fbpx

‘ขอต้อนรับสู่เต้ยโศก’ คุยกับ ปณต ศรีนวล เจ้าของบันทึกกะเทยอีสาน

ปณต ศรีนวล

ลองจินตนาการภาพชีวิตคนคนหนึ่งที่เติบโตในจังหวัดเล็กๆ ของภาคอีสาน มีความฝันอยากเข้าเรียน ม.ปลายในโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพฯ เพราะเป็นโอกาสที่จะได้เป็นตัวของตัวเองในสายการเรียนที่ต้องการ แต่วันหนึ่งระหว่างเดินทางจากบ้านเกิดไปเมืองหลวงเพื่อสอบตามกำหนด กลับมีรถมังคุดขับชนรถทัวร์ที่เธอนั่งมากับครอบครัว โชคดีที่เธอไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรมาก และพอจะแบกร่างที่อ่อนเพลียไปสอบได้ในวันถัดไป

ถ้าเป็นเรื่องเล่าในหมวดความเชื่อและไสยศาสตร์ นี่อาจเป็นลางบอกเหตุในเรื่องผลสอบ แต่เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องเล่า ‘ตลกร้าย’ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ผลลัพธ์สุดท้ายของชีวิตคนต่างจังหวัดที่ต้องการแสวงหาโอกาสให้ตัวเอง จึงไม่ใช่การสอบไม่ติด แต่เพราะบ้านไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะส่งให้เด็กอายุ 16 คนหนึ่งเดินทางมาเรียนในกรุงเทพฯ ได้ 

นี่คือชีวิตของ เต้ย–ปณต ศรีนวล หญิงข้ามเพศที่เกิดและเติบโตในจังหวัดศรีสะเกษ เธอบันทึกเรื่องราวชีวิตตัวเองไว้ในหนังสือชื่อ ‘บันทึกกะเทยอีสาน’ ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการผลิตโดยกองทุนคณะก้าวหน้า และเผยแพร่ไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

ท่ามกลางกระแสนิยมในการใช้คำ ‘ภาษากะเลย’ จากภาคอีสานอย่าง ‘อีหยังวะ’ ‘หาทำ’ ‘จะแล้วมั้ย’ ซึ่งแสดงให้เห็นความสนุกสนานของชาว LGBTQ+ ที่เป็นคนอีสาน ‘บันทึกกะเทยอีสาน’ เป็นมุมตรงข้ามภาพจำในสังคม บรรจุไปด้วยเรื่องเล่าชีวิตของปณตในฐานะหญิงข้ามเพศที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรค ความเชื่อ ค่านิยม สภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นมิตรกับ ‘การเป็นตัวของตัวเอง’ และทรัพยากรที่ไม่เคยกระจายถึงคนจังหวัดเล็กๆ ได้เพียงพอ ทำให้การไต่บันไดขึ้นสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมของพวกเขาไม่เคยเป็นเรื่องง่าย และหลายครั้งก็ทำให้ใครหลายคนไม่คิดฝันว่าสักวันตัวเองจะคว้าโอกาสที่ดีกว่าในชีวิตได้

แต่ปณตไม่เชื่ออย่างนั้น หลังจากพบเจอเหตุการณ์กดทับทางเพศจากพ่อแม่และสังคม ถูกตั้งคำถามในฐานะ ‘คนเรียนเก่ง’ ที่ต้องเดินทางตามความคาดหวังของครอบครัว เธอตัดสินใจสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ครอบครัวและคนรอบข้างไม่เห็นว่าการเรียนสายนี้จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ ‘เด็กต่างจังหวัด’ ที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าเด็กคนอื่นๆ เพื่อสานฝันในชีวิต ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด 

นอกจากนี้ ‘บันทึกกะเทยอีสาน’ ยังเปิดปมร่องรอยบาดแผลทางความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ปณตยอมรับว่าไม่เคยได้รับการรักษาด้วยยาอย่างจริงจัง ยากที่แผลจะกลับมาสมานด้วยดี และคงไม่อาจฟื้นความรู้สึกแบบ ‘ครอบครัวอบอุ่น’ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเธอได้แล้ว 

ต่อไปนี้ คือการตกตะกอนหลังปณตเขียนบันทึกทั้งหมดของตัวเอง ในฐานะหญิงข้ามเพศที่ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระด้านเพศหลากหลาย และผู้ก่อตั้งสำนักข่าว GenderMatter ที่เธอตั้งใจสร้างขึ้นมาโอบรับความหลากหลายของคนในสังคม

จุดเริ่มต้นของการเขียนบันทึกกะเทยอีสานเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมคุณถึงตัดสินใจนำเรื่องราวในชีวิตมาเผยแพร่

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าจริงๆ ตอนเรียนอยู่อักษรฯ จุฬาฯ เต้ยตั้งใจไว้ว่าจะต้องได้เขียนหนังสือ เพราะเราเป็นคนชอบเขียน เราจะต้องได้เป็นนักเขียน แต่ปรากฏว่าเรียนจบมาปุ๊ปก็ยังไม่ได้เริ่มสักที เพราะเจอวิกฤตการณ์ทางการเมืองก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็มีช่องให้เราได้คุยเรื่องเพศ เต้ยเรียนจบมาช่วง 4 เดือนแรกก็ขึ้นเวทีปราศรัยในม็อบเพื่อพูดเรื่องนี้อย่างเดียวเลย 

ผ่านไปไม่นาน เราเห็นแล้วว่าถ้าปราศรัยในม็อบ เราจะกระจายความรู้ได้แค่เฉพาะคนที่มาเท่านั้น ถ้าเราจะเผยแพร่ความรู้ได้มากสุด เราจะต้องทำงานสื่อ เต้ยเลยสมัครไปทำงานเขียนให้กับสื่อด้านความหลากหลายทางเพศแห่งหนึ่ง แต่พอทำงานไปได้ 5 เดือนก็พบว่าที่นั่นมีความเป็นชนชั้นกลางสูงมาก แล้วมันขัดต่อใจเราที่เป็นคนอีสาน แม้ว่าจริงๆ แล้ว เต้ยคิดว่าตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงในตัวตนประมาณหนึ่ง จากการเป็นเด็กอีสานใต้ มารับการศึกษาที่อักษรฯ จุฬาฯ ได้ไปแลกเปลี่ยนที่ดูไบ การพูดจาของเรา มันก็จะลักษณะแบบชนชั้นกลาง

แต่ความรู้สึกขัดใจที่เราใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางมันทำให้เราไม่สามารถไปช่วยคนที่อยู่ฐานเดียวกับเรามาได้ เราเลยตัดสินใจลาออกจากที่นั่น ซึ่งจำได้ว่ามันเป็นวันเดียวกับที่เพื่อนส่งโครงการคณะก้าวหน้ามาให้ เต้ยรู้สึกว่าถ้าจะเขียนหนังสือก็ต้องเขียนตอนนี้แหละ ก็เลยส่ง proposal โครงการไป

ทำไมการทำงานแบบชนชั้นกลางจึงไม่ตอบโจทย์สำหรับคุณ วิถีชนชั้นกลางมีปัญหาอย่างไร

มันไม่ถึงขั้นว่า toxic หรือแย่อะไรขนาดนั้นนะ แต่มันมีอะไรบางอย่างที่ตัวเต้ยเอง ซึ่งมีรากฐานเป็นชนชั้นล่าง ไม่สามารถที่จะนับถือคุณค่าเดียวกันกับชนชั้นกลางได้

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าถ้าเรามองจากเลนส์ของมาร์กซิส เขาจะบอกว่าชนชั้นกลางมีปัญหามากที่สุด เพราะเขาอยากจะไปเป็นคนชนชั้นสูง แต่สถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองก็ไม่สามารถที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ แต่พอจะให้เป็นชนชั้นล่างก็ไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปอยู่ดี เพราะฉะนั้น ชนชั้นกลางอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้เลยว่าฉันจะ make a move ตรงไหนในชีวิต

ในความเห็นของเต้ยคือ เมื่อชนชั้นกลางไม่รู้จะเคลื่อนไปตรงไหนในชีวิต มันทำให้เขากลายเป็นคนเลื่อนลอย และต้องเฟ้นหาตัวตนบางอย่างของตัวเองให้โดดเด่นขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ความรู้’ ไม่รู้ใช้คำนี้จะถูกต้องไหม แต่สังเกตได้เลยว่ากลุ่มที่พยายามดูเท่ เขาจะมีการจับยึดอะไรบางอย่างในชีวิตที่ทำให้เขารู้สึกดูเท่เอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาในเชิงหนึ่ง หรือการสนใจอะไรบางอย่างในเชิงหนึ่ง ซึ่งเต้ยมองว่ามันเป็นการประกอบสร้างตัวตนหมดเลย ซึ่งการเป็นแบบนี้มันไม่ได้ผิดอะไรนะ

ในขณะที่ชนชั้นล่างเขาไม่ได้แคร์อะไรอยู่แล้ว เขารู้สึกว่าชีวิตฉันมันก็ติดดินแบบนี้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น ฉันไม่ต้องมานั่งแคร์หน้าตาหรืออะไร 

ณ ตอนนี้ตัวคุณเองเลยไม่นิยามว่าเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง แล้วคุณนิยามตัวเองว่าเป็นอะไร

ตอบยากมาก จริงๆ ทุกวันนี้ไม่สามารถนิยามตัวเองได้ว่าเราเป็นใคร (หัวเราะ) เพราะในขณะที่พูดว่าเต้ยไม่ได้ยึดถือคุณค่าเดียวกับชนชั้นกลาง แต่เชื่อได้เลยว่าหลายๆ อย่างของเราก็ไม่มีความเป็นชนชั้นล่างเลยเหมือนกัน เช่น ตอนเต้ยอยู่ศรีสะเกษ เราจะไม่สามารถออกไปเล่นกับเพื่อนในศรีสะเกษได้ เพราะเราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ในแง่ที่ว่าความสนใจในชีวิตเขาก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่พอเราไปกรุงเทพฯ เราจะรู้สึกอีกว่าความสนใจของเรากับเพื่อนที่กรุงเทพฯ ก็เป็นคนละเรื่องกัน 

มันเหมือนอยู่ในสภาวะครึ่งๆ กลางๆ ไม่รู้ว่าฉันจะต้องอยู่ตรงไหน ถ้าในภาษาวรรณกรรมจะบอกว่านี่คือสภาวะพลัดถิ่น เราไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน บ้านจริงๆ ของเราอยู่ตรงไหน มันไม่มีเลย เต้ยเป็นอย่างนี้ และเริ่มสังเกตตัวเองได้จากตอนที่เขียนจดหมายแฮปปี้เบิร์ดเดย์ให้พ่อ แล้วพ่อบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ลูกเขียนอะไร เรารู้ทันทีเลยว่าความคิดเรามันซับซ้อนเกินกว่าที่เขาจะไปทัน กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เต้ยคุยกับที่บ้านไม่รู้เรื่องอีกเลย ครอบครัวจะ small talk กันได้ง่ายกว่า ในขณะที่เราไม่ถนัดแบบนี้ เพราะฉะนั้น เราก็จะคุยกับพวกเขาไม่ราบรื่น เพราะเราไม่ได้คุยเรื่องเดียวกัน

ในบันทึกกะเทยอีสาน คุณเล่าประสบการณ์หลายอย่างที่ขัดแย้งกับครอบครัว โดยเฉพาะการกดทับคนหลากหลายทางเพศ รวมถึงการตรากตรำเพื่อให้ได้เรียนในสถาบันที่หวัง ความรู้สึกที่จะต้องกลับไปทบทวนเรื่องเก่าๆ เป็นอย่างไรบ้าง

บอกก่อนว่าหนังสือเล่มนี้เกิดมาพร้อมความขมขื่นและการถูกไล่ออกจากบ้าน เพราะว่าตอนที่คณะก้าวหน้าโทรมาแล้วเราตอบรับที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ เราบอกกับที่บ้านไปว่า มันจะต้องมีการเขียนกระทบถึงเรื่องราวในอดีตนะ แต่ที่เขียนไป เราชัดเจนและมั่นคงว่าไม่ได้เขียนว่าใคร แต่จะตีแผ่สังคมว่ามันเป็นความผิดของระบบที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อตัวเรากันเอง แต่เขาไม่ฟัง เขาคิดว่าเราจะเขียนประจานเขา

แล้วพอถึงตอนเขียนก็ depressed มาก เขียนแล้วเครียด trauma มันกลับมา ความทรงจำทุกอย่างยังคงเจ็บช้ำอยู่ จำได้ว่าเขียนไปได้ครึ่งเล่ม เรารู้สึกเหมือนจะตาย เขียนต่อไม่ได้ ต้องหยุดไปหนึ่งเดือน ซึ่งต้องเล่าให้ฟังว่าเต้ยขอให้คณะก้าวหน้าเลื่อนกำหนดเผยแพร่โครงการ 2-3 รอบเลย เพราะเรา trauma ไปต่อไม่ไหว ที่หนังสือเสร็จออกมาเป็นเล่มได้ต้องขอบคุณคณะก้าวหน้าด้วยเลย

ตั้งแต่ได้กลับไปทบทวนชีวิตเพื่อเขียนบันทึกนี้ ช่วงไหนที่มีความทรงจำที่รู้สึกว่าหนักที่สุดในชีวิต

ถ้าเป็นช่วงที่รู้สึกว่าชีวิตหนักที่สุดคือช่วงมหาวิทยาลัย เพราะเต้ยต้องเล่าก่อนว่าก่อนหน้านี้ที่บ้านเจอปัญหาการเงิน ช่วงประมาณเต้ยอยู่ ม.6 พ่อแม่โดนโกงเงินไปประมาณ 14 ล้านจากคดีหุ้น Forex ซึ่งตอนนั้นเราเด็ก ก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่เอาเงินไปทำอะไรบ้าง รู้ตัวอีกที บ้านก็ไม่ใช่ของเรา รถก็ไม่ใช่ของเรา 

ตอนแรกเต้ยสอบติดคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้ก่อน แต่พอที่บ้านไม่มีเงิน เต้ยก็ต้องสอนพิเศษเพื่อเอาเงินมาจ่ายค่าเทอมและส่งเงินให้ที่บ้าน แต่ช่วงนั้นเต้ยยังคงอยากเรียนที่อักษรฯ จุฬาฯ ก็เลยซิ่วเพื่อมาสอบ ซึ่งช่วงนั้นก็สอนพิเศษไปด้วย เพราะเราไม่มีเงินจริงๆ

เพราะฉะนั้น ตอนเต้ยเขียนลงไปในหนังสือว่าที่บ้านมีเงินกระท่อนกระแท่น ไม่ได้หมายความว่าเรามีเงินไม่พอ แต่มันไม่มีเลย ตอนเต้ยสอบติดอักษรฯ ชีวิตของเต้ยตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์อยู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือแล้วทำงานตอนเย็นไปด้วย พอถึงเสาร์-อาทิตย์ต้องบินไปศรีสะเกษเพื่อไปสอนพิเศษ 

แล้วให้ทายว่าตอนไปเรียนอักษรฯ เต้ยมีเงินน้อยที่สุดกี่บาท จะมีวันหนึ่งแย่มากๆ ที่มีเงินติดตัวแค่ 14 บาท จำได้ว่า 7 บาทเอาไว้ซื้อกล้วยกินตอนเช้า และตอนเที่ยงอีกลูก เรียนเสร็จรีบกลับมาห้องเพื่อที่จะหุงข้าวกินกับหมูหยองและไข่ต้มที่เรามีตุนไว้ 

บางวันก็โดดเรียนไปสอนพิเศษ เราเลยต้องโทรขอให้เพื่อนคนหนึ่งเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ชื่อ ‘ฮายูตะ’ ปัจจุบันเป็นนักแสดงซีรีส์วาย ตอนนั้นไม่ได้สนิทกับเขา แต่ขอเขาตรงๆ ว่าช่วยเอาใบงานของฉันมาเซ็นชื่อให้หน่อยเพื่อโกหกไปว่าฉันได้เข้าเรียน ใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้ประมาณหนึ่งเทอม เรียกว่าเป็นอะไรที่นรกแตก ไม่ว่าเราจะได้เงินมาเท่าไหร่ ต้องเอามาจ่ายให้ตัวเองหมด บางทีต้องเอาเงินไปจ่ายหนี้ให้ที่บ้าน หรือเอาไปจ่ายค่าเทอมให้น้องด้วย ทั้งหมดไม่มีอะไรเกินจริง เพราะว่าถ้าเราไม่ได้เงินนั้นมา เราจะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้

นั่นคือเรื่องช่วงปี 1 เป็นเรื่องเงิน ส่วนปี 2 เจอเรื่องโรคบูลิเมีย (Bulimia) เราล้วงคออ้วก เพราะความกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่โดนล้อมาตั้งแต่เด็ก แล้วที่บ้านก็ไม่เข้าใจภาวะนี้ มองว่าเป็นเพราะเราอ้วน เขาไม่เข้าใจปัญหาสุขภาพใจ แล้วคิดว่าเราเป็นบ้า ควรไปวัด ดีกว่าไปหาหมอ 

พอมาปี 3 เจอเรื่องพักการเรียนพร้อมไซเบอร์บุลลี (cyberbully) เพราะมีการเข้าใจกันว่าเต้ยลอกข้อสอบ จากการเห็นเราเอามือถือเข้าไปในห้องสอบ ตอนนั้นเต้ยเผลอเอามือถือใส่เข้าไปในกระเป๋าโดยที่ไม่รู้ตัว จำได้ว่าต้องสู้มาก เต้ยขอให้เขาเปิดกล้องมาเลยว่าเห็นเราจับมือถือสักนิดไหม ซึ่งท้ายที่สุดเขาไม่มีกล้อง สุดท้ายเต้ยโดนพักการเรียน แล้วยังมีคนในคณะที่มาบุลลีเราอีก 

จบจากเหตุการณ์นั้น เต้ยกลับไปเรียนแล้วได้ไปแลกเปลี่ยนที่ดูไบ ซึ่งที่นั่นปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว ต่อมาเราก็เริ่มมีภาวะ gender dysphoria (สภาวะที่ทำให้บุคคลรู้สึกเพศกำเนิดและเพศอัตลักษณ์ไม่ตรงกันจนทำให้เกิดอาการทุกข์ใจ) กำเริบ รู้สึกว่าฉันจะต้องกินฮอร์โมนหรือเปล่า หรือแต่งหญิงตามที่ฉันเป็นจริงๆ ก็เลยเกิดความเครียดว่าจะเป็นยังไง เราเป็นคนตัวใหญ่ มันจะรอดไหม มันจะดูแย่ไหม 

และความทรงจำอีกอย่าวหนึ่งที่รู้สึกเจ็บปวดในชีวิตก็คือ ความทรงจำที่มีแม่อยู่ เพราะเรารักแม่มาก แต่ว่าเราจูนกับแม่ไม่ได้เลย เขาเกิดมาด้วย mindset หนึ่ง เขามีเรื่องอะไรบางอย่างที่รู้สึกไม่ปลอดภัยทางความรู้สึก แล้วไม่ว่าเราจะอธิบายให้ฟังอย่างไร เขาจะไม่ฟัง เพราะเขาจะถือคุณค่าอีกแบบหนึ่งที่คิดว่ามันถูกต้องแล้ว 

คุณค่าอะไรที่คุณกับแม่ยึดถือแตกต่างกัน

มีเรื่องหนึ่งที่เต้ยเจ็บปวดนะ เวลาต้องมานั่งพูดว่า แม่เรายึดถือความเชื่อที่ว่า ถ้าชมลูก ลูกจะตกต่ำ ถ้ากดลูก ลูกจะสูงขึ้น มันเจ็บปวดมาก เต้ยจำได้ว่าวันที่เต้ยสอบติดอักษรฯ แม่ไม่คุยกับเต้ยสักคำ สิ่งที่เขาทำคือ ไลน์ไปบอกทุกคนว่าลูกสอบติด เหมือนเขาพูดให้ทุกคนเห็นแล้วชมไว้ก่อน แต่เขาไม่คุยกับเรา 

หรืออย่างตอนหาเงินมาได้จากการสอนพิเศษ เรารู้สึกว่ามันทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า เพราะมันทำให้เรามีเงินมาจุนเจือที่บ้าน แล้วเต้ยจำได้ว่าแม่เคยพูดมาว่า “คิดว่าเรียนจบออกมา แล้วมาสอนแบบนี้เหรอ นี่มันกระจอก” คำที่แม่พูดมันเหมือนเราโดนตบหน้าแรงๆ สิ่งที่เราทำมาทั้งชีวิต มันไม่มีคุณค่าเลยเหรอ 

มันมีความคิดแว้บมาในหัวเต้ยว่าถ้าชีวิตมันถึงขนาดนี้ มึงฆ่าตัวตาย มันก็จบแล้วนะ เดชะบุญที่ไม่ตาย คนที่ทำให้เรากลับมาคิดกับตัวเองได้ว่าจะไม่คิดฆ่าตัวตาย คือฮายูตะ เพื่อนที่ช่วยเขียนชื่อเราในห้องเรียนตอนปี 1   

หรืออย่างมีครั้งหนึ่งที่แม่ ป้า และน้ามายืนคุยกับเต้ย แล้วบอกว่าต้องไปสอบข้าราชการนะ ทำไมถึงไม่ยอมไปสอบ คือสังคมอีสานจะมองว่าการเป็นข้าราชการปลอดภัย เพราะความแร้นแค้นในอีสาน ทำให้คนพยายามหาอะไรมารองรับชีวิตเขา เพราะประเทศเราจัดสวัสดิการให้ข้าราชการทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ควรได้รับทุกคน เพราะฉะนั้น คนอีสานที่รู้สึกลำบากมาทั้งชีวิต เขาเลยกระเสือกกระสนที่จะเป็นข้าราชการเพื่อต้องการจะได้ในสิ่งที่มันเป็นของเราอยู่แล้ว 

เต้ยขอบคุณตัวเองมากที่ตัดสินใจไม่เป็นราชการ เพราะว่าเราอาจจะอยู่ติดที่นี่ตลอดชีวิต เท่ากับว่าต้องอยู่กับพ่อแม่ตลอดชีวิต ซึ่งมันจะส่งผลต่อสุขภาพจิตเต้ยเหมือนกัน

คุณเคยชวนที่บ้านคุยเพื่อแก้ปัญหากันไหม

พยายามจะคุยหลายรอบมาก แต่เขาจะมีความเชื่อว่าการชวนคุยคือชวนทะเลาะ ต้องเข้าใจก่อนอย่างหนึ่งว่าสำหรับเต้ย การคุยคือการคุย การถกเถียงคือการถกเถียง การแก้ปัญหาคือการแก้ปัญหา แต่ว่า mindset พ่อแม่เราจะเป็นคนอีกแบบ พ่อเต้ยจะเป็นคนไม่แก้ปัญหา เขาเป็นคนประเภทที่กวาดปัญหาไว้ใต้พรม แล้วทำเสมือนมันไม่มีอยู่ ส่วนแม่เต้ยจะเป็นพวกประเภทที่สิ่งที่ฉันทำมันถูกต้องอยู่แล้ว เพราะ mindset ของการคุยกันมันไปด้วยกันไม่ได้ 

คุณคิดว่าเพราะอะไรที่ทำให้ครอบครัวมีวิธีคิดแบบนี้

พ่อมาจากสังคมเกษตรกรรมในอีสาน ซึ่งลักษณะของสังคมจะยึดถือวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่มาก เต้ยคิดว่านี่เป็นวิธีแบ่งงานแบบเร็วๆ ของสังคมที่มีลักษณะไม่ซับซ้อนมาก พอพ่อต้องเจอกับการคาดหวังแบบนี้ พ่อก็เลยส่งต่อมาที่เต้ย คาดหวังให้ตัวเต้ยเองมีความเป็นผู้นำ 

ส่วนแม่เป็นลูกของตาเป็นชาวจีนอพยพและยายเป็นคนศรีสะเกษ แม่มีพี่น้องเยอะ จะคาดหวังให้ยายใส่ใจให้ทั่วถึงก็เป็นไปได้ยาก เพราะยายกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ตั้งแต่แม่อยู่ ป.6 เพราะตาเสีย พอแม่ไม่ได้รับความใส่ใจอย่างเต็มเปี่ยม แม่เลยไม่เข้าใจถึงวิธีการรักอย่างถูกต้อง และไม่ได้ส่งต่อในรุ่นลูกของตัวเอง

จะเห็นว่าทั้งความคาดหวังให้ผู้ชายเป็นผู้นำและการมีลูกเยอะ ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของคนอีสานในสมัยก่อนต่างก็เป็นวิธีการเอาตัวรอดจากความจนซึ่งเป็นสิ่งที่คนอีสานส่วนใหญ่ต้องเผชิญทั้งสิ้น การคาดหวังความเป็นผู้นำจากเพศหนึ่งๆ เป็นการแบ่งบทบาทและอำนาจเพื่อสังคมในพื้นที่ยังสามารถเคลื่อนต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมบ้านนอกที่ความแร้นแค้นบีบบังคับให้ทุกการตัดสินใจจากผู้นำต้องเป็นไปอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว ไม่แอบอิงการตัดสินใจร่วมจากทุกภาคฝ่ายเพราะความล่าช้า ไม่ต่างอะไรกับการมีลูกเยอะซึ่งเท่ากับการเพิ่มแรงงานประชากรเพื่อใช้แลกค่าแรงให้มากขึ้น

ทั้งหมดที่พูดมา จึงเกี่ยวกับปัจจัยด้านความขาดแคลนทางด้านทรัพยากรและความล้มเหลวในการกระจายรายได้ในพื้นที่อีสานทั้งหมด เต้ยเป็นเพียงเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากความบิดเบี้ยวของผลลัพธ์ของคำว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ แค่เท่านั้น

พอได้ทำความเข้าใจเบื้องหลังความคิดของครอบครัวแล้ว คุณให้อภัยพวกเขาในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาได้ไหม

ถ้าพูดตรงๆ คือเราให้อภัยไปหมดแล้ว แต่มันก็ไปพร้อมกับใจเราเหมือนกัน เพราะเราไม่เหลือใจให้แล้ว เราแค่อยู่ในสภาวะที่รู้สึกว่าถ้าสมมติว่าตายจากกันวันนี้ เต้ยอาจจะไม่ได้ร้องไห้ด้วยซ้ำ คงรู้สึกว่าโอเคมันก็คงต้องเป็นไป แต่ไม่รู้นะว่าอนาคตเต้ยจะเปลี่ยนความคิดไปหรือเปล่า 

จะบอกว่าที่คิดแบบนี้ เพราะเต้ยตกตะกอนมานาน มีประโยคหนึ่งที่อยู่ในหัวเต้ยตลอดเวลา คือเราเป็นคนไม่มีรากฐาน (rootless person) เพราะไม่มีครอบครัวรองรับ แล้วพอมาจากจุดที่ต่ำที่สุด มันจะไม่มีทางไหนที่ไปได้อีกแล้วนอกจาก uprise เท่านั้น เพราะฉะนั้น ทุกๆ อย่างต่อจากนี้มันจะต้องเกิดจากการตัดสินใจของเราเท่านั้น ไม่มีความคิดของคนในบ้านเป็นส่วนหนึ่งในนั้นแล้ว

เต้ยยอมรับว่ามันเป็นการตกตะกอนที่รุนแรง แต่ก็เพราะเราเจอมาหนักมากจริงๆ อย่างถ้าเต้ยมีปากเสียงกับที่บ้านด้วยความไม่เข้าใจ หนึ่งในสิ่งที่ที่บ้านจะเอามาพูดคือ “เพราะเป็นกะเทยเลยคิดอย่างนี้ เพราะเป็นคนประหลาด” ซึ่งมันเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ ที่เขาพยายามจะเอาอัตลักษณ์ทางเพศของเรามาสู้เรา แต่เต้ยไม่เคยเปิดโอกาสให้เขาจู่โจมแบบนั้นได้ เพราะถ้าเราเปิดโอกาสแม้แต่นิดเดียว ใจเต้ยจะเป็นโพรง เราจะเชื่อว่าตัวตนของเรามันไม่ได้ผิดอะไรเลย 

แล้วจุดหนึ่งในเรื่องนี้มันจึงเป็นภาพสะท้อนให้เต้ย ทำงานเพื่อสังคม เพราะเราอยากให้อีกหลายๆ คนที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันได้รู้ว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่ไม่ได้ผิดเลยแม้แต่นิดเดียว ในเมื่อเราไม่สามารถมีครอบครัวที่ดีได้ เราอยากจะเป็นครอบครัวที่ดีให้คนอื่นแทน นี่คือส่งที่อยู่ในใจมาตลอด และเป็นอุดมการณ์ของ GenderMatter ที่เต้ยทำอยู่ เพราะฉะนั้น เราใจชื้นทุกครั้งที่มีคนบอกว่า “ขอบคุณนะคะที่สร้าง community ให้” เราดีใจนะ เราอยากให้เขาในสิ่งที่เราไม่เคยได้

 

แล้วการกลับไปทบทวนเรื่องต่างๆ ในอดีต ทำให้คุณได้ทบทวนอะไรที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกบ้างไหม

เห็นระบบบิดเบี้ยวเยอะมากๆ แล้วมันเหมือนกับว่าปณตในวัย 25 ปีตอนนี้ ได้กลับไปทำความรู้จักกับปณตในวัยเริ่มตั้งแต่ 7 ขวบ ขึ้นมาจนอายุ 11, 13, 15, 18 และ 21 มันเหมือนปณตได้กลับมาทำความรู้จักกับตัวตน แล้วค่อยๆ ไปนั่งอธิบายว่าสิ่งที่เธอเป็นอยู่ สิ่งที่เธอ react และทำในวัยนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เธอผิดแม้แต่นิดเดียว แต่ว่าเธอถูกกดดันโดยสังคมต่างหาก

เพราะแต่ก่อน เต้ยเคยคิดว่าตัวเองเป็นคนแปลกประหลาด ช่วงอยู่ ม.ต้น ทำไมมีแค่ฉันคนเดียวถามตัวเองอยู่ทุกวันว่าเราเกิดมาทำไม คนทั่วไปจะบอกว่ามึงเป็นบ้าละ ซึ่งเต้ยรู้สึกว่ามันไม่ใช่คำถามที่แปลก ความรู้สึกแบบ existential crisis มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่บังเอิญว่ามันเกิดตั้งแต่เต้ยอยู่ ม.4-5 พอมันเกิดขึ้นปุ๊บ ทำให้เราเป็นคนที่ซื่อสัตย์กับตัวเองมากๆ เราจะไม่ยอมทำในแบบที่สังคมอยากให้เราทำตาม แล้วพอเราตั้งมั่นแล้วว่าจะอยากทำในแบบที่เราจะทำ ทุกเหตุการณ์ที่มันเข้ามา เราจะเริ่มเห็นมันเป็นโครงข่ายของปัญหาที่มันเป็น systemic แล้วพอเราพยายามลุกมาต่อต้าน สิ่งที่เราเจอคือ เราจะโดนฟาดกลับมาคนแรก 

มันเหมือนกับสำนวนที่ว่า “The first bird to fly gets all the arrows” นกที่บินตัวแรกของจ่าฝูง ก็จะโดนลูกศรทุกดอก แล้วการที่ฉันเริ่มพูดคนแรก ฉันก็โดนทุกดอกเลยเหมือนกัน เช่น เต้ยจำได้ว่าตอน ม.6 เราเป็นคนแรกที่พูดว่า ทำไมถึงยอมให้มีการเข้าแถวหน้าเสาธงที่แดดร้อน มันเป็นแดดที่ร้อนจัดมากๆ จนกระทั่งเด็กเป็นลมกลางแถว พอเต้ยพูดไปแบบนี้ปุ๊บ มีเพื่อนมาพูดว่า “ยังไงก็ต้องมีค่ะ เพราะนี่เป็นพิธีกรรมที่มีมาอย่างช้านาน แม้จะไม่รู้ และตัวเราเองตอบไม่ได้ว่ามันจะช่วยสร้างวินัยยังไง แต่ยืนยันว่ามันสร้างวินัยจริงๆ ค่ะ” เต้ยรู้สึกว่าอะไรของมึง ก็มึงยังตอบอยู่เลยว่าตอบไม่ได้ว่าสร้างวินัยยังไง ซึ่งพอสะท้อนกลับไปแบบนี้เต้ยก็จะโดนด่าเยอะ 

พอย้อนกลับมาคิด เต้ยคิดว่าลักษณะแบบนี้เป็นลักษณะร่วมของคนอีสานเหมือนกันนะ คือ ‘ดีได้แต่อย่าเด่น’ การคิดว่าการรวมกลุ่มกันมันจะทำให้เขาเซฟกว่า เพราะแต่ไหนแต่ไร ด้วยความที่พื้นที่เราแห้งแล้งมากๆ เพราะฉะนั้น มันจะเกิดเป็นคำพูดว่า ‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่มึงตาย’ เวลารวมกันเป็นกลุ่ม ความคิดมันต้องไปทางเดียวกัน คุณไม่มีทางคิดต่างได้ แล้ววิธีการคิดแบบนี้ฝังลึกมากในคนอีสาน ความแร้นแค้นที่มันส่งผลต่อการรวมกลุ่มกันเกิดเป็นวัฒนธรรมให้ไม่สามารถคิดต่างได้ ซึ่งทำให้ลักษณะสังคมแบบนี้ toxic คนอีสานมากๆ 

จริงๆ ไม่ใช่แค่คนอีสานหรอกที่เป็นแบบนี้ แต่ขอพูดถึงแต่คนอีสานละกัน คือแม้เราจะกล้าคิดต่าง แต่เราไม่กล้าที่จะพูดมันออกไป เพราะเรากลัวว่าถ้าเราเป็นคนที่พูดถึงความคิดที่ต่างไปเท่าไหร่ เราจะโดนถล่ม แต่ที่พูดอย่างนี้ จะบอกว่าไม่ได้พูดเพราะความโกรธ หรือเกลียดชังอะไร มันเป็นความเป็นไปอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์

จากเรื่องราวที่คุณพบเจอมาทั้งหมดในศรีสะเกษ ถ้าพูดถึงพัฒนาการบ้าง คุณคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่บ้างไหม 

เวลาเราพูดคำว่าพัฒนามากขึ้น เราจะชอบนึกถึงอะไรที่มันเป็นการก่อสร้าง แต่เต้ยขอพูดถึงเรื่องที่นามธรรม อย่างการพัฒนาทางความคิด เราเห็นมันได้ชัดที่สุดคือตอนเริ่มเกิดม็อบ ศรีสะเกษไม่ใช่จังหวัดท้ายๆ ในการเกิดม็อบ แล้วมันคุยกันมาเยอะมาก ประเด็นหลายอย่างถูกหยิบมาพูด หลายประเด็นคม รู้เลยว่าเขามีความคิดอะไรบางอย่างของเขาจริงๆ ที่ความแร้นแค้น การเข้าไม่ถึงการศึกษา แหล่งทุน เป็นลักษณะคอมมอนของคนอีสานสมัยก่อน มันไม่สามารถจำกัดเขาไว้ได้แล้ว เพราะฉะนั้น นี่คือความก้าวหน้าอย่างแรกที่เต้ยมองเห็นได้ชัดเจน

ส่วนการพัฒนาที่ตามมา ที่เป็นตึกอะไรต่างๆ ถามว่ามีไหม ก็มี  แต่มันเป็นธรรมดาของการพัฒนาเมืองอยู่แล้วที่พอมันถึงจุดหนึ่งมันต้องมีอะไรที่ advance มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของคนเนอะ 

แล้วการเข้าถึงเรื่องการศึกษามีการพัฒนามากขึ้นไหม เพราะว่าในยุคของคุณก็ผ่านความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการจนต้องมาเรียนที่กรุงเทพฯ

ก็ยังไม่ได้ดีขึ้นขนาดนั้นนะ โดยเฉพาะการจัดการของรัฐ อันนี้พูดตรงๆ มีเรื่องหนึ่งที่เทียบให้ฟังได้ คือ ตอนเต้ยอยู่ ม.6 อยากสอบเข้าอักษรฯ จุฬาฯ เนอะ แต่คณะนี้ต้องใช้ภาษาที่ 3 แต่โรงเรียนเราที่ศรีสะเกษไม่มีศิลป์-ภาษา 

คำถามคือจะเรียนยังไงให้ได้ศิลป์-ภาษาเพื่อสอบเข้าได้ซึ่งมีเวลาแค่ 1 เดือน เต้ยเลยไปซีเอ็ดเพื่อหาหนังสือภาษาฝรั่งเศสอ่าน เพราะถ้าจะเรียนให้คะแนนอัพได้ก็ต้องเรียนภาษาที่มันใกล้ๆ กับภาษาอังกฤษ ซึ่งมันก็คือภาษาฝรั่งเศส เราเลยโอเค วางแผนเดี๋ยวไปซีเอ็ดที่ใหญ่ที่สุดในศรีสะเกษเพื่อซื้อหนังสือฝรั่งเศส

สรุป ไม่มี ไม่มีเลยสักเล่ม (พูดย้ำ) ไม่มีเลย (เน้นเสียง) เราเลยนั่งรถจากศรีสะเกษไปจนถึงกรุงเทพเพื่อไปศูนย์หนังสือจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านนอก เดินดุ่มๆ เพื่อไปถามว่าพี่มีหนังสือฝรั่งเศสไหมคะ เราก็ซื้อหนังสือฝรั่งเศสมา 3 เล่มมาอ่านเอง แล้วเปิด Google Translate แปลเอง อ่านเอง จนได้คะแนน 210 ในการสอบ PAT 7 ภาษาฝรั่งเศสเห็นอย่างนี้มันอาจจะสะท้อนความพยายามมุ่งมั่นมนุษย์คนหนึ่ง แต่มันสะท้อนเหมือนกันว่าการศึกษาในยุคนั้น มันไม่ได้เข้าถึงเลยจริงๆ 

ในขณะที่ตัดภาพกลับมาที่ร้านหนังสือในยุคปัจจุบันนี้ มีหนังสือภาษาฝรั่งเศส ภาษาโปรตุเกส คือเราลองคิดง่ายๆ ว่าภาษาที่มัน on demand มากๆ ถ้าคนขายเขาจะเอามาขาย ก็เข้าใจได้ เพราะมันขายได้แน่ๆ แต่การที่มันมีหนังสือในแบบที่อ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ แต่ไม่ได้อ่านเพียงเพื่อเพราะความจำเป็นบางอย่าง นั่นแปลว่า คุณมีความลุ่มรวยทางความรู้เกิดขึ้นมากแล้ว

แล้วการมีหนังสือที่ไม่ใช่ภาษา PAT 7 เหล่านั้นมันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่ามีการพัฒนาเกิดขึ้นแล้วนะในเชิงของการศึกษา ซึ่งถือว่าดีมากๆ เลย แต่ถ้าถามว่ามันพัฒนาไปเท่ากับเมืองใหญ่ๆ หรือยัง ก็ค่อนข้างชัดว่ายัง เพราะฉะนั้น ความน่าตลกร้ายไปมากกว่านั้นคือ โรงเรียนใหญ่ๆ ในศรีสะเกษก็เลยเกิดเป็นห้องเรียนพิเศษ ประเภทที่ว่าเตรียมสอบเข้าแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้มีรากมาจากการพยายามดิ้นรนหนีตายทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลาง เพราะชนชั้นกลางมองว่าอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่เป็นข้าราชการ ทำให้ได้สวัสดิการแน่ๆ การเป็นหมอมันทำให้เลื่อนชนชั้นจากชนชั้นธรรมดาๆ กลายเป็นท็อปของชนชั้นกลางได้ มันก็เลยส่งผลให้ มันเป็นอะไรที่เห็นเงิน

ในด้านการโอบรับความหลากหลายทางเพศ สังคมอีสานถือว่าเป็นมิตรกับ LGBTQ ไหม

เต้ยว่าเขายอมรับได้ แต่ว่ามันย้อนกลับไปอันเดิมคือ คนอีสานยึดถือคุณค่าแบบที่คุณจะต้องเป็นกลุ่มก้อนเท่านั้น ซึ่งคนข้ามเพศ ด้วยตัวลักษณะทางร่างกายของเขา พอคนข้ามเพศมันไม่มีความเนียน เพราะฉะนั้น ตัวคนมันเด่นออกมาจากคนอื่นทั้งร่างกายอยู่แล้ว มันก็เลยขัดกับคุณค่านั้นๆ ว่าคนต้องเหมือนกัน ไม่แตกต่างกัน ไม่โดดเด่นออกจากกันตั้งแต่ต้น มันไปขัดกับสิ่งนี้มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น นี่เป็นปราการด่านแรกเลยว่าทำไมคนอีสานจะเอ๊ะกับคนที่เป็นคนข้ามเพศก่อน 

แต่ถ้าถามว่าสังคมอีสานยอมรับได้ไหม เต้ยว่าจุดหนึ่งเขายอมรับได้แต่ว่าแบบมีเงื่อนไข มันเป็นการยอมรับแบบที่ขอให้เป็นคนดีก็พอ ในขณะที่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ต้องเป็นคนดีก็พอ เป็นคนชั่วก็ได้ แต่ว่าคุณก็จะมนุษย์ที่ได้เปรียบ ซึ่งแปลกไง

แต่จริงๆ พูดแบบนี้เต้ยว่าไม่ได้เป็นแค่อีสานนะ เป็นกับทุกที่เลยในไทยนั่นแหละ

แต่ตอนนี้ก็ดูจะมีคนหลากหลายทางเพศชาวอีสานที่โด่งดังในโซเชียล คนติดตามและชื่นชอบเขากันเยอะเลยนะ

เต้ยว่ามันดีมากเลย จริงๆ จะบอกว่าใน GenderMatter ลงเรื่อง media representation ไป มันคือภาพสะท้อนในสื่อที่เริ่มมากขึ้นแล้ว ยุคนี้มันเป็นยุคที่คนไหลจากสื่อหลักมาอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้คนได้เห็นว่าโลกเราไม่ได้มีกะเทยแบบปอย ตรีชฎา หรือโยชิ แต่ยังมีคนประเภทที่ไม่ได้ conform กับภาพจำของสังคมเลยอย่าง ม้าม่วง, ภูเขา, บุญรอด หรือเบน ชลาทิศ 

อย่างคนกลุ่มนี้มันทำให้สังคม ถ้าใช้คำง่ายสุดคือ หนึ่ง มันทำให้สังคมเคยชินมากขึ้น สอง คนที่เขาไปอยู่ เขาก็รู้สึกว่าเขาเป็นตัวของตัวเองได้จริงๆ เต้ยดีใจมากเลยนะ ทุกครั้งที่ได้เห็นพวกเขาได้เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องทำตามภาพจำกะเทยในสังคมไทย

แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้คนเพศหลากหลายที่มีชื่อเสียงก็มักมาพร้อมการสร้างความบันเทิง คนตลก สร้างเสียงหัวเราะหรือเปล่า อย่างนี้จะถือว่าเป็นการสร้างภาพจำ ‘กะเทย’ ที่ต้องตลกหรือสนุกหรือไม่ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

วิธีการที่สื่อนำเสนอกะเทยและคนอีสานไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก คือต้องมีความตลกเป็นเงื่อนไขเพื่อให้สังคมโดยรวมยอมรับได้ ยิ่งพอเป็นกะเทยอีสาน คนคาดหวังจะเห็นอะไรที่มากจนล้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลิกภาพ ท่าทางและวิถีการใช้ชีวิต

แต่ในขณะเดียวกันเราว่าจริงๆ ในไทยเริ่มมีการให้ สปอตไลต์กับคนชายขอบมากขึ้นอยู่นะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือความสนใจจากมวลชนต่อหนังสือบันทึกกะเทยอีสานนี่แหละ เราเริ่มเห็นกันและกันในฐานะมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่แค่คนที่จะถูกยอมรับเพียงเพราะมีความตลกเป็นเงื่อนไขที่ถูกคาดหวังเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นพลวัตทางความคิดที่ถือเป็นเรื่องที่ดี

หนึ่งในการยอมรับความหลากหลายทางเพศของคนคือ ‘ภาษากะเลย’ กลายมาเป็นคำยอดฮิตที่คนใช้ด้วยไหม โดยเฉพาะช่วงหลังที่ภาษาอีสานเริ่มมีพื้นที่มากขึ้น เช่น ‘อย่าหาทำ’ ‘อีหยังวะ’ ‘จกตา’ ‘จะแล้วไหม’ คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร ถือว่ากะเทยอีสานเป็นที่รับรู้และยอมรับในวงกว้างไหม

จริงๆ คิดว่าการที่บางวลีในภาษาอีสานถูกใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นไม่ได้หมายความว่า อัตลักษณ์ทางเพศหนึ่งๆ ในถิ่นอีสานถือเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว การถูกยอมรับที่แท้จริงควรมีมาตรวัดที่ชัดเจนมากกว่าแค่ภาษาที่สังคมใช้ ฉะนั้น หากกะเทยอีสานจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยมีกฏหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพราะจะช่วยขจัดทั้งการเหยียดกันทางชนชาติและทางเพศได้

ถ้าอย่างนั้นให้คุณจินตนาการหรือวาดหวังถึงสังคมในอุดมคติ คุณอยากเห็นภาพสังคมไทยเป็นแบบไหน

อย่างแรกสุดอยากให้เพศหลากหลายด้วยกันเอง เชื่อก่อนว่าเราเป็นมนุษย์ปกติ เราเป็นมนุษย์ธรรมดา เราเป็นมนุษย์ที่สมควรได้รับความรัก โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรที่มันเป็นเงื่อนไขมากเกินกว่าคนอื่น คนที่เป็นคนข้ามเพศ หลายๆ คนจะโหยหาความรัก เพราะว่าเราไม่เคยได้รับความรักจากสังคม หรือว่าเราไม่เคยได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมมาก่อน เราจะยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับความรักนั้นๆ มันเลยกลายเป็นมุกตลกว่าเป็นกระเทยต้องซอง เป็นกระเทยต้องเปย์ เพราะมันจะไม่มีใครมาจริงใจกับเรา ถ้ากระเทยไม่มีเงิน 

ซึ่งเต้ยคิดว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบกดทับตัวเองแบบ self-disruptive คือพูดกับตัวเองไปมันก็ย้ำอยู่อย่างนั้น คุณคิดว่าคนดีๆ ที่ไหนจะเข้ามาหาคุณ ในเมื่อคุณเลือกจะเชื่อมันไปแล้ว มันไม่มีใครจะเปลี่ยนความเชื่อคุณได้ คนที่เขาเข้ามาหาคุณ เขาก็จะเข้ามาเพราะเงินจริงๆ เพราะฉะนั้น อย่างแรกสุดถ้าให้มันเป็นอุดมคติจริงๆ กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเริ่มเข้าใจก่อนว่าเขาเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและอำนาจ รวมถึงการควบคุมสิทธิทุกประการเท่าที่มนุษย์คนอื่นๆ นี่คือสิ่งที่เขาต้องเข้าใจ

สอง–ระบบการศึกษา เต้ยอยากเห็นระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ แม้แต่อยู่ต่างจังหวัดเราก็เข้าใจได้ว่า เราสามารถเรียนที่นี่ได้ โดยไม่ต้องไปแสวงหาการเรียนพิเศษข้างนอกเพื่อให้เสียตังค์ ก็สามารถที่จะมีการศึกษาที่ทัดเทียมกับหัวเมืองใหญ่ๆ การเรียนในกรุงเทพฯ ได้

คือเวลาเราพูดว่าเด็กไม่เก่ง ไม่ใช่เขาไม่เก่งจริงๆ แต่มันไม่มีระบบการศึกษาที่ดีพออยู่ตรงนั้น พูดตรงๆ นะ ทุกคนศักยภาพไม่ค่อยต่างกันมากหรอก แต่เรื่องของทัศนคติ การเลี้ยงดู เรียนรู้ หรืออื่นๆ ที่มันทำให้มนุษย์ยกระดับคุณภาพชีวิตมันต่างกัน แล้วลองคิดดูสิว่าถ้าเราเชื่อมั่นได้จริงๆ ว่ามนุษย์มีศักยภาพไม่ต่างกัน รัฐจัดหาสิ่งที่เรียกว่าการศึกษาเพื่อให้เขาเดินไปข้างหน้าได้พอๆ กันจริงๆ เราจะเป็นสังคมที่ดีมากขนาดไหน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save