fbpx
นิรันดร์ราตรี : โรงหนังเก่ากับชีวิตไร้ความหมายใต้ราตรีอันเป็นนิรันดร์

นิรันดร์ราตรี : โรงหนังเก่ากับชีวิตไร้ความหมายใต้ราตรีอันเป็นนิรันดร์

.

ในยุคสมัยที่สถาปัตยกรรมเก่าแก่เป็นเหมือนจุดดำบนพื้นขาวที่รอการทดแทนด้วยสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่หน้าตาล้ำโลก (จนคนคิดว่าตึกเอียงใกล้ถล่ม) ถ้าไม่นับ สกาล่า ที่แวะเวียนไปบ่อยๆ เพราะราคาตั๋วที่ถูกกว่าฝั่งตรงข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างผมและโรงภาพยนตร์แสตนด์อโลนยุคโบราณเห็นจะมีไว้แค่เพียงเดินผ่าน ไม่ก็เป็นแหล่งฝากท้องเพราะมีร้านอาหารเจ้าดังตั้งอยู่ข้างหน้าทางเข้า

จำได้ว่าสมัยยังเด็กช่วงที่ยังเดินเล่นอยู่ในละแวกพระโขนง ตรงข้ามสำนักงานถุงเท้าคาร์สันและห้างสรรพสินค้าอาเชี่ยน อาคารทรงกลมใหญ่โตที่มีโปสเตอร์ภาพยนตร์โบราณและแผงไฟติดตัวอักษรบอกชื่อภาพยนตร์ที่กำลังเข้าฉายตั้งตระหง่ายเหมือนเป็นซิกเนเจอร์ของย่าน แต่ด้วยอายุในตอนนั้นเลยทำได้แค่เดินผ่านเวลากลับจากโรงเรียน มากกว่าจะเดินเข้าไปตีตั๋วนั่งชมภาพเคลื่อนไหวในความมืด

สิบกว่าปีผ่านไป โรงหนังแห่งนั้นก็สูญหาย กลายเป็นคอนโดมิเนียมหน้าตาทันสมัยอย่างที่เกิดขึ้นคล้ายกันในหลายพื้นที่ที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ดีมานด์และซัพพลายวิ่งฉิวจนอดีตไล่ตามไม่ทัน

วัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิดของอาคารซีเมนต์ไร้ชีวิตอาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘วิญญาณ’ หรือ ‘การเกิดใหม่’ ตามความเชื่อของมนุษย์ แต่การดับสูญของพวกมันพัดพาอาจพาเอาวิญญาณและตัวตนของผู้คนที่อยู่อาศัยและทำมาหากินภายในนั้นไปสักที่หนึ่ง

คำถามคือ ที่แห่งนั้นอยู่ที่ไหนกัน

 

.

ผมกำลังนั่งดูหลักฐานการดับสูญของโรงหนังอนาล็อกผ่านที่นั่งนุ่มๆ ของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ในห้างใหญ่กลางเมือง พร้อมแอร์เย็นๆ ที่มาพร้อมเสียงดอลบี้เซอร์ราวด์ และภาพชัดใสบนจอส่งตรงมาจากเครื่องฉายแบบดิจิตอลความละเอียดโฟร์เค

นิรันดร์ราตรี คือผลงานภาพยนตร์สารคดีที่ เบสท์ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับและหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Eyedropper Fill  (อ่านบทสัมภาษณ์ที่เราไปคุยกับเขาได้ที่นี่) พาเราไปสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของ ธนบุรีรามา โรงภาพยนตร์ที่เคยยิ่งใหญ่ในฝั่งธนฯ สมัยอดีตที่ประกาศปิดตัวลง หลังคนดูเริ่มซบเซา รายได้ไม่เพียงพอที่จะอยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่กำลังเปลี่ยนจากการฉายด้วยฟิล์ม มาเป็นดิจิตอลแบบเต็มตัว

 

 

แตกต่างจากหนังสารคดีเรื่องอื่นๆ – นิรันดร์ราตรี ไม่ได้เลือกที่จะเล่าเรื่องตามขนมของหนังสารคดีแบบทั่วไป ก่อนหน้าที่จะได้มาดู (โดยไม่ได้เห็นตัวอย่างภาพยนตร์มาก่อน) ผมแอบคิดว่านี่คงเป็นหนังที่ตั้งใจสร้างความรู้สึกโหยหายอดีตอันหอมหวาน ตั้งคำถามกับคนดูถึงการเปลี่ยนแปลงจากโลกทุนนิยม ด้วยการใช้ธนบุรีรามาเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง

แต่กลายเป็นว่าเบสท์พาเราไปตามดู ‘ชีวิต’ ของคนที่อยู่กับโรงภาพยนตร์แห่งนี้มาจนเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชีวิต’ ผ่านเรื่องราวของ สัมฤทธิ์ หรือ พี่ฤทธิ์ พนักงานฉายหนังของธนบุรีรามา ที่ทำงานในห้องเล็กๆ เหนือที่นั่งคนดูมากว่า 25 ปี จนอาจจะไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าสำหรับเขา โรงหนังเฉิ่มเชยในสายตาของคนรุ่นใหม่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังที่เขากินนอนกับมันตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด เพื่อเข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวงเหมือนใครอีกหลายคน

ด้วยจังหวะหนังที่เนิบช้า บทสนทนาที่น้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ทำให้ผมไม่อาจบอกได้อย่างเต็มปากว่า นิรันดร์ราตรี เป็นหนังที่ ‘สนุก’ ตามมาตรฐานในใจของคนอื่นๆ ที่อาจคาดหวังเวลาเข้าไปดูหนังสักเรื่อง และผมเชื่อว่าความตั้งใจของเบสท์ก็ไม่ได้อยากจะทำให้เรื่องราวชีวิตของพี่ฤทธิ์ขับเคลื่อนไปด้วยความดราม่าและเสียงดนตรีเร้าอารมณ์แบบสกอร์ของ ฮันส์ ซิมเมอร์ แต่ปล่อยเราให้อยู่กับพื้นที่ของโรงหนังเก่า ช่องขายตั๋วเงียบเหงา บันไดแกรนิตโบราณ ผ้าม่านสีฟ้าเก่าๆ และเครื่องฉายหนังอายุเทียบเท่าคนในวัยเกือบกลางคน

หรือเรียกง่ายๆ ว่าเรากำลังถูกกำหนดให้ ‘เฝ้ามอง’ ชีวิตของพี่ฤทธิ์ ที่กำลังถูกพัดให้กร่อนปลิวเหมือนฝุ่นผงบนเบาะที่นั่งสีแดงเก่าคร่ำครึนั่น

ที่น่าสนใจคือมุมกล้องที่จับจ้องแทบทุกการกระทำของเขา (ซึ่งถึงขั้นพาคนดูไปเจอกับช่วงเวลาที่ ‘เป็นส่วนตัว’ มากๆ) ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการเป็นสารคดีกับเรื่องแต่งเริ่มพร่าเลือน ในบางช่วงบางตอน ผมนึกสงสัยขึ้นมาว่าเบสท์ได้เตี๊ยมกับพี่ฤทธิ์ไหมว่าเขาต้องการเหตุการณ์อะไรใส่ไว้ในหนังบ้าง แต่คำตอบคือระยะเวลากว่าสามปีที่เบสท์ไปติดตามและใช้ชีวิตอยู่กับชายหนุ่มคนนี้ต่างหาก ที่ทำให้กล้องไม่มีตัวตนในสายตาของพี่ฤทธิ์อีกต่อไป

ไม่มีคราบน้ำตาและเสียงฟูมฟายเพื่อให้เรารู้สึกถึงความสูญสลายของชีวิตที่ร่วงหล่น ชีวิตของหนุ่มใหญ่อดีตคนฉายหนังที่ดำเนินไปวันต่อวันต่างหากที่ทำให้เราเห็นว่า ‘วิญญาณ’ ในตัวของพี่ฤทธิ์กำลังโหยหาทางไปต่อหลังจากที่ ‘บ้าน’ แห่งเดียวของเขาสูญสลายไป วันแล้ววันเล่าของการอ่านหนังสือธรรมะ ดื่มสุรา สูดควันจากมวนยาสูบ นอนกลางวัน และอีกหลายเหตุการณ์ประจำวันดำเนินอยู่ในโรงหนังเก่าแห่งนี้กำลังถูกบังคับให้จบลง

และเขาอาจต้องกลับไปสู่ ‘บ้าน’ จริงๆ ของตัวเองสักที

 

.

จากโรงหนังกลางกรุง นิรันดร์ราตรี พาคนดูเดินทางไปไกลกว่านั้นด้วยการโยงความเชื่อเรื่องภูติผี วิญญาณ และศาสนา เข้ากับการสูญสลายของสิ่งปลูกสร้าง ที่กระทบกับการสูญสลายของตัวตน

อาจเป็นสายตาที่แหลมคมของผู้กำกับที่เลือกตามชีวิตของคนดำเนินเรื่องหลักได้ถูก จนนำพาหนังไปได้ไกลกว่าที่คิด จากพื้นที่เวิ้งว้างใกล้ตายในเมืองหลวง พี่ฤทธิ์พาเรากลับไปยังบ้านเกิดที่ดินแดนอีสาน ที่มาพร้อมกับเส้นเรื่องในฝั่งภรรยาและลูกสาวที่ห่างเหินกันมานาน เชื่อมไว้ด้วยวัฒนธรรมการเผาศพเชิงตะกอนแบบบ้านๆ และเรื่องผีในป่าสวนยางมาขมวดในตอนสุดท้าย

เมื่อ ธนบุรีรามา ปิดตัว สัมฤทธิ์หอบร่างพร้อมดวงวิญญาณร่วงหล่นไร้ที่ไปกลับมายังบ้านเกิด หวังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในต่างจังหวัดหลังต้องอยู่ในเมืองกรุงทำงานส่งเงินกลับมาบ้าน (และมีวันหยุดไม่กี่วันต่อปี) แต่กลับกลายเป็นว่าความเคยชินในห้องฉายหนังทำให้เค้าใช้ชีวิตไม่เป็นโล้เป็นพายไปวันๆ ดื่มเหล้า และฟังเพลงผ่านเครื่องเล่นวิดีโอซีดีใกล้พังที่เขา – ผู้อยู่กับฟิล์มมาเกือบทั้งชีวิต – ไม่รู้วิธีซ่อมมัน

มองในภาพกว้าง ช่วงเวลาการดับสูญของโรงหนังเก่า หรือชีวิตที่สูญหายไปจากตึกปรักหักพังของคนๆ หนึ่งที่ นิรันดร์ราตรี พาเราไปพบเจอ ทำให้ผมได้เห็นความเชื่อมโยงของชีวิตหนึ่ง (แม้อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ชีวิตจะเป็นอย่างพี่ฤทธิ์) ที่ถูกกระทบจากวัฏจักรการไล่รื้อ ทุบทิ้ง สร้างใหม่ของสิ่งปลูกสร้างในโลกยุคใหม่

โลกที่เราบอกกันว่า ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’

โลกที่เหวี่ยง บดขยี้ บีบคั้นคนที่อ่อนแอ ให้ไม่แน่ใจในตำแหน่งแห่งที่ของแก่นสารการมีชีวิตในบั้นปลาย ว่าสุดท้ายพวกเขาจะล่องลอยไปสิ้นสุด ณ ที่ไหน

 

นอกจากเป็นเหมือนดวงไฟไร้ที่ไป ท่ามกลางราตรีอันเป็นนิรันดร์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save