fbpx
ปากีสถาน ในฐานะดินแดนพุทธศาสนา

ปากีสถาน ในฐานะดินแดนพุทธศาสนา

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่องและภาพ

ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ผมได้สนทนากับครูบาอาจารย์ทางอุษาคเนย์ศึกษาในประเทศไทยหลายท่าน แล้วก็ทำให้ผมประหลาดใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่า คนไทย นักวิชาการไทย รวมทั้งผมเอง ขาดความรู้เรื่องพุทธศาสนาในปากีสถานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่เรารู้จักดอกผลและรับเอาความรู้จากดินแดนแห่งนั้นมาเป็นส่วนสำคัญของพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างเต็มเปี่ยม นั่นจึงทำให้ผมคิดว่า ควรจะเขียนถึงปากีสถานอีกสักตอนหนึ่ง เน้นเฉพาะการเยือนถิ่นพุทธศาสนาในปากีสถาน เพื่อให้เข้าใจความสำคัญของพื้นที่ที่ได้ไปเยือนมามากยิ่งขึ้น และเพื่อปูทางไปสู่การเริ่มเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ อีกมากมากมายที่ผมเองก็ยังไม่รู้มาก่อน

หลังกลับจากปากีสถานมานานกว่า 3 เดือนแล้ว ผมยังคงตื่นเต้นกับการไปเยือนเพียง 10 วันไม่หาย เมื่อพบพานเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง และนักศึกษาเมื่อไหร่ ก็ต้องแวะเอ่ยถึงประสบการณ์ในปากีสถานบ้างไม่มากก็น้อย สุดแต่ว่าใครจะอยากต่อบทสนทนาเรื่องนี้ด้วยและไปได้ลึกแค่ไหน มีวงสนทนาอยู่สองวงที่กระตุกให้ผมคิดว่า จำเป็นที่จะต้องบันทึกและบอกเล่าถึงถิ่นฐานของพุทธศาสนาที่ผมไปเยือนมาในเวลาเพียง 4 วันจาก 10 วัน อย่างน้อยเพื่อให้ตนเองเข้าใจพื้นที่ที่ได้ไปเยือนมากขึ้น

วงหนึ่งที่กรุงเทพฯ อาจารย์ประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง (ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) ซึ่งได้เยือนปากีสถานมาแล้ว 2 ครั้ง ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า คนไทยทั่วไป หรือเอาเฉพาะนักวิชาการไทยก็ตาม ขาดความรู้ความเข้าใจทั้งเรื่องประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและเรื่องปากีสถานเป็นอย่างยิ่ง ส่วนนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์หนุ่มอีกคน ผู้รอบรู้ทั้งกว้างและลึกหลายเรื่อง หลายพื้นที่ หลายยุคสมัย ทว่ายังไม่เคยไปปากีสถาน สำทับว่า แม้แต่ปรมาจารย์ประวัติศาสตร์และโบราณคดีบางท่าน ก็ยังไม่รู้ชัดว่า ‘ตักสิลา’ อยู่ในปากีสถาน

อีกวงหนึ่งที่พิษณุโลก อาจารย์ผู้สอนและแปลหนังสือประวัติศาสตร์อินเดีย ผู้รอบรู้เรื่องราวของเอเชียใต้เป็นอย่างดีท่านหนึ่ง ตอกย้ำความสำคัญของตักสิลาและพุทธศาสนาในอินเดียว่า “ก็พระยามิลินท์ที่สนทนากับพระนาคเสน ในหนังสือ ‘มิลินทปัญหา’ นั่นไง ที่ครองเมืองหนึ่งในดินแดนตักสิลา”

ผมอ่านหนังสือมิลินทปัญหาจบทั้งเล่มตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ปีแรก ขณะนั้นผมก็รู้แต่เพียงว่า หนังสือเล่มนี้เป็นบทสนทนาระหว่างพระเจ้ามิลินท์กษัตริย์แห่งเมืองหนึ่ง กับภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งชื่อนาคเสน หรือที่เรียกกันว่าพระนาคเสน เดิมผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งหมด หากแต่ภายหลังจึงรู้ว่าทั้งสองคนนี้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยสนใจค้นคว้าว่าหนังสือเล่มนี้มีเค้าเรื่องอยู่ที่ไหน พระเจ้ามิลินท์เป็นใคร พระนาคเสนเป็นใคร อยู่ที่ไหน รู้แต่ว่าหนังสือเล่มนี้อ่านสนุก

พระเจ้ามิลินท์ผู้ตั้งคำถามต่อพระนาคเสนนั้นคือกษัตรย์อินโด-กรีก ที่มามีอำนาจเหนือเมืองสกลา (Sagala) เมืองหนึ่งที่เชื่อกันว่าปัจจุบันน่าจะอยู่ในจังหวัดปัญจาบ เหนือตักสิลาขึ้นไปนิดหน่อย สันนิษฐานกันว่า หนังสือเล่มนี้ถูกแต่งขึ้นระหว่าง 100 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 200 ปีหลังคริสตกาล ก็นับว่าเป็นช่วงที่พุทธศาสนากำลังรุ่งเรืองในดินแดนปากีสถาน เป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากอำนาจของราชวงศ์โมรียะ (Maurya) ที่มีพระเจ้าอโศกเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาคนสำคัญ ไปยังราชวงค์กุษาณะ (Kushan) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของกษัตริย์ชาวเยวซี (Yuezhi) ชนเผ่าเร่ร่อนที่มี่มีอำนาจเหนือบัคเตรีย (Bactria) แล้วขยายอำนาจมาครองดินแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน จนกลายเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาต่อมา แล้วมีส่วนก่อกำเนิดสร้างพุทธศิลป์แบบคันธาระอันเลื่องลือ

ผมชอบหนังสือเล่มนี้และแนะนำให้คนอ่านไปทั่ว เนื่องจากมิลินทปัญหาเป็นหนังสือพุทธศาสนาเล่มเดียวที่ผมรู้สึกว่าอ่านสนุก เพราะเขียนเป็นบทสนทนาตลอดทั้งเรื่อง ใช้วิธีการตั้งคำถาม สนทนากันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนๆๆ อัดความรู้ด้านเดียว แต่การตั้งคำถามและสนทนา เปิดพื้นที่ให้คนอ่านแทรกความคิดตนเองเข้าไปร่วมสนทนาด้วย ทำให้บางครั้งเราก็อาจไม่ได้เชื่อตามหลักเหตุผลที่แต่ละฝ่ายนำมาอ้างหักล้างกันเท่าใดนักก็ได้ หนังสือเล่มนี้จึงอ่านแล้วได้รสเดียวกับการอ่านหนังสือของเพลโต ที่ดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาตลอด แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ถือกันว่าเป็นตำราทางปรัชญาที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยกรีกก็ตาม

เมื่อได้อ่านมิลินทปัญหาครั้งแรกๆ ในใจผมก็คิดเสมอว่าหนังสือเล่มนี้ต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นกรีกแน่นอน แล้วก็เกี่ยวกันจริงๆ นั่นแหละ ในบทความชื่อ ‘กรีซและอินเดีย : มิลินทปัญหา อเล็กซานเดอร์-โรมานซ์ และคำสอนคริสตศาสนายุคแรก’ (Greece and India: the Milindapañha, the Alexander-romance and the Gospels พิมพ์ปี ค.ศ.1967) ของเจ ดันแคน เอ็ม เดอร์เรตต์ (J. Duncan M. Derrett) ชี้ให้เห็นว่า เนื้อหาของมิลินทปัญหานั้น มีอิทธิพลของตำนานพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่รู้จักกันในชื่อ ‘อเล็กซานเดอร์-โรมานซ์’ (Alexander-romance) และยังมีเนื้อหาที่อาศัยคำเทศนาของศาสนาคริสต์ยุคแรก (the gospels) ซึ่งแน่นอนว่าคงเป็นส่วนที่แต่งเติมขึ้นหลังคริสตกาล นี่เป็นอิทธิพลกรีกและโรมันที่ตกทอดมาในพุทธศาสนา ไม่ใช่อิทธิพลของวรรณกรรมสันสกฤตในอินเดีย

ในส่วนของตำนานพระเจ้าอเล็กซานเดอร์นั้น เดอร์เร็ตต์ชี้ว่า เนื้อหาตอนหนึ่งของเรื่อง กล่าวถึงการที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ (ซึ่งเป็นศิษย์ของอริสโตเติล นักปรัชญากรีก) ตั้งคำถามท้าทาย ‘พราหมณ์เปลือย’ คนหนึ่งที่ตักสิลา เมื่อท่านยกทัพมายึดดินแดนตะวันออกถึงบรรดาเมืองทางทิศเหนือของอินเดีย และส่วนใหญ่ของปากีสถานตอนบนจนถึงปัญจาบ

การตั้งคำถามของพระเจ้ามิลินท์ต่อพระนาคเสนนั้น มีทั้งลักษณะท้าทายและการพ่ายแพ้ต่อหลักเหตุผลของพุทธศาสนา ทำนองเดียวกับกรณีพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สนทนากับพราหมณ์ นี่แสดงร่องรอยของพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงกับโลกของกรีก ในยุคที่พุทธศาสนาครอบงำอิทธิพลเหนือดินแดนปากีสถานอย่างชัดเจน ส่วนอิทธิพลของคำสอนคริสตศาสนานั้น ปรากฏในการใช้การเปรียบเปรยและนิทานบางเรื่องที่มิลินทปัญหาใช้ ซึ่งพ้องกันกับคำสอนของคริสตศาสนายุคแรกเป็นอย่างยิ่ง

ดินแดนนี้จึงเป็นดินแดนที่ซ้อนทับกันของคนหลายกลุ่ม วัฒนธรรมทั้งจากตะวันตก ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ผสมผสานกันอยู่เต็มไปหมด และจึงไม่น่าแปลกใจที่อิทธิพลของทั้งตะวันตก ตะวันออกกลาง และอินเดียเอง จะเป็นบ่อเกิดของพุทธศาสนาในดินแดนนี้

ในการเดินทางไปปากีสถาน ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ไปเดินในแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นการซ้อนทับกันนี้อย่างชัดเจน ณ เมืองซึ่งเดิมชื่อ บาซิรา (Bazira) ปัจจุบันคือ บาร์ริกอต (Barikot) เอกสารสรุปของนักโบราณคดีประจำแหล่งนี้สรุปว่า แหล่งโบราณคดีนี้สืบทอดมาตั้งแต่ยุคสำริดเมื่อ 1,600 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยกทัพมาตั้งบ้านเรือนที่นี่เมื่อ 327 ปีก่อนคริสตกาล แล้วพื้นที่แห่งนี้ก็ยังตกทอดมาถึงยุคที่ชาวกรีกมาอาศัยราว 120 ปีก่อนคริสตกาล ถึงยุคราชวงศ์กุษาณะ กระทั่งถึงยุคที่ชาวมุสลิมเข้ามาอยู่อาศัย

ภายในพื้นที่แห่งนี้มีร่องรอยของถนน บ่อน้ำ แหล่งพักอาศัย การระบายน้ำ และน่าจะเป็นแหล่งการค้า หรือเป็นเมืองย่อมๆ ที่สำคัญแห่งหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากมีร่องรอยของป้อมปราการอยู่เช่นกัน ในการเดินชมพื้นที่นี้ นักโบราณคดีท้องถิ่นชาวปากีสถานที่ร่วมกับนักโบราณคดีจากอิตาลี ชี้ให้เห็นชั้นดินหลายชั้นที่ต่างแสดงร่องรอยของการใช้พื้นที่ต่างยุคอย่างทับถมกัน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นบางบริเวณ ซึ่งถูกเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานไปตามกาลเวลา

พื้นที่นี้เป็นหลักฐานการใช้พื้นที่อย่างเข้มข้น ต่อเนื่องกันมายาวนานนับพันปี พื้นที่ลักษณะนี้เองที่น่าเป็นแหล่งกำเนิด เป็นจุดแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ศิลปวิทยาการระหว่างกรีกกับชาวเอเชียใต้ ไปไกลจนถึงเอเชียตะวันออก

ยุคที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นยุคทองทางพุทธศาสนาของดินแดนนี้ แน่นอนว่าเป็นยุคของกษัตริย์สองพระองค์ จากสองราชวงศ์ ได้แก่ หนึ่ง ยุคของพระเจ้าอโศก แห่งราชวงศ์โมริยะ ผู้ครองดินแดนนี้ช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล และสอง คือยุคของพระเจ้ากนิษกะ (Kanishka) แห่งราชวงศ์กุษาณะ ผู้ครองดินแดนนี้ช่วง ค.ศ.100 ทั้งสองยุคนี้แสดงให้เห็นการซ้อนทับกันของพื้นที่ไม่น้อยเช่นกัน พระเจ้าอโศกทรงสร้างสถูปและวัดจำนวนมาก ส่วนพระเจ้ากนิษกะนั้น ทรงส่งต่อมรดกของพุทธศาสนาผ่านพุทธศิลป์แบบคันธาระ ทั้งสองพระองค์มีส่วนสำคัญในการผลิตเอกสาร ตำรา คัมภีร์ และดังที่รู้กันดีคือการสังคยานาพระไตรปิฎก

พุทธศาสนาในปากีสถานมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมตั้งแต่ดินแดนทางเหนือของจังหวัดปัญจาบ จนถึงบางส่วนของแคชเมียร์ บริเวณนี้มักรู้จักกันในนาม ‘ตักสิลา’ ที่ครอบคลุมทั้งเมืองตักสิลาเองและอาณาบริเวณรายรอบ แล้วพุทธศาสนายังกินอาณาบริเวณไปถึงส่วนใหญ่ของจังหวัดไคเบอร์ปัคตูนควา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน

ในอดีตดินแดนแห่งนี้มักรู้จักกันในชื่อว่า ‘อุทยาน’ (Udyana) ซึ่งน่าจะมาจากความอุดมสมบูรณ์อันเนื่องมาจากการหล่อเลี้ยงของลำน้ำสวัต (Swat) จากนั้นพุทธศาสนาก็ครอบคลุมเลยไปยังดินแดนตะวันออกของอัฟกานิสถาน ในแง่ของระยะเวลา ครอบคลุมตั้งแต่ยุคของพระเจ้าอโศก ราว 200 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงราชวงศ์กุษาณะ ราว 500 ปีหลังคริสตกาล เรียกได้ว่าประมาณ 700 ปีด้วยกันที่พุทธศาสนาตั้งมั่นอยู่ที่ปากีสถาน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ดินแดนแห่งนี้จะยังคงมีร่องรอยของพุทธศาสนาที่เป็นทั้งอาราม สถูป หินสลักรูปพระพุทธเจ้า และประติมากรรมทางพุทธศาสนามากมาย รวมทั้งเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดพุทธศิลป์แบบคันธาระ

ภาพหุบเขาและที่ราบใน 'อุทยาน' ชื่อเดิมของดินแดนลุ่มน้ำสวัต จังหวัดไคเบอร์ปัคตูนควา

ภาพหุบเขาและที่ราบใน ‘อุทยาน’ ชื่อเดิมของดินแดนลุ่มน้ำสวัต จังหวัดไคเบอร์ปัคตูนควา

ผมได้ไปเยือนสถูปที่โดดเด่นจำนวนหนึ่งของหุบเขาสวัต ทั้งสถูปที่สร้างอยู่ท่ามกลางขุนเขา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อย่างสถูปอัมลุกดารา (Amluk Dara) และสถูปขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนมุสลิมปัจจุบันอย่างสถูปชินการาดารา (Shingardara) นอกจากนั้นยังมีสถูปอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของอารามขนาดใหญ่ ซึ่งก็น่าจะเป็นหนึ่งในอารามที่เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนของบรรดาพระสงฆ์ในยุคนั้น อย่างวัดบุตคารา (Butkara 1) ที่มีสถูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในใจกลางวัด สถูปทั้งสามแห่งนี้อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำสวัต โดยเฉพาะบุตคารานั้น อยู่ในเขตเมืองไซดูชารีฟ (Saidu Sharif) ถือได้ว่าอยู่ใจกลางชุมชนเมืองปัจจุบัน ไม่ไกลจากโรงแรมที่พวกเราไปพักเลย

สถูปที่วัดบุตคารานี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก แล้วมีร่องรอยการสร้างสถูปทับในสมัยหลัง รายรอบสถูปใหญ่นี้ยังมีสถูปเล็กๆ ที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างต่อเติมกันมาเรื่อยๆ โดยผู้มีอำนาจในยุคต่อๆ มาหรือในยุคเดียวกันกับสถูปใหญ่ นอกจากนั้นยังมีวิหารและที่พักอาศัยของสงฆ์ตั้งอยู่ด้วย ที่วัดบุตคารานี้เองที่ช่วยให้ผมเข้าใจว่า ประติมากรรมปูนปั้นที่เป็นพระพุทธรูปและเรื่องราวต่างๆ อย่างเรื่องราวในชาดกหรือเรื่องพุทธประวัติ ประดับประดาเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานเหล่านี้อย่างไร เพราะที่นี่ยังมีร่อยรอยของประติมากรรมเหล่านั้นติดอยู่ให้เห็นหลายที่ด้วยกัน

ผมคิดว่านอกจากเท่าที่เห็นแล้ว คงมีบรรดารูปปั้นและประติกากรรมที่สมบูรณ์อีกมาก ที่ถูกนำออกไป ไม่ว่าจะเอาไปอย่างถูกต้องแล้วไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ หรือเอาไปอย่างผิดกฎหมายก็ตาม

สถูปอัมลุกดารา (Amluk Dara) ในหุบเขาสวัต, ปพระพุทธรูปจาฮานาบัด ในหุบเขาสวัต

(ภาพซ้าย) สถูปอัมลุกดารา (Amluk Dara) ในหุบเขาสวัต  (ภาพขวา) รูปพระพุทธรูปจาฮานาบัด ในหุบเขาสวัต

อันที่จริงยังมีสถูป อาราม รวมทั้งภาพสลักพระพุทธเจ้าอีกจำนวนมากที่ตั้งอยู่ในหุบเขาสวัต ทางเหนือและทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเปชวาร์ (Peshawar) เมืองหลวงของอาณาจักรกุษานะ สถูปบางแห่งนั้น ผมมีโอกาสเพียงนั่งชมผ่านๆ บนรถเท่านั้น หากจะเดินทางไปเยี่ยมชมให้ครบถ้วนกันจริงๆ คงต้องใช้เวลาเป็นเดือนกันเลยทีเดียว แต่หากจะเข้าใจภาพรวมของดินแดนที่เคยถูกเรียกว่าอุทยานแห่งหุบเขาสวัตนี้ ผมแนะนำว่าน่าจะมีโอกาสได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์สวัต (Swat Museum) สักครั้งหนึ่ง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1959 เป็นที่เก็บโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้โดยคณะนักโบราณคดีชาวอิตาลี แหล่งโบราณคดีในหุบเขาสวัตส่วนใหญ่กระทั่งในปัจจุบันก็ยังอยู่ในการดูแลของนักโบราณคดีชาวอิตาลี ร่วมกับนักโบราณคดีปากีสถาน อันที่จริงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยถูกผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองมาก่อน แต่ได้รับการบูรณะและเพิ่งกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งเมื่อ ค.ศ.2014 นี่เอง ทำให้ยังแลดูใหม่เอี่ยมอยู่

พิพิธภัณฑ์สวัตมีชั้นเดียว ขนาดกระชับ แต่จัดแสดงข้าวของจำนวนมาก อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีระบบดีมาก ผมตื่นตาตื่นใจกับแผนที่ คำอธิบายเรื่องราว รายละเอียดของสิ่งของจัดแสดง รวมทั้งตัวอย่างของเครื่องไม้เครื่องมือและเอกสารของนักโบราณคดีเองก็นำมาจัดแสดงด้วย บรรดาประติมากรรม ไม่ว่าจะเป็นรูปพระพุทธเจ้า รูปพระศรีอาริยเมตไตรย หรือรูปเรื่องราวพุทธประวัติ ที่ใช้ประดับประดาพุทธสถานต่างๆ รวมทั้งบางส่วนของภาพสลักหินพระพุทธเจ้าที่ถูกทำลายในหุบเขาสวัต ต่างถูกเก็บรวบรวมและจัดแสดงที่นี่

ในบรรดาพุทธสถานต่างๆ ในหุบเขาสวัต มีภาพสลักพระพุทธเจ้าที่น่าประทับใจแห่งหนึ่ง รู้จักกันในนามพระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด (Jahanabad Buddha) ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 7 มี ขนาดสูง 6 เมตร บนหน้าผาหินทรายบนเนินเขาแห่งหนึ่ง ส่วนหน้าของพระพุทธรูปแห่งนี้เคยถูกทำลายโดยพวกตาลิบัน แต่ขณะนี้ได้รับการบูรณะแล้ว การขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปจาฮานาบัดต้องเดินผ่านหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตร

เนินเขาลูกนี้อยู่สูงพอสมควร หากแต่เมื่อขึ้นไปถึงข้างบนแล้ว นอกจากความประทับใจกับพระพุทธรูปสลัก ยังได้รับความประทับใจจากภูมิประเทศ ที่หากมองไปในทิศทางเดียวกับพระพุทธรูปสลัก จะเห็นทิวทัศน์ของที่ราบระหว่างเขาสองลูกทอดยาวไปยังลำน้ำสวัตที่อยู่ไกลออกไป

การสร้างพุทธสถานบนเนินสูงดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมสำคัญเช่นกัน มีอารามหลายแห่งที่มีลักษณะเช่นนี้ เช่น อารามแห่งหนึ่งที่ผมไปเยือนเป็นที่แรก ก็คือวัดแห่งหนึ่งที่ทักต์ไบห์ (Takht-e-Bahi) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเปชวาร์ เมืองหลวงของอาณาจักรกุษาณะ ยุคพระเจ้ากนิษกะ อารามแห่งนี้มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงพอสมควร ประกอบไปด้วยอาคารต่างๆ ข้อมูลจากป้ายที่แหล่งโบราณคดีเล่าว่า อารามนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.100 และน่าจะมีอายุอยู่จนถึง ค.ศ.700

บรรดาภิกษุจีนที่แสวงบุญมายังดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นฟาเซียน (Faxian) ซง ยุน (Song Yun) หรือซวนชาง (Xuanzang ที่กลายมาเป็นตำนานพระถังซำจั๋ง) ล้วนแล้วแต่มาเยือนที่นี่ ทว่าในยุคของท่านทั้งสามนั้น อารามแห่งนี้เริ่มเสื่อมโทรมลงแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนาเริ่มเสื่อมลง

ภาพวัดที่ทักต์ไบห์ (Takht-e-Bahi)

ภาพวัดที่ทักต์ไบห์ (Takht-e-Bahi)

วัดที่ทักต์ไบห์แห่งนี้มีขนาดใหญ่โต อาคารบางส่วนอยู่กันคนละยอดเขากับชุดอาคารหลัก ลักษณะโดดเด่นของวัดนี้คือการใช้หินแบบหินกาบสีน้ำตาลเข้มวางซ้อนกัน หินที่นำมาสร้างก็น่าจะมาจากบนเขานั้นเอง เนื่องจากเมื่อเดินขึ้นเขาไป ก็ได้เห็นเนื้อของภูเขาที่ประกอบขึ้นมาจากหินชนิดเดียวกันกับที่ใช้สร้างวัด

นอกจากสถูป ซึ่งแทบจะเหลือแต่เพียงฐานแล้ว ยังมีอาคารหลายส่วน บางส่วนยังมีผนังห้องอยู่ บางส่วนมีร่องรอยที่ใช้วางพระพุทธรูป ส่วนที่โดดเด่นอย่างหนึ่งคือพื้นที่ใต้ถุนอาคาร ที่ขุดลงไปในเขา กล่าวกันว่าเป็นที่ฝึกปฏิบัติธรรม หรืออาจเป็นที่นั่งวิปัสสนาของพระในอดีต ใต้ถุนอาคารนี้มีอากาศเย็นสบาย ผิดกับพื้นที่ด้านบนที่ในฤดูซึ่งผมไปเยือนตอนปลายเดือนพฤษภาคมนั้น อุณหภูมิน่าจะราวๆ 40-42 องศาเซลเซียสกลางแดดจ้า

วัดแห่งนี้ปัจจุบันได้รับการดูแลอย่างดี มีการบูรณะบางส่วนเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หากแต่ในการบูรณะ ช่างจะทำขอบเขตแบ่งให้เห็นและบันทึกปีที่บูรณะอย่างชัดเจน เพื่อแยกพื้นที่ผนังส่วนบูรณะออกจากส่วนเก่า ถึงกระนั้นก็ยังเห็นความแข็งแกร่งทนทานของสถาปัตยกรรมหินเรียงที่ตกทอดมาตั้งแต่เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว

อีกส่วนหนึ่งของดินแดนแห่งนี้ที่เป็นที่รู้จักกันมากกว่าดินแดนอุทยานในหุบเขาสวัต คือ ‘ตักสิลา’ ในเขตจังหวัดปัญจาบ ชื่อนี้เป็นชื่อคุ้นหูชาวไทยมากมาย แม้ว่าหลายคนไม่แน่ใจว่าตักสิลาอยู่ที่ไหน หรืออาจเข้าใจว่าตักสิลาคือสถานศึกษาสักแห่ง ที่คนไทยมักเรียกกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก

เราได้ยินมาจากนิทานชาดกหรือนิทานต่างๆ ว่า ตักสิลาเป็นที่บ่มเพาะความรู้ของบรรดานักปราชญ์คนสำคัญๆ ความรู้ของตักสิลาน่าจะมีมาก่อนยุคที่ตักสิลากลายเป็นดินแดนพุทธศาสนาด้วยซ้ำ เนื่องจากมีตำนานเรื่อง หมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ที่อุทิศตัวให้กับการช่วยเหลือด้านการแพทย์แด่พระสงฆ์และพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้รับการศึกษามาจากตักสิลา

ตักสิลาเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำคันธาระ ปัจจุบันตั้งอยู่เหนือเมืองอิสลามาบัดไปเพียง 30 กิโลเมตร มีร่องรอยของเมืองโบราณอยู่จำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นการตั้งถิ่นฐานในหลายยุคสมัยด้วยกัน ที่มีการบันทึกคือ เจ้าเมืองตักสิลาที่ยอมรับอำนาจของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในคราวที่ท่านยกทัพมาไกลถึงตักสิลาในช่วง 300 ปีก่อนคริสกาล แสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของเมืองตักสิลามีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลแล้ว

งานศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสร์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ตักสิลามีความสำคัญในดินแดนแห่งนี้มาเนิ่นนานแล้ว เนื่องจากดินแดนแห่งนี้และบริเวณถิ่นฐานโดยรอบ คือดินแดนที่ชาวอินเดียจากลุ่มน้ำคงคาและยุมนา และเอเชียตะวันออกอย่างจีน ใช้ในการติดต่อกับดินแดนตะวันตก พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ราบลุ่มระหว่างเขาสูงชันทางเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหิมาลัย และทะเลทรายธาร์ (Thar) ที่อยู่ทางใต้

การเดินทางไปยังตะวันออกกลาง ผ่านที่ราบบริเวณนี้ขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเปชวาร์ที่กลายมาเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์กุษาณะ สามารถที่จะไปตามลำน้ำคาบูล ไปจนถึงเมืองคาบูล (Kabul) ที่ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน จากนั้นก็สามารถไปยังอิหร่านและต่อไปยังยุโรปใต้ได้ พูดแบบรวบรัดคือ ตักสิลาและเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ อยู่บนเส้นทางสายไหมที่เชื่อมตะวันออกกับตะวันตกทางบกตั้งแต่โบราณกาลมานั่นเอง

นักโบราณคดีอย่างเจอราร์ด ฟัสแมน (Gérard Fussman) จึงให้ข้อสรุปไว้ในบทความ ‘ตักสิลา : จุดเชื่อมต่อแห่งเอเชียกลาง’ (Taxila: The Central Asian Connection ตีพิมพ์เมื่อปี 1993) ว่า ตักสิลาเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ สืบต่อมาจนยุคอาณาจักรอาคีเมเนียน (Achaemenians) แล้วตกทอดมายังยุคที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์แผ่อำนาจมา จนถึงอาณาจักรที่ราชวงศ์โมรียะมาครอง ส่งต่อมาจนถึงยุคศิลปะคันธาระและพุทธศาสนารุ่งเรืองในสมัยของราชวงศ์กุษาณะ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่ามีคนอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมาไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี ตักสิลาจึงเป็นที่รวมของทั้งผู้คนและการผสมผสานความรู้ จนกลายเป็นแหล่งรวมของเหล่านักปราชญ์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ตักสิลาจะมีชื่อเสียงเลื่องลือมายาวนาน

ประติมากรรมพระศรีอาริยเมตไตรย ที่พิพิธภัณฑ์ตักสิลา  ฐานสถูป ที่วัดจูเลี่ยน ปัญจาบ
(ภาพซ้าย) ประติมากรรมพระศรีอาริยเมตไตรย ที่พิพิธภัณฑ์ตักสิลา  (ภาพขวา) ฐานสถูป ที่วัดจูเลี่ยน ปัญจาบ

ที่ตักสิลา คณะเดินทางของผมเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์ตักสิลา (Taxila Museum) ซึ่งเก็บโบราณวัตถุและประติมากรรมไว้เป็นจำนวนมาก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อุทิศให้กับจอห์น มาร์แชล (John Marshall) ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษคนสำคัญของอินเดียและปากีสถาน ที่ทำงานขุดค้นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20

แน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่จัดแสดงประติมากรรมในยุคคันธาระชิ้นสำคัญๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ที่น่าสนใจอีกอย่างคือแนวคิดในการจัดแสดงที่นี่ ทำให้ประติมากรรมมีลักษณะเป็นผลงานศิลปะ มากกว่าที่จะเป็นวัตถุจัดแสดงทางโบราณคดี เช่น การจัดแสดงพระเศียรของพระพุทธเจ้าในบางตู้ มีทั้งการจัดแสงและให้สีของฉากหลังเพื่อขับเน้นความงามของเส้น รูปทรง และสีเนื้อวัสดุ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

จากพิพิธภัณฑ์ ผมเดินทางไปเยี่ยมชมวัดสำคัญสองแห่ง แห่งแรกคือที่ธรรมราจิกะ (Dharmarajika) ป้ายข้อมูลที่วัดแห่งนี้บันทึกไว้ว่า วัดนี้เป็นวัดแห่งแรกที่ตั้งขึ้นที่ตักสิลา และถือว่าเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพุทธศาสนาทั้งหมดในดินแดนนี้ วัดแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้าอโศก ชื่อวัดนี้จึงตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์ ในฐานะธรรมราชาผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา

วัดแห่งนี้มีซากฐานสถูปขนาดใหญ่ใจกลางวัด รายรอบไปด้วยอาคารต่างๆ และฐานสถูปขนาดย่อมลงมา สถูปองค์ใหญ่นั้นเคยพังทลายลงจากเหตุแผ่นดินไหวใน ค.ศ.40 แล้วกษัตริย์ในยุคราชวงศ์กุษาณะจึงบรูณะต่อๆ มา จนกระทั่งเมื่อมีการสร้างพระพุทธรูป จึงมีการประดับประดาด้วยพระพุทธรูป จนกระทั่งถึง ค.ศ.500 เมื่ออาณาจักรกุษาณะถูกพวกฮุน (Huns) รุกราน วัดแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้าง ปัจจุบันธรรมาจิกะเป็นมรดกโลกในปีค.ศ. 1980 และเป็นสถานที่ที่ได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างดี

ถัดจากนั้น ผมได้ไปวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในตักสิลา นั่นคือวัดจูเลียน (Jaulian) วัดนี้สร้างขึ้นในช่วงปลายของราชวงศ์กุษาณะ มีขนาดใหญ่โตไม่แพ้วัดธรรมราจิกะ หากแต่ความโดดเด่นคือเป็นวัดที่รุ่มรวยประติมากรรมอย่างยิ่ง และยังคงมีประติมากรรมประดับติดอยู่กับสถูปต่างๆ ทั้งฐานสถูปองค์กลางและสถูปรายรอบ ประติมากรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หากวัดอื่นๆ ยังคงมีประติมากรรมติดอยู่ดังในอดีต ก็น่าจะมีลักษณะอย่างไร

อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่า แม้ในสมัยที่พุทธศาสนายังไม่เสื่อมโทรมลง วัดนี้ก็น่าจะยังคงถือได้ว่ามีประติมากรรมปูนปั้นประดับอยู่อย่างอลังการมากแห่งหนึ่งอยู่ดี จากบันทึกของทางการที่หน้าวัดระบุว่า บางส่วนของประติมากรรมที่นี่ถูกย้ายไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ตักสิลา ส่วนตัวฐานสถูปส่วนที่ยังมีการประดับประดา ก็จะถูกกั้นรั้วปิดประตูลงกลอนไว้อย่างแน่นหนา วัดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วเช่นกัน

อันที่จริงหากกล่าวถึงเฉพาะพุทธศาสนาในยุคของราชวงศ์กุษาณะ โดยเฉพาะยุคของพระเจ้ากนิษกะที่มีส่วนสร้างพุทธศิลป์แบบคันธาระนั้น มีเรื่องราวที่น่าค้นคว้าอีกมากมาย ตั้งแต่ว่าต้นเค้าของพุทธศิลป์แบบนี้ นอกจากจะได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบเฮเลนนิสติกของกรีก ที่เน้นความเป็นมนุษย์ เน้นความสมจริง อย่างผสมผสานกับแนวคิดอินเดียเอง รวมทั้งโรมันในยุคหลังของคันธาระแล้ว ยังมีอะไรเชื่อมโยงกับประติมากรรมรูปคนในยุคก่อนหน้ากันเล็กน้อยหรือไม่

มีข้อเสนอว่า ประติมากรรมรูปพระพุทธเจ้าในตักสิลานั้น ได้รับอิทธิพลจากไหนบ้าง ใกล้กว่าดินแดนประเทศกรีซเข้ามาหน่อย ก็คืออิทธิพลของศิลปะแห่งอาณาจักรบัคเตรีย ที่เคยมีทั้งชาวกรีก ชาวอิหร่าน และชาวเยวซี ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรกุษาณะนั่นเอง ครอบครองอยู่ (โปรดดูบทความของ Benjamin Rowland Jr. ชื่อ “Graeco-Bactrian Art and Gandhāra: Khalchayan and the Gandhāra Bodhisattvas” พิมพ์ปี 1972)

ส่วนแนวคิดในการทำรูปเคารพพระพุทธเจ้านั้น มีข้อเสนอว่า ได้แนวทางการทำรูปบูชาพระพุทธเจ้ามาจากแคว้นมธุระ (Mathura) ซึ่งอยู่ตอนกลางของอินเดีย ที่สำคัญคือความคิดเรื่องการแยกพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้ากับพระรูปโพธิสัตว์ เกิดในมธุระก่อนแล้วจึงแพร่ขึ้นมากลายเป็นพระพุทธรูปและพระรูปโพธิสัตว์ในแบบคันธาระที่ตักสิลา (ดูบทความของ Stanislaw Czuma ชื่อ “Kushan Sculpture: Images From Early India” พิมพ์ปี 1985)

เมื่อเอ่ยถึง ‘คันธาระ’ นอกจากจะเป็นรูปแบบศิลปะแล้ว ยังเป็นยุคสมัยที่มีลักษณะโดดเด่นอีกหลายประการ

ประการแรก คันธาระให้กำเนิดพระพุทธรูป ก่อนหน้านี้ไม่มีพระพุทธรูปในพุทธศาสนา มีเพียงรูปสัญลักษณ์ เช่น รูปต้นโพธิ์ รูปธรรมจักร หรือรูปพระพุทธบาท

ประการที่สอง คันธาระให้แนวทางการทำพระพุทธรูปว่าต้องมีลักษณะเช่นไร ที่สำคัญคือต้องมีลักษณะอย่างมนุษย์จริง แต่ทว่าก็ต้องมีลักษณะของมหาบุรุษตามตำนาน

ประการที่สาม คันธาระให้กำเนิดพระรูปพระโพธิสัตว์ ที่สำคัญคือพระศรีอาริยเมตไตรย ผู้จะมาเป็นพระพุทธเจ้าสืบต่อจากพระสมณโคดม

ประการที่สี่ คันธาระวางแนวทางการทำรูปเล่าเรื่องทางพุทธศาสนา อย่างประติมากรรมภาพพุทธประวัติ หรือประวัติชาติก่อนของพระพุทธเจ้า ที่สำคัญคือพระเวสสันดรชาดก ที่มักทำประดับฐานสถูป ไม่ว่าจะทำด้วยหินสลักหรือปูนปั้นก็ตาม

ประการสุดท้าย คันธาระแสดงการขยายตัวของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ส่งออกไปยังเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกไกล ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น (สรุปจากงานของ Benjamin Rowland ชื่อ “A Cycle of Gandhāra” พิมพ์ปี 1965 และ Gina L. Barnes บทความชื่อ “An Introduction to Buddhist Archaeology” พิมพ์ปี 1995)

ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น คือคำถามของ วาย คริสชาน (Y. Krishan) ที่ว่า “ศิลปะคันธาระเป็นผลผลิตของมหายานแน่หรือ” (“Was Gandhāra Art a Product of Mahāyāna Buddhism?” พิมพ์ปี 1964) ข้อเสนอที่ว่า ศิลปะคันธาระแสดงให้เห็นถึงความเป็นศาสนาพุทธนิกายมหายานนั้น เป็นข้อเสนอที่มักจะพบทั่วไปในงานเขียนเกี่ยวกับศิลปะคันธาระ บางคนเห็นว่า การที่ศิลปะคันธาระนำเสนอภาพพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นคนจริงๆ ขึ้นมา แทนที่จะเป็นสัญลักษณ์ดังก่อนหน้านี้นั้น แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านจากนิกายที่ไม่ได้นิยมบูชาตัวบุคคลพระพุทธเจ้าแบบหินยาน มาสู่การเชิดชูบุคคลและเทพเจ้าต่างๆ แบบมหายาน

นอกจากนั้น หลักฐานที่ว่า มีการนำคัมภีร์พุทธศาสนาจากปากีสถานไปจีนแล้วแปลคัมภีร์นั้นเผยแพร่ คัมภีร์นั้นก็เป็นคัมภีร์สำคัญของมหายาน นอกจากนั้นยังมีการพบพระรูปพระโพธิสัตว์ร่วมกับพระพุทธรูปอื่นๆ ด้วย โดยพระโพธิสัตว์เป็นรูปเคารพของมหายาน จึงสรุปกันว่ามหายานได้พัฒนาขึ้นมามากในสมัยราชวงศ์กุษาณะ ที่สร้างศิลปะคันธาระขึ้นมานี่เอง

อย่างไรก็ดี คริสชานยังตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ตกลงพุทธศาสนาในสมัยคันธาระ คือนิกายมหายานหรือหินยานกันแน่ เขาเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าพุทธศาสนาในคันธาระเป็นมหายาน เนื่องจากหลักฐานของผู้ที่บันทึกการเดินทางไปยังดินแดนเหล่านั้นเอง คือภิกษุจากจีน ไม่ว่าจะเป็นฟาเซียน หรือซวนชาง ช่วงศตวรรษที่ 5-7 ซึ่งนับเป็นช่วงปลายของยุคคันธาระแล้ว และราชวงศ์ที่อุปถัมภ์พุทธศาสนาคือกุษาณะก็เสื่อมอำนาจลงแล้ว

แม้ว่าพวกท่านจะเห็นว่ามหายานถูกเผยแพร่ทั่วอินเดียแล้วก็ตาม แต่ท่านเหล่านี้ก็บันทึกว่า หินยานยังเป็นนิกายที่ครอบงำดินแดนคันธาระอยู่ตั้งแต่ตักสิลาเรื่อยไปจนถึงบรรดาวัดในหุบเขาสวัต ไปถึงดินแดนใจกลางของคันธาระ เช่น เมืองเปชวาร์ ในแคชเมียร์ ไปจนกระทั่งที่ราบลุ่มคาบูลในอัฟกานิสถานปัจจุบัน (ดูบทความของ Krishan หน้า 106-108) นอกจากบันทึกของภิกษุจีนในสมัยหลังๆ แล้ว คริสชานยังชี้ว่า จารึกสำคัญๆ ของพระเจ้ากนิษกะ ยังเอ่ยถึงการที่พระองค์นับถือหินยาน จนสรุปได้ว่า หินยานเป็นนิกายสำคัญของวัดในยุคนั้น

หากจะกล่าวถึงพุทธศิลป์เอง คริสชานกล่าวว่า “ศิลปะในใจกลางของคันธาระเองนั้น โดยหลักๆ จะวนเวียนอยู่กับพระพุทธเจ้า ส่วนพระโพธิสัตว์และเทพเจ้าอื่นๆ ของมหายานนั้น แทบจะไม่ถูกนำเสนอในประติมากรรมของคันธาระ… พระโพธิสัตว์ของมหายานปรากฏขึ้นมาภายหลังในศิลปะคันธาระ ยุคแรกของศิลปะสกุลนี้แน่ชัดว่ามีเพียงภาพแสดงพระพุทธเจ้า” (บทความเดียวกันหน้า 109)

ในแง่ของจำนวนพระพุทธเจ้า คันธาระมักนำเสนอพระพุทธเจ้าเพียง 8 พระองค์ คือ 6 พระองค์ก่อนหน้าพระสมณโคดม และพระศรีอาริยเมตไตรยอีกหนึ่งพระองค์ที่จะมาหลังพระพุทธเจ้า แต่สำหรับมหายาน พระโพธิสัตว์มีนับไม่ถ้วน และเมื่อพวกท่านนิพพานแล้ว ก็ยังไม่ได้สูญสิ้นไปเลยแบบแนวคิดของหินยาน (บทความเดียวกันหน้า 110-111)

ในแง่ประติมานวิทยา (iconography) กล่าวเฉพาะบางประติมากรรมที่ปรากฏทั้งในหินยานและมหายาน เช่น พระศรีอาริยเมตไตรยที่พบมากในคันธาระนั้น เครื่องประดับ ทรงผม ผ้านุ่งห่ม ล้วนแตกต่างจากของมหายาน และต่างอย่างยิ่งจากในจีนที่พระศรีอาริยเมตไตรยกลายเป็นพระอ้วนท้วนสมบูรณ์ที่หัวเราะร่า หรือวัชรปาณี ในศิลปะคันธาระ ท่านเป็นผู้คุ้มครองพระพุทธเจ้า ท่านจึงปรากฏตัวควบคู่กับพระพุทธเจ้าเสมอ แต่ท่านจะไม่แต่งองค์ทรงเครื่องอะไรมากมาย เพียงแต่ในมือถือวัชระ ที่หมายถึงเพชรหรือสายฟ้า ดังชื่อท่านที่แปลตามตัวอักษรว่า ‘มือถือวัชระ’

แต่ในมหายาน วัชรปาณีแต่งกายด้วยเครื่องประดับมากมาย นั่งบนอาสน์ดอกบัว และปรากฏพร้อมกับอีกสองพระโพธิสัตว์คือพระมัญชุศรีและพระอวโลกิเตศวร (บทความเดียวกันหน้า 112-113) เป็นต้น สรุปแล้ว จากหลักฐานต่างๆ ทำให้คริสชานลงความเห็นว่า พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์กุษาณะ แล้วให้กำเนิดพุทธศิลป์แบบคันธาระนั้น น่าจะเป็นหินยานมากกว่ามหายาน

กลับจากการเดินทางในดินแดนพุทธศาสนา ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย หากแต่ก็ยังอยากจะกลับไปเยือนอีกหลายครั้ง และไปยังอีกหลายๆ สถานที่ที่น่าจะได้เรียนรู้มากขึ้นจากการค้นคว้าเอกสารเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ ผมเชื่อว่าพุทธศาสนาในปากีสถานไม่ได้ห่างไกลจากความรับรู้ของพุทธศาสนาในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยมากนัก เพียงแต่เรารู้จักพุทธศาสนาจากปากีสถานอย่างกระจัดกระจาย ไม่ปะติดปะต่อ เรารู้เรื่องราวพระเจ้าอโศก ได้ยินตำนานเกี่ยวกับตักสิลา อ่านหรือแม้แต่ทำแอนิเมชั่นเรื่องมิลินทปัญหา และหากใครศึกษาเรื่องพุทธศิลป์ ก็ย่อมจะต้องรู้จักพุทธศิลป์แบบคันธาระเป็นอย่างดี แต่ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยติดต่อกันเป็นระบบมากนัก

ผมคิดว่า เหตุที่ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาในปากีสถานของเรามีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ส่วนหนึ่งก็เพราะเรามักจะเรียนศาสนาและศึกษาศิลปะกันอย่างแยกขาดจากสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี หรือแม้แต่การศึกษาโบราณคดีเอง ก็ดูจะไม่ได้พยายามศึกษาอย่างเชื่อมโยงออกไปนอกดินแดนประเทศไทยมากพอที่จะมองให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนทั้งในภูมิภาคนี้ ต่างภูมิภาค และยาวไกลออกไปในโลกกว้าง

นอกจากข้อจำกัดของวิธีการศึกษาหาความรู้แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาในปากีสถาน อาจมาจากอคติที่คนไทยและชาวโลกมีต่อโลกอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรด หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 9/11 เมื่อค.ศ.2001 ซึ่งโลกอิสลามถูกทำให้กลัวเกรงและไม่น่าไว้ใจ ปากีสถานเองก็ถูกมองในลักษณะเช่นนั้น ความซับซ้อนของสังคมมุสลิมอย่างปากีสถานถูกภาพความเป็นอิสลามกลบทับไปอย่างน่าเสียดาย

ผมจึงเชื่อว่า การบอกเล่าถึงพุทธศาสนาในปากีสถาน ไม่เพียงเพื่อให้รู้จักพุทธศาสนามากขึ้น แต่อาจช่วยขยายความเข้าใจทั้งสังคมไทยเอง อุษาคเนย์โดยกว้าง และทั้งช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับปากีสถาน เอเชียใต้ พร้อมทั้งลดอคติเกี่ยวกับดินแดนที่เราไม่คุ้นเคยและอาจมีภาพเหมารวมที่เลวร้ายฝังอยู่โดยไม่รู้ตัว

ไม่เพียงเท่านั้น ผมยังหวังว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และโบราณคดี จะเพิ่มมุมมอง วิธีคิด วิธีเข้าใจโลกและผู้คน ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการเข้าใจเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากเช่นกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save