fbpx
เมืองซ่อนคน คนจนในซอกหลืบของเมือง : จนเมือง จนใจ จำยอม

เมืองซ่อนคน คนจนในซอกหลืบของเมือง : จนเมือง จนใจ จำยอม

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมืองที่ดีคืออะไร ?

คงเป็นคำถามที่ทุกคนมีคำตอบอยู่ในใจอยู่หลายข้อ เช่น เมืองที่ขนส่งสาธารณะดี อากาศดี อยู่สบาย มีพื้นที่สาธารณะ ปลอดภัย และมีการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบระเบียบ ฯลฯ

ที่สำคัญ เมืองที่ดีต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ในความเป็นจริง ดูเหมือนว่ากรุงเทพมหานคร และเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยยังห่างไกลคำว่าเมืองที่ดีอยู่มาก

ในงานเสวนา ‘เมืองซ่อนคน คนจนในซอกหลืบของเมือง’ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ WAY เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา มีการเสนอข้อค้นพบของคณะนักวิจัยในชุดโครงการวิจัย ‘ความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง’ เพื่อชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหา ‘เมือง’ ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมาก ‘เป็นอื่น’ ในบ้านของพวกเขาเอง และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ผู้คนถูกลิดรอนสิทธิ์จากปัญหามลพิษและการไล่ที่ โดยมีปัญหาแตกต่างกันไปตามปัจจัยของแต่ละพื้นที่

 

ความเหลื่อมล้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่

 

‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ (Special Economic Zones: SEZs) เป็นคำที่เราได้ยินมานาน แต่เพิ่งได้รับความสนใจและเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจาก คสช. ประกาศนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในปี 2557 ซึ่งสอดคล้องกับช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชมคมอาเซียน

เขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย คือ บริเวณพื้นที่ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) กำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์การลงทุน การบริหารแรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ การให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และการบริการอื่นที่จำเป็น[1]

รัฐเลือกเมืองชายแดนมา 10 เมืองเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยหวังว่าจะสร้างเม็ดเงินให้ประเทศ และแก้ปัญหาชายแดนได้ ในระยะแรก (เริ่มดำเนินการปี 2558) ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา และในระยะที่สอง (เริ่มดำเนินการปี 2559) ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี

การเข้าไป ‘เปลี่ยนเมือง’ ครั้งนี้ กนพ. อธิบายวัตถุประสงค์ว่าเพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคโดยใช้โอกาสจากอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่บริเวณชายแดน รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน[2]

ในแผนงานอาจฟังดูสวยหรู แต่ในความเป็นจริง ดูเหมือนว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมอาจไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น

ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยตั้งคำถามว่า จะนำวัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชนให้อยู่กับความ ‘พิเศษ’ ได้อย่างไร เขายกตัวอย่างกรณีศึกษาที่นครพนม ที่แต่เดิมมีการทำเกษตรอินทรีย์ที่สร้างรายได้สูงมาก แต่เมื่อมีอุตสาหกรรมเข้ามาในเมืองก็ส่งผลทันที

จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษคือ ‘ความเป็นอยู่เดิม’ ที่ไม่สอดคล้องกับ ‘อุตสาหกรรมใหม่’ จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในชุมชน มีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์จากการทำโครงการนี้ โดย ผศ.ดร.สักรินทร์ สรุป 5 กลไกที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่กระจายออกไป ประกอบด้วย

หนึ่ง กลไกการตัดสินใจ ที่ยังเป็นรูปแบบการสื่อสารทางเดียว บริษัทเรียกชาวบ้านประชุม โดยไม่ใช่การหารือที่แท้จริง สุดท้ายก็จบลงที่การปรบมือ ถ่ายรูป และกลับไปส่งรายงาน ซึ่งไม่ใช่กระบวนการตัดสินใจร่วมกันที่แท้จริง

สอง การให้นิยามความหมาย เมื่อไหร่ก็ตามที่วิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ถูกนิยามตามที่เป็นจริง หรือไม่ถูกนิยามเลย ก็จะทำให้คุณค่าของสิ่งนั้นไม่ได้รับการมองเห็น เช่น ควรมีการนิยามเกษตรอินทรีย์ของนครพนมแบบเฉพาะตัว โดยไม่ต้องให้คนนอกพื้นที่ไปนิยามให้

สาม กลไกการบริหารจัดการ

สี่ การเข้าถึงแหล่งทุน

และ ห้า การกระจายการถือครอง ซึ่งทั้งหมดเป็นประเด็นสำคัญต่อการให้อำนาจแก่คนในชุมชน

ชุดข้อเสนอของงานวิจัยจึงสอดรับกับข้อค้นพบเหล่านี้ โดยการเสนอให้กำหนดความเป็นกลุ่มตัวแทน มีการออกแบบกระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ให้ท้องถิ่นนิยามตัวเอง จัดตั้งกองทุนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา และมีกลไกในการกระจายที่ดิน

“ปัญหาของเศรษฐกิจพิเศษคือ เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขตนี้คืออะไร เราต้องสร้างการสื่อสารสาธารณะ เราไม่เรียนรู้อะไรเลยก่อนการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการทำงานร่วมกันเป็น partnership ระหว่างคนท้องถิ่นกับนักธุรกิจ เป็นโจทย์ใหม่ของการพัฒนาเมือง แล้วสุดท้ายค่อยสร้างฉันทามติ ทำกระบวนการเหล่านี้ก่อน ผมว่าเขาเลือกความพิเศษของเขาเองได้”

 

เมืองสีม่วง คนจนในผังเมืองอุตสาหกรรม

ดร.ปนายุ ไชยรัตนานนท์

 

ถัดจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังมีเมืองที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรม ซึ่งพบเจอปัญหาใกล้เคียงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่ออุตสาหกรรมมาพร้อมกับโรงงาน ย่อมหมายถึง สิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาอยู่ในชุมชน ของเสียและมลพิษไหลวนอยู่ทั่วบริเวณยังเป็นปัญหาสำคัญ

ดร.ปนายุ ไชยรัตนานนท์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พูดถึงความเหลื่อมล้ำใน 4 ประเด็นใหญ่ คือ ความเหลื่อมล้ำของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากผังเมือง และความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงข้อมูล

นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา บทบาทของอุตสาหกรรมมีหน้าที่หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมาตลอด 60 ปี ซึ่งทำให้ภาพของความเหลื่อมล้ำกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมปรากฏให้เห็นจนชินตา และเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกมาทุกยุคทุกสมัย

“การเกิดขึ้นของเมืองอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะของ top-down คือเป็นนโยบายของรัฐกำหนดมาว่าควรจะพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดไหน ควรจะมีนิคมที่ใดบ้าง หรือควรจะมีระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ รถไฟ หรือ สถานีขนส่งอยู่ที่ไหนบ้าง

“อีกลักษณะหนึ่งที่เกิดขึ้นในเมืองอุตสาหกรรมก็คือการชี้นำ เช่น กลุ่มทุนมีบทบาทต่อรองในการพัฒนาพื้นที่ ทุกวันนี้เราจะเห็นหลายๆ กรณีที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ มีเป้าหมายอยากจะไปพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ แต่ประชาชนในพื้นที่อยู่ตรงไหน เราไม่ค่อยเห็นภาพตรงนี้” ดร.ปนายุ กล่าว

ประเด็นแรก ความเหลื่อมล้ำของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งส่งผลโดยตรงจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบ top-down จากภาครัฐ ประชาชนไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีอุตสาหกรรมประเภทไหนมาลงในพื้นที่ และไม่รู้ว่าจะลงตรงตำแหน่งไหนบ้าง และจะเหมาะสมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิมหรือไม่

การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับเบื้องบน ดังนั้นการจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำตรงนี้ ควรให้คนในท้องที่เข้าไปอยู่ในระดับที่ตัดสินใจได้ เช่น ทำให้ชุมชนที่มีภูมิปัญญาเดิมอยู่แล้ว รวมตัวกันสร้างองค์ความรู้ของคนในพื้นที่เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และควรจะยกระดับจากการแค่ไปนั่งรับฟัง เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับนโยบายอย่างแท้จริง

ประเด็นที่สอง ความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน เนื่องจากที่ดินเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรม จากเดิมที่ชุมชนใช้ที่ดินในเชิงเกษตรกรรม เมื่อมีกลุ่มทุนที่ต้องการพัฒนาพื้นที่จึงเกิดการเข้าไปกว้านซื้อที่ดิน ส่วนมากเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือที่ดินราคาถูก ซึ่งอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพจริงๆ ในการทำอุตสาหกรรม ปัญหาที่ตามมาคือ คนดั้งเดิมที่เคยมีที่ดินทำกินก็ขาดที่ไป แต่ก็จำเป็นต้องขาย เพราะที่ดินบางผืนก็ไม่สามารถทำเกษตรกรรมให้เกิดรายได้ได้

ข้อเสนอแนะคือ ควรจัดทำฐานข้อมูลการถือครองที่ดินในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การวางแผนจัดการที่ดินและการวางผังเมืองที่ดีขึ้น ทั้งควรมีมาตรการจำกัดการถือครองที่ดิน เช่น มาตรการทางภาษีที่ดิน ในขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมให้คนในพื้นที่ใช้ที่ดินทำการเกษตรได้จริง มีมาตรการส่งเสริมราคาพืชผลการเกษตรเพื่อไม่ให้คนในพื้นที่ต้องขายที่ดินให้นายทุน

ประเด็นที่สาม ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากผังเมือง กระบวนการวางผังเมืองยังอยู่ในอำนาจของกรมโยธาธิการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เปิดให้คนในชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เมื่อผังเมืองเป็นกฎหมายรอนสิทธิ จึงไม่มีมาตรการชดเชยใดๆ เช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงกับการที่เมืองไม่ได้รับการพัฒนา จึงอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษี การคลังเข้ามาช่วย

ในแง่ของการปฏิบัติ เมื่อมีการวางผังเมืองก็มักจะถูกต่อต้านจากกลุ่มทุนที่ถือครองที่ดินบริเวณนั้น เช่น พื้นที่อุตสาหกรรมควรจะอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม แต่กลุ่มนายทุนถือครองที่ดินจะพยายามผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็ย้อนกลับไปในประเด็นความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน

ขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาว่า โรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนไม่มี ‘พื้นที่กันชน’ (buffer zone) ระหว่างกัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการกำหนดรัศมีออกจากโรงงานเท่านั้น เพราะในบางกรณี โรงงานได้แพร่กระจายกลิ่น มลพิษเข้าไปในอากาศและแหล่งน้ำ ซึ่งรัศมีรอบโรงงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การกำหนดพื้นที่กันชนจึงยังเป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขต่อไป

ข้อเสนอในประเด็นนี้ก็คือ ควรให้ท้องถิ่นได้วางผังเมืองชุมชนของตัวเอง เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการต่อรองกับกระบวนการวางผังเมืองของรัฐ และควรมีมาตรการชดเชยเมื่อมีการลิดรอนสิทธิจากการวางผังเมืองที่ไม่เป็นธรรม

ประเด็นที่สี่ ความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงข้อมูล ชุมชนรอบข้างไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของสารเคมีในโรงงาน ทำให้ไม่สามารถวางแผนป้องกันสิ่งอันตรายและภัยพิบัติได้ และถึงแม้จะรู้ชื่อของสารเคมีแล้ว ก็อาจยังไม่รู้ว่าสารเคมีนั้นๆ มีผลกระทบร้ายแรงแค่ไหน กล่าวคือมี ‘ข้อมูล’ แต่ยังไม่มี ‘ความรู้’ ที่เพียงพอ

ข้อเสนอแนะคือ โรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเรื่องสารเคมี และปัจจัยการผลิตของโรงงานให้ชุมชนโดยรอบรับรู้ คล้ายกฎหมายรับรองสิทธิการรับรู้ของสหรัฐอเมริกา หรืออาจจำเป็นต้องให้นักวิชาการเข้าไปให้ความรู้ในชุมชนถึงอันตรายของสารเคมี

 

ที่ซุกหัวนอนของคนจนในเมืองท่องเที่ยว

ดร.กฤษณะ แพทย์จะเกร็ง

 

“เมืองท่องเที่ยวเติบโตได้ด้วยเศรษฐกิจ มีการค้า การบริการ เพราะฉะนั้นต้องการแรงงานแน่นอน แรงงานก็อพยพเข้ามาเป็นวงจรอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา จากการที่ผมลงพื้นที่ คนในบางพื้นที่บอกว่า แรกๆ ก็มาเพื่อหางานทำเท่านั้น ไม่คิดว่าจะอยู่ยาว ทำไปทำมาท้ายสุดอยู่กันเป็นสิบปี

“พออยู่นานมากขึ้นก็เริ่มมองหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองแล้ว แต่การหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองก็เป็นไปได้ยาก เพราะในเมืองท่องเที่ยว ที่ดินมีราคาสูงและที่อยู่อาศัยก็มีราคาแพงขึ้น ท้ายที่สุดตัวเองก็ไม่มีความสามารถในการจ่ายและไม่มีความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย” ดร.กฤษณะกล่าวถึงภาพรวมของปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของแรงงานในเมืองท่องเที่ยว

ดร.กฤษณะ อธิบายว่า ปัจจัยที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยในเมืองท่องเที่ยวคือ เรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยราคาแพง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีความมั่นคงทางรายได้ จึงไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อซื้อบ้านกับธนาคารได้

เมื่อศึกษาทบทวนตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ พบว่าการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาสการเข้าถึงที่อยู่อาศัย มีอยู่ 3 ประเด็น คือ หนึ่ง พัฒนาศักยภาพของแรงงานนอกระบบเพื่อให้สร้างรายได้มากขึ้น สอง ส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยให้สามารถทำได้ง่ายขึ้น และสาม สร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานโดยเน้นไปที่สวัสดิการ

พัทยา เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย และมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก จากการศึกษา ดร.กฤษณะมีข้อเสนอแนะอยู่ 3 ข้อ ประกอบด้วย

หนึ่ง เพิ่มทางเลือกของรูปแบบการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างโอกาสสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้แตกต่างกัน กลุ่มแรงงานที่มีศักยภาพในการผ่อนส่งที่แตกต่างกัน

สอง สร้างระบบทางการเงินที่มีความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางด้านรายได้ เช่น ใช้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนต่างๆ

สาม มีการติดตามและประเมินผล เพื่อให้ทราบสถานการณ์ว่ายังมีกลุ่มคนที่เดือดร้อนอยู่เท่าไหร่

จากข้อเสนอแนะ 3 ข้อข้างต้น ทีมวิจัยได้พัฒนารูปแบบทางเลือกใหม่มาจำนวน 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบแรก การซื้อที่อยู่อาศัยผ่านระบบสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์ หรือกองทุน มุ่งเน้นให้แรงงานนอกระบบมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สร้างระบบการออมและเงินทุนสำรอง อาจต้องมีการอุดหนุนเงินทุนจากรัฐเป็นบางส่วน เริ่มจากการรวมตัวของกลุ่มแรงงานนอกระบบในลักษณะของสหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ แล้วเสนอขออนุมัติสินเชื่อจากการเคหะ หรือ ธกส. ให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ท้ายสุดก็นำเงินไปพัฒนาต่อเป็นที่อยู่อาศัย

รูปแบบที่สอง ใช้การเช่า มุ่งเน้นให้มีที่อยู่คุณภาพ ปลอดภัย อยู่ใกล้ที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ กลไกที่สำคัญคือการสร้างระบบการออมและเงินทุนสำรอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่นเดียวกับการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และท้ายสุดก็คือการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการปันผลกลับไปที่ตัวกลุ่มแรงงานนอกระบบ

“กระบวนการกิจกรรมดำเนินการพัฒนากลไกต่างๆ ต้องมีการสร้างความไว้วางใจ โปร่งใส และที่สำคัญต้องมีการจูงใจคนที่จะผ่อน ด้วยยอดผ่อนชำระตามความสามารถที่จะจ่าย มีหลายทางเลือกว่าจะผ่อนมากผ่อนน้อย แล้วท้ายสุดเราก็จะได้ที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคง มีคุณภาพดี และนำไปสู่การสร้างระบบชุมชนขึ้นมา ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะถูกเรียนรู้ต่อยอดวนเวียนกลับไปเรื่อยๆ” ดร.กฤษณะ กล่าวสรุป

 

คุณค่าคน ไม่เท่ากับมูลค่าเมือง

ดร.กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล

 

งานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นของ ดร.กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล จากวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโจทย์ของเมืองศูนย์กลางที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากเศรษฐกิจ กับคุณค่าของคนที่อยู่ในเมือง

“เราไม่ปฏิเสธว่าเมืองศูนย์กลางคือเมืองที่ทุกคนเข้ามาหาโอกาสทางเศรษฐกิจ และตอบโจทย์เศรษฐกิจให้กับทุกๆ ชีวิต แต่ไม่ใช่คนหรอกหรือที่สร้างให้เมืองเติบโตขึ้นมา แต่พอเมืองเติบโตขึ้นมา เศรษฐกิจกลับผลักคนทิ้งออกไป ผลักคนออกจากพื้นที่ประวัติศาสตร์ แต่บอกว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความหลากหลายและงดงาม อุดมไปด้วยวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ เป็นความย้อนแย้งที่ปรากฏมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน” ดร.กาญจนา กล่าว

ในหัวข้อนี้ ประเด็นแรกที่งานวิจัยนำเสนอคือ จากการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ มากว่า 50 ปี ณ วันนี้ชุมชนเก่าจำนวนมากถูกขับออกไปโดยการพัฒนาคมนาคมและการพัฒนาพื้นที่เพื่อเศรษฐกิจ ปัญหาสำคัญของเมืองศูนย์กลางคือความเหลื่อมล้ำในวัฒนธรรม ซึ่งผู้คนไม่มีสิทธิในวิถีชีวิตของตัวเอง

“กรุงเทพมหานครเติบโตจากการเป็นย่านชุมชน มีการพูดถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ไม่มีการอนุรักษ์ ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำทางสิทธิทางวัฒนธรรม”

ประเด็นที่สอง เรื่องคน (จน) เมือง ในกรุงเทพฯ มีผู้คนหลากหลายเข้ามาหาโอกาส แต่คนจำนวนมากถูกกีดกันจากสิทธิในการมีวิถีชีวิตที่ดีและเท่าเทียม จากคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมของเมือง และวิถีชีวิตของเมือง

ในงานศึกษาชิ้นนี้ ใช้กรณีจากชุมชนหนองแขมซึ่งอยู่กับเรื่องของการจัดการขยะ ผู้คนทิ้งขยะเพื่อให้บ้านสะอาด โดยที่ไม่รู้ว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีการจัดการขยะ ไม่ได้รับสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เท่าเทียม รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่ควรจะได้ในฐานะสมาชิกของเมือง

“การนิยามทางกฎหมายที่จะต้องพูดถึงสิทธิชุมชนในที่นี้ จะต้องรวมเอาวิถีชีวิตและความเป็นมาที่ทำให้เขาได้เล่าเข้าไปในตัวบทกฎหมายเพื่อแก้ไข เราจะต้องพูดถึงในสิ่งที่อาจจับต้องไม่ได้ เช่น วิถีชีวิต มีงานวิชาการจำนวนมากสนับสนุนแต่ไม่เคยถูกใช้

“ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วม เป็นปัญหาทั่วไปของสังคมไทยและความเหลื่อมล้ำ เสียงที่ถูกพูดออกมาไม่เคยถูกบรรจุลงไปในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กลไกในการผลักให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริงไม่เกิดขึ้น

“ดังนั้นงานวิจัยของเราในชุดนี้ ได้มีการเสนอเรื่องของกลไกในการผลักดันการมีส่วนร่วม เรื่องของโครงสร้างการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบ รวมถึงการผลักดันเรื่องการนิยามตัวเอง

“พื้นที่เมืองหลวงเป็นพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงเร็ว การพัฒนาเมืองศูนย์กลางต้องไม่ใช่แค่การแช่แข็ง มีตึก มีปูน มีอิฐ แต่ไม่มีคน ต้องเข้าใจว่าคนมีกระบวนการเปลี่ยนแปลง

“เราไม่มีสิทธิไปแช่แข็งวิถีชีวิตใครพอๆ กับที่เราไม่มีสิทธิในการไปผลักไสคนที่มีส่วนร่วม หรือคนที่สร้างพื้นที่ให้มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตให้กับเมืองเช่นเดียวกัน

“เราหวังว่าเมื่อวันนึงเราเห็นคุณค่าคนได้เท่ามูลค่าเมือง เมืองจะยิ่งมีมูลค่ามากขึ้น เมืองศูนย์กลางจะเป็นเมืองที่มีความหลากหลาย มีทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ทอดทิ้งคน และเห็นแก่มูลค่าคนที่เท่าเทียมกัน” ดร.กาญจนา กล่าวสรุป

 

เสียงจากคนในชุมชน

 

ถัดจากนโยบาย นี่คือเสียงจากคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ชุมชนระยอง: ณัฐพงษ์ นุชเจริญ

ชุมชนโดนบีบทุกทางเลย คนไม่สามารถอยู่ตรงนั้นได้เลย แต่สิ่งสำคัญก็คืออยากให้คนอยู่ร่วมกับเมืองที่กำลังพัฒนาได้”

 

ชุมชนหนองแขม : บรรจง แซ่กึ้น

“…คนกรุงเทพครึ่งเมืองเป็นหนี้บุญคุณเรา เพราะพวกคุณสร้างขยะ แต่พวกเราคัดแยก รีไซเคิลขยะ ด้วยแรงงานของเด็ก ผู้หญิง และคนชรา”

 

ชุมชนนครพนม : นงลักษณ์ อัศวสกุลชัย

“เราอยู่คู่กับเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดนครพนม แต่คนนครพนมไม่มีสิทธิที่จะทำธุรกิจของชุมชน เช่น เราทำข้าวอินทรีย์มูลค่ามากมาย เราก็อยากเป็นผู้ผลิต เป็นผู้ส่งออกข้าวขายทั่วประเทศหรือเป็นผู้ส่งออก แต่เราไม่สามารถที่จะก่อสร้างอะไรได้เลย เพราะขออนุญาตไม่ได้”

 

ชุมชนป้อมมหากาฬ : พรเทพ บูรณบุรีเดช

การพัฒนาเมืองต้องเห็นคนสำคัญ อย่าทำลายล้าง ให้คนออก เอาแต่วัตถุ”

 


 

เชิงอรรถ

[1] สำนักงานยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ. สิงหาคม 2559. เขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย. กรุงเทพฯ.

[2] สำนักงานยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ. พฤษภาคม 2561. PowerPoint: นโยบายเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (ภาษาไทย).

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save