fbpx
คิด เคลื่อน ไทย ในมหาวิกฤต กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

คิด เคลื่อน ไทย ในมหาวิกฤต กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับ 3 วิกฤตใหญ่ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ การเมือง

กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้เปิดตัวขึ้นเพื่อสร้างทางเลือกและเขย่าดุลยภาพใหม่ในสนามการเมืองไทย

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ ‘หมอมิ้ง’ อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE ผู้ผ่านเกมการเมืองและประสบการณ์การบริหารมาอย่างโชกโชน มองเห็นปัญหาอะไร

จะอ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย และจะตีโจทย์มหาวิกฤตอย่างไรเพื่อหาทางออก

101 จับประเด็นและเก็บความบางส่วนจากการสนทนากับหมอมิ้งมาให้พิจารณากัน

:: เมื่อคนรุ่นใหม่กู่ตะโกน ::

 

คิด เคลื่อน ไทย ในมหาวิกฤต กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ปรากฏการณ์ตอนนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ที่สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็วมาก เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยีในการทำมาหากินเปลี่ยนไปหมด

คนรุ่นผมโตมากับทีวีขาวดำ จนกระทั่งผมอายุเกือบ 30 ปี ถึงได้มีทีวีสี หลังจากนั้นมีทีวีจอแบนและมีการเปลี่ยนอีกหลายรุ่นตามมาเยอะแยะ โทรศัพท์ก็มีตั้งแต่ใช้มือหมุนจนเปลี่ยนมาเป็นกดปุ่ม ปัจจุบันเป็นโทรศัพท์มือถือที่กลายเป็นของประจำตัวคนทุกคน

สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง และเปลี่ยนระบบที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสังคมและเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือรัฐ อำนาจรัฐจะต้องปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย

ถามว่ารัฐมีเพื่ออะไร รัฐเป็นตัวแทนของประชาชนที่จะดูแลจัดการทำให้คนทุกคนอยู่กันได้อย่างสงบสุข แต่รัฐที่สงบทั้งหมดมีไหม ไม่มี เพราะว่าคนแตกต่างหลากหลายกันมาก

สำหรับประเทศไทย ผมพูดตรงๆ ฝ่ายอนุรักษนิยมที่อยู่กับอำนาจเก่า ความเชื่อเก่าๆ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร ก็จะมีความรู้สึกยอมรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเอากรอบความคิดแบบเดิมๆ มาใช้ในปัจจุบันแบบนี้จะฝืนกับการเปลี่ยนแปลง

ผมไม่คาดคิดว่าในช่วงชีวิตผม ตั้งแต่ปี 2519 ที่ผมต้องหยุดเรียนและหายไปเพราะเกิดรัฐประหาร และต่อจากนั้นก็มีการรัฐประหารอีกหลายครั้ง เราคิดว่ารัฐประหารปี 2534 จะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ปี 2549 ก็เจอรัฐประหารอีก แปลว่าสังคมไทยเป็นการต่อสู้กันระหว่างอำนาจเก่าของฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง

วันนี้จะเห็นว่าคนหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยวิธีที่พวกเขาติดต่อสื่อสารกัน เราไม่สามารถคุมความคิดกันได้แล้ว แม้กระทั่งลูกหลานผมเอง ผมก็ไม่สามารถไปกำหนดความคิดพวกเขาได้

ถ้าเราเข้าใจ เราจะต้องปรับตัวเข้าหาซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความสงบสุขกันในบ้าน ฉันใดฉันนั้น พอเป็นในสังคม ถ้าคนรุ่นใหม่มีความคิดความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง แล้วคุณตามไม่ทันหรือคุยกันไม่ได้ เราก็จะเห็นการแสดงออกแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

วันนี้คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศด้วยความคล่องแคล่วและเข้าใจในหลักประชาธิปไตย นี่คืออนาคตของประเทศ

ถ้าไม่มีไฟก็ไม่มีควัน แปลว่าย่อมมีไฟคุกรุ่นอยู่ในใจพวกเขาอยู่แล้ว ถ้าคุณเป็นรัฐก็ต้องเข้ามาดูอย่างเข้าใจ ไม่ใช่ดูใกล้ชิดเพื่อจะกดพวกเขา

ผมชอบพูดว่าอะไรที่ไม่สมดุล มันจะกลับมาสมดุลโดยธรรมชาติ น้ำที่ถูกกักขังไว้มากๆ อยู่บนหอเก็บน้ำ ถ้าฐานไม่แข็งแรงหรือเก็บน้ำไม่ไหว สักพักก็จะพังลงมา เขื่อนที่แตกก็เพราะว่ารับแรงดันน้ำไม่ไหว แต่ถ้าคุณรู้จักระบายน้ำออกไปใช้ประโยชน์ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าคุณรู้จักปลดเปลื้องความทุกข์ของคนรุ่นใหม่ท้าทายอำนาจรัฐ พวกเขาจะกลายเป็นพลังสร้างสรรค์

:: CARE ทำไม ::

คิด เคลื่อน ไทย ในมหาวิกฤต กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ในเมื่อประเทศกำลังเจอวิกฤต และวิกฤตการเมืองก็นำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจ หลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมาเศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ และโครงสร้างเศรษฐกิจของเราก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยน เรายังพึ่งพาการส่งออกและภาคบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยว เม็ดเงินยังมาจากต่างประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

ประเด็นคือเมื่อรัฐประหารเป็นการดึงเอาอำนาจไปอยู่ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมและระบบราชการ ถ้าข้าราชการรับใช้ประชาชน เพราะรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนก็จะปฏิบัติคนละแบบ แต่เมื่อข้าราชการกลายเป็นนายของประชาชนก็จะฟังประชาชนน้อยลง เมื่อฟังน้อยลง การเข้าใจปัญหาก็จะน้อยลง การแก้ปัญหาก็จะคิดไปว่าตัวเองเป็นผู้แก้

แต่ถ้าเริ่มจากกระบวนการประชาธิปไตย คุณต้องรับฟังความเห็นของประชาชนจริงๆ ทั้งด้านปัญหาและทางออก สิ่งเหล่านี้ถ้าคุณปรึกษากับประชาชนไปเรื่อยๆ มันจะมีทางออก

วันนี้เรามีสิ่งที่สะสมกันมาคือระบบการเมืองที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ เมื่อยิ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกด้วยก็ทับถมกันหนักหน่วงยิ่งขึ้น และโควิด-19 ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน

พอเห็นภาพรวมแบบนี้ เรามีนักคิดที่คิดต่างจากรัฐบาล แต่เขาไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมือง เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจเขียนกติกาให้ตัวเองเป็นฝ่ายชนะตลอด กลุ่มคนเหล่านี้ไม่อยากเข้าไปสู้ในกติกาที่เขากำหนด ดังนั้นก็ต้องมีทางออกว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะวิกฤตครั้งนี้ที่กระทบกับคนทุกคน

ในวิกฤตโควิด-19 เราโชคดีที่ไทยสามารถจัดการโรคได้ดี ด้วยปัจจัยหลายประการ ต่างชาติเขาวิเคราะห์คนไทยซึ่งเราลืมไปในหลายๆ เรื่อง เช่น การอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง เข้าบ้านไม่ใส่รองเท้า ที่ต่างประเทศไม่ใช่แบบนี้ เรามีความเคารพกัน สั่งให้ใส่หน้ากากอนามัยก็ทำกันหมด เป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย

ประเด็นคือพอมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป้าหมายในการจัดการของรัฐคืออะไร ตอนนี้กว่า 50 วันแล้วที่ไม่มีโควิดเกิดขึ้นในคนไทยเลย แต่เรากำลังเจอปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังตามมา

:: เศรษฐกิจไทย CARE อย่างไรดี ::

คิด เคลื่อน ไทย ในมหาวิกฤต กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

กลุ่ม CARE เราคิดว่าคลื่นลูกที่สองที่น่ากลัวและหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือปัญหาเศรษฐกิจ เป็นหลุมเหวลึกอันตราย เพราะฉะนั้นการสร้างความสมดุลระหว่างเรื่องเศรษฐกิจกับการป้องกันโรคต้องชั่งให้ดี

รัฐบาลพูดถึงการออกพระราชกำหนดกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องถูกต้องในการสร้างความมั่นใจ ส่วนหนึ่งเอาไปใช้ในการเยียวยา อีกส่วนคือให้แบงก์ชาติเอาไปใช้ในภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี แต่ในทางปฏิบัติจะเกาถูกที่คันหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในส่วนเงินกู้นี้แบงก์ชาติเรามีเงินอยู่ 5 แสนล้านบาท แต่ปล่อยกู้ได้เพียง 8 หมื่นล้านบาท เพราะคุณยังยึดถือกฎกติกาเก่าในการปล่อยกู้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เคยมาร่วมสัมมนากับเราพูดชัดเลยว่าคุณเอากรอบกติกาเก่ามาใช้ในวิกฤตใหม่ได้อย่างไร

ธุรกิจเอสเอ็มอีตอนนี้มีอยู่ 1 ล้านกว่ารายที่ขอพักหนี้ แล้วแบงก์ชาติก็ผ่อนปรนให้ด้วยการไม่บันทึกเป็นหนี้เสีย 6 เดือน ระหว่างนี้ก็ให้ไปกู้เงินเอามาใช้ แต่ที่กู้ได้มีเพียง 8 หมื่นล้านบาท แล้วที่เหลือเขาจะทำอย่างไร เงินมีแต่คุณปล่อยไม่ออก เพราะวิธีการไม่ถูก

กลุ่ม CARE เสนอแนวคิดใหม่ เราเน้นไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีก่อน เพราะบริษัทใหญ่เขามีศักยภาพอยู่ได้ เราเสนอให้ปล่อยกู้สำหรับเอสเอ็มอีให้ทั่วถึงเพื่อให้พวกเขาอยู่ต่อไปได้อย่างต่ำอีก 1 ปี เพราะวิกฤตครั้งนี้ไม่มีใครสั่งให้เกิด มันเป็นเรื่องธรรมชาติ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแล

ถามว่ากลไกที่ปล่อยกู้จะเอาเงินมาจากไหน ก็ใช้เงินของแบงก์ชาติซึ่งทางรัฐบาลก็เสนออยู่แล้ว ให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.1 % เพื่อจะให้ธนาคารเอกชนไปปล่อยกู้ต่อ พูดแบบนี้คนอาจจะคิดว่าจะทำให้เกิดหนี้เสียแล้วธนาคารเอกชนไหนจะยอมปล่อยกู้ เราคิดต่อว่ารัฐบาลต้องเป็นหลักประกันให้ด้วยการไปออกตราสารหนี้ให้กู้ยาวๆ สักร้อยปีก็ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับธนาคาร

แต่เงื่อนไขสำคัญคือธนาคารต้องปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีที่จะมีการจ้างงานต่อเพื่อให้เขาปรับตัวได้ แม้ว่าถึงเวลาที่ต้องเลิกกิจการ เขาจะได้มีเงินจ่ายให้ลูกจ้าง จะได้ไม่ล้มพังในทันที

เราต้องคิดเรื่องการสร้างงานสร้างรายได้ด้วย ความเข้มแข็งของเราในการเป็นประเทศที่จัดการโควิดได้ดี เป็นจุดเด่นที่มองข้ามไม่ได้ เราเป็นประเทศแหล่งผลิตอาหาร เกษตรกรเรามีถึง 60 % ของประชากร มีรายได้ 8 % ของจีดีพี เราจะดูแลอย่างไร

อีกส่วนคือรายได้จากธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ประมาณ 13 % ของจีดีพีคือส่วนที่หายไป เราไม่ได้เรียกร้องให้คนต่างประเทศเข้ามาทันที แต่เราบอกให้เริ่มวางแผนหามาตรการเสียที เริ่มเจรจากับประเทศที่มีการจัดการได้ดีพอๆ กับไทย หรือเรียกว่าศีลเสมอกันก็ได้ ติดเชื้อน้อย มีความเสี่ยงน้อย แล้วดูวิธีการของกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน หาวิธีการปฏิบัติที่สอดคล้องกันทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง เพราะการเจรจากว่าจะเริ่มทำงานได้ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เท่าที่ทราบตอนนี้มีหลายประเทศต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในไทยแล้ว

ถ้าตั้งเป้าว่าการติดเชื้อเป็นศูนย์ เป็นไปได้ไหม แต่ถ้าตั้งเป้าว่าหากมีการติดเชื้อแล้วเรายังสามารถดูแลได้ล่ะ แทนที่จะไปปลุกเร้าความกลัว คุณควรไปสร้างกำลังใจให้คนฟื้นขึ้นมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรือที่เรียกกันว่า new normal แทน

:: เสียงสนับสนุนอำนาจเก่า ::

คิด เคลื่อน ไทย ในมหาวิกฤต กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

เราเชื่อในประชาธิปไตยใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ คนที่ยอมรับว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันจะเป็นทางออกย่อมเป็นสิทธิ์ ไม่เป็นไร

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ข้าราชการหรือพนักงานประจำส่วนหนึ่งมีชีวิตที่ไม่ต้องมีความเสี่ยง ยังไงก็ได้เงินเดือน อยู่บริษัทใหญ่เขาก็ไม่ไล่ออก หรือได้ประโยชน์จากราชการ เขาก็คงชอบอยู่

ในขณะที่ชาวบ้านที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพวันต่อวัน คนพวกนี้ก็จะคิดอีกแบบ พวกแรกจะคิดว่ารัฐบาลกี่ชุดๆ ทำมาก็ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา แต่พวกชาวบ้านเขาได้รับผลกระทบ บางคนถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแก คนพวกนี้เขาเกลียดรัฐแน่นอน

และส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีอำนาจในการต่อรอง จึงไม่แปลกที่คนกลุ่มนี้จะตระหนักถึงการมีอำนาจหรือคิดถึงการเปลี่ยนแปลง

:: ปฏิรูปหรือปฏิวัติ ::

คิด เคลื่อน ไทย ในมหาวิกฤต กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ไม่ว่าจะปฏิรูปหรือปฏิวัติก็เป็นการเปลี่ยนแปลง เราต้องหาก่อนว่าปมไหนเป็นปัญหา วันนี้ปมปัญหาคือที่มาของอำนาจรัฐไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน

เลือกตั้งมา เสียงที่ได้มาเยอะ คุณก็หาวิธีนับจนกระทั่งเขาแพ้ ทำยังไงก็ได้ เอา ส.ส. เก้าอี้เสริมมานั่งรวมกันแล้วก็ตั้งรัฐบาล แบบนี้ก็ไปกันใหญ่

ถ้ากติกาประเทศยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชน มีกลไกที่ดี ประเทศก็จะไปข้างหน้าได้

หลักธรรมชาติ มีด้านบวกก็ต้องมีด้านลบ เชื่อไหมว่าในร่างกายคนเรามีระบบ counter check ทั้งหมด เวลาที่เรางอแขน กล้ามเนื้อมัดหนึ่งตึง กล้ามเนื้ออีกมัดจะหย่อนตลอดเวลา

เวลาทำอะไรไปจะมีตัวเบรกเสมอ นี่เป็นระบบธรรมชาติ เพราะฉะนั้นในระบอบประชาธิปไตย ต้องให้มีระบบตรวจสอบ ไม่ใช่พวกเดียวกันตรวจกันเองแล้วถูกไปทั้งหมด

ผมถึงย้อนกลับไปว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ออกแบบมาจากความเจ็บปวดก่อนหน้านั้นได้ดีที่สุด

การเปลี่ยนแปลงถ้าโชคดี ก็ไม่รุนแรง ถ้าโชคไม่ดีก็อาจจะออกมาแรง ผมไม่รู้ ไม่มีใครคาดเดาได้ แต่อย่างไรมันก็ต้องเปลี่ยน เพื่อนผมที่อยู่คนละข้างกันต่างก็ยอมรับว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save