fbpx
Plastic Highway - จากขยะพลาสติกสู่ถนนรีไซเคิล

Plastic Highway – จากขยะพลาสติกสู่ถนนรีไซเคิล

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

 

ตั้งแต่มีการคิดค้นและผลิตพลาสติกในช่วงปี 1950  น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ที่จะถูกนำกลับไปรีไซเคิลอีกครั้งหนึ่ง เป็นตัวเลขที่ทำให้รู้สึกน่าเป็นห่วงเพราะอย่างที่รู้กันดีว่าเจ้าพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกือบ 500 ปี แล้วพลาสติกหายไปไหนล่ะ? เพราะทุกครั้งที่โยนพลาสติกใส่ถังขยะก็หายเหมือนใช้เวทมนตร์เสกทุกทีไป ส่วนมากแล้วก็ไปอยู่ในหลุมฝังขยะที่มีขนาดใหญ่ขึ้น กินพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ บางส่วนก็ถูกทิ้งขว้างตามท้องถนน แย่ไปกว่านั้นคือไปปนเปื้อนกับธรรมชาติ ถูกชะล้างลงไปสู่แม่น้ำและทะเลก็ไม่น้อยเลยทีเดียว ปัญหาของพลาสติกนั้นแย่ลงเรื่อยๆ และกำลังเข้าขั้นวิกฤต ปีนี้มีการคาดการณ์ว่าพลาสติกจำนวน 380 ล้านตันจะถูกผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการใช้งานของมนุษย์ นับเป็นปริมาณมากกว่ายางมะตอยที่ถูกนำไปสร้างเป็นถนนกว่า 3 เท่าตัว และพลาสติกกับยางมะตอยมีทางเชื่อมต่อกันได้

พลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ยางมะตอยเป็นวัสดุที่สกัดจากน้ำมันดิบ ทั้งคู่เป็นพอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยมอนอเมอร์หลายโมเลกุลเกาะกันเป็นสายโซ่และมีมวลโมเลกุลสูงมาก ยึดติดกันแน่น ซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งของพลาสติกที่ทำให้มันย่อยสลายได้ยาก ลองมาคิดในทางกลับกัน มันเป็นคุณลักษณะที่มีประโยชน์มากถ้านำมาสร้างเป็นถนนสำหรับการเดินรถ เราใช้ยางมะตอยเพื่อเป็นตัวยึดหินทรายเวลาที่สร้างถนน จึงนำมาซึ่งคำถามว่า “แล้วทำไมไม่เอาพลาสติกมาใช้แทนล่ะ?”

พลาสติกรีไซเคิลนั้นถูกนำไปใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์มากมายตั้งแต่ท่อระบายน้ำ รางน้ำ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ แต่ตอนนี้ความสนใจเริ่มหันมาที่การใช้พลาสติกเพื่อสร้างเป็นถนน เมื่อวันที่ 11 กันยายน ในเมือง Zwolle ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการเปิดให้ใช้ถนนสำหรับจักรยานยาวประมาณ 30 เมตร ด้วยวัสดุที่มาจากพลาสติกรีไซเคิลถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือจากพอลิโพรไพลีน (polypropylene เรียกย่อว่า PP เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ตัวอย่างง่ายๆ ก็ถุงร้อนใสใส่อาหารบ้านเรานั้นแหละครับ) เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบ ‘PlasticRoad’ ที่พัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือของสองบริษัทสัญชาติดัตช์ KWS (ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างถนน) และ Wavin (ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างท่อพลาสติก) กับบริษัทน้ำมันสัญชาติฝรั่งเศสชื่อ Total

PlasticRoad จะถูกสร้างไว้ล่วงหน้าในโรงงานเป็นชิ้นๆ หลังจากนั้นจะถูกลำเลียงมายังส่วนที่ต้องการสร้างเป็นถนนบนรากฐานที่เหมาะสม (เช่นพื้นทราย) เหตุผลอย่างแรกเลยคือด้านในกลวง เพื่อใช้สำหรับเป็นทางน้ำทิ้งและเดินสายท่อแก๊สและไฟฟ้า ในโปรเจ็กต์ที่ Zwolle ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมีขนาดยาว 2.4 เมตร กว้าง 3 เมตร มีตัวเซนเซอร์ที่เอาไว้สำหรับวัดอุณหภูมิและการถ่ายเทน้ำภายในด้วย โดยโปรเจ็กต์ต่อไปอยู่ที่เมืองบ้านใกล้เรือนเคียงที่ Giethoorn

ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ผู้ที่คิดค้นโปรเจ็กต์นี้หวังว่าจะพัฒนาไอเดียและสร้างถนนเหล่านี้ด้วยพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด ทางเท้า ที่จอดรถ ชานชาลารถไฟ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ไกลจากจุดนี้สักเท่าไหร่ และแน่นอนว่าพวกเขามีแผนการเพื่อพัฒนาไปให้ถึงจุดที่ถนนทั่วไปใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ในอนาคต ที่อาจจะมีทั้งเซนเซอร์เพื่อเอาไว้วัดปริมาณรถยนต์ในแต่ละช่วงของวันเพื่อเก็บสถิติ รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อกับรถยนต์ไร้คนขับหรือแม้กระทั่งชาร์จแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

ถนนที่ถูกสร้างด้วยพลาสติกแบบนี้ ‘ควรจะ’ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นกว่าแบบเดิมประมาณ 2-3 เท่า ที่บอกว่า ‘ควรจะ’ ก็เพราะว่ายังไม่ได้มีการทดลองใช้จริงอย่างยาวนานเพียงพอ พูดอีกอย่างคือตามทฤษฎีและคำกล่าวของบริษัทผู้ผลิตแล้วควรเป็นแบบนั้น ค่าใช้จ่ายในการสร้างก็ถูกกว่าแบบเดิมๆ ที่เคยทำกันมาด้วยสาเหตุที่ว่าระยะเวลาในการสร้างนั้นจะลดลงไปกว่า 2/3 จากที่เป็นอยู่ พื้นผิวแบบหยาบที่เอาไว้เพิ่มความหนืดและกันลื่นก็สามารถนำเอามาใช้ตรงนี้ได้ด้วย พื้นผิวที่เสียหายก็สามารถถอดเปลี่ยนได้และนำกลับไปรีไซเคิลอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่วิศวกรยังต้องคอยกังวลคือเสียงสะท้อนที่ดังจากการขับขี่บนถนน (จำได้ไหมครับว่ามันกลวง) ซึ่งจะกลายเป็นถนนที่เสียงดังและการขับขี่ก็จะไม่ค่อยน่าสนุกเท่าไหร่นัก

อีกหนทางหนึ่งที่สามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลได้คือการผสมมันเข้าไปกับยางมะตอยร้อนๆ โดยตอนนี้ที่ University of California, San Diego กำลังจะสร้างถนนด้วยวิธีนี้ เพื่อเป็นการทดสอบว่าพลาสติกทำถนนตัวไหนของบริษัท MacRebur จากประเทศอังกฤษที่มีประสิทธิภาพบ้าง เพราะแต่ละสูตรของพวกเขาสร้างมาจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากตามธรรมชาติและส่วนใหญ่จะถูกขว้างทิ้งตามหลุมขยะ

MacRebur คัดแยก ทำความสะอาด หลังจากนั้นก็ปั่นพลาสติกเหล่านี้ให้กลายเป็นแผ่นเล็กๆ โดยแผนการของพวกเขาคือกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในบริเวณที่ต้องการจะสร้างถนนหรือซ่อมแซม เพราะจะเป็นการลดขยะในพื้นที่โดยไม่ต้องเสียพลังงานและค่าใช้จ่ายในการขนย้าย โดยแต่ละสูตรของพวกเขาอาจจะมีพอลิเมอร์มากกว่า 20 ชนิดเพื่อสร้างพื้นผิวที่แตกต่างกันออกไป มีสูตรหนึ่งที่เหมาะสำหรับรถที่มีขนาดใหญ่อย่างขนส่งมวลชน รถบัส รถเมล์ บางอันก็เหมาะสำหรับพื้นผิวที่ต้องการความยืดหยุ่นเช่นวงเวียนที่ไม่ต้องการแรงเสียดสีเยอะเท่าไหร่ ระดับอุณหภูมิในพื้นที่ก็สามารถนำมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนสูตรได้เช่นเดียวกัน การใช้พลาสติกสามารถลดความเสียหายจากการกัดเซาะของน้ำได้มากขึ้นด้วยเพราะพลาสติกเหล่านี้จะไปอุดรูเล็กๆในยางมะตอยและทำให้น้ำจากพื้นผิวซึมผ่านไปได้ยากทำให้พื้นถนนไม่แตกง่ายเหมือนเมื่อก่อน

โดยพลาสติกของบริษัทพวกเขาได้เริ่มมีการใช้งานแล้วบนท้องถนน ลานจอดรถ และที่น่าทึ่งคือรันเวย์ของสนามบินในบางส่วนของโลก โดยโปรเจ็กต์หนึ่งที่น่าสนใจคือถนนที่ทอดยาวในเมือง Cumbria ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษที่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีแต่รถบรรทุกหนักโดยสารไปมาอยู่เสมอ ปกติแล้วต้องมีการซ่อมแซมแทบจะทุกๆ 6 เดือน แต่หลังจากที่พวกเขาใช้พลาสติกเข้าไปเสริมเมื่อ 2 ปีก่อน ถึงตอนนี้ยังไม่ต้องไปทำอะไรกับมันอีกเลย และถ้าจำเป็นต้องมีการสร้างผิวหน้าใหม่ ก็สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกเช่นกัน

ปัญหาอย่างหนึ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือค่าใช้จ่ายในการคัดแยกพลาสติกแต่ละชนิดนั้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะถ้ามันถูกใช้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานแล้วก็ถูกโยนทิ้งอย่างเช่นพวกแพคเกจของสินค้าต่างๆ แต่การใช้พลาสติกเพื่อทดแทนในการทำถนนนั้นราคาถูกกว่า ยกตัวอย่างเช่นยางมะตอย 1 ตันอาจจะอยู่ที่ราวๆ 521 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พลาสติกที่สามารถใช้เพื่อทดแทนในการสร้างถนนนั้นอยู่ที่ราวๆ 400 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะไปทดแทนในบางส่วนของยางมะตอยในการสร้างถนน เพราะฉะนั้นราคาก็จะถูกลงไป แม้จะดูเล็กน้อยในเวลานี้ แต่เขาเชื่อว่าในอนาคตจะมีการใช้เพิ่มมากขึ้นและสุดท้ายการสร้างถนนก็จะถูกลงไปเรื่อยๆ

McCartney ผู้ก่อตั้งบริษัท MacRebur กล่าวว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการผลิตพลาสติกสำหรับสร้างถนนหลังจากที่ไปพบวิธีการซ่อมถนนบางส่วนในประเทศอินเดีย ที่นั่นเมื่อเกิดหลุมบนท้องถนนก็จะนำเอาพลาสติกมากองรวมๆ กัน ราดน้ำมัน แล้วจุดไฟเผาเพื่อให้มันละลาย แน่นอนว่ามันเป็นการแก้ปัญหาแบบส่งๆ สร้างมลภาวะในอากาศที่รุนแรง แต่หลุมบนถนนเองก็ได้รับการซ่อมแซม (ในระดับหนึ่ง) ในประเทศอินเดียเองถนนบางส่วนก็มีการนำเอาพลาสติกไปผสมกับยางมะตอยเพื่อสร้างขึ้นมาเช่นกัน

ออสเตรเลียเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังมุ่งหน้าไปทางนี้ พวกเขาเพิ่งสร้างถนนที่มีความยาวประมาณ 300 เมตรในเมือง Craigieburn จากวัสดุที่เรียกว่า Plastiphalt ที่มาจากถุงพลาสติกและแพ็กเกจสินค้าจำนวน 2 แสนใบ ขวดแก้วกว่า 63,000 ขวดและหมึกเครื่องปริ้นเตอร์กว่า 4,500 อัน วัสดุเหล่านี้ถูกนำมารวมกันและบดย่อยให้มีขนาดเล็กเพื่อนำไปผสมกับยางมะตอยเพื่อสร้างวัสดุในการทำถนนกว่า 250 ตัน ซึ่งบริษัทที่ดูแลในการก่อสร้างบอกว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนแบบนี้ไม่ได้แตกต่างจากเดิมเท่าไหร่แต่น่าจะมีความแข็งแรงและรับน้ำหนักได้ดีกว่าเดิม โดยปริมาณขยะรีไซเคิลที่ใช้ในการสร้างถนนครั้งนี้เทียบเท่ากับทั้งชุมชนละแวกนั้นใช้มาตลอด 10 ปีเลยทีเดียว

ในประเทศไทยเองเราก็เริ่มเห็นหลายๆ โครงการต้นแบบอย่างที่ระยองที่เป็นการร่วมมือระหว่าง SCG และ กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย โดยใช้แนวคิดเดียวกันที่ผสมพลาสติกเข้าไปกับยางมะตอยเพื่อสร้างถนน ทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความทนทานต่อพื้นถนน ลดมลภาวะในอากาศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

 

ขยะพลาสติกยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ถึงแม้ว่าหนทางที่จะนำมันกลับมาใช้ใหม่ อย่างการใช้เพื่อสร้างถนน จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีและควรสนับสนุนให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรใส่ใจอีกต่อไปในการใช้พลาสติก เพราะไม่ว่ายังไงพลาสติกก็ยังคงเป็นสิ่งปนเปื้อนในธรรมชาติอยู่ดี ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save