fbpx
“สิทธิมนุษยชนเป็นงานที่ไม่มีวันหยุด” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

“สิทธิมนุษยชนเป็นงานที่ไม่มีวันหยุด” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

“เสื้อในสวยนะ”

คือประโยคที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ยินผ่านทางโทรศัพท์จากเบอร์แปลกหน้า หลังออกมาจากห้องพิจารณาคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อหลายปีก่อน

ชีวิตที่วนเวียนอยู่กับการติดตามคดีด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่หลังเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ปะทุใหม่ๆ ประโยคดังกล่าวไม่น่าจะแปลไปในทางชื่นชมจากห้วงอารมณ์ของคนรัก

เธอคิดว่าเป็นการคุกคามชีวิตที่หนักที่สุดตั้งแต่เคยเจอมา และคาดเดาได้ว่าเสียงนิรนามนั้นมาจากเจ้าหน้าที่รัฐที่แอบติดตามการทำงานของเธอ ซึ่งไม่มีคำใดจะเปรียบเปรยได้นอกจาก “เถื่อน”

ชื่อพรเพ็ญมักปรากฏในหน้าสื่อบ่อยครั้งเมื่อมีเหตุการณ์หรือคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชนทั่วไป การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีผลหรือเกี่ยวข้องกับการทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เธอกลายเป็นเป้าของความหงุดหงิดรำคาญใจสำหรับฝ่ายความมั่นคง

การเปิดเผยรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ช่วงปี 2557-2558 ทำให้เธอถูก กอ.รมน. ฟ้องหมิ่นประมาท ร่วมกับสมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนด้วยกัน แต่ปลายปี 2560 อัยการก็ได้ยุติการดำเนินคดีไป

ถามว่าความอ่อนไหวดังกล่าวจะทำให้เธอจะหยุดทำงานไหม หรือสังคมไทยควรนิ่งเงียบไหม คำตอบคือไม่เลย เธอกลับยิ่งส่งเสียงต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ล่าสุดเมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา ฤดูกาลเกณฑ์ทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีการจับตรวจดีเอ็นเอกับผู้เข้ารับเกณฑ์ทหาร ฟังดูไม่มีอะไรน่าหวั่นวิตก ไม่มีใครเลือดตกยางออก แต่เธอไม่ยอม พร้อมทักท้วงว่า ไม่ใช่แค่ทหารเกณฑ์ แต่ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ก็ถูกบังคับให้ตรวจดีเอ็นเออยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคนมักไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธได้ แม้จะถูกอ้างว่าเป็นไป “เพื่อความมั่นคง”

“การตรวจดีเอ็นเอเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว สิ่งที่กระทบกับสิทธิส่วนบุคคลคือการกระทบกับสิทธิมนุษยชน”

ระหว่างที่สังคมไทยกำลังสงสัยหรืออาจเบื่อหน่ายกับการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มน้อย 101 คุยกับพรเพ็ญหลังจากที่เธอเพิ่งเปิดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนร่วมกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไปหมาดๆ มีคนหนุ่มสาวราวสองร้อยคนนั่งฟังและซักถาม

เธอหวังว่าถ้าสถาบันการศึกษาไทยสอนให้นักศึกษาได้รู้จักสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ในห้องเรียน บ้านเมืองเราอาจน่าอยู่ขึ้น แม้จะเป็นเรื่องเก่าก็ตามที

เพื่อทบทวนและมองไปข้างหน้าว่างานด้านสิทธิมนุษยชนในสายตาของเธอเป็นอย่างไร และยังจำเป็นในพ.ศ. นี้หรือไม่ ลองฟังคำอธิบายต่อจากนี้

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

ทำไมคุณถึงคัดค้านการตรวจดีเอ็นเอจากเจ้าหน้าที่รัฐ

หนึ่ง มันเป็นสิทธิในร่างกายเรา ใครจะมาจับเนื้อต้องตัวเราหรือจะเอาของเราออกไป มันต้องเกิดจากความยินยอม การที่เจ้าหน้าที่ทหารจะมาเอาเนื้อเยื่อในกระพุ้งแก้มออกไป มันกระทบสิทธิ จริงๆ มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย บุคคลผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา กฎหมายกำหนดไว้ว่า เขาจะต้องให้คำยินยอมในการอนุญาตให้ตรวจดีเอ็นเอได้โดยอำนาจของพนักงานสอบสวน กรณีที่เขาถูกแจ้งข้อหาความผิดทางอาญาแล้ว คนที่มีอำนาจต้องเป็นตำรวจพนักงานสอบสวน ไม่ใช่ใครก็ได้ และต้องให้เป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้ตรวจ

ฉะนั้นการจะตรวจได้ต้องอยู่ในองค์ประกอบที่ครบหลายอย่างมาก หนึ่ง เป็นผู้ต้องหา สอง เป็นบุคคลที่พนักงานสอบสวนเชื่อว่าการตรวจดีเอ็นเอนี้จะทำให้มีหลักฐานพิสูจน์ทราบทางคดีที่หนักแน่นขึ้น ไม่ใช่ถือเอาการตรวจดีเอ็นเอเป็นหลักฐานเดี่ยว ต้องมีหลักฐานอื่นประกอบอีกมากมาย

ประเด็นก็คือทั้งตอนนี้และที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตระเวนไปตรวจที่บ้านของประชาชน เด็กในโรงเรียนก็ถูกตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นญาติของผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในคดีอื่นๆ และอ้างกฎอัยการศึก พูดง่ายๆ ว่าถ้าอยากตรวจ อ้างกฎหมายพิเศษตรวจได้ทุกคน

มันเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ใช้กฎหมายผิดฝาผิดตัว กฎอัยการศึกเป็นกฎหมาย 100 ปีที่แล้ว ไม่ได้ระบุเรื่องการตรวจดีเอ็นเอไว้ จะต้องใช้กฎหมายปกติ ดังนั้นถ้าคุณถูกเชิญตัวตามกฎอัยการศึกหรือคนถูกจับไปตามกฎอัยการศึก คุณสามารถปฏิเสธได้ แม้จะเป็นผู้ต้องสงสัย มีหมายจับจากศาล แต่ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา คุณก็ปฏิเสธได้

 

ที่ผ่านมามีกรณีที่ชาวบ้านปฏิเสธการให้ตรวจไหม

มี แต่น้อย เพราะเขาจะถูกเก็บในขณะที่ถูกควบคุมตัวแล้ว ในพื้นที่ที่ทหารเดินกันพรึ่บ เราค่อนข้างเชื่อว่าเขาไม่เอาไปตรวจพิสูจน์ทั้งหมด แต่เก็บหว่านไปเพื่อที่จะทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่ผู้ที่อาจมีความประสงค์ไปร่วมก่อเหตุให้ระมัดระวังตัวขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ได้ดีเอ็นเอไปแล้ว เป็นทฤษฎีว่าถ้าทำแบบนี้ พวกหมากตัวละครต่างๆ ที่จะก่อเหตุมันจะน้อยลง แต่ประเด็นคือมันไม่ชอบธรรมทางกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมาบางครั้งคำยินยอมในการให้ตรวจของชาวบ้านเกิดขึ้นจากการถูกบังคับ จำยอม ถูกอ้างเรื่องความมั่นคง และส่วนใหญ่ไม่มีคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าเอาดีเอ็นเอไปเพื่ออะไร ความเข้าใจของคนทั่วไปแค่ถูกบอกว่าจะเอาไปเปรียบเทียบกับหลักฐานที่เก็บได้จากการกระทำความผิด

การเอาดีเอ็นเอของเราไปเทียบกับหลักฐานที่เก็บได้จากสถานที่เกิดเหตุ มันขัดกับหลักการที่ว่าเราเป็นผู้บริสุทธิ์ เหมือนเราถูกสันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้กระทำความผิด และต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตรวจแล้วถ้าไม่ใช่คุณก็เป็นผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ออกหมายจับ แต่ถ้าใช่ก็โดน ซึ่งผิดหลักการ

อีกประเด็นคือการหว่านเก็บดีเอ็นเอ และเก็บไปหลายครั้ง จะแน่ใจได้อย่างไรว่าดีเอ็นเอของเราจะไม่ไปอยู่ในสิ่งของที่คุณอ้างว่าพบในที่เกิดเหตุ ขั้นตอนการเก็บ ขั้นตอนการทำสารบบต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่มีมาตรฐานดีพอที่เราจะเชื่อมั่นว่าการเก็บดีเอ็นเอจะเป็นประโยชน์ในทางสาธารณะ

มีที่ไหนที่คุณเห็นว่าการตรวจดีเอ็นเอมีความน่าเชื่อถือไหม

บางประเทศที่มีนโยบายเรื่องการปราบปรามการก่อความไม่สงบมากๆ เขาก็ทำกัน หรืออย่างเช่นคดีข่มขืน คดีที่ผู้กระทำความผิดมีพฤติกรรมหรือลักษณะที่เป็นการกระทำซ้ำๆ เขาจะเก็บดีเอ็นเอไว้เพื่อตรวจพิสูจน์ในบางกรณีที่อาจเป็นประโยชน์ในการหยุดอาชญากรรมต่อเนื่อง ซึ่งมันต้องเกิดจากกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ทำให้น่าเชื่อถือ ทั้งศาล เจ้าหน้าที่ และความยินยอมของเจ้าตัว

เราคิดว่าสถาบันนิติวิทยาศาสตร์น่าจะให้ความรู้ชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมามากกว่านี้ได้ ถ้าต้องการให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือก็จำเป็นต้องอธิบายให้รอบด้าน สื่อสารให้โปร่งใส ทั้งขั้นตอน วิธีการ มีมาตรฐานแค่ไหน ทำให้คนทั่วไปเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ย้อนมาทำให้เจ้าตัวกลายเป็นอาชญากรโดยที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด

 

การตรวจดีเอ็นเอกับคนมาสมัครทหารเกณฑ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ สะท้อนอะไร

ประเด็นคือที่อื่นไม่ตรวจ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกำหนดนโยบายที่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เจ้าหน้าที่อ้างเป็นการตรวจ พร้อมกับการตรวจฉี่หาสารเสพติด แต่เราก็คิดว่าถ้าบุคคลเหล่านั้นได้เข้ารับราชการแล้วจะมีการขอตรวจ ก็เป็นไปได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมนะ แต่นี่ตรวจทุกคนไม่ว่าเขาจะมาขอผ่อนผันหรือจับได้ใบดำก็ตาม

นโยบายแบบนี้มันกระทบกระเทือนกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะมันมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย เหมือนที่หลายปีก่อนเคยจะมีการยกเลิกป้ายทะเบียนของกรมขนส่งทางบกทั้งหมด แล้วให้คนไปทำทะเบียนรถใหม่ทั้งหมดกับ กอ.รมน. ซึ่งต้องใช้งบประมาณเยอะมาก สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่ไหวที่จะพารถมอเตอร์ไซค์รถยนต์เข้าไปเพื่อที่จะขอทะเบียน คนต่อต้านเยอะ และตั้งคำถามว่าทำไม กอ.รมน. จะต้องมาทำตัวเป็นขนส่งทางบกด้วย สุดท้ายโครงการนั้นก็เลิกไป

อยากชวนคุยถึงเนื้องานด้านสิทธิมนุษยชนว่าเข้ามาอยู่ในชีวิตคุณตั้งแต่เมื่อไหร่

น่าจะเริ่มจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬพอดี ตอนเรียนจบปี 2534 เราก็มีสติ๊กเกอร์ต้านรัฐประหารเยอะมาก บรรดาอาจารย์และนักศึกษาคุยเรื่องนี้กันเยอะ

ตอนเรียนจบยังหางานไม่ได้ ก็มาร่วมขบวนประท้วงด้วย คิดกับเพื่อนตอนนั้นว่าไม่ต้องหางานหรอก มีแต่ประท้วงเต็มไปหมด จะไปหางานที่ไหน จนกระทั่งเกิดเหตุนองเลือดปี 2535 จำได้ว่าใช้โทรศัพท์หยอดเหรียญคุยกับพ่อ พ่อบอกว่า กลับบ้านเดี๋ยวนี้ แม้ว่าที่บ้านจะไม่ใช่ครอบครัวมีการศึกษาอะไร และเขาปล่อยเราอิสระมาก เราไม่เคยได้ยินเสียงพ่อบอกว่า “กลับบ้านเดี๋ยวนี้” แบบออกคำสั่ง เราเลยบอกกับเพื่อนว่ากลับเถอะ แล้วก็แยกย้าย

หลังจากนั้นก็ไปสมัครเป็นอาสาสมัครคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้เจอพี่สมชาย (หอมลออ) ครั้งแรกก็ตอนนั้นแหละ งานอาสาช่วงนั้นทำทุกอย่าง ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน ทำนิทรรศการภาพเขียนให้ศิลปินที่เขาวาดเรื่องพฤษภาทมิฬด้วย

แต่ทำไม่ถึงปี เราก็ไปออสเตรเลีย ตั้งใจไปเรียนต่อ ป.โท ด้านการค้าระหว่างระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้ ป.โท ได้อนุปริญญามา แต่อยู่สองปีก็ได้ภาษาอังกฤษกลับมา ช่วงนั้นยังไม่ได้อินการเมืองเท่าไหร่

แปลว่าตอนเป็นอาสาสมัคร ครป. ก็ยังไม่อิน

อยากช่วยมากกว่า รู้สึกว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น แต่มีครั้งหนึ่งที่ออสเตรเลีย อาจารย์ฝรั่งทำให้เราร้องไห้ในห้อง เพราะเขาสอนยากมาก เขาว่าภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาแรกของเขา ทำไมเธอถึงทำไม่ได้ จากนั้นมันก็ทำให้เราตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น

พอกลับมาไทย ก็ไปเรียนต่อคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เพราะว่ามันมีสาขาประวัติศาสตร์เอเชีย เราสนใจประเทศเพื่อนบ้าน สนใจวัฒนธรรมอินโดจีน เลยเลือกเรียนประวัติศาสตร์เวียดนาม ระดับป.โท แล้วได้ทุนไปเรียนภาษาต่อ เราก็เลือกไปเรียนที่เวียดนาม 6 เดือน

ตอนไปเวียดนามก็ตั้งใจเรียนมาก เพราะเวลาไปเที่ยวแล้วอยากรู้ว่าทำไมบ้านเมืองเขาถึงเป็นแบบนั้น ตอนนั้นประวัติศาสตร์เวียดนามในเมืองไทยมีน้อยมาก กลับมาก็พออ่านเขียนได้บ้าง

กระทั่งได้มาทำงานที่ Forum-Asia กับพี่สมชายอีกครั้ง ตอนนั้น Forum-Asia กำลังขยายงานไปทางเขมร ลาว เวียดนาม ถือเป็นความยากและท้าทาย แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนของเพื่อนบ้านเยอะขึ้น จากที่สนใจเฉพาะความเป็นประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศในอาเซียน พอมาลงเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ทำให้เราอยากรู้มากกว่าเดิม แล้วบังเอิญเราได้ภาษา ก็เลยถูกส่งไปทั่วไปหมด เพราะสมัยนั้นคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษที่ทำงานเรื่องสิทธิฯ น้อยมาก ส่วนใหญ่ถ้าเก่งภาษาก็ไปเป็นอาจารย์กันหมดเลย ไม่มีใครมาเป็นเอ็นจีโอ

งานแรกตอนทำ Forum-Asia คือการเป็นผู้ช่วยทนายความคดีนายซก เยือน ผู้นำฝ่ายตรงข้ามกับฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา เขาถูกจับในเมืองไทยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปี 2001 ต่อมากัมพูชาเขาขอร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเหมือนกรณีฮาคิม นักบอลที่บาห์เรนถูกกักตัว ตอนนั้นซก เยือน เขามีสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว ก็ต้องมีการพิจารณาคดีในชั้นศาล ทนายความที่พี่สมชายให้มาช่วยคดีนี้ไม่คล่องภาษาอังกฤษ เราก็เลยมีหน้าที่รวบรวมข้อมูล ช่วยประสานงาน จากนั้นเราก็กลายเป็นผู้ช่วยทนายความ ไปขึ้นศาล ไปเรือนจำตั้งแต่นั้นมา สรุปเคสซก เยือน ใช้เวลา 4 ปี ศาลตัดสินให้ส่งกลับกัมพูชาเพราะว่าไม่ใช่คดีการเมือง

จริงๆ ถ้าเป็นคดีการเมืองไม่ต้องส่งกลับ แต่แรงกดดันมันเยอะ เขาเลยได้ไปประเทศฟินแลนด์ ถ้าพูดสั้นๆ คือเราแพ้คดีในศาล แต่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงมหาดไทยก็ให้ไปประเทศฟินแลนด์แทน

มหาดไทยตัดสินใจอย่างนั้น ไม่หักหน้ากัมพูชาเหรอ

4 ปี ความเข้มข้นมันก็จางลง ความสำคัญของซก เยือน ในทางการเมืองมันลดลงเยอะแล้ว เขาเป็นเพียงแค่หัวหน้าสาขาพรรคฝ่ายค้านที่พระตะบอง เล็กมาก ระหว่างที่เขาอยู่เรือนจำ มีช่วงหนึ่งที่มีการเลือกตั้งที่กัมพูชา เราก็ไปอยู่พระตะบอง 2 เดือนเพื่อสังเกตการเลือกตั้งและอยู่ให้รู้ว่าคนอื่นมองเขาอย่างไร ก็เลยได้เรียนภาษาเขมรต่อ การอยู่ในเขมร ทำให้เราเห็นเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากพูดภาษาอังกฤษได้ ก็จะได้คุยกับนักข่าวต่างประเทศที่อยู่ในเขมร เราก็เรียนรู้ว่าถ้าอยู่ในบริบทที่มีความขัดแย้ง นักข่าวจะสนใจอะไรแบบไหน ยิ่งอยู่ยิ่งสนุก

ทำงานอยู่ในสนามจริงอยู่แล้ว ทำไมตัดสินใจมาเรียนกฎหมายด้วยตัวเอง

สนามจริงก็รู้เฉพาะบางเรื่อง แต่การเรียนกฎหมายทั้งระบบทำให้เรารู้ไส้รู้พุง มุมมองด้านกฎหมายเราแคบมาก ถ้าเทียบกับมุมมองทางสิทธิมนุษยชน เลยไปเรียนนิติศาสตร์ที่ ม.รามฯ เพราะเริ่มจากการไปเป็นผู้สังเกตการณ์คดีทนายสมชาย (นีละไพจิตร) ระหว่างนั้นก็สังเกตการณ์คดีในสามจังหวัดชายแดนใต้อยู่เรื่อยๆ พอพี่อังคณา (นีละไพจิตร) ตั้งกลุ่ม Justice for peace working group ก็ทำให้เราสนใจกฎหมายมากขึ้น

จริงๆ หลังเหตุการณ์ปล้นปืนปี 2547 เรายังไม่ค่อยรู้เรื่องนะ จนกระทั่งทนายสมชายถูกอุ้มหายถึงรู้เรื่องว่ามันเกิดอะไรขึ้น พอมีเหตุการณ์ถล่มมัสยิดกรือเซะ ยิ่งตกใจกันใหญ่ว่าสังคมไทยเป็นอะไร ทำไมมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ก่อนหน้านั้นเรายังโฟกัสแค่เรื่องฆ่าตัดตอนคดียาเสพติด

Forum-Asia จัดสรรงบประมาณมาทำเฉพาะเรื่องนี้เลย เพราะมันซีเรียสมาก แล้วพี่สมชาย หอมลออ เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ส่วนสมชาย นีละไพจิตร เป็นรองประธานฯ ดังนั้นการช่วยตามหาทนายสมชายก็เป็นงานหลักเลย เราได้รับผิดชอบงานนี้ โดยเฉพาะการติดตามคดี เก็บข้อมูลตั้งแต่ด้านนิติวิทยาศาสตร์ไปจนประวัติศาสตร์ เก็บหมดทุกอย่างเพื่อที่จะเอาไปใช้ในคดีได้ เพราะการเข้าใจประวัติศาสตร์มันทำให้เราเข้าใจว่าทำไมรัฐไทยถึงมีการบังคับบุคคลให้สูญหาย ตอนนั้นประเทศไทยไม่มีข้อหาการบังคับให้สูญหาย ต้องใช้ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ในทางกฎหมายเราก็เชื่อว่าเขายังมีชีวิตอยู่ อยากให้ตำรวจทั้งหลายบอกมาว่าอยู่ที่ไหน

การตามคดีทนายสมชายทำให้เราต้องไปสมัครเรียนสาขานิติวิทยาศาสตร์ต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ ศิลปากร เพราะอยากรู้จริงๆ ว่าวิธีการค้นหาหลักฐานข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์เขาทำยังไง ช่วงนั้นที่ฮิตมากคือหลักฐานทางโทรศัพท์ ซึ่งเราไม่มีความรู้เลย เรียนไปก็ได้เอกสารมาเป็นปึกๆ รายงานชื่อคน เวลาโทรเข้าโทรออก

เอกสารมาจากเคสทางคดีจริงไหม

จริง, การได้ศึกษาด้านนิติวิทยาศาสตร์ทำให้เราเอามาพิจารณาคดีว่าทีมตำรวจที่ต้องสงสัยในการอุ้มทนายสมชายนั้นมีส่วนสัมพันธ์จริงอย่างไร

จริงๆ เราอยากจะเรียนรู้แค่เรื่อง Digital investigation ไม่ได้อยากไปนั่งเรียนในคลาสทั้งหมด แต่มันเลือกไม่ได้ ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง แต่ก็เรียนไม่จบแล้วก็มาสมัครคณะนิติศาสตร์ ม.รามฯ เพิ่ม แต่ก็ไม่จบอีก สอบไม่ผ่าน แต่ไม่เข็ด เพราะมี passion อยากเรียนตลอดเวลา แล้วก็ไปเรียนนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เรียนมา 6 ปี อยากสอบเอาใบอนุญาตทนายความให้ได้ อยากเป็นทนายความเต็มตัว ตอนนี้สอบทฤษฎีได้แล้ว กำลังจะสอบปฏิบัติ อีกสักพักก็คงได้ใส่ชุดครุยขึ้นว่าความเอง

ถ้าถามว่ามาผูกพันกับเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ตอนไหน ก็คงเริ่มจากการตามคดีทนายสมชายนี่แหละ เพราะอยู่ไปๆ มันมีคดีผุดขึ้นมาเต็มไปหมด รู้สึกว่าทำไมเรื่องใหญ่ขนาดนี้ อีกอย่างคือทนายสมชายในฐานะบุคคลที่เป็นทนายความ แต่ทำไมการพิจารณาคดีถึงถูกเก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในห้องพิจารณาคดี ทำไมเราไม่รู้มาก่อน มันเป็นเรื่องของความขัดแย้งที่ใหญ่เกินตัวทนายสมชายมาก

สุดท้ายมีการคุยกันว่าทำไมถึงมีการดีเบตกันแค่ในห้องพิจารณาคดี มันต้องเป็นเรื่องที่สังคมควรรับทราบสิว่าทำไมต้องเอาถึงตาย ทำไมถึงต้องอุ้มหาย จนบรรดาคนที่ทำงานด้านสิทธิก็ตกผลึกร่วมกันว่า สิ่งที่ทนายสมชายพยายามจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคน มันไม่ควรที่จะอยู่แค่ในห้องพิจารณาคดี มันไม่ควรเป็นแค่บทบาทของทนายความ

แปลว่าลำพังคุยกันในห้องมันเอาไม่อยู่แล้ว เหตุการณ์มันลุกลาม

ใช่, จะเถียงกันว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนก็แล้วแต่ แต่มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก อย่างหนึ่งที่คิดได้คือ เพราะเรื่องสามจังหวัดก่อนหน้านี้มันอยู่แค่ในห้องพิจารณาคดีไง มันเลยทำให้ทนายสมชายถึงตาย เพราะมันไม่มีใครมาช่วยส่งเสียง คนอุ้มก็คงคิดว่าถ้าไอ้คนนี้ไม่อยู่ คนไทยก็ลืมง่ายแล้ว แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าทนายสมชายมีครอบครัวที่เข้มแข็ง มี Safety Net ที่ดี มีองค์กรระหว่างประเทศและภาคส่วนอื่นๆ ช่วยกันส่งเสียง

การหายตัวไปของทนายสมชาย เป็นเรื่องที่สังคมต้องตั้งคำถามว่าทำไมทนายต้องหาย ทนายไม่ได้ใช้อาวุธสู้รบ ทำไมต้องไปอุ้มเขา การช่วยกันเปล่งเสียงคือการปกป้องคนที่่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ด้วย

เรื่องอุ้มหายจากเคสทนายสมชาย ผ่านมา 15 ปี แทนที่จะคลี่คลายเห็นแสงสว่างบ้าง แต่กลายเป็นว่าหลังจากนั้น เรื่องซ้อมทรมาน-จับตรวจดีเอ็นก็โผล่มาเต็มไปหมด คุณมองเห็นอะไร

เรื่องซ้อมทรมานต้องยกกรณีเหตุการณ์ตากใบปี 2547 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจัดทีมกันลงมา 3-4 ทีม มีประชาชนกว่า 1,300 คนที่อยู่ในการคุมขัง มีคนตาย 70 กว่าคนที่ตายเพราะขาดอากาศหายใจจากการถูกขังไว้ในรถทหาร พอบรรดานักสิทธิฯ นักวิชาการ นักการเมือง ลงไปเยี่ยมคนที่ถูกจับในค่าย เรื่องมันก็ค่อยๆ คุกรุ่นขึ้น

ทีมเราเช่ารถตู้ไปนราธิวาสเพื่อที่จะเก็บข้อมูลของเหยื่อ เพราะตอนนั้นข้อมูลยังค่อนข้างสับสน บังเอิญว่าวันนั้นเป็นวันที่เพิ่งได้ซีดีเหตุการณ์ตากใบมาจากมาเลเซีย มีน้องรุ่นคนหนึ่งที่เป็นนักกิจกรรมเปิดดูในรถ น้องมันก็ร้องไห้ในรถ ร้องหนักมากจนพวกเราที่เป็นคนนอกพื้นที่ตกใจ เพราะเราไม่เคยเห็นภาพเหตุการณ์มาก่อน ตอนนั้นสำนักข่าวไทยทั่วไปยังไม่เผยแพร่ภาพเหตุการณ์ วิดีโอที่เราได้ดูมาจากนักข่าวมาเลเซียที่บันทึกได้ เห็นหมดทุกอย่าง เจ้าหน้าที่ไม่มีใครปิดหน้าเลยสักคน สะเทือนใจมากที่ประชาชนถูกกระทำ

ช่วงลงไปในพื้นที่ใหม่ๆ จำได้ว่ามีคืนหนึ่งนอนที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี กับพี่อังคณา (นีละไพจิตร) และพี่อีกคนเป็นทนายมุสลิม เราคุยกันว่าเดี๋ยวมาทำงานที่ชายแดนใต้สักปีสองปีก็คงสงบแล้วมั้ง ตอนนั้นคิดแบบนั้นจริงๆ ไม่คิดว่าจะบานปลายมาขนาดนี้ เราคิดกันแค่ว่าทำงานสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้าน ทำงานด้านกฎหมายไปเรื่อยๆ ก็พอ แต่เอาเข้าจริงจนทุกวันนี้ยังเหมือนเดิม

พอลงพื้นที่มากขึ้น ก็มีชาวบ้านเข้ามาขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เพราะตอนนั้นไม่มีคนทำงานด้านนี้เลย อย่างกรณีคดีอันวาร์ (มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ) เราเห็นหนังสือพิมพ์พาดหัวว่า “อุสตาซรุ่นจิ๋วถูกจับ 6 คน” พอเราได้เข้าไปดูคดี ก็เริ่มไปเยี่ยมที่เรือนจำบ้าง ตามไปที่ศาลบ้าง อีกคดีคือนักศึกษายิงตำรวจ คนที่ถูกจับเป็นหัวหน้าชมรมภาษาอาหรับและหัวหน้าชมรมมุสลิม คดีนี้ถูกจับ 4 คน จริงๆ เราดูสำนวน หลักฐานไม่มีอะไรเลยที่จะเชื่อมไปถึงพวกนักศึกษาได้

สุดท้ายคดีนี้ศาลตัดสินวันเดียวกันกับคดีทนายสมชาย ชั้นฎีกาเมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏว่าห้องพิจารณาข้างบนคือคดีทนายสมชาย ศาลไม่เชื่อพยานหลักฐานโทรศัพท์ ตำรวจที่เป็นจำเลย 5 คนหลุดหมด แต่ห้องข้างล่างเป็นคดีที่นักศึกษาเป็นจำเลย ศาลกลับเชื่อหลักฐานทางโทรศัพท์ งงมาก สองคดีนี้วิธีพิจารณาคดีเหมือนกัน แม้ว่าจะคนละสำนวน แต่มาตรฐานการตัดสินต่างกัน

เรามักได้ยินผู้มีอำนาจพูดมาเสมอว่ากระบวนการยุติธรรมไทยน่าเชื่อถือ พอเจอแบบนี้คุณคิดอะไร

เรามองว่ายิ่งประเทศไม่มีประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมก็ยิ่งไม่มีหลักนิติธรรม พอโครงสร้างประเทศมันเป็นเผด็จการ ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎอัยการศึก) ประชาชนก็อยู่ภายใต้การใช้อำนาจเด็ดขาด

ทุกวันนี้การใช้อำนาจเด็ดขาดมันลามไปทั้งองคาพยพ ในหน่วยงานราชการก็เชื่อคำอธิบายของทหารไปแล้ว ไม่ว่าทหารพูดอะไรดูเหมือนจะชอบธรรมไปแล้วสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งอัยการ ตำรวจ แทบจะยอมทุกอย่าง ราวกับให้ขี่คอทำสำนวนได้ แต่ระบบยุติธรรมมันจะต้องมีการถ่วงดุลตรวจสอบ ไม่ใช่นึกจะจับก็จับ จะสอบก็สอบ ควบคุมตัว สั่งฟ้องเองทุกอย่าง ตอนนี้ขั้นตอนการดำเนินคดี แทบครึ่งหนึ่งทำโดยทหาร

มีคำพิพากษาปี 2560 ที่สำคัญมาก คดียิงคนตายที่ยะลา กล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยได้ยอมรับวิธีการที่เรียกว่าดำเนินกรรมวิธี ซึ่งไม่ใช่การสืบสวนสอบสวนปกติ แต่เริ่มจากบันทึกการจับกุมบุคคลด้วยกฎหมายพิเศษ แล้วบังคับให้สารภาพ เราอ่านแล้วตกใจมากว่าเขายอมให้หลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ อันเกิดจากการบังคับให้สารภาพ แล้วพอศาลชั้นต้นไม่พยายามที่จะรับฟังรายละเอียดของผู้ต้องหาเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน มันก็จะไม่ปรากฏในสำนวน พอมาถึงชั้นฏีกาก็บอกได้แค่เพียงแค่ว่าเป็นคำกล่าวอ้าง เพราะทหารเขาก็จะเอาเอกสารขึ้นมาฉบับนึงที่เขียนว่า ขณะที่ถูกควบคุมตัวระหว่างวันที่นี้ถึงวันที่นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้ถูกซ้อมทำร้ายร่างกาย พร้อมลายเซ็นผู้ต้องหา แต่ที่เราทราบจากเหยื่อมาคือเขาเซ็นหลังจากที่ถูกบังคับให้สารภาพไปแล้ว

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวว่าจะบรรยายให้ศาลเชื่อไหมว่าเซ็นโดยถูกบังคับ ซึ่งบางศาลก็รับฟังและจดบันทึกอย่างดี แต่บางศาลก็ไม่เอารายละเอียด ถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์มา ศาลจะไม่บอกว่ามันคือการทรมาน แต่การทรมานไม่ได้ปรากฏให้เห็นง่ายขนาดนั้น เพราะมันคือการบังคับทางด้านจิตใจ ไม่มีการแตะเนื้อต้องตัว ไม่มีบาดแผล บังคับไม่ให้นอนด้วยการยืน หรือการใช้ผ้าคลุมหน้าและเอาน้ำราดหน้า วิธีแบบนี้มันเป็นวิธีที่เขียนไว้ในหลักสูตรของทหารอเมริกันที่เป็นที่ยอมรับ ทหารไทยก็ฉลาด เขาสามารถอ่านได้ เขารู้ว่าคนอดนอนกี่วันกี่ชั่วโมงจะเป็นอย่างไร

สิ่งเหล่านี้มันถูกนำมาใช้ กลายเป็นการทรมานแบบขาวสะอาดที่ทำให้ไม่สามารถบันทึกรายละเอียดต่างๆ ได้ เมื่อบันทึกไม่ได้ บุคคลก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่น่าเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกที่สามารถออกใบรับรองแพทย์ให้ว่าคนๆ นี้มีสภาพร่างกายยังไง โดยการบันทึกสภาพจิตใจว่าเขาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่รุนแรง

ที่ผ่านมาในรอบ 15 ปี น่าจะเป็นหมื่นคนที่เราไม่สามารถบ่งบอกถึงสภาพร่างกายที่เสียหายหรือถูกทำร้ายทางด้านร่างกายและจิตใจได้ เพราะส่วนใหญ่คนถูกควบคุมตัวอยู่ จะถูกพาไปพบแพทย์ทหาร

ที่น่าสะเทือนใจคือหลายคนที่เราเข้าไปช่วย กลับถูกควบคุมตัวนานกว่าคนอื่นที่ไม่ได้ร้องเรียน สิ่งนี้เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับนักสิทธิฯ ที่ทำงานในพื้นที่ เพราะฝ่ายความมั่นคงมีความพยายามอย่างมากที่จะไม่ให้นักสิทธิฯ เข้าไปเจอผู้ต้องหา

หรือในขั้นตอนของตำรวจ ที่เป็นฝ่ายรับบุคคลเข้ามาหลังจากที่ผ่านกระบวนการของทหารไป 30 วัน เขาก็ไม่สนใจว่าคนเหล่านี้มีบาดแผลไหม ไม่สนใจที่จะรับแจ้งความ มันสะท้อนว่าทั้งองคาพยพช่วยทำให้กระบวนการที่ทหารดำเนินการมาเป็นแนวทางที่ถูกแล้ว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

ถ้ามองจากมุมฝ่ายความมั่นคง เขาอาจมองว่าคุณจะไปช่วยคนร้ายทำไม เป็นคนไทยหรือเปล่า

ถ้าพูดตรงๆ เหตุระเบิด ยิงคน ยิงตำรวจ ฆ่าทหาร อะไรก็ตาม มันมีจริง วิธีการปราบปรามก็จำเป็นบางกรณี การเอาคนผิดมาลงโทษก็จำเป็นเพราะต้องรักษากฎหมาย แต่ไม่ต้องถึงขนาดทำให้สูญเสียหลักยุติธรรมและกระบวนการกฎหมายก็ได้ เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะยิ่งเป็นเงื่อนไขให้เกิดคดีใหม่ๆ และลุกลามไปเรื่อยๆ 15 ปีที่ผ่านมามันสะท้อนอยู่แล้วว่าวิธีที่ฝ่ายความมั่นคงใช้นั้นไม่ได้ผล

15 ปี ยังไม่เห็นอะไรดีขึ้น มีสักครั้งไหมที่รู้สึกว่าเลิกดีกว่าพักดีกว่า

ไม่นะ อยากจะไปยืนอยู่ตรงจุดที่ทนายสมชายยืนอยู่เพื่อช่วยประชาชน เราคิดว่าในบางคดี ถ้าเกิดเราเป็นทนายจะทำยังไง จะซักถามแบบไหน ทำแบบนั้นแบบนี้ได้หรือไม่ เราต้องการเพิ่มมุมมองของนักสิทธิมนุษยชนเข้าไปในมุมมองของนักกฎหมาย เพราะทุกวันนี้สองส่วนนี้ดูจะแยกขาดจากกัน

แต่การเป็นทนายความก็มีความกดดันเยอะ เพราะมันเป็นชีวิตของลูกความ คดีแถวชายแดนใต้ส่วนใหญ่โทษสูงสุดคือประหารชีวิตเท่านั้น ซึ่งมีการลงโทษจริงอยู่นะ

อีกอย่างหนึ่งที่เราตั้งใจมาตลอดคือ อยากจะบอกคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ อยากให้พวกเขาเข้าใจพื้นที่ เข้าใจชีวิตคนที่นั่น เวลาพูดว่าธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ถูกดำเนินคดี ทุกคนรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม แต่พอกรณีสามจังหวัด กลับไม่ค่อยมีใครรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ทั้งที่แกนของความอยุติธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน

เพราะอะไร คุณเห็นมา 15 ปี ทำไมกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ถึงไม่มีปรากฏการณ์แบบ “ฟ้ารักพ่อ”

ไม่รู้สิ หลายคนอาจจะเซ็ง ทำไมเราพูดแต่เรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่จะให้ทำยังไง ด้วยความที่มันถูก ignore เราก็ต้องพูดซ้ำๆ

ตอนเกิดรัฐประหารปี 2549 คนเมืองอาจยังไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ แต่พออยู่มาเรื่อยๆ ก็จะพบว่าหลายๆ รูปแบบที่ใช้ในสามจังหวัด ถูกเอาไปใช้ในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ ถ้าคุณปล่อยให้กระบวนบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดค่อยๆ ถูกลืมไป หรือแว่นตาพร่ามัวไปเรื่อยๆ มันจะพร่ามัวทั่วประเทศ โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการนี่พร่ามัวก่อนเพื่อนเลย เมื่อไม่นานมานี้ คสช. ก็มีการเพิ่มเงินเดือนให้ คุณก็รับหน้าตาเฉย

เคยคิดไหมว่าสังคมไทยจะมาไกลถึงขนาดนี้

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้มันลักลั่นหลายเรื่อง อย่างแรกมันไม่ใช่สงคราม แต่คุณก็ใช้กฎอัยการศึก ถ้าแบบนั้นกฎหมายระหว่างประเทศก็ต้องใช้ในพื้นที่นี้ด้วย คือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้ในพื้นที่สงคราม คุณรบได้ แต่ห้ามทรมาน ห้ามอุ้มหาย พื้นที่ปลอดภัยอย่างวัด โรงพยาบาล โรงเรียน คุณต้องประกาศ แต่กฎหมาย ป.วิ.อาญา คุณก็ไม่เอา อ้างว่ามันเป็นสถานการณ์พิเศษ

ฝ่ายความมั่นคงแทบจะใช้ทุกนโยบายที่เรียกว่าการปราบปราม พอปราบแบบไม่มีมนุษยธรรม จับมาแล้วก็ซ้อม แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ด้วยกล้องวงจรปิดหรือภาพถ่าย แต่บาดแผลที่เราสัมผัสได้จากทำงานกับผู้เสียหายยังมีชัดเจนว่าเกิดขึ้นจริง แล้วก็กลายเป็นเงื่อนไขให้ปัญหาไม่จบ

ถ้าเขาจะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ก็ให้รับผิดตามสัดส่วนที่มีส่วนร่วม เขาจะไปดูต้นทาง เตรียมอุปกรณ์อะไรก็ว่าไป แต่ว่าเขาไม่ควรถูกซ้อม ไม่ควรจะถูกอุ้ม หรือตั้งข้อหาเกินกว่าที่ทำ นี่เป็นข้อเรียกร้องพื้นฐาน

ในมุมมองของนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มองเข้ามา ระหว่างรัฐไทยไม่เป็นประชาธิปไตย กับปัญหาความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนใต้ เขาโฟกัสเรื่องอะไร มองเป็นเนื้อเดียวกันหรือแยกส่วน

เท่าที่เจอมา เขาให้ความสำคัญแยกกัน ไม่ได้ผูกโยงกัน จริงๆ เขาเข้าใจปัญหา แต่พอมันมีเรื่องอื่นที่เขากระโจนเข้าไปทำงาน เขาก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาทำอะไรต่อกับพื้นที่

ปัญหาคือเวลาที่เราพูดถึงความขัดแย้งในพื้นที่ มันไม่มีคำว่าประชาธิปไตย ไม่มีใครพูดถึง เพราะสังคมไทยยังขุ่นมัวอยู่เลย ดังนั้นเวลาที่เราพยายามจะโยงให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน ก็เลยยาก เพราะว่าถ้าคุณต้องการแก้ปัญหาประชาธิปไตย คุณจะพูดถึงรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมของประชาชน แต่พอมาพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ เจอกฎอัยการศึก จะไปกันยังไงต่อ เพราะมันเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง มีการสู้รบกันทางอาวุธ

ถ้าเราเริ่มต้นว่าประชาชนต้องการมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชีวิตตัวเอง มันก็ไปติดอยู่ที่การปกครองว่าฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ยอมให้ประชาชนมีสิทธิ

ในแง่นี้แวดวงสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศเข้าใจไหม

ต้องยอมรับว่าเรามีข้อมูลออกไปน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการยุติธรรม แม้จะพยายามทำ แต่มันทำยากนะ พอพูดถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย มันอธิบายยากมาก มองจากภายนอกดูมีความน่าเชื่อถือ เวลาฝรั่งมาเยี่ยม ศาลไทยก็พูดภาษาอังกฤษด้วยนะ ส่วนหนึ่งมันก็คงจะเป็นข้อบกพร่องของเราเองด้วยที่ไม่สามารถฉายภาพให้เห็นปัญหาที่หนักหนาได้ หรืออีกมุมคือความรุนแรงมันยังไม่ถึงขั้นน่าเกลียดมากพอ

ช่องว่างหรือเส้นบางๆ ของประเด็นนี้อยู่ตรงไหน

สังเกตดูว่าสื่อใหญ่ๆ ของต่างประเทศ ไม่ได้ลงมาทำข่าวติดตามเจาะลึกมานานแล้ว เราไม่เห็นข่าวใหญ่มานานแล้ว อาจเพราะเหตุการณ์มันน่าเบื่อ ทำไปก็เท่านั้น ถ้ามีก็สัมภาษณ์อะไรก็นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ผ่านไป เหมือนฉีดยาชา ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้รุนแรงขนาดซีเรีย ที่ไทยเรามันดราม่าแบบบ้านๆ

เมื่อก่อนในทางกระบวนการยุติธรรม ก็สู้กันไปเรื่อยๆ ระหว่างทนายจำเลยกับอัยการ ศาลก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ประเด็นตอนนี้คือเรื่องของการยอมรับกระบวนการของกฎหมายพิเศษให้เข้ามาเป็นพยาน ซึ่งเอื้อต่อแว่นตาของทหาร และศาลก็มีแนวโน้มตัดสินคดีไปตามนั้น

แต่นักเรียนกฎหมายทุกคนจะรู้ว่ากฎหมายพิเศษมันไม่ได้อยู่ในตำรา พยานหลักฐานที่ได้มาจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ศาลจะไม่รับ แต่ระยะหลังนี้รับหมด ซึ่งหลักฐานที่ได้มา บางทีก็เบาหวิว มันเหมือนเอาขนนกมาวาง แล้วบอกว่ามันหนัก

เช่น คดีน้ำบูดู มีการใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์คือหลักฐานทางโทรศัพท์ สำนวนบอกว่าจำเลยที่ 1 โทรหาจำเลยที่ 2 นี่คือสิ่งที่เขียนอยู่ในบันทึกของอัยการ จากนั้นก็มีการดูประกอบคำรับสารภาพ เป็นบทสนทนาว่านายเอบอกให้นายบีเอาระเบิดไปทิ้งไว้ข้างทาง ศาลเริ่มเชื่อไปครึ่งหนึ่งแล้ว แล้วจริงๆ ตำรวจเป็นคนเอาคำพูดของทหารมาพูดในศาล เป็นการรับฟังพยานบอกเล่า ซึ่งไม่ควรจะฟังด้วยซ้ำ แต่เมื่อมันอยู่ในบรรยากาศของความพยายามที่จะทำให้น่าเชื่อถือ ก็เลยกลายเป็นหลักฐานที่ศาลเชื่อถือ แล้วสุดท้ายก็ลงโทษจำเลย

ประเด็นคือมันเป็นหลักฐานที่ได้มาจากการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ เขาโทรหากันจริง ยังไงก็ต้องมีข้อเท็จจริงอยู่แล้ว แต่บทสนทนาว่าให้เอาระเบิดไปทิ้งไว้ข้างทาง มีจริงหรือเปล่า ไม่มีใครรู้ เพราะหลักฐานตามคำสารภาพไม่มี หลักฐานที่เจ้าหน้าที่จับได้ในที่เกิดเหตุมีแค่น้ำบูดู ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับระเบิดเลย คดีนี้จับกุมและฟ้องโดย คสช. ผู้ต้องหาบางส่วนคิดว่าจะไม่อุทธรณ์ด้วย เพราะไม่รู้ต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ ครอบครัวญาติพี่น้องก็เริ่มไม่ไหวกัน

ในภาวะที่เหมือนจะไปต่อไม่ไหวกัน ยังพอมีอะไรเป็นแสงสว่างบ้าง

การที่ยังได้ทำงานกับผู้เสียหาย และหวังว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี หลายเรื่องเราเห็นการเติบโตของคนที่ถูกกระทำ เหมือนเป็นการลงทุน ถึงเวลาดอกผลก็ค่อยๆ เกิดขึ้น

ต้องเข้าใจว่างานสิทธิมุนษยชน ไม่ใช่ชนะคดีแล้วจบ คนละเรื่อง ไม่ใช่ว่า BRN หยุดยิง ทหารไทยไม่ซ้อมทรมาน แล้วสิทธิมนุษยชนจะเกิด เพราะมันยังมีการละเมิดรูปแบบอื่นๆ อยู่ งานสิทธิมนุษยชนเป็นงานที่ไม่มีวันหยุด

หลายเรื่องไม่ปรากฏวันนี้ แต่มันจะไปปรากฏวันหน้า ข้อมูลทุกอย่างที่เราเก็บไว้ แถลงการณ์ที่มีคนบอกว่าเขียนซ้ำๆ อีกแล้ว มีเหตุระเบิดโรงเรียนทีนึงก็ต้องเขียนทีนึง แต่เรารู้สึกว่ามันคือการบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่อย่างนั้นก็จะหายไปหมด

เวลาพูดถึงการทำงาน ส่วนมากเราชอบทำงานกับผู้หญิง ถ้ากับผู้ชายก็มักเป็นผู้เสียหาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าน่าจะถูกชักจูงให้เข้าสู่ขบวนการใช้ความรุนแรงได้ง่าย โดยเฉพาะผู้เสียหายจากการซ้อมทรมาน มันง่ายมากเลยที่เขาจะเปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นความแค้น และหาวิธีโต้ตอบกลับ ดังนั้นเราก็คุยกันตลอดว่า การให้ความช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจที่ทำให้เขามีทางออก มีพื้นที่ยืนทางสังคม ก็นับเป็นงานด้วย

มีเรื่องนึงที่ทำให้รู้สึกดี น้องคนนึงที่เคยถูกควบคุมตัวไปแล้วมาร่วมกิจกรรมกับเรา มีการเยียวยาจิตใจกัน เขาเขียนจดหมายมาเล่าว่าสามารถขี่มอเตอร์ไซค์คนเดียวได้แล้ว มันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขานะ เพราะ 1-2 ปีก่อนหน้านี้เขาไม่ออกจากบ้านเลย กลัวไปหมดว่าจะมีใครมาข้างหลังแล้วทำอะไรเขาไหม นี่ไม่ใช่เรื่องจินตนาการขึ้นมา มันเป็นเรื่องจริง.

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save