fbpx
พริวิเลจและการกดทับ

พริวิเลจและการกดทับ

ในระยะหลัง เราได้ยินคำว่า ‘พริวิเลจ’ (privilege) หนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่จริงคำนี้น่าจะย่นย่อมาจาก social privilege หรือพริวิเลจทางสังคมมากกว่าพริวิเลจในแง่อื่นๆ โดยพริวิเลจที่มักพูดกันมากที่สุดในสังคมไทยช่วงที่ผ่านมา ก็คือพริวิเลจเรื่องเพศ ซึ่งมาพร้อมกับคำว่า ‘ปิตาธิปไตย’ (patriarchy) และคำว่า ‘การกดทับ’ (ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมาจากคำว่า oppression)

หลายคนเข้าใจว่าชุดคำพวกนี้เป็นเรื่องใหม่ เพราะคลื่นกระแสการพูดถึงคำเหล่านี้แพร่ระบาดมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในโลกทวิตเตอร์ เรียกได้ว่าเป็นคำพูดติดปากของคนกลุ่ม ‘เฟมทวิต’ ก็ว่าได้ แต่เอาเข้าจริงต้องบอกว่า ชุดคำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย โดยเฉพาะคอนเซ็ปต์เรื่องพริวิเลจที่นำเสนอกันในแวดวงเฟมินิสต์

เฟมินิสต์คนแรกที่พูดถึงเรื่องพริวิเลจอย่างจริงจัง และนำเสนอออกมาเป็นบทความและหนังสือเกี่ยวกับพริวิเลจ ก็คือ เพ็กกี แม็คอินทอช (Peggy McIntosh) เธอเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1988 หรือมากกว่า 30 ปีแล้ว

งานของแม็คอินทอชที่มีชื่อเสียงคือ White Privilege and Male Privilege: A Personal Account of Coming to See Correspondences through Work in Women’s Studies ซึ่งถือเป็นงานสำคัญมากชิ้นหนึ่งในแวดวงเฟมินิสม์ เพราะงานชิ้นนี้ ‘แยกแยะ’ พริวิเลจต่างๆ ออกมามากถึง 46 แบบ แต่หลักๆ แล้ว เธอพูดถึงพริวิเลจสองแบบตามที่ระบุในชื่องาน คือพริวิเลจของคนขาว (white privilege) และพริวิเลจของความเป็นชาย (male privilege)

แม็คอินทอชบอกว่า ไวท์พริวิเลจนั้น คือ ‘แพคเกจ’ ที่มองไม่เห็นของ ‘สินทรัพย์’ ที่ได้มาโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงหา (“an invisible package of unearned assets”)

โปรดสังเกตว่า คำขยายสำคัญที่เธอใช้มีสองคำ คำแรกคือ invisible คือสิ่งที่ ‘มองไม่เห็น’ กับอีกคำคือ unearned แปลว่า มีอยู่แล้ว เกิดมาก็ได้รับสิ่งนั้นๆ อยู่แล้วโดยไม่ต้องไปขวนขวายหาอะไร เช่น พอเกิดมามีผิวขาวปุ๊บก็จะได้รับ ‘สิทธิพิเศษ’ บางอย่างโดยไม่รู้ตัว คือสามารถ enjoy หรือมีความสุขไปกับสถานะบางอย่างที่คนที่ไม่ได้มีผิวขาวไม่ได้รับ ทีนี้พอสีผิวเป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วเห็นปุ๊บ ก็แฝงฝังอยู่ในตัวเองและในโครงสร้างสังคมทันที มันก็เลยหล่อหลอมจนกลายเป็นเนื้อตัวและอัตลักษณ์บางอย่าง ทำให้มองเห็นได้ยากหรือถึงขั้น ‘มองไม่เห็น’ (invisible) ไปเลย

ส่วนเมลพริวิเลจก็คล้ายกัน แม็คอินทอชบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ฝังตัวอยู่ในโครงสร้างของ ‘สถาบันทางสังคม’ ต่างๆ แล้วก่อให้เกิดการออกแบบสังคมในมิติต่างๆ จนเกิดการกดเหยียดหรือกดทับ ผู้หญิง (ซึ่งต่อมาก็รวมถึงคนเพศอื่นๆ ด้วย) โดยไม่รู้ตัว และเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เช่นค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมไปถึงความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย

อย่างไรก็ตาม แม็คอินทอชเน้นย้ำเอาไว้ด้วยว่า ‘พริวิเลจ’ หรือ ‘ความได้เปรียบ’ ในสังคมนั้น ไม่ได้แปลว่าจะมีเพียงแง่ลบอย่างเดียว แต่มันมีแง่บวก (positive advantages) อยู่ด้วย

              เธอเขียนไว้ว่า

              “We might at least start by distinguishing between positive advantages that we can work to spread, to the point where they are not advantages at all but simply part of the normal civic and social fabric, and negative types of advantage that unless rejected will always reinforce our present hierarchies.”

       

ซึ่งก็คือการเน้นย้ำให้เรารู้จัก ‘แยกแยะ’ ความได้เปรียบในแง่บวกออกจากความได้เปรียบในแง่ลบ ซึ่งปัจจุบันหลายคนเรียกมันว่าพริวิเลจในความหมายที่แคบลงจนหมายถึงเฉพาะเพียงแค่ negative advantages เท่านั้น

ถามว่า แล้ว positive advantages คืออะไรบ้าง แม็คอินทอชยกตัวอย่างว่า อย่างเช่นการที่คนเรามีอาหารพอเพียง มีที่อยู่อาศัย มีสุขอนามัยหรือการแพทย์ที่ดีพอ ใครมีสิ่งเหล่านี้ อาจถูกมองว่าเป็นพวกที่ ‘มีพริวิเลจ’ ก็ได้ แต่กระนั้น มันก็คือพริวิเลจแง่บวก ที่ควรทำให้คนอื่นๆ ในสังคมมีพริวิเลจเหล่านี้ด้วย

และสุดท้ายมันก็จะไม่ใช่พริวิเลจอะไร เราอาจเรียกมันว่าเป็นสวัสดิการสังคม เรียกว่าเป็นสุขภาวะ ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ หรืออะไรอื่นๆ อีกหลายอย่าง โดยมีรากฐานมาจากพริวิเลจในแง่บวก

ส่วนพริวิเลจในแง่ลบก็คือสิ่งที่คนในสังคมไทยคุ้นเคยกัน โดยเฉพาะเมลพริวิเลจ หรือพริวิเลจของความเป็นชายที่เหนือกว่า ทำให้สังคมคาดหมายไปโดยอัตโนมัติว่าพอเกิดมาเป็นชายปุ๊บ (ซึ่งก็คือได้รับ unearned asset) ก็จะต้องได้รับโอกาสที่ดีกว่าผู้หญิงโดยเปรียบเทียบ เช่น มีแนวโน้มจะได้ค่าจ้างในการทำงานที่เหนือกว่า ฯลฯ เหล่านี้คือพริวิเลจแง่ลบที่ต้องช่วยกันลดหรือกำจัดออกไป

เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เสนอประเด็น ‘พริวิเลจของการทำอาหารกินเอง’ ซึ่งได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม แต่คำถามหนึ่งที่น่าตั้งคำถามกลับไปก็คือ ถ้าเรามองว่าการ ‘มีโอกาส’ ทำอาหารกินเองได้นั้นเป็นพริวิเลจอย่างหนึ่ง ก็แล้วมันเป็นพริวิเลจในแง่บวกหรือลบเล่า?

ถ้าเรามองว่ามันเป็นพริวิเลจแง่ลบ ก็แปลว่าเราต้องกำจัดหรือมองความสามารถในการทำอาหารกินเองได้ว่าเป็นเรื่องเลวทรามที่สมควรต้องกำจัดออกไป หมายความว่าไม่ควรต้องมีใครทำอาหารกินเองเลย

หรือหากเรามองว่ามันเป็นพริวิเลจแง่บวก ผู้คนควรได้ทำอาหารกินเองกันอย่างทั่วถึง (แต่จะเลือกหรือไม่เลือกใช้พริวิเลจนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เช่น ต้องทำให้คนต้องมี ‘เวลา’ ในชีวิตมากขึ้น (อันหมายรวมไปถึงการลดเวลาเดินทางในชีวิตประจำวัน หรือการออกแบบเมืองให้ผู้คนไม่ต้องเดินทางไกลไปทำงาน ฯลฯ) หรือทำให้คนเข้าถึง ‘วัตถุดิบ’ ในการทำอาหารกินเองได้ง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลงและสะอาดปลอดภัยมากขึ้น (ซึ่งแปลว่าต้องไปคิดถึงอะไรๆ ในสังคมอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำขั้นสูง ค่าครองชีพ หรือกระทั่งแนวคิดประเภท food forest หรือสวนสาธารณะกินได้ที่เปิดโอกาสให้คนในเมืองสามารถเข้าถึงวัตถุดิบต่างๆ ได้ใกล้มือ เป็นต้น)

การโยนทุกอย่างไปเป็นเรื่องของพริวิเลจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เวลาพูดคำว่า ‘พริวิเลจ’ เราให้นิยามของมันอย่างไร เพราะแม้ย้อนไปในปี 1988 แม็คอินทอชก็ยังมองคำว่า ‘พริวิเลจ’ ด้วยสายตาที่กว้างขวางลึกซึ้ง ไม่ได้ขังคำว่าพริวิเลจเอาไว้ในกรงแห่งความคับแคบทางความคิด จนคำๆ นี้มีนัยในแง่ลบเพียงอย่างเดียว

ที่สำคัญก็คือ ในปัจจุบัน หลายคนถึงขั้นมอง ‘ต้นทุน’ ที่หลายคนสั่งสมมา (เรียกได้ว่าเป็น earned assets ตรงข้ามกับ unearned assets อย่างสีผิวหรือเพศโดนสิ้นเชิง) ว่าเป็นพริวิเลจแง่ลบไปด้วย เช่น ในสังคมย่อมมีคนที่รวยกว่า มีชื่อเสียงมากกว่า หรือ ‘อยู่มาทุกยุค’ (แบบที่คนเรียกขานนักแสดงรุ่นพี่อย่างมาช่าในการแข่งขัน The Face เมื่อไม่กี่ปีก่อน) สิ่งเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็น ‘พริวิเลจ’ ก็ได้เหมือนกัน เพราะในสังคมทั่วไป คนย่อมสนใจคนที่มีชื่อเสียงมากกว่า ร่ำรวยกว่า มีอำนาจมากกว่า (ซึ่งไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องที่ควรเป็นหรือไม่ควรเป็นอย่างนั้น) หลายคนจึงอาจรำคาญใจว่าทำไม ‘แสง’ ถึงส่องคนพวกนั้นอยู่ได้ ไม่หันมาส่องฉันบ้าง (วะ) แต่ก็ต้องย้อนกลับไปดูด้วยว่า ที่แสงส่องคนเหล่านั้นมากกว่า เป็นเพราะพวกเขามี earned หรือ unearned assets อยู่ในตัว

กับบางสถานะ แค่เกิดมาแสงก็ส่องไปหาจนไม่รู้จะสว่างอย่างไรแล้ว บางสถานะแสงมาพร้อมกับการตรวจสอบ แต่ก็มีอีกบางสถานะที่สว่างได้โดยไม่มีใครกล้าไปตรวจสอบ แบบนั้นคือ unearned assets ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ในสังคมปัจจุบันว่าเป็นปัญหาอย่างไรบ้าง

แต่การ ‘น้อยเนื้อต่ำใจ’ (อาจเรียกได้ว่าเป็นอาการ ‘น้อยเนื้อต่ำใจทางการเมือง’) จนพานเหวี่ยงทุก assets ว่าเป็นพริวิเลจ โดยเฉพาะเหวี่ยงใส่ earned assets ที่หลายคนก็ต้องทำงานยาวนานเพื่อให้ได้มา ซึ่งก็แปลว่าคนเหล่านี้อาจจะแก่กว่า หรือมีชื่อเสียงมากกว่า และดังนั้นจึง ‘น่าหมั่นไส้’ มากกว่า และโดยเฉพาะเมื่อเป็นพริวิเลจที่ไร้นิยามชัดเจน และตีขลุมไปว่าทุกพริวิเลจคือเรื่องแง่ลบไปทั้งหมด จึงอาจเป็นวิธีคิดหรือวิธีรู้สึกรู้สาที่ต้องหันมาสำรวจตัวเองและสำรวจประวัติศาสตร์ทางความคิดในพื้นที่ที่ตัวเองเกี่ยวข้องอยู่ให้มากขึ้นก็ได้

การถูกกดทับเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การกดทับตัวเองด้วยอวิชชา (ignorance) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บางทีถ้าตั้งหลักไม่ดี เราก็แยกสองเรื่องนี้ออกจากกันได้ยาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save