fbpx
ยุบพรรค ยุบนิติธรรม ยุบประชาธิปไตย

ยุบพรรค ยุบนิติธรรม ยุบประชาธิปไตย

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การยุบพรรคการเมืองน่าจะเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของวิกฤตการเมืองเสื้อสีที่เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อปี 2562 และคดีอิลลูมินาติของพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังจะมาถึง บอกเราว่า กระแสการยุบพรรคการเมืองยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ เช่นเดียวกับความขัดแย้งในการเมืองไทย

มาตรการยุบพรรคเปรียบได้กับยาแรงที่ฝ่ายสนับสนุนคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาการเมืองไทยได้อย่างเด็ดขาด แต่ฝ่ายต่อต้านเห็นว่ามาตรการนี้เต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว เป็นอาวุธทำลายล้างพรรคการเมือง ทุกครั้งที่นำมาใช้ มีคนนับร้อยได้รับผลกระทบรุนแรง เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองอย่างฉับพลัน และกระตุ้นความรุนแรงทางการเมืองให้แหลมคมขึ้นไปอีก

กว่าทศวรรษที่ใช้กฎหมายยุบพรรคการเมืองมา ไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้เลย

 

Militant Democracy เมื่อประชาธิปไตยไม่ทน

 

รากฐานกำเนิดของการยุบพรรคการเมือง คือ แนวคิดว่าด้วย militant democracy หรือในที่นี้ขอแปลว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ทน’ คำถามใหญ่ต่อระบอบประชาธิปไตย คือ เมื่อประชาธิปไตยคือการเคารพความเห็นต่าง ประชาธิปไตยต้องอนุญาตให้กลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดต่อต้านประชาธิปไตยหรือรัฐนั้น ดำเนินการจัดตั้ง และสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

แนวคิดประชาธิปไตยไม่ทนตอบชัดเจนว่า ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องอดทนอดกลั้นต่อแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวมันเอง พรรคการเมืองใดที่จะจัดตั้งและแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย ต้องสมาทานอุดมการณ์ประชาธิปไตยด้วย พูดอีกนัยหนึ่งคือ การใช้สิทธิทางการเมืองนั้นต้องใช้โดยสุจริต ไม่ใช่เจตนาใช้เพื่อทำลายระบบการเมืองที่ให้สิทธินั้น เคยมีผู้เปรียบเปรยไว้น่าฟังว่า การอ้างสิทธิเสรีภาพเพื่อเลือกสนับสนุนเผด็จการนั้น เหมือนเลือกขังตัวเองในกรง แต่โยนกุญแจทิ้ง ดังนั้น เมื่อรัฐนั้นกลายเป็นเผด็จการ สูญเสียประชาธิปไตยแล้ว ย่อมไม่มีหนทางหวนกลับคืนมาเป็นประชาธิปไตยอีก

แนวคิดประชาธิปไตยไม่ทนเข้าใจดีว่า หนึ่ง การเลือกตั้งไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มให้คนมาเลือกนโยบายพรรคการเมือง แต่การเลือกตั้งคือช่องทางให้กลุ่มพลังการเมืองต่างๆ ใช้รณรงค์แนวคิดของตัวเองต่อสาธารณชน เพื่อปลุกระดม เพื่อกล่อมเกลาให้เชื่อ และ สอง ในบางครั้ง การต่อสู้กับความคิดที่เป็นอันตรายนั้น จำต้องสกัดกั้นความคิดนั้นแต่ต้น ไม่สามารถปล่อยให้มีการถกเถียงกันอย่างอิสระได้ หากปล่อยให้คนเชื่อกันมากๆ เสียแล้ว ย่อมไม่ทันการณ์ที่จะชี้แจงหรือแก้ไขสถานการณ์

หน้าที่ปกป้องประชาธิปไตยจากพรรคการเมืองอันตราย จึงตกอยู่ที่ศาล ซึ่งแม้จะเป็นองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้พิทักษ์ระบอบการเมืองจากเสียงข้างมากที่อาจจะหลงลืมหรือโง่เขลาไปชั่วขณะ

ในต่างประเทศ ตัวอย่างแนวคิดที่นำไปสู่การยุบพรรค ได้แก่ แนวคิดชาตินิยมนาซีและคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี แนวคิดคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แนวคิดรัฐอิสลามในตุรกี แนวคิดแบ่งแยกดินแดนเคิร์ดในตุรกี และแนวคิดแบ่งแยกดินแดนบาสก์ในสเปน จะเห็นว่า อุดมการณ์การเมืองที่ถูกตีตราว่าอันตรายนั้น สัมพันธ์กับบริบทภูมิหลังของแต่ละรัฐ ว่าเคยผ่านประสบการณ์อย่างไรมา โดยหลักคือปฏิเสธระบอบเสรีประชาธิปไตย และปฏิเสธรูปแบบปัจจุบันของรัฐ

ที่สำคัญ คือ พรรคการเมืองที่จะถูกยุบนั้นต้องสมาทานอุดมการณ์ดังกล่าวเป็นอุดมการณ์ของพรรค ไม่ใช่แค่ของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในพรรค

 

การยุบพรรคการเมืองในกระแสธารการเมืองไทย

 

การยุบพรรคการเมืองในระบบกฎหมายไทย ประกอบไปด้วยสองมาตรการ คือการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิการเมือง ซึ่งมีพัฒนาการเรื่อยมาตลอดกว่าหนึ่งทศวรรษ การยุบพรรคการเมืองนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของกฎหมายมหาชนไทยเพราะเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สำคัญจำนวนมาก

ครั้งแรกที่การยุบพรรคการเมืองเป็นประเด็นขึ้นมาคือ การเลือกตั้งทั่วไป 2 เมษายน 2549 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดไม่ลงสมัครเลือกตั้ง เหลือแต่พรรคไทยรักไทย และตามกฎหมายขณะนั้น หากมีผู้สมัครพรรคเดียว จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ข้อกล่าวหาคือพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคขนาดเล็กลงสมัคร (แบบปลอมๆ) เพื่อเลี่ยงเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้การเลือกตั้งไม่มีผลเนื่องจากมีเหตุน่าสงสัยว่าไม่เสรีและเที่ยงธรรม อัยการจึงฟ้องพรรคไทยรักไทย แต่ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย เกิดการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ยุบศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา

ที่น่าสนใจคือ แต่เดิม ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2542 มีแค่การยุบพรรค แต่คณะรัฐประหารออกคำสั่ง (ประกาศคณะคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ 27/2549) ว่า เมื่อยุบพรรคแล้วให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคห้าปี

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ขั้นต่ำจริง และตีความว่าการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเช่นนี้ เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงให้ยุบพรรคเสีย (คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550) ที่สำคัญที่สุด คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่า สามารถนำประกาศคณะรัฐประหารเรื่องการตัดสิทธิมาบังคับใช้ย้อนหลังได้อีกด้วย ตรงนี้คณะรัฐประหารไม่ได้ระบุไว้ว่าให้ใช้ย้อนหลัง แต่ตุลาการตีความขยายขอบเขตออกไปเองว่า นำมาใช้ได้ โดยให้เหตุผลว่า การตัดสิทธิไม่ใช่โทษอาญา จึงใช้ย้อนหลังเป็นโทษได้

น่าคิดว่า ระหว่างโทษอาญากับการตัดสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานในการมีส่วนร่วมปกครองและกำหนดอนาคตตัวเองของพลเมือง การตัดสิทธิไหนร้ายแรงกว่ากัน

ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 การยุบพรรคการเมืองถูกนำไปบรรจุไว้ในระดับรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 สะท้อนว่า ผู้ร่างซึ่งเห็นชอบโดยคณะรัฐประหารเห็นว่ามาตรการดังกล่าวมีประโยชน์ โดยขยายขอบเขตออกไปอีกว่า หากมีสมาชิกพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หากกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนร่วม สนับสนุน หรือแม้แต่ทราบแล้วไม่ห้ามปราม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และให้ยุบพรรค ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเสีย

จะเห็นว่า มาตรา 237 นั้นใช้หลักการรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งเป็นที่คุ้นกันดีในการฝึกทหาร แต่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งสนับสนุนว่า ถึงแม้จะเป็นยาแรง ก็จำเป็นในการรักษาประเทศไทยที่กำลังเจ็บป่วยจากการทุจริตการเลือกตั้ง

หนึ่งปีให้หลัง มาตรา 237 นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นตัวแทนทายาทของพรรคไทยรักไทย หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคถูกศาลฎีกาตัดสินว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อเสียง จึงถูกยุบพรรคพร้อมกับอีกสองพรรคใหญ่ คือ ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2551)

การยุบพรรคครั้งนี้เกิดขึ้นในระยะสุดท้ายของการชุมนุมประท้วงภาคสองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งยกระดับการต่อสู้ถึงขั้นปิดสนามบินนานาชาติ การยุบพรรคจึงถูกมองว่าเป็นการ “หาทางลง” ให้กับกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งกำลังถูกประณามอย่างกว้างขวาง โดยศาลรัฐธรรมนูญรีบร้อนในการตัดสินคดีถึงขั้นไม่อนุญาตให้ผู้ถูกร้องแถลงการณ์ปิดคดี แต่ตัดสินในทันที มีจำนวนนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งหลายร้อยคน

พรรคใหญ่พรรคเดียวที่เหลืออยู่คือพรรคประชาธิปัตย์จึงสามารถขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ ภายใต้การช่วยเจรจาต่อรองกับพรรคการเมืองอื่นในค่ายทหาร อาจกล่าวได้ว่า เมล็ดพันธุ์ของการชุมนุมประท้วงปี 2552 และ 2553 ถูกบ่มเพาะตั้งแต่นาทีนั้นเป็นต้นมา เมื่อกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนเชื่อว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชนนั้น ไม่มีความชอบธรรม

พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคการเมืองเดียวที่รอดการยุบพรรคทั้งสองครั้งมาได้ ในปี 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่าการปราศรัยวิจารณ์พรรคไทยรักไทยและรณรงค์ไม่ออกเสียงนั้นกระทำได้ เป็นสิทธิในการแสดงความเห็น และไม่เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอื่นๆ ที่พรรคขนาดเล็กถูกกล่าวหาและตัดสินลงโทษ (คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่  1-2/2550) ส่วนในปี 2553 นั้น พรรคถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายเรื่องเงินบริจาค แต่ยกฟ้องด้วยเหตุผลทางเทคนิค คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งทำงานไม่ทันเส้นตายฟ้องคดี (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2553)

ที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ปี 2555-2557 พรรคเพื่อไทย ทายาททางการเมืองของพรรคพลังประชาชน ก็ถูกร้องยุบพรรคเช่นกัน เมื่อพรรคพยายามริเริ่มการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ ทั้งการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และแก้ไขอำนาจในการทำหนังสือสัญญากับนานาอารยประเทศ ทั้งหมดนี้ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า การพยายามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555, 15-18/2556, 1/2557) ที่จริง มาตรา 237 ก็ถูกเสนอแก้ไขด้วยเช่นกัน แต่เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองต่อจากนั้นทำให้เรื่องนี้พับตกไป

สุดท้ายในกระแสธารคือพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสถาบันลงได้ จึงเข้าลักษณะการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิกรรมการบริหาร 10 ปี ตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562)

 

ยุบพรรค ยุบนิติธรรม ยุบประชาธิปไตย

 

ปัจจุบัน การยุบพรรคการเมืองจะกระทำได้ก็ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดไว้สี่ประการ คือ

1. กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

2. กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74 ซึ่งว่าด้วยการดำเนินการของพรรค ว่าจะต้องไม่แสวงหากำไร ไม่ถูกครอบงำ ต้องยึดหลักประธิปไตย และปฏิบัติตามข้อบังคับเรื่องการเงิน

4. มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกําหนด

เมื่อยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารพรรคการเมืองจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และห้ามไปจัดตั้งหรือร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่อีกสิบปี จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน มาตรการยุบพรรคก็ยังคงอยู่และเพิ่มเขี้ยวเล็บให้ร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก

น่าเสียดายที่มาตรการยุบพรรคการเมืองในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นมีภาพลักษณ์ที่น่าเคลือบแคลง ไม่โปร่งใส เริ่มตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทยโดยคณะตุลาการที่มาจากคณะรัฐประหาร และการบังคับใช้มาตรการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง  แม้แต่คดีอิลลูมินาติเอง เพียงเริ่มต้นก็เต็มไปด้วยความเคลือบแคลง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดี แต่นัดฟังคำวินิจฉัยภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่สิทธิในการชี้แจงเมื่อตนเองถูกกล่าวหาเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกร้องในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าข้อกล่าวหานั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ชวนให้หวนระลึกถึงคดีพรรคพลังประชาชนที่ศาลรัฐธรรมนูญรวบรัดตัดคดีเช่นกัน

นอกจากนั้น ในภาพรวม พรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคทั้งสามครั้งสามครา และเผชิญกับข้อหายุบพรรคอีกทั้งสามครั้ง คือ พรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมชาตินิยมที่ก่อการรัฐประหารทั้งสองครั้ง กล่าวได้ว่า การยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีผลทางการเมืองสูงเป็นอย่างยิ่ง

เริ่มตั้งแต่เจตนารมณ์ ประชาธิปไตยไม่ทนหมายถึงการมอบให้ฝ่ายตุลาการพิทักษ์ระบอบการเมืองด้วยการยุบพรรคการเมืองได้ แต่กรณีของประเทศไทยนั้น ระบอบการเมืองที่ฝ่ายตุลาการพยายามจะพิทักษ์คือระบอบใด ระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่ งานศึกษาหลายชิ้นโต้แย้งว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ภาวะประชาธิปไตยของไทยถดถอยจากระบอบเสรีประชาธิปไตยมาเป็นกึ่งประชาธิปไตย หรืออำนาจนิยมแปลงรูปด้วยซ้ำ ผลเชิงประจักษ์คือ การยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่ได้นำให้ประเทศไทยเกิดประชาธิปไตยมากขึ้นแม้แต่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อความถดถอยของประชาธิปไตยนั้นถูกมองว่าเกิดจากความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งฝ่ายตุลาการถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนั้นด้วย การใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องจงใจที่วางแผนกันมาแล้ว มากกว่าเหตุบังเอิญ พรรคการเมืองทั้งหมดที่ถูกยุบล้วนเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งสิ้น

มาตรการยุบพรรคการเมืองภายใต้กฎหมายไทยอาจจะขัดแย้งกับหลักนิติธรรม ซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองย้ำหนักหนาว่าเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐ อย่างน้อยในสองประการ คือ ความไม่ชัดเจนในถ้อยคำ และความไม่ได้สัดส่วนระหว่างบทลงโทษกับความผิด

กล่าวแบบสรุปรวบยอด ความผิดที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ คือ หนึ่ง กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอง กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สาม กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อะไรคือการล้มล้าง อะไรคือการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ยิ่งการกระทำอันขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นถ้อยคำครอบจักรวาลที่คลุมเครือ อะไรก็ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีได้ไม่ยาก แต่การกระทำนั้นต้องร้ายแรงขนาดไหนจึงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ถ้าเทียบกับบรรทัดฐานกฎหมายอาญา การตีความกฎหมายที่ให้โทษร้ายแรงเช่นนี้ ต้องตีความโดยเคร่งครัดจำกัด ถามว่าศาลได้ตีความพฤติกรรมที่เข้าข่ายยุบพรรคโดยเคร่งครัดหรือไม่ การกระทำที่ “อาจจะ” เป็นปฏิปักษ์นั้น เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจส่วนตัวชั่งน้ำหนักพิจารณาเอาเอง โดยที่ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรแน่นอน

เมื่อเทียบกับแนวทางการยุบพรรคการเมืองในต่างประเทศ เกิดคำถามว่า การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้นร้ายแรงเทียบเท่าการพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองรัฐ การแบ่งแยกดินแดน หรือการเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมนาซีหรือไม่ ในเมื่อทั้งพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ ตลอดจนพรรคอนาคตใหม่ ล้วนแสดงออกว่าต้องการลงแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีอุดมการณ์ล้มล้างการปกครองนี้ให้สิ้นรูปไป กรณีเดียวที่อาจจะต้องถกเถียงกันต่อไปคือพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่ออดีตสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การพังทลายของหลักการพื้นฐานที่ยกสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง แต่นั่นก็นำไปสู่คำถามอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาทิ การลงโทษบุคคลด้วยจารีตประเพณีการปกครองจะกระทำได้หรือไม่ เมื่อหลักการปกติคือ การลงโทษควรจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรห้ามเอาไว้

ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น การซื้อเสียง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรมแน่นอน แต่ไม่เป็นธรรมถึงขั้นล้มรัฐ ล้มรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบประชาธิปไตยเลยหรือไม่ หรือการซื้อเสียงถูกทำให้เป็นปีศาจ ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมอยากให้คงอยู่เพื่อหลอกหลอนคนไทยให้รังเกียจการเมือง และสนับสนุนสภาวะกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการที่พวกเรากำลังประสบอยู่ ณ ปัจจุบันนี้

การยุบพรรคจึงเป็นดั่งเช่นหลักการสากลอีกจำนวนมาก ที่เมื่อนำมาใช้ในบริบทแบบไทยๆ แทนที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยกลับทำอันตรายแทน การยุบพรรคถูกใช้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง หรืออย่างน้อยก็ข่มขู่ ไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการใดๆ ได้ถนัดนัก

ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือความไม่ได้สัดส่วนระหว่างความผิดและบทลงโทษ ธรรมดาการลงโทษคือการจำกัดสิทธิ จึงต้องจำกัดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยในรัฐ ความผิดที่นำไปสู่การยุบพรรคภายใต้มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่สิ้นผลไปแล้วนั้น เกิดจากการกระทำของบุคคลไม่กี่คน แต่การลงโทษกระทบสิทธิคนจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะกรรมการบริหารพรรค แต่มีสมาชิกพรรค และผู้สนับสนุนอื่นๆ นับเป็นจำนวนหลายหมื่น หลายแสน หรืออาจจะหลายล้านคน กรณีนี้ต่างจากรณีต่างประเทศ ที่พรรคการเมืองนั้นประกาศอุดมการณ์ที่ขัดกับประชาธิปไตย หรือรูปแบบพื้นฐานของรัฐชัดเจน และสมาชิกทุกคนรับทราบแนวทางของพรรค ยินดีรับเป็นอุดมการณ์ของตัวเองและพร้อมจะสนับสนุน เช่นนี้ การลงโทษองค์กรทั้งองค์กรจึงจะชอบธรรม

ถัดจากการยุบพรรคลงมา มีมาตรการอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยเจาะจงเฉพาะการกระทำและบุคคลที่กระทำผิดโดยไม่กระทบผู้อื่น ปัจจุบัน รัฐไทยมีมาตรการจำนวนมากที่เพียงพอสำหรับการพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยหรือรัฐ เช่น ความผิดฐานกบฏ ปลุกปั่น ยุยง หมิ่นประมาท เรื่อยลงไปจนถึงมาตรการเล็กน้อย อาทิ เทศบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือความสะอาด โดยไม่จำเป็นต้องยุบพรรคเลย

ที่ผ่านมา พรรคการเมืองถูกวาดภาพให้เป็นสิ่งชั่วร้าย และไม่จำเป็นกับประชาธิปไตย มีคนพยายามรณรงค์ว่าเฉพาะประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรง (participatory democracy) เท่านั้นที่ดีที่สุด และพรรคการเมืองเป็นตัวกลางที่บิดเบือนเสียงประชาชน แต่ความคิดเช่นนั้นน่าสงสัยว่าจริงหรือไม่ สภาพสังคมการเมืองของรัฐขนาดใหญ่แบบไทยนั้น เกินความสามารถของประชาธิปไตยทางตรง จึงจำต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ควบคู่กันไป ในระบอบนี้ พรรคการเมืองช่วยรวบรวมความปรารถนาของผู้สนับสนุนเข้าด้วยกัน และเป็นตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจแทนผู้สนับสนุนตนเอง ซึ่งพรรคการเมืองที่จะทำหน้าที่นั้นได้ดี ต้องมีลักษณะเป็นสถาบัน การยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น ทำให้โอกาสที่พรรคการเมืองจะพัฒนาเป็นสถาบันสำคัญของประชาธิปไตยนั้น แทบไม่มี อาจสรุปได้ว่า การยุบพรรคการเมืองสะท้อนแนวคิด ‘ไม่ทนประชาธิปไตย’ ไม่ใช่ ‘ประชาธิปไตยไม่ทน’

การยุบพรรคในระบบกฎหมายไทย จึงเป็นการยุบหลักนิติธรรม ยุบระบบประชาธิปไตย และยุบความใฝ่ฝันของประชาชนจำนวนมากทิ้งไปด้วย

คดีอิลลูมินาติเตือนเราว่า ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ยังไม่สิ้นสุดลงโดยง่ายหลังการเลือกตั้ง และปัญหาหลักนิติธรรมและสถาบันตุลาการของไทยก็ยังรอคอยการแก้ไขต่อไป

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save