fbpx

PROMISING YOUNG WOMAN แผนดับฝันสุภาพบุรุษกลัดมัน

ในช่วงที่โควิดกลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศไทยแถมยังลุกลามแพร่กระจายไปมากกว่าเดิม โรงหนังในจังหวัดเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดหลายๆ แห่ง รวมถึงกรุงเทพมหานครจำต้องปิดให้บริการกันอีกคำรบ จนค่ายหนังต้องชะลอการเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ทำให้โรงหนังในบางจังหวัดจำต้องฉายหนังโปรแกรมเดิมๆ เวียนวนไป ไม่ได้มีตัวเลือกอะไรมากนัก

แต่หลังการประกาศผลรางวัลออสการ์ประจำปี 2020 เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ก็ยังพอมีหนังคว้ารางวัลหลงเหลือให้ได้ดูกันในโรงหนังช่วงนี้อยู่ไม่กี่เรื่อง หนึ่งในนั้นคือผลงานที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมมาครอง แถมยังได้เข้าชิงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี อย่างเรื่อง Promising Young Woman ของผู้กำกับและมือเขียนบทหญิงมือใหม่ Emerald Fennell ผู้เคยเป็นนักแสดงมาก่อน

Promising Young Woman นับเป็นอีกหนึ่งสีสันที่แตกต่างบนเวทีการประกวดออสการ์ประจำปีนี้ เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในสองของภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้กำกับสตรีที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมแล้ว เสียงสะท้อนจากผู้ที่ได้ดูล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังกล่าวถึงประเด็นร่วมสมัยอย่างกระแส #MeToo ออกมาอย่างเด่นชัด จัดเป็นงานสะท้อนภาพปัญหาร่วมสมัยในโลกความรักความสัมพันธ์ของผู้หญิงและผู้ชายเล่าผ่านเนื้อหาการสางปมความพยาบาทแต่หนหลังอันดุเดือดเข้มข้นและจริงจัง ตั้งคำถามต่อประเด็นที่ยังไม่มีผู้ใดสามารถตอบได้อย่างลึกซึ้งคมคาย ภายใต้ภาพลักษณ์ของหนังล่าล้างแค้นเกรดบีที่ดูยังไงก็ไม่น่าจะเข้าทางรางวัลออสการ์อย่างที่เคยประกวดกันมา

PROMISING YOUNG WOMAN

เนื้อหาหลักของหนังเล่าถึงปฏิบัติการจองเวรคู่กรณีในอดีตของ Cassandra (นำแสดงโดย Carey Mulligan) หญิงสาวอดีตนักศึกษาแพทย์ที่ต้องสูญเสียทั้งอนาคตและเพื่อนรักนาม Nina ไป หลังจากที่ Nina ถูกกลุ่มเพื่อนผู้ชายมอมเหล้าจนไม่ได้สติ โดยในคืนนั้นเธอถูกรุมข่มขืนต่อหน้าพยานหลายราย และสุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลง สร้างความรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อ Cassandra ที่ไม่ได้ไปร่วมงานปาร์ตี้เป็นเพื่อน Nina เพื่อช่วยปกป้องเธอ ด้วยปมอดีตฝังใจอันนี้ทำให้ Cassandra ลุกขึ้นมาจองเวรเหล่าผู้ชาย ‘สารเลว’ ทั้งหลาย แต่งกายเซ็กซี่ยั่วยวนแล้วทำทีเป็นเมาหัวราน้ำตามลำพังในผับ หลอกให้หนุ่ม ๆ ต้องแสดงความเป็น ‘สุภาพบุรุษ’ อาสาพาไปส่งโดยหวังว่าจะแอบพาเข้าห้อง

ก่อนที่ Cassandra จะลุกขึ้นถามเสียงแข็งอย่างมีสติว่า “นี่เธอคิดจะทำอะไรฉันหรือจ๊ะ” ประกาศสิทธิในร่างกายที่ไม่ว่าชายใดก็มิอาจล่วงเกินหากเธอยังไร้สติจะยินยอม! และเมื่อเธอได้หลักฐานชิ้นใหม่ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ Nina ในคืนนั้นอีกบ้าง Cassandra ก็ไม่รอช้า หาวิธีดับฝันตัดอนาคตของผู้ที่เคยทำร้าย Nina อย่างสาสม ซึ่งไม่ว่าจะมีอุปสรรคคมหนามประการใด Cassandra ก็ยอมฝ่าฟันแลกทุกอย่างได้ด้วยหัวใจ ในฐานะของผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์แบบ #MeToo มาก่อน

จากเรื่องย่อก็คงพอจะนึกภาพได้ว่า Promising Young Woman เป็นหนังสายเฟมินิสต์จ๋า ที่ทำออกมาเพื่อด่าผู้ชายระยำตำบอน และปกป้องความเป็นเจ้าของร่างกายของสตรี ที่พวกเธอควรมีสิทธิสำมะเลเทเมาได้อย่างใจแต่พวกผู้ชายไม่มีสิทธิที่จะ ‘ฉวยโอกาส’ ซึ่งตัวหนังก็เล่าเนื้อหาเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจนซึ่งๆ หน้า ผ่านพฤติกรรมของตัวละครหลัก Cassandra ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ผู้กำกับ จนกลายเป็นหนังที่ผู้หญิงดูแล้วจะสะใจ ผู้ชายดูแล้วจะหลอนด้วยฝันร้าย ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจว่าบรรดา ‘ผู้ชาย’ วัยเจริญพันธุ์ในหนังเรื่องนี้แทบจะไม่มีใครเป็น ‘คนดี’ ได้เลยจริงๆ

PROMISING YOUNG WOMAN

แต่ถึงแม้ว่า Promising Young Woman จะเป็นหนัง ‘ผู้หญิง’ ที่วางตัวเป็นงานระทึกขวัญแฟนตาซีโจมตีพฤติกรรมชอบ ‘ฉวยโอกาส’ ของผู้ชายอย่างตรงไปตรงมา ทว่าตัวบทซึ่งผู้กำกับ Emerald Fennell เป็นคนเขียนเองก็ยังได้แจกแจงให้เห็นอย่างน่าสนใจว่า อารมณ์พยาบาทอาฆาตแค้นของ Cassandra นั้น จริงๆ แล้วเป็นอะไรที่สวนทางกับมุมมองของสุภาพสตรีรอบข้างตัวเธออย่างสิ้นเชิงเลยเหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็น Madison อดีตเพื่อนร่วมชั้นของ Cassandra และ Nina ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์คืนที่ Nina ถูกล่วงละเมิด แต่กลับมองว่าสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพราะ Nina นั่นแหละที่เป็นฝ่ายเข้าหาผู้ชายไปทั่ว และก็เป็นเรื่องสนุกคะนองธรรมดาๆ ตามประสาวัยรุ่นที่ยังไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ Cassandra จะไปถือสาอะไรกันนักหนา แถมเธอยังปล่อยมุกต่อว่าความสุดโต่งของสตรีสายเฟมินิสต์จ๋าทั้งหลาย ราวกับว่าการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมจนเกินพอดีเป็นสิ่งที่ไร้สาระสิ้นดี  

ไม่ต่างจาก Elizabeth อธิบดีของวิทยาลัยแพทย์ผู้เคยรับเรื่องร้องเรียนของ Nina ทว่ากลับเพิกเฉย เพียงเพราะเธอได้รับคำอุทธรณ์เหล่านี้เดือนหนึ่งไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง จนสิ่งนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เธอแทบไม่ต้องเงี่ยหูฟัง ด้วยไม่อยากไปทำลายชีวิตของชายหนุ่มอนาคตดีทั้งหลายจากคำขยายใส่ไข่ใส่ไคล้โดยไม่มีมูลใดๆ เหล่านี้

ในขณะที่มารดาของ Nina เอง ก็สามารถผ่านพ้นและทำใจได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งยังตักเตือน Cassandra ว่าการออก ‘ล่า’ ด้วยความพยาบาทอะไรเหล่านี้ มิใช่วิถีของผู้หญิงและ Cassandra ก็ไม่ควรเอาศักดิ์ศรีแห่งความเป็นสตรีของตัวเองไปเกลือกกลั้วกับอารมณ์กลัดมันสั่นเทาของผู้ชาย หากควรจะ ‘move on’ เพื่อใช้ชีวิตในวันข้างหน้าต่อไป โดยไม่ต้องหันหลังกลับไปฟื้นฝอยหาตะเข็บอะไรอีก  

PROMISING YOUNG WOMAN

หรือแม้แต่ Gail เจ้าของร้านกาแฟสตรีผิวสีที่ Cassandra ทำงานอยู่ ก็มองความรักความสัมพันธ์ระหว่าง Cassandra กับ Ryan คุณหมอหนุ่มอดีตเพื่อนร่วมชั้นที่กำลังเข้ามาจีบเธอแตกต่างไป เพราะในขณะที่ Cassandra กำลังสำรวจว่า Ryan จะเป็นผู้ชาย ‘แสนดี’ ที่จะไม่ชวนเธอ ‘ขึ้นห้อง’ ทันทีที่มีโอกาสครั้งแรกหรือไม่ ฝ่าย Gail กลับมองว่าทั้งคู่คบหากันก็เพื่อที่จะได้ ‘มีอะไรๆ’ ขอแค่อย่าให้ร้านกาแฟของเธอสกปรกเลอะเทอะไปด้วยรอยคราบอันไม่พึงประสงค์เท่านั้นก็พอ ก็เพราะชายหญิงเขาคบหากันเพื่อการนี้อยู่แล้วมิใช่หรือ?

ทรรศนะอันแตกต่างสวนทางเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ Promising Young Woman ไม่ได้เป็นหนังที่นำเสนอการต่อสู้ในฐานะของผู้ถูกกระทำตามกระแส #MeToo อย่างเผินผิว หากยังสะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้ได้ชื่อว่าเป็น ‘สตรี’ แต่พวกเธอก็มีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันได้อย่างร้อยแปดพันเก้า โดยเฉพาะในมุมมองเรื่องความรักความสัมพันธ์ การยกอ้างแนวคิดในแบบเฟมินิสต์จึงเป็นเพียงเหลี่ยมมุมแคบๆ ของการเป็นผู้หญิงทั้งหมด ซึ่งแม้แต่สตรีด้วยกันเองบางรายก็ยังรู้สึกคัดค้านไม่เห็นด้วยนัก และหนังก็ให้น้ำหนักทุกความคิดเหล่านี้อย่างเท่าเทียม ปราศจากการพิพากษาตัดสินว่าใครคิดถูกคิดผิดอะไรอย่างไร แล้วปล่อยให้ตัวตนของ Nina ซึ่งกลายเป็นกุญแจสำคัญในการไขรหัสคำบอกเล่าจากปากของคนเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนา ที่คนดูจะไม่มีโอกาสได้รับรู้เลยว่าเธอเป็นคนอย่างไรและเกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่

ด้วยวิธีการเล่าแบบไม่ชี้ผิดชี้ถูกเช่นนี้ ทำให้หนังทั้งเรื่องขับเคลื่อนด้วยการตัดสินใจของ Cassandra ที่มาจากสัญชาตญาณมากกว่าการสะระตะไตร่ตรอง ซึ่งถ้าได้ดูจนจบจะเห็นว่า Cassandra ก็ไม่สามารถยกเหตุผลมาอธิบายให้ใครๆ เข้าใจได้ว่าเธอทำทุกอย่างนี้ไปเพื่ออะไร เพียงแต่จิตวิญญาณความเป็นผู้หญิงของเธอบอกชัดว่าเธอไม่อาจจะนิ่งเฉยได้ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วทั้งหมดนี้อาจจะมิใช่สิ่งที่ Nina ต้องการให้เกิดขึ้นเลย ใครเล่าจะล่วงรู้ ?

PROMISING YOUNG WOMAN

นอกจากนี้ Promising Young Woman ยังชวนให้รู้สึกว่ามิติทางเพศที่ปรากฏอยู่ในกระแส #MeToo ในโลกความเป็นจริง ก็ยังมีความซับซ้อนที่สามารถตั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้ แน่นอนว่าการล่วงเกินทางเพศโดยที่ฝ่ายหญิงไม่ยินยอมเป็นเรื่องที่ไม่ควรสนับสนุนไม่ว่าจะทางใดและผู้ชายหลายๆ คนก็เห็นด้วยว่านั่นเป็นการกระทำที่ชั่วช้าสารเลวและช่างไร้ศักดิ์ศรี แต่ถ้าหากมองอีกมุมกระแส #MeToo ก็อาจมีผลให้ผู้ชายดีๆ โดนร่างแหไปด้วย ดังจะเห็นจากกรณีที่กลุ่มสตรีชาวฝรั่งเศสหลายๆ ราย รวมถึงนักแสดงดัง Catherine Deneuve เคยออกมาต่อต้านการเรียกร้องเหล่านี้ พร้อมแสดงจุดยืนว่าผู้ชายยังมีสิทธิเข้าหาและจีบผู้หญิงอยู่ตามครรลองที่ควรเป็น

PROMISING YOUNG WOMAN

สิ่งที่ ‘แซ่บ’ มากๆ อีกอย่างใน Promising Young Woman คือการที่ตัวหนังวางตัวเป็นหนังเขย่าขวัญ rape revenge อารมณ์ slasher film เน้นความรุนแรงเกรดบีที่ได้กลิ่นอายคล้ายๆ กับหนังอย่าง I Spit on Your Grave (1978) ของ Meir Zarchi หรือ Ms .45 (1981) ของ Abel Ferrara ไม่ว่าจะด้วยการออกแบบตัวอักษรชื่อหนัง หรือการใช้เพลงป็อปทำนองคุ้นหูมาดัดแปลงให้เข้ากับความสยอง จนเกือบจะกลายเป็นหนัง direct-to-video จากยุค 1980’s ที่เหมาะกับการดูเพียงเพื่อความสนุกสะใจกันไปแล้ว

แต่ด้วยความแยบคายของตัวบทที่มีทั้งลูกล่อลูกชนและจุดหักมุมอันไม่คาดฝันมากมาย ประกอบกับความร่วมสมัยในกระแส #MeToo ที่คุกรุ่นอยู่ในแวดวงบันเทิงจริงๆ ขณะนี้ ก็ทำให้ Promising Young Woman เป็นงานที่ประสบความสำเร็จกระทั่งได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 สาขา รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แม้ว่าหน้าหนังและตัวงานดูจะไม่ตรงขนบของหนังที่จะได้ชิงรางวัลนี้สักเท่าไหร่ ซึ่งในที่สุดหนังก็คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมไปครองได้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยเรื่องราวที่มีชนวนประเด็นให้พิเคราะห์พิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

เรียกได้ว่า Promising Young Woman ได้สร้างสีสันอันสดใหม่ให้การประกวดรางวัลออสการ์ในครั้งนี้ให้ไม่ถึงกับจืดชืดนัก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save