fbpx
ชีวิตหมูป่าและเรื่องที่ต้องติดตามเมื่อออกจากถ้ำหลวง

ชีวิตหมูป่าและเรื่องที่ต้องติดตามเมื่อออกจากถ้ำหลวง

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

 

เรื่องราวของทีมหมูป่า 13 ชีวิต เหมือนว่ากำลังจะจบลงด้วยดี หลังจากมีการลำเลียงเด็กออกมาจากความมืดในถ้ำหลวงได้แล้ว 8 คน (ในวันที่บทความเผยแพร่)  เรื่องนี้กลายเป็นสเกลระดับโลกขนาดที่ว่า Elon Musk ส่งทีมวิศวกรมาช่วยและนำเสนอไอเดียในการลำเลียงทุกคนออกมาด้วย หลังจากติดอยู่ในถ้ำหลวงตั้งแต่เย็นของวันที่ 23 มิถุนายน 2018  ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่าสองอาทิตย์แล้วที่เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำลึกมืดที่จังหวัดเชียงราย แม้ว่าที่ผ่านมาจะดูทุลักทุเลและมีความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องดีคือเหล่าเด็กๆ รวมตัวกันเป็นกลุ่มเหนียวแน่น

ในตอนแรก มีการคาดคะเนว่าอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการช่วยเด็กๆ ออกมาข้างนอก เนื่องจากสภาวะอากาศที่คาดเดายากของฤดูฝน แต่โชคดีที่ช่วงที่ผ่านมามีการเตรียมความพร้อมของทุกส่วน ทั้งฝ่ายกู้ภัย ฝ่ายแพทย์ และฝ่ายเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยสำหรับช่วงเวลาที่เอื้ออำนวย จึงทำให้การช่วยเหลือสำเร็จเป็นครั้งแรกตั้งแต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้น

เมื่อมองในมุมของผู้ประสบภัย การเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนี้ต้องอาศัยทั้งการร่วมมือกัน การแบ่งหน้าที่ และผู้นำที่คอยตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จำเป็นในเวลาคับขัน ตั้งแต่วินาทีแรกที่พวกเขาพบว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับน้ำป่าที่ไหลหลากเข้ามา วินาทีชีวิตตอนนั้นร่างกายมีการตอบสนองหลายอย่าง ทั้งการตัดสินใจที่จะสู้หรือถอย จังหวะหัวใจที่เต้นถี่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เรามีชีวิตรอด

การตอบสนองทางร่างกายในสภาวะกดดันนี้จะมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในระบบสมองของมนุษย์ด้วย ซึ่งอาจจะรบกวนการทำงานให้เกิดความผิดปกติ ในช่วงแรกๆ ของเหตุการณ์ สมองจะสั่งงานติดๆ ขัดๆ ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดและความทรงจำขาดหาย (เหมือนสมองสั่งปิดการทำงานเพื่อป้องกันตัวเอง) แต่โชคดีที่ทั้ง 13 ชีวิตนั้นยังมีสติมากพอในช่วงที่น้ำป่าไหลเข้ามาปิดกั้นทางออก ตัดสินใจถูกต้องโดยหาที่ปลอดภัยและเฝ้ารอการช่วยเหลือจากด้านนอก

หลังจากช่วงวินาทีแห่งความตายได้ผ่านพ้นไป ต่อไปคือการตัดสินใจเพื่อเอาตัวรอด เราทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าร่างกายต้องการอาหารและน้ำเพื่อความอยู่รอด แต่สิ่งหนึ่งที่คนมักไม่คำนึงถึงคือการทำงานของระบบสมองนั้นได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ ไม่ได้รับอาหาร นอนหลับไม่เพียงพอ สมองก็เริ่มทำงานได้ไม่เต็มที่ไปด้วย

ในจังหวะนี้อาจเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดและทำให้ตนเองตกอยู่ในอันตรายโดยไม่จำเป็น แต่ทุกคนก็ยังรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน อาศัยน้ำฝนเพื่อประทังชีวิต แน่นอนว่าพวกเขาต้องหิวมากตอนที่ถูกพบ แต่ก็ยังมีสติดี พูดจาโต้ตอบได้อย่างดี นี่เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าสภาพร่างกายและจิตใจของทั้งเด็กๆ และโค้ชนั้นยังทำงานได้ปกติ แม้ว่าจะอยู่ในความมืดมิดและความไม่แน่นอนมาตลอด 9 วันก็ตาม

ถ้าใครยังจำเหตุการณ์ที่คนงานเหมืองในประเทศชิลีติดอยู่ใต้ดินกว่า 69 วันในปี 2010 ได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในถ้ำหลวงก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ ทั้ง 13 คนทำงานกันอย่างเป็นระบบ แบ่งหน้าที่และมีเป้าหมายที่เหมือนกัน  Mike Tipton นักจิตวิทยาด้านการมีชีวิตรอดที่เป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยที่คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกายมหาวิทยาลัย University of Portsmouth บอกว่า

“การมีชีวิตรอด ขึ้นอยู่กับการมีเป้าหมาย และหน้าที่ที่ทำได้สำเร็จในเวลานั้นสำหรับการอยู่รอด และเรียงลำดับได้อย่างถูกต้อง คุณจะไม่นั่งอยู่ตรงนั้นแล้วคิดถึงว่า ‘แล้วถ้าฉันยังอยู่ที่นี่อีกสองอาทิตย์ล่ะ? แล้วถ้าสองเดือนล่ะ?’ คุณต้องคิดว่า ‘ต่อจากนี้อีกหนึ่งชั่วโมง อันนี้ต้องเสร็จ’  เป็นเป้าหมายสั้นๆ ที่สามารถทำได้ต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาคือผู้ประสบภัยหรือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมักมองเห็นว่ามันใหญ่และหนักหนาเกินไป พวกเขาจึงไม่เริ่มทำอะไร และยอมแพ้ทันที”

กุญแจสำคัญในการมีชีวิตรอดของเหล่าคนงานเหมืองคือการตัดสินใจอย่างฉับพลันที่จะไม่อยู่นิ่งเฉย พวกเขาสร้างหน้าที่เพื่อเปลี่ยนช่วงเวลาของการรอคอยให้เป็นการทำงานต่างๆ และสร้างความรับผิดชอบในสถานการณ์ร่วมกัน (ถ้าใครดูซีรีส์ Lost น่าจะนึกภาพออกเป็นอย่างดี) Tipton กล่าวต่อว่า

“มีสามทางที่คุณจะตอบสนองกับสถานการณ์แบบนี้ คุณแข็งทื่อทำอะไรไม่ถูก หรือคุณอาจจะกระตือรือร้นเกินไปแต่ทำสิ่งผิดๆ หรือคุณก็กระตือรือร้นและทำในสิ่งที่ถูกต้อง และกลุ่มสุดท้ายนี่แหละที่มักจะรอด”

ในตอนนี้ถือเป็นเรื่องดีที่เด็กๆ และโค้ชถูกค้นพบภายในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป ต่อจากนี้เมื่อทุกคนถูกนำออกมาสู่โลกภายนอกอีกครั้งก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตตามปกติใหม่ มีหลายฝ่ายที่แสดงความเป็นห่วงถึงสุขภาพจิตจากประสบการณ์ที่เลวร้ายครั้งนี้ เพราะจากรายงานเกี่ยวกับคนงานเหมืองที่ชิลีในตอนนี้ หลายคนมีปัญหาในการทำงาน ไม่มีสมาธิ และบางครั้งก็ยังมีภาพในอดีตของเหตุการณ์ครั้งนั้นคอยหลอกหลอนอยู่เรื่อยๆ

ระหว่างที่ฝ่ายการแพทย์และฝ่ายนักดำน้ำค่อยๆ ลำเลียงเด็กๆ ออกมา นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กก็ต้องเตรียมตัวรับช่วงต่อด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าช่วงที่เสี่ยงชีวิตมากที่สุดน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดูแลสุขภาพจิตและแผลเป็นทางจิตใจยังต้องมีการดูแลกันอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะการรักษาบางครั้งก็แย่กว่าการไม่ได้รักษา การเข้ารับการรักษาในบางกรณีเหมือนจะทำให้ผู้รอดชีวิตต้องกลับไปรำลึกช่วงเวลาที่เลวร้ายและคิดถึงเหตุการณ์เฉียดตายนั้นอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นว่าผู้รอดชีวิตจะห่างไกลออกไปจากปัจจุบันและจมอยู่แต่กับอดีต ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะฉะนั้นการเข้ารับการรักษาสุขภาพจิตแม้เป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ดูแลอย่างใกล้ชิด

John Leach นักค้นคว้าวิจัยที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหยื่อตัวประกัน นักโทษและเหยื่อที่ถูกลักพาตัวของมหาวิทยาลัย University of Portsmouth กล่าวว่า การรักษาสุขภาพจิตหลังจากเหตุการณ์ที่โหดร้ายมักถูกเข้าใจผิดและอธิบายอย่างง่ายดายเกินไป เขาบอกว่าถ้าคุณต้องผ่านประสบการณ์เฉียดตาย เป็นเชลยสงคราม ถูกจับเป็นตัวประกัน รอดพ้นจากภัยทางทะเล หรือบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน คุณจะไม่กลับมาเป็นคนเดิมก่อนเหตุการณ์ครั้งนั้นอีก คุณเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อคุณกลับมาโลกรอบตัวคุณก็เปลี่ยนไป คนรอบตัวก็เปลี่ยนไป สิ่งที่อันตรายคือคุณคาดหวังว่าโลกจะเป็นเหมือนเดิม และหวังว่าตัวคุณเองก็จะเป็นเหมือนเดิม

 

หลังจาก 10 สัปดาห์ที่ติดอยู่ใต้เหมืองในประเทศชิลี Samuel Avalos หนึ่งในผู้รอดชีวิตบอกว่าเขาจำได้ว่าเขาจ้องมองในกระจกแล้วคิดว่า “ดวงตาคู่นั้นไม่ใช่ดวงตาของผม”

นั่นอาจจะเป็นความคิดเดียวกัน เมื่อทั้ง 13 ชีวิตที่รอดตายจากถ้ำหลวงได้มองหน้าตนเองในกระจกอีกครั้งเมื่อออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save