fbpx
Inconvenient Truths การเมืองไทย กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

Inconvenient Truths การเมืองไทย กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

นับตั้งแต่รับไม้ต่อจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลคือหนึ่งในพรรคการเมืองที่นำเสนอ ‘ความจริง’ ของปัญหาบ้านเมืองผ่านรัฐสภาได้อย่างแหลมคม

คุยกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าด้วยวิกฤตสุขภาพ สู่วิกฤตเศรษฐกิจ ถึงวิกฤตการเมืองและรัฐธรรมนูญ

ถอดความจากรายการ 101 One-On-One Ep.167 ‘ทิม’ อ่านวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองรอบนี้อย่างไร และอะไรคือข้อเสนอของเขาและพรรคก้าวไกลต่อสังคม

 

:: ทำไม ‘ความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจ’ จึงดังและชัดขึ้น ::

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

ก่อนหน้านี้ผมได้อภิปรายในสภาถึงความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจในสังคมไทย สิ่งที่ผมพยายามจะพูดในตอนนั้นคือการเตือนสติสังคมว่า นอกจาก 3 ข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษา คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.ยุบสภา ยังมีความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับคนหลายคน แต่เป็นความรู้สึกของยุคสมัยที่นิสิตนักศึกษาเขาพูดกัน ต้องตั้งคำถามกลับไปที่ผู้ใหญ่หรือคนที่อยู่ในสังคมไทยว่า พร้อมจะพูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและมีวุฒิภาวะหรือไม่

ถ้าเราบอกว่าอยากจะฟัง แต่ไม่พร้อมที่จะรับฟังเขาอย่างเข้าอกเข้าใจ เราก็จะเห็นเขาเป็นภัยต่อความมั่นคง เห็นเป็นการคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เขาเผชิญอยู่มากจากความล้มเหลวของคนรุ่นก่อนๆ

น้องๆ นิสิตนักศึกษาที่กำลังชุมนุมอยู่ในตอนนี้เขาผ่านทั้งรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 ทั้งการล้อมปราบ การนองเลือด ผ่านระบบนิติรัฐที่บิดเบี้ยว การตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จนกระทั่งวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจ และการเอาทหารออกจากการเมือง ถ้าเราไม่เข้าใจพวกเขาในสิ่งเหล่านี้ และถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริงที่เราไม่ต้องการพูดอย่างมีวุฒิภาวะ ก็เท่ากับเราทัดทานอนาคต และฆ่าอนาคตด้วยมือของเราเอง

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ปรากฏการณ์ ‘Inconvenient Truths’ ยิ่งดังและชัดขึ้น เนื่องจากวิธีที่เราตอบสนองกับปรากฏการณ์ สิ่งที่นิสิตนักศึกษากำลังพูดถึงไม่ถูกรับฟังอย่างแท้จริง ปากบอกว่ารับฟัง อยากได้อนาคตแบบไหนให้บอกมา แต่ไปจับเขา ไปคุกคามเขาและครอบครัวของเขา ไปใช้ปฏิบัติการ Information Operation ทำให้เกิดความแตกแยกกันมากขึ้น ไปเรียกเขาว่าม็อบมุ้งมิ้ง ไปด้อยค่าเขา ไปจับเขาโดยไม่มีหมายจับ เมื่อคำพูดกับการกระทำไม่ตรงกัน นิสิตนักศึกษาจึงต้องตะโกนให้ดังขึ้นอีก

:: จุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อ 10 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม ::

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

 

สถานการณ์ไหลมาจนถึงการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 10 ข้อ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้ใหญ่หลายๆ คน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พูดว่านี่เป็นการจาบจ้วง จะเกิดความรุนแรง นองเลือด และเกิดรัฐประหารในที่สุด ซึ่งผมเห็นแย้ง

จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือ เราไม่เชื่อว่าต้องลงเอยด้วยการนองเลือดหรือความรุนแรงเสมอไป ความรุนแรงเกิดจากผู้มีอำนาจ ถ้าคนที่มีปืนอยู่ในมือ ไม่คิดที่จะทำรุนแรงกับอนาคตของชาติตัวเอง เพิ่มความอดทนอดกลั้นว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อฆ่าอนาคตของคนที่ต่างยุคต่างสมัยจากเรา ก็สามารถทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอยได้

จุดยืนของพรรคก้าวไกลคิดว่า 10 ข้อเรียกร้องของนักศึกษา จะชอบใจหรือไม่ ทำได้หรือไม่ ถึงเวลาหรือยังไม่ถึงเวลา ก็เป็นสิ่งที่สามารถพูดคุยได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนอกจากจะไม่รับฟังเขา เราไม่ควรไปผลักเขาออกไปจากพื้นที่ปลอดภัย ด้วยการบอกว่าสิ่งที่เขาพูดเท่ากับการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์โดยทันที นี่เป็นสิ่งที่อันตรายมาก และอาจทำให้ประเทศถึงทางตัน

 

:: อีกฝั่งของความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจ: ใช้ไม้แข็ง  ไร้พื้นที่ปลอดภัย และปฏิเสธข้อเรียกร้องแรก::

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

 

พอสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดนี้ก็มีความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจอีกเซ็ตหนึ่ง

ข้อที่ 1 มีการส่งสัญญานที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะใช้ไม้แข็ง มีการพูดถึงการจัดม็อบชนม็อบ การปราบนิสิตนักศึกษาที่เป็นลูกหลาน เป็นอนาคตของเราเอง

ข้อที่ 2 พื้นที่ปลอดภัยของนิสิตนักศึกษากำลังจะหมดลง เท่ากับว่าเราผลักลูกหลานของเราไปบนถนน ไปสู่อันตราย ไปยังทุ่งสังหาร ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น

ข้อที่ 3 จะมีการยกเอาข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษาในการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ มาเป็นเหตุผลเพื่อปฏิเสธ 3 ข้อเรียกร้องแรก เพราะเขาตั้งใจจะปฏิเสธแต่แรกอยู่แล้ว

ผมยอมรับว่าสภาของเราช้าไปจริงๆ สภายังตามสังคมไม่ทัน แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า สภามีท่าทีอ่อนลง ฝ่ายที่มีอำนาจบางคนเริ่มเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย (ส.ส.ร.) มีพูดถึงการหาทางออกจากวิกฤต ถอดฟืนออกจากกองไฟ แก้มาตราเกี่ยวกับ ส.ว. คือ มาตรา 269-272 แต่เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็มีท่าทีว่าจะใช้ 10 ข้อเรียกร้องของนักศึกษามาปฏิเสธ 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งถ้าไปถึงตรงนั้นประเทศอาจจะมาถึงทางตัน เราอาจจะหาทางออกที่สันติไม่ได้

:: ทางออกคือแก้รัฐธรรมนูญและรักษาพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษา ::

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

ข้อเสนอแรกของผมคือ ให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสในเวลาเดียวกัน ถ้าเราดีลกับรัฐธรรมนูญนี้ด้วยความจริงใจ เร็วพอ เยอะพอ สังคมไทยก็ยังไม่สายเกินไป และต้องคุยกันถึงความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจนี้เพื่อให้ประเทศหาฉันทามติระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ผมยังยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นมาตรา 256 เรื่อง ส.ส.ร. มาตรา 269-272 เรื่อง ส.ว. หรือมาตรา 279 เรื่อง คสช. ก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้วิกฤตให้ประเทศไทยได้

ข้อเสนอที่สอง คือการรักษาไว้ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยสำหรับน้องๆ นักศึกษา ผมเรียกร้องไปยังสังคมและสถาบันการศึกษาว่าต้องมีความอดทนอดกลั้นพอให้เขาได้พูดสิ่งที่คิดและรู้สึกจริงๆ ในพื้นที่ที่ปลอดภัยและสังคมยอมรับได้ แต่ถ้าเราไปปิดกั้น ปิดพื้นที่ปลอดภัยของเขาลง ก็เท่ากับเรากำลังผลักเขาให้ออกไปสู่พื้นที่ที่เขาไม่สามารถพูดได้อย่างปลอดภัย นำไปสู่จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ และประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอยเหมือนเดิม

พรรคก้าวไกลก็ยังยืนยันว่าจะยืนเคียงข้างนิสิตนักศึกษา และพี่น้องประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพในการที่จะพูดสิ่งที่เขารู้สึกตราบใดก็ตามที่ยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

::เบื้องหลังของนักศึกษา คือยุคสมัยที่บิดเบี้ยว::

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

นิสิตนักศึกษามีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถไปยุยงปลุกปั่นเขาได้ เขาโตมาในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นยุคสมัยที่มีทั้งความวุ่นวาย มีทั้งนิติรัฐที่บิดเบี้ยวและไม่ยุติธรรม สิ่งที่เขาเห็นมาไม่สามารถมีพรรคการเมืองหรือใครคนใดคนหนึ่ง ไปปลุกปั่นจุดกระแสได้ ถ้าผู้มีอำนาจคิดว่ามีใครไปชักใยพวกเขา คุณจะประเมินสถานการณ์ผิดอย่างสิ้นเชิง วิธีการตอบโต้และวิธีแก้ปัญหาก็จะผิดอย่างสิ้นเชิง ติดกระดุมเม็ดแรกผิดเมื่อไหร่ก็จะพังไปทั้งระบบ

เราต้องยืนยัน ให้เครดิต ให้ความเป็นธรรมกับนิสิตนักศึกษาว่า สิ่งที่เขาพูดเป็นความบริสุทธิ์ เกิดมาจากสิ่งที่เขาเผชิญมาในอดีต และมาจากความกังวลต่อสิ่งที่เขาอาจจะต้องเจออีกในอนาคตทั้งเรื่องสังคมการเมือง เศรษฐกิจปากท้อง เรื่องสุขภาพ และสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถบอกว่ามีใครชักใยอยู่เบื้องหลังเขาได้ ง่ายเกินไปที่จะป้ายสีกันอย่างนั้น

ตอนนี้ระเบียบโลกแบบใหม่จะต้องยืดหยุ่นและมีพื้นที่พอให้คิดถึงอนาคต ฉันทามติ และระเบียบใหม่ๆ ในสังคมไทย แต่ถ้าคุณอยู่ในภาชนะที่แข็งเกินไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หรือยุทธศาสตร์ต่างๆ ก็จะทำให้ประเทศไทยถึงทางตัน ไม่อย่างนั้นเพลงค่านิยม 12 ประการที่พยายามเปิดและปลูกฝังให้เด็กๆ ก็ต้องใช้ได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะเด็กสมัยนี้เขามีความคิดเป็นของตัวเอง เขาหวงแหนอนาคตของเขาเอง และผ่านอดีตในบริบทของเขา เราต้องยอมรับว่าเรามีส่วนสร้างให้เขาต้องผ่านอดีตแบบนี้ และต้องอยู่กับปัจจุบันหรืออนาคตที่ทั้งไม่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

:: จุดยืนของพรรคก้าวไกล ถ้าเรามี ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ::

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

ยิ่งประเทศเจอวิกฤต ยิ่งเจอกับสิ่งที่สังคมไม่เคยเจอ พรรคก้าวไกลยิ่งจะเพิ่มการถ่วงดุลและการตรวจสอบ พรรคก้าวไกลพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน แม้จะต้องเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวเพื่อตรวจสอบรัฐบาลแห่งชาติที่เขาอ้างว่าจำเป็นต้องมีเพื่อให้เกิดความปรองดอง ซึ่งผมไม่เชื่อว่ามันจะสามารถฉาบปูนง่ายๆ แบบนั้นได้

ผมยังยืนยันในหลักการการถ่วงดุลและตรวจสอบอย่างเข้มข้น ยิ่งในน่านน้ำที่เราไม่เคยไป ในสถานการณ์ที่ประเทศไหนๆ ก็ไม่เคยเจอ ยิ่งต้องมีการตรวจสอบ เช่น งบประมาณโควิด งบประมาณปี 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ที่ใช้งบประมาณมากที่สุดในประเทศไทย 6 ปีที่อยู่มาใช้ไป 20 ล้านล้านบาท ท่านอยู่มา 2,000 วัน เท่ากับรัฐบาลนี้ใช้งบประมาณภาษีประชาชนวันละ 10,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงที่ไม่ได้เจอกับวิกฤตที่ไม่คุ้นเคย

ในอนาคตเรากำลังจะเจอทั้งวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตศรัทธา วิกฤตเศรษฐกิจ ไปจนถึงวิกฤตสาธารณสุขที่โลกต้องเผชิญ ทำให้ยิ่งจำเป็นต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็งเพื่อคอยถ่วงดุล และคอยจับตารัฐบาลที่พอประชาชนเผลอก็ไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ไปซื้อเครื้องบินวีไอพี รถถัง ปืน กระสุน แทนที่จะเอามาพัฒนาวัคซีน หรือเอามาถมช่องว่างในสังคมที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเป็นรัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลที่โปร่งใสพอ และมีฝ่ายค้านที่พร้อมจะตรวจสอบ แต่ถ้าคุณจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ เราก็พร้อมเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งและเข้มข้นกว่าเดิม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save