fbpx
เบอร์ลินของศิลปินสาว

เบอร์ลินของศิลปินสาว

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

บุษราพร ทองชัย

เวลาใครไปเที่ยวต่างประเทศ ตอนขากลับก็มักคิดถึงของฝากที่จะหิ้วติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านหรือเพื่อนฝูง อาจจะเป็นพวงกุญแจ ช็อกโกแลต รองเท้า หรือกระเป๋าหรู

ไม่รู้สิ, แล้วแต่รสนิยมและความคิดถึง แต่สำหรับ บุษราพร ทองชัย ศิลปินสาวจากนครพนม ก้อนอิฐที่เคยเป็นส่วนเสี้ยวของกำแพงเบอร์ลิน (Original Berliner Mauer) จากร้านของฝากกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอตั้งชื่องานศิลปะของเธอว่า “ของฝากจากเบอร์ลิน PIECES FROM BERLIN” ที่ได้แสดงนิทรรศการที่ ARDEL THIRD PLACE GALLERY ทองหล่อซอย 10

อะไรซ่อนอยู่ในก้อนอิฐที่เธอเห็นและสนใจใคร่ครวญทำความรู้จัก

อาจไม่ได้เกี่ยวกับการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น เลิกแบ่งเยอรมันตะวันออกกับตะวันตกโดยตรง แต่เบอร์ลินปัจจุบันในสายตาของเธอเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เธอมองผ่านผู้ลี้ภัย แรงงานนอกกฎหมาย และหญิงขายบริการ

“ในเบอร์ลินวันนี้ เวลาคุณขึ้นรถไฟ คุณไม่มีทางจะไม่เจอคนอพยพมาจากตะวันออกกลาง ภาพคนเซื่องซึม กังวล หวาดกลัว ภาพคนที่ดูเหนื่อยล้าจะมีให้เห็นตลอดเวลา”

“ของฝากจากเบอร์ลิน PIECES FROM BERLIN” นิทรรศการ ARDEL THIRD PLACE GALLERY

“ของฝากจากเบอร์ลิน PIECES FROM BERLIN” นิทรรศการ ARDEL THIRD PLACE GALLERY

ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา บุษราพรแสดงนิทรรศการศิลปะเดี่ยวไป 4 ครั้ง ครั้งแรก ปี 2010 ชื่องาน All About Her เรื่องของผู้หญิง(ฉัน) ครั้งที่สอง ปี 2012 ชื่องาน The Man Number 10 ผู้ชายหมายเลขสิบ ครั้งที่สาม ปี 2013 ชื่องาน Life in Progress และครั้งที่สี่ ปี 2015 ชื่องาน I’m not Your Holy Mother

ทุกงานที่ผ่านมาทั้งหมดเธอบอกว่าเป็นงานที่หมกมุ่นอยู่กับการพูดเรื่องตัวเอง ความสัมพันธ์ เซ็กส์ ครอบครัว

กระทั่งกลางปี 2017 เมื่อเธอคิดอยากเข้าเรียนด้านศิลปะบำบัดในมหาวิทยาลัยสักแห่งที่เบอร์ลิน เงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยขอสำหรับการเรียนด้านนี้คือต้องเคยทำงานกับคนสายนี้มาอย่างน้อย 1 ปี นั่นทำให้เธอมองหาองค์กรสักองค์กรที่รับเธอไปเป็นอาสาสมัคร และสมาคมบ้านหญิง (Ban Ying) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1988 ก็ตอบรับคำขอของเธอ

“ที่นี่จะเปิดรับคำปรึกษาด้านสิทธิและมีบ้านพักฉุกเฉินให้หญิงชาวไทยที่ถูกหลอกมาขายตัวในเยอรมัน ถูกทำร้ายร่างกายมาพักฟื้น มีนักสังคมสงเคราะห์รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือ แต่ต่อมานอกจากหญิงไทยก็มีคนจากประเทศแถบแอฟริกาและตะวันออกกลางที่เข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมายหรือถูกนายจ้างหลอกลวงก็จะมาขอพัก ห้องแต่ละห้องซอยแบ่งคล้ายอพาร์ทเมนต์ มีเตียงอยู่ 10 เตียงไว้รองรับ”

บุษราพรให้ภาพคร่าวๆ และบอกว่าตัวเองจะคอยเป็นล่ามให้สำหรับหญิงไทย ส่วนหน้าที่อื่นๆ ทำตั้งแต่พาพวกเขาไปหาหมอ ทำเอกสาร ซื้อตั๋วเดินทาง หรือแม้แต่เปลี่ยนหลอดไฟไปจนกระทั่งซ่อมก๊อกน้ำ

ระหว่างที่เป็นล่ามและใช้แรงงานในสมาคมบ้านหญิง ความเป็นศิลปินเรียกร้องตัวเองให้คิดงานศิลปะ เธอบอกว่าอยากทำงานสักชิ้นที่สามารถเข้ากับความรู้สึกคนไทยได้ โดยที่ตัวเธอไม่ถูกผลักไสและงานของเธอจะไม่ไปผลักไสใคร ที่สำคัญเธอบอกว่าไม่อยากถูกตั้งแง่ว่าเป็นวิธีคิดของพวกคนที่ไปเรียนเมืองนอกมา

ศิลปะ

“เราใคร่ครวญเรื่องนี้ เพราะมันมีคนประเภทที่ชอบพูดว่าถ้าประเทศตัวเองไม่ดี มึงก็ไปอยู่ประเทศอื่นสิ เราไม่อยากให้คนดูงานที่ไทยรู้สึกแบบนั้น อยากให้พวกเขาเชื่อมโยงเรื่องของตัวเอง ประเทศตัวเองกับโลกใบนี้ได้ เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล”

แต่การมีชีวิตในเบอร์ลินน่าจะสุขสบายดี เดินไปไหนก็เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ ทำไมถึงจับประเด็นซีเรียสมาทำงานศิลปะ บุษราพรอธิบายว่าต่อให้ไม่ทำงานในบ้านพักฉุกเฉิน แต่ชีวิตที่ดูเหมือนสุขสบายก็แวดล้อมไปด้วยผู้อพยพหนีสงคราม ผู้ลี้ภัยทางการเมือง

“ในรายการข่าวและรายการทอล์ก เราจะเห็นดีเบตเรื่องนี้หนักมาก มันเป็นผลมาจากวิกฤตสงครามซีเรียที่มีคนหนีเข้ามายุโรปหลายแสนคน รวมถึงคนที่หนีความยากจนจากแอฟริกามาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า แต่คนพวกนี้กลับถูกหลอกให้ทำงานไม่ต่างจากทาส”

เมื่อต้องรับหน้าที่ในบ้านพักฉุกเฉิน สิ่งที่บุษราพรเจอคือความไม่สอดคล้องกันของจำนวนเตียงที่มีจำกัดในบ้านพักกับจำนวนผู้หญิงที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่มาพร้อมกันหลายคนในคราวเดียว

ทุกครั้งที่เคสนี้เกิดขึ้น เธอต้องคุยกับเพื่อนร่วมงานว่าจะต้องออกความเห็นและเลือกว่าใครที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

“การตัดสินใจทุกๆครั้งสำหรับเราเป็นเรื่องยากมาก เพราะมันคือคำถามทางจริยธรรมเหมือนกับที่ให้ตอบว่าถ้ามีรถไฟที่เบรกไม่อยู่กำลังวิ่งมา และข้างหน้ามีคนยืนอยู่บนรางซ้ายหนึ่งคน อีกสามคนยืนอยู่บนรางขวา เราจะบังคับรถไฟให้วิ่งไปรางไหนดี? ใคร่ครวญแล้วดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย คำถามที่เราถามตัวเองเมื่อต้องตัดสินใจรับผู้หญิงสักคนเข้ามาในบ้าน ไปจนถึงคำถามของคนเยอรมันและประเทศในยุโรปเกี่ยวกับความสามารถในการรับผู้อพยพ ด้านหนึ่งมันพัวพันอยู่กับเรื่องจริยธรรมอย่างแยกไม่ออก”

งานศิลปะ A domestic worker from Southeast Asia และ No Human Rights - No Women's Rights?

หรืออย่างผู้หญิงในบ้านพักบางคนและอีกหลายคนข้างนอกที่ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านของพวกทูตประเทศต่างๆ เรื่องของพวกเขาเหล่านี้ทำเซอร์ไพรส์บุษราพรตรงที่เธอเองไม่เคยรู้มาก่อนว่าการใช้แรงงานในบ้านของทูตที่ฟังดูน่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนใช้ได้เจอนายจ้างที่ดีมีการศึกษา แต่กลับถูกเอารัดเอาเปรียบ

“ไม่จ่ายค่าแรง ไม่มีวันหยุด ยึดพาสปอร์ต จำกัดพื้นที่ ถูกกักขัง ห้ามติดต่อกับผู้คน กระทั่งถูกทำร้ายร่างกาย ขณะที่การเอาผิดนายจ้างพวกนี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะมีหน่วยงานที่คอยคุ้มครองและช่วยเหลือคนเหล่านี้”

นอกจากเคสที่ถูกนายจ้างกดขี่ บุษราพรยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกปฏิเสธการอนุญาตให้พำนักในเบอร์ลินหลายครั้ง เพราะก่อนหน้านี้เธออยู่โดยไม่มีใบอนุญาตมานาน กระทั่งถูกจับได้ แต่ให้ตายอย่างไรเธอไม่ต้องการกลับประเทศของเธอ และโดยความเห็นส่วนตัว ศิลปินสาวรู้สึกว่าคำตัดสินไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่

“ทั้งๆ ที่เธอเป็นคนขยันและมีความสามารถหลายด้าน เช่น เย็บผ้าได้ ทำอาหารท้องถิ่นของประเทศเธอได้ เพราะเคยเป็นแม่ครัวและมีใบประกาศ ประเด็นคือมีนายจ้างที่ทำร้านอาหารที่ต้องการแม่ครัวเก่งแบบเธอ พูดง่ายๆ คือน่าจะเป็นแรงงานที่ดีได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังปฏิเสธการให้พำนัก เธอจึงตัดสินใจว่าจะลักลอบอยู่อย่างผิดกฎหมายต่อไป เรารู้สึกว่ามันตลกร้าย แทนที่รัฐจะหาวิธีทำให้ถูกกฎหมายเพราะมีประโยชน์กว่า กลับกลายเป็นว่าต้องไปบีบบังคับให้คนต้องทำผิดกฎหมาย มันจึงเกิดคำถามว่าอะไรคือ Judgement หรือ Justice กันแน่”

บุษราพรเล่าถึงตัวอย่างการดีเบตเรื่องผู้อพยพว่า เวลามีข่าวผู้อพยพไปเกี่ยวข้องกับประเด็นล่วงละเมิดทางเพศ จะมีดีเบตกันว่าควรใช้คำว่ามุสลิมหรือไม่ ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ สื่อมวลชนจะระวังไม่ให้ประเด็นเหล่านี้ถูกฝ่ายขวาเอาไปใช้เป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อจะโยนความผิดให้ผู้อพยพและกดดันให้รัฐบาลกีดกันการรับผู้อพยพเข้าประเทศซึ่งกำลังสั่นคลอนรัฐบาลเยอรมันอยู่ในขณะนี้

ภาพและความคิดตัวอย่างในเบอร์ลินดังกล่าวเปลี่ยนวิธีคิดการทำงานศิลปะของบุษราพรไปอย่างสิ้นเชิง จากคนคิดหมกมุ่นในเรื่องความสัมพันธ์ เซ็กส์ ครอบครัวที่เป็นเรื่องของตัวเอง ถึงวันหนึ่งเธอบอกว่าไม่มีทางจะกลับไปพูดเรื่องเดิมเหล่านั้นได้แล้ว เพราะชีวิตเธอเดินทางมาไกลจากเรื่องของตัวเอง ขยับเข้าใกล้เรื่องคนอื่น เรื่องของโลก เรื่องของทุกคน

“จากที่เคยเป็นคนที่เฝ้าดูตัวเอง วันนี้เราเฝ้าดูคนอื่น มันทำให้เราเห็นตัวเองใหม่ว่าเราเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างไร ทุกความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็ลอยมาจากอารมณ์”

ศิลปินสาวจากนครพนมอธิบายตัวเองว่าเธอไม่ได้ทำงานศิลปะแบบตั้งประเด็นขึ้นมาแล้วลงไปหาข้อมูลแบบนักวิจัย แต่เธอบอกว่าเธออยู่กับเรื่องที่เกิดขึ้น อยู่กับคนที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน ต่อให้เธอไม่ได้ทำงานศิลปะ ชีวิตเธอก็อยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินอยู่ดี

“พูดอีกแบบคือการมีหน้าที่ในบ้านพักฉุกเฉินไม่ใช่หน้าที่เป็นศิลปิน แต่อยู่แบบคนทำงานใช้แรง และเราอยู่นานพอจนอยากทำงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้น”

ระหว่างสร้างผลงานด้วยการดรอว์อิ้งลงบนกระดาษ บุษราพรบอกว่ามันพาให้ตัวเธอไปเจอกลุ่มคนใหม่ๆ ที่ผ่านมากลุ่มคนที่สนใจสังคมการเมืองไม่ได้สนใจงานของเธอ วันนี้พวกเขาหันมาดู ขณะที่คนกลุ่มเดิมที่เคยดูงานเก่าและสนใจในมิติทางศิลปะมาตลอดก็เห็นประเด็นและความเติบโตในตัวเธอ

“เราทำงานศิลปะเพราะเรามีปัญหาไม่เข้าใจอะไรบางเรื่อง พอทำเสร็จชีวิตเราเคลียร์ขึ้น ปมบางอย่างถูกคลี่คลาย ไม่ตกค้าง ไม่ถึงขนาดปลดปล่อยตัวเองได้ แต่เห็นบันไดขั้นแรกที่ชวนให้ตัวเองสนใจเรื่องคนอื่น เรื่องสิทธิมนุษยชน”

My Son Was Born in Germany

Moral - Food?

Asylum

บุษราพรเล่าต่อว่าทุกวันนี้เธอคุยกับแม่ก็ยังได้ยินวิธีคิด เช่น ต้องมีผัวรวย

“จริงๆ ชีวิตเราเติบโตมากับเรื่องพวกนี้ ค่านิยมที่คิดว่าคนไม่เท่ากัน แต่เราไม่อยากให้วิธีคิดแบบนี้ตกไปถึงคนรุ่นลูกหลานเรา เราถูกกดดันมาตลอดว่าต้องมีผัวรวย แทนที่จะภูมิใจว่าได้ทำงานที่รัก”

ก่อนจะมาเป็น “ของฝากจากเบอร์ลิน PIECES FROM BERLIN” เธอบอกว่าตอนมาถึงเบอร์ลินใหม่ๆ เธอรู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อสิทธิสตรี เพราะแบกทัศนะมาจากไทยว่าผู้ชายเป็นศัตรูของผู้หญิง ในงานเก่าของเธอเองก็แฝงประเด็นโจมตีผู้ชายไว้ไม่น้อย

แต่บ้านพักฉุกเฉินล้างทัศนคติเก่านี้ของบุษราพรไป ผู้หญิงหลายคนที่ทำหน้าเป็นหมอ ทนายความ ล้างห้องน้ำ ล่าม เธอบอกว่าไม่มีใครหมกมุ่นว่าปัญหาทั้งหมดมาจากผู้ชายและต้องใช้เวลาไปกับการก่นด่าโยนความผิดให้พวกผู้ชาย

“ทุกคนโฟกัสไปที่สิทธิมนุษยชน มันทำให้เราเห็นว่าเมื่อก่อนเราเดินผิดทิศผิดทาง ที่เราเคยหมกมุ่นเรื่องความสัมพันธ์ เซ็กส์ เราคิดว่ามันจะไปส่งเสริมสิทธิสตรีได้ แต่เปล่า การพูดเรื่องสิทธิสตรีในไทยแทบไม่มีความหมาย ถ้าไม่เริ่มจากเห็นสิทธิมนุษยชน”

พูดแบบรวบรัด “No Human Right No Woman’s Rights” คือสิ่งที่บุษราพรประกาศออกมาดังๆ ไม่ใช่แค่อยากบอกกับคนทั่วไป แต่เธอกำลังวิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติความเป็นผู้หญิงในตัวเธอเอง

ดูเหมือนก้อนอิฐก้อนหนึ่งจากกำแพงเบอร์ลินในมือเธอกำลังเปล่งแสงท่ามกลางความมืดมนคลุมเครือของภาวะจริยธรรม

ไม่ว่าจะผ่านอดีตที่แหว่งวิ่น ความสัมพันธ์ที่ขาดพร่องกันมาอย่างไร เหมือนว่าประสบการณ์ในบ้านพักฉุกเฉินของบุษราพรกำลังค่อยๆ ก่อรูปขึ้นเป็นสำนึกใหม่

ไม่ต่างจากกำแพงเบอร์ลินที่ถูกทุบไป แล้วความศิวิไลซ์ก็ค่อยๆ เดินทางมาถึง.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022