fbpx

ปุตรีอินโดนีเซีย (Puteri Indonesia): ศาสนา การเมือง และเรือนร่างของผู้หญิง

การประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 70 ที่จะจัดขึ้น ณ ประเทศอิสราเอลในเดือนธันวาคมปีนี้จะไม่มีตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นผลจากปัญหาทางการเมืองและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ นอกจากอินโดนีเซียแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ส่งตัวแทนเข้าประกวดเช่นกัน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองและแสดงออกว่าสนับสนุนปาเลสไตน์

นอกจากจะกลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศแล้ว การประกวดนางงามยังสามารถกลายเป็นประเด็นการเมืองร้อนแรงภายในประเทศได้ด้วย โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีการประกวดนางงามที่ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 234 ล้านคนเลยทีเดียว

ปุตรีอินโดนีเซีย หรือในภาษาอินโดนีเซียว่า Puteri Indonesia เป็นการประกวดที่จัดโดยมูลนิธิปุตรีอินโดนีเซีย (Yayasan Puteri Indonesia) จัดครั้งแรกในปี 1992 การประกวดปุตรีอินโดนีเซียเป็นการประกวดระดับชาติ มีตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ เข้าประกวด และผู้ชนะการประกวดปุตรีอินโดนีเซียจะเป็นตัวแทนของประเทศไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส มิสอินเตอร์เนชันแนล และมิสซูปราเนชันแนล โดยปกติแล้วการประกวดปุตรีอินโดนีเซียจะจัดในเดือนมีนาคมเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ประธานมูลนิธิปุตรีอินโดนีเซียคือเชื้อพระวงศ์ของสุลต่านซูราการ์ตา (โซโล) โดยมีธุรกิจเครื่องสำอางเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่

ในปี 1992 ผู้ชนะการประกวดคือ อินดีรา ปารามารีนี ซูดีโร (Indira Paramarini Sudiro) และได้เป็นตัวแทนของประเทศไปประกวดมิสอาเซียนซึ่งเธอได้คว้ามงกุฎไปครองเช่นกัน ปีรุ่งขึ้น 1993 อินโดนีเซียเริ่มส่งผู้ชนะการประกวดปุตรีอินโดนีเซียไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส แต่หลังจากนั้นในปี 1996 อินโดนีเซียถอนตัวออกจากการประกวดมิสยูนิเวิร์ส และได้กลับมามีการประกวดอีกครั้งในปี 2000 โดยได้รับการสนับสนุนจาก เมกาวาตรี ซูการ์โน ปุตรีที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2001 หลังจากนั้นก็มีการประกวดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

องค์กรปุตรีอินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีของอินโดนีเซีย ในปี 2019 โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินโดนีเซียได้กล่าวว่า “ปุตรีอินโดนีเซียเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งชาติอินโดนีเซีย”

         อิสลามกับการประกวดนางงาม

        

เมื่อกล่าวถึงการประกวดนางงามในประเทศอินโดนีเซีย มักจะมีคำถามว่าประเทศมุสลิมแบบอินโดนีเซียสามารถมีการประกวดนางงามที่เปิดเผยเรือนร่างของผู้หญิงได้หรือ? หรือ รัฐอิสลามจัดการประกวดนางงามได้หรือ?

ประการแรก อินโดนีเซียไม่ใช่รัฐอิสลามแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม ศาสนาอิสลามไม่ใช่ศาสนาประจำชาติด้วยซ้ำ ซึ่งประเด็นนี้มักจะถูกเข้าใจผิดโดยคนจำนวนไม่น้อย รัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียระบุเสรีภาพในการนับถือศาสนาและให้การรับรองหกศาสนา ได้แก่ อิสลาม, คริสเตียน, โรมันคาทอลิก, พุทธ, ฮินดู และขงจื๊อ อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ได้ประกาศศาสนาประจำชาติและไม่ใช่รัฐศาสนา แต่อินโดนีเซียก็ให้ความสำคัญกับศาสนาไม่น้อย ในอุดมการณ์หลักของชาติที่เรียกว่า ‘ปัญจสีลา’ (Pancasila) กล่าวถึงศาสนาในข้อแรกที่ว่า ‘ให้นับถือพระเจ้าองค์เดียว’ (ตามศาสนาที่เคารพนับถือ) และวันหยุดประจำชาติส่วนใหญ่ นอกจากวันที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดชาติแล้วก็จะเป็นวันสำคัญทางศาสนาของทุกศาสนา และในวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ ก็ได้รับความสำคัญจากทางการ ตัวอย่างเช่น ในวันวิสาขบูชาที่เป็นวันสำคัญของชาวพุทธที่มีจำนวนไม่ถึง 1% ของประชากร แต่ประธานาธิบดีจะไปประกอบพิธีกรรมที่บุโรพุทโธเป็นประจำทุกปี

ประการที่สอง แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอินโดนีเซียจะเป็นมุสลิม แต่มุสลิมในอินโดนีเซียก็มีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่เคร่งครัดมากๆ กลุ่มกลางๆ และกลุ่มที่ไม่เคร่งเลย อนึ่งต้องกล่าวด้วยว่าหลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ในปี 1998 เกิดกลุ่มอิสลามอนุรักษนิยมแบบเคร่งครัดขึ้นหลายกลุ่ม และได้มีการแสดงออกเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนว่าต้องการรัฐอิสลามและการใช้กฎหมายอิสลามทั้งประเทศ กระแสอิสลามเช่นนี้มีอิทธิพลต่อการเมืองอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบัน มีการบัญญัติกฎหมายและการใช้กฎหมายหลายอย่างที่สะท้อนถึงอิทธิพลของอิสลาม

ที่น่าสนใจคือในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เกิดกระแสฟื้นฟูอิสลามขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากบริบทโลกและพลวัตภายในของประเทศอินโดนีเซียเอง ก่อนหน้านี้รัฐบาลยุคระเบียบใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับอิสลาม โดยเฉพาะการพยายามกีดกันอิสลามออกจากปริมณฑลทางการเมือง เกิดสโลแกนที่ว่า ‘Islam Yes, Islamic Parties No!’ จนภาพลักษณ์ของมุสลิมอินโดนีเซียที่เป็นที่รับรู้ของโลกภายนอกคือเป็นมุสลิมที่ไม่เคร่ง กระแสฟฟื้นฟูอิสลามทำให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจกับประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับอิสลามมากขึ้น มีนโยบายหลายอย่างเกิดขึ้นเพื่อเอาใจชาวมุสลิม แต่การประกวดนางงามที่ถูกมองว่าเป็นของ ‘ต้องห้าม’ สำหรับมุสลิมบางกลุ่มก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

แม้ว่าอินโดนีเซียจะไม่ใช่รัฐอิสลามและไม่ได้ใช้กฎหมายอิสลามในการปกครองประเทศ แต่มีการประกาศใช้กฎหมายอิสลามเป็นกฎหมายทางการที่จังหวัดอาเจะห์ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษตั้งแต่ปี 2002 อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์เป็นการใช้ควบคู่กับกฎหมายแห่งชาติ และกฎหมายอิสลามที่อาเจะห์ยังคงมีขอบเขตการใช้อย่างจำกัด ยังไม่ครอบคลุมทุกด้านของการดำเนินชีวิตของประชาชน การใช้กฎหมายดังกล่าวประกอบกับประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลามที่อาเจะห์ทำให้ภาพลักษณ์ของอาเจะห์กลายเป็นสถานที่ที่เคร่งครัดศาสนา มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอิสลามอย่างรุนแรงคือการเฆี่ยนต่อหน้าสาธารณชน เราจะเห็นการนำเสนอข่าวการลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายอิสลามและการถูกลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นระยะๆ จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าการใช้กฎหมายอิสลามเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะโดยมากผู้ที่ตกเป็นเป้าของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดคือกลุ่มผู้หญิง คนชั้นล่าง และกลุ่มเพศทางเลือก

แม้อาเจะห์จะมีภาพลักษณ์เช่นนั้นจากการใช้กฎหมายอิสลาม แต่ก็มีการส่งตัวแทนเข้าประกวดปุตรีอินโดนีเซียตลอดมาและเคยมีผู้เข้าประกวดที่ได้รับมงกุฎปุตรีอินโดนีเซียในปี 2009 เธอมีชื่อว่า โครี ซันดีโยรีฟา (Qory Sandioriva) บิดาเป็นคนกาโย หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของอาเจะห์ และมารดาเป็นชาวซุนดา การเข้าประกวดของ โครี ซันดีโยรีฟา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเนื่องจากเธอเป็นตัวแทนจากจังหวัดอาเจะห์คนแรกที่ไม่ใส่ผ้าคลุมผมแบบสตรีมุสลิมหรือที่เรียกว่าฮิญาบ โดยเธอให้เหตุผลว่าถึงแม้ว่าเธอจะไม่ใส่ฮิญาบ แต่เธอก็ปฏิบัติตามจารีตและศีลธรรมโดยยกตัวอย่างวีรสตรีอาเจะห์ (และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรีแห่งชาติ) ผู้ต่อต้านเจ้าอาณานิคมดัตช์ในยุคอาณานิคมที่เธอชื่นชมอย่าง จุต ญัก ดีน (Cut Nyak Dhien) ซึ่งก็ไม่ได้คลุมผมด้วยฮิญาบเช่นกัน

การต่อต้านหรือประท้วงการประกวดนางงามเกิดขึ้นแทบจะทุกปีที่มีการประกวด แต่ครั้งที่ค่อนข้างรุนแรงได้แก่การประกวดมิสเวิลด์ปี 2013 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ มีการประท้วงใหญ่โตจนทำให้การจัดประกวดที่ในตอนแรกจะจัดที่จาการ์ตาต้องย้ายไปจัดที่บาหลีเมืองแห่งวัฒนธรรมฮินดูแทน ประเด็นหลักของการประท้วงคือการแต่งชุดว่ายน้ำแบบทูพีซซึ่งกลุ่มอิสลามเห็นว่าไม่เหมาะสม ทางตรงกลางในตอนนั้นคือให้ผู้เข้าประกวดสวมชุดว่ายน้ำแบบวันพีซแทน สำหรับในครั้งอื่นๆ ที่ตัวแทนจากอินโดนีเซียไปประกวดที่ประเทศอื่น ก็มักจะใส่ชุดว่ายน้ำที่ดู ‘มิดชิด’ กว่าคนอื่นๆ อย่างไรก็ตามในสายตาของมุสลิมบางกลุ่มก็ยังถือว่าไม่เหมาะสมอยู่ดี

สะดือผู้หญิง: โป๊ อำนาจ ชาติ และประธานาธิบดี

สะดือเป็นหนึ่งในอวัยวะอยู่บนร่างกายของทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่สะดือของผู้หญิงกลับมีปัญหามากกว่าสะดือของผู้ชายในประเทศอินโดนีเซีย ย้อนไปเมื่อต้นปี 2005 เมื่ออดีตประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (หรือเรียกย่อๆ ว่า SBY) เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสะดือของผู้หญิงว่า การเปิดเผยให้เห็นสะดือของผู้หญิงในที่สาธารณะเป็นเรื่องโป๊และขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอินโดนีเซีย และได้นำไปสู่การประกาศห้ามสื่อนำเสนอภาพสะดือผู้หญิง

เรื่องดังกล่าวได้นำไปสู่การถกเถียง เกิดการวิพาก์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน ผู้ที่สนับสนุนอ้างเรื่องหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ให้ผู้หญิงปกปิดส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ควรเปิดเผยร่างกายให้กับบุคคลภายในครอบครัวเห็น ซึ่งสะดือก็เป็นส่วนที่ต้องปิดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเรื่องการปกปิดสิ่งควรสงวนนี้ยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาตลอดในกลุ่มมุสลิมด้วยกันเองว่าแค่ไหนจึงพอ ปกปิดแบบไหนจึงถูกต้อง

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยแสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาวะที่ผู้หญิงถูกควบคุมและถูกทำให้เป็นชายขอบของอำนาจในสังคมปิตาธิปไตย แม้กระทั่งอำนาจต่อเรือนร่างของตนเองก็อยู่ในการควบคุมและตัดสินใจของผู้ชาย และได้สะท้อนไกลกว่านั้นว่า ตั้งแต่ไหนแต่ไรผู้หญิงมักจะถูกมองแบบมีอคติและเหมารวมว่าเป็นที่มาของความไม่ดีงามต่างๆ นานา เป็นผู้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ชาย เป็นผู้ทำให้เกิดเหตุเภทภัยต่างๆ อันเนื่องมาจากการประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้นกฎเกณฑ์และกฎหมายต่างๆ จึงมักบัญญัติจากสายตาและมุมมองของผู้ชาย และผู้หญิงมักจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายต่างๆ มากกว่า และเป็นความจริงที่ว่าสัดส่วนผู้มีอำนาจ หน้าที่ และเกี่ยวข้องกับกระบวนการร่างกฎหมาย บัญญัติกฎหมาย ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ในปีเดียวกันนี้ยังมีความเห็นจากคณะกรรมการว่าด้วยการกำจัดภาพลามกอนาจารและหนังโป๊ว่า ไม่เห็นด้วยที่อินโดนีเซียจะส่งผู้เข้าประกวดนางงาม เพราะเป็นการหาประโยชน์จากรูปร่างหน้าตาของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นสินค้า และไม่เห็นด้วยที่ผู้เข้าประกวดต้องใส่ชุดว่ายน้ำและใส่เสื้อผ้าที่เปิดเผยเรือนร่างมากเกินไป อย่างไรก็ตามในปี 2006 อินโดนีเซียได้ส่งตัวแทนเข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สเช่นเดิมและผู้เข้าประกวดได้ใส่ชุดว่ายน้ำที่เห็นพุงและสะดือ เธอถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาละเมิดศีลธรรมอันดีโดยสมาชิกขององค์กรอิสลามอนุรักษนิยมองค์กรหนึ่ง

การประกวดนางงามที่มีการแต่งกายที่เห็นเรือนร่างย่อมถูกมองว่าไม่เหมาะสมจากกลุ่มมุสลิมที่เคร่งครัดสุดโต่งดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่อินโดนีเซียที่ไม่ใช่รัฐศาสนาและเล่นบทบาทตามกติกาโลกก็ยังคงมีการประกวดนางงามต่อไปเพื่อส่งตัวแทนเข้าประกวดในฐานะตัวแทนของชาติ อย่างไรก็ตาม การที่อินโดนีเซียไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สในปีนี้เป็นการแสดงจุดยืนในฐานะชาติมุสลิมที่มีภราดรภาพและสะท้อนแนวโน้มว่าศาสนาอิสลามมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำว่าการประกวดนางงามเป็นเรื่องทางการเมืองไม่น้อยไปกว่าเรื่องทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม

ที่มาภาพ: https://picryl.com/media/puteri-indonesia-2018-coronation-night-5-1a3360

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save