fbpx

เมื่อรัฐปราบหนัก : การเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรงจะเอาชนะได้อย่างไร

เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรงเผชิญหน้ากับการปราบปรามอย่างหนัก มักนำไปสู่ข้อถกเถียงและคำถามต่อวิธีการนี้ว่า “จะนำไปสู่ชัยชนะได้อย่างไร?” พร้อมกันนั้น แนวทางที่ไม่ปฏิเสธความรุนแรงจะปรากฏตัวเป็นคู่แข่งและมีพลังมากขึ้น

ในฐานะผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรง ผู้เขียนจึงขอเสนอคำอธิบายว่า ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเอาชนะรัฐที่ใช้วิธีการปราบปราบได้อย่างไร ผ่าน ‘9 ข้อเสนอว่าด้วยความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่’ โดยประมวลสรุปจากการอ่านงานของ เลสเตอร์ อาร์. เคิร์ตซ์ (Lester R. Kurtz) ลี เอ. สมิธตี (Lee A. Smithey) และคณะ ในหนังสือ The Paradox of Repression and Nonviolent Movements (2018) ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ ‘มือหนึ่ง’ จากผู้มีส่วนในปฏิบัติการไร้ความรุนแรงโดยตรง และมุมมองนักวิชาการที่ติดตามวิจัยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำในที่นี้ว่า ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง หรือ non-violent action นั้น ไม่ใช่การอยู่เฉยๆ นั่งพับเพียบหรือสวดมนต์อย่างที่เข้าใจกัน และไม่จำเป็นต้องสงบเรียบร้อยด้วย แต่เป็นการกระทำ (action) อย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีเส้นขั้นต่ำที่ยอมรับร่วมกัน คือ ความรุนแรงทางกายภาพที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือล้มตาย ส่วนต่อทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชนนั้นเป็นข้อถกเถียงและนิยามแตกต่างกัน แต่ระดับของการกระทำนั้นจะมีลักษณะและความเป็นไปได้ของการตอบสนองที่แตกต่างกัน

1. ความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับตัวขบวนการ

เพื่อเข้าใจความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่ จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของ ‘ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movements)’ ก่อนว่าเป็นการกระทำรวมหมู่ (collective action) ที่มีเป้าหมายร่วมกัน อาจเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมหรือรักษาสถานภาพเดิมก็ได้ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวทางสังคมถือว่าเป็นการกระทำนอกสถาบันการเมืองปกติ (extra-institutional channel) เพราะสถาบันที่มีอยู่ไม่อาจตอบสนองความต้องการได้ โดยเป้าหมายของการกระทำอยู่ที่รัฐหรือเอกชนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมักเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอไม่ว่าจะในฐานะผู้มีอำนาจ ผู้คุมกฎ หรือคู่ขัดแย้งเสียเอง รูปแบบการเคลื่อนไหวทางสังคมที่คุ้นเคยกันส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการกระทำทางตรง (direct action) เช่น การเดินขบวน ชุมนุมประท้วง เป็นต้น

วิถีทางในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของขบวนการเคลื่อนไหว คือการโน้มน้าวชักจูงหรือบังคับให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเปลี่ยนใจ ด้วยการสร้างสถานการณ์ขึ้น ผ่านการระดมผู้คนและทรัพยากรต่างๆ (mobilization) สร้างกิจกรรมเพื่อกดดันต่อเป้าหมาย ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐมักจะทำคือพยายามทำลายหรือลดทอนการระดม (de-mobilization)

ดังนั้น ความสำเร็จหรือล้มเหลวของขบวนการจึงเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่าง 1) รัฐหรือเป้าหมายของขบวนการ ที่จะพัฒนาการวิธีการต่างๆ ขึ้น รวมทั้งการปราบปราม มาตอบโต้ กับ 2) ขบวนการเคลื่อนไหวเองที่ต้องพัฒนานวัตกรรม เพื่อเอาชนะการปราบปราม

ในแง่นี้ ขบวนการเคลื่อนไหวที่ชนะจึงเป็นขบวนการที่สามารถเอาชนะการปราบปรามได้และบีบให้ยอมจำนนในที่สุด

2. ความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่ ยิ่งปราบยิ่งแพ้

‘การปราบปรามกดขี่ (repression)’ เป็นความพยายามของผู้ครองอำนาจในการบั่นทอนการระดมมวลชนและทรัพยากรของขบวนการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านระบอบ บรรษัท หรือสถาบันที่มีอำนาจต่างๆ โดยนักวิชาการมักนิยามแบบแคบว่าเป็นการลงโทษทางกายภาพหรือคุกคามต่อบุคคลหรือองค์กร เพื่อสร้างต้นทุนให้กับเป้าหมาย ตลอดจนยับยั้งกิจกรรมและ/หรือความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งที่ถูกเชื่อว่าท้าทายต่อปฏิบัติการ สถาบัน หรือบุคลากรของฝ่ายปกครอง

ตรงกันข้ามกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่เชื่อว่า เมื่อเผชิญหน้ากับความรุนแรงต้องใช้ความรุนแรงที่เหนือกว่าเพื่อเอาชนะ ความคิดเรื่องความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่ (Paradox of Repression) มาจากประสบการณ์ทั่วโลกที่พบว่า เมื่อผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กับปฏิบัติการไร้ความรุนแรง มักเกิดผลสะท้อนกลับในเชิงลบหรือตรงกันข้าม (backfire) ส่งผลให้ความชอบธรรมของระบอบอ่อนแอลงและเปลี่ยนมติสาธารณะไปคัดค้านผู้มีอำนาจเสียเอง ดังนั้นจึงเรียกว่า ‘ย้อนแย้ง (paradox)’ เพราะยิ่งชนชั้นนำใช้อำนาจความรุนแรงเท่าไร พลเมืองหรือฝ่ายที่สาม (third party) จะไม่พอใจมากขึ้นเท่านั้น และบางครั้งนำไปสู่ความแตกแยกในระบอบเองจากความไม่พอใจที่เกิดขึ้น

3. อำนาจของผู้ไร้อำนาจกับโอกาสและความเปลี่ยนแปลง

ความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่อยู่บนฐานความคิดที่ว่า ธรรมชาติของความขัดแย้งมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ และอำนาจมีแหล่งที่มาหลากหลาย ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่กลุ่มใด แหล่งอำนาจที่สำคัญของผู้ปกครองคือความยินยอมของผู้ถูกปกครอง

ดังนั้น หากผู้ถูกปกครองปฏิเสธหรือเลิกกลัว อำนาจจะหายไป ซึ่งอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้ง แท้จริงแล้วไม่ได้เหลื่อมล้ำมากจนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อเป็นปฏิสัมพันธ์จึงถูกต่อรอง เปลี่ยนแปลงได้ และความไม่สมดุลของอำนาจจะถูกกระทบอย่างลึกซึ้งเมื่อผู้มีอำนาจใช้ไปในทางที่ผิดหรือถูกต่อต้าน   

การเข้าใจความขัดแย้งและอำนาจในลักษณะนี้ เปิดให้เห็น ‘อำนาจ’ ของผู้ถูกปกครองหรือผู้ไร้อำนาจ ความเป็นไปได้ของการต่อต้าน รวมทั้งทำให้เห็นว่าการปราบปรามอาจจะไม่บรรลุผล หากไม่ได้รับการยอมรับจากเป้าหมาย คนทั่วไปที่เป็นผู้เฝ้ามองจะเข้าใจใหม่ต่อโครงการของขบวนการเมื่อถูกขับไสไล่ส่งจากชนชั้นสูง ชนชั้นนำท้องถิ่นอื่นจะตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของระบอบ และนำไปสู่ผลสะท้อนกลับเชิงลบในที่สุด

4. ยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการของขบวนการคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความย้อนแย้งของการปราบปราม

การปราบปรามกดขี่จะประสบความสำเร็จหรือส่งผลสะท้อนกลับในทางลบหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และที่สำคัญคือยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ขบวนการนำมาใช้ในการต่อสู้

ความได้เปรียบจะเกิดขึ้น หากขบวนการทำให้ประชาชนที่เป็นผู้ดูเกิดความเห็นอกเห็นใจและโทสะทางศีลธรรม (moral outrage) จนพวกเขารู้สึกเชื่อมโยงและเข้าข้างผู้ถูกปราบปราม ความย้อนแย้งนี้เปรียบเทียบได้กับศิลปะการต่อสู้ยิวยิตสู (jiu-jitsu) ซึ่งใช้น้ำหนักและโมเมนตัมของฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อล้มฝ่ายตรงกันข้ามเอง โดยขบวนการเคลื่อนไหวสามารถเพิ่มความเป็นไปได้ของความย้อนแย้งผ่านการจัดการบริหารที่ดี ซึ่งรวมถึงการเตรียมพร้อมต่อต้านการปราบปราม การหลีกเลี่ยงชั่วคราว หรือออกแบบการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ เพื่อทำให้ผู้คนรับไม่ได้เมื่อนักกิจกรรมได้รับความทุกข์ทน รวมทั้งนำเสนอการตีความ (framing) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ

ไม่เพียงระดับการปราบปรามกดขี่ (the level of repression) ที่เป็นปัจจัยภายนอกเท่านั้น แต่การจัดการบริหารการปราบปราม ซึ่งเป็นปัจจัยภายในที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มท้าทายเอง ก็มีผลต่อการเกิดผลสะท้อนกลับในทางลบเช่นกัน

5. การเอาชนะความกลัวคือหัวใจสำคัญในการรับมือการปราบปราม

ข้อสังเกตจากการศึกษาจำนวนมากทั่วโลกพบว่า ความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ การรักษาการระดมหรือการเคลื่อนไหวระดับสูงไว้ได้ การแปรพักตร์ (defection) ของกองกำลังฝ่ายปราบปรามและข้าราชการพลเมือง และการตัดการสนับสนุนจากต่างประเทศ  

การปราบปรามไม่ได้ทำให้เกิดการเชื่อฟังและไม่มีระบอบใดสามารถกดขี่ประชาชนได้ทั้งหมด กระนั้น ภัยคุกคามของการปราบปราม (threat of repression) ที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัว ก็เป็นอาวุธสำคัญที่คอยกีดกันผู้คนจากการท้าทายความอยุติธรรม ดังนั้น การเอาชนะความกลัวจึงเป็นกุญแจสำคัญของการเคลื่อนไหวและเป็นพลวัตเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ซึ่งแสดงบทบาทในการต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรง ตัวอย่างการรับมือในด้านนี้มักเน้นไปที่ 2 ด้าน คือ

1. การสร้างความชัดเจนในเป้าหมายของขบวนการและการไม่ใช้ความรุนแรง คนในขบวนการจำเป็นต้องต้องเข้าใจสิ่งนี้ก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้งการวางแผนทางยุทธศาสตร์ เพื่อทำให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นก่อนและหลังเหตุการณ์ปราบปราม นักกิจกรรมควรจะตอบสนองอย่างไร และจะตีความหรือนำเสนออย่างไร เพื่อเน้นให้ผู้ชมในวงกว้างเห็นถึงความไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ การฝึกอบรมขั้นสูงจะช่วยให้นักกิจกรรมกำหนดกรอบการตีความเหตุการณ์ใหม่อย่างมีความหมายสำคัญต่อการกระทำของตน

2. การวางโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมและยืดหยุ่น สำหรับการปรับเปลี่ยนและเลือกใช้ยุทธศาสตร์ในการต่อต้าน เพื่อรับมือกับการปราบปราม รวมทั้งทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น ‘ประสบการณ์ด้านบวก’ และใช้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหวได้ 

6. การระดมมวลชนและการมีส่วนร่วมเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ

การระดมผู้เข้าร่วมได้จำนวนมากช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการเคลื่อนไหว การจัดการรับมือกับการปราบปรามจะสำเร็จได้จำเป็นต้องระดมผู้มีส่วนร่วม ประชาชนผู้เฝ้ามอง และผู้แปรพักตร์จากฝ่ายปราบปราม

ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยพื้นฐานของความสำเร็จ เพราะ 1. การมีส่วนร่วมที่กว้างขึ้น หมายถึงการเปิดโปงการปราบปรามได้มากขึ้น มีเครือข่ายของเหยื่อและสาธารณชนที่บันดาลโทสะกลายเป็นความโกรธเคืองที่กว้างขวางขึ้น 2. การกระทำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งดึงดูดความสนใจของสื่อในประเทศมากขึ้น สามารถโอบรัดผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้หญิงและเด็ก ส่งผลให้ต้นทุนการปราบปรามยิ่งสูงขึ้น 3. มากไปกว่านั้น เมื่อเกิดผลสะท้อนกลับในเชิงลบ จะยิ่งระดมผู้คนเข้าร่วมและทำให้เกิดการแปรพักตร์ได้มากขึ้น  

7. การสนับสนุนของพันธมิตรระหว่างประเทศและการสร้างการแปรพักตร์เป็นตัวแปรที่สำคัญ

แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นที่การกระทำของขบวนการ แต่ผู้แสดงภายนอกยังคงมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากผู้ชมหรือผู้แสดงของความย้อนแย้งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภูมิศาสตร์ใกล้เคียง แต่มักอยู่ในส่วนอื่นของประเทศหรือโลกนี้ด้วย จากการศึกษา 323 การเคลื่อนไหวพบว่า เมื่อระบอบสูญเสียการสนับสนุนจากพันธมิตรระหว่างประเทศ โอกาสความสำเร็จของการรณรงค์จะเพิ่มขึ้นทบทวี เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงความภักดีของกองกำลังความมั่นคงและการถอนการสนับสนุนของชนชั้นนำภายในด้วยแล้ว โอกาสสำเร็จพุ่งสูงถึงประมาณ 45% สำหรับการรณรงค์ขนาดเล็ก และ 85% สำหรับการรณรงค์ขนาดใหญ่

เมื่อการแปรพักตร์เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์ของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง แต่คำถามคือจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงต้นทุนทางจิตวิทยาของเอเยนต์หรือผู้ทำการปราบปรามอันเกิดจาก ‘ความเครียดเชิงบาดแผลที่เกิดจากการเป็นผู้กระทำความผิดใช้ความรุนแรง’ และโต้แย้งว่าบางครั้ง ‘บาดแผลของความรุนแรงนั้นจริงแล้วส่งผลต่อผู้กระทำความรุนแรงหนักกว่าผู้ที่เป็นเหยื่อเสียอีก’ ผลที่ตามมาทางจิตวิทยานี้มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือได้

8. การกระตุ้นให้เกิดการปราบปรามอาจไม่ทำให้ชนะ

ผู้ชุมนุมควรกระตุ้นหรือยั่วยุให้เกิดการปราบปรามเพื่อทำให้เกิดผลสะท้อนในทางลบหรือไม่ เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมายาวนานในขบวนการต่างๆ  ทั้งนี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการยั่วยุนั้นเห็นว่าอำนาจของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงวางอยู่บนฐานความบริสุทธิ์ของวินัยแบบไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งขัดแย้งกันอย่างเด่นชัดกับความโหดร้ายป่าเถื่อนของการปราบปราม ซึ่งเป็นเป้าหมายพื้นฐานของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเองที่ต้องการให้เห็นความแตกต่างระหว่างความมีวินัยอย่างเคร่งครัดของนักกิจกรรมและการปราบปรามกดขี่ของชนชั้นนำ

มากไปกว่านั้น การกระตุ้นให้เกิดการปราบปรามอาจทำให้นักกิจกรรมแปลกแยกจากประชาชน ทำให้ตำรวจโหดร้ายป่าเถื่อนมากขึ้น กระทั่งทำให้การประท้วงเองโหดร้ายขึ้นด้วยเช่นกัน และเสี่ยงจะสร้างความไม่พอใจทั้งต่อสาธารณชนและผู้ปฏิบัติงานของขบวนการ

9. อย่ามองข้ามการปรับตัวของรัฐและการปราบปราบแบบแยบยล

นอกจากการขาดการจัดการบริหารที่ดีพอแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิดผลสะท้อนกลับในทางลบ คือการมีรูปแบบการปราบปรามที่สลับซับซ้อนและเนียนขึ้น เพราะรัฐเองได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนอย่างโจ่งแจ้งแบบเดิม จึงนำไปสู่การใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘การปราบปรามแบบแยบยล (Smart repression)’ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นผ่านการตรึกตรองอย่างดีเพื่อทำลายขบวนการ ขณะเดียวกันก็สามารถลดและกำจัดผลสะท้อนกลับในทางลบได้ด้วย

วิธีการหลากหลายที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้สามารถเข้าใจได้ในรูปเส้นต่อเนื่องของความพยายามลดทอนการระดม (A Continuum of Demobilization) ซึ่งแบ่งการปราบปรามเป็นเฉด เริ่มจากฝั่งซ้ายสุดที่เป็นการปราบปรามอย่างโจ่งแจ้งรุนแรงไปยังฝั่งขวาที่ทำให้เกิดการปิดปากหรือเซนเซอร์ตัวเองประกอบด้วย

1. ความรุนแรงแบบโจ่งแจ้ง (Overt Violence) เป็นการใช้กำลังทางกายภาพ ทำให้บาดเจ็บ ล้มตาย หรือสูญเสียอิสรภาพ มีเป้าหมายพื้นฐานเพื่อป้องปรามที่อยู่บนฐานการทำให้กลัว เพื่อให้คนเข้าร่วมชุมนุมครั้งต่อไปลดลง

2. วิธีการที่ไม่ถึงตาย (Less-lethal Methods) เป็นการควบคุมผู้ต่อต้านและเคลื่อนย้ายฝูงชนที่โดยตัวมันเองไม่รุนแรงถึงตาย เช่น การใช้กระสุนยาง กระบอง แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย ซึ่งช่วยลดทอนผลสะท้อนกลับในเชิงลบและทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกผิดน้อยลง 

3. การข่มขู่คุกคาม (Intimidation) เป็นการคุกคามทางกาย วาจา หรือผ่านการเขียนข้อความ รวมถึงกลวิธีอย่างการจับจ้องเฝ้ามอง การตรวจสอบภาษี และอื่นๆ เพื่อทำลายการระดมโดยไม่ใช้ความรุนแรงทางตรง

4. การปลุกปั่นชักใย/ควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามต้องการ (Manipulation) เป็นการควบคุมผู้คัดค้านผ่านเทคนิค เช่นการเอามาเป็นพวก การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ขัดขวางการคัดสรรคน รวมทั้งการบ่อนเซาะ แบ่งแยก เบี่ยงเบน หรือรบกวนกลุ่มคนที่มีศักยภาพจะเข้าร่วมขบวนการ

5. การปราบปรามแบบละมุน (Soft Repression) เป็นปฏิบัติการด้านความคิดโดยกัดเซาะการขัดขืนผ่านการสร้างกรอบโครงต่อต้าน (counter-framing) และโฆษณาชวนเชื่อ นับเป็นการใช้อำนาจแบบไม่รุนแรงและมักไม่เป็นทางการ เพื่อจำกัดและกีดกันความคิดและอัตลักษณ์ของขบวนการออกจากเวทีสาธารณะ 

6. การสถาปนาอำนาจนำ (Hegemony) หรือ ‘การปราบปรามแบบซ่อนเร้น (latent repression)’ อาจจะดูเหมือนไม่ใช่การปราบปราม แต่จริงๆ แล้วเป็นการควบคุมจิตสำนึกที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่ามีอิสระและยอมรับได้โดยง่าย

สำหรับข้อเสนอทั้ง 9 ประการนี้ ผู้เขียนตระหนักดีว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีข้อจำกัดของตัวมันเอง ไม่อาจการันตีว่าจะประสบความสำเร็จหรือรัฐจะไม่ใช้ความรุนแรงได้ ไม่เคยมีนักวิชาการว่าด้วยปฏิบัติการไร้ความรุนแรงคนใดที่กล่าวอ้างเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงก็ไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้ชนะได้เช่นกัน และบางครั้งยิ่งร้ายแรงกว่าในแง่ของความสูญเสีย หากขบวนการไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือเผชิญหน้ากับการปราบปราบด้วยความรุนแรง

ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐใช้ความรุนแรงหรือมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง การตระหนักถึง ‘ความย้อนแย้งของการปราบปราม’ จะช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ว่า การเคลื่อนไหวจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร สิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องการเน้นย้ำคือในการต่อสู้และความขัดแย้งที่เป็นปฏิสัมพันธ์นั้น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นส่วนที่จะกำหนดผลลัพธ์ได้อย่างสำคัญ ในแง่นี้พลวัตจึงไม่ได้ถูกกำหนดจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว

ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงไม่ได้เป็นแค่อาวุธหรือ ‘จริต’ ของชนชั้นกลางและดำรงไว้ซึ่งความไม่เท่าเทียม อย่างที่ปรากฏในการถกเถียงกรณี ‘เยาวรุ่นทะลุแก๊ซ’ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย อย่างสมัชชาคนจน เครือข่ายสลัม 4 ภาค หรือกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเป็นคนชายขอบไร้อำนาจทางการเมือง สะท้อนให้เห็นแล้วว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงกลายเป็นเครื่องมือหลักและไม่กี่อย่างที่พวกเขามีและถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การอธิบายว่าผู้คนออกมาแสดงออกด้วยความรุนแรงเพราะพวกเขาเป็น ‘ชนชั้นล่าง’ ‘คนจน’ ‘คนชายขอบ’ ที่ดูเหมือนหวังดีในเบื้องแรกนั้นกลับตอกย้ำและซ้ำเติมภาพที่หยุดนิ่งเหมารวม (stereotype) ราวกับว่าความรุนแรงฝังอยู่ในดีเอ็นเอของคนจน จึงไม่สามารถเรียนรู้และปรับเปลี่ยนได้

สุดท้าย การถกเถียงในเรื่องนี้ของผู้เขียนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานศีลธรรมแต่ประการใด แต่อยู่บนฐานของประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ประชาชนมีและความชอบธรรมซึ่งเป็นหัวใจของการต่อสู้ทางการเมือง สำหรับผู้ที่เห็นว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงหาได้มีประสิทธิภาพเท่ากับการใช้ความรุนแรงนั้น ก็คงต้องตอบคำถามและมีคำอธิบายอย่างเป็นระบบเช่นกันว่า ความรุนแรงจะนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้ทางการเมืองได้อย่างไร

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save