fbpx
ฤดูร้อน : Portrait of a Lady on Fire

ฤดูร้อน : Portrait of a Lady on Fire

‘นรา’ เรื่อง

 

ฤดูร้อน : Portrait of a Lady on Fire

 

ผมไปดูหนังเรื่อง Portrait of a Lady on Fire ในสภาพเกือบจะใสซื่อบริสุทธิ์ ไม่รู้ข้อมูลใดๆ มาก่อนเลย ไม่รู้จักผู้กำกับ ทีมงานและนักแสดง รวมทั้งไม่เคยผ่านตาหนังตัวอย่าง

สิ่งปนเปื้อนเพียงหนึ่งเดียวที่ผมได้รับ คือ คำบอกเล่าจากเพื่อนหลายๆ คนที่ได้ดูแล้ว ต่างพากันป้อนข้อมูลกึ่งๆ สะกดจิตไว้ว่าเป็นหนังที่ดีมากๆ

เมื่อเริ่มดูไปได้แค่ไม่กี่นาที ผมก็พอจะจับเค้าและเดาทางจากคุณภาพของงานสร้าง ลีลาในการเล่า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าดำเนินไปสู่จุดหมายของหนังที่ ‘น่าจะดี’ รวมทั้งสามารถคาดคะเนได้ไม่ยาก ว่าเรื่องราวของหนังจะคลี่คลายลงเอยเช่นไร?

ตลอดช่วงเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ผมดูด้วยความรู้สึกสงบนิ่งเรียบเฉย ไม่มีอะไรกระทบใจมากเป็นพิเศษ จนผมเริ่มปลงไปล่วงหน้าว่า ชะรอยตัวหนังอาจไม่ตรงกับจริตและรสนิยมของผม

จนกระทั่งล่วงเข้าสู่ครึ่งชั่วโมงสุดท้าย ความรู้สึกและความเห็นล่วงหน้าแบบ ‘ตีตนไปก่อนไข้ ไม่สบายไปก่อนป่วย’ ของผมก็พังทลายลงโดยสิ้นเชิง หนังยังคงเล่าด้วยวิธีการเดิมๆ ไม่แปรเปลี่ยน เรื่องราวยังคงอยู่ในทิศทางที่เดาได้ดังเช่นที่เป็นมาตั้งแต่ต้น หากแต่ด้วยการแสดงรายละเอียดนิดๆ หน่อยๆ หลายอย่างในหนัง ที่ให้ความรู้สึกคล้ายๆ การเฉลยความลับ กลับทำให้ความรู้สึกนิ่งเฉยแปรเปลี่ยนเป็นสารพัดอารมณ์คุกรุ่น พลุ่งพล่าน ทั้งปิติสุข เจ็บปวดร้าวลึก และซาบซึ้งตรึงใจ

เมื่อดูจบแล้ว และย้อนกลับไปทบทวนตัวหนังทั้งเรื่องอีกครั้ง ผมก็พูดแบบเวอร์ๆ ได้ว่า หลงรักในความดีงามของหนังเรื่องนี้ทุกเสี้ยววินาที

ก่อนจะเล่าสู่กันฟังถึงตัวหนัง ขออนุญาตขัดจังหวะเล็กน้อยด้วยข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งผมมารู้ทีหลังเพราะอิทธิฤทธิ์ความประทับใจที่ได้รับหลังจากดูหนังจบลง

Portrait of a Lady on Fire เป็นผลงานกำกับและเขียนบทโดยเซลีน เซียมมา ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ และว่ากันว่าเป็นคู่แข่งรายสำคัญของหนังเรื่อง Parasite ในรางวัลปาล์มทองคำ ถัดจากนั้นก็ยังขับเคี่ยวกันในการประกวดอีกหลายเวที โดยมีหนังสเปนเรื่อง Pain and Glory ของเปโดร อัลโมโดวาร์เป็นอีกหนึ่งตัวเก็ง

ผมได้ดู Parasite, Pain and Glory และ Portrait of a Lady on Fire ครบถ้วน ชอบระดับชอบมากทั้ง 3 เรื่อง จะเลือกมอบรางวัลให้งานชิ้นใดเป็นผู้ชนะก็ล้วนเหมาะสม ไม่มีอะไรเป็นข้อกังขา

แต้มต่อเพียงหนึ่งเดียวที่ Parasite มีเหนือกว่าคือ ความบันเทิงรสจัดจ้าน เข้มข้นแบบเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในวงกว้าง ขณะที่ชั้นเชิงและความเยี่ยมยอดทางศิลปะของทั้ง 3 เรื่องนี้ต่างไปถึงสุดทางโดยเท่าเทียม ไม่มีใครเด่นด้อยเหลื่อมล้ำไปกว่ากัน

Portrait of a Lady on Fire เป็นหนังพีเรียดย้อนยุค เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หญิงสาวชื่อมาริยานน์ ผู้เป็นจิตรกร ได้รับว่าจ้างให้เดินทางไปที่เกาะแห่งหนึ่ง เพื่อวาดภาพเหมือนของหญิงสาวชื่อเอลูอิส

การวาดภาพนี้ มีจุดประสงค์นำไปใช้ในการดูตัวสำหรับการแต่งงานกับครอบครัวผู้ดีสูงศักดิ์ชาวเมืองมิลาน

แต่ภารกิจของมาริยานน์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ช่างเขียนคนก่อนหน้าเธอ (ซึ่งไม่ได้ปรากฎตัวในหนัง แต่ผู้ชมทราบจากคำบอกเล่าของตัวละครว่าเป็นผู้ชาย) พบกับความล้มเหลว เนื่องจากเอลูอิสไม่ยอมร่วมมือนั่งเป็นแบบให้วาดภาพ

เพราะเดิมทีคนที่ต้องแต่งงานแบบคลุมถุงชนไม่ใช่เอลูอิส แต่เป็นพี่สาวของเธอ ซึ่งตัดสินใจขัดขืนด้วยการฆ่าตัวตาย หญิงสาวจึงต้องรับช่วงสืบทอดหน้าที่ดังกล่าวด้วยความไม่ยินยอมพร้อมใจ และปราศจากอิสระในการเลือกเช่นเดียวกับพี่สาวผู้ล่วงลับ

ทางออกของเอลูอิสมีเพียงน้อยนิด นั่นคือ การดื้อดึงเพื่อถ่วงเวลาออกไปให้เนิ่นนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

เคานต์เตสผู้เป็นแม่ (ตรงนี้ผมสันนิษฐานว่า บทหนังน่าจะมีเจตนาไม่ระบุชื่อตัวละคร บอกให้ทราบแต่เพียงยศศักดิ์ฐานะ เพื่อสะท้อนถึงแง่มุมเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความมีตัวตน’) จึงวางแผนว่าจ้างมาริยานน์ โดยให้ทำทีแสร้งว่าทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ออกไปเดินเล่นด้วยกัน ทั้งที่ท่านเคาน์เตสและลูกสาวต่างรู้ๆ กันอยู่ว่า เพื่อคุมเข้มป้องกันมิให้เอลูอิสฆ่าตัวตาย

ระหว่างการออกไปเดินเล่นทุกๆ วัน มาริยานน์จะต้องคอยสังเกต จดจำใบหน้าของเอลูอิส แล้วทำงานวาดภาพของตนตามที่ได้รับมอบหมาย พร้อมๆ กับปกปิดไม่ให้ฝ่าย ‘นางแบบ’ ล่วงรู้ความจริง

 

ฤดูร้อน : Portrait of a Lady on Fire

 

เหตุการณ์ที่เหลือถัดจากนั้นไปจนจบ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ คืบเคลื่อนพัฒนาตามลำดับระหว่างมาริยานน์กับเอลูอิส จากการเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน มาเป็นความสนิทสนมใกล้ชิด จากการเป็นจิตรกรกับนางแบบ กลายมาเป็นคู่รัก และในบั้นปลายท้ายสุด ความรักระหว่างเพศเดียวกัน ท่ามกลางยุคสมัยที่การยอมรับของสังคมยังไม่เปิดกว้าง และดำรงอยู่ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ก็กลายเป็นอุปสรรคหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่ตัวเอกทั้งสองจะข้ามพ้นไปได้

คงเคยได้ยินคำกล่าวจำพวกที่ว่า ‘พล็อตและเนื้อเรื่องไม่สำคัญเท่าวิธีการบอกเล่า’ หรือ ‘พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด’ กันมาบ้างนะครับ คำกล่าวหรือโวหารเหล่านี้ จะจริงหรือเท็จผมเองก็ไม่ทราบ แต่เมื่อนำมาใช้อธิบายหนังเรื่อง Portrait of a Lady on Fire ผมคิดว่ามันตรงและเหมาะเจาะเหลือเกิน

เนื้อเรื่องของ Portrait of a Lady on Fire นั้น เมื่อติดตามดูไปได้ไม่นานนัก ผู้ชมก็ทราบทะลุปรุโปร่งโดยตลอดได้ทันที เป็นพล็อตที่ผูกวางเอาไว้หลวมๆ และเบาบาง แต่ในขณะเดียวกัน บทหนังและวิธีการเล่า กลับทำให้เค้าโครงเรื่องที่ปราศจากการซ่อนเงื่อนแฝงปมเพื่อสร้างความประหลาดใจใดๆ ไม่ดำเนินไปตามขนบอันคุ้นเคย จนกลายเป็นการติดตามดูแบบ ‘ล่วงรู้เหตุการณ์ แต่ไม่อาจคาดเดา’ ว่าแต่ละฉากแต่ละตอน จะนำพาคนดูไปพบเจออะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของฝีมือการสร้างรายละเอียดอันยอดเยี่ยมโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศและฉากแวดล้อม  การถ่ายภาพที่เน้นแสงเงาและการจัดองค์ประกอบภาพที่สวยแปลกตา ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูภาพเขียน การแสดงที่สามารถสะกดตรึงดึงดูดความสนใจของผู้ชมไว้ได้ตลอดเวลา บทสนทนาที่คมคายเต็มไปด้วยชั้นเชิง (โดยเฉพาะการพูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ซ่อนความนัยหลายชั้นหลายแง่มุม) การนำเสนอแบบมุ่งแสดงออกแต่น้อย (เป็นงานสไตล์ minimalism เต็มๆ เลยครับ) ความจงใจไม่ใช้ดนตรีประกอบเกือบตลอดทั้งเรื่อง (ยกเว้น ฉากผู้หญิงในหมู่บ้านรอบกองไฟ และฉากตัวละครเข้าไปดูการแสดงดนตรีในตอนจบ) และที่สำคัญคือ จังหวะในการเล่าเรื่องอย่างช้าๆ เยือกเย็น แต่ถี่ถ้วนรัดกุม

พูดง่ายๆ นี่เป็นหนังที่ใจเย็นมาก ค่อยๆ บอกเล่าทีละน้อย ท่วงทีลีลาค่อนข้างนิ่ง ไร้ความโลดโผนหวือหวา มีการเร้าอารมณ์แต่เพียงน้อยนิดเฉพาะเท่าที่จำเป็น รวมความแล้ว มีคุณสมบัติเป็นยานอนหลับชั้นดีอยู่ครบถ้วน แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ เมื่อมันประกอบรวมเป็นหนังเรื่อง Portrait of a Lady on Fire สรรพคุณต่างๆ ในทางลบเหล่านี้ กลับส่งผลตรงกันข้าม กลายเป็นหนังที่มีเสน่ห์ชวนติดตาม ความช้าความนิ่งทำให้ผู้ชมเข้าใกล้อารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกในใจที่ซ่อนงำไว้ของตัวละคร จนกระทั่ง ‘เข้าใจตรงกัน’

เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความใจเย็นในการเล่าเรื่องนี้ นำไปสู่การร้อยลำดับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ออกมาได้อย่างหนักแน่นสมจริงน่าเชื่อถือมากๆ รวมทั้งทำให้ผู้ชมเกิดการสั่งสมความผูกพันต่อตัวละครทีละนิดจนแน่นหนา ซึ่งมีผลมหาศาลต่ออารมณ์สะเทือนใจช่วงท้ายๆ เรื่อง

 

ฤดูร้อน : Portrait of a Lady on Fire

 

กล่าวโดยรวบรัดตัดความ มันเป็นหนัง ‘รักต้องห้าม’ ที่โรแมนติก ตรึงใจ ร้าวราน และงามวิจิตรเป็นที่สุด ตอนที่ผมดูซ้ำรอบสอง ในฉากสำคัญช่วงท้ายใกล้จบ (ซึ่งมีหลายดาบหลายระลอก) ผู้ชมท่านหนึ่งที่นั่งถัดไปไม่ไกล ถึงกับเผลอครางถอนใจออกมาดังๆ ไม่เป็นภาษา ผมเดาไม่ออกหรอกนะครับว่าแท้จริงแล้วเป็นความรู้สึกเช่นไร? แต่อารมณ์ของผมเมื่อดูฉากดังกล่าว แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์จริง แต่ผมคิดว่า ถ้าผมโดนเฉือนหัวใจ ก็น่าจะใกล้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเอามากๆ

ความเหนือชั้นยิ่งไปกว่านั้นของ Portrait of a Lady on Fire ก็คือ นอกเหนือจากความเป็นหนังรักที่ ‘โดนใจ’ ผู้ชมโดยทั่วถึงด้วยวิธีการเฉพาะตัว ซึ่งห่างไกลจากความเป็นหนังเอาใจตลาดแล้ว มันยังเป็นหนังที่แข็งแรง เพียบพร้อมไปด้วยองค์ประกอบทางศิลปะ ให้ความรู้สึกประดุจได้อ่านงานวรรณกรรมชั้นดี และใช้พล็อตเรื่องรักแบบที่เราท่านคุ้นเคย เพื่อนำไปสู่การสะท้อนประเด็นทางเนื้อหา (ซึ่งเราท่านก็คุ้นเคยอีกเช่นกัน) ได้อย่างเฉียบแหลมคมคาย

ที่ผมชอบมากคือ เนื้อหาสาระของหนัง ซึ่งสะท้อนประเด็นว่าด้วยความไม่เท่าเทียมทางเพศ โลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีสิทธิโอกาสเหนือกว่าในทุกๆ ด้าน ได้รับการบอกเล่าในหนัง ทั้งวิธีที่ตรงไปตรงมา ผ่านบทพูดและสถานการณ์เนื้อเรื่อง เช่น ความยากลำบากของมาริยานน์ในการเป็นจิตรกร เพียงเพราะว่าเธอเป็นผู้หญิง หรือชีวิตที่ถูกกำหนดเส้นทางเอาไว้เบ็ดเสร็จตายตัวของเอลูอิส เติบโตและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนคอนแวนต์ จากนั้นโดนจับคู่แต่งงานโดยไม่มีสิทธิ์เลือก และสามารถคาดเดาต่อไปได้อีกว่า เมื่อแต่งงานแล้ว เธอจะต้องสวมบทบาทเป็นภรรยา เป็นแม่ ฯลฯ

การมีชีวิตในรูปแบบที่ไม่มีโอกาสทำตามใจปรารถนาของตนเอง เป็นใจความสำคัญของหนัง ซึ่งนอกจากจะสื่อสารกับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมาแล้ว หนังยังสะท้อนผ่านวิธีทางอ้อม ทั้งการเล่าแบบให้ผู้ชมได้เห็นและไม่ได้เห็น ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือ เกือบตลอดทั้งเรื่อง แทบไม่มีตัวละครเพศชายให้เห็นเลย และคนที่ปรากฎตัวก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อเรื่อง แต่ในทางตรงข้าม ผู้ชายที่ไม่ได้ปรากฎให้เห็น และถูกเอ่ยถึงเฉพาะในบทสนทนา กลับมีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อชีวิตของบรรดาสาวๆ อย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นคู่หมั้นหมายชาวเมืองมิลาน พ่อผู้ล่วงลับของมาริยานน์ (ซึ่งเป็นจิตรกรเหมือนกัน) หรือผู้ชายที่สาวใช้ชื่อโซฟีมีความสัมพันธ์ด้วยจนตั้งครรภ์

พูดอีกแบบนะครับ การสะท้อนประเด็นแง่คิดของหนัง มีทั้งวิธีการที่เล่าชัดจนผู้ชมสามารถจับต้องได้และเข้าใจง่าย รวมถึงวิธีเล่าผ่านรายละเอียดสารพัดสารพัน ซึ่งผู้ชมสามารถนำไปตีความครุ่นคิดต่อได้โดยอิสระ

ตรงนี้เชื่อมโยงกับที่ผมกล่าวไว้เกี่ยวกับชั้นเชิงทางศิลปะของหนัง ซึ่งมีอยู่มากมายเกินกว่าจะจดจำได้ครบถ้วน เท่าที่พอนึกออกคือ การแสดงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มีหลายความหมาย เช่น ชื่อเรื่อง Portrait of a Lady on Fire มีตั้งแต่นัยยะตรงไปตรงมา คือ เป็นชื่อของภาพวาดของมาริยานน์ที่เห็นในตอนต้นเรื่อง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเอลูอิส เมื่อกระโปรงที่เธอสวมโดนสะเก็ดจากกองไฟจนลุกไหม้ รวมไปถึงภาพ Lady on Fire แบบเนียนๆ อีกหลายครั้ง เช่น มาริยานน์นั่งเปลือยหน้าเตาผิง ภาพวาดที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ของจิตรกรคนก่อนหน้าถูกเผาทิ้ง

ประการต่อมาคือ ความหมายของถ้อยคำ Portrait of a Lady on Fire ซึ่งเป็นตั้งแต่ชื่อหนัง ชื่อภาพวาด เป็นการระบุเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวละคร และการนิยามตีความของผู้ชม ในแง่นี้ ผมเข้าใจว่า มันเป็นได้ทั้งการเทียบเคียงถึงไฟปรารถนาและความต้องการของตัวละคร การตระหนักรู้ถึงชีวิตที่มีอิสระ กระทั่งว่า อาจเป็นสถานะทางสังคมด้อยกว่าของผู้หญิงที่ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ ฯลฯ

ข้างต้นนั้นผมยังคิดได้ไม่กระจ่างชัดเท่าไรนัก จึงพูดแบบเหวี่ยงแหกว้างๆ ไว้ก่อน ตัวหนังยังมีรายละเอียดทำนองนี้อีกเยอะ เช่น คำพูดของมาริยานน์เกี่ยวกับการวาดรูปว่า มันมีกรอบ ขนบ กฎเกณฑ์ที่ต้องยึดถือทำตาม (ซึ่งอาจหมายถึงการใช้ชีวิตแบบโดนตีกรอบไร้อิสระได้ด้วย)

คำพูดของเอลูอิสเมื่อวิ่งออกจากบ้านมุ่งตรงไปหยุดที่หน้าผา แล้วบอกว่า “ฉันอยากทำอย่างนี้มานานแล้ว” เมื่อมาริยานน์ถามว่า “ได้ตาย?” คำตอบจากอีกฝ่ายคือ “ได้วิ่ง” (ซึ่งเป็นได้ทั้งการวิ่งไปยังหน้าผา หรือมีอิสระในการใช้ชีวิต)

เมื่อเอลูอิสถามมาริยานน์ว่า จะรู้ได้ยังไงว่าภาพนั้นวาดเสร็จแล้ว? คำตอบคือ พอถึงจุดหนึ่ง เราก็หยุด ซึ่งนอกจากจะเป็นการพูดถึงเรื่องการวาดรูป บทสนทนานี้ยังชวนให้นึกไปถึงความรักความสัมพันธ์ของทั้งสอง

 

ฤดูร้อน : Portrait of a Lady on Fire

 

พ้นจากรายละเอียดแบบหลายความนัยแล้ว หนังยังมีลีลาทางศิลปะแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพที่เน้นเรื่องการมอง-การถูกมอง, การเทียบเคียงความเหมือนและความต่างระหว่างมาริยานน์กับเอลูอิส (ตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีความหมายสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังเข้าใจไม่กระจ่าง คือ ฉากที่เอลูอิสวิ่งลงทะเลท่ามกลางอากาศหนาวเย็น และไม่รู้ว่าตนเองว่ายน้ำเป็นหรือเปล่า? ตรงนี้เทียบเคียงได้กับฉากที่เฟรมผ้าใบสำหรับวาดรูปตกน้ำ มาริยานน์ต้องโดดลงไปตามเก็บขึ้นมา) รวมถึง ‘การตีความ’ ของบรรดาสาวๆ ที่มีต่อตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับออฟิอุสและยูไรดิซ

พูดอีกนัยหนึ่ง ตลอดเส้นทางในเรื่อง ทั้งมาริยานน์และเอลูอิส ได้พูดคุยตีความอะไรต่อมิอะไรอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่การตีความอ่านท่าทีหยั่งเชิงซึ่งกันและกัน ตีความเรื่องเล่าในหนังสือ ตีความอารมณ์ความรู้สึกต่อชะตากรรมที่กำลังใกล้จะเกิดขึ้น (ตรงนี้หนังเล่นโต้ตอบรับส่ง ระหว่างคำว่า regret และ remember ได้สวยงามน่าประทับใจมาก)

จะกล่าวว่า ตลอดทั้งเรื่อง มันเป็นการ ‘ตีความ’ ชีวิตร่วมกันของมาริยานน์และเอลูอิส ก็ไม่ผิดจากความจริงมากนัก

หนึ่งในการตีความที่สำคัญ คือ การพูดคุยถึงบทเพลงท่อน summer จากไวโอลิน คอนแชร์โต The Four Seasons ของวิวาลดี

การพูดคุยนี้ บอกเล่าหลายแง่มุม เบื้องต้นมันสะท้อนถึงชีวิตแบบ ‘นกน้อยในกรงทอง’ ของเอลูอิส ผู้เติบโตมาโดยไม่เคยรู้จักดนตรีออร์เคสตรา ถัดมา มัน (อาจจะ) เป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้งสองสนใจในกันและกัน จากนั้นคำพรรณนาถึงงานดนตรีชิ้นนี้ของมาริยานน์ ผ่านการบรรเลงฮาร์ปซิคอร์ด ว่าบทเพลงนี้แสดงถึงเหตุการณ์ที่พายุกำลังใกล้จะมาถึง เป็นดนตรีที่ไม่ได้รื่นเริง แต่มีชีวิตชีวา

ผมเข้าใจเอาเองนะครับว่า ในคำบอกเล่าตอนต้นเรื่อง เพลงนี้เสมือนคำทำนายล่วงหน้าถึงอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวเอกทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นพายุที่หมายถึงความรักหรือแรงปรารถนาที่มีต่อกัน หรือพายุในแง่ร้ายว่าเป็นอุปสรรคกีดขวาง

แต่ความหมายที่แน่ชัดยิ่งกว่า คือ เมื่อเพลงเดียวกันนี้บรรเลงในตอนจบ มันเชื่อมโยงถึงความทรงจำในอดีต เป็นความทรงจำเคล้าระคนปนกัน ระหว่างความทุกข์ตรมหม่นเศร้า และความสุขหวานล้ำในช่วงเวลาสั้นๆ

ที่แน่ชัดยิ่งกว่านั้นคือ ทั้ง 2 ครั้งที่ผู้ชมได้ยินบทเพลงนี้ในหนัง ตัวละครต่างมีชีวิตชีวา และมีโอกาสได้ ‘ใช้ชีวิต’ และรำลึกถึง ‘การใช้ชีวิต’ ที่ฝังประทับในความทรงจำไม่รู้ลืม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save