fbpx

เมื่อโลกไม่ได้เป็นสีชมพู Pink

ผมเพิ่งสมัครใช้บริการ Netflix เมื่อเร็วๆ นี้ สิ่งแรกๆ ที่รีบลงมือทำทันทีก็คือเข้าไปสำรวจตรวจตราค้นหาดูว่ามีหนังอินเดียเรื่องอะไรให้ดูกันบ้าง?

ผลคือเจอหนังอินเดียดีๆ ที่น่าสนใจเยอะแยะถึงขั้นหากจะไล่ตามดูให้ครบ น่าจะต้องใช้เวลาหลายเดือน

มีหลายเหตุผลที่ทำให้ผมสนใจหนังอินเดีย อย่างแรกคือเพื่อแก้ปมรู้น้อยของผมเองที่มีต่อประเทศซึ่งได้ชื่อว่าสร้างหนังออกมาในปริมาณเยอะที่สุดในโลก

ถัดมาคือ เท่าที่มีโอกาสได้ดูอยู่บ้างในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พบว่าหนังอินเดียหรือบอลลีวูดนั้น เวลาที่ทำออกมาดี มักจะดีน่าทึ่งระดับ ‘ทำเกินฝรั่ง’ ไปเยอะ มีความสนุกบันเทิงครบรสอย่างยิ่งยวด แม่นยำในการเร้าอารมณ์ ชนิดที่ว่ากระทั่งพล็อตที่เป็นสูตรสำเร็จ ซึ่งขึ้นต้นเพียงนิดเดียวก็สามารถคาดเดาที่เหลือได้หมด ยังทำเอาผู้ชมต้องติดตามแบบโดนสะกดตรึงและลุ้นระทึกหายใจไม่ทั่วท้องตั้งแต่ต้นจนจบ

หนังอินเดียกลุ่มที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี มักจะมีส่วนผสมที่เหมาะเจาะลงตัวระหว่างการรับอิทธิพลตะวันตก (ระบุเจาะจงลงไปก็คืออิทธิพลจากหนังฮอลลีวูด) อย่างเช่นมาตรฐานการถ่ายทำ แบบแผนโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ผนวกเข้ากับเนื้อหาเรื่องราว บรรยากาศของฉากหลัง วัฒนธรรม ตลอดจนรายละเอียดของสภาพสังคม (ซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุดิบชั้นเลิศมากมายหลากหลายเหลือคณานับ) ที่มีความเฉพาะถิ่นเฉพาะตัว จนเกิดเป็นอรรถรสแปลกใหม่

ประการสุดท้าย ผมคิดว่าหนังอินเดีย-หากเปรียบเป็นอาหารก็มีรสค่อนข้างไปทางจัดจ้าน-ถูกปากถูกลิ้นผู้ชมวงกว้างในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรสเข้มข้นในการเร้าอารมณ์ พูดง่ายๆ คือ พื้นฐานด้านรสนิยมใกล้เคียงกัน

หลังจากสำรวจคร่าวๆ รอบแรกเสร็จสรรพ ผมก็เริ่มทยอยไล่ดูตามรายชื่อที่เลือกสรรไว้ ประกอบไปด้วยเรื่อง Sanju, Talvar, Drishyam และ Pink ทุกเรื่องล้วนดีมากๆ และสนุกมากๆ

ขอแนะนำในระดับที่กล่าวกันว่า highly recommended

ในจำนวนนี้ ผมเลือกเรื่อง Pink มาเขียนเล่าสู่กันฟัง ด้วยเหตุผลว่าครบเครื่องทั้งในด้านคุณภาพ ความสนุกเข้มข้น และเนื้อหาสาระ

Pink เป็นหนังปี 2016 กำกับโดยอนิรุธ รอย ชอเดอรี เป็นงานแนว courtroom drama หรือหนังเกี่ยวกับการสู้คดีว่าความกันในศาล

หนังเริ่มต้นด้วยเสียงบทสนทนาโดยปราศจากภาพ จับความได้ว่าเป็นเสียงของหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งผลัดกันเล่าเรื่องตลก จากนั้นฝ่ายหญิงก็ขอแยกตัวกลับบ้าน แต่ฝ่ายชายพยายามยื้อให้อยู่ต่อและชักชวนดื่มเหล้าอีกแก้ว

ถัดจากนั้น ภาพแรกที่ผู้ชมได้เห็นคือชายหนุ่มสามคนรีบเร่งออกจากสถานที่แห่งหนึ่งกลางดึก ขับรถไปที่โรงพยาบาล หนึ่งในนั้นได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ตาข้างซ้าย ตัดสลับกับอีกเหตุการณ์ หญิงสาว 3 คนนั่งแท็กซี่กลับห้องพักที่พวกเธอเช่าอยู่ร่วมกัน สีหน้าเคร่งเครียดตื่นกลัวกับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสักครู่

สรุปความก็คือทั้งสองฝ่ายเจอะเจอกันขณะไปดูคอนเสิร์ตวงดนตรีร็อก จบแล้วก็ชักชวนกันไปกินข้าว ตามด้วยการดื่มเหล้า แล้วย้ายไปต่อที่รีสอร์ตย่านชานเมือง จนกระทั่งเหตุการณ์เลยเถิดบานปลายถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายกัน

เรื่องราวต่อมาคือหนุ่มผู้ถูกทำร้ายร่างกายจนตาเกือบบอดชื่อราชวีร์ เป็นหลานชายนักการเมืองผู้มีอิทธิพล ตัดสินใจเอาคืน ด้วยความโกรธแค้นควบคู่ไปกับกลบเกลื่อนความผิดที่ตนเองเป็นฝ่ายก่อ ด้วยการตามรังควานข่มขู่ฝ่ายหญิง เริ่มจากโทรศัพท์ไปหาเจ้าของห้องเช่าให้ไล่พวกเธอออกจากที่พัก, แอบสะกดรอยตาม, ตัดต่อภาพหญิงสาวคนหนึ่งในกลุ่มแล้วปล่อยลงเว็บไซต์ลามก เป็นภาพโฆษณาเชิญชวนซื้อขายบริการทางเพศ จนกระทั่งเธอโดนไล่ออกจากงาน

แต่ที่หนักหนาสาหัสสุดคือ มินัล อโรรา หญิงสาวที่เป็นคู่กรณีโดยตรงโดนลักพาตัวขึ้นรถ พร้อมกับถูกข่มขู่และลวนลาม (โดยที่ฝ่ายชายพูดตอกย้ำว่า ‘นี่คือขั้นเริ่มต้นเท่านั้น’) จากนั้นก็พาตัวมาปล่อยที่ห้องเช่าตามเดิม มินัลตกอยู่ในสภาพตื่นตระหนก เสียขวัญ ช็อกสุดขีด

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้ 3 สาว มินัล, ฟาลัก และแอนเดรีย เปลี่ยนความคิดจากเดิมที่นิ่งเฉย พยายามใช้ชีวิตตามปกติ ปล่อยให้เหตุการณ์ค่อยๆ ผ่านพ้นโดยหวังว่าเรื่องจะจบลงไปเอง ตัดสินใจแจ้งความกับตำรวจ

แต่ยังไม่ทันที่ตำรวจจะสืบสวนไต่ความ มินัลกลับกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง (จากการที่ฝ่ายชายใช้อิทธิพลของลุงกดดันตำรวจ) เธอโดนจับในข้อหาพยายามฆ่า, ทำร้ายร่างกาย, ข่มขู่กรรโชกทรัพย์ และค้าประเวณี

ตลอดเหตุการณ์ทั้งหมด หนังเล่าแทรกอีกเส้นเรื่องเคียงคู่มาเรื่อยๆ เป็นเรื่องของชายชราท่าทางแปลกๆ ลึกลับ เงียบขรึม ไม่ค่อยพูดจากับใคร สีหน้านิ่งเฉยไร้อารมณ์ เขาป่วย (จากอาการที่ปรากฏในหนัง ผมคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่บทวิจารณ์ต่างประเทศบางชิ้นระบุว่าเป็นไบโพลาร์) และมีกิจวัตรประจำวันคือเดินจากบ้านไปยังสวนสาธารณะทุกเช้า แวะเยี่ยมภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่ป่วยหนักในโรงพยาบาล ออกมายืนตรงระเบียงบ้านทุกค่ำคืน เฝ้ามองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเช่าของกลุ่มหญิงสาว

พฤติกรรมจับจ้องของชายชราทำให้เขาเป็นพยานรู้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ลักพาตัวมินัลไปข่มขู่ (ชายชราโทรศัพท์แจ้งความกับตำรวจ แต่ได้รับคำตอบเป็นการปัดภาระให้พ้นตัว ไม่ใส่ใจไยดี จนต้องโทรศัพท์ไปฟ้องและต่อว่ากับนายตำรวจยศสูงกว่า จึงค่อยมีการขยับตัวเคลื่อนไหว แต่ท้ายที่สุดตำรวจก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ในเหตุการณ์นี้)

เรื่องของชายชรากับพล็อตเรื่องหลักมาบรรจบพบกัน เมื่อเหตุขัดแย้งบีบต้อนหญิงสาวทั้ง 3 เข้าสู่มุมอับไร้ทางออก มินัลติดคุก ตำรวจมีทีท่าปฏิบัติต่อผู้ต้องหาด้วยความลำเอียงไม่เป็นธรรม พวกเธอขาดความรู้เรื่องตัวบทกฎหมาย ชายชราจึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ บอกกล่าวว่าโดยรูปคดีแล้ว มีแง่มุมข้อยกเว้นให้สามารถทำเรื่องขอประกันตัวได้ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ทนายความส่วนใหญ่ที่พวกเธอไปติดต่อพากันปฏิเสธ รายที่ตกปากรับคำยอมว่าความให้ก็ดูจะไม่ใส่ใจและทำงานแบบขอไปที

แล้วหนังก็เฉลยความลับซึ่งผู้ชมพอจะคาดเดาล่วงหน้าได้อยู่ก่อนแล้วให้ทราบ (ผ่านการหาข้อมูลใน google ของพวกสาวๆ) ชายชราผู้นี้คือ ดีพัค เซห์กัล อดีตทนายความผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งจำเป็นต้องยุติบทบาทด้วยอาการป่วยไข้ทั้งของตนเองและภรรยา

ถึงตรงนี้ หนังก็สร้างจังหวะฉากดรามาที่ดีมากๆ ตัวเหตุการณ์นั้นสามารถเล่าได้นะครับว่าเป็นเรื่องของการที่ยอดทนายความผู้หมดไฟไปเนิ่นนานแล้ว ตัดสินใจกลับมาว่าความอีกครั้งเพื่อช่วยเหลือหญิงสาวที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ที่เปิดเผยไม่ได้คือวิธีการเล่าของหนังว่านำเสนออย่างไร

หนังเรื่อง Pink มีความยาว 2 ชั่วโมง 16 นาที เรื่องย่อที่ผมเล่ามาทั้งหมดกินใจความประมาณ 1 ชั่วโมง

เป็น 1 ชั่วโมงแรกที่เล่าเรื่องอย่างใจเย็นค่อยเป็นค่อยไป มีความสนุกเข้มข้นชวนติดตามในเกณฑ์หนังดีขั้นปกติมาตรฐานทั่วไป ส่วนอีก 1 ชั่วโมง 16 นาทีที่เหลือไปจนจบ เป็นเรื่องราวของฉากสู้คดีว่าความกันในศาลเสียเป็นส่วนใหญ่

ตรงนี้แหละครับที่หนังคืบเคลื่อนเข้าสู่ขีดขั้น ‘ดีเป็นพิเศษ’ เต็มไปด้วยความตื่นเต้นระทึกใจ สลับกับฉากสะเทือนอารมณ์ การปะมืออันเข้มข้นระหว่างอัยการบุคลิกกระฉับกระเฉงก้าวร้าวกับทนายความชราที่แลดูเหนื่อยล้านิ่งเนือย การเผยหลักฐานแวดล้อมแน่นหนาและคำให้การของฝ่ายโจทย์ จนทำให้มองไม่เห็นความเป็นไปได้เลยว่า ตัวละครฝ่ายที่ผู้ชมเอาใจช่วยจะสามารถพลิกจากสถานการณ์ย่ำแย่เลวร้ายกลับมาเป็นต่อได้อย่างไร?

ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการสู้คดีในศาล หญิงสาวทั้งสาม คือ มินัล, ฟาลุก และแอนเดรีย ก็โดน ‘เปิดแผล’ หยิบยกขุดคุ้ยแง่มุมชีวิตส่วนตัวที่ชวนให้สังคมตราหน้าว่ากระทำเรื่องเสื่อมเสียและน่าอับอาย (ทั้งสิ่งที่เป็นความจริงและการยัดเยียดกล่าวหาโดยบิดเบือนความจริง)

ฉากขึ้นโรงขึ้นศาลในหนังเรื่อง Pink เป็นไปตามสูตรสำเร็จของหนังแนวนี้ทุกประการ ตั้งอกตั้งใจเร้าอารมณ์กันอย่างเต็มที่ แต่ความแม่นยำของคนทำหนัง ประกอบกับการเขียนบทที่เก่งกาจ และการแสดงชั้นดีในทุกบทบาท (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝีมือการแสดงอันสุดแสนจะประทับใจของดาราผู้เป็นตำนานอย่างอมิตาภ บัชชันในบทดีพัค เซห์กัล) ก็ทำให้ผลลัพธ์โดยรวมกลายเป็นความสนุกอันวิเศษ และจับใจอย่างยิ่งเมื่อดูจบ

ฉากที่ทนายจำเลยแถลงปิดคดี ผมถึงขั้นเผลอตัวลุกขึ้นยืนปรบมือเลยนะครับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมคิดว่าดีงามมากสุดของหนังเรื่องนี้คือประเด็นทางเนื้อหาว่าด้วยอคติฝังรากลึกที่สังคมอินเดียมีต่อเพศหญิง โดยเฉพาะทัศนคติและความเชื่อที่ว่า หญิงสาวคนไหนก็ตามที่แต่งกายโฉบเฉี่ยวทันสมัย, ออกไปกินดื่มกับผู้ชายที่เพิ่งรู้จัก หรือไปปาร์ตีสนุกสนานเฮฮา, พูดจายิ้มหัวและถูกเนื้อต้องตัวผู้ชายบ้างเล็กน้อย พวกเธอจะโดนตัดสินประทับตราทันทีว่า ‘ใจง่าย’ ‘สำส่อน’ ‘ให้ท่าผู้ชาย’ มีแนวโน้มสูงว่าน่าจะเป็น ‘ผู้หญิงหากิน’ และเป็น ‘หญิงสารเลว’

ต้นตอของคดีความเริ่มต้นเกิดขึ้นจากความคิดนี้ และท้ายที่สุดระหว่างการสู้คดีที่มีการหยิบยกข้อมูลสารพัดสารพันมาหักล้างกัน แก่นใจกลางสำคัญที่แท้จริงของคดีคือการถกปะทะกันอย่างลงลึกในแง่มุมข้างต้นที่กล่าวมา

พูดอีกแบบ หนังสะท้อนปัญหาที่มีมาช้านานและเป็นที่รู้ๆ กันดีอยู่แล้ว แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การเสนอแง่มุมเหล่านี้ผ่านฉากว่าความแบบแลกหมัดกันอย่างดุเดือดระหว่างฝ่ายอัยการกับทนายจำเลย ซึ่งโดยนัยหนึ่งมันเหมือนการหยิบยกเหตุผลของทั้ง ‘ฝ่ายเหยียด’ และ ‘ฝ่ายถูกเหยียด’ มาให้ผู้ชมพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและหลากหลาย

Pink ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Film Fare Award (รางวัลทางภาพยนตร์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากสุดของวงการหนังอินเดีย ผมเดาว่าน่าจะประมาณใกล้เคียงกับรางวัลสุพรรณหงส์ของไทย) ในสาขาหนังเยี่ยม, นักแสดงนำชาย, นักแสดงสมทบหญิง และอีก 2 สาขาที่มีเฉพาะในวงการหนังอินเดียคือ บทสนทนายอดเยี่ยม (สาขานี้แยกต่างหากออกมาจากรางวัลบทภาพยนตร์) และ best playback singer-female

รางวัลสาขาที่ผมเห็นว่าน่าสนใจสุดคือ การเขียนบทสนทนายอดเยี่ยม ซึ่งปรากฏเด่นชัดผ่านการถกเถียงในประเด็นอันเป็นแก่นเรื่อง จุดเด่นอย่างแรกเป็นการสร้างบทสนทนาที่สอดคล้องกลมกลืนไปกับเนื้อหาเรื่องราว ถัดมาเป็นความคมคาย หยิบจับเอาประเด็นหนักๆ มาสรุปความให้เป็นที่เข้าใจได้ง่าย จะแจ้งชัดเจน และปราศจากท่าทียัดเยียดขึ้นธรรมาสน์เทศน์ (ความเป็นหนัง Courtroom Drama มีส่วนเอื้ออยู่มากในการทำให้บทพูดสละสลวยคมคายแลดูไม่จงใจสั่งสอนคนดูจนเกินไป)

Pink เป็นหนังสะท้อนปัญหาสังคมอินเดียหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องอิทธิพลทางการเมืองที่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้หญิงที่มีความคิดทันสมัยก้าวหน้า และปัญหาที่พวกเธอต้องเผชิญเมื่อพยายามใช้ชีวิตเป็นอิสระต่างจากคนรุ่นก่อน แต่แง่มุมสำคัญสุดยังคงเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกดขี่ ความเสียเปรียบอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าของเพศหญิง รวมทั้งประเด็นใจกลางอย่างเรื่องอคติ ความเชื่อ และทัศนคติติดลบในสังคม (หนังแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่แค่ผู้ชายเท่านั้นที่มีความคิดเช่นนี้ กระทั่งผู้หญิงส่วนใหญ่โดยรวมก็ยังคงมีความเชื่อแบบเดียวกัน)

ความสำเร็จสูงสุดของหนัง คือนอกจากจะเป็นการสะท้อนประเด็นเหล่านี้ออกมาได้อย่างเฉียบคม แจ่มชัด ถี่ถ้วนครบครันแล้ว มันยังโดดเด่นด้วยการนำเสนอออกมาได้อย่างทรงพลังเอามากๆ

โดยเฉพาะคำพูดในตอนท้ายของทนายความดีพัค เซห์กัล ซึ่งใช้เป็น tag line ในโปสเตอร์หนัง เนื้อความว่า “no means no”

ตอนที่ยังไม่ได้ดูหนัง ผมรู้สึกว่าบทพูดดังกล่าวปกติธรรมดานะครับ แต่เมื่อปรากฏอยู่ในเรื่องท่ามกลางเหตุการณ์แวดล้อมสารพัดสารพัน จังหวะช่วงตอนที่ตัวละครเอ่ยออกมา ความหมายนั้นลึกและไปไกล คมคาย บาดลึก สะเทือนอารมณ์เป็นที่สุด

กล่าวได้ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งวรรคทองที่ตรึงใจมากในชีวิตการดูหนังของผม

ผมมีข้อสงสัยอย่างหนึ่ง ซึ่งหนังไม่ได้อธิบายให้คำตอบ นั่นคือการตั้งชื่อเรื่องว่า Pink โดยที่ตั้งแต่ต้นจนจบ เหตุการณ์ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือกล่าวถึงสีชมพูเลย มีเพียงแค่ 2-3 ฉากที่มินัลวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะเท่านั้น ที่ผู้ชมจะได้เห็นตัวละครใส่เสื้อสีชมพูแต่ก็อำพรางด้วยการสวมเสื้อสีดำคลุมทับอีกชั้น จนอาจทำให้ดูเผินๆ ผ่านๆ ไม่ทันสังเกตเห็น

เมื่อเทียบเคียงกับเนื้อเรื่องและประเด็นที่หนังนำเสนอ ผู้ชมก็น่าจะพอตีความได้ไม่ยากนะครับว่าหมายถึงอะไร

มีวิธีการอย่างหนึ่งของหนังซึ่งผมชอบมากและดีมาก คือฉากเปิดเรื่องที่ได้ยินแต่เสียงคนคุยกัน และถัดมาหลังจากนั้นตลอดทั้งเรื่อง คนดูทราบรายละเอียดที่เกิดขึ้นในค่ำคืนดังกล่าวเป็น 2 เวอร์ชันที่แตกต่างกัน คือเรื่องจากปากคำของฝ่ายชาย ซึ่งเล่าว่าฝ่ายหญิงยื่นข้อเสนอขายบริการทางเพศ เรียกร้องเงินค่าตัว เมื่อโดนปฏิเสธจึงโกรธแค้นไม่พอใจ ทำร้ายร่างกาย ขณะที่เรื่องเล่าตรงกันข้ามคือพวกเธอถูกชวนไปสังสรรค์กันต่อในที่รโหฐาน แล้วก็โดนปลุกปล้ำลวนลาม จึงป้องกันตัวกระทั่งพลั้งมือทำร้ายร่างกาย

ความฉลาดของหนังก็คือผู้ชมทราบเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านคำบอกเล่าของตัวละครทั้งสองฝ่าย คำให้การของพยานจำนวนมาก ภาพจากกล้องวิดีโอวงจรปิดซึ่งเห็นเฉพาะบริเวณภายนอกห้อง รวมถึงหลักฐานทางวัตถุจำนวนหลายชิ้น โดยไม่มีโอกาสได้เห็นภาพว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น (แต่หนังก็มีวิธีอื่นในการทำให้ผู้ชมเชื่อและเลือกเชียร์ตัวละครฝั่งไหน)

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในหนังตามสูตรทำนองเดียวกันนี้ เมื่อตัวละครไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตามออกมาให้การ มักนิยมตัดภาพจำลองเหตุการณ์ให้ผู้ชมเห็นภาพคล้อยตาม แต่ Pink ไม่ได้ทำเช่นนี้ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นในห้อง เป็นปริศนาไปตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ชมได้เห็นภาพเหตุการณ์นะครับว่าเกิดอะไรขึ้น หนังบรรจุไว้ในจังหวะที่นึกไม่ถึง และได้ผลทางอารมณ์ที่พิเศษเหลือเกิน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการทิ้งความรู้สึกอย่างหนึ่งไว้ในใจของคนดู นั่นคือคดีความในหนังอาจยุติจบลง แต่กรณีดังเช่นที่มินัลและเพื่อนๆ ประสบพบเจอ ยังคงมีอยู่ต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save