fbpx
Policy forum นโยบายสู้วิกฤตเศรษฐกิจยุค COVID-19

Policy forum นโยบายสู้วิกฤตเศรษฐกิจยุค COVID-19

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

COVID-19 ไม่ได้นำมาซึ่งวิกฤตสุขภาพเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ด้วย

เศรษฐกิจเติบโตติดลบ 9% บริษัทและผู้ประกอบการเลิกกิจการหลายพันแห่ง คนตกงาน 4-7 ล้านคน คือตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นของมรสุมครั้งนี้ ไม่นับความลำบากยากเข็ญที่เห็นกันตำตา แบบไม่ต้องมีตัวเลขสถิติไหนมายืนยัน

นโยบายรับมือวิกฤตเศรษฐกิจจึงเป็นทั้ง ‘ความหวัง’ และ ‘ความน่ากังวล’ ในเวลาเดียวกัน เพราะหากรัฐบาลออกแบบนโยบายที่รับมือวิกฤตได้ดี ความเดือดร้อนย่อมบรรเทา และเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะฟื้นตัวเร็ว แต่หากรัฐบาลไร้สามารถ นโยบายเศรษฐกิจไม่ตอบโจทย์ ความทุกข์ร้อนของผู้คนย่อมยากจะหายไป ไหนจะเป็นการสูญเสียงบประมาณและโอกาสไปอย่างไม่น่าให้อภัย

101 Policy Forum  นโยบายสู้วิกฤตเศรษฐกิจยุค COVID-19 ชวน ปริญญ์ พานิชภักดิ์ พรรคประชาธิปัตย์, เผ่าภูมิ โรจนสกุล พรรคเพื่อไทย, ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล และอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า ตีโจทย์ 4 นโยบายเพื่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจในยุค COVID-19 : การช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากวิกฤต | แนวทางการใช้บาซูก้าทางการคลัง 1 ล้านล้านบาท | การสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคต | การแก้เศรษฐกิจผูกขาดและลดความเหลื่อมล้ำ

 

โจทย์ใหญ่ของวิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด-19

 

อะไรคือความท้าทายและปัญหาเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทย และสิ่งที่ต้องลงมือทำทันทีคืออะไร

ปริญญ์: โจทย์ท้าทายในช่วงโควิดมีอยู่ 4 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรกคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทรัพยากรมนุษย์ คนตกงานเยอะมากในช่วงวิกฤตโควิด และการว่างงานก็มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในภาคการเกษตร ปัญหาเศรษฐกิจที่เติบโตค่อนข้างช้ากว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และการที่เทคโนโลยีทันสมัยก้าวล้ำเข้ามา ทำให้หลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เป็น ตกงานไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญประเด็นแรก คือการสร้างงาน และสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมจะก้าวผ่านยุคโควิด กลายเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ทำยังไงให้คนมีความรู้ด้านดิจิทัล (Digital literacy) ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการเพิ่มรายได้ให้ตัวเองได้ นอกจากนี้ ผมคิดว่าภาครัฐต้องจ้างงานเองด้วย รัฐวิสาหกิจต้องโฟกัสเรื่องการฝึกงาน และการเทรนด์นิ่ง

ประเด็นที่ 2 คือความเหลื่อมล้ำ โควิดทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้คนที่เจ็บตัวไม่ใช่คนตัวใหญ่ แต่เป็นคนตัวเล็ก เป็น SME และ start up โจทย์คือจะทำอย่างไรให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจังจากภาครัฐ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาผู้ประกอบการให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในมิติโลกปัจจุบัน มีทั้งเรื่องเทคโนโลยีและบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติมาเกี่ยวข้อง เศรษฐกิจก่อนหน้านี้ก็เติบโตแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า รวยกระจุกจนกระจายกันอยู่แล้ว พอมีโควิดเข้ามาคนตัวเล็กก็คงไม่อยากอยู่ในสภาพเดิมที่เป็น ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ ภาครัฐต้องเข้ามาบาลานซ์ความเป็นธรรมอย่างจริงจัง

ประเด็นที่ 3 เราต้องเข้าใจว่าโลกยุคหลังโควิดจะมีเปลี่ยนแปลงของ cluster การผลิตในระดับโลก และมีกระแส localization เกิดขึ้น ห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งอันที่จริงเกิดขึ้นตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ในบริบทเช่นนี้ เราต้องมียุทธศาสตร์ทางการต่างประเทศที่ชัดเจน ต้องคิดตั้งแต่ระดับประเทศ อาเซียน ภูมิภาคย่อย เช่น กลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เม็ดเงินที่เราจะไปลงทุนต่างประเทศจะจัดการอย่างไร จะดึงดูดกลุ่มประเทศไหนมาร่วมกับเรา กลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่เราจะสร้าง Cluster ใหม่ ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ จะเอาอย่างไร ประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ต้องคิด

ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ประชาชนต้องการรัฐที่ตรวจสอบได้ ทำยังไงให้ประชาชนมีส่วนแบ่งในผลประโยชน์ร่วมกันในโลกาภิวัตน์ยุคใหม่ และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เราต้องสร้างสถาบันที่เป็นกลาง มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เช่น เรามีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องปลาใหญ่กินปลาเล็กอยู่ เรามีองค์กรอย่าง ป.ป.ช. แต่ก็ยังเกิดการทุจริตในหลายๆ โครงการ โจทย์คือ จะออกแบบกฎกติกาอย่างไรเพื่อสร้างโลกยุคใหม่หลังโควิดที่จะใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีส่วนรั่วไหลน้อยที่สุด

ทั้ง 4 เรื่องนี้ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ไม่สามารถใส่ใจเรื่องแรงงาน แล้วละเลยการคอร์รัปชันได้ การพัฒนายุคหลังโควิดจะมองแยกเป็นทิศทางเดียวเลยไม่ได้ เพราะความท้าทายเข้ามาหลายมิติ เหนือสิ่งอื่นใด การเติบโตทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราโฟกัสแต่เรื่องปริมาณ เช่น GDP แต่ไม่โฟกัสคุณภาพในการเติบโต เราต้องวัดกันที่ตัวชี้วัดใหม่ๆ เช่น pisa idex ด้านการศึกษา gini coefficient เรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือตัวชี้วัดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อว่าด้วยการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ ต้องผสมผสานตัวชี้วัดเชิงปริมาณเข้าด้วยกัน

 

เผ่าภูมิ: ก่อนจะพูดถึงอนาคตและความท้าทาย เราต้องเข้าใจปัญหาและเข้าใจว่าวิกฤตนี้ต่างจากวิกฤตที่ผ่านมาอย่างไร วิกฤตโควิดแตกต่างจากวิกฤตในอดีตโดยสิ้นเชิง เพราะกระทบทั้งด้าน Supply Side และ Demand Side พร้อมๆ กัน ผลกระทบด้าน Supply Side เกิดขึ้นจากการตัดตอนของห่วงโซ่อุปทานและมาตรการ Social Distancing ส่วนด้าน Demand Side เกิดขึ้นจากการตกงาน การสูญเสียกำลังซื้อ และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างหยุดชะงัก

ตอนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540 เราเจอวิกฤตด้านการเงินธนาคาร และบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่ยังรอดอยู่คือภาคการเกษตร จึงมีหน่วยที่รองรับความเดือดร้อน ประกอบกับตอนนั้นค่าเงินบาทเราอ่อน โลกไม่ได้มีปัญหามาก เราก็ยังส่งออกได้ ประเทศเราจึงฟื้นเศรษฐกิจค่อนข้างเร็ว ตอนวิกฤตซัพไพรม์ ปัญหาเกิดขึ้นในฝั่งอเมริกาเป็นหลักและกระเทือนต่อเราไม่เยอะ อเมริกาฟื้นตัวเร็ว ทั้งโลกไม่เดือดร้อน แต่วิกฤตโควิดแตกต่างไป เพราะเดือดร้อนทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังเดือดร้อนพร้อมๆ กันทั้งโลก เพราะฉะนั้นทางออกจึงค่อนข้างจำกัด

อีกประเด็นที่ต้องถกเถียงกันคือ ความรุนแรงของการระบาดไม่ได้แปรผันตรงกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเยอะ ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าประเทศที่ผู้ติดเชื้อน้อย เช่น ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 3 พันกว่าคน อเมริกามีผู้ติดเชื้อเป็นล้านคน แต่ตัวเลขการว่างงานพอๆ กัน เพราะมีปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะที่เกี่ยวข้อง และต้องดูว่ามาตรการสาธารณสุขมันรุนแรงแค่ไหน กระทบกับเศรษฐกิจมากมายขนาดไหน

มีปัจจัย 3 ข้อที่จะบอกว่าประเทศไหนได้รับผลกระทบที่เกิดจากโควิดมากกว่ากัน

ปัจจัยแรกคือ ความเปิดของเศรษฐกิจ ประเทศที่ส่งออกและมีนักท่องเที่ยวเยอะจะได้รับผลกระทบหนัก ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ปัจจัยที่สอง คือ  ความเข้มข้นของการใช้แรงงานในภาคการผลิต (labour intensive) แต่ใช้เทคโนโลยีต่ำ มาตรการ Social Distancing และการล็อกดาวน์จะกระทบในส่วนนี้สูง ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนได้รับผลกระทบหนักในเรื่องนี้

ปัจจัยที่สามคือ มาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการถูกต้องถูกเวลาไหม ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญอยู่ 3 ประเด็นที่จะทำให้เราไม่เจอผลกระทบที่ร้ายแรงจนเกินไป หนึ่ง ภาคธุรกิจ หรือ ภาค Supply Side ต้องไม่ตายจากตลาด สอง แรงงานต้องไม่ตกงานเยอะเกินไป และสาม ผลกระทบทั้งหมดต้องไม่ลงสู่สถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศ รัฐบาลควรยึดว่า 3 ข้อนี้ต้องไม่เกิดขึ้น หากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ผลกระทบจะบานปลายทันที

ลักษณะการฟื้นตัวของวิกฤตเศรษฐกิจเท่าที่สังคมคุยกัน มีทั้งแบบ V shape, U shape และ L shape ถ้ามาตรการที่เราทำอยู่ผิดพลาด อัตราการฟื้นตัวของเราอาจจะแย่มากๆ จนเป็น U shape หรือถ้าแย่จนผลกระทบลงสู่สถาบันการเงินเมื่อไหร่ อาจจะเป็น L shape ด้วยซ้ำ

ข้อจำกัดสำคัญของไทยคือ เราเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด การบริโภคภายในไม่ได้เข้มแข็งเพียงพอจึงต้องไปพึ่งพิงต่างชาติมาก สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้แต่ยังไม่ได้ทำ คือการป้องกันการตกงาน ประเทศอื่นทั่วโลกมีมาตรการที่เข้าไปจ่ายเงินตรงผ่านบริษัทเพื่อดำรงให้เกิดการจ้างงาน ให้แรงงานไม่ตกงานเยอะเกินไป ของไทยเราไม่มีมาตรการนี้ การให้สินเชื่อต่างๆ ต่างประเทศเขาระบุเงื่อนไขไปเลยว่า คุณเอาสินเชื่อไป แต่คุณห้ามปลดคนงาน แต่ของไทยจะเห็นว่าเราปล่อยให้ตัวเลขการจ้างงานตกเหมือนน้ำรั่ว ผมคิดว่าตรงนี้คือข้อผิดพลาดและเป็นจุดอันตรายของประเทศไทย

 

ศิริกัญญา: ความท้าทายใหญ่ๆ ในโลกยุคระหว่างและหลังโควิด คือความไม่แน่นอน จนถึงวันนี้เรายังพูดไม่ได้เต็มปากว่า เราเข้าสู่ยุคหลังโควิดหรือยัง การแพร่ระบาดในหลายประเทศก็ยังไม่จบสิ้น ยังไม่รู้ว่าตกลงวัคซีนมาเมื่อไหร่ ยารักษามีไหม การระบาดทั้งในไทยและต่างประเทศ จะมีรอบสองรอบสามตามมาหรือไม่ ความไม่แน่นอนต่างๆ พวกนี้ทำให้เวลาวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ เราต้องทำเป็น scenario analysis (การวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตหลายๆ แบบ) มากกว่าการบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทันที เราต้องการนโยบายที่มีความยืดหยุ่นสูง เพราะภายใต้ความไม่แน่นอน การรับมือควรจะเตรียมไว้ในหลายๆ scenario และต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะตอบสนองในแต่ละกรณีอย่างไร

สิ่งที่เป็นปัญหาเร่งด่วนตอนนี้คือ ฐานล่างของเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้มีความเปราะบางอยู่แล้วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา วิกฤตครั้งนี้ไม่เหมือนต้มยำกุ้งอย่างหนึ่งคือ เราไม่มีภาคเกษตรคอยดูดซับการว่างงานของแรงงานอีกต่อไปแล้ว เพราะเราเจอทั้งโควิดและภัยแล้ง ไตรมาสที่ผ่านมา รายได้ของเกษตรกรลดลง 10% ซึ่งเกิดจากฝั่งการผลิตที่ลดลงจากภัยแล้งโดยเฉพาะ  แต่นโยบายของรัฐบาลอาจยังมองว่าภาคการเกษตรเป็นส่วนที่สามารถเอนหลังพิงในวิกฤตคราวนี้ได้อยู่

แรงงานในภาคการผลิตก็เจอ Supply Shock จากการหยุดการผลิตของแต่ละประเทศทั่วโลก และจะเจอ Demand Shock อีกรอบนึง จากการที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ถ้าดูประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากเป็น 10 อันดับแรกของโลกจะพบว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็น 10 อันดับแรก ประเทศเราเป็นประเทศเปิด และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานในภาคการผลิตได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และแม้การล็อกดาวน์จะสิ้นสุดลงเร็วๆ นี้ ก็ไม่ได้แปลว่าภาคการผลิตจะกลับมา อาจจะย่ำแย่ลงไปอีกด้วย เนื่องจากมาตรการของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือจากการปิดโดยเหตุสุดวิสัยก็จะหมดไป

ส่วนแรงงานภาคบริการไม่ต้องพูดถึง เพราะเรายังไม่รู้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาอีกครั้งเมื่อไหร่ ถึงแม้ว่าเราจะใช้การท่องเที่ยวในประเทศมาช่วย แต่การท่องเที่ยวในไทย ก็สร้างเงินได้แค่ 25–30% ของการท่องเที่ยวก่อนโควิดเท่านั้น ตอนนี้ภาครัฐควรต้องส่งสัญญาณแล้วว่า ภาคท่องเที่ยวของไทยต้องมีการปรับตัว เพราะศักยภาพที่ถูกดีไซน์มาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน คงจะไม่กลับมาในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่สำคัญคือ ถึงกลับมา ก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การช่วยเหลือด้านการจ้างงานเป็นส่วนที่ต้องลงมือทำทันที มีการคาดการณ์หลากหลายมาก ตั้งแต่ว่างงาน 2 ล้าน ถึง 10 ล้านคน เราจึงต้องคิดว่าภายใต้ scenario ต่างๆ การตกงานจะเกิดขึ้นแบบไหนบ้าง สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือรักษาการจ้างงานไว้ ก่อนที่จะเกิดการตกงานจริง เมื่อตกงานแล้วก็ต้องทำให้ตกแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ และสามารถหางานที่เป็นตัวเชื่อมช่วงสั้นๆ ทำให้คนไม่ตกงานในระยะยาวเกินไป เป็นงานชั่วคราวที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาท รวมไปถึงการทำให้การจ้างงานใหม่ๆ ในอนาคตเปิดกว้าง ทำให้คนที่ยังไม่มีทักษะสามารถปรับตัวและเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ได้

ภาคที่จะดูดซับแรงงานได้ดีที่สุดคืองานจากภาครัฐ การย้ายถิ่นฐานกลับชนบทเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากคนไม่มีงานทำ และค่าครองชีพสูง แต่จะคาดหวังให้เขากลับชนบทไปทำการเกษตรเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะขนาดการถือครองที่ดินหดเล็กลงมากเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว และมีปัญหาภัยแล้ง ดังนั้นงานชั่วคราว งานที่ใช้ทักษะขั้นพื้นฐานที่จ้างโดยรัฐ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดูดซับแรงงานในระยะสั้น

 

อรรถวิชช์: ผมเห็นว่าการจ้างงานโดยภาครัฐเป็นเรื่องเชย ถ้าเราจะจ้างเด็กฝึกงานเข้าไปอยู่ในภาครัฐ เด็กจะได้เรียนรู้น้อยมาก ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องการว่างงาน ต้องให้คนไปอยู่ในภาคเอกชนจะเหมาะสมกว่า และใช้เงินไม่เยอะ โดยรัฐเป็นคนจ่ายเงินให้คนฝึกงานเหล่านี้ ยกตัวอย่าง ถ้าเราให้เงินเดือนคนฝึกงานที่ว่างงานอยู่ที่ 1 หมื่นบาทต่อเดือน ก็ตกปีละ 120,000 บาทต่อคน ลองคูณเงินจำนวนนี้ต่อคนแสนคน จะใช้เงินอยู่ประมาณ 12,000 ล้านเท่านั้นเอง ถ้าเปรียบเทียบกับเงินกู้ 4 แสนล้านที่จะเข้ามากระตุกเศรษฐกิจ ผมว่ากระตุกแบบนี้ได้เรื่องได้ราวมากกว่า และถ้าให้เขาไปอยู่ใน SMEs หรือ Start Up สิ่งที่เขาเรียนรู้จะไม่ใช่แค่พิมพ์ดีดในระบบราชการ เขาจะได้อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจงานบริการ ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี กระทั่งการเกษตร มีความรู้ต่อยอดจนสามารถทำงานเองได้

ปัญหาการว่างงานเป็นเรื่องใหญ่ และที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดคือ SMEs รัฐต้องอย่าคิดว่าเงิน 5,000 หรือเงินช่วยเหลือเกษตรกรจะพอ ไม่พอเด็ดขาดเลย อีกเรื่องที่ต้องคิดคือ ตอนเมืองปิด ไม่น่ากลัวเท่าตอนเปิด เพราะตอนปิดเมืองมีรัฐช่วยเหลือ แต่ตอนเปิดค่าเช่าก็ต้องจ่ายปกติ จ้างคนก็ต้องจ้างปกติ  โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถลดต้นทุน SMEs ได้

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตมีโอกาสอยู่ ในปี 2003 จีนเจอปัญหาการระบาดของโรคซาร์ส พอแก้ปัญหาการระบาดได้ ภาคธุรกิจหนึ่งที่เติบโตมากคือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เถาเป่า (Tao Bao) ของอาลีบาบา เพราะคนคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โอกาสของประเทศไทยคืออะไร ผมเสนอคำว่า Trust Economy เมืองไทยต้องเชื่อใจได้ สามด้านที่ผมคิดว่าเป็นธุรกิจหลัก และเป็นจุดแข็งของไทย ที่ต้องทำให้แข็งแรงเข้าไปอีกคือ 1.ท่องเที่ยว 2. การรักษาพยาบาล 3.อาหาร

การรักษาพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนของเราไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายวันนี้ผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 บุคลากรทางการแพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกแล้วขณะนี้

เรื่องการท่องเที่ยว เราจะไปหวังตัวเลข 30-40 ล้านคน จากการท่องเที่ยวแบ็คแพ็คแบบสมัยก่อนไม่ได้แล้ว ต้องเชื่อมโยงให้ได้ว่า มาท่องเที่ยว แล้วมารักษาพยาบาลได้ด้วย มาอยู่ยาวๆ ได้ด้วย ขณะนี้เรามีมาตรการการกักตัว เห็นการใช้งบกักตัวแล้วเสียดายของมากครับ ถ้าคิดให้ดี ไปร่วมมือกับโรงแรม ทำแพกเกจดีๆ ผมว่าไปได้

เรื่องอาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในโลก และเป็นภัยคุกคามใหม่ที่จะเกิดในสงครามการค้า ขณะนี้โรงงานใหญ่ๆ ในจีนที่ต้องส่งอาหารไปยังสหรัฐอเมริกาเริ่มถูกยกเลิกออเดอร์เป็นจำนวนมาก ประเทศไทยกำลังจะได้ฐานตรงนี้กลับเข้ามา นอกจากเรื่องอาหารแล้วยังมีเรื่องยา ประเทศไทยขึ้นทะเบียน อย. ยากสุดๆ ทั้งๆ ที่จีนเขาชอบยาไทย แต่เรากลับไม่ดูว่าจุดแข็งเราคืออะไร

สุดท้าย พอเรามี Trust Economy ทำสามด้านให้แข็งแรงแล้ว อีกโจทย์หนึ่งคือ ทำยังไงให้เขารู้สึกว่า Work from Thailand ได้ ประเทศสวย รักษาพยาบาลดี อาหารการกินดี ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จะมาพร้อมกับ Soft Power เอาวัฒนธรรมของเราเป็นตัวตั้ง ทำเป็นหนังได้อย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลี ผมคิดว่าถ้าเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้ถ้า รัฐและราชการล้าหลัง

เรื่องเหล่านี้เริ่มทำได้เลย ไม่ต้องรอโควิดคลี่คลายก่อน เป็นโอกาสดีด้วย ขณะนี้เรามีเงิน 1 ล้านล้าน ลงไป 6 แสนล้านเพื่อการเยียวยา และ 4 แสนล้านเพื่อการฟื้นฟู แต่ผมเห็นงบแล้ว เหมือนว่า 4 แสนล้านจะเอามาหารเฉลี่ยตามพื้นที่ของ ส.ส. ไปลงเรื่องสาธารณูปโภคมากกว่า ซึ่งน่าเสียดาย

 

เจาะลึก ‘บาซูก้าทางการคลัง’

 

รัฐบาลได้ออกมาตรการ ‘บาซูก้าทางการคลัง’ เพื่อรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ และ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศฯ วงเงินรวมนโยบาย 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาท รัฐควรบริหารงบประมาณในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้อย่างไร และควรออกแบบนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อจากนี้อย่างไร

เผ่าภูมิ : มาตรการทางการคลังและเงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6-7% ของ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าไม่เยอะ ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ การใช้ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

วิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของเราเหมือนตกเหว โดยมีรัฐบาลเป็นคนผลัก เพราะสั่งให้เราหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การตกเหวนี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 คือระยะกำลังตกเหว เป็นช่วงที่เรายังควบคุมเรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุขไม่ได้ ระยะที่ 2 คือตอนอยู่ก้นเหว รอว่าจะเปิดเมืองเมื่อไร เปิดเศรษฐกิจเมื่อไร และระยะที่ 3 คือตอนขาขึ้นจากเหว ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวใกล้เคียง V-shape มากที่สุด

หากใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงขาลงเหวอาจไม่เป็นประโยชน์ เพราะเศรษฐกิจยังไม่เปิด ภาคธุรกิจและแรงงานยังมีปัญหา ดังนั้น ระยะแรกผมคิดว่าต้องใช้มาตรการช่วยเหลือด้านอุปทาน (supply) ให้สินเชื่อ soft loan อย่างไร ช่วยเหลือคนตกงานอย่างไร เช่น ในต่างประเทศมีการมอบเงินอุดหนุนค่าจ้าง (wage subsidy) ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญมาก แต่เราไม่ได้ทำ

ส่วนเรื่องการเยียวยาที่เข้าไปช่วยในช่วงแรกของการระบาด มี 2 หลักคิดซึ่งเป็นที่ถกเถียงกัน คือ ระบบเยียวยาถ้วนหน้า กับระบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Targeted) ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การแจกเงินในลักษณะนี้ ควรยึด 3 คำเป็นหลัก คือ Timely ถูกเวลา รวดเร็ว Temporary ใช้ชั่วคราวเท่านั้น และ Targeted เจาะให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

แต่เนื่องจากฐานข้อมูลของเรายังมีปัญหาอยู่ ดังนั้น ถ้าเราระบุกลุ่มเป้าหมายชัดเจนมาก ก็ยิ่งให้ความช่วยเหลือได้ช้าลง เป็นสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน ในมุมมองพรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ระบบถ้วนหน้าอาจเหมาะสมกว่าในตอนนี้ หากเราเสียเวลามาเจาะกลุ่มอาจจะเกิดปัญหา การจ่ายไปก่อนจึงอาจดีกว่า อย่างไรก็ตาม การเยียวยามีต้นทุนสูงมาก ถ้าเราทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ เปิดเมืองได้เร็ว การเยียวยาอาจไม่ต้องใช้งบประมาณมากหรืออาจไม่ต้องทำต่อก็ได้

นโยบายช่วงขาลงเหวอีกเรื่องหนึ่ง คือมาตรการ Soft Loan ซึ่งช่วยประคองสินเชื่อ ต่อลมหายใจให้บริษัทต่างๆ เป็นนโยบายที่มีหลักการดี แต่วิธีปฏิบัติกลับมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะสินเชื่อไม่สามารถลงไปสู่คนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ดังนั้น SMEs ที่อ่อนแอ ก็จะอ่อนแอและเข้าไม่ถึงสินเชื่อต่อไป แม้จะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำก็ตาม คนที่ได้ประโยชน์คือ SMEs ที่แข็งแรงและได้สินเชื่อถูกลงโดยไม่จำเป็นด้วยในบางที ข้อเสนอของผมเกี่ยวกับ Soft Loan คือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ต้องมีบทบาทมากกว่านี้ เพราะ KPI ของ SFIs ไม่ใช่กำไร ไม่ใช่ NPL แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นคุณยอมให้เกิดการขาดทุนได้ ไม่เหมือนกับแบงก์พาณิชย์

สำหรับมาตรการเกี่ยวกับตราสารหนี้ ผมค่อนข้างเห็นพ้องกับทางแบงก์ชาติว่าเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ แต่เรื่องช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการเอื้อต่างๆ คงต้องแยกกันพิจารณา เพราะทุกมาตรการมีข้อดีข้อเสียอยู่แล้ว และผมคิดว่าทางแบงก์ชาติก็แก้ไขช่องโหว่ด้วยการคิดดอกเบี้ยให้แพงกว่าตลาดได้ดีพอสมควร

เรื่องนโยบายฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช่วงขาขึ้น เราต้องตอบ 3 โจทย์ โจทย์แรก คือต้องสามารถซึมซับคนตกงานจำนวนมหาศาลนี้ได้ในเวลาสั้นๆ โจทย์ที่สอง คือต้องสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ และโจทย์ที่สาม คือต้องทำได้เร็ว ทำได้เลย

เพื่อตอบสามโจทย์นี้ ผมมองไปที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อดีตรง supply chain กว้าง ถ้ารัฐบาลสามารถจัดสรรลงพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ การจ้างงานจะเกิดขึ้นมหาศาล และเกิดขึ้นเร็ว เพราะใช้ทักษะต่ำ นอกจากนี้ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กยังสามารถเริ่มได้เลย และมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสูงในระยะยาว

นโยบายขาขึ้นอีก 2 เรื่อง หนึ่ง คือ แนวทางการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสิ่งที่ผกผันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากเราเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะตกลงเร็ว ตรงกันข้าม ถ้าเราลด อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเร็วเช่นเดียวกัน การทำในช่วงสั้นๆ จึงไม่ใช่นโยบายที่ผิด และสอง คือ ช่วงที่การส่งออกสามารถทำงานได้ ต่างประเทศฟื้นตัวแล้ว การทำให้ค่าเงินบาทอ่อนในช่วงนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อฉกชิงโอกาสเอาไว้

 

ศิริกัญญา : มาตรการทางการคลังที่เรียกว่า ‘บาซูก้าทางการคลัง’ จำนวน 1 ล้านล้านบาท อาจจะไม่ใหญ่พอสำหรับวิกฤตครั้งนี้ แต่ถ้าถามว่าตัวเลขเท่าไรถึงพอ ต้องดูว่าเราต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะเวลากี่ปี เช่น ถ้าใช้ภายใน 1 ปี ตัวเลข 4 แสนล้านบาทก็อาจจะเพียงพอ แต่ถ้าตั้งเป้าหมายเป็นการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างประเทศครั้งใหญ่ เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทคงไม่พอ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เรายังมีเม็ดเงินจากส่วนอื่น เช่น งบประมาณจากปี 2564-2565 ที่สามารถนำมาปรับใช้และปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้

เรื่องการเยียวยา ทางออกเดียวที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การเยียวยาถ้วนหน้า จริงอยู่ว่าการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพควรมีข้อผิดพลาดรั่วไหลให้นอยที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องข้อมูล จึงป่วยการหากต้องตรวจสอบกันไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ เราต้องเก็บเม็ดเงินบางส่วนไว้การเยียวยาถ้วนหน้าในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดรอบต่อๆ ไปด้วย

นอกจากใช้เงินเพื่อเยียวยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเยียวยาแรงงานนอกระบบแล้ว สิ่งสำคัญคือการช่วยพยุงการจ้างงาน ต้องช่วยทั้งฝั่งแรงงานและฝั่งผู้ประกอบการให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยอาจสมทบค่าจ้าง (wage subsidy) เพื่อคงอัตราการจ้างงานและช่วยแรงงานในระบบรักษาตำแหน่งงานไว้

อีกเรื่องหนึ่ง คือความมั่นคงด้านอาหาร (food security) เราอยู่ในประเทศที่เป็นครัวโลก ดังนั้น ไม่ควรมีใครต้องอดตาย รัฐสามารถทำได้ด้วยการอุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อนำมาทำเป็นธนาคารอาหารสำหรับประชาชน อารมณ์คล้ายกับตู้ปันสุข แต่ไม่ใช่บทบาทของประชาชน เพราะรัฐบาลมีหน้าที่หลักในการรับประกันว่าทุกคนจะไม่อดตาย คนจะตกงานน้อยที่สุด และ SMEs จะบาดเจ็บล้มตายน้อยที่สุด ประชาชนจะเป็นเพียงส่วนเสริมผ่านการบริจาค

ในส่วนของการฟื้นฟู ก่อนที่เราจะเริ่มดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้ทุกคนกลับมายืนได้ก่อน ด้วยการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ เพราะถ้ามีหนี้ค้ำคอทุกคนอยู่ จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรก็คงไม่ขึ้น อย่างหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน แค่หนี้ในระบบที่เราเห็นก็มีจำนวนมากแล้ว แต่ระหว่างการปิดเมือง ประชาชนต้องการสภาพคล่องเร่งด่วน ทำให้อาจพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น

ถ้าเราเปิดเมืองโดยไม่แก้ปัญหาเรื่องหนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือน และหนี้ SMEs ที่รอปรับโครงสร้างหนี้แต่ตอนนี้ถูกแช่แข็งไว้ 6 เดือนจากมาตราการธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะอัดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจแค่ไหน สุดท้าย การหมุนของเงินคงไปไม่ได้ไกล

ข้อเสนอเรื่องหนี้ครัวเรือนจึงมี 2 ข้อ ข้อแรก คือการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนจะเป็นหนี้เสีย (NPL) โดยปกติแล้ว ถ้าเราจะเข้าสู่โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารพาณิชย์ เราต้องปล่อยหนี้เน่า (NPL) ไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการใหม่ว่า สามารถทำได้ก่อนเป็นหนี้เสีย ทำให้ธุรกิจที่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนแปลง business model อย่างเร่งด่วนและไม่สามารถชำระหนี้ได้ในระยะสั้นๆ สามารถเข้าสู่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อนได้ มาตรการดังกล่าวออกมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ประชาชนอาจยังไม่ทราบหรือยังไม่เข้าใจว่ามีสิทธิตรงนี้ ธนาคารพาณิชย์เองก็อาจไม่ได้ประชาสัมพันธ์

ข้อที่สองคือ การเข้าสู่กระบวนการล้มละลายโดยสมัครใจของลูกหนี้รายย่อย พ.ร.บ.ล้มละลายของประเทศไทยระบุว่า การล้มละลายของบุคคลธรรมดาต้องมีหนี้อย่างน้อย 1 ล้านบาทเป็นต้นไป เมื่อล้มละลายสามารถขอยื่นฟื้นฟูได้ แต่กรณีที่เป็นหนี้เกษตรกร หนี้ส่วนบุคคลเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถทำได้ การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยล้มละลายอย่างสมัครใจและได้รับโอกาสใหม่ในการฟื้นฟูจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องทำให้เกิดการจ้างงานและเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งการทำโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กอย่างที่คุณเผ่าภูมิได้กล่าวไว้ก็สามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุนได้ดีที่สุด แต่อาจไม่เร็วที่สุด เพราะการทำโครงสร้างพื้นฐานอาจต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ยิ่งเป็นโครงการของรัฐยิ่งทำได้ช้าลง

เราเห็นว่ารัฐสามารถทำให้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะขั้นพื้นฐานและต้องตกงานระยะสั้นก่อนเศรษฐกิจจะฟื้นฟู ผ่านงานหลายประเภทที่ปกติภาครัฐอาจไม่สามารถทำได้ เช่น ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทำให้บริการสาธารณะดีขึ้น ทำฟุตปาธใหม่ ฟื้นฟูชายหาด อุทยานแห่งชาติ สร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยถ้ามีเงื่อนไขว่าต้องใช้แรงงานท้องถิ่นก็สามารถช่วยให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นได้ งานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ทันที ทำได้เร็ว และเป็นงานระยะสั้นที่ช่วยปิดช่องว่างคนตกงานได้

 

อรรถวิชช์ : เรื่องการจัดสรรงบประมาณ เราต้องแยกกันอย่างชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นการเยียวยา ส่วนไหนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะถ้าปนกันเมื่อไร จะหอมหวานสำหรับพวกสายคอร์รัปชันเลยนะครับ สำหรับการเยียวยาโควิด-19 ให้ไปอยู่ใน พ.ร.ก. ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้อยู่ในงบประมาณปี 2564 ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย และเราอาจจะโอนงบประมาณปี 2563 ที่ไม่ได้ใช้มาช่วยเรื่องการเยียวยาด้วย ซึ่งตอนนี้ผมเข้าใจว่า พ.ร.บ.โอนงบประมาณยังติดอยู่ที่สภาฯ ยิ่งช้าเท่าไร ต้นทุนของประเทศก็ยิ่งสูงมากขึ้น ฉะนั้น เราต้องเร่งเรื่องการโอน การเบิกจ่าย และแก้ไขปัญหาเรื่องระบบราชการล้าหลัง

ถ้าเรายังมีระบบราชการล้าหลัง จะทำให้ใช้นโยบายการคลังที่วางแผนไว้ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ ยกตัวอย่าง สมัยคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ มีการทำ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อวางระบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายได้ใช้ไปไม่กี่หมื่นล้านบาทเพราะใช้ไม่ทัน ในกรณีนี้เช่นกัน มีกำหนดว่าต้องดำเนินการกู้เงินให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนกันยายน ปีหน้า ถ้ามีระบบราชการล้าหลังจะทำได้ยาก

ทั้งยังมีเรื่องการเสนอแผนงานโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนจากแต่ละจังหวัด ซึ่งกำหนดให้ส่งสภาพัฒน์ภายในวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา คำถามคือถ้าให้เขียนโครงการภายใน 5 มิถุนายน เราจะได้โครงการใหม่ๆ ไหม? คำตอบคือไม่ครับ เราจะได้แค่โครงการเก่าๆ ที่คนเคยเขียนค้างไว้แต่ไม่ได้นำมาใช้ นี่เป็นวิธีคิดแบบราชการเดิมๆ

แผนฟื้นฟูเหล่านี้เป็นการใช้วงเงิน 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงินทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท ผมเชื่อว่าเงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้สร้างถนน สะพาน ทางน้ำ ทั้งที่พวกนี้ควรอยู่ในงบประมาณปี 2564 และทำไปทำมา เงินส่วนนี้อาจจะถูกจัดสรรตามสัดส่วน ส.ส. ในสภาฯ ว่าแต่ละพื้นที่ควรได้งบเท่าไร กลายเป็นงบ ส.ส. เป็นเบี้ยหัวแตกไป ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบได้ยากขึ้น เพราะผมเข้าใจว่าใช้กลไกตรวจสอบภายในของสภาพัฒน์และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ไม่ได้เผยแพร่ขึ้นเว็บไซต์ให้ประชาชนเห็นเหมือนโครงการไทยเข้มแข็ง

ในเมื่อเรามีกระสุนอย่างจำกัด จึงควรยิงใช้ให้ถูกที่ ผมคิดว่าวงเงินนี้ควรนำไปช่วย SMEs เรื่องต้นทุน ค่าเช่า เงินเดือน ดอกเบี้ย เพราะขณะนี้ เมื่อเปิดร้านแล้ว เขาเจอผลกระทบหนักกว่าตอนปิด ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะให้คนเข้าไปฝึกงานในระบบราชการ ผมคิดว่าถ้าให้เขาไปฝึกงานใน SMEs เหล่านี้จะได้ผลดียิ่งกว่า เพราะคนจะได้ทำงาน เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถนำไปสร้างธุรกิจของตัวเองได้ด้วย ถ้าเราลงทุนเรื่องเด็กฝึกงานในภาคเอกชน จ่ายให้คนละ 1 หมื่นบาทต่อเดือน รวม 1.2 แสนบาทต่อปี จ่ายให้ 1 แสนคน จะใช้เงิน 1.2 หมื่นล้านเท่านั้น และจะได้ประโยชน์กลับมามากกว่า

 

ปริญญ์ : การฟื้นฟูเศรษฐกิจเรื่องแรกที่ควรใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่าที่สุด วิกฤตรอบนี้ทำให้เราเห็นว่ายังลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเชิงสังคม (social infrastructure) น้อยไป เราจึงต้องลงทุนโครงสร้างที่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ประกันสังคม ประกันสุขภาพ เพื่อสร้างตาข่ายรองรับกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมไทยมีหลายกลุ่มที่ถูกละเลยอยู่แล้วก่อนโควิด-19 และเมื่อเกิดโควิด-19 ก็ยิ่งถูกซ้ำเติม เจอปัญหาหนัก

สำหรับการใช้เงินในรอบนี้ ผมจึงอยากให้เป็นการเร่งทำสิ่งที่ไม่เคยทำก่อนโควิด-19 ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องมีข้อมูลรายละเอียดกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กแรกเกิด ผู้พิการ ผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียงที่อาจไม่มีลูกหลานดูแล รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระ รัฐสามารถลงทุนเกี่ยวกับการสร้าง Big data ยุทธศาสตร์เชิงข้อมูล ซึ่งอาจไม่ได้ใช้แค่เรื่องดูแลกลุ่มเปราะบาง แต่ใช้กับเรื่องพัฒนาสินค้าเกษตรและกลยุทธ์ด้านพาณิชย์ได้ แก้ปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตรที่มีค่อนข้างเยอะ แต่จัดเก็บและส่งออกอาจไม่ดีนัก

นอกจากนี้ ผมเห็นด้วยว่าการใช้เงินรอบนี้ต้องเบิกจ่ายอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และการส่งออกสินค้าในอนาคตต้องปรับเปลี่ยน ผู้ส่งออกหลายคนบ่นเรื่องค่าเงินบาทแข็งตัว ซึ่งในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมมองว่าค่าเงินบาทไม่ได้แข็งตัวมากเกินไป และปัญหาไม่ได้อยู่ที่ค่าเงินบาท แต่อยู่ที่สินค้าของเราไม่มีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีนวัตกรรม ยังเป็นสินค้ายุคเก่า โจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้เกิดการวิจัยและพัฒนาสินค้า โดยมีกระบวนการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเชื่อมระหว่างเอกชน ภาควิชาการ และท้องถิ่น

อีกเรื่องที่อยากฝากไว้ คือเม็ดเงินต้องเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ผมอยากให้รัฐบาลจริงจังกับเรื่องนี้ เพราะฐานรากของเศรษฐกิจจะเติบโตได้ ต้องสร้างจากเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ยืนบนขาด้วยตัวเองได้ ยกตัวอย่าง การช่วยเหลือคือ หลายคนมักบ่นว่าพ่อค้าคนกลางเป็นคนที่กินส่วนแบ่งเยอะ ทำให้เกษตรกรไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ในความเป็นจริง ชุมชนมีสิ่งที่เรียกว่าสหกรณ์ เราควรทำให้ระบบสหกรณ์เข้มแข็ง ใช้ พ.ร.บ.สหกรณ์ให้ทันยุคสมัย ช่วยให้เกษตรกรมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ด้วยการเติมองค์ความรู้ด้านบัญชี การเงิน กฎหมาย การตลาด แบบออนไลน์และออฟไลน์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างคนและสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งมากขึ้น

ด้านการบริหารราชการ ผมก็เห็นด้วยว่าต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบราชการ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส เม็ดเงินมหาศาลในรอบนี้ต้องไม่สูญเปล่าหรือเสียไปกับการทุจริตคอร์รัปชัน ฉะนั้น เราสามารถใช้ลงทุนเพื่อสร้างระบบที่โปร่งใส นำ Blockchain มาใช้จัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งหลายแห่งบนโลกนี้เริ่มทำแล้วครับ บริษัทอย่าง SCG เองก็ทำแล้ว

การบริหารเรื่องจัดซื้อจัดจ้างจากกรมบัญชีกลางและหน่วยงานภาครัฐ ควรเป็น open government เปิดให้คนตรวจสอบได้ แต่ในวันนี้ ถ้าเราเดินเข้าไปในกรมบัญชีกลาง แล้วบอกว่าอยากตรวจสอบ อาจจะเจอเอกสารกองใหญ่ที่ทำให้คุณไม่เจอข้อมูลที่ต้องการใช้ ดังนั้น เราต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดข้อมูลให้เป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการให้คล่องตัว ทันสมัย มีข้อมูลของกลุ่มคนเปราะบาง คนตกงาน แรงงานอิสระและ SMEs

เรื่อง SMEs เองก็ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนคำนิยามแล้ว ตอนนี้เรามีทั้ง Micro SMEs ซึ่งเชื่อมโยงกับ Micro Finance ถ้าเราต้องการช่วย SMEs จริง เราต้อง reclassify ดูว่ากลุ่ม SMEs เป็นใคร ที่ไหน มีความต้องการอย่างไรบ้าง และมาจัดการช่วยเหลือให้เข้าถึงสินเชื่อ แหล่งเงินทุน ที่ถูกและเป็นธรรมท่ามกลางการแข่งขันที่โหดร้าย

ยกตัวอย่างเช่นสินค้าจากภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรสามารถทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ดูว่าตลาดโลกต้องการสินค้าอะไร แล้วแปรรูปให้ตรงความต้องการ หรือเรื่องการสร้างพืชเกษตรใหม่ของไทยอย่างสมุนไพร โกโก้ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าเราใช้วิธีบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงเกษตรกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรม ค้นหาตลาดใหม่และส่งออก ผมคิดว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

 

เศรษฐกิจแห่งอนาคต

 

เศรษฐกิจโลกในยุคโควิด-19 เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีการคาดการณ์ว่าโลกาภิวัตน์จะชะลอตัวลง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และห่วงโซ่การผลิตกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กและมีเศรษฐกิจแบบเปิด เศรษฐกิจแห่งอนาคตของไทยควรเป็นอย่างไร ไทยควรอยู่ตรงไหนในเศรษฐกิจโลก และนโยบายรูปธรรมสำคัญที่จะสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคตคืออะไร

ศิริกัญญา : เทรนด์โลกจากนี้กระแสโลกาภิวัตน์จะถูกสั่นคลอนและถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากโควิด จึงอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับคืนมา จึงมีกระแสการพูดถึงเรื่อง reverse globalization หลายประเทศเริ่มดำเนินนโยบายดึงเม็ดเงินนักลงทุนกลับประเทศ ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ ทุกคนเห็นแล้วว่าการเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวไม่ปลอดภัยอีกต่อไปจึงพยายามกระจายความเสี่ยงออกจากประเทศจีน ญี่ปุ่นให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับนักลงทุนที่ยอมย้าย supply chain จากจีนกลับญี่ปุ่น แต่ก็เปิดทางว่าให้ย้ายมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เช่นกัน วิกฤตนี้จึงเป็นโอกาสที่เราต้องคว้าไว้ให้ได้มากที่สุด

ประเทศไทยก็ต้องกลับมาโฟกัสที่เศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น เมื่อไม่สามารถพึ่งพิงการค้าและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศแบบเดิมได้ นอกจากเทรนด์เรื่องดิจิทัลดิสรัปชันหรือเศรษฐกิจผู้สูงวัยแล้ว ยังมีเรื่องความมั่นคงในความหมายใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงความมั่นคงทางการทหาร แต่คือเรื่องความมั่นคงทางสาธารณสุขและอาหาร

เรื่องการท่องเที่ยวที่ผ่านมาเราไม่ได้สนับสนุนอย่างมีทิศทาง เราเน้นการท่องเที่ยวเชิงทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป เหมือนขุดเอาทรัพยากรมาใช้เรื่อยๆ ถ้าจะเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพหรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก็ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะเฉพาะในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก และต้องดูสภาพแวดล้อม ทั้งฟุตบาท ทางลาดหรือลิฟต์

อีกหนึ่งเทรนด์คือเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เกาหลีใต้ถึงขั้นประกาศว่านี่คือ green new deal นี่เป็นเรื่องสำคัญและเป็นโอกาสให้เกิดการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน เพราะตอนนี้ภาคเอกชนคงไม่อยากลงทุนขยายเครื่องจักรหรือ capacity เพิ่ม แต่ถ้าเป็นการลงทุนที่ช่วยให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นหรือลงทุนด้านการใช้พลังงานทดแทนก็เป็นโอกาสสำคัญที่ภาคเอกชนในไทยต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ

 

อรรถวิชช์ : ผมอยากเห็น Trust Economy เกษตรทันสมัย และ Soft power

เรื่อง Trust Economy ผมได้พูดไปบ้างแล้วจึงไม่ขอลงรายละเอียดมากนัก ขอขยายอีกสองเรื่อง

ภาคเกษตร อะไรที่กินไม่ได้ต้องสนับสนุนเบาๆ หน่อย เช่น ปาล์ม ที่ตอนนี้ต้องเข้าไปช่วยสนับสนุน แต่ระยะยาวสินค้าเกษตรควรต้องปรับโฉมไปอยู่ในรูปแบบอาหาร ปลูกของที่กินได้ ปรับรูปโฉมให้มีมูลค่าเพิ่ม เกษตรต้องทันสมัย ในโลกปัจจุบันต้นทุนการเกษตรต่ำลงได้ถ้ามีเทคโนโลยี แต่ขณะนี้การนำเงินไปลงในภาคการเกษตรยังวนอยู่กับเรื่องการประกันรายได้หรือจำนำซึ่งเป็นการแก้ไขชั่วคราว อยากให้มองไกลขึ้น

เรื่องธุรกิจ Soft power การทำหนัง ละคร ดนตรี เป็นสินค้าส่งออกอย่างเกาหลี ผมอยากเห็นจารีตประเพณีวัฒนธรรมไทยหรือ Thainess ถูกส่งออกอย่างน่าสนใจ ต่างประเทศเขาอยากรู้ว่าทำไมเรามีพระมหากษัตริย์ในรูปแบบนี้มาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี ทำไมคนไทยมีความโอบอ้อมอารี ลักษณะพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ส่งออกได้ทั้งสิ้น ถ้าทำให้เขารู้สึกว่าเมืองไทยเป็นเมืองอบอุ่น อยู่แล้วปลอดภัย Trust Economy ก็เกิด ผมอยากเห็นการฉีกรูปแบบเศรษฐกิจแห่งอนาคตแบบนี้ในประเทศไทย

ตราบใดที่ระบบราชการยังล้าหลัง เศรษฐกิจแห่งอนาคตจะไม่เกิด เราต้องแก้ไขหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งจะทำได้ระบบราชการไทยต้องปรับโฉมวิธีคิด เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจในการระบายข้าว ถ้าจะตั้งบรรษัทข้าวแห่งชาติกล้าทำไหม ระบบราชการต้องถอดหัวโขนแล้วเข้าสู่การปฏิรูปจริงจัง

 

ปริญญ์ : เราต้องนำจุดแข็งมาขายในยุค 4.0 ใช้เทคโนโลยีทันสมัยสร้างมูลค่าเพิ่มจากเรื่องราวดีๆ ที่เรามีอยู่ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น เมืองอาราชิยามะ ประเทศญี่ปุ่น สมัยก่อนเป็นทุ่งนา มีรายได้ต่อหัวไม่สูง แต่รัฐบาลท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เป็นเมืองที่มีป่าไผ่สวยงาม มีร้านกาแฟดัง ก็สามารถดึงดูให้คนมาท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ประเทศไทยต้องกลับมาถามตัวเองว่าจะร้อยเรียงเรื่องราวขายในพรีเมียมแพกเกจได้อย่างไร หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น การทำโพสต์โปรดักชันในไทยเป็นอุตสาหกรรมใหญ่มากที่ฮอลลีวูดเองก็มาใช้บริการ ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล ในอนาคตเราต้องคิดเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องโลกให้ความสนใจมากขึ้นและไทยมีศักยภาพในการทำเรื่องนี้ได้ เรามีพลังงานบริสุทธิ์จากข้าว อ้อย แต่ความท้าทายคือ ทำอย่างไรจะพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนได้ ทำอย่างไรเศรษฐกิจสีเขียวจะนำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้ เช่น ถ้าเราสามารถทำให้ได้คุณภาพสินค้าอาหารปลอดภัยที่ยุโรปมองหาและพัฒนาไปสู่สินค้าเกษตรพรีเมียมได้ รายได้ต่อหัวของเกษตรกรน่าจะสูงขึ้นได้ด้วย

การวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการกำหนดเศรษฐกิจ เช่น ไทยจะอยู่ตรงไหนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (belt and road initiative – BRI) เราจะเอาอย่างไรกับอาเซียนยังต้องการผู้นำ ไทยจะเป็นผู้นำได้ด้วยอะไร แล้วจะเชื่อมโยงการค้ากับประเทศมหาอำนาจอย่างไรในอนาคต

โจทย์เกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยยักษ์ใหญ่คือความท้าทายใหม่ของทุกประเทศทั่วโลก เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงอำนาจเหนือตลาดของบริษัทแพลตฟอร์ม อย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก ไลน์ แอร์บีเอ็นบี หรือแกร็บ เพราะต่างชาติขายทุ่มตลาดต่ำกว่าทุนเพื่อแย่งตลาด จะกระทบเชิงลบกับเศรษฐกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก ดังนั้น การกำกับดูแลที่จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

เผ่าภูมิ : ผมเห็นแย้งเรื่อง supply chain คิดกันว่าจะเป็นลักษณะ deglobalization แต่ละคนจะพยายามผลิตในประเทศตัวเอง เพื่อกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากโควิด แต่อยากชวนคิดว่าถ้าโควิดจบ มีวัคซีน ประเทศจีนไม่ได้อยู่ในความเสี่ยงอีกต่อไป บริษัทใหญ่จะย้ายฐานการผลิตทั้งหมดออกจากจีนจริงหรือไม่ เพราะเวลาบริษัทจะลงทุนถิ่นฐานการผลิตต้องดูหลายปัจจัย เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ภาษี โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศจีนมีข้อได้เปรียบสำคัญคือ มีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ บริษัทต่างๆ ยอมทิ้งทั้งหมดเพื่อต้องการกระจายความเสี่ยงจริงหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่

ดังนั้นเรื่องที่จะต้องคุยและคิดกันเยอะ คือ เรื่องสิทธิประโยชน์ แรงงาน และสงครามการค้า มองในภาพกว้างจะเห็นห่วงโซ่อุปทานสองวงใหญ่ วงหนึ่งอยู่ทางอเมริกาใต้ อีกวงอยู่ทางเอเชีย นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น แล้วไทยจะอยู่ตรงไหน

เรื่องเศรษฐกิจอนาคต โควิดทำให้เกิดธุรกิจแฟนซีขึ้นมา บางอย่างเกิดขึ้นแล้วจะไม่กลับ เช่น ธุรกิจเดลิเวอรี การซื้อของออนไลน์ mobile banking แต่ธุรกิจแฟนซีอื่นที่คาดกันจะเกิดขึ้นจริงหรือ ถ้ามีวัคซีน แล้วทุกคนกลับสู่สภาวะเดิม ธุรกิจที่เกิดขึ้นมารองรับการเว้นระยะห่างทางสังคมจะยังอยู่หรือเปล่า

ในอนาคต โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยคือทำอย่างไรจะพึ่งพาต่างชาติลดลง ถ้าไทยต้องการพึ่งพิงกำลังซื้อในประเทศมากขึ้นฃเราต้องค่อยๆ ทำ เพราะกำลังซื้อในประเทศจะเยอะขึ้นก็ต่อเมื่อคนมีเงินมากขึ้น ซึ่งมาจากคนมีงานที่ดีขึ้น จึงต้องสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น ข้อจำกัดของไทยคือ ภาคการเกษตรกับภาคบริการมีข้อจำกัดพอสมควรในการเพิ่มผลิตภาพต่อหน่วย ปลูกอ้อยใช้เวลาเก็บเกี่ยว 10 เดือน ต่อให้พัฒนาเทคโนโลยีก็ลดเวลาได้สัก 30% หรือการจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีผลิตภาพต่อหน่วยเยอะ มีหนึ่งทะเลแล้วจะเพิ่มเป็นสองทะเลเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างมีข้อจำกัด

คำตอบของผมคือภาคอุตสาหกรรม อย่าหลงกับคำแฟนซีต่างๆ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ออร์แกนิก wellness center เราทำเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวและการเกษตรได้ แต่เป้าหมายหลักต้องมุ่งไปที่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ถ้ามองไม่เห็นทิศทางหลักจะมีปัญหา

ประเทศที่สามารถยกระดับตัวเองจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศร่ำรวย น้อยมากที่จะทำได้ด้วยภาคเกษตรและภาคบริการ ทั้งหมดทำด้วยภาคอุตสาหกรรม ถ้าเป้าหมายของเราคือให้คนมีเงินเยอะขึ้น เพื่อการบริโภคภายในมากขึ้น เพื่องานที่ดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมมากกว่า โมเดลที่น่าสนใจคือไต้หวันที่เน้น SMEs รัฐบาลลงทุน R&D และส่งสัญญาณให้ชัดว่ารัฐกำลังจะพัฒนาด้านนี้ แล้ว SMEs จะรู้ว่าต้องเพิ่มผลิตภาพการผลิตแบบไหน ไต้หวันไม่มีแบรนด์ของตัวเอง แต่โทรทัศน์หรือมือถือที่ทุกคนใช้ต้องมี supply chain จากไต้หวัน ผมคิดว่าโมเดลนี้น่าสนใจพอสมควร บางทีรัฐต้องเลือกว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมไหน มีผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ที่รัฐต้องชดเชย รัฐบาลต้องละเมียดกับสิ่งนี้

 

แก้เศรษฐกิจผูกขาด ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

หลังโควิด-19 มีความกังวลว่า เศรษฐกิจไทยจะผูกขาดมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการรายเล็กล้มหายตายจากไปหมด ในขณะเดียวกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะรุนแรงกว่าเดิม เราต้องออกแบบนโยบายเศรษฐกิจเพื่อให้การแก้เศรษฐกิจผูดขาดและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นไปได้จริง

อรรถวิชช์: ผมอยากเสนอตัวอย่างนโยบายหนึ่งของจีนที่ผมชอบมาก อยากให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่แบบนี้ในไทย รัฐบาลจีนตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า CCPIT โดยเขาตั้ง e-park ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การทำธุรกิจหลายๆ ภาคส่วน รัฐบาลจะสนับสนุนทุนทำวิจัย ซื้อข้อมูลจาก search engine ว่าคนทั่วโลกเสิร์ชหาอะไร ใช้คีย์เวิร์ดอะไรหา แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ ชี้ว่าควรจะผลิตอะไรขาย ยกตัวอย่างเช่น park ในส่วนธุรกิจเสื้อผ้า เขาก็จะมีข้อมูลวิเคราะห์ให้ว่าอะไรคือเทรนด์แฟชั่นของโลกปีนี้ สี วัสดุประเภทไหนที่เป็นที่นิยม นอกจากนี้ยังมีการสอนทำบัญชี ทำเว็บไซต์ สอนทำ e-commerce ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 3 ปี ในการปั้นคนออกมาให้เป็นนักธุรกิจ มีเงิน 10 ล้าน นี่คือมหาวิทยาลัยชีวิต บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่างหัวเหว่ยก็เคยอยู่ใน park นะครับ

นโยบายแบบนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถแข่งขันได้ เพราะรัฐเป็นผู้ลงทุนด้านเทคโยโลยีทำให้ช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้

ในส่วนของการลดความเหลื่อมล้ำ เราต้องมุ่งเป้าไปที่เรื่องการศึกษา เราควรปรับลดบางวิชา แล้วเพิ่ม soft skills ให้เด็กมีทักษะชีวิต มีทักษะการทำงานในอนาคต เข้าสู่ภาคแรงงานได้จริง หรือถ้าเกิดโมเดลแบบ e-park ขึ้นมา เราก็ใส่ทักษะทางธุรกิจที่จำเป็นไว้ในการเรียนการสอนได้

ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า หากเราจะปฏิรูปให้เป็นแบบนี้ได้ ระบบราชการต้องไม่ล้าหลัง ไม่รวมศูนย์อำนาจ การปฏิรูประบบราชการต้องตอบโจทย์การสร้างโมเดลพัฒนาธุรกิจเช่นนี้ ซึ่งจะตามมาด้วยการตอบปัญหาเรื่องทุนผูกขาดและความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพราะเอกชนเขาพร้อมที่จะปรับตามรัฐบาลอยู่แล้ว

 

ปริญญ์: เศรษฐกิจไทยจะมีความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำได้ เราต้องพูดถึงนโยบายภาษีก่อน เพราะระบบการจัดเก็บภาษียังคงเป็นตัวจุดประกายให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยค่อนข้างสูง

ฐานการจัดเก็บภาษีตอนนี้มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีรายได้ส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่เราต้องทำคือพยายามผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดินหรือภาษีมรดก นอกจากนี้เก็บภาษีกับซูเปอร์แพลตฟอร์มในโลกดิจิทัล ซึ่งมีอำนาจข้ามพรมแดนเหนือตลาด แพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้มีส่วนแบ่งในการทำกำไรเยอะมาก แต่กลับไม่มีกฎหมายที่ควบคุมกำกับดูแลภาษีอย่างเป็นธรรม

ประเด็นที่สอง การจัดสรรงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด รวมถึงกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดจะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ เราอาจจะใช้วิธีจับคู่จังหวัดพี่จังหวัดน้องระหว่างจังหวัดที่ร่ำรวยกับจังหวัดที่ยากจน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ช่วยเหลือเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นโยบายเช่นนี้ไม่เพียงใช้ได้เฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น จังหวัดในไทยอาจจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับเมืองในต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองและมีแนวทางที่คล้ายคลึงกับยุทธศาสตร์จังหวัดเรา

งบประมาณจากภาครัฐในการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ อาชีพนอกระบบ เศรษฐกิจสีเทา หรือพ่อค้าแม่ค้าข้างถนนริมทางจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นหลังจากวิกฤตโควิด-19 พิษเศรษฐกิจครั้งนี้ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยเจ็บตัวมากกว่าคนตัวใหญ่ มีปัญหาหลายอย่างที่ผมเห็น แต่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นงบดูแลเด็กแรกเกิด งบดูแลคนพิการ งบช่วยให้คนกลุ่มเปราะบางมีช่องทางทำมาหากินได้ดีขึ้นได้ นี่คือปัญหาที่รัฐต้องลงมือแก้ไข

ในส่วนของเศรษฐกิจผูกขาด ประเทศไทยมีความพยายามหลายครั้งที่จะทำให้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้ามีเขี้ยวเล็บในการจัดการการผูกขาด แต่ตัวอย่างในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาบอกเราว่า หัวใจสำคัญคือ การมีหน่วยงานอิสระที่มีดาบ มีเขี้ยวเล็บที่จะจัดการประเด็นใหญ่เกี่ยวกับการแข่งขัน เช่น เมื่อมีการทุ่มตลาด หรือการซื้อขายกิจการที่ทำให้ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวจนกลายเป็นเสือนอนกิน และส่งผลกระทบกับผู้บริโภคและสังคมโดยรวม สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต้องปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ และต้องมีการให้อาวุธกับคณะกรรมการในการจัดการการผูกขาดได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบัน ธุรกิจใหญ่เริ่มรู้แล้วว่าถ้าสังคมไม่เอาด้วย หรือว่าถ้าคนตัวเล็กตัวน้อยไม่รอด ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจริยธรรมในการทำธุรกิจจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย ต้องสร้างให้มันเป็น DNA ขององค์กรว่าถ้าคุณทำดีกลับไปสู่สังคม การแข่งขันที่เป็นธรรมจะตามมา ความเหลื่อมล้ำจะไม่เพิ่ม เราเริ่มเห็นรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน อย่างวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ไม่ใช่แค่การบริจาค หรือเริ่มเห็นเทรนด์การทำธุรกิจที่ไม่ได้ยึดผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

 

เผ่าภูมิ: ผมมีคำหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำลายการผูกขาด นั่นคือ ‘การแข่งขัน’ ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้การแข่งขันเกิดขึ้น เพราะการแข่งขันเกิดขึ้น นั่นคือผลิตภาพจะเกิดขึ้นด้วย เราสามารถผลิตสินค้าได้ดีขึ้นในราคาที่ถูกลง มีความหลากหลายมากขึ้น พี่น้องประชาชนหรือผู้บริโภคก็เข้าถึงสินค้าต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น คำว่าการแข่งขันสำคัญมาก รัฐบาลใดที่พยายามกีดกันการแข่งขันนั้น ไม่เพียงแค่สร้างการผูกขาดเท่านั้น แต่ยังทำลายประเทศในระยะยาว เพราะประเทศจะไม่พัฒนา บริษัทต่างๆ จะไม่มีแรงผลักดันเพื่อที่จะผลิตอะไรให้ดีขึ้น ไม่มีการสร้างนวัตกรรม ไม่มีแนวทางการออกแบบและพัฒนา (research and development: R&D)

ผมเปรียบเทียบเรื่องการผูกขาดกับการวิ่งแข่งในสเตเดียม เรามีคนวิ่งแข่งกันอยู่ในลู่ แต่ก็มีบางคนที่ถูกกันออกนอกสนาม แม้ว่าเขาจะเก่ง ซ้อมมา 10 ปีแล้ว แต่เขาไม่สามารถลงแข่งในสนามนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้บางคนเข้ามาแข่งในสนามได้ ก็เริ่มจากจุดเริ่มต้นที่ช้ากว่าคนอื่นไปเยอะ หรือบางคนวิ่งแข่งชนะ แต่กรรมการปรับแพ้ก็มี นี่คือเมืองไทย สิ่งที่ผมคิดว่าจะแก้ไขตรงจุดนี้ได้คือคนดูที่อยู่ในสนาม ซึ่งก็คือประชาชน เมื่อเห็นการวิ่งแข่งที่ไม่เป็นธรรม ก็ต้องส่งเสียงลงมา

อีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องคิดให้ดีคือเทคโนโลยีกับการผูกขาด ซึ่งมองได้สองมุม ในแง่หนึ่ง เทคโนโลยีอาจทำให้การผูกขาดลดน้อยลง อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด คนบางคนไม่ต้องมีทุนมากก็สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ ไม่ต้องไปเปิดร้านในห้างก็สามารถขายของได้ ร้านอาหารอยู่ในซอยไม่ต้องไปซื้อห้องแถวราคาแพงริมถนนก็สามารถค้าขายได้ แต่ในทางกลับกัน ก็มีเทคโนโลยีระดับสูงที่ทำให้การแข่งขันแย่ลง เกิดการผูกขาดมากขึ้น บริษัทใหญ่ที่มีทุนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีคุณภาพสูงได้ ก็พัฒนาบริษัทไปได้ไกลมาก ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กที่มีทุนไม่พอที่จะลงทุนไปกับเทคโนโลยี ก็จะจมดินอยู่อย่างนั้น นี่คือปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไข

เรื่องความเหลื่อมล้ำ เราคุยกันเยอะเรื่องรัฐสวัสดิการ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income: UBI) หรือภาษีเงินได้เชิงลบ (Negative Income Tax) พรรคเพื่อไทยมองประเด็นนี้กลางๆ ไม่สุดโต่งไปทั้งทางด้านทุนนิยมและด้านรัฐสวัสดิการ เรามองว่าการสร้างรัฐสวัสดิการเป็นหนทางที่ดีในการลดความเหลื่อมล้ำก็จริง แต่เราคาดหวังไม่ได้ว่าเมื่อนำเงินไปจัดสวัสดิการให้ประชาชนแล้ว รัฐสวัสดิการจะอยู่อย่างยั่งยืนทันที รัฐสวัสดิการที่ยั่งยืนแห่งเดียวในโลกตอนนี้คือสแกนดิเนเวีย หลักคิดของเขาที่สร้างความยั่งยืนคือ รัฐสวัสดิการต้องผูกกับผลิตภาพ เขาให้คนวัยกลางคนทำงานและเสียภาษีมากหน่อย แต่ได้สวัสดิการไม่มาก เน้นกระจายสวัสดิการไปให้เด็กซึ่งจะมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต และกระจายให้กับคนแก่ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการมีรัฐสวัสดิการ แต่เราต้องละเมียดละไมกับหนทางที่จะไปสู่จุดนั้นด้วย

 

ศิริกัญญา: วิกฤตครั้งนี้ทำให้ SMEs ล้มหายตายจากไปจำนวนหนึ่ง นำมาสู่คำถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้อำนาจทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ที่ทุนใหญ่สายป่านยาวจนทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง ผูกขาดมากขึ้น เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ SMEs ลุกได้เร็วขึ้น มีความยืดหยุ่น รับมือต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ และกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจได้เหมือนเดิม

แน่นอนว่ากระบวนการยื่นล้มละลายต้องทำให้รวดเร็วขึ้น ตอนนี้กระบวนการได้รับการปรับปรุงให้ใช้เวลาประมาณหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งถือว่าค่อนข้างดี แต่เราสามารถปรับให้เร็วกว่านั้นได้ไหม หรือปรับให้ธุรกิจที่ล้มแล้ว ขายทรัพย์สินแล้วยังเรียกคืนทรัพย์สินบางส่วนกลับคืนมาได้

ในปัจจุบัน คณะกรรมการการแข่งขันการค้าในปัจจุบันยังทำงานเชิงรับ ต้องรอให้มีการร้องเรียนจึงจะเริ่มดำเนินกระบวนการ ตรวจสอบแต่กรณีการผูกขาดของธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจน้ำแข็งในต่างจังหวัด แต่กรณีที่มีการร้องเรียนบริษัทใหญ่ อย่างเช่นซีพีหรือเทสโก กลับดำเนินการช้าและไม่มีคำชี้แจงออกมา เราต้องเรียกร้องให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์เรื่องการป้องกันการผูกขาด และต้องให้มีการเข้าไปศึกษาขอบเขตและนิยามของอุตสาหกรรม ธุรกิจ หรือตลาดเป้าหมายว่าการกระทำแบบใดบ้างที่เข้าข่ายการผูกขาด

พรรคก้าวไกลมองว่ารัฐต้องทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน (regulatory guillotine) เพราะกฎหมายหลายฉบับส่งเสริมให้การผูกขาดเป็นไปได้ เช่น การกำหนดอัตราผลิตขั้นต่ำในการผลิตคราฟท์เบียร์ ทำให้ธุรกิจรายย่อยผลิตคราฟท์เบียร์ออกขายไม่ได้ ซึ่งปัญหาตรงนี้แก้ไขได้ง่ายมาก เพียงแค่แก้ไขกฎหมายเปลาะเดียว ก็เปลี่ยนตลาดที่เคยถูกผูกขาดมาโดยตลอดให้เกิดการแข่งขันได้ทันที

รัฐต้องคำนึงว่าการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างบริษัทรายใหญ่และบริษัทรายเล็กหรือไม่ อย่างไร เช่น การให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน (BOI) รัฐมักจะออกแบบสิทธิประโยชน์เอื้อให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีทุนมากกว่า มีกำไรมากกว่า ลดหย่อนภาษีได้มากกว่า ตรงนี้ก็ต้องปรับแก้

ในประเด็นความเหลื่อมล้ำ โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนรูปโฉมของสังคม รายได้ครัวเรือนที่ปรับลดลงอย่างรุนแรง (income shock) ทำให้คนร่วงหล่นตกไปอยู่ในชนชั้นที่มีรายได้ต่ำกว่า ชนชั้นกลางจะหายไปจำนวนหนึ่ง คนจนก็จนมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ตาข่ายทางสังคม (social safety net) ของประเทศไทยบางมาก พอมีปัจจัยบางอย่างเข้ามากระทบ ก็ไม่สามารถโอบอุ้มคนตัวเล็กตัวน้อยให้อยู่ในชนชั้นเดิมได้

ประเทศไทยต้องมีการคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่ดีกว่านี้ เราเห็นแล้วว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 และมาตรา 40 (สมัครใจส่งเงินเข้าประกันสังคมด้วยตนเอง) มีจำนวนเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้นจากผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหมด 20 ล้านคน ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมคนจึงไม่สมัครใจเข้าระบบประกันสังคม แรงจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบนั้นน้อยเกินไปหรือไม่

หากเราไปดูสิทธิประโยชน์ประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 จะเห็นว่า ให้สิทธิประโยชน์น้อยมาก ไม่ค่อยเป็นธรรม และไม่ค่อยยืดหยุ่น หากจะแก้ปัญหาตรงนี้ รัฐจะต้องทุ่มเงินสมทบเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้น่าดึงดูด และจูงใจให้คนเข้าระบบประกันสังคมมากขึ้น ส่วนทางด้านแรงงานเปราะบาง ต่อจากนี้ไปถ้าหากรัฐหาทางเพื่อดึงเข้าระบบ สมทบให้สิทธิประโยชน์ได้ ก็ต้องให้ความร่วมมือยื่นภาษีเงินได้ทุกปี เพื่อให้รัฐมีข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน แล้วนำไปออกนโยบายที่เหมาะสมกับพวกเขาได้ การจะออกนโยบายเช่นนี้ได้ ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทั้งฝ่ายภาครัฐและแรงงานนอกระบบเท่าๆ กัน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเคยเป็นเพียงแค่ปัญหาที่เรามองว่าต้องอาศัยการแก้ไขเชิงโครงสร้างในระยะยาว แต่พอโควิด-19 ระบาด ทุกนโยบายที่ออกมาต้องโฟกัสไปที่การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ เพราะหากไม่บรรเทาผลกระทบที่ตกอยู่ที่คนตัวเล็กตัวน้อย ความเหลื่อมล้ำก็จะเพิ่มมากขึ้น หรือหากให้อำนาจทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ที่แค่ไม่กี่บริษัท ไม่ให้ความสำคัญในการช่วยพยุง SMEs ให้กลับมาเดินได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save