fbpx
สงครามทวิตเตอร์จีน-ไทย : Lost in Translation

สงครามทวิตเตอร์จีน-ไทย : Lost in Translation

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

กลางเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดการตอบโต้กันอย่างดุเดือดบน ‘ทวิตเตอร์’ ระหว่างชาวจีนแผ่นดินใหญ่กับชาวไทย เกี่ยวกับประเด็นที่นักแสดงชาวไทยและแฟนสาวของเขาถูกโจมตีจากทวิตเตี้ยนจีนว่าแสดงทัศนะสนับสนุนฮ่องกงและไต้หวัน โดยสงครามทวิตเตอร์ครั้งนี้มีการใช้แฮชแท็กหลักว่า #nnevvy ซึ่งต่อมาคลี่คลายเป็นชื่อของแฟนเพจ @Nnevvy บน ‘เฟซบุ๊ค’ และชื่อเรียกประเภทของ ‘มีม’ แบบแสบๆ ขำๆ ที่สร้างขึ้นมาตอบโต้กับจีนโดยชาวไทย ซึ่งต่อมารวมถึงชาวฮ่องกง ไต้หวัน และชาติอื่นที่อยู่ฝ่ายเดียวกับไทย

สงครามทวิตเตอร์ครั้งนี้มีการใช้ภาษาเข้าประทุษร้ายความรู้สึกกันถึง 3 ภาษา คือภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (ถ้านับภาษา “มีม” ด้วยก็มีสี่ภาษา)

ต่างฝ่ายต่างพยายามเข้าใจภาษาของอีกฝ่ายหนึ่งจนได้ แถมมีบางคนเสนอทัศนะขำปนจริงว่า ที่มาของสงครามทวิตเตอร์ครั้งนี้เกิดจากการใช้ Machine Translation แปลคำพูด “รายง่ะ” ของแฟนสาวของนักแสดงไทย เมื่อถูกชมว่าภาพสวยเหมือนสาวจีน ออกมาเป็น “What?” ซึ่งคนจีนมองว่าเป็นการดูแคลนความเป็นจีน ในขณะที่คนไทยมองว่าเป็นการแสดงอารมณ์ขวยเขินมากกว่า

ความร้อนแรงของสงครามวาทะนี้ลามไปจนถึงขั้นที่เพจสถานทูตจีนประจำประเทศไทย @ChineseEmbassyinBangkok ได้โพสต์สเตตัส 3 ภาษา (จีน-อังกฤษ-ไทย) เป็น “แถลงการณ์เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อประเทศจีนบนโลกออนไลน์” เมื่อวันที่ 14 เมษายน ซึ่งมีเนื้อหาตำหนิการแสดงความคิดเห็นของเสียงนกเสียงกาที่บังอาจโต้แย้งกับ “หลักการจีนเดียว”

การอ้างถึงสัมพันธภาพอันแน่นหนาระหว่างสองประเทศที่สะท้อนผ่านสำนวน “จีนไทย ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” และการยืนยันว่าจีนไม่ควรถูกติเตียนในฐานะต้นกำเนิดของการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากไวรัสไม่มีพรมแดนและไม่มี “บาปดั้งเดิม”

แถลงการณ์บนหน้าเฟซบุ๊คกลับทำให้ทวิตเตี้ยนไทยที่ยังอารมณ์ค้างมาจาก #nnevvy รู้สึกโกรธหนักขึ้น จนกระทั่งเกิดการตั้งกระทู้บนทวิตเตอร์อย่างกว้างขวางด้วยแฮชแท็ก ภาษาอังกฤษ #MilkTeaAlliance และภาษาไทย #ชานมข้นกว่าเลือด เพื่อโต้ตอบกับการอ้างความเป็นพี่น้องร่วมครอบครัวกันระหว่างจีนและไทย โดยเป็นการเล่นคำกับสำนวน “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ” ในภาษาไทย ซึ่งหมายความว่า ญาติพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกันย่อมดีและสำคัญกว่าคนอื่นเสมอ

แต่สำหรับทวิตเตี้ยนชาวไทยกลุ่มนี้ถือว่าการเลือกเป็นมิตรกับใครบนพื้นฐานของความเชื่อและรสนิยมของแต่ละบุคคล ดังนั้น ถึงเลือดจะข้นกว่าน้ำ แต่ชานมข้นกว่าเลือด ทั้งนี้โดยอ้างถึงความนิยมในการดื่มชานมของชาวไทย ชาวไต้หวัน และชาวฮ่องกง

“ดราม่า” ครั้งนี้ได้รับความสนใจในสื่อต่างประเทศอย่างกว้างขวาง อาทิ รอยเตอร์, นิวยอร์คไทม์, ซีเอ็นเอ็น, สเตรทสไทม์, เดอะดิโพลแมต ฯลฯ เนื่องจากเป็นกรณีแรกๆ ที่กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาตินิยมแข็งกร้าวชาวจีนสองกลุ่ม ต้องประสบความปราชัยในสงครามวาทะกับชาวโซเชียลมีเดียในต่างประเทศ ท่ามกลางเสียงปรบมือของชาวโซเชียลมีเดียนานาชาติ และเป็นกรณีที่โฆษกสถานทูตจีนถึงกับออกมาแสดงความเห็นโต้ตอบกับประชาชนต่างประเทศด้วยตนเอง

ชาวโซเชียลฯ ชาตินิยมจีนสองกลุ่มที่ออกมาพบกับความปราชัยนอกกำแพงใหญ่นี้ เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกผ่านสมญานาม “50 เซนต์” (มาจากภาษาจีน “หวู่เหมา” wu3 mao2 [เลข=เสียงวรรณยุกต์ 1-4 ในภาษาจีนกลาง] หรือ 5 dime [1 dime = 10 cents]) จากคำกล่าวหาว่าเป็นพวกที่รับเงินเพื่อโพสต์เชียร์รัฐบาล-พรรคคอมมิวนิสต์จีน และสมญานาม “ชมพูน้อย” (มาจากภาษาจีน “เสี่ยวเฝิ่นหง” xiao3 fen3 hong2 หรือ little+powder+red [powder+red = pink]) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอายุน้อยที่มีความรักและภูมิใจในชาติของตนเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูชนิดที่ไม่ตั้งคำถามใดๆ

หากเปรียบกับชาวโซเชียลฯ ไทย พวก “หวู่เหมา” ก็จะคล้ายกับพวก “ไอโอ” (IO – Information Operation) หรือพวกนักปฏิบัติการสงครามข่าวสารที่สนับสนุนรัฐบาลและกองทัพ ในขณะที่พวก “เสี่ยวเฝิ่นหง” จะคล้ายกับพวก “สลิ่ม” ซึ่งเป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่โยงอัตลักษณ์ส่วนบุคคลเป็นหนึ่งเดียวกับสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นชาติ (ทวิตเตี้ยนไทยบางคนเรียกคู่วิวาทะของตัวเองว่า “สลิ่มจีน”)

อย่างไรก็ตาม หลายสื่อได้อธิบายที่มาของความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้ทวิตเตอร์จีนไทยไว้แล้ว ทั้งยังให้ความรู้พื้นหลังเกี่ยวกับนักชาตินิยมจีนในโซเชียลมีเดีย

ผู้เขียนจึงอยากชวนติดตามเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับ “แถลงการณ์” 3 ภาษาบนเฟซบุ๊คของสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ซึ่งมีทั้งประเด็นการ Lost in Translation เช่น การแปลคำว่า “หวังชื่อ” (wang2 shi4) เป็นไทยว่า “พระบรมวงศานุวงศ์” และเป็นอังกฤษว่า “royal family” สะท้อนน้ำหนักที่ต่างกันของศัพท์เกี่ยวกับกษัตริย์ในสองภาษาปลายทาง และประเด็นความหมายแฝงอารมณ์ที่แปรไปตามมุมมองของแต่ละคน เช่น คนไทยเชื้อสายจีนที่ชื่นชมพรรคคอมมิวนิสต์จีนและที่ตรงกันข้าม จะให้ความหมายกับการอพยพสู่ไทยของบรรพบุรุษในแสงเงาที่ต่างกัน ซึ่งมีทั้งแบบหวนหาอดีต สิ้นชาติขาดกัน และ I don’t care

ผู้เขียนขอยกแถลงการณ์ฯ ทั้งข้อความเฉพาะในภาษาไทยมาแสดงซ้ำไว้ในบทความนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นความหมายแฝงอารมณ์ (ภาพข้างล่าง วิเคราะห์โดยโปรแกรม S-Sense ของเนคเทค ซึ่งทำงานโดยหลักการนับจำนวนคำที่ให้ความรู้สึกบวก-ลบและเป็นกลาง แล้วนำมาหักลบกลบหนี้กัน) ที่แตกต่างกันในแต่ละส่วน (ผู้ที่สนใจแถลงการณ์นี้ในแง่ของภาษาแปล ผู้เขียนได้ทำ text alignment ระดับประโยคเอาไว้แล้ว ขอเชิญท่านอ่านได้ตามความสนใจ)

 

โปรแกรม S-Sense ของเนคเทค

 

เราจะเห็นได้ว่าเนื้อหาที่แสดงความรู้สึกลบอย่างรุนแรงปรากฏอยู่ในย่อหน้าแรกของแถลงการณ์ กล่าวถึงหลักการจีนเดียวที่ “ไม่ต้องสงสัย” ซึ่งหากมีใครที่คิดคลาดเคลื่อนไปจากนี้ต้องถูกคัดค้าน

ดังนั้น “ความคิดเห็นส่วนบุคคล” (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า noises หรือเสียงประเภท “มะริ่งกิ่งก่องสะระน๊องก่องแก่ง” ไร้ความหมาย) ของคนไทยบางคนย่อมสะท้อน “อคติ” และ “ความไม่รู้”

แต่คนที่ “มุ่งร้าย” และ “ยุแยงให้ผู้คนผิดใจกัน” เหล่านั้นจะไม่มีทางทำได้สำเร็จ (ไม่พูดเลยว่าคนจีนเป็นฝ่ายเริ่มปะฉะดะบนทวิตเตอร์ก่อน)

เพราะรัฐบาลและคนไทยส่วนใหญ่ยึดมั่นหลักการจีนเดียว เพราะมิตรภาพระหว่างจีน-ไทยมีมานาน เพราะ “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” เพราะจีน-ไทยให้ความช่วยเหลือกันมาตลอดในวิกฤตการณ์ต่างๆ ของทั้งสองประเทศ รวมทั้งวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งไม่ควรจะโทษว่าเป็นโรคระบาดที่เริ่มต้นที่จีน แต่ควรจะร่วมมือกันบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ฉันมิตร

ในภาษาไทยนั้น คำว่าเครือญาติ ครอบครัว และพี่น้อง ให้แง่มุมของความสัมพันธ์ของความสัมพันธ์เชิงครอบครัวที่แตกต่างกันไปสามแง่ คนเป็นญาติอาจจะไม่ได้อยู่ร่วมครอบครัวเดียวกันหรืออาจจะไม่ได้นับถือกันตามลำดับอาวุโสแบบพี่น้องก็ได้ ในขณะที่ครอบครัวแสดงความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาอาศัยที่อาจจะไม่ได้ยึดโยงกันโดยเครือญาติ และความเป็นพี่น้องย่อมแสดงการยอมรับลำดับอาวุโสสูงต่ำบนพื้นฐานความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มาจากความเคารพนับถือกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นญาติหรือครอบครัวก็ได้

การแปลสำนวนในภาษาจีน “จงไท่ อีเจียชิน” (zhong1 tai4 yi1 jai1 qin2 [China-Thailand-one-family-parent]) เป็น “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” (ในภาษาอังกฤษ ที่หนึ่งแปลว่า “China and Thailand as one family” อีกที่หนึ่งขยายความเพิ่มเติมเป็น “the kinship of ‘China and Thailand as one family’”) ได้เปิดช่องให้คนไทยที่กำลังหงุดหงิดส่วนหนึ่งตั้งเป็นคำถามเหน็บแนมต่อว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง ทั้งๆ ที่คำในภาษาต้นฉบับให้ความหมายไปในทางเครือญาติมากกว่าครอบครัวที่สนิทสนมกัน หรือความสัมพันธ์ตามอาวุโสแบบ “พี่น้อง” ในภาษาไทย

แม้ข้อความส่วนใหญ่ในย่อหน้าที่ 2 และ 3 ของแถลงการณ์จะให้ความหมายเป็นบวก และทำให้ภาพรวมของแถลงการณ์ให้ความรู้สึกที่เป็นบวกกว่าในมุมมองเชิงปริมาณ แต่สำหรับคนไทยที่มองว่าโฆษกสถานทูตจีนพยายามยัดเยียด “หลักการจีนเดียว” ลงคอหอยคนไทยที่อาจจะคิดไม่สอดคล้องกับรัฐบาลของตัวเอง โดยไม่ยินยอมให้ใครปฏิเสธได้

ภาพรวมของแถลงการณ์จึงให้ความรู้สึกเป็นลบไปด้วย (นอกเรื่อง : ประเด็นนี้สะท้อนจุดอ่อนของการวิเคราะห์ Sentiment Analysis ด้วย AI ที่ใช้วิธีเชิงปริมาณเป็นฐาน ขัดกับสามัญสำนึกของผู้ใช้ภาษาส่วนมากที่การพูดผิดหูแค่คำเดียวส่งผลให้คำอื่นๆ ติดลบไปด้วย)

แต่การแปลที่เป็นปัญหาที่สุดในแถลงการณ์นี้ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่คำๆ หนึ่งในประโยคแรกของย่อหน้าสุดท้ายของแถลงการณ์ ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า‘ไวรัสไม่มีพรมแดน ยิ่งไม่มี “บาปดั้งเดิม”’ และแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Virus respects no borders, and there is no “sin” when it comes to this epidemic.’

คำว่า “หยวนซุ่ย” (yuan2 zui4 [source; origin+sin; crime]) ในแถลงการณ์ภาษาต้นฉบับเอาไปแปลด้วยเครื่องมือช่วยแปลที่ไหนก็จะได้ความหมายว่า “original sin” หรือ “บาปกำเนิด/ดั้งเดิม” (ผู้เขียนทดสอบกับ 4 เครื่องมือช่วยแปล คือ DeepL, Yabla, Yandex, Google และ Bing) ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเราพิจารณาเรื่องนี้ในบริบทก็จะเห็นว่าทางการจีนมีความรู้สึกละเอียดอ่อนเป็นพิเศษกับทัศนะของชาวโลกเกี่ยวกับการเรียกชื่อไวรัสโควิด-19 ว่าไวรัสอู่ฮั่น หรือการอภิปรายเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดถึงการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อไวรัสจากคนสู่คนและการควบคุมโรคในระยะแรกของการระบาด

 

คำว่า “หยวนซุ่ย” (yuan2 zui4 [source; origin+sin; crime]) ในแถลงการณ์ภาษาต้นฉบับเอาไปแปลด้วยเครื่องมือช่วยแปลที่ไหนก็จะได้ความหมายว่า “original sin” หรือ “บาปกำเนิด/ดั้งเดิม” (ผู้เขียนทดสอบกับ 4 เครื่องมือช่วยแปล คือ DeepL, Yabla, Yandex, Google และ Bing)

 

การนำข้อความ 3 ภาษามาวางเปรียบเทียบกันแบบประโยคต่อประโยคในลักษณะนี้ยังทำให้เราเห็นแง่มุมของการให้ความหมายกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ-ประเทศและประชาชน-ประชาชนที่แตกต่างกันระหว่างจีนและไทย

ถ้าเรานำมาพิจารณาประกอบกับลักษณะที่แปลกประหลาดของสงครามทวิตเตอร์ครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น (ทวิตเตี้ยนจีนกล่าวโจมตีฐานะทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ รัฐบาล และพระมหากษัตริย์ โดยคิดว่าทวิตเตี้ยนไทยต้องรู้สึกเจ็บปวด แต่ความจริงแล้วไม่ได้เกิดผลตามคาดเลย โดยที่ฝ่ายจีนเองก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร)

ในย่อหน้าที่สองของแถลงการณ์ฯ เราจะเห็นว่ามีการยกตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่าง “สองประเทศ” ผ่านทาง “พระบรมวงศานุวงศ์” “รัฐบาล” “ผู้ประกอบการ” และ “แวดวงสังคม” ซึ่งสะท้อนสถานะความเป็นตัวแทนประเทศในทัศนะของจีน ในขณะที่ทวิตเตี้ยนส่วนใหญ่ของไทย ที่เป็นคนอายุน้อย มีทัศนะทางการเมืองแบบเสรีนิยม ค่อนข้างมีความรู้สึกแปลกแยกกับสถาบันทางสังคมการเมืองในประเทศของตัวเอง และไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าเป็นตัวแทน หรือเป็นเครื่องหมายบ่งชี้อัตลักษณ์ของตัวเองมากนัก หรืออย่างน้อยถึงจะมีส่วนอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากอย่างที่ทางการจีนหรือพวก “หวู่เหมา” และ “เสี่ยวเฝิ่นหง” ของจีนคิด

ในทางกลับกัน เมื่อจีนพยายามขีดเส้นใต้ความสัมพันธ์กับสถาบันทางสังคมการเมืองของไทยที่คนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นเสรีนิยมทางการเมือง กลับยิ่งทำให้คนเหล่านั้นมองว่าทางการจีนไปสนับสนุนสิ่งที่พวกเขาไม่ใช่ตัวแทนของตน แถมยังมองว่าเป็นสิ่งที่มาจำกัดสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตเสียอีกด้วย

ดังนั้นแทนที่พวกเขาจะเกิดความรู้สึกประทับใจเมื่อได้ยินสำนวน “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ที่ตกทอดมาจากคนรุ่นก่อน พวกเขากลับจะรู้สึกแปลกแยกกับครอบครัวที่กดขี่นี้มากยิ่งขึ้นไปอีก และหันไปรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับครอบครัวคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและอิสรภาพในไต้หวันและฮ่องกงแทน

สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยกลัวมาตลอด คือการผลักดันให้คนรุ่นใหม่ “ชังชาติ” รู้สึกเป็นพวกเดียวกับนักเรียกร้องอิสรภาพในไต้หวันและฮ่องกง แล้วยิ่งต่อต้านการแช่แข็งประเทศไทย พวกเขากลัวว่าพรรคการเมือง นักการเมืองฝ่ายค้าน และผู้สนับสนุนจะทำแบบนั้น

เปล่า! ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองของประเทศอื่นช่วยทำให้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save