อิสระ ชูศรี เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
“คำโกหกที่กล่าวครั้งเดียวยังคงเป็นคำโกหก แต่คำโกหกที่กล่าวพันครั้งกลายเป็นความจริง”
(A lie told once remains a lie but a lie told a thousand times becomes the truth)
– โจเซฟ เกิบเบลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ ในรัฐบาลนาซีเยอรมนี
ประมาณครึ่งปีมานี้ เกิดความแพร่หลายของการใช้คำจัดกลุ่มหรือติดป้ายสำหรับพฤติกรรมวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรม คือคำว่า ‘ชังชาติ’ ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อที่ก่อให้เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก เพราะกลุ่มคนที่ถูกติดป้ายไม่ยอมรับว่าตนมีพฤติกรรมแบบนั้น ขณะที่ฝ่ายต้นคิดก็ยิ่งแพร่ขยายการใช้ชื่อนี้ซ้ำๆ เรื่อยไป ผ่านแมสมีเดียและโซเชียลมีเดีย จนมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นๆ กลุ่มที่ถูกติดป้ายนอกจากจะปฏิเสธป้ายนี้ ก็ยังได้ผลิตคำโต้ตอบคืนไป ยิ่งทำให้สงครามคำศัพท์ขยายขอบเขตออกไปกว้างขวางขึ้นอีก
ผู้เขียนลองเสิร์ชข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเล่นๆ (หมายความว่าใช้เวลาไม่นาน และไม่ได้ตั้งเกณฑ์เกี่ยวกับแหล่งข้อมูลและความถี่ในการปรากฏ) โดยใช้คำค้นว่า ‘ชังชาติ’ ปรากฏว่าเจอคำที่มีความหมายใกล้เคียงหรืออาศัยรูปคำเดิมบางส่วนหลายคำ
ยกตัวอย่างเช่น ขบวนการชังชาติ ข้อหาชังชาติ คนชังชาติ คลั่งชาติ ชังเจ้า ชังประชาธิปไตย ชังเผด็จการ ชังรัฐบาล ชังวัฒนธรรม ถ่วงชาติ ปลุกผีชังชาติ พฤติกรรมชังชาติ พวกชังชาติ พังชาติ มือปราบชังชาติ ไม่รักชาติ ยุวชนชังชาติ รักชาติ ลัทธิชังชาติ วาทกรรมชังชาติ เป็นต้น
คำตระกูลนี้ออกลูกออกหลานเร็วจนกระทั่งว่า คนที่ไม่ได้ติดตามการตอบโต้กันทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ อาจหลงไปได้ว่าคำไหนหมายถึงใครกันแน่ หรืออย่างน้อยก็มีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนว่าแต่ละคำหมายถึงใครหรือพฤติกรรมใดกันแน่ และมันมีหมายความอย่างนั้นได้อย่างไร
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ผู้พยายามขับเคลื่อนให้เกิดกระแสต่อต้าน ‘คนชังชาติ’ ได้ให้นิยามกว้างๆ ว่าเป็นคนที่มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดใน 5 ประการดังต่อไปนี้ 1. การจาบจ้วงสถาบันฯ 2. การไม่เอาศาสนา รวมทั้งเอาศาสนามาสร้างความขัดแย้ง 3. การดูถูกประเทศชาติ รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณี 4. การเอาต่างชาติมายุ่งกิจการภายใน และ 5. การไม่รับคำตัดสินของศาล โดยแต่ละข้อนั้นไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าการกระทำแบบใดบ้างจึงจะเข้าข่าย
คำถามก็คือในความเป็นจริง อะไรก็ตามที่ถูกตั้งชื่อว่า ‘ชังชาติ’ เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้นจริงหรือไม่ และมันเป็นปรากฏการณ์ทางภาษาและการสื่อสารที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทยไปแล้ว หรือเป็นแค่กระแสที่ถูกปลุกปั่นขึ้น เพื่อสร้างความสับสนให้คนหันเหความสนใจไปจากเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่านั้น
การที่ ‘ชังชาติ’ กลายเป็นคำฮิตติดหูในชั่วเวลาไม่กี่เดือน ทำให้ผมสงสัยว่าขอบเขตของการใช้มันกว้างขวางสักแค่ไหน ผมทดลองเข้าไปค้นหาว่าบน YouTube มีวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากหรือน้อย มีความหลากหลายของแชนแนลหรือเปล่า และมีปริมาณการชมอย่างไร
ผมลองสืบค้นข้อมูลด้วยคำค้น ‘ชังชาติ’ โดยกรองเอาเฉพาะวิดีโอที่ถูกอัพโหลดภายในปีนี้ (สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562) และเรียงลำดับวิดีโอตามยอดวิว โดยเลือกเฉพาะวิดีโอที่มียอดการชมตั้งแต่ 1,000 วิวขึ้นไปเท่านั้น ปรากฏว่าได้วิดีโอมาทั้งหมด 135 วิดีโอ ซึ่งมีช่วงเวลาการอัพโหลดย้อนหลังกลับไปไม่เกิน 5 เดือนเท่านั้น หมายความว่าความนิยมในการใช้คำว่า ‘ชังชาติ’ อย่างมีนัยยะสำคัญ เพิ่งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปนี้เอง โดยวิดีโอที่ได้รับความนิยมที่สุด มียอดการชม 220,000 วิว (ดูตารางข้างล่าง)
เมื่อพิจารณาในแง่ความหลากหลายของวิดีโอ พบว่าการกระจายของจำนวนวิดีโอต่อแชนแนลไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือจากจำนวนยูทูปแชนแนลทั้งหมด 38 ช่อง ช่องที่มีจำนวนวิดีโอมากที่สุด 5 ลำดับแรก มีการเผยแพร่วิดีโอที่มีเนื้อหาเรื่อง ‘ชังชาติ’ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 64.5 ในขณะที่อีก 33 ช่องในลำดับรองลงไป มีจำนวนวิดีโอรวมกันทั้งหมดในสัดส่วนร้อยละ 35.5 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจำนวนวิดีโอร่วมกับจำนวนวิวสะสมของแต่ละแชนแนล จะพบว่าจำนวนของวิดีโอมีความสัมพันธ์กับยอดวิวสะสม หมายความว่าการนำเสนอเรื่องเดียวกันซ้ำๆ มีส่วนทำให้ยอดการชมเพิ่มขึ้น แม้ว่ายอดวิวเฉลี่ยของแต่ละวิดีโอในแชนแนลนั้นๆ จะน้อยกว่าแชนแนลอื่นก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น วิดีโอบันทึกรายการของช่อง SpringNews ว่าด้วยประเด็น ‘ชังชาติ’ เรื่องหนึ่ง เป็นวิดีโอที่มียอดวิวสูงที่สุด แต่เนื่องจากมีเพียงรายการเดียวจึงมียอดวิวสะสมน้อย ในขณะที่ NationTV22 มียอดวิวสะสมถึงเกือบ 700,000 วิวจาก 29 วิดีโอ แต่มียอดวิวเฉลี่ยต่อวิดีโอหนึ่งเรื่องเพียง 24,076 วิวเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น หากเรานำเอายอดวิวสะสมของช่อง NationTV22 รายการคมชัดลึก และ Nation Online มารวมกัน ก็จะทำให้วิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘ชังชาติ’ ของกลุ่มสื่อเนชั่น (41 วิดีโอ) มีมากถึง 1,100,900 วิว โดยมียอดวิวเฉลี่ยต่อวิดีโอเท่ากับ 26,851 วิว สะท้อนให้เห็นความจงใจที่จะใช้ประเด็น ‘ชังชาติ’ เพื่อการรณรงค์ทางการเมือง มากกว่าจะเป็นการรายงานข่าวหรือการอภิปรายข่าวตามปกติของสื่อทั่วไป
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากชื่อของวิดีโอในภาพรวม จะพบว่ากลุ่มคำที่มีความถี่สูงสุด 6 อันดับแรกได้แก่ ‘ชังชาติ’ (51) ‘หมอวรงค์’ (24) ‘ลัทธิชังชาติ’ (14) ‘พวกชังชาติ’ (11) ‘คนชังชาติ’ (5) และ ‘อนาคตใหม่’ (4) ตามลำดับ แปลว่าเนื้อหาโดยรวมของวิดีโอที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ขาดความหลากหลายอย่างเห็นได้ชัด เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ‘ลัทธิชังชาติ’ เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อโจมตีพรรคอนาคตใหม่ที่ก้าวเข้ามาครองที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้มากเป็นลำดับต้นๆ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด อีกทั้งยังมีฐานผู้สนับสนุนเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งสับหลีกกับฐานผู้สนับสนุนของพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ ‘หมอวรงค์’ สังกัดอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน
หมอวรงค์ได้สร้างตนเองให้กลายเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของการปราบลัทธิชังชาติที่ตนเองเป็นคนอุปโลกน์ขึ้นมา และสถาปนาตนเองให้เป็นมือปราบลัทธิชังชาติไปพร้อมๆ กัน โดยเป้าหมายที่แท้จริงกลับเป็นการทำลายความชอบธรรมพรรคอนาคตใหม่และฐานเสียงสนับสนุน ในฐานะที่เป็นกลุ่มก้อนที่มีพลังทางการเมือง โดยพยายามที่จะบดบังข้อโต้แย้งทางการเมืองในประเด็นต่างๆ เอาไว้เบื้องหลังหมอกควันของถ้อยคำที่ปลุกเร้าความรู้สึกเกลียดชังและหวาดกลัว
จริงอยู่ มีความพยายามที่จะช่วงชิงความหมายเพื่อโต้กลับ โดยการกล่าวว่าคนชังชาตินั้นไม่มี จะมีก็แต่คนที่ชังรัฐบาล ชังคนที่ชังประชาธิปไตย หรืออะไรทำนองนั้น แต่ความพยายามดังกล่าวยิ่งทำให้ ‘ลัทธิชังชาติ’ มีความเป็นตัวตนชัดเจนยิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลเสียต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นต่างๆ เพราะข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น อาทิ การปฏิรูปกองทัพ การรณรงค์ไม่ให้มีการอ้างใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง การปฏิรูประบบอำนาจนิยมในโรงเรียน การส่งเสริมขันติธรรมในความสัมพันธ์ข้ามศาสนาหรือระหว่างกลุ่มศาสนิกกับผู้ไม่นับถือศาสนา การส่งเสริมการวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ถูกนำมากองรวมกันไว้ภายใต้ร่มของคำที่สร้างความรู้สึกลบอย่างคำว่า ‘ชังชาติ’
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมเห็นข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปกล่าวปาฐกถาในงานของ ‘กลุ่มเนชั่น’ พร้อมกล่าวแสดงความชื่นชม โดยประกาศว่าตนเองนิยมการนำเสนอข่าวและทัศนะของ ‘สื่อ’ กลุ่มนั้น ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็นแฟน นี่แสดงว่าพันธมิตรต่อต้านการชังชาติของ ‘หมอวรงค์ + กลุ่มสื่อเนชั่น + กปปส.แปลงร่าง’ ได้สมาชิกเพิ่มเติมเป็นผู้นำรัฐบาลด้วยอีกท่านหนึ่ง
พร้อมๆ กับข่าวดังกล่าว ผมก็เห็นอีกข่าวหนึ่งรายงานว่า ‘หมอวรงค์’ ซึ่งอุปโลกน์ตนเองเป็น ‘มือปราบชังชาติ’ เตรียมจะเปิดเวทีละครปลุกระดมที่มีตัวเองเป็นดารานำในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ หมายความว่าโครงการรณรงค์ทางการเมืองของพ่อค้าความชังท่านนี้ มีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งสื่อระดับประเทศ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งได้ไฟเขียวจากฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐ พวกเขาพร้อมแล้วสำหรับการตอกลิ่มให้สังคมแตกแยกกันยิ่งขึ้น ด้วยการปลุกเร้าความเกลียดความกลัวในหมู่ประชาชนทั่วประเทศ
ในนวนิยายหรือภาพยนตร์แนวสืบสวนการฆาตกรรม ตัวละครที่น่าสงสัยน้อยที่สุดหรือมีท่าทางดูเป็นคนดีที่สุด มักจะลงเอยด้วยการเป็นฆาตกรตัวจริง
ในสังคมไทย คนที่ชอบพูดเรื่องการรู้รักสามัคคีระหว่างคนในชาติมากที่สุด มักจะลงเอยด้วยการเป็นสาเหตุที่แท้จริงของความเกลียดชังและความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ