fbpx
โภคิน พลกุล : ประเทศไปต่อไม่ได้ หากไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

โภคิน พลกุล : ประเทศไปต่อไม่ได้ หากไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

“ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

เป็นคำที่เขายืนยันถึงทางออกจากปัญหาทางการเมืองครั้งนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ตกทอดมาจาก คสช. สร้างความปั่นป่วนทางการเมือง เกิดระบบเลือกตั้งที่มุ่งลดอำนาจพรรคการเมืองที่เคยครองเสียงข้างมาก สร้างรัฐบาลผสมที่มีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ยังไม่รวมถึงการให้มี ส.ว. แต่งตั้งจากการคัดเลือกของ คสช. และการรับรองอำนาจ คสช. ที่ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

โภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้รับการยอมรับในฐานะนักกฎหมายมหาชนแถวหน้าของไทย เขาเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ได้แก่ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานศาลปกครองสูงสุด

ปัจจุบันเขาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังฝ่ายค้านเสนอชื่อเขาเป็นประธานกมธ. แต่แพ้เสียงโหวตฝ่ายรัฐบาล

แม้มีข้อเสนอว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันในบางประเด็นที่เห็นว่าเป็นปัญหา แต่โภคินมองว่าแนวทางนี้ไม่นำไปสู่ทางออก หากยังมีรัฐธรรมนูญที่บทเฉพาะกาลมีอำนาจเหนือบทถาวร

ประสบการณ์จากการมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เขาพูดอย่างหนักแน่นว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนรัฐธรรมนูญใหม่จะมีหน้าตาอย่างไรนั้นให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เมื่อในวันนี้ความขัดแย้งในบริบทใหม่เริ่มขยายตัว ผู้คนเริ่มพูดถึงการเปลี่ยนแปลง ‘อนาคต’ ที่เขาควรเป็นคนเลือกเอง

แม้เป็นไปได้ยาก แต่นี่คือความหวังของประเทศไทย โภคินเชื่อว่าทุกฝ่ายควรเห็นแก่อนาคตของประเทศร่วมกัน

“นี่คือทางออกร่วมกันของทุกคนในสังคม ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

 

โภคิน พลกุล

 

รัฐธรรมนูญ 2560 เกิดข้อวิจารณ์ว่าต้องมีการแก้ไขจำนวนมาก ในอีกแง่หนึ่งเราสามารถมองข้อดีของรัฐธรรมนูญนี้ได้บ้างไหม

ต้องดูว่าโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์อะไร ข้อสำคัญคือออกแบบมาเพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงออกแบบตั้งแต่ระบบเลือกตั้ง วิธีคำนวณ การใช้บัตรใบเดียว เพื่อไม่ให้มีพรรคใหญ่ที่ได้ 200 ที่นั่งและเกิดพรรคเล็กๆ มากมาย นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่รัฐบาลมีถึง 19 พรรค อย่างนี้ต่อไปได้ 30,000-40,000 คะแนนก็จะมีที่นั่งแล้ว คราวหน้าก็ส่งผู้สมัครเพียงเพื่อเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ รัฐบาลหน้าอาจมีถึง 30 พรรคก็ได้ แต่ประเทศไม่ได้ประโยชน์อะไร รัฐบาลจะอ่อนแอ งูเห่ากลับมาใหม่ ทุกอย่างเป็นอย่างนี้เพียงเพื่อตอบโจทย์อย่างเดียวคือ ไม่ให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งอย่างที่เคยเป็นมา

ท้ายที่สุด คสช. ก็อยากสืบทอดอำนาจต่อ เอา ส.ว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ทั้งที่หากมาจากการสรรหาตามบทจริงของรัฐธรรมนูญก็เหนื่อยอยู่แล้ว เพราะสามารถบิดเบือนได้ในระดับหนึ่ง แต่พอการแต่งตั้งทั้งหมด คสช. คัดกันมาเอง และคนเหล่านั้นเป็นคนให้ความเห็นชอบนายกฯ ก็ตุนคะแนนไว้แล้ว 250 คะแนน หาอีกนิดหน่อยก็ได้เกินครึ่งหนึ่งของสองสภา หลายคนในพรรคพลังประชารัฐก็พูดแล้วว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา

รัฐธรรมนูญนี้อาจจะมีข้อดีอยู่บ้าง ในบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพบางจุดบางประเด็น แต่ข้อดีเหล่านี้แทบไม่มีความหมาย เพราะแม้รับรองสิทธิเสรีภาพไว้ค่อนข้างดีมาก แต่เมื่อเจอมาตรา 279 ซึ่งบอกว่าประกาศคำสั่ง การกระทำของคสช. ไม่ว่าในทางรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ให้ถือว่าชอบโดยกฎหมายและชอบโดยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ประกาศหรือคำสั่งนั้นขัดต่อบทจริงของรัฐธรรมนูญ

เมื่อเป็นอย่างนี้จึงอย่าไปมองข้อดีรายจุดย่อย เพราะในที่สุดมันไม่มีความหมาย การมีองค์กรอิสระ มีศาลรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งมาในยุคคสช. หรือบางคนหมดวาระไปแล้วก็ตั้งใหม่โดยส.ว.ที่เขาตั้งขึ้นมาเองอีกที จะไม่มีทางได้คนที่มีความยุติธรรมและเป็นกลาง เคารพหลักนิติธรรม เคารพหลักความเป็นธรรม เพราะมาจากระบบอย่างนี้ทั้งหมด จะไปหวังเห็นประเทศนี้มีระบบความยุติธรรมที่ถูกต้อง มีการเคารพหลักนิติธรรมหรือเคารพความยุติธรรม ก็จะไม่มีเลย

ไม่น่าแปลกที่บางคนพอย้ายข้างไปฝั่งรัฐบาล คดีก็ขาดอายุความ ฟ้องไม่ทัน ทุกคนพร้อมจะโยกไปอยู่อีกฝั่ง เพราะเรื่องคดี ผลประโยชน์และอำนาจ แบบนี้บ้านเมืองจะเดินไปไม่ได้ ฉะนั้นผมจึงมองข้อดีไม่ออก แม้จะมีก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะถูกข้อด้อยคือตัวระบบใหญ่ครอบงำไว้หมด

 

โภคิน พลกุล

 

ตอนนี้มีการพูดกันถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนตัวอาจารย์เห็นว่าควรแก้บางส่วนหรือควรยกร่างฉบับใหม่ และแนวทางไหนน่าจะเป็นไปได้

ถ้าเทียบกับเมื่อปี 2539 ที่นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับประชาชน ครั้งนั้นผมเป็นจักรสำคัญตัวหนึ่ง คือเป็นรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง คุณชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน ผมเป็นประธานอนุฯ ที่มาดูแลแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้การปฏิรูปการเมืองเดินหน้าไปได้

ตั้งแต่ 2538-2539 เราบอกว่าทำได้ 2 แบบ คือ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือแก้เป็นรายประเด็นไปว่ามีตรงไหนไม่สอดคล้องต่อการปฏิรูปการเมือง ไม่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ประเด็นใหญ่คือเราอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงผลักดันให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยให้คนที่สนใจสมัครเข้ามา แต่ละจังหวัดให้เลือกกันเองจนเหลือ 10 คน จากนั้นให้สภาเลือกจังหวัดละ 1 คน ตอนนั้นมี 99 คน ส่วนที่เหลือให้สภาเลือกจากนักวิชาการด้านกฎหมาย รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ แล้วร่างรัฐธรรมนูญจนเสร็จส่งให้รัฐสภาเห็นชอบ ถ้ารัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็ไปทำประชามติต่อไป

ขณะนั้นก็เกิดขบวนการธงเขียวเพื่อให้สภาเห็นชอบ ช่วงนั้นสมาชิกในสภาส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยในหลายประเด็น มีที่เห็นด้วยหรืองดออกเสียงน้อยมากๆ แต่ที่สุดรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ผ่าน ไม่ต้องไปทำประชามติ

รัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ร่างโดยเผด็จการ แต่เอาไปทำประชามติ ครั้งหลังนี้หนักกว่า กระบวนการทำประชามติไม่เสรีและยุติธรรม บังคับข่มขู่ทุกอย่าง ใครออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญว่าไม่ดีก็ถูกดำเนินคดีทั้งนั้น แต่คนที่พูดไม่จริงไม่เป็นไร เช่นบอกว่ารัฐธรรมนูญจะปราบคอร์รัปชัน จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนออกมาอย่างนั้น ในที่สุดประชามติก็ผ่าน คนส่วนหนึ่งให้ผ่านเพราะอยากให้มีการเลือกตั้ง ก็เอามาคุยได้ว่าผ่านประชามติแล้ว แม้เผด็จการจะร่างขึ้นมา โดยกระบวนการที่บิดเบือนทั้งหมด

พอเริ่มต้นจากบิดเบือน สืบทอดอำนาจ ความยอมรับก็ไม่มี แล้วมาเจอรัฐบาลที่มีถึง 19 พรรค เสียงปริ่มน้ำก็หากลไกทุกอย่างให้ฝ่ายค้านไม่มีศักยภาพ นำมาสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่

สิ่งเหล่านี้เดินต่อไปไม่ได้ เมื่อกติกาสูงสุดของบ้านเมืองตอบโจทย์แค่คนบางกลุ่มและทำลายคนอีกกลุ่ม คนเขียนกติกาและคนที่มาจากกติกานี้เป็นคนทำให้บ้านเมืองมีปัญหาและเกิดความแตกแยกยิ่งกว่าเดิม เราต้องมาแก้สิ่งที่ไม่ยุติธรรม

ในความเห็นผม ต้องแก้ที่กติกาทั้งหมด ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คราวนี้ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

 

มีแนวทางที่ชัดเจนไหม ถึงกระบวนการเลือกสสร.และยกร่างใหม่

เรายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมฝ่ายค้านไปกว่า 7 เดือนแล้ว โดยเสนอว่าน่าจะมี สสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดได้ 1 คน จังหวัดใหญ่ก็มีมากขึ้นไปตามสัดส่วนของจังหวัด ให้ได้ 200 คน และเวลายกร่างให้มีกรรมาธิการ 40 คน มาจากสมาชิกสภา 25 คน อีก 15 คนให้เลือกจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือผู้มีประสบการบริหารจัดการแผ่นดินเข้ามาร่วมร่าง เท่ากับมีคนที่มาจากประชาชนและคนที่มีองค์ความรู้เหมือนสมัยปี 2539 และอาจใช้เวลาร่าง 8 เดือนตามกติกาเดิม ร่างเสร็จก็ไปสู่ประชามติ

ในระหว่างการยกร่างจะให้ผู้คนแสดงความคิดเห็น ให้ทำแบบ free and fair เปิดอย่างเสรีและเป็นธรรม ใครไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยแล้วจะต้องถูกดำเนินคดีกลั่นแกล้งกัน เมื่อทุกอย่างเปิดหมด เราเองก็ไม่รู้ว่ากติกาจะออกมาอย่างไร เพียงแต่ล็อกว่าจะไม่แก้ไขหมวด 1 เกี่ยวกับรัฐเดี่ยว และหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

ผมเชื่อว่าประชาชนที่มาร่างคงจะร่างอะไรที่ตอบโจทย์คนส่วนรวมมากกว่าตอบโจทย์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ คนก็ได้แสดงออกกันอย่างเต็มที่และต่อไปนี้คุณต้องแคร์กติกาที่กำลังจะเขียนขึ้นมา ถ้าเขียนไม่ตรงก็อย่ารับประชามติ ไปร่างกันใหม่ แล้วทหารก็ไม่ต้องคิดไปยึดอำนาจแล้ว เพราะนี่เป็นโรดแมปที่ทุกคนเดินร่วมกัน คุณประยุทธ์หรือทหารตกลงกันตามนี้ไหม ถ้าตกลงก็แก้รัฐธรรมนูญให้มีหมวดว่าด้วยการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ถ้าเริ่มวันนี้กว่าจะเขียนกว่าจะผ่านประชามติก็สัก 2 ปี อย่างน้อยเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

นี่คือทางออกร่วมกันของทุกคนในสังคม ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าเห็นร่วมกันแล้วคุณประยุทธ์ก็ไม่ต้องกังวล อีก 2 ปีที่เหลือคนก็จะไม่คาดคั้นคุณมาก นักศึกษาที่เรียกร้องก็จะชัดเจนว่าเขาไม่เอาเผด็จการ ต้องไม่เอาโครงสร้างที่ก่อกำเนิดเผด็จการ ต้องมีสร้างโครงสร้างที่ก่อกำเนิดประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของทุกคนอย่างแท้จริง

เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบทำโดยด่วน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันกำหนดโรดแมปเพื่อประเทศ สร้างกติกาใหม่ที่ตอบโจทย์ทุกคนและชัดเจนว่าจะจบภายในกี่ปี

 

โภคิน พลกุล

 

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้มีการยกร่างใหม่เป็นไปได้ยากมาก เพราะต้องได้แรงสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาล

เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าไม่ทำอย่างนี้ประเทศนี้เละไหม จะมาแก้ทีละประเด็นมันเละอยู่แล้ว แค่มาตรา 279 ทำให้บทเฉพาะกาลใหญ่กว่าบทจริงทั้งหมด เสรีภาพที่คุ้มครองไว้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อเผชิญกับประกาศคำสั่งของคสช. เสรีภาพนั้นก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง เราชอบระบบแบบนี้ไหม

หากคุณบอกว่าตัวเองทำดี ทำถูกต้องหมด แล้วนิรโทษกรรมตัวเองทำไม มันขัดแย้งกันเองหมด ทำไมถึงต้องกลัวว่าอีกฝ่ายจะนิรโทษกรรมทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะถึงคุณทักษิณไหม บอกว่าไปล้างผิดคนโกง แล้วคุณทั้งยึดอำนาจ ใช้อำนาจข่มขู่ ข่มเหง โกงหรือไม่ก็ไม่รู้ อย่างนี้ไม่ถือว่าล้างหมดเหรอ มันขัดแย้งกันเองหมด คุณจะอยู่กับระบบที่ขัดแย้งกันเองไม่ได้ โครงสร้างอย่างนี้สร้างปัญหา สร้างความแตกแยก สร้างความระหวาดระแวงให้ทุกฝ่าย

กติกาอย่างนี้ยิ่งวิกฤตก็จะมีแต่คนฉวยโอกาสและตักตวงผลประโยชน์ คนรากหญ้าทั้งหลายยิ่งตาย เขาก็ไม่ได้แคร์เพราะไม่ได้มาจากประชาชน ที่จริงมันไม่ยากเลย คุณยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญไม่รู้กี่รอบแล้ว พอจะทำร่วมกันกลับบอกไม่อยากทำ ถ้ามานั่งไล่แก้ทีละประเด็นมันไม่จบ

 

ตอนนี้หลายฝ่ายเห็นแล้วว่ามีปัญหา แต่แนวทางไหนที่จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วย

ตอนนี้มีโอกาสมากขึ้น สังคมเริ่มตื่น แต่ก่อนคนบอกว่าไปยุ่งอะไรกับรัฐธรรมนูญ มาดูที่เศรษฐกิจดีกว่า ตอนนี้แก้เศรษฐกิจไม่ได้แล้วเจอ COVID-19 อีก ถ้ากติกาไม่ดีแม้ไม่มีวิกฤตอะไรเลยก็ยังแย่ เจอวิกฤตซ้ำเติมยิ่งไปกันใหญ่เลย คุณรักบ้านเมือง อยากเห็นกติกาของประเทศเป็นของคนไทยทุกคนหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ต้องช่วยกัน

กฎหมายต้องไปพัฒนาไปตามจังหวะเวลา แค่เขียนแบบเดิมมันก็แก้ไม่ได้ง่ายอยู่แล้ว พอเขียนแบบนี้ทำให้แก้ไม่ได้ถ้าไม่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย ถามว่าในโลกนี้มีใครเห็นพ้องกันหมด เราถึงต้องใช้เสียงข้างมาก การบอกว่าทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องกันหมดถึงจะแก้ได้ ก็คือให้ประเทศล่มจมแล้วไปสู่การยึดอำนาจใหม่ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง การเขียนอย่างนี้แม้ว่าคนที่เขียนหรือคนที่ต้องการสืบทอดพอใจ แต่ในที่สุดคุณจะมาติดประเด็นตัวเองว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ พอแก้ไม่ได้ก็ต้องกลับไปยึดอำนาจใหม่อีก บ้านเมืองก็ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ

 

โภคิน พลกุล

 

อาจารย์ช่วยเล่าถึงบรรยากาศปี 2539 ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าทำไมทั้งสังคมถึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ก่อนหน้านั้นมีรัฐธรรมนูญปี 2534 จนเกิดพฤษภาทมิฬ 2535 วันนั้นทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จจะเข้ามาเป็นนายกฯ ประชาชนส่วนหนึ่งอึดอัดกับการยึดอำนาจมาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ผู้คนล้มตายต่อสู้ไปก็เท่านั้น คนนึกว่าจะผ่านไปแล้วก็มาเจอยึดอำนาจ เจอคุณสุจินดา (คราประยูร) อีก คนก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คุณสุจินดาก็อาศัยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงจบลง

ช่วนนั้นมีขบวนการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง ผู้นำคือคุณหมอประเวศ วะสี คนสำคัญอีกคนคือ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แล้วคุณบรรหาร ศิลปอาชาก็ไปรับประเด็นนี้มาหาเสียง สิ่งแรกที่พึงกระทำในการปฏิรูปการเมืองคือการมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน พอคุณบรรหารได้เป็นนายกฯ ก็ทำตามนโยบายที่หาเสียง

ตอนนั้นผมอยู่พรรคความหวังใหม่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ให้ อ.ชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานคณะปฏิรูปการเมือง ผมเป็นรองประธาน ไปดูว่าการจะมี สสร. ต้องแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร เราก็ยกร่างให้ว่าต้องแก้ในหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขียนบทใหม่ว่าด้วยการทำฉบับใหม่ทั้งฉบับ

ตอนปี 2539 ยังใช้รัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งมาแก้ไขครั้งใหญ่ในปี 2538 ซึ่งก็ถือว่าดีมากแล้วแต่ยังไม่ใช่ฉบับประชาชน เราจึงทำฉบับประชาชนขึ้นมา แม้สังคมรู้สึกว่ามีหลายเรื่องที่แปลกใหม่ขึ้นมาแล้วไม่รู้ว่าปฏิบัติกันอย่างไรแต่ทุกคนก็โอเค ผมเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็ทรงเห็นชอบในสิ่งเหล่านั้นด้วย ทุกอย่างก็เดินไหลลื่นไปว่าต่อไปนี้จะเป็นแบบไหน การยึดอำนาจของทหาร การที่ทหารมาปกครองไม่น่าจะมีอีกต่อไปแล้ว

ตอนนั้นมีขบวนการธงเขียวไปทุกจังหวัดทุกโรงเรียนเพื่อให้รัฐสภารับร่างนี้ เพราะกลัวรัฐสภาจะปฏิเสธ พรรคที่ค่อนข้างวิจารณ์มากคือพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นพรรคที่เห็นชอบตั้งแต่ยังร่างไม่เสร็จเลย จากนั้นพรรคอื่นๆ ก็ค่อยตามมา

 

โภคิน พลกุล

 

หากเทียบช่วงปี 2539 กับปัจจุบัน จะทำอย่างไรให้บริบทและสภาพแวดล้อมเกิดบรรยากาศแบบนั้น

ครั้งนั้นรัฐบาลเป็นตัวจักรผลักดันให้มี สสร. มันจึงมีพลัง แม้รัฐสภาหรือฝ่ายค้านท้วงติงเยอะ ผมเข้าใจว่าพลังจากส่วนอื่นๆ ของสังคมที่ไม่อยากเห็นทหารมีบทบาทช่วยผลักดันอย่างเต็มที่ถึงเดินไปได้ แต่ครั้งนี้คนที่ต่อต้านคือรัฐบาล ผู้ที่มาจากการยึดอำนาจ เลยผลักดันไม่ง่าย แต่มาถึงจุดที่สังคมเริ่มตระหนักแล้วว่าถ้าไม่ออกทางนี้จะไปไม่ได้ นี่จะเป็นแรงผลักดันอีกลักษณะหนึ่ง

นักศึกษาที่ออกมาก็เรียกร้อง สสร. ทั้งนั้น และเป็นเรื่องที่พรรคร่วมฝ่ายค้านพูดมาโดยตลอด ผมยกร่างเสนอมาตั้งแต่มิถุนายนปีที่แล้ว ไม่มีใครสนใจ

วันนี้มันเริ่มตีบตันแล้วถ้าใช้กติกาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้ายังเป็นเผด็จการอย่างนี้ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะ 1.คนที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยเขาไม่แคร์ หรืออาจจะแคร์น้อยกว่าคนที่มาจากประชาธิปไตยที่ถ้าคุณทำไม่ดีคราวหน้าจะสอบตก ความมุ่งมั่นมันต่างกัน 2.ความยอมรับจากนานาชาติยังแตกต่างกันอยู่ วันนี้แม้จะบอกว่ามาจากการเลือกตั้งตามประชาธิปไตย แต่เขาก็รู้ตลอดเวลาว่าอะไรเป็นอะไร วันนี้ FTA กับ EU ก็ยังไม่คืบหน้ามาก อเมริกาก็ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แต่หากเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยการพูดคุยจะสามารถไปด้วยกันได้ ในอาเซียนยอมรับนายกฯ เป็นประธานอาเซียน แต่ศักดิ์ศรีความสง่ามันต่างกัน แล้วยิ่งความสามารถและบุคลิกส่วนตัวในหลายอย่าง ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วทำอย่างนี้พรรคร่วมก็ไม่เอา ถ้าในบรรยากาศปกตินายกฯ โดนถล่มทุกวัน ตอนนี้พรรคร่วมต้องเอาด้วยจึงยังอยู่ได้ แต่การอยู่มันทำลายทั้งสังคม เราต้องออกจากทางตันตรงนี้ด้วยกัน

คุณบอกอยู่ในยุค 4.0 แต่ต้องฟังเขาเป็นหลัก ซึ่งนั่นคือยุค 1.0 หากเป็น 4.0 เราต้องฟังทุกคน ถ้า IO ทหารมีจริงแสดงว่ากองทัพไม่ได้เอาไว้รบแต่เอาไว้สปายคนเห็นต่าง ทรัพยากรและภาษีทั้งหมดเอามาเล่นงานกันเอง ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ใครเห็นต่างเป็นศัตรู ประเทศก็เจ๊งหมด ประชาธิปไตยทั้งโลกเขาก็มองต่างกันทั้งนั้น แต่ว่ารักบ้านเมืองเหมือนกัน คุณกำลังทำลายสิ่งเหล่านี้หมด แค่เอาสีไปป้ายเท่านั้น

มันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ละเมิดกฎหมาย ละเมิดหลักนิติธรรมทั้งหมด อย่างเรื่องถือหุ้นสื่อ คุณธนาธรก็ถูกห้ามปฏิบัติหน้าที่ เรื่องเงินกู้ที่กฎหมายไม่ได้มีวัตถุประสงค์แบบนี้ แต่คุณตีความเงินกู้เป็นเงินบริจาค ถือเป็นเงินไม่ถูกต้องก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย จับโยงกันได้หมดเพราะแค่จะเล่นงาน คนอาจจะชอบหรือไม่ชอบพรรคอนาคตใหม่ แต่พอไปทำกับเขาไม่ถูกต้อง คนก็รับการกระทำนี้ไม่ได้

เราเผชิญอย่างนี้มาตลอด พรรคไทยรักไทยถูกยุบ 111 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง พอคดีไปถึงศาลยุติธรรมไม่มีพยานหลักฐานเลยแล้วมาตัดสิทธิกันได้อย่างไร ผมก็เคยถูกตัดสิทธิเพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญฟังว่ามีการไปจ้างพรรคเล็ก แล้วมาออกคำสั่งคณะปฏิวัติสมัยพล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน) ว่าให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดด้วย เราก็บอกว่านี่เป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง คนที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญเวลานั้นก็ตีความว่าถ้าย้อนหลังแบบนี้ไม่ผิด ไม่ได้ลงโทษทางอาญา แต่มันย้อนหลังแล้วเป็นผลร้ายต่อคน อย่างน้อยต้องให้โอกาสเขาได้ต่อสู้ด้วย จากจุดนั้นมาถึงวันนี้ยิ่งเข้าป่าไปกันใหญ่ เราจะไม่ออกจากตรงนี้กันหรือ ทางเดียวคือมีกติกาใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระต้องไม่มีที่มาแบบนี้ นี่เป็นการต่างตอบแทนกันหมด

 

โภคิน พลกุล

 

ขณะที่เราต้องการการพูดคุยร่วมกัน แต่ถ้ามองความขัดแย้งในสถานการณ์ปัจจุบันจะพาเราไปสู่จุดไหน

มันจะพาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับระบบที่เป็นอยู่ คนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกฝังชิปให้มีความเกลียดชัง เพียงแต่เขาอยากมีอนาคต เขาอยากเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง แต่คนรุ่นเก่าถูกปลูกฝังให้เกลียดชัง เช่น เกลียดชังนายกฯ ทักษิณว่านี่คือปีศาจร้าย เหมือนยุคก่อนที่เราไม่อยากให้คนเป็นคอมมิวนิสต์ก็เลยต้องวาดภาพโดยบิดเบือนว่าคอมมิวนิสต์เป็นคนชั่ว ซึ่งอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น สังคมชอบวาดภาพปีศาจทั้งที่สิ่งเหล่าอาจจะไม่ใช่ปีศาจ มันอาจมีส่วนถูกส่วนผิด เราต้องพูดอย่างยุติธรรมว่าข้อดี-ข้อเสียเป็นอย่างไร ไม่เหมาะกับประเทศเราอย่างไร ไม่ใช่ไปบอกว่ามันเลวร้ายที่สุดจะแตะต้องไม่ได้เลย พอคนรู้ความจริงก็เห็นว่ามันไม่ใช่

ประเทศนี้ใช้วิธีการทำให้คนงมงาย ทำยังไงให้คนรู้สึกว่ายุ่งยากซับซ้อน เพราะการบริหารจริงๆ มันง่าย แต่อะไรที่ง่ายมันไม่ศักดิ์สิทธิ์จึงต้องมีพิธีกรรมกระบวนการยุ่งยาก ถ้าจะให้เป็นรัฐราชการ ทำให้ข้าราชการใหญ่ ก็ต้องสร้างกฎกติกาเยอะๆ พอข้าราชการใหญ่คนก็ต้องเอาสินบนมาให้ แทนที่จะเป็นระบบง่ายๆ ทำมาหากินไม่ต้องขออนุญาต ให้คนอาชีพนั้นคุมกันเอง รัฐมีหน้าที่มาสนับสนุนช่วยเหลือและจัดการคนที่ใช้ไม่ได้จริงๆ ซึ่งเชื่อว่ามีไม่ถึง 1% แต่วันนี้คุณปฏิบัติต่อคน 99% เหมือนคน 1%

ยุค 4.0 มีดิสรัปชันเราต้องเร็ว แต่มีกฎหมายเยอะแยะที่จะเอาผิดโดยไม่จำเป็น รัฐธรรมนูญจึงบอกให้ยกเลิกไปให้หมด นี่เป็นข้อดีนะ แต่ผลปรากฏว่าพอครบรอบ 5 ปี คสช. บอกว่าภูมิใจมากที่ออกกฎหมายได้มาก ตกลงเอายังไงแน่ คุณมีความสุขที่ออกกฎเกณฑ์เยอะๆ ขณะที่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีบอกว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่แทนที่จะทำให้เล็กลง ลดขั้นตอนกระบวนการให้เหลือน้อยที่สุด กลับยิ่งทำให้หนักกว่าเดิม

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ได้เลวร้าย แต่ถามว่าทำบ้างไหม ประเทศนี้ชอบพูดว่าฉันเป็นคนดี ชอบส่งข้อความธรรมะ อยากให้คนอื่นอ่าน อยากคนอื่นเป็นแบบนั้น แต่ตัวเองกลับไม่ทำ

ทั้งหมดนี้ยังไงก็ไม่มีทางแก้ถ้าไม่มาร่วมมือกัน ต้องมาตกลงกันว่าบ้านเมืองไปไม่ได้แล้ว เราจึงเสนอว่าส่วนที่ตกลงกันได้ก่อนก็ทำคู่ขนานไปกับการร่างใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง

 

โภคิน พลกุล

 

หนึ่งประเด็นใหญ่ที่ต้องแก้คือเรื่องระบบเลือกตั้ง มองเห็นปัญหาอย่างไรบ้าง

ระบบการเลือกตั้งไปใช้บัตรใบเดียวเพื่อตอบโจทย์พรรคเล็กให้มากที่สุด รัฐธรรมนูญ 2540 คิดระบบปาร์ตี้ลิสต์และระบบเขตมา แต่กำหนดว่าพรรคที่จะได้ปาร์ตี้ลิสต์ต้องได้คะแนน 5% ของทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นพรรคเล็กจะเต็มไปหมด วันนี้มี 19 พรรคแล้วมีเอกภาพอยู่ได้เพราะมีพลังอื่นหนุนหลังอยู่ ถ้าเป็นรัฐบาลธรรมดาอยู่ไม่ได้

ระบบเลือกตั้งต้องแก้โดยสัมพันธ์กับระบบพรรคการเมือง ผมคิดว่าทำแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ทุกคนก็เคยชินอยู่แล้ว บัตรเลือกตั้งก็ง่าย ผมอาจชอบคน แต่ไม่ได้ชอบพรรค ของเดิมโอเคแล้ว แต่ว่าเห็นไทยรักไทยได้เสียงเยอะ จะทำอย่างไรไม่ให้ได้เยอะ ต่อไปนี้จะไม่มีพรรคไหนเป็นพรรคใหญ่ ได้ 150 ที่นั่งก็เก่งแล้ว สมมติว่าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงมาก ก็กลายเป็นว่าคุณบล็อกตัวเอง สุดท้ายถ้าไม่ได้นายกฯ ตู่ ที่มาพร้อมกับกองทัพจะไม่มีใครบริหารประเทศได้เลย ต้องรอยึดอำนาจอย่างเดียว วนกลับไปแบบเก่าอีกเมื่อไหร่จะจบ เราเสียเวลาที่จะพัฒนาตัวเองไปกี่ปีแล้ว ตั้งแต่ พล.อ.สนธิ ก็ 10 กว่าปีมาแล้ว

การเขียนระบบเลือกตั้งแบบนี้เพื่อตอบโจทย์อย่างเดียวว่าอยากให้พรรคนี้โต แต่ทำลายทั้งประเทศ กฎหมายพรรคการเมืองก็ยุ่งยากที่สุดเลย จะไปกำหนดทำไมว่าให้มีสาขาเท่านั้นเท่านี้ เลอะเทอะไปหมด แล้วใครมาอยู่ในพรรคการเมืองเสี่ยงติดคุกทั้งนั้น กฎหมายพรรคการเมืองเขียนถึงการกระทำที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตย สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ส.ส. เสนอแก้รัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติ ส.ว. นี่ก็ทำลายระบอบประชาธิปไตย มันเป็นไปได้อย่างไร แต่พอยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ แบบนี้ไม่ทำลาย เป็นการมากู้ชาติ รากเหง้าปัญหามันมาจากความเลอะเทอะแบบนี้ต่างหาก

การพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็พูดในบริบทเก่าๆ ไม่ได้อีกต่อไป สมัยคุณบรรหารมองประเด็นปฏิรูปการเมือง อยากจะเห็นการเมืองดีขึ้น ตอนนั้นหมอประเวศเสนอว่าต้องเป็นการเมืองของประชาชน ไม่ใช่การเมืองของนักการเมืองเพียงเท่านั้น ทำอย่างไรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเมืองได้มากที่สุด ให้มีสัดส่วนสตรี คนพิการ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นรัฐของประชาชน ไม่ใช่รัฐของราชการ แต่วันนี้คือย้อนหลังกลับไป ดีไม่ดีอาจจะหลังปี 2475 ไปอีก

 

สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้งไว้คือเรื่ององค์กรอิสระ จากจุดเริ่มต้นในปี 2540 มาถึงปี 2560 องค์กรอิสระมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน 

ปี 2540 การสรรหาองค์กรอิสระเป็นการร่วมมือระหว่างสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง และองค์กรภายนอก และคนที่ให้ความเห็นชอบคือวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง คนที่เป็นองค์กรอิสระเวลานั้นมีความเป็นอิสระมากกว่า เพราะหากจะวิ่งเต้นให้คนช่วยจะต้องไปหาหลากหลายที่ แต่วันนี้ไปหาคนๆ เดียวก็ได้เป็นแล้วเขาต้องตอบโจทย์คนๆ นั้นเป็นหลัก องค์กรอิสระจะอิสระได้อย่างไรเมื่อขึ้นอยู่กับอำนาจของคนที่ให้เข้ามา

ถ้าจะเปลี่ยนคือต้องมีที่มาหลากหลาย จะเป็นได้ต้องดีจริง ไม่ใช่เป็นพวกใครมาจากไหน ถ้าจะวิ่งเต้น ก็ต้องวิ่งเต้นทุกฝ่าย พอถึงเวลาที่จะไปตัดสินชี้ขาดต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อึดอัด คนนั้นก็มีบุญคุณ คนนี้ก็มีบุญคุณ ยังจะดีกว่าการที่ต้องตอบโจทย์คนๆ เดียว

 

โภคิน พลกุล

 

อาจารย์ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องบทบาทและอำนาจขององค์กรอิสระ?

ตามรัฐธรรมนูญห้ามศาลปกครองตรวจสอบองค์กรอิสระ ในกรณีที่ กกต. ใช้อำนาจเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรง ป.ป.ช. ใช้อำนาจเกี่ยวกับเรื่องทุจริตโดยตรง ซึ่งมีปัญหาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว ผมเห็นว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องถูกศาลตรวจสอบได้หมด เพียงแต่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ว่ากันไป ในที่สุดศาลยุติธรรมก็ตีความว่าฉันสามารถตรวจสอบได้ เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเรื่องศาลยุติธรรมบอกว่าศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ไม่อย่างนั้นกลายเป็นว่าคุณมาจากรัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหาร-ฝ่ายนิติบัญญัติถูกตรวจสอบเละเลย แต่พวกคุณไม่ต้องถูกตรวจสอบก็จะประหลาด ต้องถูกตรวจสอบได้หมด

เรื่องการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ อย่างผมเขียนกฎหมายศาลปกครอง การจัดตั้งศาลปกครองสูงสุดต้องผ่านวุฒิสภาทุกครั้ง ให้วุฒิสภาได้ตรวจสอบ แต่วันนี้เขียนปกป้องหมด กลายเป็นว่าองค์กรอิสระใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ใหญ่กว่ารัฐสภา อันนี้เขียนเพื่ออะไร เขาก็เป็นองค์กรหนึ่ง เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นเอง ต้องถูกตรวจสอบได้

เรื่องละเมิดอำนาจศาล วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การพิจารณาคดีในบริเวณศาลเป็นไปโดยเรียบร้อย ถ้าเขาจะวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาโดยสุจริตตามหลักวิชาการ ก็ต้องปล่อยเขาเพื่อที่จะได้พัฒนา ในรัฐธรรมนูญใหม่ผมอยากฝากให้มีกระบวนการตรวจสอบการทำงานของคนเหล่านี้ด้วย ไม่อย่างนั้นพอมีใครที่อยู่เหนือ แตะไม่ได้แล้วมันจะไปกันใหญ่ ทุกองค์กรต้องตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ในระดับที่เหมาะสม แล้วในรัฐธรรมนูญถ้าแก้เรื่องพวกนี้ต้องทำประชามติหมด แล้วต้องประชามติอีกกี่ครั้งกว่าจะแก้ได้ ไม่มีทางเลย กลายเป็นองค์กรที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่สำคัญเหลือเกิน แต่องค์กรที่มาจากประชาชนจะปู้ยี่ปู้ยำยังไงก็ได้ อย่างนี้ประชาชนเป็นใหญ่ตรงไหน

 

การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีการพูดคุยถึงเรื่องโครงสร้าง การให้นิยาม บทบาท และความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ แต่ในหลายครั้งการพูดถึงเรื่องนี้กลับถูกตีความเป็นเรื่องความมั่นคงที่ปิดกั้นการเปลี่ยนแปลง

ความมั่นคงถูกอ้างโดยเผด็จการ ปิดปากคนเห็นต่าง ความเห็นต่างเท่ากับทำลายความมั่นคงของประเทศ ผมเข้าใจว่าเฉพาะคนบางคนเท่านั้นที่อ้างแต่ความมั่นคงนี้มาตลอดเวลา ถามว่าการทำ IO เป็นความมั่นคงของใคร ไม่ใช่ของกองทัพ ไม่ใช่ของประเทศ แต่เป็นของพวกคุณเท่านั้นเอง การอ้างสิ่งเหล่านี้เพื่อจะได้เอาไว้จัดการกับอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อจะได้งบประมาณ ไม่ได้อ้างเพราะจะมีภัย

ในระบอบประชาธิปไตยแค่เรื่องเห็นไม่ตรงกันก็แค่วิวาทะ ต่อให้ลงถนนก็ไม่มีอะไรมาก ก็ต้องไปสู่การเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่คุณพยายามทำให้เห็นว่าจะมีการนองเลือด จะฆ่ากันตาย กองทัพต้องเข้ามา คุณสร้างปีศาจนี้ขึ้นมาเอง ถามว่าหน้าที่หลักของ กอ.รมน. คืออะไร คือตามสปายผู้เห็นต่างใช่หรือเปล่า เหมือนเยอรมันตะวันออกยุคก่อนที่จะล่มสลาย แม้แต่ในบ้านเดียวกันยังไว้ใจกันไม่ได้เลย อยู่กันแบบหวาดระแวงว่าใครจะเป็นศัตรูของรัฐหรือเปล่า เราจะไปสู่จุดนั้นเหรอ

จริงๆ แล้วมันเป็นความงดงาม เราอยู่ในบริบทของกติกาอยู่แล้วก็ทำกติกาให้ดี มีใครบ้างจะไม่อยากอยู่ประเทศไทย ไม่รักประเทศ ไม่รักครอบครัวพี่น้องตัวเอง มีใครไม่อยากอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่คุณกำลังบอกว่าคนอื่นจาบจ้วงสถาบัน อาจมีคนแบบนั้นบ้างก็ต้องไปจัดการ แต่ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่เขาพูดโดยสุจริต คุณจะไปจัดการเขาให้หมด มันไม่มีประโยชน์อะไร ยิ่งสร้างความเกลียดชังและความไม่เข้าใจให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก คนเป็นไปตามวัย วัยรุ่นก็อาจจะแรงหน่อย แม้แต่ คาร์ล มาร์กซ์ ตอน 30 เขียน Manifesto ก็แรงเลย พออายุมากขึ้นก็เข้าใจมากขึ้น วันนี้จีนก็ตีความมาร์กซิสม์อีกแบบหนึ่ง

คนเราถูกกำหนดโดยบริบท ณ ขณะหนึ่ง พอเปลี่ยนไปเขาก็เริ่มทบทวน อย่าเอาความคิดเราไปกำหนดเขาทั้งหมด ต้องสร้างบริบทที่เปิดกว้างแต่ดูแลซึ่งกันและกัน ถ้าเราอยู่ในกลุ่มเดียวกันแล้วเห็นว่าอีกคนพูดแบบนี้ไม่ถูก ก็อธิบายกัน ไม่ใช่เอาอำนาจมาข่มขู่บังคับจะยิ่งสร้างความไม่ยอมรับ ต้องให้คนในแวดวงของเขาคุยกันเอง คนต่างวัยยังอ่านหนังสือไม่เหมือนกันเลย แต่ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ เราต้องสร้างสังคมแบบนั้นไม่ใช่เหรอ

ในโลกนี้ จักรวาลนี้ มีอะไรอีกเยอะ อย่าบอกว่าสิ่งที่คุณพบเจอมามันจบแล้ว ทั้งที่มันยังมีอีกมากมายเต็มไปหมด ยิ่งมีความหลากหลายยิ่งงดงาม ที่มาของความแตกแยกทั้งหมดคือการคิดว่าถ้าเธอแตกต่างจากฉันเมื่อไหร่จะโดนเล่นงาน

ผมคิดว่าต้องแก้ที่กติกา กติกาต้องไม่เอื้อคนที่ผูกขาดความคิด ผูกขาดบริบทต่างๆ ต้องเปิดกว้างและให้เข้าหากันได้อย่างสันติ ถ้าทำได้ประเทศนี้จะสุดยอด เพราะคนไทยน่ารัก ไม่ใช่คนดื้อดึงก้าวร้าว แต่คุณกำลังจะทำให้คนน่ารักกลายเป็นคนก้าวร้าว ในสภาก็ก้าวร้าวแบบเกินความจำเป็น เสียดสีถากถางเจ็บๆ แสบๆ นี่ไม่ใช่คาแรกเตอร์ของคนไทย คนสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาจนอินกับมัน ทำให้นายเห็นว่าฉันขย่มนายเก่าหรือพรรคเก่าได้ขนาดนี้ แล้วฉันมีราคาเหลือเกิน ซึ่งมันไร้สาระ

 

โภคิน พลกุล

 

ในความคิดของอาจารย์ รัฐธรรมนูญรูปแบบไหนที่เราน่าจะใช้ไปได้นาน มีโมเดลหรือตัวอย่างแบบประเทศไหนที่น่าสนใจไหม 

รัฐธรรมนูญของเราตกผลึกมานานแล้ว เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับ 2540 ก็สะท้อนตรงนี้ชัดเจน เพียงแต่เติมองค์กรอิสระ เติมศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา หรือกระทั่งวุฒิสภาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เมื่อมันตกผลึกมานานแล้ว ให้มันเดินต่อไปก็แล้วกัน แต่ไม่ใช่ว่าพอเป็นศาลหรือองค์กรอิสระแล้วเราจะแตะต้องไม่ได้ ต้องถูกแตะต้องได้หมดถ้าทำไม่ถูกต้อง เพียงแต่ต้องไปดูวิธีการกันอีกทีว่าจะทำอย่างไร

การใช้เส้นใช้พวกมีหมด แต่ต้องทำให้ยาก ให้หลากหลาย เช่น ถ้าอยากเป็น ส.ว.จากการเลือกตั้งต้องวิ่งไปหาประชาชน ถ้ามาจากอาชีพต้องไปวิ่งเต้นในกลุ่มอาชีพกว่าเขาจะยอมให้คุณ มันมีทั้งนั้นแต่ต้องให้ทำได้ยาก เป็นศาลต้องรู้จักคนเยอะ แล้วช่วยใครไม่ได้ ต้องทำตามกฎหมาย ต้องทำให้คนมีบุญคุณต่อคุณเยอะเกินกว่าที่จะเลือกใครได้ ต้องเลือกความถูกต้อง

 

ช่วงก่อนมีการพูดถึงวิธีป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไหม

ต้องทำในเชิงโครงสร้าง แต่ผมคิดว่าจะต้องเขียนไว้มาตราหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2517 เขียนไว้ว่าการนิรโทษกรรมการล้มล้างการปกครองจะกระทำไม่ได้ แต่พอฉีกรัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็ไม่มี ทุกวันนี้พอยึดอำนาจเสร็จ ศาลก็ตีความว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าเรามีบทบัญญัติที่เขียนไว้ว่า “การยึดอำนาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลจะพิจารณาพิพากษาให้การกระทำนี้เป็นการกระทำที่ชอบไม่ได้” ถัดมาก็บอกว่า “บทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย” แม้บทบัญญัตินั้นจะถูกฉีกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ แต่หากผมเป็นศาลจะตีความว่าเป็นประเพณีการปกครอง ถือว่าที่เขายึดอำนาจมานั้นไม่ชอบ แม้ว่าฉบับใหม่จะเขียนว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่ขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เท่ากับให้อำนาจศาลสามารถอ้างอิงได้

บางคนเสนอให้ออกกฎหมายป้องกันรัฐประหาร แต่ไม่มีประโยชน์ เพราะฉีกรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่มีความหมาย จึงต้องเขียนว่าเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่จะล่วงละเมิดไม่ได้ วันที่ยังมีอำนาจอยู่ก็ไม่เป็นไร เมื่อเขาลงจากอำนาจแล้วมีคนไปฟ้อง ศาลจะวินิจฉัยได้ว่าการยึดอำนาจนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สิ่งที่ทำให้การยึดอำนาจทำได้ตลอดเพราะศาลไปรับรอง ถ้าศาลเลิกรับรองก็ไม่มีใครฉีก และคนยึดอำนาจจะถูกลงโทษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

 

โภคิน พลกุล

 

อาจารย์คิดไหมว่าการผลักดันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญหรือยกร่างใหม่ เป็นเรื่องที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีความหวังเลย

คนเราต้องหาคำตอบที่ดีที่สุดก่อน จากนั้นต้องพยายามผลักดันให้คำตอบนี้เดินไปให้ได้ ถ้าเดินต่อไปไม่ได้ ไม่ใช่ว่าผมไม่มีความหวัง พรรคเพื่อไทยไม่มีความหวัง พรรคฝ่ายค้านไม่มีความหวัง แต่ทั้งประเทศจะไม่มีอนาคตไปด้วยกัน ดังนั้นต้องทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่าต้องออกมาแสดงพลังด้วยกัน เพื่อบอกว่าเราอยากเดินบนโรดแมปนี้และอยากเชิญพวกท่านมาเดินด้วยกัน ต่อไปนี้ทุกคนฟังซึ่งกันและกัน หลากหลาย แตกต่าง แต่เราอยู่ด้วยกันได้ แบบนี้เอาไหม ถ้ายังไม่เอาอีกก็แล้วแต่ว่าจะดิ่งไปสู่ตรงไหน อนาคตที่ดับวูบจะนำไปสู่อะไร ตอบไม่ได้เลย แต่คุณต้องรับผิดชอบ เพราะเราเสนอทางออกร่วมกันแล้ว ผมทำหน้าที่จนถึงที่สุดแล้ว ผมจะไม่ยุให้ใครมายึดอำนาจ ทำรัฐประหารเพื่อจะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ดี ทำแบบนั้นจะยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม

ประเทศเหมือนร่างกาย ต้องทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่เรากำลังทำลายภูมิคุ้มกันทุกวัน ระบบต้องมีความต่อเนื่อง เปลี่ยนคนแต่ระบบและความต่อเนื่องยังมีอยู่ อเมริกาเจอไข้แบบนิกสัน, คาร์เตอร์, เรแกน, บุช, โอบามา และทรัมป์ ร่างกายแข็งแรงเลยนะ คือผ่านโรคมาเยอะ ของเรามีอยู่โรคเดียวคือโรคยึดอำนาจที่มีแต่จะทำให้อ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันไม่มีเพราะฉีดแต่วัคซีนทหาร ที่อื่นเขาฉีดวัคซีนกันไม่รู้กี่ประเภทก็แข็งแรง ไทยก็ต้องฉีดวัคซีนทางการเมืองแบบนี้ เมื่อก่อนเรามีน้าชาติ ต่อมาก็คุณชวน คุณบรรหาร พล.อ.ชวลิต กลับมาคุณชวนอีกรอบ มาถึงคุณทักษิณ คุณสมัคร และคุณยิ่งลักษณ์ ก่อนจะมาถึงนายกฯ ตู่ ถ้าได้ต่อไปอีกสักระยะมันจะแข็งแรง

ทุกวันนี้ความขัดแย้งเหลือง-แดงหายไปหมด เมื่อก่อนสู้กันว่าไม่เอานักการเมือง ตอนนี้กลายเป็นสู้กันว่าเอาหรือไม่เอาเผด็จการ ถามว่าใครทำ ก็คุณทำทั้งหมด ด่าว่านักการเมืองสร้างความแตกแยก วันนี้ประชาชนตกผลึกแล้วว่าไม่เอาทหาร ไม่เอาเผด็จการ จะอยู่กันแบบนี้เหรอ มันไปกันไม่ได้

ถ้ามองแต่รัฐธรรมนูญไม่มีประโยชน์ ต้องมองบริบททั้งหมด ผมเชื่อว่าถ้าไม่ร่วมมือกันเดินบนโรดแมปนี้ ประเทศนี้จะไม่มีอนาคต 100% ยิ่งกว่าความแตกแยกในหมู่คนรุ่นก่อน เพราะวันนี้จะแตกแยกกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คิดไปในทางเดียวกันหมดว่าไม่เอาเผด็จการ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save