fbpx

สุขแค่ไหนเมื่อเป็นคนไทย? วัดความพึงพอใจในชีวิตผ่าน ‘ราคาเงา’

ประเทศของเราเจริญแค่ไหน? แค่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้สะท้อนภาพความสุขและคุณภาพชีวิตของคนในเมืองได้ทั้งหมด การสำรวจความพึงพอใจในชีวิตจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาใช้วัดคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา แก้ไข และออกแบบนโยบายสาธารณะให้มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศยิ่งขึ้น

101 จึงชวนมองความพึงพอใจในชีวิตคนไทยผ่านงานวิจัยนโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย 4.0 (ระยะที่ 1) โดย รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับความสุข ความพึงพอใจของคนไทยต่อการใช้ชีวิตในเมือง เพื่อเป็นรากฐานนำไปสู่การวางแผนนโยบายสาธารณะในอนาคต โดยมี 2 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ เพื่อการประยุกต์แนวคิดความพึงพอใจในชีวิตในการวิเคราะห์ราคาเงาของปัจจัยทางสุขภาพ สังคม และทุนทางสังคม และเพื่อสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยครอบคลุมปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และบรรทัดฐานทางสังคมในปี พ.ศ. 2563

วิเคราะห์ราคาเงา: ราคาที่จะมาช่วยวัดค่าความพึงพอใจเป็นตัวเลข

สมมติฐานหลักของการศึกษาในครั้งนี้คือ ทุนทางสังคมและการเผชิญความเสี่ยงทางสังคมมีผลต่อความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย โดยได้วางกรอบงานวิจัยว่า ทุนทางสังคมในที่นี้ประกอบด้วย (1) ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน (2) การให้ความช่วยเหลือผู้อื่น (3) ความสามัคคี และ (4) ความไว้วางใจกันในสังคม และความเสี่ยงทางสังคมประกอบด้วย (1) ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย (2) ตกงานหรือ (3) รายได้ตกต่ำจากการเผชิญกับภัยธรรมชาติ

ในการวิจัยได้เลือกใช้เครื่องมือ life satisfaction approach (LSA) ในการประเมินคุณค่าของทุนทางสังคมและการไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางสังคมในรูปของ ‘ราคาเงา (shadow price)’ ซึ่งหมายถึงมูลค่าทางการเงิน (monetary value) ที่ใช้สำหรับสะท้อนต้นทุนและผลประโยชน์ของสินค้าที่ไม่มีราคาตลาด เช่น การมีครอบครัวที่อบอุ่น ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในชุมชน ความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม เป็นต้น การประเมินราคาเงาจะช่วยสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมให้คุณค่ากับสิ่งที่ถูกประเมินมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าของเงินตราในหน่วยบาทต่อเดือน โดยที่การให้คุณค่าเหล่านี้เองมีส่วนสำคัญต่อความพึงพอใจในชีวิตของคนที่อาศัยอยู่

การวิเคราะห์ราคาเงาด้วยวิธี LSA ในครั้งนี้ใช้ข้อมูลจาก 2 แหล่งคือ ข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2561 รวมประชากรทั่วประเทศไทย 69,792 ตัวอย่าง และข้อมูลการสำรวจการบริโภคและการออม ทำการสำรวจโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2561 ซึ่งมี 589 ตัวอย่างครอบคลุมเขตเมืองและชนบทของประชากรในจังหวัดขอนแก่น 

จากการศึกษา รศ.ดร.วรวรรณและคณะพบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ความไว้วางใจกันในสังคม ความใกล้ชิดกันในชุมชน ความสามัคคีในชุมชน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์ทางบวกต่อความพึงพอใจในชีวิต โดยความอบอุ่นในครอบครัวได้รับการประเมินมูลค่าราคาเงาสูงที่สุด เท่ากับ 5,839 – 6,255 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.91 – 0.97 เท่าของรายได้ ถัดมาคือการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นเป็นประจำมีราคาเงาเท่ากับ 4,637 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.72เท่าของรายได้ การที่คนในชุมชนรู้สึกใกล้ชิดกันมีราคาเงาเท่ากับ 3,822 บาทต่อเดือนหรือคิดเป็น 0.59 เท่าของรายได้ และสังคมที่มีความไว้วางใจกันมีราคาเงาเท่ากับ 1,906 บาทต่อเดือนหรือคิดเป็น 0.30 เท่าของรายได้ นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในชุมชนที่ต่ำ การจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ดี และการไม่ประสบเหตุร้าย เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ หรือบุคคลในครัวเรือนเจ็บป่วยหรือตกงานสัมพันธ์ทางบวกต่อความพึงพอใจในชีวิต 

เมื่อพิจารณาราคาเงาโดยคำนึงถึงความแตกต่างของคนระหว่างรุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ ความคิด ทัศนคติ และการให้คุณค่าต่อเหตุการณ์ในชีวิตที่แตกต่างกัน ได้แก่ รุ่น baby boomer อายุ 56-74 ปี Gen X มีอายุ 40-55 ปี และ Gen Y มีอายุ 24-39 ปีในปี พ.ศ. 2562 พบว่า คนรุ่น baby boomer ประเมินมูลค่าการมีงานทำของคนในครอบครัวที่สูงกว่ารุ่นอื่นๆ และให้มูลค่ากับปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนต่ำกว่ารุ่นอื่นๆ โดยราคาเงาของการไม่ประสบกับการตกงาน และการเจ็บป่วยของคนรุ่น baby boomer มีค่า 4,710 บาทและ 3,604 บาทหรือ 0.74 และ 0.57 เท่าของรายได้ต่อหัว ขณะที่กลุ่มคนรุ่น Gen Y ประเมินมูลค่าความไว้วางใจกันในสังคม ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่ำ การจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ดีมากกว่ารุ่นอื่นๆ อาจพิจารณาได้ว่าพวกเขาเติบโตมาพร้อมกับความกังวลที่น้อยลงเกี่ยวกับการจัดหาความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นจึงมีเวลาให้สนใจกับสถานการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนรุ่นก่อน

นอกจากนี้การวิเคราะห์ราคาเงาด้วยข้อมูลการสำรวจการบริโภคและการออม พบว่าสุขภาพที่ดีและการมีวินัยทางการเงิน เช่น ดูแลการเงินของตนเองอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ หรือการออมเงินทุกเดือนเป็นประจำมีผลด้านบวกต่อความพึงพอใจในชีวิต ในขณะที่พฤติกรรมเนือยนิ่ง มีผลทางลบต่อความพึงพอใจในชีวิต ราคาเงาเท่ากับ 4,961 บาทหรือ 0.78 เท่าของรายได้ต่อหัว อย่างไรก็ตามการประเมินว่าสุขภาพของตนเองดีกว่าคนทั่วไปมาก มีราคาเงาสูงพอๆ กับรายได้ต่อเดือน และในการวิเคราะห์นี้ยังพบว่าการมีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่คนให้คุณค่าสูงกว่าพฤติกรรมสุขภาพและการมีวินัยทางการเงิน

จากผลการศึกษาราคาเงาเหล่านี้เองสะท้อนให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่คนในประเทศให้คุณค่า และช่วยย้ำว่านโยบายสาธารณะที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อความมั่นคงในชีวิต และนโยบายสาธารณะที่ช่วยสร้างทุนทางสังคมเป็นนโยบายสำคัญที่ช่วยเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตให้คนไทย

ติ๊กระดับใด? ผลสำรวจความพึงพอใจของคนไทยทั่วประเทศ

ขยับจากการวิเคราะห์ราคาเงามาที่สำรวจความคิดเห็นของคนไทย แบบสำรวจเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิตในการศึกษานี้ใช้เครื่องมือเดียวกับ British Office for National Statistics (ONS) มีการถาม 4 คำถาม ได้แก่ การประเมินความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม, การประเมินความรู้สึกด้านบวก, การประเมินความรู้สึกด้านลบ และการประเมินคุณค่าและความหมายในชีวิต โดยคำตอบมีสเกล 0 ถึง 10 สำหรับคำตอบ 0 คือไม่พึงพอใจหรือไม่รู้สึกเลย และ 10 คือพึงพอใจมากที่สุดหรือรู้สึกมากที่สุด โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเป็นคนไทยอายุตั้งแต่ 24-74 ปี จำแนกเป็นกลุ่มตามรุ่น ได้แก่ baby boomer Gen X และ Gen Y ตามการศึกษาที่กล่าวถึงก่อนหน้า และเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง (ในเขตเทศบาล) จาก 9 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ-จังหวัดเชียงใหม่, ภาคใต้- จังหวัดสงขลา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-จังหวัดขอนแก่น และกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร, จังหวัดสมุทรปราการ, จังหวัดสมุทรสาคร, จังหวัดปทุมธานี, จังหวัดนครปฐม, จังหวัดนนทบุรี การกำหนดขนาดตัวอย่างเกิดขึ้นภายใต้ทรัพยากรและเวลาที่จำกัดจึงเป็นแบบเจาะจงคือ ภาคละ 600 ตัวอย่าง จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 2,476 ตัวอย่าง ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563-15 มิถุนายน 2563  

ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในชีวิตโดยรวมในระดับค่อนข้างสูง จากสเกล 0-10 เฉลี่ยเท่ากับ 7.3 โดยคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพึงพอใจในชีวิตสูงที่สุด และคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความพึงพอใจต่ำที่สุด

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความสุขในชีวิตค่อนข้างสูง มีความวิตกกังวลในชีวิตค่อนข้างน้อย และโดยรวมยังรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่ในทุกๆ วันนั้นมีคุณค่าค่อนข้างมาก แม้ว่าการอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติ ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ต่างเผชิญวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกวิตกกังวลมากกว่าปกติและมีผลกระทบทางลบต่อความพึงพอใจ เช่น คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต้องทำงานหนักกว่าคนภาคอื่น และยังมีบางส่วนต้องตกงานเพราะสถานการณ์โรคระบาด แต่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังมีความพึงพอใจในชีวิตและความสุขดี และรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมีคุณค่าในชีวิตมาก

จากการสำรวจมุมมองยังพบว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่า โดยรวมได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละรุ่น ส่วนโอกาสด้านอาชีพ ทั้งแง่ของการหางานและรายได้ คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดคล้ายกันว่าตนเองมีโอกาสที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่เล็กน้อย แต่ถ้ามองเรื่องความมั่นคงในชีวิตพวกเขาคิดว่ามีความมั่นคงทางการเงินค่อนข้างต่ำ มีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการยังชีพในปัจจุบันและในยามแก่ชรา รวมถึงพวกเขาคิดว่าไม่มีเงินออมไว้ใช้จ่ายที่เพียงพอเมื่อตกงาน นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ค่อนข้างไม่ไว้วางใจหรือค่อนข้างไม่เห็นด้วยว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือพวกเขา ดังนั้นคนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงให้ความสำคัญกับการมองหางานที่มีความมั่นคง ไม่มีความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง หรือว่างงาน

ถัดมาจากประเด็นการศึกษาและการจ้างงาน ผู้ตอบแบบสอบถามค่อนข้างเห็นด้วยว่าพวกเขามีเสรีภาพสามารถเลือกทางเดินชีวิตของตนเองได้ อย่างไรก็ดีคะแนนความเห็นด้วยในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกลับค่อนข้างต่ำ ส่วนในประเด็นสิ่งแวดล้อมคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นยังคิดว่ามีทางเลือกในการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัยไม่มากเท่าคนในภาคอื่น ทั้งเรื่องมลพิษจากขยะ อากาศบริสุทธิ์และน้ำบริโภคที่สะอาด รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาแนวคิดของคนแต่ละรุ่น พบว่าแต่ละเจเนอเรชันมีบรรทัดฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด การทำบุญทำทานเปลี่ยนไประหว่างรุ่น อย่างไรก็ตามระดับความเห็นด้วยด้านบรรทัดฐานทางสังคมที่สูงที่สุดคือ เรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่และผู้สูงอายุ ขณะที่ประเด็นการเสียภาษีเพื่อนโยบายสาธารณะพบความแตกต่างระหว่างคนต่างภาค กล่าวคือคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล และคนภาคใต้ค่อนข้างเห็นด้วยกับการที่รัฐนำภาษีไปใช้กับการสร้างถนน สร้างสะพานลอย ในขณะที่คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างเห็นด้วยกับการที่รัฐนำภาษีเพื่อจัดสวัสดิการสังคม เช่น ประกันสุขภาพ การช่วยเหลือด้านอาชีพ และบำนาญชราภาพ แต่เห็นด้วยน้อยถ้านำเงินภาษีไปใช้จัดบริการรถโดยสารสาธารณะราคาถูก

ข้อเสนอสู่นโยบายที่ดีกว่า

เมื่อผลการศึกษาฉายให้เห็นว่าคนไทยให้คุณค่ากับทุนทางสังคมและการลดความเสี่ยงทางสังคม โดยทุนทางสังคมที่ได้รับการตีราคาสูงที่สุดคือการมีครอบครัวอบอุ่น และอันดับรองลงมาคือการมีชุมชนที่คนไว้วางใจกัน ใกล้ชิดกัน และมีความสามัคคี ส่วนเรื่องความเสี่ยงทางสังคมที่คนไทยตีราคาให้สูงมากคือ ความเสี่ยงในการตกงานและการเจ็บป่วย จึงนำมาสู่ข้อเสนอทางนโยบาย 3 ข้อดังต่อไปนี้

1. นโยบายด้านครอบครัว เน้นเรื่องการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว โดยภาครัฐสามารถสนับสนุนให้คนในครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้นผ่านการกำหนดเชิงนโยบาย เช่น การกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดสำหรับครอบครัว ปรับเพิ่มอัตราการจ้างงานและการลดค่าบริการขนส่งสาธารณะและค่าผ่านประตูสถานบันเทิงหรือแหล่งเรียนรู้ในวันอาทิตย์, สนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการปรึกษาปัญหาครอบครัวในราคาถูกลงหรือฟรี เพื่อลดและป้องกันปัญหาการหย่าร้างในอีกทางหนึ่ง

2. นโยบายด้านทุนทางสังคมในระดับที่ใหญ่กว่าครอบครัว คนไทยให้ความสำคัญกับความรู้สึกใกล้ชิดกันจากการร่วมกลุ่ม การไว้วางใจกัน และการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนร่วมกันนำไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะ เช่น นโยบายด้านการศึกษาที่ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและจิตสำนึกในการทำงานเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน, นโยบายระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการสร้างทุนทางสังคมในระดับชุมชน กระตุ้นให้ชุมชนมีความเป็น sharing economy มากขึ้น

3. นโยบายด้านคุ้มครองความเสี่ยงทางสังคม เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงด้านการตกงานและความเจ็บป่วย เช่น นโยบายที่นำไปสู่การป้องกันการเลิกจ้าง, การสนับสนุนค่าจ้างให้สถานประกอบการ (wage subsidy) หรือนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่รัฐควรมีหนทางกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเกิดการชะงักงันของการบริโภคหรือการลงทุนจากภาคเอกชน, การขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคมไปยังแรงงานในระบบที่ยังเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมให้มากขึ้น, นโยบายเสริมทักษะและความรู้แก่แรงงานทุกระดับ, นโยบายสำหรับแรงงานนอกระบบให้สามารถสร้างรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save