fbpx
ทำไมการเมืองทำให้คนเราเป็นบ้า

ทำไมการเมืองทำให้คนเราเป็นบ้า

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองถึงได้ดูเหมือน ‘คนบ้า’ ได้มากขนาดนั้น

ต้องออกตัวไว้ก่อน ว่าคำว่า ‘บ้า’ ในที่นี้ ไม่ใช่ศัพท์ทางจิตวิทยาที่หมายถึงอาการป่วยทางจิต หรือที่เรียกว่า mental illness นะครับ แต่เป็นภาษาปากที่เอาไว้ใช้บรรยายถึงอาการทั่วไป ที่น่าจะตรงกับคำว่า crazy มากกว่า

หลายคนอาจคิดว่าความบ้าเหล่านี้เกิดขึ้นได้แต่กับฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ชอบแสดงออกด้วยท่าทีเสียงดัง คุกคาม แสดงอำนาจ อย่างที่เรียกกันว่าเป็นโรคโอหังคลั่งอำนาจ (Hubris syndrome) หรือกระทั่งมีอาการต่อต้านปัญญา (Anti-intellectualism) ในหมู่ผู้นิยมชมชอบเผด็จการ เพราะปัญญาหรือความฉลาดจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อไปให้ถึง ‘ความจริง’ แต่วิสัยเผด็จการนั้นไม่ชอบการตรวจสอบ เราจึงเห็นอาการ ‘ชิงชังปัญญา’ ในหมู่ผู้นิยมเผด็จการได้มากทีเดียว และคนเหล่านี้จะมีสำนึกอนุรักษ์นิยมที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรในโลก

แต่ ‘ความบ้า’ ทำนองนี้ไม่ได้เกิดแค่กับฝั่งอนุรักษ์นิยมอย่างเดียว ฝั่งเสรีนิยมก็ถูกมองว่า ‘บ้า’ ได้เหมือนกัน นักเขียนระดับรางวัลพูลิตเซอร์ และนักจิตวิทยาผู้ร่ำเรียนวิชาแพทย์มาจากฮาร์วาร์ดอย่าง ชาลส์ เคราแธมเมอร์ (Charles Krauthammer) เคยบัญญัติศัพท์คำว่า derangement syndrome ซึ่งจริงๆ ต้องมีคำว่า Bush หรือ Trump นำหน้าด้วย กลายเป็น Bush derangement syndrome (BDS) หรือ Trump derangement syndrome (TDS) ขึ้นมาเพื่อบรรยายถึงพวกเสรีนิยมที่มีอาการ ‘หวาดระแวง’ จอร์จ บุช หรือโดนัลด์ ทรัมป์ เสียจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนเป็นนโยบายที่ชอบธรรม หรืออันไหนเป็นบุคลิกส่วนตัว

ซึ่งถ้านำเรื่อง derangement syndrome มาใช้ในไทยในรอบหนึ่งถึงสองทศวรรษที่ผ่านมา เราก็อาจเห็นปรากฏการณ์ TDS ได้เหมือนกัน แต่ตัว T ในที่นี้ไม่ใช่ทรัมป์ ทว่าคือทักษิณ ชินวัตร พูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งได้ว่า TDS ก็คืออาการ ‘กลัวผีทักษิณ’ นั่นเอง

จะเห็นได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม เรามีโอกาสตกไปอยู่ใน ‘บ่วงความบ้า’ ได้ไม่ต่างกันเท่าไหร่ เพียงแต่เป็นความบ้าที่มาจากคนละมุมมองเท่านั้นเอง แต่โดยเนื้อแท้อาจเป็นความบ้าแบบเดียวกันก็ได้ (ย้ำอีกทีว่าคำว่า ‘ความบ้า’ ในที่นี้คือคำพูดภาษาปากแบบหลวมๆ ไม่รัดกุม และไม่ใช่อาการป่วยทางจิต)

คำถามก็คือ ก็แล้วทำไมการเมืองถึงผลักดันให้เรา ‘บ้า’ กันได้ขนาดนี้

เชื่อหรือไม่ว่า คำตอบหนึ่งฝังตัวอยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ตลอดระยะเวลานับแสนนับล้านปี

สมองของเราวิวัฒนาการมาในโลกที่เต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ ตลอดเวลา เราเจอเสือ หมี หมาป่า น้ำป่า แผ่นดินถล่ม คนเผ่าอื่นมารุกราน การรบราฆ่าฟัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือภัยคุกคามที่สมองของเราเคยคุ้นมาตลอด สมองของเราจึงต้อง ‘ตอบสนอง’ กับภัยเหล่านี้มาตั้งแต่มนุษย์ยังเป็น Hominid หรือเป็นมนุษย์ต้นแบบก่อนหน้าที่จะเกิด Homo sapiens ขึ้นมาด้วยซ้ำ พันธุกรรมแบบนี้ก็ส่งต่อมาจนถึงมนุษย์ปัจจุบัน

เราอาจคิดว่า ในยุคปัจจุบัน มนุษย์คุ้นชินกับความสงบแล้ว เราไม่ได้มีภัยอันตรายอะไรมากมายแล้ว เดินไปในเมืองก็ไม่ต้องระวังเสือย่องมาคาบ น้ำป่าไหลหลาก็มีน้อยลงกว่าเมื่ออยู่ในป่า เราไม่จำเป็นต้อง ‘ระแวงภัย’ อะไรมากนัก

แต่นั่นคือปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นกับเราเพียงชั่วระยะเวลาราวๆ หนึ่งถึงสองศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับวิวัฒนาการของสมองที่มีความเป็นมานับแสนนับล้านปี

สมองของเรามีวิวัฒนาการเหล่านี้ก็เพื่อให้เราอยู่รอดได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็คือคนที่ตื่นตัวกับภัยคุกคามต่างๆ มากกว่าคนที่ไม่ตื่นตัวเลย เพราะเป็นคนเหล่านี้นี่เองที่รอดชีวิตอยู่ได้ และสามารถส่งต่อพันธุกรรมของตัวเองมายังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ส่วนคนที่ไม่ตื่นตัวกับภัยคุกคามก็มักจะเอาชีวิตไม่รอด จึงส่งต่อพันธุกรรมมาได้น้อยกว่า

เมื่อมีภัยคุกคาม สมองของเราจะไปกระตุ้นให้เกิด ‘คลื่น’ ของสารเคมีหลายชนิด เพื่อให้ร่างกายของเราพร้อมรองรับหรือต่อสู้กับภัยคุกคามพวกนั้น เรียกรวมๆ ว่า Cortisol surge อย่างที่เรามักล้อกันว่าเวลาไฟไหม้ คนสามารถแบกตู้เย็นใหญ่ๆ ออกมาจากบ้านได้ด้วยตัวเองคนเดียว นั่นก็คือการทำงานของสารเคมีที่หลั่งออกมาจากสมองเหล่านี้นี่เอง

นอกจากความตื่นตัวกับภัยคุกคามแล้ว สมองของเรายังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรด้วย เหตุผลก็คือเพื่อความอยู่รอดอีกนั่นเอง ในช่วงแรกๆ เราอาจจะเป็นพันธมิตรกับฝูงเล็กๆ ที่เราอยู่ แต่เมื่อฝูงมนุษย์ใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น เป็นหมู่บ้าน เป็นเมืองเล็ก เป็นเมืองใหญ่ ก็ไม่มีทางที่เราจะเป็นพันธมิตรได้กับทุกคน เราจึง ‘เลือก’ ที่จะเป็นพันธมิตรกับคนบางกลุ่ม และโดยอัตโนมัติ ตามความคุ้นเคยของสมองที่ชินกับการมองหาภัยคุกคาม เราก็มีแนวโน้มจะมองเห็นคนอีกบางกลุ่มเป็นศัตรูหรือเป็นภัยคุกคามของเรา

ยิ่งฝูงหรือชุมชนเติบโตเท่าไหร่ สมองของสัตว์ในสปีชีส​์นั้นๆ ก็จำเป็นต้องเติบโตซับซ้อนตามกันไปด้วยเพื่อรองรับการสื่อสารที่ซับซ้อนขึ้น สัตว์สมองเล็กๆ มักจะอยู่กันเป็นฝูงเล็กๆ ฝูงเดียว แต่สัตว์ประเภทไพรเมตที่มีสมองใหญ่ จะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ที่ซับซ้อน ความซับซ้อนเหล่านี้เรียกว่า ‘สังคม’ ซึ่งสัตว์พวกนี้ (รวมถึงมนุษย์ด้วย) จะคอย ‘สแกน’ หาทั้งโอกาสทางสังคมและภัยคุกคามทางสังคมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องสแกนหาภัยคุกคามจาก ‘นอกฝูง’ เพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะเอาเข้าจริง ภัยคุกคามที่อาจจะมีมากกว่า ก็คือภัยคุกคามจากในฝูงเองนี่แหละ

การมองให้ออกว่าใครคือพันธมิตรจริงๆ ใครแสร้งว่าเป็นพันธมิตร อาจเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าสัตว์แต่ละตัวจะอยู่รอดได้หรือเปล่า ดังนั้น การคอยสแกนหาภัยคุกคามจึงค่อยๆ ‘เลื่อน’ จากภัยคุกคามภายนอกกลายมาเป็นภัยคุกคามภายในกลุ่มแทน

นี่เองที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘การเมือง’

การเมืองจึงไม่ใช่แค่เรื่องภายนอกที่ไม่ข้องเกี่ยวไปถึงสมองของเรา แต่มันฝังลึกอยู่ในการดำรงอยู่ของเราเลย บางคนจะ ‘ไว’ เอามากๆ กับคนที่มีความเห็นทางการเมืองเหมือนหรือต่างกับเรา พันธมิตรทางการเมืองนั้นทำให้เรารู้สึกดี เพราะมันรับประกันการ ‘อยู่รอด’ ของเราในระดับร่างกาย ทั้งยังเติมเต็มความต้องการทางสังคม (social needs) ของเราด้วย ในเวลาเดียวกัน การแยกแยะคนที่เห็นต่างออก แล้วจับเข้ารวมอยู่ในหมวดหมู่ศัตรู ก็ทำให้เราอุ่นใจได้ว่าจะไม่เผลอไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านี้

แต่การเมืองไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการอยู่รอดเท่านั้น ในมิติทางวัฒนธรรม การเมืองยังเป็นเรื่องของ ‘สถานะ’ ด้วย

ในสังคมที่ซับซ้อน สมองอันซับซ้อนของเราไม่ได้มองหาแค่ ‘ความอยู่รอด’ (survival) เท่านั้น แต่ยังมองหา ‘ความเหนือกว่า’ (superiority) ด้วย ในบทความนี้ ของนักจิตวิทยาและนักประสาทศาสตร์อย่างลอเร็ตต้า เบรียนนิง บอกเอาไว้ว่าในโลกยุคใหม่ เราเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางตรงเพื่อแสดงความเหนือกว่าทางกาย (physical superiority) มาใช้การถกเถียงกันด้วยคำพูดเพื่อแสดงความเหนือกว่าทางศีลธรรม (moral superiority) ดังนั้น เพราะคนที่ ‘เหนือกว่า’ จะได้เป็นผู้ควบคุมฝูง ซึ่งก็คือการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้่สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการของตัวเองและพันธมิตรนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในหมู่พันธมิตรของเรานั้น ต้องยอมรับว่าแต่ละคนไม่ได้มีความเห็นที่เหมือนกันไปเสียทุกประการหรอก มีความแตกต่างทั้งเล็กใหญ่อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเมื่อไหร่เรายอมรับว่าใครอยู่ในสังกัดพันธมิตรแล้ว เราก็พร้อมจะบรรเทาความขัดแย้งในกลุ่มพันธมิตรของเรา (in-group conflicts) ด้วยการผลักความขัดแย้งนั้นไปนอกกลุ่ม (out-group conflicts) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องหา ‘ศัตรูร่วม’ ขึ้นมา เพื่อให้กลุ่มตัวเองมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อพร้อมต่อสู้กับศัตรูนอกกลุ่มนั่นเอง

จะเห็นว่า ปัจจัยต่างๆ ทั้งทางชีววิทยา มิติทางสังคม วัฒนธรรม และกลไกทางจิตวิทยา ล้วนถักทอสานรวมกันขึ้นมาเป็นตัวตนในทางการเมืองของเรา เป้าหมายหลักๆ ก็คือการ ‘อยู่รอด’ หรือ ‘อยู่เหนือ’ กว่าคนที่เราทึกทักว่าเป็นศัตรูของเรานั่นเอง ซึ่งถ้าหากเป็นแค่เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การเมืองมาถึงจุดแตกหักใหญ่ เราก็จะตีความเรื่องการเมืองทุกประเด็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ยอมไม่ได้ เพราะมักคุกคามความอยู่รอดของเราตามที่เราคุ้นชินมาตั้งแต่ยังเป็นลิงขนโฮมินิดอยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาฆ่ากันเพราะความคุ้นชินเหล่านี้ก็ได้ เนื่องจากมนุษย์ได้พยายามสร้างกลไกทางสังคมเพื่อลดความรุนแรงพวกนี้เอาไว้แล้ว โดยผ่านบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าที่ค่อยๆ ‘กล่อม’ ให้ความดิบเถื่อนที่เกิดจากชีววิทยาร่างกายสงบลง

ถ้าเรารู้อย่างนี้ได้ และฝึกสมองของเราได้ สารเคมีในสมองของเราก็จะไม่หลั่งไหลพลุ่งพล่าน เห็นอะไรก็ต้องถลกผ้าถุงวิ่งเอาไม้หน้าสามไปตีหัวอีกฝั่งไว้ก่อน และสังคมที่เราอยู่ก็อาจสงบลงได้ด้วยการพูดคุยเจรจากันโดยไม่ต้องพยายามสร้างศัตรูร่วมขึ้นมาตามความเคยชินทางวิวัฒนาการที่ฝังอยู่ลึกๆ ในสมองของเราจนเราไม่รู้ตัว

เพราะหากไม่เป็นอย่างนั้น ‘ความบ้า’ ตามนิยามแบบหลวมๆ ที่ว่า ก็อาจกลายเป็น ‘ความบ้า’ ที่เป็นอาการทางคลินิกหรืออาการป่วยทางจิตไปจริงๆ ก็ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save