fbpx
เช็กเสียงประชาธิปไตยของคนใต้ ในสายตา ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

เช็กเสียงประชาธิปไตยของคนใต้ ในสายตา ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่องและภาพ

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล คือนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวพัทลุง ที่คนใต้มากมายรักและนับถือ ผลงานการ ‘สู้ตาย’ อดอาหารคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่กว่าครึ่งเดือนของเขาเมื่อปี 2558 จนรัฐบาลทหารชะลอโครงการ ย่อมซื้อใจคนจริงอย่างชาวใต้ได้ไม่ยาก

ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร เช่นเดียวกับคนใต้จำนวนมาก ในคูหาเลือกตั้ง ประสิทธิ์ชัยกากบาทเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และเขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือ กปปส.

บนเวทีชัตดาวน์กรุงเทพ ประสิทธิ์ชัยขึ้นไฮด์ปาร์กเจาะลึกเรื่องการผูกขาดพลังงานในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อย่างคนเตรียมข้อมูลพรักพร้อม งานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเขามีคุณค่า แต่ทันทีที่เขาเข้าร่วมการ ‘ชัตดาวน์’ แน่นอนว่าย่อมหลบข้อหาการร่วมเบิกทางให้รัฐประหารไม่พ้น

หลังประเทศชัตดาวน์ ประสิทธิ์ชัยยังคงต่อต้านการผูกขาดพลังงานดังเดิม เพิ่มเติมคือหลายโครงการที่ภาคประชาชนเคยค้ำยันไว้ ถูกรุกคืบรวดเร็วขึ้น ประสิทธิ์ชัยได้รับเชิญไปค่ายทหารสองครั้ง มีทหารติดตามสมาชิกในครอบครัว และถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ เมื่อเขาโพสต์วิจารณ์การสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

4 ปีผ่านไป ประสิทธิ์ชัยกล่าวว่าทัศนะทางการเมืองของเขาเปลี่ยนไปแล้ว เช่นเดียวกับคนใต้ ผู้คนในภูมิภาคที่ได้ชื่อว่าเป็นความมั่นคงทางคะแนนเสียงของผู้ยึดกุมอำนาจบ้านเมืองอยู่ขณะนี้

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวพัทลุง คนใต้

ก่อนเป็นนักเคลื่อนไหวคุณทำอะไรมาก่อน

ผมเป็นคนเรียบร้อย ตอนเรียนมัธยมเพื่อนเรียกผมว่า ‘มหา’ ผมจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ปี 2544 แล้วไปทำงานบริษัทก่อน แต่ผมตั้งคำถามกับเศรษฐศาสตร์ตลอดเวลา ว่าทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนคนส่วนใหญ่จริงหรือ

จากนั้นผมมาทำงานเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับชาวประมงพื้นบ้าน เช่น ทำที่หลบภัยให้ปลา ฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นงานเย็น ไม่ได้เป็นคนที่จะมาประท้วงอะไรใครเลยครับ กลัวม็อบด้วย แต่พอทำสักพัก งานเย็นๆ ที่ทำมา จะเจ๊งหมด ที่นครศรีธรรมราช การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวประมงพื้นบ้านพยายามทำมา 10-20 ปี ล่มสลายเพราะมีนิคมอุตสาหกรรมมาลงชายฝั่งทะเล หรือที่พัทลุง ประชาชนมีวิสัยทัศน์ว่าอยากทำให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ แต่พอเริ่มลงมือปฏิบัติการกลับพบการใช้สารเคมีเต็มไปหมด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

จนช่วง 5 ปีให้หลัง ผมรู้สึกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ไหวแล้วนะ เราต้องกำหนดอนาคตการพัฒนา ไม่ใช่ค้านโครงการนี้เสร็จ โครงการโน้นมา ตกลงชีวิตนี้ไม่ต้องทำอะไร ถ้าเรากำหนดอนาคตได้ก็คงดี

ผู้คนมักเห็นคุณบนท้องถนนบ่อยๆ ทำไมคุณถึงใช้วิธีประท้วงเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ

ทุกครั้งที่ประท้วงก็กลัวเหมือนกันครับ แต่มีความจำเป็นต้องทำ ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำ การประท้วงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเห็นแก่ประโยชน์ประชาชน หรือทำให้รัฐรู้สึกว่าอาจเสียเสถียรภาพ คะแนนนิยมลดลง จึงต้องตัดสินใจบางอย่าง ถ้าเราเอางานวิชาการมากางบนโต๊ะ แล้วดูว่าของใครมีน้ำหนักกว่ากัน การประท้วงไม่จำเป็นต้องมี แต่ในรัฐที่ไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชน งานวิชาการไม่เคยเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของรัฐได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราประท้วง สื่อมวลชนจับตา เมื่อนั้นงานวิจัยทั้งหลายที่นักวิชาการทำมา จึงจะมีโอกาสถูกอ่าน

เพราะฉะนั้นเราจะเจอขบวนการประท้วงของประชาชนตลอดเวลา หลายอย่างที่ภาคประชาชนพูด มีงานวิชาการรองรับ เช่น เรื่องพาราควอต ผมคิดว่ารัฐบาลมีความรู้มากพอ รัฐบาลมีงานวิจัยสนับสนุนให้แบน มีมติ 6 กระทรวงออกมาว่าแบน แต่กรรมการวัตถุอันตรายกลับตัดสินใจไม่แบนและให้ต่ออายุ

ช่วงไหนที่คุณรู้สึกว่าเป็นเวลาที่ยากลำบากที่สุดในการต่อสู้

น่าจะเป็นช่วงต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพราะยาวถึง 2-3 ปี ช่วงอดข้าวน่าจะทรมานและยากที่สุด เพราะจัดขบวนแบบอื่นไม่ได้ ฝ่ายความมั่นคงก็กดมา ฉะนั้นผมคิดว่าก็เอาชีวิตมาแลกกันเลย ตอนนั้นคุยกับเพื่อนสองคนว่ายอมแลกมั้ย เราเข้าใจว่าอดข้าวมันน่าจะตาย ไม่มีความรู้อะไรมาก่อน แล้วคนก็ชอบถามว่าเตรียมตัวยังไง จริงๆ คือไม่เคยเตรียมเลย คิด 3 วัน ทำเลย มีคนอวยพรเยอะ คนด่าก็เยอะ พรรคพวกกันเองนี่ล่ะ ด่าว่าทำอะไรทำไมไม่ปรึกษา ซึ่งผมคิดว่าถ้าปรึกษา ไม่มีใครให้ทำแน่นอน ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าไม่มีทางอื่น เมื่อเทียบกับสิ่งที่คนอันดามันต้องเจอในอนาคต ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกสร้าง

ถ้าไม่ใช้ถ่านหินเราจะใช้พลังงานอะไร

กระบี่มีศักยภาพผลิตพลังงานหมุนเวียนได้วันละ 1,600 เม็กกะวัตต์ ซึ่งกระบี่เองใช้ 100 กว่าเม็กกะวัตต์เท่านั้น เรามีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ ลม และส่วนเกินจากภาคการเกษตร อย่างในกระบวนการผลิตของโรงงานปาล์ม 3-4 จังหวัดหลักๆ เช่น ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ จะมีน้ำเสียเยอะ ซึ่งผลิตไบโอแก็สได้ การผลิตไฟฟ้าทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมีของเหลือเป็นศูนย์ (Zero Waste) ได้ผลประโยชน์หลายทาง

เราพยายามออกแบบโมเดล ให้กระบี่พึ่งพาตัวเองเรื่องไฟฟ้าได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้จังหวัดอื่นๆ เห็นโมเดล ซึ่งผมเชื่อว่าทุกจังหวัดทำได้  ตอนนี้หลายครัวเรือนตัดสายไฟฟ้าทิ้งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วใช้โซลาร์เซลล์หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ในบ้านตัวเอง ส่วนเจ้าของธุรกิจเริ่มทำหลายรายแล้ว แม้ว่ายังพึ่งพาและเชื่อมกับสายไฟฟ้าร่วมด้วยอยู่บ้าง เพราะเขาต้องใช้เยอะ

เดิมเรามีปัญหาเรื่องสายส่ง เนื่องจากรัฐคุมสายส่งเอาไว้ เรามีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้เยอะ แต่รัฐบาลไม่ซื้อ ทำให้จากที่ผลิตได้ 1,600 เมกกะวัตต์ ผู้ประกอบการขายได้แค่ 30-40 เมกกะวัตต์ ผู้ประกอบการหลายรายจึงขาดทุน ตอนนี้นักวิชาการพยายามออกแบบว่า ทำยังไงให้เกิดระบบสายส่งในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในกระบี่ที่เชื่อมต่อกัน หมายความว่าจะทำให้ประชาชนพึ่งตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และถ้ากระบี่ทำได้ จังหวัดอื่นในภาคใต้ก็ทำได้ แต่ประเด็นคือ เมื่อไหร่ที่ประชาชนพึ่งตัวเองเรื่องพลังงานได้ กลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบ

ข้อถกเถียงที่รัฐยกขึ้นมาคัดค้านไม่ให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองคืออะไร

ยังเป็นเหตุผลเดิมคือ  1) พลังงานหมุนเวียนไม่เสถียร  2) ไม่มากพอ  3) สายส่งมีปัญหา แต่ประเด็นคือคุณไม่เคยลองทำเลย ถ้าบอกว่าไม่ได้คุณต้องลองทำก่อนแล้วบอกว่าไม่ได้ แต่ถ้าพูดออกมาอย่างนี้คือไสยศาสตร์ คุณคิดไปแล้วโดยที่คุณยังไม่เคยลงมือทำ ไสยศาสตร์แบบนี้มีนัยยะว่าคุณไม่อยากให้เกิด เพราะถ้าเกิดจะกระทบมหาศาล รัฐพยายามอ้างสามข้อนี้มาตลอด แต่คุณลองปล่อยให้กระบี่ผลิตไฟฟ้าจากพื้นที่ดูสิ จากชาวบ้านและเอกชน ผู้ผลิตรายเล็กที่เขาผลิตอยู่ ถ้าปล่อยแล้วผลิตไม่ได้ ร้อยเมกกะวัตต์ก็ผลิตไม่ได้ ไม่เสถียร ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถึงเวลานั้นค่อยออกมาพูดว่าทำไม่ได้

รัฐไม่ยอมให้ประชาชนผลิต ส่วนประชาชนที่ผลิตแล้ว ลงทุนไปแล้ว รัฐก็ไม่รับซื้อ ซึ่งเราพบว่าเป็นเหตุผลที่แฝงด้วยการกีดกัน ไม่ใช่เหตุผลเชิงเทคนิคหรือเทคโนโลยีที่เป็นไปไม่ได้

พอเจอภาวะแบบนี้ เราจึงคิดว่าต้องทำงานศึกษาเพิ่มขึ้น ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นไปได้ที่จะให้กระบี่เป็นศูนย์กลาง เราพยายามสื่อสาร ทำงานวิชาการ สร้างรูปธรรมขึ้นมาให้เยอะที่สุด เพื่อจะไปเปลี่ยนนโยบาย เรามีการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องสายส่ง นักวิชาการด้านพลังงาน เจ้าของธุรกิจ เช่น โรงงานปาล์ม มาร่วมทำโมเดลกัน

ผมคิดว่าเป็นมิติสำคัญที่ทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้วประชาชนสามารถมีประชาธิปไตยเรื่องพลังงานได้ หรือจะกระจายผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งหมายถึงการกระจายความเสี่ยง กระจายรายได้ กระจายอำนาจ ที่ถูกยึดกุมโดยรัฐและกลุ่มทุนเพียงไม่กี่ตระกูลมาไม่รู้กี่ปีแล้ว พวกเราจะพยายามต่อไปจนกว่าจะสำเร็จในเชิงรูปธรรม

ที่ผ่านมาประเทศเรายังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถ้าเราไปดูอายุรัฐบาล ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ส่วนใหญ่ปกครองโดยทหาร เพราะฉะนั้น อะไรที่เป็นผลประโยชน์มหาศาล เช่น เรื่องพลังงาน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะถูกกุมไว้โดยกลุ่มคนที่มีอำนาจที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วถ้ารัฐบาลไม่ทำเรื่องนี้ เอกชนและประชาชนต้องทำกันเอง อะไรที่เป็นสิ่งดีสำหรับประเทศนี้ ประชาชนต้องลุกขึ้นมาประท้วงเสมอ จึงจะได้มา ผมเห็นนโยบายในต่างประเทศที่เขาให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านตัวเอง แล้วเชื่อมกับสายส่ง ทำให้ทุกบ้านกลายเป็นแหล่งผลิตและใช้ไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน นี่คือประชาธิปไตย

หนึ่งในเหตุผลที่รัฐบอกกับประชาชนทั่วไปให้ยอมรับพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน คือเหตุผลว่า ‘ถ่านหินสะอาด’ คุณต่อสู้กับคำคำนี้อย่างไร

ในทางการสื่อสาร ผมคิดว่าวาทกรรม ‘ถ่านหินสะอาด’ เริ่มพ่ายแพ้ เพราะความจริงคือความจริง หลังๆ เขาเลยต้องเปลี่ยนเป็น ‘เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด’ แทน พูดง่ายๆ ว่าสร้างวาทกรรมอื่นมาแทน มีคนบอกผมว่า กว่าจะได้คำว่า ‘ถ่านหินสะอาด’ เขาจ้างคนคิดเป็นร้อยล้าน รวมทั้งคำอธิบายและกระบวนการต่างๆ ที่จะใช้สื่อสารกับสังคมว่าหินสะอาดด้วย

มีปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าทำโดยรัฐบาล หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แต่ว่ามีเพจที่พยายามโจมตีเรา นำเสนอให้คนรู้สึกว่าข้อมูลของเราเป็นเท็จเยอะมาก ปีแรกๆ เราโดนเยอะ แต่หลังๆ มายิ่งถกเถียงเท่าไหร่ คนยิ่งเข้าใจมากขึ้น เพราะเวลาถกเถียงกัน ผมมีงานวิจัย งานศึกษา ที่บอกว่าถ่านหินสะอาด เอามาอ้างอิง เรามีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่าถ่านหินไม่สะอาด คุณจะเอาจากสถาบันไหนล่ะ ฮาร์เวิร์ด ชิคาโก องค์การสหประชาชาติ เยอรมนี มีหมด

ดังนั้นเมื่อเกิดการถกเถียงเหล่านี้ กลายเป็นเราได้ทำความเข้าใจกับคนในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหุตนี้ช่วงหลังเขาเลยไม่ถกเถียงเรื่องถ่านหินสะอาดแล้ว แต่หันมาโจมตีเรื่องส่วนตัวแทน

ข้อเสนอของคุณหรือขบวนการภาคประชาชนในภาคใต้ตอนนี้ มีอะไรบ้าง

งานที่ผมทำคือการกำหนดทิศทางของท้องถิ่น ในไทยคนท้องถิ่นไม่ค่อยลุกขึ้นมากำหนดทิศทางตัวเอง ทุกอย่างรับคำสั่งจากส่วนกลางหมด ตอนผมอยู่นครศรีธรรมราช ทำงานกับชาวประมง เราลุกขึ้นมาประกาศยุทธศาสตร์ของอำเภอท่าศาลา ว่าที่นี่เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ทำระบบข้อมูลออกมา ที่กระบี่คนกระบี่ลุกขึ้นมาทำปฏิญญา ‘Krabi Goes Green’ และตอนนี้กำลังขยายไปสู่ปฏิญญา ‘Andaman Goes Green’ ใน 6 จังหวัดอันดามัน เพื่อหาคำตอบว่าการพัฒนาอันดามันที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต้องทำอย่างไร การเกษตร การท่องเที่ยว ทะเล ทรัพยากร การท่องเที่ยวหลัก จะเอื้อการท่องเที่ยวชุมชนอย่างไร นี่คืออนาคตที่คนอันดามันควรได้รับ อะไรที่รัฐบาลบอกมาแล้วทำลายอนาคต ที่นี่ไม่เอา พัทลุงคือเมืองเกษตรธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของทุกคนทุกภาค แล้วสร้างความรู้ สร้างรูปธรรม เราต้องทำแบบนี้ ถึงจะทำให้เมืองมีทิศทาง และปลอดภัย เราหยุดภัยคุกคามอย่างเดียวไม่พอ เราต้องสร้างทางออกด้วย

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวพัทลุง คนใต้

ความเป็นอยู่ของคนใต้หลัง 4 ปีรัฐประหาร เป็นอย่างไรบ้าง

ระบบเศรษฐกิจโดยรวมเห็นชัดว่าทรุดลง เนื่องจากเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ผูกอิงอยู่กับพืชสองตัวหลัก  คือยางและปาล์ม ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยที่คนภาคใต้จะยึดอยู่กับพืชแค่สองตัวนี้ เพราะราคามันตกมานานแล้ว แต่ตอนนี้ฟุบเลยครับ

แม้กระทั่งที่พักเล็กๆ ก็ซบเซา ไม่มีคนมาพัก เศรษฐกิจถดถอยลงมาก แต่ในทางกลับกัน โปรเจกต์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติกลับถูกผลักดันไม่น้อยกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง และอาจมีสภาพรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ ด้วยอำนาจของฝ่ายความมั่นคง

ผมยังไม่เห็นว่ารัฐบาลทหารทำอะไรได้ดีเลย นอกจากเอารถตู้ไปรวมกันใน บขส. การจัดระเบียบรถตู้เป็นเรื่องเดียวที่อำนาจอันใหญ่โตของรัฐบาลนี้ทำได้ แต่กลับมีสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเศร้าเต็มไปหมด เช่นการผ่าน พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษออกมา ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติ เปิดช่องให้ต่างชาติมาประกาศอธิปไตยเหนือแผ่นดินไทย แล้วถ้าเราไปดูมาตรา 44 ส่วนใหญ่จะพบว่าใช้สำหรับการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนทั้งสิ้น นอกจากจัดระเบียบรถตู้ รัฐใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือประชาชนด้านไหนบ้าง?

ความแตกต่างของรัฐบาลทหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่คุณค้นพบคืออะไร

รัฐไทยถูกหนุนหลังด้วยกลุ่มทุนตลอดมา สิ่งใดก็ตามที่กลุ่มทุนเข้ามาเกี่ยวข้องได้ เรื่องนั้นจะเปลี่ยนแปลงยากเสมอ เช่น ยา สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ถ่านหิน มูลค่าไม่รู้กี่แสนล้าน แต่แม้ว่าในทุกรัฐบาลจะมีกลุ่มทุน แอบอิงผลประโยชน์เหมือนกัน แต่ในรัฐบาลทหารเลวร้ายกว่าตรงที่ว่ารัฐบาลทหารไม่ต้องแคร์ประชาชน ผมไล่ดูประวัติศาสตร์ด้านพลังงานในช่วงรัฐประหาร ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา กฎหมายสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรของประเทศ เกิดในยุคทหารเกือบทั้งหมด เช่นการสัมปทานปิโตรเลียมขนาดใหญ่หลายรอบ เกิดในยุคทหารทั้งสิ้น

แต่ในรัฐบาลเลือกตั้ง ผมสังเกตว่าเขาจะระวังในการจะทำเรื่องบางเรื่อง เช่น การยกเลิกกฎหมายผังเมือง EIA EHIA สิทธิชุมชน ไม่มีทางที่รัฐบาลเลือกตั้งจะกล้าทำได้เลย แต่รัฐบาลทหารทำ ผมยกตัวอย่างเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำได้ว่าตอนสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็มีแนวคิดว่าจะทำ แต่ทักษิณไม่กล้านะครับ เขาออกกติกาบางอย่าง แต่ไม่กล้าผลักดันกฎหมาย ช่วงนั้นมีคนออกมาโวยวายแค่ไม่กี่คน ซึ่งเสียงก็ไม่ได้ดังมาก แต่รัฐบาลก็ต้องระวัง เพราะประชาชนทักท้วงว่าจะมีการสูญเสียอำนาจอธิปไตยในทางกฎหมาย รัฐบาลทักษิณทำไม่ได้ แต่กลับมาสำเร็จในรัฐบาลประยุทธ์

รัฐบาลทหารไม่จำเป็นต้องฟังใคร โดยมีอำนาจฝ่ายความมั่นคงที่คอยกดไว้ ทำให้คนเกิดความกลัว นี่คือความแตกต่าง

การคุกคามที่คุณเจอในช่วงรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลทหาร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

จริงๆ ในรัฐบาลเลือกตั้ง ภาคใต้เกิดเม็กกะโปรเจกต์ที่จะทำลายธรรมชาติหลายโครงการเหมือนกัน แต่ในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งไม่มีใครต้องถูกจับ ตรงข้ามกับรัฐบาลทหารที่จับไว้ก่อน เทคนิคของการจับไว้ก่อนได้ผลหลายเรื่องนะครับ เป็นการยับยั้งไม่ให้ขบวนการชุมนุมขยายตัว ใครจะลุกขึ้นมาประท้วงอีกก็ต้องคิดเยอะ แต่พวกผมไม่กลัวอะไร เพราะเราคิดว่าถ้ารัฐบาลทหารทำโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ คนใต้ก็เจ๊งครับ ผมคิดว่าทหารรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เกิดมลพิษขึ้นจุดหนึ่ง โดยนิเวศทางทะเล ทั้งอันดามันจะได้รับผลกระทบถึงกันหมด แต่เขาแค่ทำไร้เดียงสา ทำเป็นไม่รู้

อันดามันทำเงิน 400,000 ล้าน จากการท่องเที่ยวเรื่องเดียว จ้างงานอยู่ 200,000-300,000 ตำแหน่ง ถ้าคุณสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน คุณทำลายหมดเลยนะ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน อันดามันเท่ากับเริ่มนับหนึ่งของหายนะ ฉะนั้นเราจึงยอมไม่ได้ ความกลัวต่างๆ ลืมไปหมด

ขณะนี้เสียงของคนใต้ต่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาสำหรับภาคใต้ พูดง่ายๆ ว่าใครลงพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ คุณไม่จำเป็นต้องมีประวัติทำความดีอะไรเลย ยังไงคุณก็ได้รับเลือก แต่มันจะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป สมัยหน้าผมคิดว่า ส.ส. ประชาธิปัตย์จำนวนมากจะยังครองเก้าอี้อยู่ แต่ผมเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะถูกสั่งสอนในบางจังหวัด อาจมีบางจังหวัดเกิดความเปลี่ยนแปลง คุณอย่าคิดว่าทุกคนจะเชื่อคุณ

คนใต้จะถูกกาหัวว่าเป็นผู้ที่เรียกร้องให้ทหารออกมา ผมก็โดนเหมือนกัน เดิมคนใต้เชียร์รัฐบาลทหาร แต่ตอนนี้ผมเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่เห็นซึ้งหมดแล้ว เพราะเขาเจอด้วยตัวเอง ขายของในตลาดสดไม่ได้ ราคายางตกต่ำ ร้านค้าหลายร้านปิด คนเห็นชัด คนชื่นชมอะไรในเชิงนามธรรมได้ไม่เท่าไหร่หรอกครับ เพราะรูปธรรมมันฟ้อง ผมคิดว่าโดยภาพรวมของภาคใต้เขาเห็นซึ้งว่ารัฐบาลทหารคืออะไร

คุณคิดว่า คสช. แคร์ความเป็นฐานเสียงของคนใต้ไหม

ผมว่าปากไม่แคร์แต่หวั่นลึกๆ อยู่แล้วครับ ต่อให้คุณมีอำนาจปืนแค่ไหน ปืนไม่เคยเปลี่ยนอะไรได้  มีคนยอมตายจากปืนของคุณเพื่อจะไม่เอาคุณ ไม่ใช่ว่ามีปืนแล้วคุณจะสะดวกทุกอย่าง ประวัติศาสตร์ทั้งโลกเป็นแบบนี้ และต่อให้คุณยิ่งใหญ่ ไม่แคร์เลือกตั้ง มีอำนาจ ปิดกั้นคนไทยได้ แต่ทั้งโลกจะปิดกั้นคุณ คุณก็อยู่ไม่ได้ ความเป็นรัฐบาลทหาร ยังไงก็มีทั้งโลกคอยจับจ้อง

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวพัทลุง คนใต้

หลังการเลือกตั้งคุณอยากเห็นพรรคการเมืองแบบไหน

รัฐไทยถูกกุมอำนาจในทางนโยบาย วิธีคิด แนวปฏิบัติจากกลุ่มทุน แต่ผมมีความหวังว่าการเลือกตั้งหลังจากนี้ จะมีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะกล้าฝ่าเรื่องเหล่านี้ออกมา

ผมคิดว่าสิ่งที่ถูกผูกขาดมาตลอด ถ้านับตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา คือพลังงาน บรรษัทน้ำมันข้ามชาติอยู่ในไทยมา 40 ปี ถ้าไม่มีน้ำมันและแก๊สเขาจะอยู่ได้อย่างไร มูลค่าเท่าไหร่ที่เราให้เขาไป แล้วเราก็ใช้น้ำมันแพงมาโดยตลอด เช่นเดียวกับไฟฟ้า คุณไม่ยอมปลดล็อกให้เกิดการผลิตพลังงานหมุนเวียนโดยประชาชน พลังงานเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนก็ไม่กล้าแตะ เพราะมีผลประโยชน์ข้ามชาติคุมอำนาจรัฐอยู่ แต่ถ้าพรรคการเมืองไหนกล้าเปลี่ยนแปลง ผมขอต้องยกนิ้วให้

อีกเรื่องคือเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูงสุดของคนทุกคน ในประเทศไทยเมล็ดพันธุ์อาหารที่เรากินเกือบทั้งหมด อยู่ในมือ 1-2 บริษัทเท่านั้น และบริษัทเหล่านี้ยังผนึกกำลังกัน เช่น เร็วๆ นี้จะมีกฎหมายจำกัดการเอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ ในทางกลไกตลาดทุกคนมีโอกาสเติบโต แต่ประเด็นสำคัญคือคนที่จะเป็นรัฐ คนที่จะเป็นนักการเมือง คุณต้องทำให้ศักยภาพการผลิตของประชาชนและบริษัทขนาดใหญ่เท่ากัน หรือต้องจำกัดบทบาทบางอย่างของบริษัทเหล่านี้ เพราะเขามีกำลังมากกว่าประชาชน

เรื่องที่สาม คือทะเล เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ผมใกล้ชิด และผมเห็นว่ามหัศจรรย์ เลี้ยงคนทั้งประเทศได้ เรามีทะเล เรามีข้าว ต่อให้โลกวิกฤตเราจะรอด เราจะเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ส่งออกอาหารได้ แต่ตอนนี้เราทำลายตัวเองตลอดเวลา

สามเรื่องนี้ใหญ่มาก ถ้าทำได้ประเทศจะเปลี่ยน ต่อให้เราเลือกตั้งกันทั่วประเทศ คนไปใช้สิทธิกัน แต่ยังมีการผูกขาดพลังงาน ผูกขาดอาหาร ก็ไม่มีทางเกิดประชาธิปไตย สำหรับผมหัวใจประชาธิปไตยอยู่ที่เสรีภาพในการออกแบบเศรษฐกิจของประชาชน ถ้าพรรคการเมืองไหนทำแบบนี้ ผมว่าจะมีคนเยอะเลยที่เทคะแนนให้

เคยคิดอยากทำพรรคเองบ้างไหม

ผมไม่เคยคิดทำพรรคการเมืองเลยครับ แต่ผมคิดว่างานที่ยากและท้าทายกว่าคือ ทำให้ประชาชนตื่นรู้และเป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการปฏิบัติ เมื่อไหร่ที่ประชาชนตื่นรู้ ต่อให้คนไม่ดีมาเป็นผู้ถืออำนาจ ประชาชนก็สามารถกำกับการใช้อำนาจรัฐได้

ผมอยากทำเรื่องการผลิตอาหารอินทรีย์ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เมล็ดพันธุ์พื้นเมืองจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมา และสร้างตลาดเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทย แค่ตลาดอันดามันก็มีโรงแรมนับพัน คนเชื่อมกันโดยระบบตลาด และระบบเศรษฐกิจ ระบบอาหารรวมถึงการท่องเที่ยวทั้งหมดจะเป็นกรีน แบบนี้แหละครับ คือประชาธิปไตยที่ผมอยากเห็น ผมรู้สึกนี่แหละคือพรรคการเมืองที่ใหญ่มาก ผมนิยามพรรคการเมืองแบบนี้ เป็นพรรคที่เราไม่เรียกว่าพรรค แต่เรียกว่าเป็นขบวนการทางด้านเศรษฐกิจ ผมอยากใช้เวลาของตัวเองทุ่มเทกับเรื่องนี้

ช่วงก่อนกับหลังรัฐประหาร ทัศนคติของคุณเปลี่ยนไปไหม

เปลี่ยนไปครับ ช่วงรัฐประหารผมคิดอะไรได้มากขึ้น รัฐบาลนักการเมืองกับรัฐบาลทหารมีจุดร่วมที่ผู้ถืออำนาจรัฐมีนิสัยเหมือนกัน ผู้กุมพลังงาน อาหาร ที่ดิน เป็นนายทุนคนเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องคิดฝ่าออกไป สิ่งที่ผมตกผลึกในช่วงสี่ปีคือ ประชาชนต้องก้าวไปสู่การกำหนดอนาคตตัวเอง ในประเทศไทยเราจะหวังพึ่งรัฐ หวังพึ่งฮีโร่คนดีอย่างเดียวไม่ได้ แม้บางประเทศจะเป็นไปได้

 

ถ้าชีวิตไม่ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องถ่านหิน เรื่องสิ่งแวดล้อม คุณอยากทำอะไร

ผมอยากสร้างระบบเศรษฐกิจเพื่อประชาชน เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิต ผมรู้สึกว่าวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา เป็นแนวคิดที่ดี แต่วิธีการไม่ถูก ผมอยากออกแบบระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกัน ระบบเศรษฐกิจนี้ไม่ปฏิเสธว่าใครจะรวย แต่ความรวยจะถูกคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  เพราะว่าจะไม่มีหน่วยผลิตขนาดใหญ่ ไม่มีใครที่ผูกขาด

ระบบเศรษฐกิจประชาชนจะไม่มีเบียร์สองยี่ห้อ แต่จะมีเบียร์เป็นร้อยยี่ห้อที่เกิดจากวัตถุดิบหลากหลาย จะไม่มีแค่ข้าวสารตราฉัตร แต่มีข้าวพื้นเมืองเป็นร้อยชนิดที่ท้องถิ่นนั้นมีอยู่ แล้วทุกคนจะได้กินข้าวนั้นหมด ผักพื้นบ้านจะได้รับการฟื้นฟู หน่วยธุรกิจที่อยู่ในภาคใต้จะดีลกับหน่วยธุรกิจในภาคใต้ด้วยกัน โลจิสติกส์จะใกล้ขึ้น ผู้บริโภคตรวจสอบแหล่งผลิตสินค้าได้

นี่คือเศรษฐกิจเพื่อประชนที่ผมฝัน แล้วทุกคนจะมีความสุข เมือไหร่ที่เราเชื่อมกันโดยระบบเศรษฐกิจ แนวคิดของการเกื้อกูลจะเกิดขึ้น คนจะทะเลาะกันน้อยลง เมื่อไหร่ที่เราเดินหน้าเรื่องเศรษฐนิเวศ (Eco-efficiency) จะมีคนรักสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเยอะ เพราะการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าของเขาต้องรักสิ่งแวดล้อม แต่เศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ ไม่ต้องคำนึงถึงนิเวศ ทำลายทรัพยากรไปเรื่อยๆ

ถ้าเมื่อไหร่ภาคใต้เติบโตด้วยระบบเศรษฐกิจนี้ เราจะทำลายกฎหมายว่าด้วยการผลิตเบียร์ การจัดการพันธุ์พืชพื้นเมือง การใช้ที่ดิน ผังเมืองรวมของทุกจังหวัดจะต้องถูกดีไซน์จากประชาชน เช่น ตรงนี้สำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลาง ตรงนี้สำหรับป่าชายเลน อนาคตเมืองและระบบเศรษฐกิจจะถูกดีไซน์โดยประชาชน แล้วเราจะได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ เพราะเมื่อไหร่ที่คนออกแบบระบบเศรษฐกิจของตัวเองได้ จะกำหนดอนาคตของตัวเองได้ และไม่เลือกคนรวยๆ มา เจ้าพ่อนักเลงทั้งหลายจะไม่ได้เป็น ส.ส.

ความฝันที่คุณเล่ามา เชื่อมโยงกับประชาธิปไตยมากแค่ไหน

สิ่งที่ผมฝันเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีประชาธิปไตย มันจะเกิดขึ้นได้และจะเกิดขึ้นได้ดี ต้องเกิดขึ้นในภาวะที่ไม่มีเงื่อนไขต่างๆ ทางความมั่นคงมากดไว้ ยังไงก็ต้องเป็นประชาธิปไตย

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวพัทลุง คนใต้ ประชาธิปไตย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save