fbpx
ดื่มออนไลน์: ทำไมจึงเป็นเทรนด์ใหม่มาแรง

ดื่มออนไลน์: ทำไมจึงเป็นเทรนด์ใหม่มาแรง

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

เทรนด์ใหม่ในญี่ปุ่นที่เรียกว่า On-nomi กำลังมาแรง

คำคำนี้แปลว่า ‘ดื่มคนเดียว’ ซึ่งไม่ได้แปลว่าดื่มคนเดียวอยู่คนเดียวจริงๆ แต่เป็นศัพท์ที่ใช้หมายถึงการดื่มคนเดียวอยู่ด้วยกัน ผ่านการแยกตัวออกห่าง แล้วมีสื่อออนไลน์อย่างเช่น Skype, Zoom, Line หรืออื่นๆ มาเป็นสื่อกลาง

คนญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งที่หลายคนน่าจะรู้ นั่นคือจะต้องมีการ ‘ดื่ม’ หลังเลิกงานอยู่เสมอๆ ลักษณะแบบนี้ไม่ค่อยเหมือนคนเอเชียเท่าไหร่ แต่เหมือนคนอังกฤษเข้าผับมากกว่า คือมีตารางเวลาเป๊ะๆ ว่าเลิกงานปุ๊บต้องไปดื่ม ดื่มแล้วก็เข้าบ้าน อะไรทำนองนี้

แต่เมื่อไปดื่มตามร้านไม่ได้สะดวกนัก สิ่งที่เกิดขึ้นมาทดแทนก็คือ On-nomi หรือการดื่มออนไลน์นั่นเอง

ที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนญี่ปุ่นเท่านั้น ในโลกตะวันตก ปรากฏการณ์คล้ายๆ On-nomi ก็กำลังมาแรงด้วยเหมือนกัน คนหันมามี cocktail hour หลังเลิกงาน (ในแบบ work from home) กันเยอะขึ้น ซึ่งถ้ามานึกๆ ดู ก็ตลกดีไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน เรายังต้องใช้วิธี disconnect (จากโลกออนไลน์) เพื่อที่จะ connect (หรือต่อติด) กันแบบตัวเป็นๆ พบหน้าค่าตากันจริงๆ อยู่เลย

ก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาด นักจิตวิทยา นักสังคมวิทยา และผู้รู้ทั้งหลายต่างเป็นห่วงว่าคนเราจะใช้เวลาในโลกออนไลน์มากเกินไป เสียจนสูญเสียความเป็นมนุษย์ที่ได้สัมผัส จับต้อง มองตา ฯลฯ กัน ก็เลยบอกให้เราทำ digital detox เสียบ้าง แต่ ณ ขณะนี้ หลายคนคงรู้ — ว่าโลกออนไลน์สำคัญมากแค่ไหน มันกลายเป็นกระดูกสันหลังของสังคมไปแล้ว โดยเฉพาะในยามที่เดินทางไปหากันไม่ได้ รวมตัวปาร์ตี้สังสันทน์ไม่ได้ (เพราะอาจถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘แรด’ และ ‘ไม่รับผิดชอบต่อสังคม’ ไปได้ง่ายๆ) เราใช้โลกออนไลน์เพื่อประชุมกันโดยมีแอปพลิเคชันต่างๆ มาคอยให้ความสะดวก และเมื่อใช้มันเพื่อประชุมได้แล้ว ก็ทำไมจะใช้เพื่อรวมตัวปาร์ตี้กันไม่ได้เล่า

มีข้อมูลบอกว่า แอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้เฉพาะช่วงทำงานเท่านั้น แต่พอตกเย็น คนก็เปิดแอปพลิเคชันเหล่านี้กันมากขึ้น แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่หลายคนก็ดื่มด้วยกัน รินแก้วให้กันผ่านโลกออนไลน์ ชนแก้วกัน

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

ในโลกตะวันตก การดื่มทำนองนี้คือกระดูกสันหลังทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง มันคือการดื่มก่อนอาหาร เป็นการดื่มเรียกน้ำย่อย ถ้าเป็นวัฒนธรรมอเมริกัน จะเรียกว่า happy hour หรือชั่วโมงอันแสนสุข แต่ถ้าเป็นฝรั่งเศสจะเรียกว่า apéro ส่วนในอิตาลีเรียกว่า aperitivo ซึ่งก็หมายถึงการดื่มก่อนอาหาร เป็นการดื่มร่วมกัน (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ จะเป็นอะไรก็ได้) ก่อนที่จะเริ่มลงมือดินเนอร์กัน

ในทางวัฒนธรรม การดื่มก่อนอาหารเปิดโอกาสให้คนได้เคลื่อนย้ายพูดคุยกัน ก่อนจะเข้าสู่โต๊ะดินเนอร์ที่แต่ละคนนั่งติดอยู่กับที่ คนที่ชอบพอกันจึงอาจต้องแยกกันนั่ง ในขณะที่คนที่ไม่ถูกชะตากันก็ถือโอกาสนั่งห่างๆ กันไปเลย มันจึงเป็นกลไกทางสังคมสำคัญที่ทำให้คนได้เกิดปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบต่างๆ เมื่อกินอาหารค่ำเสร็จแล้ว ก็ยังมีการดื่มหลังอาหารอีกหน คราวนี้ใครหมายตาใครเอาไว้ว่าอยากพูดคุยด้วย ก็สามารถตรงดิ่งเข้าไปสร้างบทสนทนาได้ แต่ถ้าใครอยากหลีกเลี่ยงใคร ก็สามารถทำได้ง่ายๆ อีกเช่นกัน

ในฝรั่งเศส วัฒนธรรมการดื่มที่เรียกว่า apéro ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเย็นเท่นั้น แต่จริงๆ มันคือช่วงเวลาสำหรับ ‘หยุดพัก’ และ ‘รีเซ็ต’ ตัวเองขึ้นมาใหม่ คล้ายๆ กับคนพักดื่มกาแฟหรือพักสูบบุหรี่ในสมัยก่อนนั่นเอง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่การดื่มให้เสร็จๆ แล้วก็จบกันไป ทว่ามันคือช่วงเวลาแห่งการพบปะทางสังคม

แม้แต่บนเครื่องบินไฟลท์ยาวๆ ถ้าเป็นเครื่องของสายการบินฝรั่งเศสอย่างแอร์ฟรานซ์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องก็จะจัดอาหารว่างเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ที่ท้ายเครื่องหรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งในเครื่อง คนที่เบื่อหน่ายกับการนั่งเครื่องบินนานๆ สามารถมาดื่มแบบ apéro ได้ที่บริเวณนี้ และในการดื่มก็เป็นโอกาสพาตัวเองมาสู่คนหน้าใหม่ๆ พบปะแลกเปลี่ยนผู้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทำให้สายสัมพันธ์ทางสังคมขยายตัวกว้างไกลออก หรือหากเป็นคนที่เคยรู้จักมาบ้างแล้ว การดื่มแบบ apéro ก็ย่ิงช่วยกระชับความสัมพันธ์เหล่านั้นได้มากขึ้นอีก

รีบีก้า เพเพลอร์ (Rebekah Peppler) นักเขียนของ Vanity Fair เล่าว่า สมัยที่เธอย้ายไปอยู่ในปารีสใหม่ๆ เธอไม่รู้จักใครเลย ก็ได้อาศัยพิธีกรรม apéro นี่เอง ในการทำความรู้จักกับคน ความที่เธอเป็นคนอเมริกัน เธอคุ้นกับ happy hour อยู่แล้ว เธอจึงปรับตัวเข้ากับ apéro ได้ไม่ยากนัก โดย apéro ในช่วงเย็นหรือ happy hour ของคนอเมริกันนั้น มักจะกินเวลาไม่นานมาก เช่น ราวๆ ครึ่งชั่วโมง ก่อนจะดินเนอร์

รีบีก้าตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ธรรมเนียมการดื่มในช่วงเย็นหรือช่วงสิ้นวันนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่การผ่อนคลายหรือการสร้างสายสัมพันธ์เท่านั้น ทว่ามันยังคือการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ที่จำเป็นมากๆ อีกด้วย

เปลี่ยนผ่านอะไร?

ก่อนหน้าปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกไม่เคยมีคอนเซ็ปต์เรื่อง ‘เวลา’ ในการทำงานมาก่อน แม่บ้านจะเย็บผ้าตอนไหนก็ได้ พ่อบ้านจะออกไปล่าสัตว์เมื่อไหร่ ไปคราวละหลายๆ วันก็ไม่มีอะไรแปลก แต่ ‘แพตเทิร์น’ ในการใช้ชีวิตแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น (หรือยาวนานกว่านั้น) เกิดขึ้นหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม แล้วทำให้มนุษย์ต้องวิ่งรี่เข้าไปทำงาน ‘พร้อมๆ กัน’ (ซึ่งก็คือการทำงานพร้อมเครื่องจักร และเปลี่ยนตัวเองเป็นเครื่องจักรไปด้วยกลายๆ) เลิกงานก็เลิกพร้อมๆ กัน

โลกแบบใหม่นี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง ‘เวลาทำงาน’ กับ ‘เวลาว่าง’ ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมาเป็นครั้งแรก และการดื่มหลังเลิกงาน ก็คือการจัดเตรียมตัวเองให้พร้อมรับ ‘การเปลี่ยนผ่าน’ ที่ว่านี้ เหมือนดินแดนสนธยา เหมือนช่วงโพล้เพล้ จากสว่างจะกลายไปเป็นมืดค่ำ จากเคร่งเครียดกลายไปเป็นผ่อนคลาย

นั่นทำให้การดื่มหลังเลิกงานเป็นเรื่องพิเศษสำหรับสังคมตะวันตก รวมไปถึงสังคมญี่ปุ่น อันเป็นสังคมที่จริงจังกับการทำงานอย่างมาก

สำหรับคนในสังคมแบบนี้ ทำงานคือทำงาน เล่นเป็นเล่น ปาร์ตี้เป็นปาร์ตี้ ทุกอย่างจึงจริงจัง และนั่นทำให้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเป็นช่วงเวลาสำคัญ

อย่างไรก็ตาม โรคระบาดกำลังเข้ามาดิสรัปต์แม้กระทั่ง ‘ชั่วโมงทำงาน’ ในแบบที่ถูกสร้างขึ้นมาให้แข็งแกร่งในสังคมมนุษย์นานราว 200 ปี พอเราต้อง work from home ‘เส้นแบ่ง’ ที่เคยขีดไว้ชัดเจนก็เริ่มพร่าเลือน เราอาจจะทำงานตอน 6 โมงเย็น ตี 4 หรือทำงานสลับกับเลี้ยงลูก เล่นกับแมว ฯลฯ ก็ได้

มีคนวิเคราะห์เอาไว้ว่า ถ้าหากสถานการณ์เป็นแบบนี้ยาวนานขึ้น ก็เป็นไปได้ที่โรคระบาดจะทำลาย ‘วิถีแห่งการทำงาน’ ที่เรามีอยู่ไป เส้นแบ่งอาจพร่าเลือนลง เราทำงานตอนไหนก็ได้ ไม่ทำงานตอนไหนก็ได้ และที่สำคัญก็คือ ช่วงเวลาแห่งการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ที่ผู้คนหันมาดื่มออนไลน์กันแบบ On-nomi และแบบอื่นๆ ก็น่าจะยืดขยายออกไปด้วย

นั่นเพราะผู้คนไม่รู้จะทำอะไร และในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็ถวิลหากันและกัน ถวิลหาสายสัมพันธ์ทางสังคมและการพบปะสังสันทน์ที่ถูกสั่งห้าม

การดื่มออนไลน์จึงมาแรง แต่ไม่ได้มาแรงเพียงเพราะคนอยากสำมะเลเทเมา หรือถูกขัดขวางห้ามการเป็น ‘แรด’ อย่างที่นักเขียนบางคนให้นิยามเอาไว้หรอก ทว่ามันคือสิ่งจำเป็นในทางวัฒนธรรมที่มีความเป็นมายาวนานและซับซ้อน เราจึงต้องทำความเข้าใจกับมันให้ดี

ขออย่าให้ได้เห็นการหยิบเอาสำนึกทางศีลธรรมจอมปลอมใด มาควบคุมบังคับการดื่มออนไลน์แบบลุ่นๆ โดยปราศจากความเข้าใจเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save