fbpx

Re-Solution ก้าวต่อไปรื้อระบอบประยุทธ์ กับ พริษฐ์ วัชรสินธุ

การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่นำเสนอโดยกลุ่ม ‘Re-Solution’ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับที่สองที่สภาฯ ปฏิเสธ ทำให้ทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองตีบตันมากไปกว่าเดิม

บทสนทนา การเจรจา และการประนีประนอมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปอย่างสันติ ดูจะไม่ใช่ทางเลือกหลักของชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐไทยในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้การเมืองภาคประชาชนและขบวนการประชาธิปไตยจะก้าวต่อไปอย่างไร

101 ชวน ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution สนทนาว่าด้วยก้าวต่อไปรื้อระบอบประยุทธ์และก้าวต่อไปการเมืองไทย

:: ชัยชนะทางความคิดภายใต้ความพ่ายแพ้ทางกฎหมาย ::

ถ้าถามว่า ทำไมถึงล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมต้องบอกก่อนว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลายปัญหา ทั้งที่มา กระบวนการและเนื้อหา ในส่วนของที่มา มันถูกเขียนในสมัยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารซึ่งไม่ได้เปิดให้ประชาชนในวงกว้างสามารถแสดงความเห็นได้ ถ้าดูเจตนาของคนร่าง ผมขอหยิบยกคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหัวหอกของระบอบประยุทธ์ในปัจจุบันที่พูดว่า “รัฐธรรมนูญถูกดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” มันชัดเจนมากว่า ที่มาถูกออกแบบโดยคนไม่กี่คนเพื่อพยายามจะสืบทอดอำนาจของตนเอง 

พอมาเรื่องกระบวนการ หลายคนมักอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติในปี 2559 ซึ่งก็จริง แต่ว่าเป็นประชามติที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม ฝ่ายที่รณรงค์อยากจะให้รับร่าง แทบจะไม่ต้องทำอะไร เพราะสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปข้อดีเป็นเอกสารส่งให้ทุกคนถึงบ้านและคำถามพ่วงเรื่องที่มาของการให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่งตั้ง 250 คนสามารถเลือกตั้งนายกฯ ได้ มีลักษณะที่ซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมาและชี้นำมาก กลายเป็นว่าถ้าเราไม่เห็นด้วยกับร่างเท่ากับว่าเราไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศ

ประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องยอมรับว่ามันสมควรแก้ยากกว่ากฎหมายทั่วไป แต่มันมีความผิดปกติสองอย่าง อย่างแรก คือ รัฐธรรมนูญไม่ควรจะเขียนละเอียด เพราะในเมื่อมันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรจะมีแต่เฉพาะเรื่องที่สำคัญ แต่รัฐธรรมนูญของเราเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งมีหลายเรื่องที่บางครั้งหลายประเทศไม่ได้ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เลยทำให้การแก้รายละเอียดหลายๆ อย่างต้องไปแก้ในระดับรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ยาก 

อย่างที่สอง คือถึงแม้ว่าประชาชน 60 ล้านคนจะเห็นด้วยหรือถึงแม้ ส.ส. ในสภา 500 คนจะเห็นด้วย แต่ถ้า ส.ว. ไม่ถึง 1 ใน 3 ไม่เห็นด้วย ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ แล้ว ส.ว. 250 คน ก็มีที่มาจากแค่กลุ่มคณะเดียวคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นี่ก็เลยเกิดการผูกขาดทางการเมือง ซึ่งทำให้คสช.และ ส.ว. สามารถสกัดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตามที่เขามองว่าเขาไม่ได้ประโยชน์ได้ นี่คือความผิดปกติของการแก้รัฐธรรมนูญที่ยากกว่าครั้งก่อนๆ

หากถามว่า ในเมื่อการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก แล้วทำไมถึงอยากแก้ ผมมองว่า การรณรงค์การแก้ไขกฎหมายและการรวบรวมรายชื่อเป็นการต่อสู้ในสองสมรภูมิพร้อมกัน สมรภูมิที่หนึ่ง คือ สมรภูมิกฎหมาย เราเสนอร่างเข้าไปเพื่อหวังว่าในที่สุด มันจะผ่านไปตามกระบวนการและนำไปสู่การแก้ไขจริง ส่วนสมรภูมิที่สอง คือ สมรภูมิในเชิงความคิด กระบวนการที่เราเชิญชวนคนให้มาพูดคุยว่าเห็นด้วยหรือไม่กับเรา รวมถึงโอกาสที่เราได้ไปอภิปรายในสภาวันนั้นเป็นการขยับความคิดของคนในสังคม ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้เราอาจจะพ่ายแพ้ในสมรภูมิกฎหมาย แต่ในสมรภูมิเชิงความคิด เราได้รับชัยชนะ เพราะมันทำให้อย่างน้อยบางคนที่ไม่เคยเห็นประเด็นปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญมาก่อน เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ

:: การเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประนีประนอม ::

จากการที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เราต้องการเสนอป่วน ทั้งที่รู้ว่าจะแพ้นั้น ความจริงเราไม่ได้เสนอไปเพื่อที่จะให้มันถูกปัดตก เราก็ทำทุกวิถีทางที่จะให้มันผ่านในเชิงกฎหมาย สำหรับกลุ่ม Re-solution มองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างประนีประนอม โดยเรามองว่าถ้าเราจะขับเคลื่อนต่อในการผลักดันร่างฉบับใหม่ตอนนี้เลย มันอาจจะยังทำไม่ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ดังนั้น ตอนนี้เราเลยเอาแค่เฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ แล้วยื่นร่างที่แก้ไขเป็นรายมาตราไป เพราะว่าจะได้ไม่เจออุปสรรคเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

แล้วเราจะแก้รายมาตราอะไร? ในกลุ่ม Re-Solution ล้วนเห็นตรงกันว่าจริงๆ แล้วต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่มีปัญหาเยอะมาก แต่รอบนี้ เราจะแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญก่อน ในที่สุดทุกฝ่ายก็ตกผลึกร่วมกันว่า เราอยากจะเน้นแก้ไขกลไกที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล ดังนั้น กรอบของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นการรื้อระบอบประยุทธ์

เราก็เลยมาประเมินดูว่าในปัจจุบันรัฐบาลหรือระบอบประยุทธ์กำลังใช้สถาบันทางการเมืองอะไรบ้างเพื่อสืบทอดอำนาจ แล้วเราก็ตกผลึกที่วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยวุฒิสภา กลไกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และก็เรื่องผลพวงจากการรัฐประหาร จริงๆ มีคนถามบ่อยว่า ทำไมไม่แก้ประเด็นในหมวดสองด้วย ต้องยอมรับว่าเรื่องของสถาบันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ประเด็นอะไรที่ต้องใช้เวลาในการพูดคุยถกเถียงมาก ก็รอสสร.ดีกว่า ตอนนี้เราเอาประเด็นที่เป็นกลไกที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจนก่อน

ประเด็นที่ผมคิดว่าอาจจะพอจุดติดให้คนตั้งคำถามคือเรื่องสภาเดี่ยว ความจริงสภาเดี่ยวเป็นสิ่งที่ปกติกว่าสำหรับประเทศไทย เพราะจากการสำรวจ เราพบว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวใช้สภาเดี่ยว เพราะฉะนั้นในมุมของสถิติ เราจะเห็นว่าสภาเดี่ยวเป็นสิ่งที่ปกติกว่า คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเราจะมีองค์กรที่ชื่อว่าวุฒิสภาซึ่งใช้งบประมาณอย่างน้อย 1 พันล้านบาทต่อปี เราจะมีไปเพื่ออะไร เราพบว่าเหตุผลที่หลายคนอยากให้มีวุฒิสภาสามารถได้รับการตอบสนองด้วยกลไกอื่นที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น บางคนบอกว่าต้องมี ส.ว. เพราะเราต้องเปิดพื้นที่ให้มีความหลากหลายในสาขาวิชาชีพ เราก็เห็นว่า ถ้าเราอยากจะเพิ่มผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในกระบวนการกฎหมาย ไปเพิ่มสัดส่วนในคณะกรรมาธิการเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นคนนอกสามารถเข้ามานั่งได้มากขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่าเขาจะอยู่ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของการริเริ่มกฎหมาย แทนที่จะไปรอกลั่นกรองตอนจบแบบวุฒิสภา

ถึงแม้ว่าผู้มีอำนาจไม่คิดประนีประนอม แต่ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ว่าอย่างไรก็ต้องรณรงค์ต่อ ถ้ากลับมาเรื่องสองสมรภูมิ สมรภูมิทางความคิดเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องสภาเดี่ยว หรือแนวคิดเรื่องการปฏิรูปศาล หรือแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรอิสระที่เราปักธงไว้ ไม่ว่าอย่างไรผมคิดว่าต้องถูกหยิบยกมาถกเถียงต่อ เพราะว่าข้อคัดค้านของสมาชิกรัฐสภาหลายคนก็เป็นข้อคัดค้านในเชิงเนื้อหาสาระซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะฉะนั้น ผมถึงคิดว่าในสมรภูมิทางความคิดจึงต้องมีการจัดเวทีหรือเอาเนื้อหาจากร่างในวันนั้นมาพูดคุยต่อ เพื่อหวังว่าในวันที่เรามีสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนจะได้มีความคิดเห็นที่ชัดเจนว่าอยากเห็นวุฒิสภาแบบไหนหรือไม่ต้องมีเลย หรืออยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระแบบไหน

:: ชุดความคิดแบบไทยที่เอื้อต่อการรัฐประหาร ::

สิ่งที่เราเสนอไปในวันนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีก เราศึกษาจากกรณีประเทศอื่นๆ ว่าเขาสามารถยุติวงจรการรัฐประหารได้อย่างไร ข้อสรุปที่เราได้คือ ถ้าการรัฐประหารสามารถทำได้โดยไม่มีบทลงโทษ หรือสามารถนิรโทษกรรมตัวเองได้ตลอด ผู้บัญชาการทหารบกที่คิดจะทำรัฐประหารก็ไม่ต้องกลัวอะไร แต่ถ้าเกิดว่ามันมีการลงโทษเกิดขึ้น ผมคิดว่ามันจะทำให้ผู้บัญชาการทหารบกที่คิดไม่ดีกับประเทศและคิดจะทำรัฐประหารหยุดชะงักตัวเองในระดับหนึ่ง นี่เลยเป็นสิ่งที่เขียนเข้าไป

ผมยอมรับว่า ถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นจริง เขาก็คงฉีกรัฐธรรมนูญอยู่ดี ดังนั้นจะป้องกันรัฐประหารด้วยรัฐธรรมนูญแค่อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ผมคิดว่าเราต้องแก้รัฐธรรมนูญในเชิงความคิดด้วย ชุดความคิดหนึ่งที่อันตรายมากในทางสังคมและทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการทำรัฐประหาร คือ ความเชื่อเรื่องคนดี บางครั้งประชาชนไปศรัทธากับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นอย่างมาก พอเจอความขัดแย้งสูงและเริ่มหาทางออกยากกลายเป็นว่าบางคนก็พร้อมที่จะผ่อนปรนต่อหลักการประชาธิปไตย แล้วเอาคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง ถ้าเราไม่สามารถร่วมกันแก้ไขเรื่องนี้ มันก็ทำให้เรามีความเสี่ยงต่อการรัฐประหาร

ถ้าเราอยากจะส่งเสริมเรื่องหลักประชาธิปไตย ผมคิดว่าสุดท้ายเราต้องกลับไปเรื่องการศึกษา วิชาที่สำคัญมากคือวิชาประวัติศาสตร์ ตามมุมมองของผมคุณค่าของการเรียนประวัติศาสตร์ประการแรกคือการที่เราได้ถอดบทเรียนความผิดพลาดของบรรพบุรุษเราในอดีต ไม่ใช่แค่เรื่องความสำเร็จ ประการที่สองคือต้องมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นที่หลากหลาย แล้วให้ผู้เรียนดูว่าเชื่อถืออะไรมากกว่ากัน มันก็เป็นการฝึกคิดวิเคราะห์ นอกจากการส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยในรั้วโรงเรียน เราต้องทำให้มีการฝึกให้ทหารและตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ถือปืนเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนด้วย 

:: การปฏิรูปสถาบันกับการจำกัดเสรีภาพทางความคิด ::

ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันเป็นประเด็นที่ประชาชนมีอารมณ์ร่วมเยอะที่สุด ทั้งจากฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปและฝ่ายที่คัดค้าน ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการทำอย่างไรให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่ทั้งสองฝ่ายสามารถถกเถียงกันได้ แต่ตราบใดที่ยังมีกฎหมายอาญาในรูปแบบ 112 อยู่ ผมคิดว่าเป็นการยากที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยตรงนั้น

เสรีภาพหนึ่งที่ไม่สามารถจำกัดได้คือเสรีภาพทางความคิด สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเพื่อทำให้วิวัฒนาการของสังคมก้าวหน้าคือการให้คนพูดความคิดตัวเอง แล้วมาถกเถียงกันว่าอันไหนสมเหตุสมผล ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันถูกคิดแล้ว และตอนนี้ถูกพูดในหลายเวที การพยายามปิดกั้นไม่ให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงเลย ไม่ใช่ทางออกที่จะนำไปสู่การแก้วิกฤตความขัดแย้งในสังคม

ผมคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความน่ากังวล ข้อกังวลแรกคือ ในคำวินิจฉัยมีคำพูดบางคำพูดที่มีความเสี่ยงในการตีความว่าเราไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เราอยู่ในระบอบราชาธิปไตยที่มีประชาธิปไตยเป็นไม้ประดับ ถ้าเรายึดว่าเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นตัวเลือกหนึ่งของร่มใหญ่ที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย สาระสำคัญที่เราต้องยึดคือคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

ข้อกังวลที่สองคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้พื้นที่ปลอดภัยแคบลงมาเรื่อยๆ เพราะการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อเสนอเรื่องมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญถูกตีความได้ว่าอาจจะเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ผมมองว่ามันจะยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงยิ่งขึ้น เพราะแม้กระทั่งการถกเถียงเรื่องเนื้อหาสาระก็กระทำไม่ได้

:: เกมชักเย่อทางการเมืองที่เชือกตึงแน่น ::

ถ้าเปรียบภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน ผมเปรียบเหมือนเกมชักเย่อที่ฝ่ายหนึ่งมีการเมืองในระบบที่ล้าหลังลง แต่ในอีกมุมหนึ่งเรามีสังคมการเมืองที่มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงประชาชนในสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย รวมถึงเข้าถึงพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้มันเลยเกิดการดึงกันอยู่ระหว่างการเมืองในระบบที่ล้าหลังกับการเมืองนอกระบบที่ก้าวหน้า

ตลอดปีเราเห็นปฏิกิริยาของฝ่ายผู้มีอำนาจหรือฝ่ายที่คุมระบบการเมืองว่าเขาค่อนข้างใช้ไม้แข็ง ไม่ได้พร้อมประนีประนอม ในมุมหนึ่งอาจจะฉุดรั้งแรงขึ้นด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมอยากจะเตือนคนที่คุมระบบการเมืองอยู่คืออย่าลืมว่าทิศทางของลมมีแต่จะทำให้สังคมก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผู้คุมระบบจะยังคงใช้ยุทธศาสตร์ที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลง ผมกลัวว่าเชือกมันจะขาด

เชือกขาดหมายความว่าจะมีการปะทะหรือว่าประชาชนไม่ศรัทธาการเมืองในระบบ โดยพวกเขาไม่ได้มองว่ารัฐสภาเป็นพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป พวกเขาจะหาช่องทางอื่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกระบบการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูงกว่ามาก 

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร อย่างแรกคือเชือกจะขาดไหม และอย่างที่สองคือถ้ามีการเลือกตั้ง ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มว่าน่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2565 ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งและขึ้นเป็นรัฐบาลมีเจตจำนงทางการเมืองที่แข็งแรงมากแค่ไหนในการยกระบบที่ล้าหลัง แล้วเดินไปพร้อมกับสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น และเราก็รู้ว่าถ้าไม่ใช่คนของระบอบประยุทธ์ก็ไม่ง่ายที่จะได้เป็นนายกฯ เพราะ ส.ว. 250 คนยังมีโอกาสในการเลือกนายกฯ จะเห็นว่ายังมีกลไกหลายอย่างที่ยังครอบงำอยู่

สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือประชาชนเลือกตั้งอย่างท่วมท้นให้มีการรื้อระบอบนี้ แต่ว่า ส.ว. 250 คนเอาเสียงตัวเองมาขัดเจตนารมณ์เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนและคงไว้ซึ่งระบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนรุ่นใหม่หลายคนรู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการเข้าคูหาเป็นสถานการณ์ที่ผมกลัวว่าจะกู้กลับมาได้ยาก

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save