fbpx
การเมืองไทยในสายตาประชาธิปัตย์ใหม่ กับ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ

การเมืองไทยในสายตาประชาธิปัตย์ใหม่ กับ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ

จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ เรียบเรียง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ในสนามการเมืองไทยที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า ‘คนรุ่นใหม่’ แทบจะไม่ถูกนับรวมในสมการการเมือง อาจเพราะถูกแปะป้ายความเป็นเด็กและไร้เดียงสา และที่อยู่ที่ยืนในสนามก็แน่นไปด้วยผู้อาวุโสมากบารมีแล้ว

แต่เมื่อการเมืองไทยชวนอุดอู้และอึดอัดมานานเกินพอ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยตั้งคำถามอย่างแหลมคมและไม่รีรอที่จะพาตัวเองขยับเข้าไปในสนามที่ต้องเผชิญหน้ากับการเมืองแบบเก่า

“ไอติม” หรือ พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่วัย 25 ที่เลือกเข้าไปหาที่ยืนในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีน้าอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อาจเป็นทั้งเบ้าหลอมและป้อมปราการ

เดือนมีนาคม 2561 เขาเปิดตัวในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์บนหลายเวทีเสวนา พอช่วงกลางปีเดียวกัน เขาเว้นวรรคสมัครไปเป็นทหารเกณฑ์ 6 เดือน และกลับออกมาอีกครั้งในนามผู้ก่อตั้งกลุ่ม New Dem และผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางกะปิ – วังทองหลาง (แขวงพลับพลา)

จากภาพลักษณ์พรรคเก่าแก่สู่ยุค “ประชาธิปัตย์ใหม่” ภายใต้ไม้ประดับของคนรุ่นใหม่ คำถามคืออะไรคือโจทย์ทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์ใหม่มองเห็น พรรคต้องปรับตัวอย่างไร รวมถึงเขาและเพื่อน New Dem จะเสนอคำตอบอะไรให้กับสังคมที่กว่า 10 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ชนะการเลือกตั้งเลย

“ไอติม” ตอบตรงๆ ผ่านรายการ 101 One-on-One โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ดำเนินรายการ

“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ

ทำไมถึงตัดสินใจเข้ามาทำงานในพรรคประชาธิปัตย์

หนึ่ง คือเรื่องอุดมการณ์ ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ ผมเข้าใจว่าจากมุมมองคนนอกก็ตั้งคำถามว่าพรรคประชาธิปัตย์มันสอดคล้องกับหลักการหรือเปล่า ผู้ใหญ่ในพรรคก็มีเหตุและผลของเขา พอผมได้พูดคุยว่าแนวทางที่เราจะนำเสนอประชาชนในอนาคต จะยังยึดมั่นในเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือเปล่า ซึ่งพรรคหนักแน่นตรงนี้

สอง ผมคิดว่าจุดเด่นของพรรคคือการที่พรรคไม่ได้มีเจ้าของ พรรคมีการเปิดให้สมาชิกมีส่วนร่วมจริง เงื่อนไขที่สองคือผมอยากเห็นพรรคเปิดกว้างให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากขึ้น พรรคมีแนวทางให้สมาชิกทั่วประเทศเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง ผมมองว่าเราเป็นพรรคเดียวที่ทำ นี่ก็เป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์

สาม เรื่องนโยบาย หลังจากการเลือกตั้ง 2554 โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก ปัญหาในประเทศไทยก็เปลี่ยนเยอะมาก ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น สังคมเข้าสู่สูงวัย เรื่องการออมเงิน นโยบายการรักษาพยาบาลก็สำคัญขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ฉะนั้นนโยบายมันต้องตอบโจทย์โลกยุคใหม่

ผมก็มีการพูดคุยกับผู้ใหญ่และคณะกรรมการนโยบายฯ ว่ามองแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร และตรงกับที่ผมคิดไหม พอมั่นใจสามอย่างนี้ ผมตอบตกลง

เสรีนิยมประชาธิปไตย ในความหมายของคุณคืออะไร

อย่างแรก มันมีคำว่าประชาธิปไตย มีคำว่าเสรีนิยม แน่นอน ประชาธิปไตยคือเราต้องปกป้องตัวเองจากภัยคุกคามของการปกครองจากคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนทั้งหมด รวมถึงการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมก็ขัดกับหลักประชาธิปไตย

อย่างที่สอง การเพิ่มคำว่าเสรีนิยมมา ภาษาอังกฤษคือ Liberal Democracy คือมองว่าการเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้งเป็นจุดเริ่ม แต่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของประชาธิปไตย เพราะมันต้องมีการบริหารประเทศที่คำนึงถึงความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถามว่าประชาธิปไตยมีคุณค่าเพราะอะไร ถ้าเราเชื่อว่าประชาธิปไตยมีคุณค่าเพราะแค่กระบวนการเลือกตั้งมันเคารพเสียงข้างมาก มุมหนึ่งก็ใช่เพราะเป็นกระบวนการที่ยุติธรรมที่สุด แต่ถ้าผมยกตัวอย่างแบบสุดโต่ง สมมติพรุ่งนี้มีการเลือกตั้ง เสรีและเป็นธรรมหาเสียงได้หมด ประชาชนเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์โหวตไม่เอาประชาธิปไตย ถามว่าเป็นประชาธิปไตยไหม ถ้าคุณเชื่อว่าประชาธิปไตยมีแค่กระบวนการ คุณก็ต้องยอมรับว่าผลลัพธ์ที่เราได้มาที่เป็นเผด็จการก็คือประชาธิปไตย ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าคุณค่าของประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แค่กระบวนการ แต่มันคือการเคารพความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน

สิ่งที่ทำให้เป็นเสรีประชาธิปไตยมี 4 ขา หนึ่ง การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สอง เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งสิทธิทางเพศ ศาสนา และการแสดงความคิดเห็น สาม การกระจายอำนาจ เพราะถ้าอำนาจมารวมศูนย์จะเป็นการปกครองที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ และสี่ การถ่วงดุลอำนาจ คือมีกลไกของรัฐสภา ฝ่ายค้านต้องมีสิทธิและมีความเข้มแข็งพอที่จะตรวจสอบรัฐบาล รวมถึงมีองค์กรอิสระที่อิสระจริง และมีภาคประชาชนที่ร่วมตรวจสอบรัฐบาล นี่ทำให้เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย

New Dem ก่อตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์อะไร และนำเสนออะไรที่แตกต่างจากวิถีแบบเก่า

โอเค กิจกรรมหลายอย่างของพรรคหยุดไปในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา พอกลับมาเราก็เห็นว่ามันต้องมีองค์กรเป็นแกนนำที่ผลักดันและเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ เราไม่ได้เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้ง เพราะประชาธิปัตย์ก็มีองค์กรดูแลเรื่องการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่มานานแล้วตั้งแต่ปี 2533

New Dem มีสามจุดประสงค์ หนึ่ง เรามองว่ามันต้องมีสะพานเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่นอกพรรคมีช่องทางที่รู้สึกว่าพรรคเข้าถึงง่าย

สอง เราเป็นแกนนำผลักดันนโยบาย ซึ่งเราก็มี 21 นโยบายที่เรามองว่าถ้าไม่มีเรา พรรคอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญเท่ากับมีเรา เหมือนกับไปเติมเต็มให้นโยบายของพรรคครอบคลุมมากขึ้น

สาม เราพยายามผลักดันให้พรรคเปิดกว้างให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากขึ้น ก้าวแรกที่สำคัญคือการเปิดให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง แล้วตอนนี้ทาง New Dem ก็ช่วยพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถร่างนโยบาย เสนอนโยบาย หรือว่าออกเสียงเกี่ยวกับนโยบายได้ ถ้าเข้าเว็บไซต์พรรคตอนนี้ สิ่งแรกที่จะเห็นคือนโยบาย New Dem ที่ขึ้นมาแล้วคุณสามารถเลือกได้ว่าโหวตหรือไม่

พอพูดเรื่องเกณฑ์ทหาร เสรีกัญชา LGBT ผลตอบรับเป็นยังไง เพราะคนอาจจะมีภาพว่านักการเมืองต้องมาพูดเรื่องใหญ่ๆ เช่นเรื่องเศรษฐกิจ

ดีนะ เพราะว่าเราลงไปพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต สิทธิ LGBT ล้วนเป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่พูดถึงเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาปากท้อง คอร์รัปชั่น การศึกษา ไม่สำคัญ สิ่งที่น่าสนใจคือทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจการเมือง แต่สนใจเรื่องบ้านเมืองตื่นตัวมากขึ้น

จำได้ว่าตอนผมออกมาจากค่ายทหาร ผมถามเพื่อนๆ ทหารเจ็ดสิบกว่าคนในกองร้อยว่ามีใครสนใจการเมืองไหม ไม่มีใครยกสักคน แต่ผมถามว่ามีใครสนใจไหมว่านโยบายเกณฑ์ทหารจะเป็นยังไง แทบทุกคนสนใจหมด มีใครสนใจไหมสิทธิ LGBT จะเป็นยังไง ก็มีเพื่อนสองสามคนที่เป็น และที่ไม่ได้เป็นก็ยกมือ สนใจกัญชาไหม คนก็ยกมือเยอะ ทำให้คนเห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันเป็นเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตเขาได้

“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ

อย่างนโยบายการเกณฑ์ทหาร คุณมองเห็นปัญหาอะไรที่ผ่านมา

ถ้าจะยกเลิกเกณฑ์ทหารได้จริงๆ ตัวเลขที่กองทัพต้องการกับตัวเลขที่คนสมัครใจมันต้องตรงกัน ตอนนี้ตัวเลขที่กองทัพต้องการคือหนึ่งแสนคนต่อปี อีกห้าหมื่นคือคนสมัครใจ จะชนได้มันต้องตัดพลทหารที่ทำหน้าที่ไม่จำเป็น เช่น พลทหารรับใช้ ต้องลดไขมันลง การที่ให้ยอดสมัครขึ้นก็ต้องมาดูเรื่องรายได้ว่ามันสอดคล้องกับค่าครองชีพหรือเปล่า หนึ่งหมื่นบาทต่อเดือนสำหรับพลทหารพอหรือเปล่า เรื่องสวัสดิการมีการนำการศึกษานอกระบบเข้ามาได้ไหม

เรื่องเศรษฐกิจล่ะ มีแนวทางอะไรไหมที่จะพาประเทศไทยให้ไปไกลกว่านี้

ปัญหาหลักของเศรษฐกิจคือความเหลื่อมล้ำ ในระยะสั้นต้องแก้ปัญหาปากท้อง ตอนนี้ประชาชนรายได้ไม่พอกับรายจ่าย สิ่งหนึ่งก็คือราคาพืชผล แนวทางของพรรคคือการหาวิธีการประกันรายได้โดยไม่เข้าไปบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้ขานั้นส่งผลกระทบที่ไม่ถูกต้องกับการส่งออกและนำเข้า

อีกเรื่องคือปัญหาปากท้อง ผมมองว่าวิธีการที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นคือการโอนตรงเข้าบัญชี หรือแนวคิดแจ้งรายได้ เรียกว่า Negative Income Tax ถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์จะมีการสมทบกับรัฐบาล ซึ่งไม่ผูกมัดกับบัตร  สามารถออมได้ และกระบวนการเก็บข้อมูลจริง ถ้ารายได้คุณสูงเกินเกณฑ์ คุณก็ไม่ได้รับการสนับสนุนแล้ว ถ้ารายได้คุณเคยสูงแล้วตก คุณก็ได้รับ นี่คือแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น

ในระยะยาวต้องปรับโครงสร้างหลายอย่าง อย่างแรกคือเรื่องของจีดีพี ถามว่ามันวัดคุณภาพชีวิตคนจริงหรือเปล่า ถ้าผมเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศไทย แล้วคุณเป็นคนที่รายได้น้อยที่สุด ผมขโมยเงินคุณอีกร้อยบาท จีดีพีไม่เปลี่ยน ถ้าเกิดมลพิษมันแย่มากจนผมต้องไปซื้อหน้ากากอนามัยมาปิดปากตัวเอง จีดีพีขึ้นนะ เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าผมมีเวลาให้ลูกมากขึ้นเพราะไม่ต้องรถติด ที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน โรงเรียนใกล้บ้าน จีดีพีไม่ต่างจากเดิม

จีดีพีไม่ได้สะท้อนคุณภาพชีวิต แต่เรายังยึดมั่นจีดีพีมาตัดสินใจว่าจะอนุมัติโครงการนี้หรือเปล่า ตราบใดที่เราไม่เปลี่ยนตัวชี้วัด เป้าหมายเราเหมือนขับรถไปผิดทางตลอดเวลา

เรื่องอื่นเป็นเรื่องการผูกขาด กฎหมายการผูกขาดการแข่งขันก็ไม่ได้เข้มแข็งสักเท่าไร ไม่ว่าภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แต่การมีเทคโนโลยีเข้ามา มีข้อเสียคือทำให้มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ เพราะปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Network Effect ผมถามว่าทำไมคนถึงอยากใช้เฟซบุ๊ก ถ้าเกิดผมจะไปตั้งบริษัทแข่งกับเฟซบุ๊กก็ไม่มีใครมาใช้ เพราะมันไม่มีคนอยู่ในนั้น ผมใช้เฟซบุ๊กเพราะเพื่อนผมอยู่ในนั้นหมด การมีเครือข่ายอยู่แล้ว การมีฐานลูกค้าอยู่แล้วมันสำคัญมาก การที่จะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามายาก เราต้องทำให้กฎหมายการแข่งขันแข็งแรงขึ้น

อีกประเด็นที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงคือปัญหาหนี้สิน หนี้สินที่อัตราดอกเบี้ยสูงคือหนี้นอกระบบ ทำยังไงให้เข้ามาในระบบได้ ยิ่งกว่านั้นเราเข้าสู่สังคมสูงวัย เพิ่มแรงจูงใจให้คนออมมากขึ้น ตอนนี้เราต้องรวยก่อนแก่ ไม่ใช่แก่ก่อนรวย

New Dem มีนโยบายจำนวนไม่น้อยที่เสนอให้พรรค พอนโยบายเข้าไปจริงๆ แล้วก็ต้องเจอกับระบบ เจอผู้ใหญ่ในพรรค คิดว่าจะผลักดันได้จริงหรือ

New Dem เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในพรรคที่มีคนรุ่นก่อนอยู่ด้วย เลยเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญว่าถ้าเราทำให้คุณเห็นได้ว่าเราสร้างความเปลี่ยนแปลงในพรรคได้ ก็เชื่อว่าเราสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศได้

แต่ทำอย่างไร เราตั้งตัวชี้วัดสามตัว อย่างแรก เราเชื่อมกับคนรุ่นใหม่นอกพรรคได้เยอะแค่ไหน ผมมองว่าสิ่งที่เราสามารถเสนอตัวเป็นแกนนำได้คือการเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ สอง คือนโยบาย เหมือนเป็นตัวชี้วัดพวกเราเลยว่าเราผลักดันนโยบายได้กี่ตัวไปอยู่ในพรรคหลัก ตัวชี้วัดสามคือเหมือนวัยรุ่นในบ้านที่คิดว่าเราที่ทำให้พรรคมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นธรรมไหม กติกา ใหม่ คสช.เขียนเอง ลงเล่นเอง

มีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้การเลือกตั้งอาจจะไม่เสรีและเป็นธรรม ปกติจะมีการเลือกตั้งสองครั้ง ครั้งแรก คือ เลือก ส.ส. 500 คน มาจากสิทธิและเสียงของประชาชน ที่เป็นปัญหาคือการเลือกตั้งครั้งที่สองคือการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ซึ่งมี 500 คนที่มาจากเสียงประชาชนและ 250 คนที่มาจากคสช.

กระทั่งเลือกตั้ง ส.ส. 500 คนเอง คนที่ตอนแรกทำตัวเป็นกรรมการลงมาเป็นผู้เล่นและก็สร้างปัญหา เราเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีการแทรกแซง กกต. รวมถึง ส.ว. 250 คน

แนวโน้มการเมืองหลังเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน

เรากำหนดได้แค่ 500 จาก 750 ตัวแปรสำคัญคือ ส.ว.จะเอายังไง คุณจะเคารพสิทธิและเสียงของประชาชนไหม ถ้า ส.ว.เคารพสิทธิและเสียงของประชาชน ผมเชื่อว่าประเทศไทยเดินต่อไปได้ มีการตั้งรัฐบาลจากเสียงข้างมากของประชาชน แก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน สร้างการเมืองยุคใหม่ ผมมีความหวัง

แต่ถ้า ส.ว. ไม่ทำ ผมกลัว ตอนนี้อ้อนวอน กลัวหลายอย่าง รัฐบาลที่ไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภาจะผ่านกฎหมายยังไง จะผ่านงบประมาณยังไง ถึงที่สุดเสถียรภาพทำให้ต้องร่วมรัฐบาล แต่คนที่เสียหายคือประชาชน ปัญหาปากท้องก็ไม่ถูกรับแก้ไขในทางที่ประชาชนต้องการ

ถ้าวันนั้นมาถึง ประชาธิปัตย์จะลงมติว่าพร้อมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ขึ้นมา คุณจะโหวตตามมติพรรคไหม

ไม่จำเป็น เจ้านายผมคือประชาชนที่ผมพูดด้วยก่อนได้รับการเลือกตั้ง นั่นคือเจ้านายสูงสุดของผม ผมคิดว่าจะไม่มีวันถึงวันนั้น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดในเสรีนิยมประชาธิปไตย ถ้ามีเงื่อนไขเข้าไปร่วมรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายก ไม่มีทางที่พลเอกประยุทธ์จะบริหารประเทศแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ ผมว่ารัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวสองด้าน และไม่คิดว่าถ้าพลเอกประยุทธ์กลับมาจะแตกต่างจากเดิม

อย่างแรก คือล้มเหลวในด้านระบบการปกครองการเมือง การรัฐประหารโดยธรรมชาติไม่ใช่ประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้นมีการกดขี่เรื่องสิทธิเสรีภาพเยอะมาก การรวมศูนย์อำนาจแทนที่จะกระจายอำนาจ การไม่มีกลไกเข้ามาตรวจสอบเลย ทำให้มีคนตั้งคำถามง่ายมากเกี่ยวกับคดีทุจริตต่างๆ

ความล้มเหลวที่สองคือระบบเศรษฐกิจ เราเห็นว่าความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น รัฐบาลภูมิใจมากตัวเลขจีดีพีสี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผมไปพบปะประชาชนในพื้นที่ ไม่มีใครบอกเลยว่าเศรษฐกิจมันดีขึ้น ผมไปเดินตลาดที่สงขลามา เงียบกริบ เขาบอกไม่เคยเงียบขนาดนี้มาก่อน

ถ้าไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ จะไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยก็อาจจะลำบาก ?

ทั้งสองอย่างมันลำบาก เพราะอุดมการณ์มันต่างกันชัดเจน ต่างกับทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐ

ถ้าเรามีคะแนนเสียงเยอะสุดแต่เราได้ไม่เกิน 250 เสียงด้วยตัวเราเอง ถ้าเรายังเชื่อมั่นว่าเราจะบริหารประเทศในฐานะแกนนำหรือรัฐบาลร่วมในฐานะเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ และไม่ใช่แค่เชิงอุดมการณ์ แต่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ และนโยบายการแก้ไขปัญหาสังคมที่เราอยากจะทำ เราก็ต้องมาดูว่าพรรคไหนจะเข้ามาร่วมในเงื่อนไขที่เรารับได้

แต่ถ้าเราเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เราก็ต้องเสนอหัวหน้าพรรคเราเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วทิศทางก็ต้องไปในทางที่เรานำเสนอไว้กับประชาชน ไม่อย่างนั้นพรรคจะอธิบายกับประชาชนได้ยังไงว่าเราจะเข้ามาทำอย่างนี้ พอเป็นรัฐบาลเราไม่ทำอย่างนั้น

“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ

อะไรคือความแตกต่างทางอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงพรรคไทยรักไทย

เพื่อไทยเข้ามาสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่การบริหารประเทศที่ผ่านมาไม่ได้สอดคล้องกับนโยบายที่เราอยากเห็น การเคารพสิทธิมนุษยชนก็มีคนตั้งคำถามได้จากสงครามยาเสพติด

เพื่อนผมที่เป็นพลทหารด้วยกัน บอกยาเสพติดก็น้อยลงจริง ถ้าเอาตัวชี้วัดมาวัดก็น้อยลง อีกกลุ่มบอกว่ามีเพื่อนเขาหลายคนได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายนี้โดยไม่ได้มีความเป็นธรรมในระบบยุติธรรม เราก็เห็นองค์กรนานาชาติก็ไม่พอใจ มันก็เป็นข้อถกเถียงว่าคุณให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ประสิทธิภาพในการลดยาเสพติดหรือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เรื่องกระจายอำนาจต้องบอกว่าเพื่อไทยมีโอกาสบริหารประเทศนานกว่าประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ แต่เราไม่ค่อยเห็นการกระจายอำนาจในรูปแบบที่อ้างอิงกับเสียงของประชาชน

อะไรคือเงื่อนไขขั้นต่ำที่สุด หากประชาธิปัตย์จะร่วมกับพรรคเพื่อไทย

เงื่อนไขคือต้องไม่มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกลับมา เหมือนกับถ้าพลังประชารัฐมาร่วมกับเรา ก็ต้องไม่สกัดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

คิดยังไงกับแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกันได้ไหม

ตอนเปิดตัวก็มีหลายอย่างที่ผมรู้สึกว่ามันไปด้วยกันได้เชิงนโยบาย เขาพูดถึงการกระจายอำนาจ รัฐสวัสดิการ ไม่เอาคสช. มันก็มีหลายอย่างที่ไปด้วยกันได้ แต่จะร่วมเป็นรัฐบาลหรือไม่เป็นก็กลับไปดูเงื่อนไข

ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะแก้ไขโครงสร้างการเมืองที่มีการรัฐประหารยังไง

มีกลไกหลายอย่างที่เราต้องปรับโครงสร้างที่ทำให้เกิดรัฐประหารน้อยลง แต่ผมว่าพลังหนึ่งที่สำคัญมากที่รัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยคือถ้าทุกคนในประเทศมีฉันทามติ มั่นใจในระบอบประชาธิปไตย

มิติแรกคือการแข่งขันต้องเป็นบนพื้นฐานนโยบาย ไม่ใช่การใส่ร้ายเชิงบุคคล เราเห็นประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้วเถียงกันแทบตายบนสภา แต่เถียงกันด้วยพื้นฐานความคิด พอจบลงกอดคอเดินออกไปได้ เพราะมันแข่งขันบนนโยบาย คนที่ได้ผลประโยชน์คือประชาชน

อย่างที่สอง ถ้าเกิดมีประเด็นที่ร่วมกันผลักดันได้ ผมว่าสิ่งคือสำคัญกว่าคือไม่ใช่เรามาจากพรรคไหน แต่เราเห็นถึงความสำคัญของประเด็นนี้ ถ้าผมทำเรื่องการเกณฑ์ทหารที่ผมคิดว่าทำได้จริง และลดความรุนแรง เพิ่มรายได้สวัสดิการ ลดทหารรับใช้ ถ้าพรรคอื่นเห็นด้วย ถึงแม้พรรคหนึ่งอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ทำร่วมกันได้

เรื่องการปฏิรูปกองทัพมองไว้ยังไงบ้าง

ปฏิรูปในเชิงบทบาททางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย กองทัพไม่ควรจะมีบทบาททางการเมือง แค่ยกเลิกเกณฑ์ทหารมันยังไม่พอ เราต้องมาแก้ไขปัญหาปัญหาการใช้บุคลากรที่ไม่จำเป็น เช่นทหารรับใช้ สมมติยกเลิกการเกณฑ์ไปแล้วมีแต่สมัครใจเข้ามา ทหารรับใช้ยังมีอยู่ไหม ก็อาจมีอยู่ ซึ่งต้องได้รับการตัดออกไปเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ายกเลิกแล้วแก้ปัญหาทหารรับใช้หมด

มีเรื่องปฏิรูปกองทัพกับการเมืองอีก คือทำยังไงให้กองทัพอยู่ภายใต้ทิศทางรัฐบาลพลเรือน ต้องไปดูกฎหมายที่ตอนนี้ขึ้นอยู่กับมติของสภากลาโหม นโยบายของกองทัพก็ต้องการความเชี่ยวชาญของคนในกองทัพ ไม่ใช่ว่าไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทำยังไงให้มีตัวแทนภาคพลเรือนมากขึ้น

อีกประเด็นคือทำยังไงให้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสมากขึ้น โมเดลหนึ่งที่ผมดูคือเรื่องสัญญาคุณธรรม ทำยังไงให้มีตัวแทนภาคประชาชนไปนั่งในกระบวนการได้ ตั้งคำถามได้ ขอข้อมูลได้ ขอคำชี้แจงได้ และผมมองว่าการนำเรื่องความมั่นคงเป็นข้ออ้างตรงนี้ต้องให้พิสูจน์มากขึ้น ไม่ใช่พูดแล้วปิดทุกอย่างให้หมด เช่นเดียวกันกับการเปิดเผยข้อมูล ไม่ใช่แค่เปิดอย่างเดียว แต่เปิดในรูปแบบที่มันย่อยง่ายแล้วมีรายละเอียด

จะจัดการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังไง มองว่าเป็นปัญหาไหม

เรื่องไหนที่ขัดหลักประชาธิปไตยต้องรื้อถอนออกไป หลักการมันพิสดาร 20 ปีที่แล้วเราไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีเฟซบุ๊ก ถามว่าวันนี้เราออกแบบอนาคต 20 ปีข้างหน้าได้ไหม ผมว่าลำบาก มันเป็นหลักการที่ประหลาด

ส่วนรายละเอียดผมว่ามี 2 ความเป็นไปได้ หนึ่งคือมันเขียนในเชิงที่กว้างมาก ผมอยากเห็นประเทศที่มีความมั่นคง ประเทศที่มีความยุติธรรม อยากเห็นประเทศที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต ใครมันจะไม่เห็นด้วย แต่ถามว่าเสียเวลาไปเขียนทำไม ไม่ต้องเขียนก็ได้

ความเป็นไปได้ที่ 2 คือมันละเอียดมากจนผูกมัดรัฐบาล ถ้ารัฐบาลจะเขียนนโยบายหนึ่งแล้วประชาชนต้องการ แต่ถ้าเกิดไม่ตรงกับแนวทางของยุทธศาสตร์ มันก็เป็นปัญหา

ประเทศไทยอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมา 10 กว่าปี คุณจะเสนอทางออกอะไรให้สังคม

ยอมรับว่ามันรุนแรงมาก ผมโตขึ้นมามีเสื้อสองสี ต้องยอมรับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและมีความคิดว่าเอาอำนาจอื่นมาปกครองประชาชนดีที่สุด

รวมถึงการเข้ามาสู่อำนาจผ่านระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ได้บริหารด้วยจิตวิญญาณของประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่มีความโปร่งใส ทำลายกลไกถ่วงดุลอำนาจ ลดความเข้มแข็งฝ่ายค้านหรือแทรกแซงองค์กรอิสระ

New Dem จะเสนออะไร ผมมองว่าไม่ใช่แค่หน้าที่มอง New Dem เป็นหน้าที่ของทุกๆ พรรคทั้งพรรคใหม่และพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอดีต ผมว่าถ้าเรายึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยจริง ผมเชื่อว่ามันข้ามทั้งสองทางได้ เราต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับมา คือบริหารประเทศอย่างเสรีและเป็นธรรม บริหารประเทศไม่ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย

พูดถึงการปรองดอง แล้วบาดแผลของเก่าจะเป็นยังไง

ก็ไม่ควรจะลืม ผมว่ามันเป็นบทเรียนกับทุกฝ่าย แล้วกระบวนการต่างๆ ที่ตอนนี้มีคนรับโทษอยู่ ถ้าเราคิดว่ามีเหตุผลที่กระบวนการยุติธรรมนั้นมันไม่ยุติธรรม ก็ควรจะพิจารณาข้อเท็จจริงตรงนั้น

นี่คือการร่วมกันทำงานระหว่างคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นก่อนจะรู้ข้อเท็จจริงมากกว่า การให้ความเป็นธรรมกับสิ่งที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นธรรมในอดีต ผมมองว่าเป็นหน้าที่ที่คนรุ่นก่อนควรทำ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้รายละเอียดเยอะ หน้าที่ของเราคือพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ทั้งสองอย่างต้องเกิดขึ้น

คุณเรียนจบจาก Oxford ที่อังกฤษ และบังเอิญเป็นที่เดียวกับคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) รวมไปถึงวิธีการพูดและหน้าตาที่เหมือนกัน รู้สึกยังไงเวลาโดนเปรียบเทียบเป็นคุณอภิสิทธิ์เบอร์สอง

ผมว่ามันทำให้คนรักหรือไม่รักผมเร็วเกินไป บางทีเราอาจได้รับความรักความชอบโดยที่เราไม่สมควรได้รับ เพราะชอบคุณอภิสิทธิ์เลยชอบผม หรือบางครั้งผมก็รู้สึกว่าเราได้รับความไม่ชอบเร็วเกินไปเหมือนกัน

อึดอัดไหมที่ต้องแบกโลโก้คุณอภิสิทธิ์อยู่ตลอดเวลา

มันก็เป็นสิทธิของทุกคนที่จะคิด ผมว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าเกิดคนที่ชอบคุณอภิสิทธิ์มาชอบผม แล้ววันหนึ่งผมทำงานไปแล้วไม่ได้ดีอย่างที่เขาคาดหวัง เขาก็หยุดชอบเอง เช่นเดียวกับคนที่ไม่ชอบผม ถ้าผมทำงานไปแล้วถูกใจเขา เขาก็ชอบเอง

ผมอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่ยุคใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าผมทำคนเดียว มันต้องมีการทำร่วมกันทั้งคนใหม่ๆ ที่เข้ามาพร้อมกับคนที่อยู่มาแล้วที่เห็นของความจำเป็นครั้งนี้เหมือนกัน

ระหว่างกับอยู่ในค่ายทหารกับทำงานการเมือง งานไหนเหนื่อยกว่ากัน

อยู่ในค่ายเหนื่อยใจกว่าเยอะ เพราะไม่ได้ทำงานที่เรารัก

ผมรักอาชีพนี้มาก ความฝันของผมเริ่มมาจากตอนที่ผมอายุ 13 ใช้เวลาครึ่งชีวิตอยู่อังกฤษ ครึ่งชีวิตอยู่ไทย ผมอยากเห็นเด็กสองคนในประเทศไทยเกิดมามีโอกาสเท่ากัน ในสังคมที่ยุติธรรม เด็กสองคนที่เกิดมาแล้วต่างกันมันต้องเป็นเฉพาะปัจจัยที่เขาควบคุมได้ คนหนึ่งขยันกว่าคนหนึ่ง มีความสามารถกว่า

ผมมองว่าการทำให้คนมีโอกาสเท่ากัน ต้องขับเคลื่อนผ่านเวทีการเมือง ในระดับมหภาคมันต้องเปลี่ยนกฎหมาย ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ผมแค่ขอโอกาสให้พิสูจน์ด้วยตัวเอง

คุณตั้งใจจะใช้เวลาพิสูจน์นานแค่ไหน

งานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทำให้ผมตอบคำถามว่าผมจะหยุดเมื่อไหร่ ผมจะหยุดเมื่อประชาชนบอกให้ผมหยุด

“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save