fbpx

การแปลหนังสือสะท้อนสังคมอาจแก้ปัญหาโดยตรงไม่ได้ แต่ย่อมเปิดทางแห่งการต่อสู้ให้ผู้คนได้ – ภัควดี วีระภาสพงษ์

ในบรรณพิภพของหนังสือวิชาการ หนังสือการเมืองการปกครอง ไปจนถึงวรรณกรรมสะท้อนและเสียดสีสังคมหลายต่อหลายเล่มที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ จำนวนไม่น้อยที่ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักวิชาการอิสระ ผู้มีชื่อในฐานะนักแปลหนังสือเกี่ยวกับการเมืองการปกครองต่างประเทศ อันยึดโยงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสถานการณ์ทางเมืองไทย

ด้วยผลงานแปลมากมายที่ประจักษ์ทั้งท่วงทำนองและสำนวนภาษาอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ของอุมแบร์โต เอโก ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต, ความเขลา, อมตะ และ รักชวนหัว ของมิลาน คุนเดอรา แผ่นดินของชีวิต, ผู้สืบทอด และ รอยย่างก้าว ของปรามูเดีย อนันตา ตูร์ เมื่อโลกพลิกผัน ของคาร์ล โปลานยี ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนออกมาถึงความรู้และความสนใจของเธอ

มาจนถึงเล่มล่าสุดที่ได้รับการให้เสียงภาษาไทยโดยภัควดี คือ The Age of Revolution (1789-1848) หรือในพากย์ไทยชื่อ ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ: ยุโรป 1789-1848 ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี 1962 เขียนโดยเอริค ฮ็อบส์บอม (Eric Hobsbawm, 1917-2012) นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ชาวอังกฤษ ผู้ผลิตผลงานอันเป็นหลักหมายสำคัญในแวดวงวิชาการ

ในทัศนะของผู้แปลหนังสือ – ภัควดี วีระภาสพงษ์ การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างปี 1789-1848 มิใช่ชัยชนะของ ‘อุตสาหกรรม’ แต่เป็นชัยชนะของอุตสาหกรรมทุนนิยม มิใช่ชัยชนะของอิสรภาพและความเท่าเทียมอย่างถ้วนหน้า แต่เป็นชัยชนะของชนชั้นกลาง หรือสังคมเสรีนิยม ‘กระฎุมพี’ มิใช่ชัยชนะของ ‘ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่’ หรือ ‘รัฐสมัยใหม่’ แต่เป็นชัยชนะของระบบเศรษฐกิจและรัฐในบางภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ของโลก (บางส่วนของยุโรปและพื้นที่บางหย่อมในอเมริกาเหนือ) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐเพื่อนบ้านสองแห่งอันเป็นคู่แข่งชิงดีชิงเด่นกัน นั่นคือ เกรทบริเตน (Great Britain) กับฝรั่งเศส แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ความพลิกผันของปี 1789-1848 คือทวิภาคของการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินที่เกิดขึ้นในสองประเทศนี้ แล้วจากนั้นก็แผ่ขยายซ่านซึมไปทั่วทั้งโลก

จากประสบการณ์แปลหนังสือมานานหลายปี 101 ชวนภัควดีพูดคุยเพื่อหาคำตอบและร่วมศึกษาประวัติศาสตร์โลกเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจการเมืองการปกครองไทย ไปจนถึงย้อนกลับไปวันแรกสุดที่เธอเริ่มต้นเข้าสู่วงการแปลเป็นครั้งแรก อันพลิกชีวิตการทำงานและความคิดของเธอมาจนถึงทุกวันนี้

ภัควดี วีระภาสพงษ์

หนังสือเล่มล่าสุดที่คุณแปลคือ ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ ของเอริค ฮอบส์บอม ในบรรณพิภพของหนังสือการเมืองการปกครองจำนวนมหาศาล ทำไมถึงเลือกแปลเล่มนี้

ต้องบอกว่าแต่แรกสุด เรามีข้อตกลงกับฟ้าเดียวกันว่าทางสำนักพิมพ์อยากทำหนังสือคลาสสิก ซึ่งแน่นอนว่าหนังสือวิชาการคลาสสิกมีเยอะแยะมากมาย แต่เวลาเราจะทำงานแปลหนังสือใหญ่ๆ สักเล่ม โดยเฉพาะการแปลงานคลาสสิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือเล่มใหญ่ มีจำนวนหน้ามาก ในการแปลจึงต้องใช้ความชอบหรือความรู้สึกส่วนตัวที่มีความผูกพันกับงานนั้นค่อนข้างมาก เพื่อที่จะทำให้เราแปลงานนั้นไปได้จนจบ แม้เนื้อหาจะยากแค่ไหนก็ตาม 

เราจึงบอกกับทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันว่า ไม่ว่าจะให้แปลหนังสือเล่มไหนก็ตาม ถ้าเป็นงานเขียนของฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะยากแค่ไหน แต่เราจะสู้ไปให้ได้จนจบ แต่ถ้าเป็นงานของนักเขียนฝ่ายอื่นๆ อย่างฝ่ายขวา ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะแปลจบหรือไม่จบก็ได้ อาจจะทำเสร็จหรือไม่เสร็จก็ได้ ระหว่างทางเราอาจหมดไฟและหมดพลังไปก่อน แต่ถ้าเป็นงานจากฝ่ายซ้าย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแนวคิดมาร์กซิสต์นะ จะเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยมหรือใดๆ ก็ตาม เราคิดว่าตัวเองจะสามารถแปลไปได้จนจบเล่มแน่นอน

ระหว่างพูดคุยกับสำนักพิมพ์ก็มีหลายตัวเลือกที่เสนอกันขึ้นมา ซึ่งถ้าพูดถึงงานเชิงประวัติศาสตร์ของนักเขียนฝ่ายซ้ายที่ค่อนข้างโดดเด่นและเป็นที่รู้จักพอสมควรก็คืองานของเอริค ฮอบส์บอม งานของเขาจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ความจริงตอนแรกยังมีอีกตัวเลือกหนึ่งซึ่งโดยส่วนตัวก็ค่อนข้างชอบ คือ The Making of the English Working Class เขียนโดยเอ็ดเวิร์ด พาลเมอร์ ทอมป์สัน (E.P. Thompson) แต่เนื่องจากเรามองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนที่เจาะลงไปในความเป็นอังกฤษมากเกินไป (Anglocentric) ในฐานะนักแปลพออ่านก็รู้สึกว่ามันยากมากที่เราจะสามารถเข้าใจในความเป็นอังกฤษขนาดนั้น ต้องใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับท้องถิ่นประเทศอังกฤษเยอะมากในการทำความเข้าใจกับลักษณะของงานที่เขียนเจาะลงไปในพื้นที่หนึ่งขนาดนั้น

ทีนี้เมื่อมาดูงานของฮอบส์บอม ซึ่งเป็นงานเขียนที่ค่อนข้างอธิบายอย่างกว้างๆ และรู้สึกว่าพออ่านแล้วสามารถนำมาคิดต่อได้อีกเยอะ และนำมาเชื่อมโยงกับสังคมไทยหรือสังคมโลกได้ง่ายกว่า สุดท้ายจึงตัดสินใจเลือกแปลชุด The Age of… ของฮอบส์บอม ซึ่งมี 4 เล่มด้วยกัน The Age of Revolution: 1789-1848 เป็นเล่มแรกในชุดนี้

ที่บอกว่าต้องเป็นงานของฝ่ายซ้ายเท่านั้น จึงจะมั่นใจว่าจะสามารถแปลได้เสร็จสมบูรณ์จนจบ อยากรู้ว่าคุณสนใจการเมืองฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่ตอนไหน แล้วมีสำนักคิดที่สนใจเป็นการส่วนตัวไหม

เราสนใจการเมืองฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่มัธยมปลาย สมัยที่เราเรียนเป็นช่วงเวลาหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาได้ประมาณ 5-6 ปี ตอนนั้นหนังสือที่อ่านก็เช่นงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ หรืองานในวารสารต่างๆ เช่น วารสารธรรมศาสตร์ วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปาจารยสาร โลกหนังสือ เราก็จะอ่านบทความเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอด 

ส่วนแนวคิดที่สนใจเป็นพิเศษก็จะมีแนวทางของพวกอนาร์คิสต์ แต่ในขณะเดียวกัน การวิเคราะห์สังคมของสายมาร์กซิสต์เราก็สนใจ เราแปลงานสายนี้มากกว่างานของพวกอนาร์คิสต์อีก สังคมนิยมที่ไม่ใช่มาร์กซิสต์ก็สนใจ เช่น งานของคาร์ล โปลานยี โดยรวมๆ ก็สนใจงานของฝ่ายซ้ายค่อนข้างกว้าง เสรีนิยมที่ค่อนข้างมาทางซ้ายก็สนใจ เช่น งานของโจเซฟ สติกลิตซ์ เป็นต้น แค่เป็นงานที่ออกมาทางซ้ายๆ หน่อยก็ไม่ได้จำกัดสำนักคิดว่าต้องเฉพาะกลุ่มไหน เพราะมองว่าในทุกกลุ่มก็มีแนวคิดที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป

โดยส่วนตัวมองว่าลักษณะเด่นของงานเขียนฮอบส์บอมคืออะไร

งานของฮอบส์บอมมีลักษณะที่มองดูประวัติศาสตร์โลกจากสายตาแบบนก (bird’s-eye view) คือมองภาพรวมลงมา ไม่ได้เล่าประวัติศาสตร์แบบเรียงลำดับเวลา แต่ประมวลทั้งหมดแล้ววิเคราะห์ว่ามันทำให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง ฮอบส์บอมจึงไม่ได้มีการเล่าเรียงลำดับเวลาว่าการปฏิวัติทวิภาคเริ่มต้นมาอย่างไร ไม่ได้มีการปูพื้นฐานปูมหลังของเหตุการณ์ แต่นำเหตุการณ์ทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่งว่า ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร และทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง อาจพูดได้ว่าเป็นการมองอดีตด้วยสายตาที่พยายามเข้าใจปัจจุบัน 

หนังสือของฮอบส์บอมจึงไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงตามบท ผู้อ่านสามารถข้ามไปอ่านส่วนที่สองที่เป็นส่วนของการวิเคราะห์เลยได้ แต่สำหรับคนที่อาจจะไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือการปฏิวัติฝรั่งเศสเลยก็สามารถเริ่มต้นอ่านจากบทแรกสุดก่อนได้ ในส่วนของบทวิเคราะห์ สนใจส่วนไหนก็เลือกอ่านส่วนนั้นก่อน เจาะไปตามบทที่สนใจก่อนได้เลยโดยไม่ต้องเรียงตามสารบัญที่เรียงลำดับไว้ หลายๆ บทอ่านสนุกและสามารถนำมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้เยอะมาก 

และวิธีเขียนของฮอบส์บอมมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของนักคิดที่สำคัญทั่วโลกเกือบทุกคน คือมีลักษณะของสหวิทยาการ คือไม่ได้ศึกษาโดยจำกัดเฉพาะเรื่องทางประวัติศาสตร์ แต่ศึกษาในแง่มุมอื่นอีกหลากหลายมิติ และเขามักใช้ข้อมูลเชิงตัวเลขมาเป็นฐานการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ

อะไรคือความยากหรือท้าทายที่สุดในการแปลหนังสือในซีรีส์หนังสือของฮ็อบส์บอมชุดนี้

หนังสือของฮ็อบส์บอมชุดนี้มีทั้งหมดสี่เล่ม และทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคำนวณไว้ว่าอาจจะใช้เวลาถึงสิบปีถึงจะออกมาครบทั้งสี่เล่ม เพราะนอกจากระยะเวลาที่ต้องใช้กับการแปลแล้ว แต่ละเล่มยังต้องใช้เวลาในการบรรณาธิการ ซึ่งใช้เวลาเกือบจะเท่ากับเวลาแปล เพราะว่างานของฮ็อบส์บอมเป็นงานขนาดใหญ่ ต้องมีการทำดัชนี ทำเชิงอรรถ พิสูจน์อักษร การจัดรูปเล่ม และกระบวนการทำหนังสือทุกขั้นตอนต้องใช้เวลานาน เพราะฉะนั้น แต่ละเล่มที่ออกมาต้องใช้ระยะเวลาประมาณสองปีครึ่ง ดังนั้นสี่เล่มก็คงใช้เวลาเป็นทศวรรษกว่าจะแปลครบ 

ความยากในการแปลเล่มนี้ก็อยู่ตรงที่ฮ็อบส์บอมอ้างอิงเยอะมาก และในการอ้างอิงของเขา บางทีเป็นการพูดถึงผ่านๆ ไม่ได้มีการอธิบายเพิ่มเติม เช่น มีการอ้างชื่อคนขึ้นมา แต่ไม่ได้อธิบายว่าเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไร หน้าที่ของเราคือต้องไปตามหาข้อมูลเพิ่มว่าฮ็อบส์บอมอ้างถึงคนนี้เพราะอะไร ในกระบวนการแปลเราจึงต้องไปอ่านข้อมูลเพิ่มเยอะมากเพื่อนำมาทำเชิงอรรถให้ผู้อ่าน เพื่อให้ง่ายต่อผู้อ่านในการทำความเข้าใจเนื้อหา 

และความยากในการแปลของทุกๆ เล่ม ไม่ใช่เฉพาะเล่มนี้คือ บางครั้งเราก็แปลไม่ออก (หัวเราะ) แน่นอนว่าหน้าที่เบื้องต้นของนักแปลทุกคนคือหาวิธีสื่อสาร ก็ต้องใช้ทั้งการบัญญัติศัพท์ ใช้คำทับศัพท์ หรืออธิบายด้วยเชิงอรรถ หรือด้วยวิธีใดๆ ก็ตามที่จะสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ แต่ต้องยอมรับว่าในหลายๆ เรื่องเรารู้ไม่ลึกเท่าผู้เขียนอยู่แล้ว แล้วยิ่งเล่มนี้ด้วยสำนวนภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของฮ็อบส์บอม บางทีเราก็ไม่ค่อยคุ้นชินกับศัพท์สำนวนหรือการอธิบายของเขา 

ยกตัวอย่างเช่น มีเนื้อหาในเล่มที่สองของซีรีส์นี้ที่ตอนนี้กำลังแปลอยู่คือ The Age of Capital: 1848–1875 หรือ ยุคสมัยแห่งทุน มีจุดหนึ่งที่ทำให้ตอนแปลรู้สึกว่าจนปัญญามาก คือตอนหนึ่งที่ฮ็อบส์บอมพูดถึงเส้นทางเดินเรือในการอพยพย้ายถิ่นของคนสมัยก่อน พอเราอ่านเจอจุดนี้ เราก็พยายามไปหาข้อมูลเรื่องเส้นทางเดินเรือ แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่าอยากยอมแพ้มาก ทำอย่างไรก็ไม่สามารถเข้าใจอย่างเห็นภาพได้ จึงเป็นจุดที่ค่อนข้างยากและเป็นความท้าทายในการแปลพอสมควร

ในฐานะผู้แปล มองว่าคุณค่าหรือแนวคิดแบบใดที่ผู้อ่านจะได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีแกนกลางในประเทศตะวันตก ทั้งยังเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากบริบททางการเมืองกว่าเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และหลังจากทำหนังสือเล่มนี้ ทำให้คุณมีมุมมองอะไรที่เปลี่ยนไปต่อการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

ในแง่หนึ่ง เราต้องยอมรับว่ายุโรปเป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงโลกจริงๆ และไม่ใช่แค่ฮอบส์บอมที่คิดอย่างนั้น หนังสือเรื่อง GUNS,GERMS, AND STEEL The Fates of Human Societies หรือ ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ เขียนโดย จาเร็ด ไดมอนด์ (Jared Diamond) ก็พูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน ในแง่ที่ว่าการที่ยุโรปได้ทำการล่าอาณานิคม มีการใช้ปืนและใช้เหล็ก รวมทั้งการนำเชื้อโรคจากโลกเก่าหรือจากยุโรปไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้สร้างผลกระทบที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกจริงๆ และเราต้องยอมรับว่าระบบทุนนิยมที่เริ่มต้นจากอังกฤษ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมืองที่เริ่มต้นในฝรั่งเศส ก็ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกจริง 

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะค่อนข้างยึดยุโรปเป็นแกนกลางในการศึกษา (Eurocentric) แต่ถ้ามองในแง่ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ เราต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากศูนย์กลางแถบยุโรปจริงๆ และประเทศไทยเองก็รับผลสะเทือนจากการเปลี่ยนในยุโรปมาตลอดเช่นกัน คือมันอาจจะไม่ได้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ไทยโดยตรง แต่จะมีบางประเด็นที่ทำให้เรามาย้อนคิดได้ โดยส่วนตัวมีความเชื่ออยู่แล้วว่า ลักษณะของมนุษย์ วิธีคิด วิถีชีวิต หรือแม้แต่ความเชื่อของมนุษย์อาจมีความแตกต่างกันไปเนื่องด้วยบริบทสังคมที่แตกต่างกัน แต่ในบางจุดอาจมีสิ่งที่มองได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์บางอย่างที่มนุษย์ทุกกลุ่มมีความคล้ายกัน

อย่างจุดที่เราอ่านแล้วรู้สึกว่าทำให้เรากลับมาเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น คือประเด็นที่ฮอบส์บอมบอกว่า นักคิด นักต่อสู้เคลื่อนไหว หรือคนยุโรปส่วนใหญ่จะมีจุดตัดอยู่จุดหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีแนวคิดทางสังคมการเมืองเอนเอียงไปทางซ้ายหรือทางขวา เดิมทีไม่ว่ากลุ่มคนนั้นจะมีแนวคิดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดสังคมนิยม เป็นฝ่ายซ้าย หรือยึดถือสำนักคิดใดๆ ก็ตาม จะมีจุดที่จะทำให้คนเหล่านี้ย้ายไปเป็นฝ่ายขวาได้ นั่นคือความกลัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวหน้าของสังคม โดยเฉพาะความก้าวหน้าของสังคมซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสภาพในชนบท ในจุดนี้เองทำให้เรากลับมาย้อนคิดปรากฏการณ์ในประเทศไทย เพราะว่าเราก็เคยมีความสงสัยว่า ทำไมนักคิด นักเขียนไทยที่ก้าวหน้าหลายคน ทั้งในกลุ่มพันธมิตร หรือ กปปส. ที่เราเคยเห็นเขามีความคิดที่หัวก้าวหน้า เคยเป็นฝ่ายซ้าย ทำไมเขาถึงย้ายข้างมาเป็นฝ่ายขวาได้ ซึ่งคำอธิบายของฮอบส์บอมได้ตอบคำถามข้อนี้

ยิ่งถ้าเรามองย้อนกลับไปในช่วงของระบอบทักษิณ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ทุนจะทะลุทะลวงเข้าไปในชนบท และเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตในชนบท ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงนั้น และต้องการแช่แข็งสภาพของชนบทให้เป็นเหมือนเดิม คนเหล่านี้ถึงแม้จะเคยมีความเป็นฝ่ายซ้ายมาก่อน สุดท้ายก็อาจย้ายไปเป็นฝ่ายขวา ไม่ต่างอะไรจากนักคิด นักเขียน นักวรรณกรรมแนวโรแมนติก หรือแม้แต่นักเคลื่อนไหวของยุโรป ที่เมื่อถึงจุดหนึ่ง พอพวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของสังคมกำลังเป็นไปในทิศทางที่ทลายลักษณะของชุมชนดั้งเดิมลงไป ก็จะทำให้พวกคนเหล่านี้ย้ายไปเป็นฝ่ายขวาได้ นี่คือสิ่งที่พอเรากลับมาย้อนคิดก็ทำให้เรามองเห็นจุดตัดที่ทำให้คนคนหนึ่งมีแนวความคิดไปทางไหน มันขึ้นอยู่กับว่าเขาสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้หรือไม่ และยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน

หรือมีบทหนึ่งที่ฮอบส์บอมเขียนไว้ว่า ในสมัยก่อนที่ยังเป็นระบอบกษัตริย์ ตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนล้วนมาจากการสืบสายเลือดหรือการมีเส้นสายในระบบอุปถัมภ์ ความสามารถไม่มีผลต่อการเลื่อนลำดับชนชั้นทางสังคมอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อนโปเลียนขึ้นมามีอำนาจและทำสงครามเบ็ดเสร็จ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่การเลื่อนตำแหน่งในกองทัพต้องใช้ความสามารถในการพิสูจน์ตนเอง เพราะมันสะท้อนว่าการที่คนธรรมดาสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดได้อย่างนโปเลียนถือเป็นการพลิกความคิดของคนสมัยก่อน  และเพื่อตอบสนองต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ขึ้นอยู่กับความสามารถ การศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น และยุคของนโปเลียนก็มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ที่กลายเป็นต้นแบบของการจัดการการศึกษาสมัยใหม่ จุดนี้ก็ทำให้เราย้อนมองกลับมาที่สังคมไทย เรามักจะพูดกันอยู่เสมอว่า เราอยากปฏิรูปการศึกษา แต่ตราบใดที่การไต่เต้าในหน้าที่การงานในสังคมไทยไม่ต้องใช้ความสามารถ แต่ใช้แค่เส้นสาย ปฏิรูปการศึกษาอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ หรือแม้แต่การใช้เส้นสายและระบบอุปถัมภ์ในกองทัพที่ทำให้การปฏิรูปหลายๆ อย่างแทบเป็นไปไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เราคิดย้อนกลับมายังสังคมไทยเวลาเราแปลหนังสือเล่มนี้

ดังนั้น การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเหมือนเรากำลังทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นมาตั้งแต่อดีต และเราก็พบว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีแพทเทิร์นเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะของมนุษย์ เราพูดได้ว่ามันมีกฎเกณฑ์ทางสังคมบางอย่าง และสามารถนำกฎเกณฑ์นี้ไปอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสังคมได้ แม้อาจจะไม่ใช่อิทธิพลโดยตรง แต่อิทธิพลทางอ้อมของการปฏิวัติทวิภาคที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกก็ส่งมายังประเทศไทยเช่นเดียวกัน

หนังสือ ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติยุโรป 1789-1848

เมื่อพูดถึงกระแสหรืออิทธิพลของการปฏิวัติฝรั่งเศส คิดว่าทำไมหลายครั้งคนไทยถึงรู้สึกยึดโยงกับ ‘การปฏิวัติฝรั่งเศส’ ที่ไกลตัวมากกว่า ‘การปฏิวัติ 2475’ ที่ดูใกล้ตัวมากกว่า ดังจะเห็นได้จากหลายๆ ครั้งมีการนำ ‘กิโยติน’ มาใช้ในการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์

เรามองว่าเป็นเพราะคนไทยมักเข้าใจประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสผิดไป ซึ่งไม่ใช่ความผิดของคนไทยนะ ส่วนตัวเราเองก็เคยเข้าใจเรื่องนี้ผิดมาตลอดเหมือนกัน จนได้มาเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ตอนได้แปลงานของฮอบส์บอมที่ทำให้เราต้องอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส การที่คนไทยมักยึดโยงตัวเองและสังคมกับการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะพวกเราเข้าใจผิด นึกว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่สำเร็จ สามารถล้มล้างอำนาจนำของระบอบกษัตริย์อย่างถอนรากถอนโคนได้ และนำมาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยในฝรั่งเศส ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว

ในขณะที่การปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร คนไทยจะมองว่ามันเป็นการปฏิวัติที่ไม่สำเร็จ คือเป็นการปฏิวัติที่ยังไม่เสร็จสิ้น การเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่ปวงชนยังไม่สำเร็จ อำนาจอธิปไตยก็ถูกแบ่งไปตามสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์หรือสถาบันการเมือง โดยเฉพาะกองทัพ ในขณะเดียวกันทุกวันนี้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยก็แทบไม่มี ประกอบกับเราก็ไปเข้าใจว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติเบ็ดเสร็จและสำเร็จ โดยมีกิโยตินเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถล้มล้างสถาบันกษัตริย์ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วเราจะพบว่าไม่ใช่แบบนั้น การปฏิวัติไม่ได้สำเร็จง่ายดายขนาดนั้น และทุกวันนี้จะบอกว่าการปฏิวัตินั้นเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้วจริงๆ หรือเปล่าก็พูดยาก 

มากไปกว่านั้น จริงๆ แล้วแนวคิดของการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรกสุดไม่ได้เริ่มจากแนวคิดหลักที่ต้องการจะทำลายล้างระบบสถาบันกษัตริย์ แต่คนฝรั่งเศสอยากจะเป็นแบบอังกฤษ อังกฤษเป็นต้นแบบของทั่วโลกในแง่ที่อำนาจของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจของกษัตริย์ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งหมด มีการคานอำนาจกันระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม ณ ตอนนั้นฝรั่งเศสเองก็อยากเป็นแบบนั้น และตอนที่ปฏิวัติก็ไม่ได้คิดที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่เนื่องจากความไม่ยอมปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศส และในความเป็นจริง เหตุการณ์กิโยตินก็เกิดขึ้นหลังมีการปฏิวัติฝรั่งเศสมาช่วงหนึ่งแล้ว

หลังจากนั้น ด้วยความที่ไอเดียไม่ได้เริ่มต้นมาจากการที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์เสียทีเดียวมาตั้งแต่ต้น ฝรั่งเศสก็เลยมีการเปลี่ยนผ่านทางการปกครองสลับไปมาตลอด ตั้งแต่เปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐ กลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สลับเปลี่ยนไปมาตลอด จะว่าไปมันก็เป็นการปฏิวัติที่มีกระบวนการยาวนานกว่าที่เราคิด และถามว่านั่นเป็นการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จทั้งหมดไหม ก็คงไม่เชิง ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีอิทธิพลสูงมากก็คือกลุ่มซ็อง-กูว์ล็อต (sans-culottes) หรือสามัญชนชาวเมืองที่เป็นชนชั้นล่างในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของฝรั่งเศส คนกลุ่มนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ราดิคัล ซึ่งมันก็ไม่ได้สำเร็จตามที่เขามุ่งหวัง 

ดังนั้น ถ้ามองจากมุมมองของกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นล่างของสังคม การปฏิวัติก็ถือว่ายังไม่เสร็จสิ้นและไม่สำเร็จอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ เพราะมันก็ยังนำไปสู่ระบอบชนชั้นต่างๆ ที่ตามมาไม่ต่างจากสังคมยุคก่อนเท่าไร และจะเห็นว่าในฝรั่งเศสเองก็มีไอเดียเรื่องการปฏิวัติที่ยังไม่เสร็จสิ้น มันน่าจะยังแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนชั้นล่าง จึงทำให้ยังมีการประท้วง และพยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดการปฏิวัติอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ในแง่หนึ่ง เมื่อมองกลับมายังสังคมไทย เราค่อนข้างเห็นด้วยกับนักคิดชาวเยอรมันคนหนึ่งที่บอกว่า ปัญหาสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทยไม่เคย set zero เลย เช่น แพ้สงครามโลกก็แพ้ไม่สุด มันทำให้คนไทยไม่ค่อยมีหรือไม่ค่อยกล้ามีมุมมองใหม่ๆ จึงตอบได้ยากว่าการเปลี่ยนแปลงของเราข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราอาจจะเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ค่อยๆ พังไปเรื่อยๆ เสื่อมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่ารัฐล้มเหลว หรืออาจเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบที่ค่อยๆ ดีขึ้นก็ได้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าในสังคมไทย เนื่องจากลักษณะของเราที่เป็นมาแบบนี้มาตลอด คิดว่าคงยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน อาจจะมีแค่ค่อยๆ เสื่อม หรือค่อยๆ ดี หรือไม่ก็ทรงๆ ไปแบบนี้ 

อยากรู้ว่าเกณฑ์ในการเลือกงานเขียนชิ้นหนึ่งมาแปลคืออะไร ระหว่างความชอบส่วนตัว หรือบรรยากาศของสังคมในห้วงเวลานั้น

มีทั้งสองแบบเลยค่ะ มีตั้งแต่เราเลือกแปลเองตามความสนใจและความชอบส่วนตัวของเรา เช่น งานของมิลาน คุนเดอรา (Milan Kundera) อุมแบร์โต เอโก (Umberto Eco) หรือคาร์ล โปลานยี (Karl Polanyi) และมีงานที่สำนักพิมพ์เสนอให้แปล พอเราดูแล้ว เราสนใจจะแปล เช่น นวนิยายของปรามูเดีย อานันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) 

ส่วนลักษณะงานที่เราแปลเพราะเห็นว่ามีเนื้อหาเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็มี อย่างเมื่อก่อนที่ทำบ่อยจะเป็นงานบทความ งานพวกนี้ก็จะมาจากความสนใจส่วนตัว เช่น ในยุคหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจโลกเสรีนิยมมีความเฟื่องฟูของข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือการประชุม WTO เป็นต้น ก็จะเป็นความสนใจของเราที่อยากแปลงานในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเหล่านี้ เราก็จะแปลงานเขียนในลักษณะนี้ออกมา 

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น คุณเริ่มต้นอาชีพนักแปลตั้งแต่ตอนไหน และอะไรคือแรงบันดาลใจหรือแรงขับที่ทำให้คุณเริ่มเข้าวงการการแปล

จริงๆ เดิมทีไม่เคยมีความคิดอยากเป็นนักแปลมาก่อน แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มต้นการเป็นนักแปลคือ ตอนนั้นเราเรียนอยู่ระดับปริญญาตรี แล้วมีเพื่อนเราคนหนึ่งไปรับงานแปลมาจากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แล้วเขามาชวนเราแปลด้วย เราก็มาลองแปลดู พูดง่ายๆ ว่าตอนนั้นทำเพราะอยากหาเงิน (หัวเราะ) แต่ปรากฏว่าต่อมาเพื่อนที่มาชวนแปลเขาขอเลิกแปลไปก่อน กลายเป็นเราที่ไม่เคยคิดอยากจะแปลงานมาก่อนเป็นคนแปลหลัก ปรากฏว่างานนี้ทำให้รู้สึกว่างานแปลเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับเรา เพราะเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

และที่สำคัญคือเรามองว่างานแปลเป็นงานที่ทำคนเดียวได้ ไม่ต้องเจอหรือเกี่ยวข้องกับใครมากมาย ทำให้รู้สึกว่าถ้าจะทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง งานแปลเป็นสิ่งที่เหมาะกับอุปนิสัยเรา

จากที่เคยแปลงานมาหลายรูปแบบ ส่วนตัวมองว่าการแปลงานวิชาการกับงานวรรณกรรมมีความแตกต่างกันด้านเทคนิคการแปลอย่างไรบ้าง

ต้องออกตัวก่อนว่า ไม่รู้ว่าการแปลของเราจะเป็นวิธีการแปลที่ถูกต้องไหม แต่เวลาเราแปลงานวรรณกรรมเราก็จะพยายามแปลให้เป็นธรรมชาติของวรรณกรรม ทั้งการใช้ภาษาและการสร้างอารมณ์ หลายครั้งเราต้องคำนึงถึงว่าขณะที่ผู้อ่านกำลังอ่านงานนี้ จะทำอย่างไรให้ภาษาการแปลสามารถดึงให้เขาเกิดอารมณ์ร่วมได้ ในการแปลวรรณกรรม บางครั้งการแปลความหมายอย่างตรงตัวเป๊ะๆ แบบงานวิชาการอาจจะเป็นความสำคัญในอันดับรองลงมา อาจจะมีการบิดความหมายบ้างหรือเล่นกับสำนวนภาษามากกว่าการแปลงานเขียนในลักษณะอื่น 

ส่วนงานวิชาการ ในแง่ของสำนวนภาษาการแปล คิดว่าควรแปลออกมาให้อ่านเข้าใจได้ง่ายที่สุด อย่างงานวรรณกรรม บางทีถ้ามีประโยคยาวๆ เราจะไปซอยประโยคของเขาให้สั้นมากๆ บางครั้งก็ต้องดูว่าถ้าทำแบบนั้นแล้วจะทำให้อารมณ์ของวรรณกรรมเรื่องนั้นผิดหรือบิดไปหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็ต้องยอมปล่อยประโยคให้ยาวตามต้นฉบับ แต่ถ้าเป็นงานวิชาการ ความถูกต้องตรงตามต้นฉบับและการอ่านเข้าใจง่ายจะเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกมากกว่าความสวยงามด้านภาษาและการโน้มน้าวอารมณ์

แล้วท้ายที่สุด จุดมุ่งหมายหรือหัวใจของการทำงานแปลในความคิดของคุณคืออะไร

ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นนักวิชาการ เราไม่ได้ทำงานเพราะคาดหวังการประสบความสำเร็จหรือชื่อเสียงทางวิชาการเลยแม้แต่น้อย ตั้งแต่ทำงานแปลมาไม่เคยมีความคิดในเรื่องเหล่านั้น มีประโยคขำๆ ประโยคหนึ่งที่เรามักพูดเสมอคือ เราอยากเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ต้องออกจากบ้าน เราเชื่ออย่างหนึ่งว่าในการเปลี่ยนแปลงโลก สังคม หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม มันต้องอาศัยการออกไปปฏิบัติข้างนอก และในการปฏิบัตินั้น คนเราต้องมีกลุ่มก้อนความรู้พอสมควรที่จะทำให้มีทิศทางในการออกไปเคลื่อนไหว

เพราะฉะนั้น เวลาเราแปลหนังสือสักเล่ม ความมุ่งหมายของเราคือทำให้คนอ่านเกิดความรู้หรือได้ทำความเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่ อย่างน้อยอาจจะทำให้ใครสักคนได้เปิดโลกหรือแนวความคิดใหม่ๆ เพื่อจะได้มองเห็นทิศทางที่ตัวเองจะเคลื่อนไป เพราะในการเปลี่ยนแปลงสังคม ถ้าคุณยังมีความคิดแบบเดิมๆ โดยไม่เปิดกว้างต่อความคิดใหม่ มันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าคุณต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง คุณก็ต้องเปิดใจและเปิดพื้นที่ให้สิ่งใหม่ๆ การแปลหนังสือของเราจึงมีความมุ่งหมายตรงจุดนี้เสมอ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save