fbpx

Push (2019) และ After Work (2023) โลกดิสรัปต์กับเขาวงกตของสิทธิขั้นพื้นฐาน

เยาวชนควรได้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน คนคนหนึ่งควรมีบ้านไว้ซุกหัวนอนหลบฝน ส่วนผู้ใหญ่เมื่อพ้นวัยเรียนแล้วก็ควรได้มีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งเพื่อเลี้ยงชีวิต – โลกเดินทางผ่านข้อถกเถียงประเด็นเหล่านี้มายาวนาน ก่อนที่ประโยคเหล่านี้จะกลายเป็นเสมือนข้อสรุปที่ทั้งประชาชนและรัฐต่างเข้าใจตรงกัน ถึงระดับเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยซ้ำที่ต้องพยายามแก้ปัญหาหรือออกแบบนโยบายให้ผู้คนในสังคมได้รับสิทธิเหล่านี้อย่างถ้วนทั่วเสมอหน้า

ในขณะที่การคาดหวังให้รัฐขจัดปัญหาเหล่านี้ได้อย่างหมดจด อาจถือเป็นวิธีคิดที่ไม่ยืนอยู่บนฐานความเป็นจริง เพราะต่อให้นโยบายแก้ปัญหาว่างงานจะเป็นธงในแทบทุกสมัยหาเสียง หรือองค์กรเอกชนที่มีพันธกิจหลักคือปัญหาคนไร้บ้านจะทำงานแทบไม่มีวันหยุด ก็ยังมีประชาชนที่ถูกเบียดขับหรือหลุดออกจากสิทธิที่พวกเขาควรได้รับอยู่เสมอมา และพลวัตของโลกใหม่ก็ยิ่งลับปัญหาเหล่านี้ให้ท้าทายแหลมคมกว่าเดิม กระทั่งข้อสรุปหรือข้อถกเถียงที่อาจเคยตายตัวต้องพลิกผันหามุมมองใหม่ในการวิเคราะห์ให้เห็นภาพ

ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่เรากำลังจะเล่าถึง ได้นำทางผู้ชมไปร่วมสำรวจรับฟังทั้งข้อถกเถียงกับข้อเท็จจริงที่อยู่รายล้อมประเด็นปัญหา กวาดสายตาไปถึงความแตกต่างอันลึกซึ้งซับซ้อนจากหลายสังคมทั่วโลก และเปิดพื้นที่วิธีคิดไปไกลกว่าข้อสรุปติดปากที่แพร่หลายจนกลายเป็นคำกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งพบได้ทั่วไปในความเห็นเชิงสะท้อนสังคมของยุคสมัยนี้

เมื่อพูดถึง gentrification (การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น) ฉากทัศน์ที่คนมักเห็นตรงกันในความคิดอาจเป็นคู่ขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม เช่น ย่านเมืองเก่าหรือเมืองท่องเที่ยวที่ถูกเหล่าฮิปสเตอร์ ‘เทสต์ดี’ ประเภทคอนโดหรู บาร์ลับ หรือคาเฟ่อินสตาแกรมบุกรุกแทรกซึม แล้วเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของพื้นที่จนชุมชนเดิมอยู่ไม่ได้ หรืออีกกรณีคือเมื่อเจ้าที่ดินประจำถิ่นอัพเกรดพื้นที่ด้วยการกวาดล้างสิ่งซึ่งเคยมีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่สร้างชุมชนหรือสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม อย่างที่เห็นได้ชัดใน Scala ที่ระลึกรอบสุดท้าย (อนันตา ฐิตานัตต์, 2022) หรือ The Last Breath of Sam Yan (เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์, 2023)

Push (Fredrik Gertten, 2019) เปิดเรื่องด้วยฉากบาร์เทนเดอร์กล่าวปราศรัยแซะพวกฮิปสเตอร์ศิลปินพร้อมเลี้ยงเหล้าลูกค้าขาประจำ ย้ำภาพของ gentrification ที่คนส่วนใหญ่นึกถึงให้เห็นชัดก่อนเปิดตัวละครหลักคือ Leilani Farha ทนายความชาวแคนาเดียน ผู้ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การเดินทางทั่วโลกของเธอกระตุกเตือนให้ตระหนักว่า gentrification ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม ไม่ได้มีตัวร้ายหลักเป็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่หรือรสนิยมคนเมืองที่ขยายตัวไปเบียดขับชุมชนเดิม เมื่อ ‘ที่อยู่อาศัย’ ซึ่งกฎหมายสากลบัญญัติไว้ให้เป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หลายต่อหลายครั้ง กลายเป็นเพียงสินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรของบรรษัทข้ามชาติ

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Push

ทุนข้ามชาติซึ่งตัวหนังออกชื่อไว้ชัดเจนเจ้านี้ สะสมความร่ำรวยจนเติบโตขึ้นมาหลังวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งต้นตอคือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา) แล้วปฏิบัติการในโลกยุคใหม่ด้วยกระบวนการคิดที่แทบไม่ต่างจากเจ้าที่ดินยุคฟิวดัล แต่พัฒนากลวิธีกลายร่างเป็นศักดินาไร้หน้า อาคารการเคหะฯ ในหลายประเทศถูกบริษัทนี้และในลักษณะเดียวกันกว้านซื้อในราคาถูกเพื่อขายต่อเก็งกำไร และชีวิตของมนุษย์ชนชั้นกลางล่างหรือแรงงานที่ใช้ชีวิตอยู่ในตึกเหล่านี้ ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้อาคารเสื่อมมูลค่าในวิธีคิดของบริษัท

ยิ่งกว่าคนมีเงินจองคอนโดไว้ขายต่อ หรือการเกิดขึ้นของ ‘ไชน่าทาวน์’ แห่งใหม่ๆ ในกรุงเทพ ปรากฏการณ์นี้คือนายทุนข้ามชาติกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นกระบวนการ ด้วยการพุ่งเป้าไปยังอาคารที่พักอาศัย และหลายครั้งก็เป็นรัฐบาลเสียเองที่อ้าแขนรับ (กระทั่งสวีเดนที่ได้รับคำชื่นชมว่าแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่ของผู้มีรายได้น้อยได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง) การขึ้นค่าเช่าแบบก้าวกระโดด ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลอาคารหลังเทกโอเวอร์ บีบให้คนจนทิ้งตึกทิ้งบ้านด้วยหลากวิธีการ (อาจถึงขั้นเผาไล่ที่หรือจ้างนักเลงไปกระทืบชาวบ้าน อย่างที่เราเคยเห็นในซีรีส์หรือหนังเกาหลี) ทั้งหมดนี้เพื่อเบียดขับผู้คนออกจากบ้าน เพื่อให้ได้ตึกร้างกลางเมืองเป็นสินทรัพย์ไว้ให้บรรดาเศรษฐีอสังหาฯ ใช้เป็นสื่อกลางสร้างกำไร

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Push

การเดินทางของ Farha ผลักเราเข้าไปเจอความท้าทายใหม่ในโลกปัจจุบัน ถึงรายละเอียดของปัญหาจะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ (ไม่ว่าจะเป็นสเปน สวีเดน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือเกาหลีใต้) หากหลักใหญ่ใจความสำคัญยังคงเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชน และย้ำเตือนให้คุณค่ากับสิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยซึ่งกำลังถูกคุกคาม – หนังยังยืนยันว่าคนคนหนึ่งควรมีบ้านไว้ให้ซุกหัวนอน และไม่ควรมีใครผลักไสพวกเขาออกจากที่ที่สมัครใจให้เป็นบ้าน แต่ After Work (Erik Gandini, 2023) จะพาเราเข้าไปใคร่ครวญครุ่นคิดถึงปรัชญา คุณค่า และความหมายของ ‘งาน’ ในโลกสมัยใหม่ที่เพียบไปด้วยความซับซ้อน พร้อมตั้งคำถามย้อนเกล็ดว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ยังควรจะเรียกร้องต้องการสิ่งที่เรียกว่างานอยู่หรือไม่

การทำงานมอบความหมายให้ชีวิต? อาจจะใช่ ไม่เช่นนั้นทายาทเศรษฐีอิตาเลียนที่นั่งกินนอนกินไปได้ทั้งชาติ คงไม่ขัดใจพ่อแล้วออกมาทำงานเป็นคนจัดสวน เปี่ยมสุขกับสุนทรียะที่ตัวเองสร้างหลังเล็มกิ่งก้านใบ เหมือนกับไรเดอร์หญิงผิวดำที่ขับรถส่งของให้ Amazon ที่บอกว่าเธอมีความสุขกับการได้ชมวิวทิวทัศน์อยู่กับตัวเองหลังพวงมาลัย แถมยังได้ส่งความสุขเล็กๆ ผ่านพัสดุให้ผู้คน ต่อให้กล้องวงจรปิดจะคอยจับตาไม่เว้นวินาที และมีระบบคอยกดดันให้พลขับเร่งทำยอดจนต้องกินข้าวมือเดียวหรือฉี่ใส่ขวดพลาสติกโดยไม่หยุดรถ

หรือความหมายของชีวิตคือการได้ชื่อว่ามีงานทำ? ก็อาจจะใช่ เหมือนคนเกาหลีใต้รุ่นสร้างชาติที่ถวายหัวให้การทำงานวันละ 14 ชั่วโมง กระทั่งทัศนคติฝังรวมเป็นหนึ่งกับเนื้อตัวร่างกาย ต่อให้รัฐบาลรุ่นลูกจะพยายามออกมาตรการลดชั่วโมงการทำงานแล้วก็ตาม หรือเหมือนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (ตามผลสำรวจ) ที่ไม่ยอมใช้วันลาพักร้อนที่กฎหมายให้สิทธิไว้ ราวกับว่าความสุขหรือความหมายของชีวิตสถิตอยู่ในอาชีพ หรือการปลดเปลื้องตัวเองออกจากสิ่งที่เรียกว่างานเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็อันตรายพอแล้วที่จะช่วงชิงความหมายหรือนิยามของชีวิตไปจากคนเหล่านั้น?

ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน? คำตอบอาจขึ้นกับว่าพิจารณาจากมุมไหน บ้างคงรู้สึกว่าแค่การได้ทำงานหรือมีงานทำก็ถือว่าเติมค่าให้ชีวิตได้เป็นคนเต็มคน สำหรับบริษัทปรับโครงสร้างองค์กรธุรกิจคงหมายถึงการสร้างระบบเพื่อผลักดันให้คนเต็มเปี่ยมไปด้วยจริยธรรมการทำงาน (work ethic) สำหรับคนอีกกลุ่มใหญ่คงเห็นค่าเมื่อผลของงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือเป็นเกียรติประวัติเชิดหน้าชูตาและมีคุณค่าครบเต็มในตัวเอง จนตอบสนองความปรารถนาเบื้องลึกในจิตใจได้ สำหรับคนกลุ่ม(น่าจะ)ใหญ่กว่า ผลของงานคงหมายถึงการได้เงินไว้ซื้อข้าวให้ตัวเองกับคนที่บ้านกิน

โปสเตอร์ภาพยนตร์ After Work

จากการถวายทั้งชีวิตให้การทำงาน (ทั้งงานที่รัก งานที่ชัง หรืองานที่ไร้ความหมาย) ขยับมาพยายามสร้างคุณค่าให้การทุ่มเทเพื่องานเท่ากับการเติมเต็มชีวิต (ทั้งที่รู้สึกตามนั้นจริงหรือกำลังหลอกตัวเอง) สะท้อนกลับด้วยสำนักคิดที่มองว่าคุณค่าของชีวิตโดยเนื้อแท้อยู่นอกเวลางาน แล้วผูกปมให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยหลักคิดเรื่องสิทธิในการทำงาน ซึ่งให้น้ำหนักความหมายของงานบนพื้นฐานเรื่องรายได้ค่าตอบแทนเพื่อเลี้ยงชีพ – เมื่อถูกก่อกวนด้วยพัฒนาการของ A.I. กับหุ่นยนต์ที่ทำงานได้เปี่ยมประสิทธิภาพและตั้งโปรแกรมให้บรรลุจริยธรรมการทำงานได้ง่ายกว่ามนุษย์ หัวข้อถกเถียงเรื่องงานในโลกยุคใหม่จึงกลายเป็นความสับสนอลหม่าน

บนโลกที่มนุษย์มีแนวโน้มถูกจักรกลหรือ A.I. แย่งตำแหน่งงาน ปัญหาข้อสำคัญของปรากฏการณ์นี้คืออะไร? เราควรเก็บงานที่พร้อมถูกแย่งไว้ให้มนุษย์ต่อไปด้วยเหตุผลอะไร? เพื่อไม่ให้มนุษย์โลกสูญสิ้นความหมายในชีวิต กลายเป็นคนไม่เต็มคนเพราะไม่ได้ทำงาน? หรือเพราะการทำงานถูกตั้งค่าไว้ให้เป็นหนทางหาเงินเดียวสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ยังต้องดิ้นรนทางเศรษฐกิจ? อันนำมาซึ่งข้อถกเถียงประเด็นสวัสดิการประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income – UBI) ทั้งฟากที่ว่าชีวิตจะกลวงเปล่าถ้ามนุษย์ได้เงินเลี้ยงตัวโดยไม่ต้องทำงานแลก กับฟากที่มองว่าถ้ามนุษย์มีทุนตั้งต้นช่วยให้ชีวิตไม่เลวร้าย ต่อให้ไม่ต้องทำงานก็มีแรงผลักดันและศักยภาพจะสร้างคุณค่าให้ตัวเองกับสังคม

ในขณะที่ปัญหาเดิมยังคงเรื้อรังอยู่ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือการศึกษาที่ผลักมนุษย์ออกจากโอกาสในการเข้าถึงงาน (ลองนึกถึงตัวละครในภาพยนตร์ชุด ไทบ้านเดอะซีรีส์) ชีวิตคนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกก็กลวงเปล่าไร้แรงบันดาลใจอยู่แล้วโดยไม่ต้องมี UBI มาช่วยเลี้ยงเป็นปัจจัยเสริม พวกเขาปฏิเสธการทำงานโดยสมัครใจ ยอมทิ้งโอกาสหรือความหมายของชีวิต (ถ้ามี) เพราะงานไม่ใช่คำตอบ หลายคนอาจเห็นภาพสังคมญี่ปุ่น หรือปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมจีนอย่าง tǎng píng (Lying Flat) ที่หนังไม่ได้เลือกเล่าถึง แต่ก็สอดรับเป็นเรื่องเดียวกับการขยายตัวของประชากร NEETs (Not in Education, Employment or Training) ชนชั้นกลางในอิตาลี ซึ่งนักสังคมวิทยาให้นิยามว่าใช้ชีวิตแบบนอนรอกินมรดก เพราะคนรุ่นพ่อแม่มีลูกน้อย (เฉลี่ยไม่ถึงสองคนต่อครัวเรือน) ทรัพย์สินไม่มีใครแย่ง แค่รอให้ถึงเวลาอันควร

ประชามติ UBI ถูกโหวตคว่ำที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2016 แต่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์โต้แย้งจากพื้นฐานความเชื่อเดิมว่ามนุษย์ต้องทำงานแลกเงิน สถานการณ์โควิด-19 กลับเร่งปฏิกิริยาให้คนเริ่มสนับสนุนแนวคิดสวัสดิการนี้ อาจยังไม่มีใครเห็นภาพชัดว่าโลกที่ UBI บังคับใช้จริงจะเป็นอย่างไร แต่หนังได้กางหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นแล้วว่าโลกปัจจุบันมีกรณีไว้ให้ลองศึกษาแต่เนิ่นๆ – ไม่ใช่โลกที่หนึ่งอย่างภูมิภาคสแกนดิเนเวีย แต่คือประเทศตะวันออกกลางอย่างคูเวต

ภาพจากภาพยนตร์ After Work

แน่นอนว่าชาวคูเวตยังคงทำงาน เพราะกฎหมายได้รับรองสิทธิในการทำงานให้ประชาชน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชนชั้นกลางในประเทศเศรษฐีน้ำมันที่รัฐร่ำรวยมหาศาลแห่งนี้ กำลังใช้ชีวิตในแนวทางเดียวกับอุดมคติ UBI เมื่อเนื้องานที่ต้องทำในประเทศกลับมีน้อยกว่าประชากร (ราวสองล้านคน) เพื่อการันตีสิทธิในการทำงานตามกฎหมาย รัฐที่มีเงินล้นมือเลยมีกำลังจ้างคนเป็นข้าราชการในระดับใช้ชีวิตสบายหรือกระทั่งฟุ่มเฟือย กินเงินเดือนด้วยการนั่งเฉยๆ หรือกระทั่งดูซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ไปวันๆ ในออฟฟิศ (หรือจะอยู่บ้าน ออกไปใช้ชีวิตในเวลางานบางทีก็ไม่มีใครว่า) การเฉื่อยหรือทำงานเพียงน้อยนิดไม่ใช่เรื่องผิด เพราะนานๆ ทีถึงจะมีสิ่งที่เรียกว่างานจริงๆ มาให้ทำ

อย่างไรก็ดี ที่นี่ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในสายตาของหนัง เพราะชาวคูเวตที่หนังได้พูดคุยสัมภาษณ์ก็ยอมรับว่า ตัวเขากับมิตรสหายต่างรู้สึกว่างเปล่าทางจิตวิญญาณ สุขสบายดีแต่ไม่เห็นความหมายของชีวิต ซึ่งขัดกับความเห็นของทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน UBI – ถึงจะมีชีวิตเหมือนอุดมคติของฝ่ายสนับสนุน พวกเขาก็ไร้แรงบันดาลใจ ไม่ได้ลงแรงสร้างอะไรใหม่ แต่ถึงจะว่างเปล่าไร้ความหมายตามที่ฝ่ายต่อต้านเตือนไว้ พวกเขาก็คงไม่พบความหมายในชีวิตผ่านการทำงาน เพราะงานที่มีนั้นไร้ความหมายอยู่แล้วแต่แรก ไร้ความหมายกระทั่งกับปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์

หนังปิดท้ายด้วยการตลบกลับไปยังคำถามเรื่องจักรกลที่จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ ชวนให้คิดต่อได้แสบสันว่า แล้วมนุษย์ปัจจุบันมองเห็นหรือปฏิบัติต่อคนที่ทำงานซึ่งเข้าข่ายไร้ความหมายหรือไร้ฝีมืออย่างเป็นมนุษย์ด้วยกัน หรือมองพวกเขาเสมือนหุ่นยนต์เครื่องจักรอยู่แล้วแต่ต้น (หนังยกกรณีแม่บ้านฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ถูกนายจ้างคูเวตกดขี่ละเมิดสิทธิ) และถ้าคำตอบโดยเนื้อแท้คืออย่างหลัง เราอาจยิ่งต้องคิดใคร่ครวญให้รอบด้านในจังหวะพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของโลกขณะนี้ว่า แล้วอะไรคือเหตุผลที่เราต้องพยายามเก็บงานไร้ความหมายเหล่านี้ไว้ให้มนุษย์ทำต่อ

ภาพจากภาพยนตร์ After Work

รับชม Push, After Work และอีกหนึ่งสารคดีในประเด็นเรื่องความเป็นแม่ May I Quit Being a Mom!? ได้ใน
VIPA Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ ‘สะท้อนความเหลื่อมล้ำ’
โดย Thai PBS และ Documentary Club


วันที่ 21 – 23 กรกฎาคม 2566 ที่ โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub.

21 กรกฎาคม 2566 : 18.30 น. ร่วมฟังการเสวนาเรื่อง ‘ความทุกข์ของคนทำงาน ในระบบสังคมทุนนิยม’ กับ รศ.ดร อนุสรณ์ ธรรมใจ และ ฉัตรชัย พุ่มพวง ดำเนินรายการโดย โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ต่อด้วยการรับชมภาพยนตร์สารคดี ‘ Afterwork’

22 กรกฎาคม 2566 : 15.30 น. รับชมภาพยนตร์ May I Quit Being a Mom!? ต่อด้วยการร่วมฟังการเสวนาเรื่อง ‘วิถีมนุษย์แม่ ดิ้นรนต่อสู้เพื่อลูก วิธีรับมือเชิงปัจเจก และแนวทางแก้ไขในเชิงโครงสร้าง’ กับ ผศ.ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ และ ณัฐยา บุญภักดี ดำเนินรายการโดย พนิตชนก ดำเนินธรรม

23  กรกฎาคม 2566 : 15.30 น. รับชมภาพยนตร์เรื่อง Push ต่อด้วยการร่วมฟังการเสวนา ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในเมือง และการพัฒนาเมืองที่เป็นธรรม’ กับ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ และ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

เข้าร่วม ‘ฟรี’ ไม่มีค่าใช้จ่าย จองบัตรได้ตั้งแต่ 14 กรกฎาเป็นต้นไป ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมได้ที่ : LINE @VIPAdotME ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook : VIPAdotMe และ Doc Club & Pub.

รวมทั้งยังสามารถติดตามทุกผลงานได้ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทางออนไลน์

สำหรับท่านที่ไม่สามารถมาเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ได้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดในช่วงวงเสวนา และร่วมสนุกกับทาง VIPA ได้ในกิจกรรม “แชร์สารคดี ดูฟรีที่ VIPA ” เพื่อลุ้นรับของที่ระลึกสุดพิเศษ จำนวน 20 รางวัล สามารถติดตามกติกาการร่วมสนุกได้ทาง www.VIPA.me และช่องทางโซเชียล @VIPAdotMe

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook : VIPAdotMe และ  Doc Club & Pub. 

รวมทั้งยังสามารถติดตามทุกผลงานได้ทาง #VIPAdotMe

ทุกความสุข..ดูฟรีไม่มีโฆษณา
Website: www.VIPA.me
Mobile Application: https://download.vipa.me
App. สำหรับ Apple TV และ Android TV (ค้นหาคำว่า VIPA)
LINE @VIPAdotMe: https://lin.ee/hVUc5OJ


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ VIPA | Documentary Club และ The101.world

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

Thai Politics

9 Jun 2021

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน: ว่าด้วยคำในป้ายหน้าค่ายทหาร

คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง ชวนตั้งคำถามกับชุดคำ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ ที่สลักอยู่บนป้ายหินอ่อนที่ปรากฏอยู่ทุกหน้าค่ายทหารว่า กองทัพกำลังปกป้องอะไรอยู่กันแน่?

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

9 Jun 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save