fbpx
อ่านสเปน กับ นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์

อ่านสเปน กับ นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์

 

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา สังคมสเปนและผู้สนใจยุโรปศึกษาต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับข่าวอดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1 แห่งสเปนเสด็จออกนอกประเทศหลังมีข่าวพัวพันคดีทุจริต ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่งของหลายสำนักข่าวต่างประเทศ

หากย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน กษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1 คือกษัตริย์ที่มีบทบาทในการช่วยให้สเปนที่ถูกแช่แข็งใต้ระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโกมาอย่างยาวนานถึง 36 ปี เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่ง ณ ขณะนั้น นับว่าเป็นเสียงแห่งสัญญาประชาคมของสังคมได้อย่างราบรื่น

ข้อถกเถียงที่มีต่อพระองค์เป็นหนึ่งในมิติของประเด็นการเมืองร่วมสมัยของสเปน รวมไปถึงความท้าทายกับการจัดการประวัติศาสตร์บาดแผล ปัญหาการแยกตัวคาตาลุญญา และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์

101 สนทนากับ รองศาสตราจารย์ นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสเปนและลาตินอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนย้อนมองเส้นทางประวัติศาสตร์จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย จนถึงทางแพร่งแห่งความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ของสเปน

เรียบเรียงจาก 101 One-On-One Ep.173 : อ่านสเปน – นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 28 ส.ค. 2563

 

สงครามกลางเมือง: รากฐานความขัดแย้งและหุบเหวสู่เผด็จการ

 

หากจะทำความเข้าใจว่าเหตุใดสเปนจึงตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการของนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ตั้งแต่ปี 1939-1975 หรือเป็นระยะเวลานานถึง 36 ปี เราต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สเปนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อน

รากฐานความขัดแย้งที่ว่านี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไปสู่ระบอบสาธารณรัฐในปี 1931 ซึ่งแม้ว่าสเปนจะปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐจนถึงปี 1936 กินเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่หยั่งรากลึกและรุนแรงมาก กล่าวคือการเมืองภายในประเทศแตกแยกออกเป็นสองขั้วระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา

รัฐบาลแรกที่ขึ้นมาคือรัฐบาลฝ่ายซ้าย ฐานสนับสนุนฝ่ายซ้ายได้แก่ กรรมกร แรงงานภาคเกษตรกรรม กลุ่มที่นิยมระบอบสาธารณรัฐ รวมทั้งคนในภูมิภาคที่มีแนวคิดชาตินิยมเป็นของตัวเองอย่างคาตาลัน ส่วนฝ่ายขวาซึ่งเป็นขั้วตรงข้าม ประกอบไปด้วยกลุ่มสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ เจ้าครองที่ดิน ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบอุตสาหกรรม และทหาร

นโยบายที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายมุ่งหมายว่าจะทำและท้ายที่สุดได้กลายเป็นปมความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาคือ การปฏิรูปสเปนให้ทันสมัย ภายในระยะเวลา 2 ปีแรกของยุคสาธารณรัฐ เกิดการปฏิรูปสำคัญอย่างน้อย 5 อย่าง ซึ่งที่จริงแล้วเป็นวาระการปฏิรูปที่ควรเกิดขึ้นก่อนหน้านี้และมีการต่อสู้มาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี เพราะฉะนั้น การผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ควรจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 100 ปี ให้เกิดขึ้นภายใน 2 ปีได้ จึงนับว่าเป็นการปฏิรูปที่ถอนรากถอนโคนมาก กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของฝ่ายขวาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

ประการแรกคือ ฝ่ายสาธารณรัฐออกนโยบายปฏิรูปกองทัพ ลดจำนวนทหารผ่านการใช้นโยบาย early retire ปิดโรงเรียนเตรียมทหาร และลดระยะเวลาเกณฑ์ทหารเพื่อลดงบประมาณในการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทน การปฏิรูปครั้งนี้ทำให้ฝ่ายกองทัพซึ่งมองว่าฝ่ายสาธารณรัฐเป็นศัตรูอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่พอใจมากกว่าเดิม

ประการที่สองคือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุว่า สเปนจะไม่มีศาสนาประจำชาติ ซึ่งแต่เดิมระบุว่ามีศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ หลังจากนั้นมีการออกกฎหมายออกมาเพิ่มว่า โบสถ์ของรัฐห้ามสอนหนังสือ ห้ามมีการประกอบพิธีทางศาสนานอกพื้นที่โบสถ์ และที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกคือ รัฐบาลออกนโยบายยกเลิกเงินอุดหนุนพระ พระและศาสนจักรจึงกลายเป็นอีกฝ่ายที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลฝ่ายซ้าย

ประการที่สาม มีการออกนโยบายปฏิรูปที่ดิน สืบเนื่องมาจากปัญหาการถือครองที่ดินขนาดใหญ่จนชาวนาจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน ต้องออกมาเป็นแรงงานรับจ้างภาคการเกษตร เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลฝ้ายซ้ายจัดสรรที่ดินจากเจ้าผู้ถือครองที่ดินที่มีที่ดินมากกว่าเพดานที่รัฐบาลกำหนดไปสู่มือของชาวนาไร้ที่ดิน เจ้าผู้ถือครองที่ดินจึงกลายเป็นศัตรูอีกกลุ่มของรัฐบาลฝ่ายซ้าย

ประการที่สี่คือ รัฐบาลออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เอื้อแก่แรงงานและสหภาพแรงงาน เช่น ออกกฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ กำหนดชั่วโมงการทำงานต่อวันและกำหนดให้จ่ายค่าจ้างหากมีการทำงานล่วงเวลา ทำให้นายจ้างและผู้ประกอบการไม่พอใจต่อการปฏิรูปเป็นอย่างมาก

ประการที่ห้า ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิรูปที่รุนแรงมากคือ รัฐบาลอนุมัติให้อำนาจการปกครองตนเองกับบคาตาลุนญา ซึ่งหมายความว่าคาตาลุนญาสามารถมีรัฐบาลเป็นของตนเองได้ มีอำนาจกำหนดนโยบายในการรักษาความสงบเรียบร้อย เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม อย่างที่เห็นได้ชัดคือมีการประกาศให้มีภาษาราชการสองภาษาคือ ภาษาสเปนกับภาษาคาตาลัน ฝ่ายที่ไม่พอใจต่อนโยบายให้อำนาจปกครองตัวเองแก่คาตาลุนญาที่สุดคือกองทัพ ในมุมของกองทัพ นโยบายเช่นนี้คือเป็นการทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในประเทศ

ปัญหาจากการปฏิรูปของรัฐบาลสาธารณรัฐฝ่ายซ้ายไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าควรทำหรือไม่ควรทำ อยู่ตรงที่การปฏิรูปเป็นไปอย่างถอนรากถอนโคนและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น การปฏิรูปจึงนำไปสู่การแบ่งแยกออกเป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาอย่างชัดเจน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน

การปฏิรูปนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างมาก หลังจาก 2 ปีที่ฝ่ายซ้ายปฏิรูป ก็เกิดการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ในครั้งนี้ฝ่ายขวาชนะเลือกตั้ง และเมื่อได้เป็นรัฐบาลก็ยกเลิกนโยบายการปฏิรูปของฝ่ายซ้ายทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เกิดความขัดแย้งภายในรัฐบางฝ่ายขวาเองจนนำไปสู่การยุบสภาอีกครั้ง ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายชนะ และนำนโยบายการปฏิรูปกลับมาใช้ใหม่ นอกจากความขัดแย้งในการเมืองรัฐสภาแล้ว ยังมีการใช้ความรุนแรงลอบฆ่าศัตรูทางการเมืองระหว่างฝ่ายด้วย สภาวะการเมืองที่ระส่ำระสายเช่นนี้นำไปสู่จุดที่นายพลฟรังโกตัดสินใจทำรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารประสบความสำเร็จเพียงครึ่งประเทศเท่านั้น เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลมีกำลังอาวุธของตนเองเช่นกัน และได้เปิดคลังอาวุธให้ประชาชนและกรรมกรไปใช้ต่อสู้กับฝ่ายกองทัพ การรัฐประหารจึงไม่จบลงด้วยการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จและตั้งรัฐบาลของฝ่ายกองทัพ แต่ตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง ประเทศแตกเป็นสองเสี่ยง เข่นฆ่ากันเอง โดยฝั่งหนึ่งเข้ากับฝ่ายรัฐบาล อีกฝั่งหนึ่งเข้ากับฝ่ายกองทัพ สงครามกลางเมืองกินระยะเวลายืดเยื้อถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี 1936-1939 ซึ่งนองเลือดมาก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5-6 แสนคนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 25 ล้านคน ณ เวลานั้น

อีกอย่างที่ทำให้สงครามกลางเมืองยืดเยื้อ รุนแรงและนองเลือดยิ่งขึ้นไปอีกคือ การแทรกแซงจากมหาอำนาจ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ยุโรปกำลังตกอยู่ภายใต้การรุกคืบของฮิตเลอร์และมุโสลินี สงครามกลางเมืองซึ่งเกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นอีกสมรภูมิที่ฝ่ายอักษะเข้ามาสนับสนุนกองกำลังและอาวุธ โดยเลือกหนุนหลังฝ่ายฟรังโก ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ได้รับการสนับสนุนในลักษณะเดียวกันจากสหภาพโซเวียตเช่นกัน แต่การแทรกแซงจากฝ่ายอักษะพลิกให้ฝ่ายฟรังโกซึ่งกำลังเพลี่ยงพล้ำกลับมาต่อสู้และได้เปรียบรัฐบาลฝ่ายซ้าย จนชนะสงครามกลางเมืองท้ายที่สุดในปี 1939 จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปี 1975 สเปนก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของฟรังโก

 

สเปนใต้เงาเผด็จการฟรังโก

 

ในระยะแรก แม้กระทั่งฝ่ายขวาที่สนับสนุนฟรังโกก็ไม่คาดคิดว่าฟรังโกจะครองอำนาจยาวนาน คาดการณ์แต่เพียงว่าจะอยู่ในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านเพื่อรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย รวมทั้งบริบทในช่วงรอยต่อจากสงครามโลกครั้งที่สองไปสู่สงครามเย็นในช่วงปี 1945-1955 ก็ไม่ได้เอื้อให้ฟรังโกครองอำนาจอยู่ได้อย่างง่ายดายนัก

ในช่วงปี 1945-1955 สเปนตกอยู่ในสภาวะบอบช้ำและอดอยากจากการที่เพิ่งผ่านสงครามการเมือง รวมทั้งหลายประเทศในยุโรปไม่ยอมรับระบอบฟรังโก มองว่าฟรังโกคือเศษซากเผด็จการฟาสซิสต์จากสงครามโลกครั้งที่สอง (ซึ่งแม้ว่าสเปนจะประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็มีท่าทีที่เอนเอียงไปทางฝ่ายอักษะอย่างเห็นได้ชัด)

ครั้งนี้ประเทศมหาอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ เลือกที่จะไม่แทรกแซงการเมืองภายในของสเปน แต่เลือกใช้วิธีกดดัน คว่ำบาตรทางการทูต ตัดความสัมพันธ์กับสเปน รวมทั้งสหประชาชาติได้ออกมติไม่ให้สเปนเข้าเป็นสมาชิกและมีมติให้ประเทศสมาชิกตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ถอนทูตของประเทศตัวเองในสเปน เพื่อบีบให้ระบอบฟรังโกตกอยู่ในสภาวะจนตรอก

อย่างไรก็ตาม การเมืองใต้บรรยากาศสงครามเย็นช่วยต่อลมหายใจให้ระบอบฟรังโก เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการพันธมิตรในยุโรปเพื่อต่อต้านการรุกคืบของระบอบคอมมิวนิสต์ จึงตัดสินใจกลับมาดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับสเปน และที่สำคัญ ยังให้เงินช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงครามผ่าน Marshall Plan อีกด้วย รวมทั้งสหประชาชาติและ NATO ก็มีมติให้สเปนเข้าเป็นสมาชิก ปรับความสัมพันธ์ทางการทูต ประเทศต่างๆ เริ่มกลับเข้ามาลงทุน ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจสเปนจึงเริ่มดีขึ้น จนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 ต้นทศวรรษที่ 1960 สเปนภายใต้ฟรังโกก็พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด พัฒนาจนเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จภายใน 10 ปี

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟรังโกอยู่ได้อย่างยาวนานคือ การใช้ความรุนแรงในการปกครอง กดปราบฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็คือฝ่ายซ้ายที่แพ้สงคราม หากหนีออกนอกประเทศไม่ทัน ก็โดนจับ บางส่วนถูกตัดสินประหารชีวิต บางส่วนติดคุก ฝ่ายตรงข้ามจึงอ่อนกำลังลงอย่างมาก แม้ว่าจะมีคนต้องการออกมาต่อต้านฟรังโกก็ตาม

 

เส้นทางสู่ประชาธิปไตย

 

เมื่อเศรษฐกิจพัฒนา และเริ่มเปิดรับสื่อจากโลกเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น สังคมสเปนก็เริ่มต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พร้อมที่จะออกจากระบอบเผด็จการและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย เพราะมองว่าสเปนเจริญทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ยังไม่เจริญทางการเมือง

ไม่เพียงแค่สังคมสเปนเท่านั้นที่ต้องการออกจากระบอบเผด็จการฟรังโก แม้แต่กลุ่มคนที่เคยสนับสนุนการขึ้นมามีอำนาจของฟรังโกอย่างกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ กลุ่มทุน ก็ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเพื่อให้เศรษฐกิจพัฒนาไปมากกว่านี้ และสามารถเข้าร่วม EEC ได้ (หนึ่งในเงื่อนไขของการเข้าเป็นสมาชิกคือ ประเทศต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และ EEC จะพัฒนาไปเป็น EU ในปัจจุบัน) หรือแม้กระทั่งกลุ่มหัวก้าวหน้าที่อยู่ในรัฐบาล ก็มองว่าต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

คำตอบของคำถามที่ว่า สเปนเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไรนั้น ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจความพยายามในการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์หลังจากฟรังโกขึ้นมาปกครองสเปนด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันกษัตริย์ก็มีบทบาทช่วยให้การเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ไร้การนองเลือด

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 ฝ่ายนิยมกษัตริย์เคยกดดันให้ฟรังโกฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์กลับขึ้นมาหลังจากประกาศออกมาเป็นกฎหมายว่าจะมีการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ไปเมื่อปี 1947 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลให้ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการอยู่ในมือของฟรังโกตลอดชีวิต และให้อำนาจฟรังโกในการแต่งตั้งรัชทายาท อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องตั้งภายในปีไหน ฟรังโกจึงเตะถ่วงการแต่งตั้งรัชทายาทอย่างเป็นทางการไปจนถึงปี 1969 แต่ก่อนหน้านี้ ฟรังโกก็ได้วางตัวรัชทายาทอย่างไม่เป็นทางการไว้ คือ เจ้าชาย ฮวน คาร์ลอส ซึ่งฟรังโกควบคุมการศึกษาและเส้นทางชีวิตไว้แล้วตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ เพื่อคงระบอบฟรังโกต่อไปหลังจากฟรังโกหมดอำนาจแล้ว

ในปี 1969 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของระบอบฟรังโก ฟรังโกจึงแต่งตั้งเจ้าชายฮวน คาร์ลอสขึ้นมาเป็นรัชทายาทพร้อมวางตัวนักการเมืองฝ่ายฟรังโกประกบให้เป็นนายกเพื่อสืบทอดอำนาจต่อ และเมื่อฟรังโกเสียชีวิตลงในปี 1975 เจ้าชายฮวนคาร์ลอสก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1

ในระยะแรกหลังขึ้นครองราชย์ คนสเปนเชื่อว่ากษัตริย์คือทายาททางการเมืองของฟรังโกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส มองว่าการปฏิรูปทางการเมืองคือทางออกที่ดีที่สุดท่ามกลางกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง อย่างที่เคยตรัสในวันขึ้นครองราชย์ไว้ว่า

“ข้าพเจ้าอยากจะเป็นผู้พิทักษ์กฎหมายทั้งหมด และอยากจะเป็นกระบอกเสียงให้กับความยุติธรรม ข้าพเจ้าเคารพในกฎหมาย และจะพยายามทำให้ทุกคนเคารพในกฎหมาย และใช้ความยุติธรรมเป็นหลักนำทางในการปกครองและต้องการเป็นกษัตริย์ของประชาชนทุกคน”

ซึ่งเมื่อตรัสไว้เช่นนี้ และย้ำว่า “ต้องการเป็นกษัตริย์ของคนสเปนทุกคน” การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเลือกวิธีล้มกระดาน ล้างอำนาจฝ่ายฟรังโกทั้งหมดออกจากระบบการเมืองทั้งหมดจึงไม่ใช่ทางออก หรือการคงระบอบฟรังโกไว้ก็ยิ่งไม่ใช่ทางออกเช่นกัน รวมทั้ง “ทุกคน” ที่ว่ามานี้ ยังหมายถึงแต่ละปัจเจกบุคคลในทุกวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในสเปน เพราะแต่ละแคว้นของสเปนมีความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้น การปฏิรูปทางการเมืองด้วยการประนีประนอมระหว่างทุกฝ่ายจึงเป็นทางเลือก

ดังนั้น บทบาทของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสคือ สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และปลดนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนที่ฟรังโกเลือกไว้ก่อนหน้านี้ แล้วเลือกอดอล์โฟ ซัวเรซ ขึ้นมาเป็นนายกแทน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายฟรังโกก็ตาม แต่ก็เป็นคนที่มีแนวคิดเชิงปฏิรูป

สิ่งที่ Suárez ผลักดันให้เกิดขึ้นในกระบวนการปฏิรูปคือ หนึ่ง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา และอย่างที่สองที่สำคัญคือ ออกกฎหมายปฏิรูปทางการเมือง ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่บนฐานของหลักการประชาธิปไตย ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน มีสิทธิ เสรีภาพ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญโดยให้มีทุกกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมและกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่าย centrist หรือฝ่ายชาตินิยมคาตาลันนำร่างเข้าไปโต้แย้งและผ่านในสภาร่างรัฐธรรมนูญ และท้ายที่สุด ทำประชามติเพื่อนผ่านร่างและประกาศใช้ในปี 1978

นอกจากบทบาทของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส และบทบาทของนายกรัฐมนตรีอดอล์โฟ ซัวเรซ แล้ว อีกปัจจัยที่เกื้อหนุนให้การเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จได้คือ การที่กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าต้องเจรจาประนีประนอมและร่วมมือกันจึงจะสามารถปฏิรูปทางการเมืองได้ อย่างฝ่ายซ้ายในระยะแรกก็ต้องการจะให้ล้างกระดาน ขจัดฝ่ายฟรังโกออกจากระบบการเมือง แต่เมื่อเจรจาแล้วก็ยอมประนีประนอมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน หรืออย่างฝ่ายขวาก็ยอมเจรจากับซัวเรซ ว่าจะไม่กลับมาแทรกแซงทางการเมือง

เหตุที่ทุกฝ่ายเห็นว่าการเจรจาคือทางออก เพราะสเปนเคยมีบาดแผลทางประวัติศาสตร์ความรุนแรงช่วงสงครามกลางเมืองและสมัยฟรังโก ในปี 1975 ทุกฝ่ายจึงยอมเจรจาประนีประนอม และท้ายที่สุด ก็มีการผ่านฎหมายรัฐธรรมนูญออกมาในปี 1978

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านก็ไม่ได้ราบรื่นตลอด เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ 1981 3 ปีหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 1978 ทหารกลุ่มหนึ่งในกองทัพสเปนที่ไม่พอใจกับแนวทางการปฏิรูปการเมืองในปี 1975 และมองว่ารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากฟรังโกเป็นรัฐบาลที่ควรปกครองต่อไปในอนาคต ทหารกลุ่มดังกล่าวจึงพยายามออกมาทำรัฐประหาร นำกำลังพล 50 คนเข้าไปในรัฐสภาตอนสภาผู้แทนราษฎรกำลังประชุม จับผู้แทนราษฎรเป็นตัวประกัน แล้วยึดรัฐสภา ออกเป็นภาพข่าว ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ออกมาแถลงจุดยืนช่วงประมาณตีหนึ่งของวันรุ่งขึ้นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สนับสนุนการกระทำใดที่ขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ท้ายที่สุด รัฐประหารครั้งดังกล่าวจึงล้มเหลว และก็เป็นครั้งสุดท้ายในสเปนที่มีความพยายามทำรัฐประหาร

การชำระล้างประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่เสร็จสิ้น

 

ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามกลางเมืองและช่วงระบอบฟรังโกนับว่าเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลและความทรงจำร่วมกันอันเจ็บปวดของสเปน โดยเฉพาะสำหรับฝ่ายซ้าย อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 รัฐบาลหลังช่วงเปลี่ยนผ่านเลือกที่จะจัดการกับความทรงจำเหล่านี้ด้วยการ ‘ลืม’ โดยการออกข้อตกลงที่เรียกว่า Pact of Forgetting (Pacto del olvido) ซึ่งแสดงให้เห็นเจตจำนงว่ารัฐบาลต้องการหลีกเลี่ยงการจัดการความทรงจำหรือรื้อฟื้นเรื่องราว หลีกเลี่ยงไม่ให้มีใครนำอดีตไปปลุกปั่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและป้องกันไม่ให้ความทรงจำนี้ทำลายเอกภาพในการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้สเปนมองและก้าวไปข้างหน้าในอนาคตได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 1977 ที่รัฐบาล Adolfo Suarez ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ยิ่งทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลพยายามที่จะลืมประวัติศาสตร์บาดแผล

แม้ว่ารัฐบาลพยายามให้ความทรงจำนี้เลือนหายไป แต่ก็ลืมไม่ได้ตลอด เพราะตะกอนความทรงจำยังอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือหนังสือ ก็มีการเขียนเกี่ยวกับความทรงจำบาดแผลออกมา และที่สำคัญ วิหาร Valley of the Fallen (Valle de los Caídos) ซึ่งเป็นมรดกตกทอกมาจากสงครามกลางเมืองก็ยังคงอยู่

การมีอยู่ของ Valley of the Fallen นำไปสู่ข้อโต้แย้งมากมายในสังคม อย่างแรกคือ วิหารนี้สร้างโดยฟรังโก ซึ่งเดิมที ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อฝังศพของคนที่เสียชีวิตจากสงครามกลางเมือง แม้ว่าในภายหลัง ฟรังโกจะนำศพของฝ่ายซ้ายมาฝังด้วยก็จริง (โดยไม่ได้รับการยินยอมจากครอบครัวผู้เสียชีวิต) แต่ในระยะแรก มีการฝังแต่เพียงศพของฝ่ายขวาเท่านั้น เมื่อฟรังโกเสียชีวิต ที่นี่ก็เป็นที่ฝังศพของฟรังโก คนที่ยังศรัทธาในฟรังโกยังคงเดินทางไปเคารพสักการะที่ Valley of the Fallen และที่สำคัญคือ แรงงานที่ใช้ในการสร้างวิหารนี้มาจากนักโทษการเมืองฝ่ายซ้าย ดังนั้น จึงยากมากที่ความทรงจำเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองจะหายไปจากสังคม เมื่ออนุสรณ์สถานที่นำมาซึ่งการถกเถียงอย่างมากในสังคมยังคงอยู่

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประวัติศาสตร์บาดแผลครั้งนี้ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาจัดการอีกครั้งหนึ่ง คือในปี 2004 ที่ฝ่ายซ้ายขึ้นมาเป็นรัฐบาล รัฐบาลฝ่ายซ้ายพยายามจะออกกฎหมายความทรงจำทางประวัติศาสตร์ (Historical Memory Law) โดยออกมาในปี 2007 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ประณามระบอบการปกครองของฟรังโก ระบุว่าห้ามจัดกิจกรรมทางการเมืองที่ Valley of the Fallen รวมทั้งระบุว่าต้องรื้อถอนสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับฟรังโกในพื้นที่สาธารณะ อย่างเช่นรูปปั้นหรือชื่อถนน นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณเพื่อขุดและพิสูจน์ตัวตนคนจำนวนมากที่เสียชีวิตและสูญหายไปในสงครามกลางเมืองเพื่อให้ญาติรู้ชะตาชีวิตของคนในครอบครัว

กฎหมายฉบับนี้ถูกโจมตีจากทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ในขณะที่ฝ่ายขวามองว่ากฎหมายรุนแรงไปและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขุดคุ้ยความทรงจำเหล่านี้ แต่ฝ่ายซ้ายกลับมองว่ากฎหมายอ่อนไป อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายแพ้การเลือกตั้งให้กับฝ่ายขวาในปี 2011 กระบวนการในการจัดการความทรงจำยุคฟรังโกจึงหยุดชะงักไป แม้ว่าจะไม่ได้มีการยกเลิกกฎหมายก็ตาม แต่รัฐบาลฝ่ายขวาก็ไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายระบุไว้

การจัดการประวัติศาสตร์หวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายของนายเปโดร ซานเชส (Pedro Sanchez) จากพรรค Spanish Socialist Worker’s Party กลับมาชนะการเลือกตั้งในปี 2019 และนำกฎหมายความทรงจำทรงประวัติศาสตร์กลับมาบังคับใช้ แต่นอกเหนือไปจากการจัดสรรงบประมาณในการสืบค้นผู้เสียชีวิตแล้ว รัฐบาลยังตัดใจย้ายที่ฝังศพของฟรังโกจากที่วิหาร Valley of the Fallen ไปยังสุสาน Mingorrubio ซึ่งเป็นสุสานของเทศบาลหนึ่งในมาดริด เพราะรัฐบาลมองว่าการฝังศพของฟรังโกที่วิหารและยังให้คนเดินทางไปเคารพได้นั้น นัยหนึ่งเป็นแสดงออกว่ายอมรับระบอบฟรังโก อย่างไรก็ตาม ยังคงถกเถียงได้ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลคือเกมการเมือง เพราะรัฐบาลตัดสินใจลงมือก่อนการเลือกตั้งเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น

หากถามว่า กระบวนการชำระประวัติศาสตร์บาดแผลจะมีทิศทางอย่างไรต่อไปอนาคต คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนได้เป็นรัฐบาล

 

ความท้าทายของสเปน: สถาบันกษัตริย์

 

เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการขึ้นพาดหัวข่าวเกี่ยวกับกรณีอดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสเสด็จออกนอกประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวมีที่มาที่ไปจากกรณีการตรวจพบว่าอดีตกษัตริย์มีส่วนเข้าไปพัวพันกับเงินจากกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีที่มาจากเงินสินบนของบริษัทสเปนที่เข้าไปดำเนินการสร้างรถไฟความเร็วสูงในซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์และบทบาทของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสเริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การตัดสินใจสละราชสมบัติและให้กษัตริย์ฟิลิเป ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบันขึ้นครองราชย์

เหตุที่นำมาสู่การตัดสินใจสละราชบัลลังก์เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์มีอยู่สองประการด้วยกัน ประการแรกคือ กรณีการล่าสัตว์ที่บอสวานาในปี 2012 ซึ่งเป็นช่วงที่สเปนกำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถึงขั้นมีคนตกงานกว่า 23% กรณีดังกล่าวนำมาสู่การถกเถียงอย่างรุนแรงเรื่องการใช้เงินของสถาบัน

ส่วนอีกประการหนึ่งซึ่งท้าทายภาพลักษณ์ของราชวงศ์สเปนมากคือ การที่อีญากี อูร์ดังการิน พระสวามีสามัญชนของเจ้าหญิงคริสตินา พระราชธิดาของอดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสเข้าไปพัวพันกับการคอร์รัปชันยักยอกเงินผ่านการดำเนินธุรกิจในองค์กรการกุศลไม่หวังผลกำไรชื่อ Nóos Institute ด้วยสองสาเหตุดังกล่าว ในปี 2014 กษัตริย์ฮวน คาร์ลอสจึงตัดสินใจสละราชบัลลังก์เพื่อรักษาและกอบกู้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์โดยให้เจ้าชายฟิลิเปขึ้นครองราชย์แทน

อย่างไรก็ตาม ก็เกิดปัญหาสืบเนื่องซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์สเปนอีกครั้ง ในช่วงต้นปี 2020 มีข่าวออกมาว่า กษัตริย์ฟิลิเปมีชื่ออยู่ในผู้ได้รับผลประโยชน์อันดับที่สองในฐานะทายาท (อดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสเป็นผู้รับผลประโยชน์อันดับแรก) จากเงินบริจาคของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียผ่านมูลนิธิ Lucus มูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญ ซึ่งมูลนิธินี้ตั้งอยู่ที่ปานามา มีบัญชีธนาคารอยู่ที่สวิส และที่สำคัญคือ ที่มาที่ไปของเงินก้อนดังกล่าวน่าสงสัย

ดังนั้น เพื่อตัดปัญหา กษัตริย์ฟิลิเปจึงออกแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังว่าจะไม่ขอรับมรดกจากเงินก้อนนั้น แต่จากนั้นไม่นาน เมื่อช่วงเดือนสิงหาก็มีข่าวออกมาว่า เงินก้อนดังกล่าวจากกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินสินบนของบริษัทสเปนที่เข้าไปสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างเมืองเมกกะและเมดินาที่ซาอุดิอาระเบีย จึงเริ่มมีการสืบสวนที่มาที่ไปของเงิน ปัจจุบันกรณีดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวน

ประเด็นสำคัญที่ตามมาคือ การสืบสวนสอบสวนจะนำไปสู่อะไรในท้ายที่สุด อย่างกรณีคอร์รัปชันและฟอกเงินที่อีญากีเข้าไปพัวพันนั้น ท้ายที่สุดหลังจากพบว่ามีความผิดจริง คดีดังกล่าวมีโทษจำคุก 5 ปี 10 เดือน ซึ่งนับว่าเป็นการสั่งจำคุกสมาชิกราชวงศ์ กรณีรับเงินบริจาคที่มีความน่าสงสัยจากกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียจึงนำไปสู่คำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ อย่างไรก็ตาม หากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนสละราชสมบัติในปี 2014 อดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสจะปลอดความผิด เพราะรัฐธรรมนูญสเปนคุ้มครองประมุขของรัฐจากการถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย

กรณีดังกล่าวย่อมนำมาสู่การถกเถียงระหว่างทั้งฝ่ายที่นิยมกษัตริย์และฝ่ายที่ไม่พอใจ ส่วนปฏิกิริยาของกษัตริย์ฟิลิเปและราชวงศ์สเปนจากทั้งกรณีคอร์รัปชันของพระสวามีเจ้าหญิงคริสตินาและกรณีเงินจากการลงทุนสร้างรถไฟในซาอุดิอาระเบียที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ พยายามแก้ปัญหาที่เกิดจากสมาชิกราชวงศ์อย่างเด็ดขาด อย่างกรณีคอร์รัปชั่นของอีญากี กษัตริย์ฟิลิเปก็ตัดสินใจถอดยศ Duke ของอีญากีและยศ Duchess ของเจ้าหญิงคริสตินา มีการลดจำนวนสมาชิกราชวงศ์ให้เหลือแค่กษัตริย์ฟิลิเป พระราชินี เจ้าหญิง 2 พระองค์ อดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสและราชินีโซเฟียเท่านั้น ไม่นับเจ้าหญิงคริสตินากับเจ้าหญิงเอเลนาซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของกษัตริย์ฟิลิเป รวมทั้งพยายามปรับภาพลักษณ์ของราชวงศ์ ปรับภาพลักษณ์ว่าเป็นกษัตริย์ของประชาชนที่เข้าถึงได้ มีความเรียบง่าย หากดูภาพข่าวหรือโพสต์ในโซเชียลมีเดียของราชสำนัก จะพบว่าภาพมีลักษณะสื่อออกมาถึงภาพลักษณ์ในลักษณะดังกล่าว

ในช่วงเดือนสิงหาคม 2020 ภาพข่าวที่เห็นได้บ่อยมากคือ พระองค์เสด็จเดินสายตามแคว้นต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนในช่วงที่โควิดระบาดหนัก รวมทั้งยังทรงงานในช่วงที่เป็นฤดูกาลพักร้อนของสเปน หากมองจากฝ่ายกษัตริย์นิยม กษัตริย์ฟิลิเปนับว่ามีภาพลักษณ์ที่ดีมาก ไม่ค่อยมีข่าวในทางลบ

 

ความท้าทายของสเปน: ปัญหาคาตาลุนญา

 

อีกประเด็นหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นความท้าทายของสเปนคือ กรณีคาตาลุนญา ซึ่งเคยออกมาประกาศทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนในปี 2017

เหตุผลที่คาตาลันต้องการแยกตัวออกมาเป็นเอกราชคือ หนึ่ง เหตุผลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ในอดีต คาตาลันเคยเป็นมณฑลปกครองตนเอง มีประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของตนเองมาตลอด ก่อนเข้าร่วมกับอาณาจักรอื่นๆ และรวมตัวเป็นสเปน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลกลางพยายามจะกดขี่คาตาลัน กดทับทางอัตลักษณ์ อย่างเช่นเวลาเรียนประวัติศาสตร์ ก็จะเรียนแต่ประวัติศาสตร์จากฝั่งมาดริด แต่ไม่ค่อยกล่าวถึงประวัติศาสตร์ฝั่งบาร์เซโลนาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฝั่งคาตาลัน หรืออย่างที่เห็นชัดที่สุดคือในช่วง 36 ปีของระบอบฟรังโก มีการห้ามสอนภาษาคาตาลันในโรงเรียน ห้ามใช้ภาษาคาตาลันในที่สาธารณะ รวมไปถึงห้ามทุกอย่างที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมคาตาลัน เช่น ธง การแสดง ความรู้สึกถูกกดทับของคนคาตาลันจึงสะสมอยู่ในใจมานาน

เหตุผลที่สองคือเหตุผลทางการเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการปกครองในสเปนช่วงเปลี่ยนผ่านในทศวรรษที่ 1970 รัฐธรรมนูญฉบับปี 1978 ระบุให้สเปนแบ่งการปกครองเป็นแคว้น 17 แคว้น โดยแต่ละแคว้นมีอำนาจปกครองตนเอง (เรียกว่า autonomous communities หรือ comunidad autónoma) ซึ่งคาตาลันเป็นหนึ่งใน 17 แคว้นดังกล่าว

รัฐธรรมนูญฉบับนี้นับได้ว่าเป็นการประนีประนอมให้อำนาจการปกครองบางส่วนกับคาตาลันทางการศึกษา วัฒนธรรม และภาษา แต่อำนาจหลายส่วน รวมทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ที่รัฐบาลกลาง ซึ่งจะนำมาสู่ความไม่พอใจเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจของคาตาลันในช่วงปี 2000 และกลายเป็นสาเหตุที่สาม ที่คาตาลันต้องการจะแยกตัวออกเป็นอิสระ

ที่จริงแล้ว คาตาลุนญาเป็นแคว้นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย แต่คาตาลุนญามองว่าระบบจัดเก็บภาษีซึ่งให้อำนาจรัฐบาลกลางในการกระจายภาษีให้แคว้นต่างๆ นั้นไม่เป็นธรรม เพราะคาตาลุนญาต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลกลางมหาศาล แต่รัฐบาลกลับจัดสรรภาษีพัฒนาแคว้นยากจนทางตอนใต้ และกลับมาพัฒนาคาตาลันได้ไม่มากเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางมองว่าการจัดสรรงบประมาณให้กับแคว้นที่ต้องการเป็นเรื่องจำเป็น มุมมองที่ต่างกันระหว่างรัฐบาลกลางและคาตาลุนญาจึงเป็นข้อขัดแย้งอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

แม้ว่าจะมีกระแสความไม่พอใจอยู่ตลอด แต่กระแสการเรียกร้องเอกราชเพิ่งเริ่มต้นในช่วงปี 2010 จากการที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายเสนอนโยบายปฏิรูปกฎหมายปกครองตนเอง โดยให้อำนาจการปกครองคาตาลันมากขึ้น ทางคาตาลุนญาเองก็ต้องการปฏิรูปเพราะมองว่าการปฏิรูปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 1978 ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปแล้ว ข้อเสนอของทางรัฐบาลคาตาลุนญาที่ผ่านประชามติในแคว้นและผ่านมติของสภาผู้แทนราษฎรเสนอว่าต้องให้อำนาจคาตาลุนญาในการเก็บภาษี และให้ตั้งศาลฎีกาในคาตาลุนญา จากเดิมที่อำนาจศาลฎีการวมศูนย์อยู่ที่มาดริด

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าฝ่ายค้านยื่นคัดค้าน และยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากฎหมายปฏิรูปฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายข้อ เป็นอันว่ากฎหมายปฏิรูปต้องตกไป และช่องทางในการต่อสู้ผ่านวิธีทางกฎหมายต้องถูกตัดไป ปูทางไปสู่การออกมาประกาศทำประชามติขอเอกราชในปี 2014 และ 2017 ซึ่งหลังจากที่คาตาลุนญาประกาศเอกราชช่วงสั้นๆ หลังผลการทำประชามติในปี 2017 ออกมาว่าต้องการเอกราช รัฐบาลกลางที่มาดริดตัดสินใจประกาศใช้มาตรา 155 ให้อำนาจรัฐบาลกลางในการแทรกแซง ยึดอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นในกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่นดำเนินการอะไรบางอย่างที่ขัดต่อกฎหมาย และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

หากถามว่าปัญหาคาตาลุนญาจะมีทิศทางต่อไปอย่างไรในอนาคต ต้องตอบว่าปัญหานี้จะยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ และการแยกตัวออกเป็นเอกราชจะไม่เกิดขึ้น เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดให้มีการกระจายอำนาจในลักษณะอื่นหรือให้แยกตัวได้

แม้ว่ากระแสต่อต้านรัฐบาลกลางที่มาดริดจะสูงขึ้นหลังจากที่เริ่มมีการตัดสินจำคุกผู้นำทางการเมืองที่ร่วมขบวนการประชามติ แต่ล่าสุด ผลสำรวจความเห็นเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า กระแสเรียกร้องเอกราชแผ่วลงเพราะโควิดระบาด ผลสำรวจออกมาว่า 50% ของชาวคาตาลันบอกว่าไม่ต้องการเอกราชแล้ว ซึ่งนับได้ว่าสูงที่สุดในรอบ 6 ปี

คาดการณ์ว่าการต่อสู้ของคาตาลันในอนาคตจะไม่ใช่การเรียกร้องเอกราช แต่อาจเป็นการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้อำนาจการปกครองตนเองที่เพิ่มมากขึ้น แต่จะเจรจาได้มากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วยว่าเป็นรัฐบาลพรรคฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา หากเป็นรัฐบาลฝ่ายขวา การเจรจาอาจเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเป็นรัฐบาลฝ่ายซ้าย ก็มีแนวโน้มที่พร้อมจะเจรจามากกว่า แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายเปโดร ซานเชส มีท่าทีพร้อมจะเจรจา แต่การเจรจาต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่สนับสนุนให้ใช้การทำประชามติ และพร้อมที่จะใช้อำนาจมาตรา 155 แทรกแซงรัฐบาลคาตาลุนญา

หากถามว่าคนสเปนคิดอย่างไรกับการแก้ไขปัญหาการเรียกร้องเอกราชของคาตาลุนญา จากการสำรวจครั้งล่าสุด คนสเปนกว่า 60% ต้องการให้มีการเจรจา และมีเพียง 20% เศษเท่านั้นที่ต้องการให้ใช้ไม้แข็ง ผลการสำรวจครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณว่าต้องมีการคุยกัน นอกจากนี้ คนสเปนไม่ได้มองปัญหาคาตาลันว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ต้องแก้อีกต่อไปแล้ว จากการสำรวจ ตอนนี้สิ่งที่คนมองว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดอันดับหนึ่งคือปัญหาโควิด ส่วนปัญหาคาตาลันตกไปอยู่ที่ประมาณอันดับสามหรือสี่ จากเดิมที่เคยเป็นอันดับแรก

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save