fbpx
‘Digital Politics' การเมืองใหม่ในโลกดิจิทัล กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

‘Digital Politics’ การเมืองใหม่ในโลกดิจิทัล กับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ เรียบเรียง

ย้อนกลับไปราวทศวรรษก่อน บริบทสังคมการเมืองไทยนับว่าแตกต่างจากยุคนี้อย่างสิ้นเชิง

จากที่เคยมีที่ทางหลักอยู่ในรัฐสภา บนท้องถนน ทุกวันนี้การมีส่วนร่วมทางสังคมการเมืองได้ขยับขยายไปอยู่บนโลกออนไลน์ ภายใต้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ

ประชาชนมีทางเลือกในการใช้เสรีภาพการแสดงออกมากกว่าอดีต ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง เช่น การปลุกระดมคน การสื่อสารประเด็นต่างๆ การเลือกตั้ง ฯลฯ และอีกหลายเหตุการณ์ที่ยากจะคาดเดา

ทว่าเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรจากดาบสองคม เพราะในขณะที่เครื่องมือเหล่านี้เข้ามาช่วยเกื้อหนุนเสรีภาพในการแสดงออก อีกด้านหนึ่งก็อาจถูกนำมาใช้ในการบั่นทอนประชาธิปไตยได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเมืองรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นใน ‘โลกดิจิทัล’ ยังคงสร้างความหวังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันให้แก่คนจำนวนไม่น้อย ว่าประชาธิปไตยจะมีก้าวเดินที่ดีกว่านี้

คำถามที่น่าคิดคือ สุดท้ายแล้วประชาธิปไตยจะเบ่งบานในโลกดิจิทัลได้มากน้อยขนาดไหน ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ชวน ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมวิเคราะห์สารพัดโจทย์ของการเมืองรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ในรายการ 101 one-on-one

ประชาธิปไตยกับ ดิจิทัลสองอย่างนี้มันไปด้วยกันจริงหรือเปล่า

หลายคนบอกว่าบทบาทของสื่อในโลกดิจิทัลคือการระดมคนให้ออกมาประท้วง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้โลกเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้ ตัวอย่างคือเหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ที่คนออกมาประท้วงจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในโลกอาหรับ

แต่พอถึงปี 2016 เกิดเหตุการณ์สองอย่าง หนึ่งคือ Brexit สองคือชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ สองเหตุการณ์นี้ทำให้คนเริ่มรู้สึกว่าพื้นที่ในโลกไซเบอร์ ถูกใช้เพื่อระดมเสียงสนับสนุนผู้นำที่ออกขวาๆ บางคนก็ทำนายกันว่าภาวะถดถอยของประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบทบาทของสื่อโซเชียล

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนชัดเจนคือ กรณีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ฝ่ายก้าวหน้าเชื่อว่ามีรัฐบาลคู่แข่งอย่างรัสเซียเป็นผู้ผลิต Fake News เพื่อทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้นคนก็เริ่มรู้สึกว่า สื่อโซเชียลไม่ได้มีแต่ด้านที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างเดียว แต่มีด้านที่ทำให้คุณค่าประชาธิปไตยมีปัญหาได้เหมือนกัน

ตัวแพลตฟอร์มถือว่าเป็นประชาธิปไตยไหม

พื้นที่โซเชียลเองทำให้เกิดประชาธิปไตยได้ อย่างน้อยทำให้คนที่ไม่มีโอกาสได้ไปหางาน ไปติดต่อเป็นแม่บ้านผ่านแอปได้ ในแง่โอกาสในชีวิตถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก เพียงแต่ว่าตัวสื่อโซเชียลเองมันเป็นพื้นที่เสรี และสามารถถูกใช้เพื่อจุดประสงค์อะไรก็ได้

โลกที่เราอยู่ตอนนี้เป็นโลกที่ย้อนแย้ง ในแง่ที่ความเป็นประชาธิปไตยอาจถูกใช้เป็นอาวุธทำร้ายประชาธิปไตยก็ได้ เรื่องนี้หลายประเทศพยายามออกกฎหมายเพื่อจำกัด Fake News หรือมีการทำแคมเปญในโลกโซเชียลที่เสี่ยงต่อการก่อการร้ายหรือแทรกแซงทางการเมือง

เยอรมันมีกฎหมายเหล่านี้ ส่วนมาเลเซียก็ออกกฎหมาย Fake News แต่ภาคประชาสังคมก็บอกว่าเป็นการกีดกันเสรีภาพของประชาชน เพราะรัฐบาลใช้กฎหมายไซเบอร์ในการปราบปรามคนที่เห็นต่าง อย่างเวียดนามหรือแทบทุกประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีกฎหมายไซเบอร์ที่เอาไว้ใช้ปราบปรามคนเห็นต่าง นี่เป็นความยากลำบากในการจัดการกับประเด็นนี้ โลกที่เราอยู่ตอนนี้มันเลยซับซ้อน

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ ในโลกโซเชียลมีอัลกอริทึมซึ่งคัดกรองข้อมูลที่เราสนใจ ฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นจึงเป็นสิ่งที่เราชอบและเห็นด้วย ที่จริงอัลกอริทึมมันมาจากการตลาด แต่มันมาอิงกับการเมืองเมื่อพวกที่ทำ Political Marketing เริ่มจับทางได้ แล้วก็ไปรับจ้างนักการเมืองทำงานเหล่านี้

แง่หนึ่งจึงเหมือนว่าเราติดอยู่ในโลกที่เป็นห้อง Echo แต่ละห้องมีคนที่อยู่ฝั่งเดียวกัน คุยกันเอง โดยไม่มีการข้ามห้องกัน แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่ความเห็นต่างถูกได้ยิน หรือหลุดเข้ามาในห้องเรา เราจะรับไม่ได้ เราจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องโกหก ส่วนเสียงที่ได้ยินอยู่ในห้องของเรา ก็กลายเป็นความจริงขึ้นมา และเราก็ใช้ความจริงนั้นไปลดทอนความชอบธรรมของความจริงอีกฝ่าย

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

แสดงว่าโลกดิจิทัลช่วยส่งสัญญาณให้ชัดขึ้นว่าประชาธิปไตยกำลังถดถอย

มีรายงานของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในโลก ที่ติดตามว่าตอนนี้มีพื้นที่แสดงออกมากน้อยแค่ไหน แล้วเขาก็พบว่ามีประชากรในโลกแค่ยี่สิบกว่าประเทศเท่านั้น ที่อยู่ในประชาธิปไตยแบบเปิด ที่ภาคประชาสังคมสามารถแสดงความเห็นโดยไม่ถูกคุกคามจากรัฐบาลได้ ส่วนที่เหลือพังหมด ถ้าไม่ถูกปิดตาย ก็หดลง ไม่ก็ถูกกีดกันจากรัฐบาล

กรณีอินเดียน่าสนใจ เพราะมีภาคประชาสังคมฝ่ายขวาชื่อ RSS เป็นกลุ่มที่นำแคมเปญฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาล้อมมหา’ลัย เพราะนักศึกษาในมหา’ลัยจัดงานเสวนาที่กำลังมีปัญหากันอยู่ พวกฝ่ายขวาซึ่งเป็นพวกประชาสังคมก็กล่าวหาคนในมหา’ลัยว่าเป็นพวกต้านชาติ ขณะเดียวกันการป้ายคำเหล่านี้ก็ถูกผลิตในสื่อ ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐบาลอินเดียมีบทบาทอย่างมากในการจ้างคนให้มาผลิตวาทกรรมเหล่านี้

พอกระแสสังคมมาจากในสื่อโซเชียล จึงดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ กลายเป็นว่าการพื้นที่ของภาคประชาชนแคบลง ไม่ใช่ผลจากการปราบปรามของรัฐบาล แต่เป็นผลจากอีกฝ่ายที่ไม่ชอบกันเอง แบบม็อบชนม็อบ

รัฐบาลอินเดียมีบทบาทในการจ้างคนในโซเชียลยังไง

มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Cyber Troops หรือกองกำลังพลเรือนไซเบอร์ เป็นพวกตามจองล้างจองผลาญ ก่นด่าคนในโลกโซเชียล

วิธีคิดก็คือว่า ในเมื่อไปปราบปรามหรือไปละเมิดสิทธิของประชาชนไม่ได้ จะหาวิธีไหนทำให้มันดูเนียน เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาบอินเดีย ตุรกี หรือในลาตินอเมริกาบางประเทศทำคือ สร้างสิ่งที่เรียกว่าฟาร์มเพาะกองกำลังพลเรือนไซเบอร์ เป็นฟาร์มที่ใหญ่มา เทรนเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีงานทำ ให้เข้าไปอยู่ในห้องทั้งวันทั้งคืน แล้วเขาจะสร้างบัญชีเสมือนว่าเขาเป็นพลเมืองในประเทศนั้นๆ แล้วไปคอมเมนต์หรือไปแชร์ข่าวที่เป็นข่าวปลอม ฉะนั้นคอมเมนต์ข่าวพวกนี้ก็จะเฟื่องฟูราวกับว่ามีคนเชื่อมันจริงๆ มีไลค์เยอะ แชร์เยอะ จนสุดท้ายข่าวเหล่านี้ก็เป็นเรื่องจริงขึ้นมา

นี่เป็นงานศึกษาของมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งเขาศึกษา Computer Activism โดยเก็บข้อมูลว่ามีประเทศไหนบ้างที่ใช้วิธีปลุกระดมเสียงในพื้นที่ไซเบอร์ คือชอบรัฐบาลจริงๆ และเกลียดฝ่ายค้านจริงๆ หรือไปป้ายสีฝ่ายค้านว่าเป็นพวกชังชาติ แบ่งแยกดินแดน เป็นผู้ก่อการร้าย โดยไปเก็บรวบรวมข้อมูลกว่า 20 ประเทศ มีเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ตุรกี ในลาตินอเมริกา ในประเทศแถบอาหรับ รวมถึงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ อเมริกา

ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างซับซ้อน เพราะมันไม่ใช่รัฐบาลจ้างคนเพื่อไปทำ แต่มีผู้ได้ผลประโยชน์จากบริษัทรับจ้างเหล่านี้ ซึ่งก็คือบริษัทที่ขายบริการปั้นข่าว บริการให้คนมาแชร์ข่าว สร้างบัญชีปลอม

แสดงว่าอีกแง่หนึ่ง ช่องทางออนไลน์ก็ผลิต ความน่าจะเหมือนจริง ขึ้นมาแทนที่ความจริง

น่าจะเหมือนจริง แต่สำหรับพวกเขาคือความจริง และใช้กันเยอะมาก Fake News มีรากฐานจากตรงนี้

แม้แต่ฝ่ายก้าวหน้าก็เชื่อว่าเรื่องของตัวเองเป็นเรื่องจริง ส่วนเรื่องอีกฝ่ายเป็น Fake News หมายความว่าฝ่ายก้าวหน้าก็ติดอยู่ในกับดักของตัวเอง แล้วก็ไม่ได้ยินเสียงของอีกฝั่ง

การที่ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายก้าวหน้า ได้ยินแต่เสียงของตัวเอง ยิ่งทำให้โซเชียลมีเดียแย่ลงไหม

โลกโซเชียลเป็นแค่อาการป่วย ตอนเราป่วยขึ้นมาคือแผลมันพุพอง แต่อาการป่วยมันมีมานานแล้ว

ปัญหามาจากการที่ผู้คนรู้สึกว่า ผู้นำไม่ได้ยินเสียงเขา ทั้งๆ ที่เขาเลือกผู้นำเหล่านี้มา อย่างในสหภาพยุโรป หลายครั้งต้องดำเนินนโยบายตามกรอบสหภาพนโยบายของยุโรป เช่นนโยบายการเปิดพรมแดน นโยบายกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการค้า นโยบายการที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานคนท้องถิ่น คนก็ไม่พอใจ แล้วมันก็ลามไปถึงเรื่องอื่น เช่นเรื่องผู้อพยพ สิทธิมนุษยชน

พรรคฝ่ายขวาในกรีซหรืออิตาลีเอง ซึ่งตอนนี้เป็นรัฐบาล เป็นขวาประชานิยม ก็ขึ้นมาได้รับคะแนนนิยม เพราะคนเหล่านี้ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า มีคนได้ยินเสียงเขา ออกมาพูดจาด่า EU เหมือนอย่างที่เขาอยากด่า พื้นที่โซเชียลเป็นกระบอกเสียงให้เขา

แสดงว่ารัฐบาลของหลายประเทศ ก็รู้จักใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการจัดการผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

การที่รัฐใช้ได้ดี เพราะรัฐมีทรัพยากร มีหน่วยงานราชการ มีทุน มีคน แล้วก็คุมกลไกหลายอย่าง บางประเทศรัฐบาลคุมอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นรัฐจึงทำงานได้มีประสิทธิภาพ จีนตอนนี้ก้าวหน้ามากในแง่การคุมประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล คนถูกบันทึกแต้ม พวกประชาชนทั้งหลายที่ทำผิด เขาหักแต้มในดิจิทัล ปรากฏว่าเทคโนโลยีพวกนี้ทำให้การต่อสู้ขัดขืนต่ออำนาจยากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถามว่าทำไมประชาชนจำนวนมากถึงยอม อาจเป็นเพราะรัฐบาลให้ความมั่นคงปลอดภัย คนจีนจำนวนมากจะรู้สึกว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ใช่การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่เป็นการรักษาความปลอดภัย

งานในฟิลิปปินส์ก็น่าสนใจ คือมีคนที่รักประธานาธิบดีดูเตอร์เต แล้วตั้งเพจแบบ Duterte Fan ซึ่งเพจนี้ทำหน้าที่ด่า ขู่ข่มขืน พวกนักสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ถูกขู่สารพัด ถ้าคุณเป็นนักข่าวผู้หญิง คุณอาจถูกขู่ข่มขืน แล้วพวกนี้ทำงานโดยที่ได้รับการขยิบตาจากรัฐ แต่ถามว่ารัฐช่วยเหลือเต็มๆ ไหม ไม่ ขยิบตาหมายความว่าถ้าคุณทำอะไรที่มันล่วงละเมิดกฎหมายจริงๆ รัฐก็คงไม่เอาความ พวกนี้กลายเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่เขาชอบนโยบายที่มันไม่เสรีนิยม ที่มันละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามของความมั่นคงปลอดภัย ความสงบ คนเหล่านี้ก็รู้สึกว่าฉันเป็นจิตอาสาช่วยรัฐบาล

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

 

จิตอาสาเหล่านี้เป็นคนแบบไหนกันแน่

ชาวบ้านอย่างเราเลยค่ะ มีวิทยานิพนธ์จากมหา’ลัยในยุโรป เขาไปนั่งดูเฟซบุ๊กเพจ Amnesty International แล้วเห็นว่าคนมาด่ากันเสียๆ หายๆ ขู่ฆ่าล้างโคตรเลย เขาก็ไปคลิกดูบัญชีของคนเหล่านี้เพราะคิดว่าเป็นบัญชีปลอม ปรากฏว่าเป็นรูปของผู้ชายที่อุ้มลูก รักลูกมาก อีกคนเป็นรูปของนางพยาบาลที่ดูแลเอาใจใส่คนไข้ และเป็นรูปของคุณแม่ที่พาลูกไปโรงเรียน

มันแค่เปลี่ยนที่จากหกตุลาไปอยู่ในโลกไซเบอร์ เพราะคนที่สนับสนุนหกตุลาก็คือชาวบ้าน คือคนธรรมดาที่จริงๆ แล้วเป็นคนดี ซึ่งแง่หนึ่งก็มีความเป็นจิตอาสาแบบฝ่ายขวา รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อบ้านเมือง

ในบ้านเรา นอกจาก IO แล้ว มีจิตอาสาออกมาในรูปแบบไหนบ้าง

เมืองไทยมีกลุ่มองค์กรเก็บขยะ กรณีคุณโรส เป็นการระดมม็อบไซเบอร์ มีการเปิดเผยที่อยู่ของคุณโรสในอังกฤษ แล้วระดมให้คนไทยในอังกฤษไปยืนรอหน้าบ้าน เพื่อขู่ทำร้าย แล้วไปกดดันพ่อแม่ของคุณโรส จนกระทั่งพ่อแม่ต้องประกาศตัดลูก และมีการฟ้องร้อง 112 กันได้

แต่ของเราตอนนี้มันหลับ หมายความว่ากลุ่มเหล่านี้จะลุกขึ้นมาทำงานก็ต่อเมื่อมีภัยคุกคามสิ่งที่เขารักและปกป้อง ในบางช่วงภัยคุกคามเหล่านี้ปรากฏชัด เช่น ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงที่มีการประท้วงของกปปส. และมีม็อบของนปช. ออกมาคู่กัน และมียูทูปหมิ่นฯ ขึ้นมาเต็มไปหมด ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องสถาบันที่เขารัก เขารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง

ผู้หญิงคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ในโซเชียล บอกว่า เพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำงานในการปราบปรามคนที่หมิ่นสถาบันที่เขารัก เขาต้องลงมือเอง นี่เป็นตรรกะเบื้องต้นเวลาคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นจิตอาสา

เทคโนโลยีทำให้รัฐควบคุมคนได้ง่ายขึ้นหรือไม่

ทั้งง่ายและไม่ง่าย ในประเทศไทยที่เราต้องออกกฎหมาย พ.ร.บ.คอมฯ เพราะมันคุมไม่ได้ และรัฐก็พยายามคุม ในแง่หนึ่งเทคโนโลยีมันเป็นพื้นที่ประชาธิปไตย เพราะว่ามันเอื้อให้ทุกคนเข้าถึงและใช้พื้นที่นี้ แค่คุณมีมือถือถูกๆ มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็โพสต์อะไรก็ได้ และทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นที่นำภัยมาสู่ตัวเอง

แต่เพราะเทคโนโลยีถูกใช้โดยใครก็ได้ รัฐจะใช้ก็ได้ จีนก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่ารัฐใช้เทคโนโลยีในการควบคุมคน แต่ถามว่าคุมสนิทไหม ในแง่การศึกษาเรื่องไซเบอร์มันเลยน่าสนใจ เพราะมันสู้กันไม่จบ รัฐบาลคุมไม่สนิท คนสู้ก็ไม่สามารถสู้ด้วยวิธีการเดียวไปได้ตลอด ทั้งสองฝ่ายต้องปรับตัวและสู้กันไปเรื่อยๆ

สู้แบบไหน

มันสามารถทำได้โดยการเปิดเผยตัวตนของเหล่านี้ พอเปิดเผยแล้วมันทำให้เห็นว่าข้อมูลอะไรก็ตามที่กลุ่มคนเหล่านี้แชร์ต้องระวัง แต่ไม่ได้ประจานแบบกลุ่มเสื้อแดงที่สู้กับกลุ่ม Social Sanction แล้วเอาเขามาประจานเปิดเผยที่อยู่ส่วนตัว เราต้องไม่ใช้วิธีนั้น

สังคมต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Media Literacy คือความรู้เท่าทันสื่อโซเชียล ทุกอย่างที่เราอ่านไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป ตอนนี้ดิฉันกังวลว่าบางทีเราคลิกเร็ว ในภาษาอังกฤษมีสิ่งที่เรียกว่า Click Bait คือกับดักให้คนคลิก พอขึ้นหัวข้อมาเรายังไม่ทันอ่านเลย คลิกแชร์แล้ว เหมือนข่าวเก่าเอามาม้วนใหม่ เพื่อที่จะสร้างกระแสความเกลียดชังทางการเมือง

ประชาชนต้องระวังของเหล่านี้มากขึ้น และต้องมีกลุ่มองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างความรู้เรื่องสื่อโซเชียลมากขึ้น ทั้งในเชิงการเมืองและเรื่องส่วนตัว บางคนก็เชื่อข่าวสารหลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อเช่น กินอันนี้แล้วผิวจะขาว ไปตกเป็นเหยื่อพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย สังคมไทยยังมีความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้น้อยไป เราเชื่อสื่อง่าย เชื่อคนง่าย

ในแง่ของการสู้กลับของภาคประชาชน คุณเห็นจุดอ่อนอะไรบ้าง

เราไม่มีเรื่องเล่า มีคนที่ทำงานด้านสันติวิธีจำนวนมากเริ่มมาสนใจสื่อดิจิทัลมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำเป็นเหมือน NGO คนจึงยังไม่ค่อยอิน เช่น คุณบอกว่าอย่าไปเชื่อเขา ต้องตั้งสติ แต่แค่บอกให้ตั้งสติมันไม่พอ ต้องมีเรื่องให้เขาตามต่อด้วย เช่น ปลอมข่าวคนมีชื่อเสียงคนหนึ่งตาย เราจะต้องเผยแง่มุมที่มาจากฐานความจริง แต่เป็นเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาแล้วสร้างอารมณ์ตรงกันข้าม เช่น แทนที่เรื่องนั้นจะทำให้เราโกรธ ต้องหาเรื่องที่มันทำให้คนมีความหวัง

ประชาชนควรจะสู้กลับยังไงให้คนสนใจที่สุด

สู้กลับในสองทิศทางคือ Defensive หมายความว่าต้องบอกให้คนตั้งสติ กับ Offensive หมายความว่าเราต้องหาเรื่องสู้กลับ ถ้าเรื่องที่เขาผลิตคือเรื่องที่ทำให้คนโกรธเกลียดกัน เราต้องมีเรื่องใหม่ที่จะทำให้คนคลิก ไลก์ และแชร์เยอะๆ แต่ต้องเป็นเรื่องที่มีมูลความจริงนะ แล้วขยายออกไป ทำให้ดูดีเหมือนเรื่องถ้ำหลวง

อย่างต้นเรื่องคือเด็กติดถ้ำ แต่ว่านักข่าวฝรั่งขยายจนสร้างหนังได้ คนมันก็รู้สึกดี อารมณ์ของคนเป็นเรื่องสำคัญ ทำยังไงให้คนไม่รู้สึกว่าปี๊ดหรือโกรธตลอดเวลา กระทั่งไม่อยากฟังอีกฝ่าย

บางทีสื่อเอาแต่ข้อเท็จจริงหรือตัวเลขอย่างเดียวมาเสนอ ซึ่งมันไม่ชวนให้คลิกเท่าไหร่

ใช่ นักวิชาการชอบทำ เป็นพวกน่าเบื่อ ทำงานวิจัยมาเพื่อให้คนรับรู้ แทนที่จะเอามาสร้างเรื่องสนุกๆ เป็นนิทานบ้าง เป็นแอนิเมชั่น กลับมาแบบเป็นกราฟแล้วมีเลขเต็มไปหมด คือนักวิชาการจะเชื่อว่า เวลาสู้กับพวกเผด็จการหรือฝ่ายตรงข้าม ต้องใช้ความจริง แต่ปรากฏว่ามวลชนไม่เอาความจริง มวลชนอยากได้เรื่อง เรื่องที่เราเล่ามันเลยสำคัญมาก อารมณ์และข้อเท็จจริงต้องมาด้วยกัน

ข้อเท็จจริงไม่ได้บอกว่าให้โกหก แต่ข้อเท็จจริงในโลกที่เราอยู่ ไม่มีความจริงอะไรที่ไม่มาจากการปั้น นักวิชาการทั้งหลายที่เหมือนจะพูดข้อเท็จจริง มันก็มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งคุณก็ตั้งคำถามกับวิธีเก็บข้อมูลได้ นี่คือการปั้นข้อมูลนะ ไม่ได้บอกว่าโกหก เพียงแต่ว่ามันมีเรื่องหลายชุด ทำยังไงให้เวลาสู้กลับ สู้กันที่เรื่องเป็นหลัก

ปัญหาหนึ่งของฝ่ายก้าวหน้า เวลาสื่อสารการเมืองในสื่อออนไลน์ คือไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่องด้วยหรือเปล่า

เรื่องที่ฝ่ายก้าวหน้าไม่ค่อยอยากแตะ มีตั้งแต่ชาตินิยม ผู้อพยพ เหยียดเพศเหยียดผิว PC (Political Correctness) เพราะเป็นตราบาป ปรากฏว่าพอเราไม่แตะ ฝ่ายขวาก็เอามาทำเรื่อง สิ่งที่เขาทำคือเขาเอาชาตินิยมมาตีความว่าเป็นการรักชาติแบบคลั่งชาติ เราต้องเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องเป็นอเมริกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องเป็นคนเยอรมันร้อยเปอร์เซ็นต์ พอเป็นชาตินิยมแบบนี้ มันใกล้ตัวใกล้ใจ มันไปถามถึงอัตลักษณ์และความจงรักภักดีของเราว่าคุณอยู่ที่ไหน

พอฝ่ายก้าวหน้าไม่เล่นเรื่องนี้ แต่หนีไปพูดเรื่องข้อเท็จจริง เช่น อย่าละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่าเหยียดเพศ อย่าไล่ผู้อพยพกลับบ้าน เรื่องพวกนี้มันไม่เชื่อมโยงกับหัวใจคน เครื่องมือของพวกกลุ่มฝ่ายขวาเลยมีประสิทธิภาพ

ฝ่ายก้าวหน้าเคยสื่อสารอะไรสำเร็จบ้างไหม

จะบอกว่าสำเร็จก็ไม่เชิง แต่ในอินเดียมีการต่อสู้ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายขวาในอินเดียฉวยใช้สิ่งที่เรียกว่าฮินดูชาตินิยม คือการผูกชาตินิยมอินเดียไว้กับศาสนาฮินดูเท่านั้น เท่ากับว่าประชากรมุสลิมสี่ร้อยล้านคนถูกกีดกันไปด้วย แต่ฝ่ายก้าวหน้าในอินเดียตีความศาสนาฮินดูใหม่ แล้วบอกว่าฮินดูที่แท้จริงคือฮินดูที่รักทุกคน เพราะเวลาคุณไปดูเทพเจ้าในศาสนา มีสามร้อยกว่าองค์ แล้วฮินดูจะเป็นศาสนาที่ใจแคบได้อย่างไร ศาสนานี้เป็นศาสนาที่พหุวัฒนธรรมที่สุดแล้ว อนุญาตให้คุณเคารพเทพองค์ไหนก็ได้ตามความต้องการของคุณ

ล่าสุดคนอินเดียไปเคารพเทพทรัมป์ เอาทรัมป์มาเป็นเทพคนใหม่ ก็ไม่เห็นมีใครไปไล่ตบเขา คือศาสนามันใจกว้าง เพียงแต่ว่ามันถูกฉวยมาใช้

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

ถ้ามีโอกาสคุยจริงจังกับฝ่ายก้าวหน้าที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ คุณจะบอกอะไรกับเขา

การที่เรายอมเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ลำบากหู อาจทำให้เราเห็นอคติตัวเอง ว่าปัญหาคือฉันไปเห็นว่าอีกฝ่ายเป็นก้อนๆ เลยทำให้การดำเนินแคมเปญทางการเมืองลำบาก

เราเองก็มีปัญหา จนกระทั่งถูกทหารเชิญไปสอนหนัง คือเขาสนใจเรื่องภาคประชาสังคม และก็มีบางส่วนที่อยากรู้จริงๆ เรารู้สึกว่าทำไมเขาสงสัยเรื่องภาคประชาสังคม แต่เราไม่เคยสงสัยว่าทหารคิดอะไร เขาถูกฝึกมายังไง ความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับเกียรติยศคืออะไร ถ้ามันเปิดประตูตรงนี้ได้ เราจะไม่เห็นกองทัพเป็นก้อนๆ เราจะเห็นว่ากองทัพแตกเป็นกลุ่มๆ มีหลายเฉด มีคนที่ฉลาด ก้าวหน้า และคนที่อยากจะเปลี่ยนก็มี

ถ้ามองอีกฝ่ายเป็นแค่เป็นก้อนๆ เราจะไม่เห็นพันธมิตรจากอีกฝั่ง และเราอาจทำให้คนที่อาจจะเป็นพันธมิตรหายไป พอเราด่าเขามากๆ เขาก็แนบสนิทกับอีกฝั่งหนึ่งไปเลย

ถามว่า ‘การฟัง’ เป็นคำที่ Cliché มั้ย เราก็คิดว่ามันน้ำเน่าแหละ แต่ถามว่าสำคัญใหม่ มันสำคัญในแง่ที่ว่า ทำให้คุณสามารถหาพันธมิตรที่คุณคิดว่าเขาไม่น่าจะเป็นพันธมิตรคุณได้ ไม่มีแคมเปญทางการเมืองไหนที่ชนะได้โดยปราศจากพันธมิตร สิ่งเดียวที่คุณจะประสบความสำเร็จได้คือการพูดให้คนที่คิดไม่เหมือนคุณฟัง เพราะฉะนั้นการฟังเลยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

หมายถึงการเมืองแบบประนีประนอม ที่ต่างฝ่ายต้องถอยคนละก้าวหรือเปล่า

เราติดอยู่ในกับดักความขัดแย้ง พูดตรงๆ เลยนะ เราคิดว่าเรื่องที่เราขัดแย้งคือ คุณไม่เอาสถาบัน อีกฝั่งไม่เอาทักษิณ ความขัดแย้งไปอยู่ที่ประเด็นว่า คุณเกลียดใครรักใคร พอเปลี่ยนประเด็นไม่ได้ เราจะรู้สึกว่าสังคมแตกแยก ต้องประนีประนอม ซึ่งการถอยคนละก้าวในรูปแบบนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหา เพราะรากฐานของมันไม่ถูกคลี่คลาย

ถามว่า กปปส. ไม่สนใจประชาธิปไตยทั้งหมดจริงหรือ ก็ไม่จริง เขาสนใจว่าทำยังไงให้ภาษีโปร่งใส ไม่ใช่ให้เฉพาะฐานเสียง มันก็เป็นประชาธิปไตยอีกด้านหนึ่ง

สมมติสองฝ่ายทะเลาะกันเรื่องรูปแบบประชาธิปไตยที่อยากได้ อยากได้คนละรูปแบบ ทำยังไงให้มาเจอกันโดยที่ไม่บอกว่าอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้อง มันก็กลับไปเรื่องพันธมิตรของประชาธิปไตย ว่าอาจจะมีมากกว่าที่เราคิด แต่เราดันไปผูกกับตัวบุคคล ผูกกับพรรค เพราะฉะนั้นความขัดแย้งเลยวนอยู่ในอ่างปลาทอง

ท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยตกต่ำทั่วโลก มีตัวอย่างอะไรบ้างที่ทำให้เห็นว่ายังมีความหวังในการสร้างประชาธิปไตยอยู่

ในเอเชียก่อน เช่ นมาเลเซีย ฝ่ายค้านล้มลุกคลุกคลานมาหลายสิบปี เลือกตั้งแพ้หลายสมัย พอฝ่ายค้านมาเลเซียมาถึงจุดที่เรียกว่าจุดบรรลุ ว่าถ้ายังพูดภาษาที่คนฟังไม่เข้าใจ คือพูดเรื่องประชาธิปไตยแบบจับต้องไม่ได้ พูดประเด็นที่คนรู้สึกแบ่งแยก สิทธิมนุษยชนแบบแข็งๆ คนก็รู้สึกว่าไม่เอาหรอกฝ่ายค้าน แล้วก็ไปเลือกรัฐบาลเหมือนเดิม

ฝ่ายค้านมาเลเซียเลยลองแหวกภูมิปัญญาฝ่ายค้าน ด้วยการพูดถึงการเมืองแบบใหม่ และตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่เอามหาเธร์ลงสู่สนามการเลือกตั้ง และฉกฉวยโอกาสที่รัฐบาลของพรรคอัมโน่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการคอร์รัปชั่น ด้านมหาเธร์ก็ถอยตัวออกจากพรรคอัมโน ทั้งที่ฝ่ายค้านจะไม่ร่วมมือกับมหาเธร์ก็ได้ เพราะมีแค้นชำระเยอะมาก แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ชอบแก และแกเป็นแม่เหล็กอย่างดี

แต่จะก้าวข้ามความแค้นมาได้ยังไง และทำยังไงให้คนเห็นว่าความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องระหว่างอดีตกับอนาคต

ประเทศไทยพอจะมีความหวังบ้างไหม

ตอนนี้ฝ่ายก้าวหน้าบ้านเราก็มีการพูดเรื่องคอร์รัปชั่น มีการพูดเรื่องความรับผิดชอบของรัฐในการเก็บภาษี ใช้จ่ายภาษีมากขึ้น รวมถึงประเด็นนโยบายเศรษฐกิจที่จะทำให้ลูกหลานของเรามีชีวิตที่ดี เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น

เพียงแต่ว่าบ้านเรามันผ่านความขัดแย้งมาสิบปี และแผลลึก พอแผลลึกมันมีอคติที่ติดกับภาษาอยู่เยอะ เช่น ฝ่ายก้าวหน้าพูดว่าฉันสนใจประเด็นคอร์รัปชั่น แต่พอมาพูดเรื่องเสรีภาพ อีกฝ่ายบอกไม่เอาแล้ว หลายครั้งเวลาเราพูดประเด็นที่ความเป็นจริง คุณต้อง Speak Truth to Power ต้องพูดความจริงต่ออำนาจ

ถึงเวลาที่เราต้องปรับความจริงให้คนส่วนใหญ่ฟัง และรู้สึกว่าเราพูดภาษาเดียวกับเขา บางครั้งเราพูดเรื่องเดียวกัน แต่เพราะความขัดแย้งทางการเมือง อคติและจุดยืนทางการเมือง จึงทำให้เราใช้ศัพท์คนละคำ พอมันเป็นศัพท์ที่ใหม่ มันจึงระคายหูอีกฝั่ง แล้วเขาก็จะไม่ฟังคุณเลย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save