูตร และการเลือกตั้งกรรมการชุมนุม ปิดท้ายว่า

“เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะสาวไส้ตนเองแต่ประการใด แต่ที่กล้านำข้อเท็จจริงต่างๆ มาตีแผ่ก็โดยมุ่งหวังที่จะได้เห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนักศึกษาที่แท้จริง เป็นนักศึกษาที่พรั่งพร้อมด้วยคุณสมบัติ และเป็นนักศึกษาที่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ ทั้งต่อการศึกษา ต่อมหาวิทยาลัย และต่อสังคม”

ถึงตรงนี้ ผมอยากชวนดูใบแสดงผลการเรียน (transcript) ของนักศึกษารังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ผู้รักเรียนและมุ่งมั่นในอุดมการณ์แห่งการศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นปัญญาชน ว่าผลการเรียนเป็นอย่างไร

 

ใบแสดงผลการเรียนปริญญาตรีของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ใบแสดงผลการเรียนปริญญาตรีของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

อาจารย์รังสรรค์เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ โดยได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งจากนักศึกษาทั้งหมดของคณะ 98 คน วิชาหลักเศรษฐศาสตร์ได้คะแนนดีมาก ‘หลักเศรษฐศาสตร์ 1’ ได้ 95% ‘หลักเศรษฐศาสตร์ 2’ ได้ 94% และใครว่าอาจารย์รังสรรค์ไม่ชอบเลข ขอให้ดูคะแนนวิชา ‘สถิติ 1’ ได้ 100% ‘คณิตเศรษฐศาสตร์’ ได้ 96% ส่วนวิชาที่กลับคะแนนไม่ดีเท่าตัวอื่นกลับเป็น ‘ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ’ ได้ 64% ‘ประวัติความคิดทางเศรษฐศาสตร์’ ได้ 70% และ ‘ภาษาไทย 1’ 63% นี่ใช่อาจารย์รังสรรค์ตัวจริงหรือเปล่า (ฮา)

ข้อเขียนของอาจารย์รังสรรค์สะท้อนตัวตน จริยธรรมวิชาชีพ และอุดมคติในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งต่อนักศึกษาและต่ออาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา จวบจนตลอดชีวิตความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

ในบทความ อาจารย์มหาวิทยาลัยในฐานะอาชีพ ในหนังสือ การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร (โครงการจัดพิมพ์คบไฟและมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2544) อาจารย์เขียนถึงอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยว่า

“อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยมีความคล้ายและความแตกต่างจากโสเภณี … แม้อาจารย์มหาลัยจะเป็นอาชีพค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับโสเภณี แต่อาจารย์จำนวนไม่น้อยก็ขายตัวไม่ต่างจากโสเภณี เพียงแต่โสเภณีขายตัวด้วยภาวะจำยอม แต่อาจารย์มหาลัยจำนวนไม่น้อยมิเพียงแต่ขายตัวเท่านั้น หากทว่ายังขายจิตวิญญาณอีกด้วย ในยุคเผด็จการ/คณาธิปไตย อาจารย์จำนวนไม่น้อยเข้าไปช่วยค้ำจุนระบอบการปกครองดังกล่าว ในยุคที่นักเลือกตั้งครองเมือง อาจารย์จำนวนไม่น้อยอีกเช่นกันที่เข้าไปเป็น ‘เครื่องประดับ’ ของนักเลือกตั้งผู้ทรงอำนาจ”

ในบทความ อาจารย์มหาวิทยาลัยในฐานะสำราญชน ในหนังสือเล่มเดียวกัน อาจารย์วิจารณ์ว่า “มหาวิทยาลัยกลายเป็นพิพิธภัณฑ์อันเป็นที่สิงสถิตของความรู้อันล้าสมัย” และ “บัดนี้มหาวิทยาลัยมีแต่สำราญชนที่ไม่มีความสามารถในการผลิตความรู้”

คำนำในหนังสือ การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร อาจารย์เล่าว่าในการทำงานบริหารมหาวิทยาลัยและคณะเศรษฐศาสตร์หลายวาระหลายตำแหน่ง มีเพียงสองงานที่ภาคภูมิใจ คือ โครงการรับนักศึกษาจากชนบท ซึ่งริเริ่มตอนเป็นผู้อำนวยการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี (พ.ศ. 2518-2519) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราค่าบริการการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยเป็นรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและเทคโนโลยี ในยุคที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นอธิการบดี (พ.ศ. 2538) ทั้งสองเรื่องเป็นตัวอย่างของการนำทฤษฎีและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยมาใช้ในการกำหนดนโยบายการศึกษา ซึ่งแย้งกับความเชื่ออย่างผิดๆ ที่ระบาดในสังคมไทยว่าทฤษฎีไม่สามารถนำมาประยุกต์ปฏิบัติในโลกความเป็นจริงได้

ในฐานะลูกศิษย์ ทุกคนที่เคยเรียนกับอาจารย์รังสรรค์คงได้เรียนรู้จากวัตรปฏิบัติที่อาจารย์ทำให้ดูถึงมาตรฐานการเรียนการสอน อาจารย์ลงทุนเตรียมการสอนอย่างมีคุณภาพ เป็นระบบ และเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ อาจารย์ค้นคว้าแสวงหาตำรา หนังสือ และบทความชั้นดีมาใช้ประกอบการเรียนในวิชาต่างๆ

เราเคยเห็นแต่การขายเอกสารประกอบคำบรรยายของคณะที่เป็นเนื้อหาสาระของวิชา เขียนโดยอาจารย์ผู้สอน แต่ในวิชาเศรษฐกิจประเทศไทยของอาจารย์รังสรรค์ คณะถึงกับต้องขายเอกสารที่เป็นบรรณานุกรม เพราะรายชื่อหนังสือยาวมากเสียจนพิมพ์แจกไม่ได้ ผมจำได้ว่าเคยซื้อชีท บรรณานุกรมเศรษฐกิจประเทศไทย แล้วไปค้นหนังสืออ่านตามในห้องสมุด

ในห้องเรียน อาจารย์รังสรรค์นั่งบรรยายอย่างเป็นระบบ ฟังเพลิน เสียงทุ้ม หนักแน่น ชัดถ้อยชัดคำ มีพลัง ภาษาพูดมิแตกต่างจากภาษาเขียน ไม่มีแม้กระทั่งคำฟุ่มเฟือย (ฮา)

ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟัง ครั้งหนึ่ง ผมฟังบรรยายแล้วสงสัย จึงเข้าไปถามอาจารย์หลังเลิกเรียน อาจารย์ตั้งใจตอบคำถาม ให้เวลาเต็มที่ และวาดรูปกราฟประกอบคำอธิบายอย่างสวยงาม รูปที่วาดไม่ได้ลากเส้นด้วยมือด้วยนะครับ แต่อาจารย์ใช้ไม้บรรทัดตีเส้น แถมตั้งชื่อจุดต่างๆ อย่างครบถ้วนเรียบร้อย เพื่อเขียนอธิบายความให้ได้หมดจด ผมยังเก็บกระดาษแผ่นนั้นไว้จนถึงทุกวันนี้ ขอถ่ายรูปมาให้ดูกัน

 

กระดาษทดที่ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เขียนอธิบายแก่ลูกศิษย์ของเขา หลังเลิกชั้นเรียน
กระดาษทดที่ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เขียนอธิบายแก่ลูกศิษย์ของเขา หลังเลิกชั้นเรียน

 

เมื่อเราเฝ้าสังเกตวัตรปฏิบัติของอาจารย์รังสรรค์ แล้วเรียนรู้ยึดถือเป็นแบบอย่าง มันเหมือนมีคนๆ หนึ่งมาวางมาตรฐานคุณภาพอะไรบางอย่างให้เรา ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ อะไรเสมอ ไม่ว่าเราจะอ่าน คิด ฟัง ถาม เขียน สอน มันเชื้อชวนให้เราคิดในใจว่า ถ้าอาจารย์รังสรรค์อยู่ตรงนั้นด้วย เราควรทำตัวอย่างไร ถ้าสอนแล้วมีรังสรรค์นั่งฟังอยู่แล้ว เราต้องเตรียมสอนอย่างไร ถ้าเราเขียนให้รังสรรค์อ่านหรือเป็นบรรณาธิการหนังสือ ต้องรักษามาตรฐาน ระมัดระวังภาษาและรัดกุมในเนื้อหาอย่างไร ถ้าทำงานวิจัยแล้วมีรังสรรค์เป็นผู้วิจารณ์ คุณภาพงานต้องเป็นอย่างไร อย่างการมาร่วมเสวนาในวันนี้ก็เหมือนกัน ผมแอบถามน้องแก้ว ลูกสาวของอาจารย์ ว่าพ่อจะพูดแนวไหน จะได้เตรียมตัวถูกว่าควรจะเดินเรื่องอย่างไร น้องแก้วแอบส่งไฟลบทปาฐกถา 13 หน้าของพ่อมาให้อ่าน (วันงานจริงเพิ่มเป็น 16 หน้า) พอกลับถึงบ้านปุ๊บ เลยรีบเปิดคอมฯ เขียนบทอภิปรายนี้ขึ้นมาเลยครับ (ฮา)

ในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพวิชาการและคนทำงานความรู้ อาจารย์ทำหน้าที่นั้นกับพวกเรา เป็น ‘มือที่มองไม่เห็น’ ที่กำกับคุณภาพและมาตรฐานการทำงาน สอนเราด้วยการกระทำให้ดูเป็นแบบอย่างว่า ความเป็นมืออาชีพ มันเป็นกันอย่างไร

เมื่อพวกเราเปิดเว็บสื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world กันใหม่ๆ เราตั้งใจกันมาก วันหนึ่งผมมาประชุมที่คณะเศรษฐศาสตร์ เจออาจารย์รังสรรค์โดยบังเอิญ อาจารย์ทักว่าเข้าไปอ่านอยู่เรื่อยๆ เมื่อได้ยินก็รู้สึกหัวใจพองโต และยิ่งเกิดแรงฮึดอยากยกระดับมาตรฐานการทำงานขึ้นไปอีก ทีมงานหลักของ 101 ทั้งผม สมคิด พุทธศรี และวิโรจน์ สุขพิศาล ต่างก็เป็น Rangsian กันทั้งนั้น สองคนหลังเคยทำงานเป็นนักวิจัยในโครงการ WTO Watch ที่อาจารย์รังสรรค์เป็นหัวหน้าโครงการ เมื่อกลับออฟฟิศ ผมเอาเรื่องไปเล่าให้สมคิดและวิโรจน์ฟัง เราไม่ต้องพูดอะไรกันมาก แค่บอกว่า “เฮ้ย อาจารย์รังสรรค์อ่านอยู่ด้วยนะเว้ย” แค่นี้ก็เข้าใจว่าเราต้องทำอะไรกับมัน

 

(3)

 

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง หนังสือ 2 เล่มของอาจารย์รังสรรค์ที่ผมประทับใจที่สุดเมื่อได้อ่าน เล่มแรกคือ เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ หนังสือที่อาจารย์ใช้เวลาเขียนยาวนานที่สุดในชีวิตนักวิชาการถึง 5 ปี

 

"เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ" หนังสือวิชาการที่ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต
“เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ” หนังสือวิชาการที่ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

 

หนังสือเล่มนี้ อาจารย์รังสรรค์เขียนอุทิศแด่นางอี้เตียง แซ่อึ๊ง “แม่ผู้มีประชาธิปไตยในดวงจิต” อาจารย์เขียนไว้ในคำนำว่า

“ความทรงจำของผมเกี่ยวกับแม่ก็คือ แม่เป็นผู้อุทิศชีวิตเพื่อให้ลูกทุกคนมีความเป็นอยู่และการศึกษาที่ดี ผมยังจำภาพที่แม่จับมือผมคัดตัวหนังสือภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งๆ ที่แม่ไม่รู้หนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภาพดังกล่าวนี้ตราอยู่ในดวงจิตของผมนับแต่บัดนั้น ผมเลือกอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้แม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมไม่แน่ใจว่า ผมจะสามารถผลิตงานวิชาการที่มีคุณภาพเช่นนี้ได้อีก”

ผมลองสืบค้นดูว่าอาจารย์รังสรรค์เคยเขียนคำอุทิศในหนังสือให้แก่ผู้ใดอีกบ้าง พบว่า ในหนังสือเล่มแรกในชีวิต ทฤษฎีการภาษีอากร เขียนอุทิศให้ “นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในเมืองไทย”  ในหนังสือ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพรีเมี่ยมข้าว อุทิศแด่ “อัมมาร สยามวาลา เพื่อนร่วมงานผู้ให้ความรู้ทางวิชาการและความเป็นมนุษย์ ยิ่งกว่าที่ได้รับจากครูบาอาจารย์ท่านใด” ในหนังสือ คู่มือการเมืองไทย (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2544) อุทิศแด่ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บุคคลผู้ไม่สำคัญในวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทย” และในหนังสือ ถนนหนังสือ อุทิศแด่ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี บุคคลผู้ไม่สำคัญในบรรณพิภพไทย”

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมอ่านตอนเป็นนักศึกษาแล้วประทับใจมาก คือ กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง พ.ศ. 2475-2530 (สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2539 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ส่วนครั้งแรกพิมพ์โดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยปี 2523) เล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองในดวงใจ มันเปิดหูเปิดตาให้เข้าใจเบื้องหลังนโยบายเศรษฐกิจของไทย ทำให้ผมสนใจเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องนโยบายสาธารณะจนถึงทุกวันนี้

 

หนึ่งในผลงานคลาสสิกของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ “กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย”

 

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้เรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยไปพร้อมกับเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง สอดแทรกตัวอย่างของกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในบนเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2475-2530 และมองเห็นตัวละครต่างๆ โดยเฉพาะตัวละครที่วงวิชาการในสมัยนั้นมองไม่เห็นในการศึกษา เช่น เทคโนแครตหรือขุนนางนักวิชาการ

อาจารย์รังสรรค์พยายามอธิบายว่านโยบายเศรษฐกิจหนึ่งก่อเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยใช้แบบจำลองกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของตลาดนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ของนโยบาย (คือประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สื่อมวลชน และนักเศรษฐศาสตร์) และอุปทานของนโยบาย (คือชนชั้นนำทางอำนาจ ขุนนางนักวิชาการ พรรคการเมือง และรัฐสภา) กับโครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ระบอบการเมือง จารีตและวัฒนธรรมการเมือง ระบบความสัมพันธ์ในสังคม เช่น ระบบอุปถัมภ์ และระบบทุนนิยมโลก เช่น ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งยึดปรัชญาเสรีนิยมใหม่และกดดันให้ประเทศต่างๆ ดำเนินเมนูนโยบายภายใต้ฉันทมติวอชิงตัน บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ และบทบาทของบรรษัทข้ามชาติ

 

แบบจำลองกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
แบบจำลองกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

 

ผมคิดว่าความสนใจและผลงานเขียนของอาจารย์รังสรรค์ทั้งชีวิต เคลื่อนที่อยู่รอบๆ กรอบการวิเคราะห์ของหนังสือเล่มนี้ ตัวอย่างของผลงานบางส่วนแยกตามประเด็น ได้แก่

ตลาดนโยบายเศรษฐกิจ

โครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ  

ระบบทุนนิยมโลก

 

(4)

 

อาจารย์รังสรรค์เป็นนักวิชาการของประชาชน เพื่อประชาชน (ยก ‘โดยประชาชน’ ออกไป เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง – ฮา) ปฏิบัติการความรู้ของอาจารย์ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย แต่คอลัมน์ของอาจารย์ตามหน้าหนังสือพิมพ์เป็นตลาดวิชาเศรษฐศาสตร์ขนาดใหญ่ของทั้งสังคม

ในคำนำหนังสือ ทุนวัฒนธรรม (สำนักพิมพ์มติชน, 2546) อาจารย์เขียนถึงบทบาทความสำคัญของ Journalistic Economist ว่า

“การเผยแพร่บทวิเคราะห์ อรรถาธิบาย สารสนเทศ และความคิดต่อสาธารณชน ทั้งในประเด็นปัญหาและปรากฏการณ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นภารกิจที่ผู้เขียนถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา โดยที่เคยเป็นคอลัมนิสต์ของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ นิตยสาร จัตุรัส (ยุคคุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์) หนังสือพิมพ์มติชน ประชาชาติธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ ผู้จัดการรายวัน ผู้จัดการรายสัปดาห์ Financial Day นิตยสาร Corporate Thailand และผู้จัดการรายเดือน  ตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนานดังกล่าวนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า การประกอบภารกิจในฐานะ Journalistic Economist เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า Academic Economist โดยหวังว่าในอนาคตอาจติดอันดับ Pop Economist

การประกอบภารกิจในฐานะ Journalistic Economist มิได้เป็นอุปสรรคในการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ ตรงกันข้ามกลับเกื้อกูลการทำหน้าที่ในฐานะ Academic Economist เพราะต้องติดตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการเพื่อให้ ‘อรรถาธิบาย’ แก่สาธารณชนเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในสังคมโลกและสังคมไทย … บทความที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนหลายต่อหลายเรื่องเป็นการเสนอ วาระการวิจัย อันจะมีผลในการบุกเบิกพรมแดนแห่งความรู้ต่อไป”

ชื่อคอลัมน์ “จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง” ของอาจารย์ยังหมายให้ (สำนัก) “ท่าพระจันทร์” เป็นสัญลักษณ์ของหอคอยงาช้าง ในขณะที่ “สนามหลวง” เป็นโลกของคนเดินถนน  อาจารย์รังสรรค์เคยเขียนไว้ในบทความหนึ่งว่า “… ทั้งๆ ที่สถานที่ทั้งสองอยู่ห่างกันไม่ไกล ถึงสนามหลวงอยู่ใกล้ท่าพระจันทร์เพียงแค่คืบ แต่สำหรับผู้คนในหอคอยงาช้าง ‘สนามหลวง’ อยู่ไกลยิ่ง”

สำหรับคนที่มี ‘สนามหลวง’ เป็นโรงเรียนชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ตลอดชีวิตนักวิชาการใน ‘ท่าพระจันทร์’ ของอาจารย์ จึงเอื้ออาทรทั้งต่อคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสในสังคมเสมอ  ตัวละครอย่างแป๊ะตง หรือยายจันทน์ ที่ล้มหายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจไทย มีที่ยืนในบทความของอาจารย์รังสรรค์เสมอด้วยความคาดหวังที่จะได้เห็นรอยยิ้มของเขาเหล่านั้นบ้างสักวันหนึ่ง

“บทโฆษณาภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ผมพบเมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า

Life is tough, so laugh a little.

มิน่าเล่า แม่เฒ่าจึงไม่เคยยิ้ม 

นี่เป็นบทจบของบทความ แป๊ะตง ยายจันทน์ และรัฐบาล ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ อนิจลักษณะของสังคมไทย ที่อ่านคราใด ผมก็รู้สึกสะท้อนใจ

ในฐานะคอลัมนิสต์ นอกจากคุณภาพด้านข้อมูลและความเฉียบคมในบทวิเคราะห์แล้ว บ่อยครั้งอาจารย์รังสรรค์ชอบดึง ‘ร่างแยก’ ในตัวออกมา ถ้า ‘ร่างแยก’ นี้ทำงานเมื่อไหร่ จากนักวิชาการผู้ระมัดระวังและรัดกุม ก็จะปลดปล่อยรังสรรค์เวอร์ชั่นแสบสันต์ จิกกัด ปากจัด และขี้ประชดออกมา เช่นครั้งหนึ่ง อาจารย์เคยเขียนถึง อ้อย บีเอ็ม เจ้าของธนาคารอารมณ์

บทความนั้นอาจารย์เขียนถึงข่าวโสเภณีเด็ก ความพยายามย้ายชุมชนรอบศูนย์สิริกิติ์ก่อนการประชุมธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟที่จะจัดขึ้นที่ไทย และรายงานข่าวอ้อยพร้อมหาเพื่อนร่วมทุนเปิดบริษัทให้บริการทางเพศแก่แขกผู้เข้าร่วมประชุมระดับโลกนั้น

“ยิ่งเขียน ผมยิ่งคิดถึง อ้อย บีเอ็ม แต่เมื่อผมอ่านบทสัมภาษณ์ของเธอแล้ว เห็นจะต้องนึกถึงอ้อม สุนิสา “ถอยดีกว่า ไม่เอา…วดีกว่า” เธอกล่าวว่า “เด็กของเรามีระดับ คนที่มีเงินเดือน 4,000-10,000 บาท เราจะแนะนำว่าอย่าเที่ยวเลย เพราะเด็กของเราค่าบริการต่ำสุด 2,000 บาทจนถึงระดับล้าน”

อาจารย์จบบทความนั้นว่า

ถึง อ้อย บีเอ็ม

            ชาตินี้ เราคงไม่ได้พบกัน

                            ’สรรค์ ขสมก.

หรือลองอ่านอารมณ์ขันแบบรังสรรค์ในบทความ จู๋ด้วน ใน ทุนวัฒนธรรม เล่ม 1

“ในช่วงเวลา 10 ปีเศษที่ผ่านมานี้ แม้จะมีข่าวหญิงไทยตัดจู๋สามีหลายต่อหลายคน แต่หามีข่าวเกี่ยวกับการดำเนินคดีหญิงไทยเหล่านั้นไม่ นับเป็นความบกพร่องของสื่อมวลชนที่สนใจเฉพาะแต่การเสนอข่าวการตัดจู๋ให้เป็ดกิน แต่ไม่สนใจชะตากรรมของผู้ถูกตัด ตลอดจนชะตากรรมของเป็ดที่กินจู๋นั้น”

อาจารย์ต้องใช้จินตนาการระดับไหน ถึงคิดถึงหัวอกเป็ดในเรื่องนี้ได้ (ฮา)

ตอนนี้อาจารย์รังสรรค์เข้าสู่โลกโซเชียล เล่นเฟซบุ๊กเป็นกิจวัตร เขียนบทความเรื่องเศรษฐกิจ หนัง เพลง หนังสือ และอื่นๆ ทำให้แฟนานุแฟนหายคิดถึงได้บ้าง โพสต์หนึ่งทำเอาผมอมยิ้มไปหลายวัน – ว่าด้วยหม่อมถนัดแดก (youtuber คนหนึ่ง)

“หม่อมถนัดแดกชูคำขวัญ ยอมพุงแตก ดีกว่าแดกไม่เป็น

ผมเหมือนและต่างจากหม่อมถนัดแดกหลายประการ หม่อมถนัดแดกชอบแดก ผมก็ชอบแดก แต่ผมแดกไม่มากเท่าหม่อมถนัดแดก เขาแดกอาหารเป็นกะละมัง แต่ผมเคยแดกอาหารเป็นจาน เมื่อเป็นหนุ่มฉกรรจ์ ผมแดกหลายจาน แต่เมื่ออายุมากขึ้น ผมแดกข้าวน้อยลง เวลานี้ผมไม่แดกข้าวเลย แดกแต่กับข้าว ภาษาเด็กวัด เรียกว่า เป็นจักรพรรดิกับ (ข้าว)

… หม่อมถนัดแดกพูดจาถ่อยระเบิด และชอบจับนมผู้หญิงที่ยอมให้จับ ในเวลาต่อมา YouTube ห้ามเขาถ่ายทอดการจับนม … ผมเคยพูดจาถ่อยเมื่อวัยรุ่น เมื่อชราภาพมาเยือน ผมพูดจาสุภาพอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อวัยรุ่นผมอยากจับนมผู้หญิงเหมือนหม่อมถนัดแดก แต่มีหิริโอตตัปปะเพราะวัดสอนไว้ เวลานี้เมื่อเป็นคนสูงวัย ราคะเหือดหายจนใกล้นิพพาน”

รังสรรค์ในไซเบอร์สเปซ ฟอร์มไม่ตก แถมลีลาจี๊ดจ๊าดกว่าเดิมอีกนะครับ

กลวิธีการเขียนของ ‘รังสรรค์ร่างแยก’ มีหลากหลาย บางทีใช้วิธี ‘ยอวาที’ เช่นที่เคยเขียนสรรเสริญ เนวิน ชิดชอบ ยอดขุนพลไทยรักไทย อย่างเจ็บแสบ บางทีสร้างโลกคู่ขนานเพื่อลากเหยื่อไปเชือด เช่น เล่าเรื่องทักษินย้ายพรรค โดยสะกดทักษิน ด้วย น.หนู วิพากษ์เชิงเสียดสีทักษิน หัวหน้าพรรคไทยลวงไทย (อ่านได้ใน จาก Thaksinomics สู่ทักษิณาธิปไตย)

บางครั้งเลือกเขียนแบบทำนายอนาคต ที่ทำนายจริงจังแบบเขียนเป็นหนังสือวิชาการ เช่น สังคมเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2550 โดยเขียนเมื่อปี 2538 โหรเศรษฐศาสตร์รังสรรค์ทำนายถูกผิดอย่างไร ชวนไปหาอ่านกันเอง ส่วนที่ทำนายอนาคตแบบยียวนในคอลัมน์ ก็เช่น มหาวิทยาลัยในทศวรรษ 2540 ซึ่งเขียนปี 2536 ในแนวนิยายวิทยาศาสตร์ เสียดสีความตกต่ำของมหาวิทยาลัยไทยบนเส้นทาง McUniversity (การศึกษาแบบแดกด่วนยัดเร็ว) อาจารย์เปิดฉากมาในปี 2549 ซึ่งเป็นปีเกษียณ ที่หอประชุมในวันไหว้ครู เล่าสภาพการเรียนในธรรมศาสตร์ยุคอนาคตหลังจากตัวเองถูกเนรเทศไปทุ่งรังสิต หรือ ‘ไซบีเรีย’ ของท่าพระจันทร์

ฉากจบบรรยายว่า

“ข้าขอประณตน้อมสักการ

บูรพคณาจารย์

ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา

ผมตื่นจากภวังค์เมื่อได้ยินนักศึกษาเปล่งเสียงไหว้ครู ผมสาวเท้าเข้าหอประชุม บนเวทีไร้ร่องรอยมนุษย์ มีแต่ตู้กระจกขนาดใหญ่ 2 ใบ ผมเบียดฝูงชนไปจนถึงขอบเวที จึงได้พบว่า ตู้กระจกใบหนึ่งบรรจุ Super Chips อีกใบหนึ่งบรรจุ Human Chips

ผมถอยห่างจากขอบเวที และเดินออกนอกห้องประชุมด้วยความรู้สึกอันยากแก่การพรรณนา ที่ท่าพระจันทร์นักศึกษาประณตน้อมสักการ Super Chips และ Human Chips ในวันไหว้ครู แต่ที่รังสิตนักศึกษายังคงกราบไหว้เครื่องถ่ายเอกสารอยู่ ผมอดสงสัยมิได้ว่าอีกนานกี่ปี รังสิตจึงจะไล่กวนทันท่าพระจันทร์”

เวลาเราเห็นความเหนือจริงยียวนอยู่ในท่วงทำนองจริงจังแบบรังสรรค์ ด้วยภาษาโบราณและอลังการแบบรังสรรค์ มันเลยเป็นอารมณ์ขันแบบรังสรรค์ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว – เป็นแบบเนิร์ดหน้าตายที่มีโลกส่วนตัวสูง

อาจารย์รังสรรค์สวมบท Journalistic Economist อยู่เป็นเวลา 32 ปี หยุดเขียนคอลัมน์เมื่อปี 2547 มีหนังสือรวมเล่มจากคอลัมน์ 17 เล่ม เล่มสุดท้ายในขบวนหนังสือรวมบทความจากหน้าหนังสือพิมพ์คือ จาก Thaksinomics สู่ทักษิณาธิปไตย (สำนักพิมพ์ openbooks, 2548) ส่วนหนังสือเล่มสุดท้ายของอาจารย์รังสรรค์ คือ ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550) อาจารย์กล่าวนำการปาฐกถาในครั้งนั้นว่า “(การได้รับเลือกเป็นปาฐก) นับเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่เหนือกว่าเกียรติยศใดๆ ที่เคยได้รับตลอดช่วงแห่งชีวิต”

15 ปีเต็มที่หายไปจากการแสดงทัศนะด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จากผลงานสุดท้ายที่เป็นการวิพากษ์การเมืองและเศรษฐกิจของระบอบทักษิณ ก่อนยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ก่อตัว  ภายใต้วิกฤตเปลี่ยนผ่านของสังคมการเมืองไทย หลายคน ‘คิดถึง’ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แม้อาจารย์แสดงออกในที่สาธารณะนับครั้งได้ แต่ลูกศิษย์และหลานศิษย์ของอาจารย์จำนวนไม่น้อยยังคงมีบทบาทให้ความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองในช่วงเวลานั้น เรายังคงเห็น ‘รากความคิด’ บางส่วนของอาจารย์รังสรรค์ในตัวของปัญญาชนสาธารณะจำนวนหนึ่ง ที่ชัดเจนเช่นอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย

แฟนานุแฟนและสานุศิษย์ของอาจารย์รังสรรค์จำนวนไม่น้อยอดคิดไม่ได้ว่า อาจารย์มองสาเหตุและทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งขั้วแยกข้างอย่างรุนแรงในวิกฤตเปลี่ยนผ่านครั้งนี้อย่างไร จากม็อบเสื้อเหลืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ผ่านการเคลื่อนไหวมาตรา 7 ผ่านรัฐประหาร 2549 ผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านม็อบพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน ผ่านวิกฤตซับไพรม์ ผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสุดซอยยุคยิ่งลักษณ์ ผ่านม็อบนกหวีด กปปส. เรื่อยมาจนถึงรัฐประหาร 2557 การเปลี่ยนผ่านรัชกาล รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงเหตุการณ์ 8 กุมภาฯ และการเลือกตั้ง 24 มีนาคม รวมถึงคำถามที่ว่า ณ วันนี้อาจารย์มีความคิดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในตลาดนโยบายของไทยอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยที่เขียนเรื่อง Thaksinomics อย่างไร หลังจากมองเห็นความเป็นจริงด้านเศรษฐกิจการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วง 15 ปีหลัง

ถ้าตอบแบบอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่เคยตอบคำถามผมเรื่องมรดกทางความคิดของอาจารย์ป๋วยกับการตอบโจทย์ปัญหาของสังคมไทยร่วมสมัย ก็จะบอกว่าอาจารย์รังสรรค์ทำอะไรให้สังคมวิชาการไทยมาตั้งเยอะแล้ว จะเอาอะไรกับอาจารย์อีก โจทย์อยู่ที่พวกเรา ไม่ใช่อยู่ที่อาจารย์แล้ว

กระนั้น หนึ่งในโจทย์ที่ยังอยากชวนให้พวกเราศึกษากันต่อก็คือ ถ้าเราศึกษามรดกทางความคิดของอาจารย์รังสรรค์ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง การพัฒนา และนโยบายสาธารณะ ถ้าเราเอางานเก่าของรังสรรค์กลับมาอ่านใหม่ในยุคสมัยนี้ จะพอแกะรอยคำตอบที่น่าสนใจอะไรต่อปัญหาร่วมสมัยของเศรษฐกิจการเมืองไทยยุค ‘หลังรังสรรค์’ (วางมือ) ได้บ้าง

นี่เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา และด้วยความยากของโจทย์ทางปัญญานี้ ในฐานะของ ‘สำราญชน’ เช่นเดียวกับอาจารย์รังสรรค์ ขอยกไว้ให้ช่วยตอบกันในงานรังสรรค์ 75 หรือรังสรรค์ 80

 

(5)

 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวไว้อาลัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวไว้อาลัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

เมื่ออาจารย์ป๋วยถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 28 กรกฎาคม 2542 อาจารย์รังสรรค์ได้เขียนคำกล่าวในพิธีไว้อาลัย แด่อาจารย์ป๋วย

“โลกได้สูญเสียสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ อันหาผู้ใดเสมอด้วยยาก และมิอาจหาผู้ใดทดแทนได้ด้วย

อาจารย์ป๋วยเกิดในตระกูลสามัญชน เติบโตและได้รับการบ่มเพาะเยี่ยงสามัญชน และจบชีวิตอย่างสามัญชน แต่อาจารย์ป๋วยก็แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า วิถีแห่งชีวิตสามัญชนเป็นวิถีที่ยิ่งใหญ่ได้ และเป็นวิถีที่งดงามได้ ความยิ่งใหญ่และความงดงามแห่งชีวิตมิได้ขึ้นอยู่กับชั้นชน มิได้ขึ้นอยู่กับฐานะและตำแหน่งแห่งหนในสังคม และมิได้ขึ้นอยู่กับอภิสิทธิ์ที่ได้รับ หากแต่ขึ้นอยู่กับความเป็นมนุษย์

ณ บัดนี้ มนุษยพิภพได้สูญเสียมนุษย์ที่แท้ ผู้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ผู้มีความเอื้ออาทรต่อชนต่ำชั้น ทั้งในฐานะเพื่อนร่วมพิภพและเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน”

หากคนรุ่นอาจารย์รังสรรค์ยึดถืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบรรทัดฐานทางจริยธรรม  ผมและคนรุ่นผมย่อมยึดถืออาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เป็นบรรทัดฐานทางจริยธรรม ทั้งในฐานะนักวิชาการที่ดีและมนุษย์ที่แท้

 

ผมขอจบการอภิปรายด้วยคำถามทิ้งท้ายถึงคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ยกย่องตัวตน ผลงาน วิถีปฏิบัติ และจิตวิญญาณความเป็นนักวิชาการแบบอาจารย์รังสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องงดงามน่ายินดี แต่คำถามสำคัญที่ชวนท้าทายคือ คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์จะมีส่วนร่วมสร้างนักเศรษฐศาสตร์แบบรังสรรค์อีกได้อย่างไร

ในระดับนักศึกษา โครงการปริญญาตรี โท และเอกของคณะ สามารถร่วมสร้างนักเศรษฐศาสตร์แบบรังสรรค์ได้หรือไม่ ด้วยหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการที่มีอยู่

ในระดับอาจารย์ นักเศรษฐศาสตร์แบบรังสรรค์มีโอกาสเข้าเป็นอาจารย์ประจำของคณะได้หรือไม่ ด้วยกระบวนการรับอาจารย์ ด้วยข้อสอบรับอาจารย์ แบบที่เป็นอยู่ เพราะอย่าว่าแต่นักเศรษฐศาสตร์แบบรังสรรค์เลย ตัวอาจารย์รังสรรค์เอง ถ้ามาสอบเข้าเป็นอาจารย์ด้วยกระบวนการแบบที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะสอบผ่านข้อเขียนที่มุ่งให้คุณค่าความสำคัญต่อการแก้โจทย์ปัญหาทางเทคนิคและโมเดลคณิตศาสตร์เป็นหลักได้

จากชีวิตและผลงาน 72 ปีของนักวิชาการสามัญชนคนหนึ่ง ชวนให้เราคิดอะไรต่อเกี่ยวกับชีวิตของสถาบันแห่งหนึ่งที่มีส่วนสร้างเขาขึ้นมาได้บ้าง สถาบันแห่งนั้นจะปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไรในโลกยุคใหม่ นี่เป็นโจทย์ที่ชวนให้ประชาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ขบคิดกันต่อในวาระครบรอบ 70 ปีของคณะ

ขอบคุณครับ.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save