เมื่อเศรษฐกิจจีนถึงคราวบุญเก่าหมด และต้องแสวงบุญใหม่

เมื่อเศรษฐกิจจีนถึงคราวบุญเก่าหมด และต้องแสวงบุญใหม่

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสติดตามการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงของจีนหลายท่านเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจจีนใน ค.ศ. 2020 รวมทั้งในทศวรรษใหม่ต่อจากนี้ด้วย

ทัศนะที่มีการพูดกันอย่างแพร่หลายคือ บัดนี้จีนกินบุญเก่าหมดแล้ว ซึ่งฟังดูน่าเศร้าและเป็นด้านลบ ไม่ค่อยสดใสเท่าไร แต่ท่านทราบไหมครับว่า คนจีนชอบปลุกใจตัวเอง เพราะฉะนั้น หลังจากนักวิเคราะห์หลายคนของจีนสาธยายว่า บุญเก่าของจีนหมดลงแล้วอย่างไร ก็มักจะแนะนำในเชิงสร้างสรรค์ต่อไปว่า แล้วจีนยังมีวาสนาอะไรที่เคยสะสมไว้บ้าง รวมทั้งวิธีการเติมเต็มบุญใหม่ ช่วยกันวาดวิสัยทัศน์ว่าทางรอดทางรุ่งของจีนจะเป็นเช่นไรต่อไป

นี่แหละครับที่เขาเรียกว่า พูดความจริงอย่างสร้างสรรค์ คือไม่ใช่เพ้อเจ้อว่าเศรษฐกิจจีนรุ่งโรจน์ แต่ก็ไม่ได้เศร้าสลดหดหู่ยอมรับชะตาว่าประเทศหมดอนาคต แต่คือการฉายภาพความเสี่ยงและบริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกวิกฤตคือโอกาส เพียงแต่ต้องหาโคมไฟส่องทางให้เห็นว่าโอกาสน่าจะอยู่ที่ใด เพราะสุดท้ายแล้ว การทำนายที่ดีที่สุดคือ การลงมือทำ และถ้าปลุกใจกันสำเร็จ จนเกิดเป็นความเห็นร่วมในสังคมและแวดวงธุรกิจว่าควรทำอะไรต่อไป ก็อาจมีหนทางแสวงบุญครั้งใหม่ให้เศรษฐกิจจีนขับเคลื่อนต่อไปอีกรอบได้

ก่อนอื่น ที่ว่าจีนกินบุญเก่าต่อไปไม่ได้ เพราะบุญเก่าของจีนกำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว มาจากเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง แรงงานราคาถูก ซึ่งในอดีตเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่อยู่ในระดับต่ำ และประชากรจำนวนมหาศาล การมีแรงงานราคาถูกทำให้จีนเป็นแหล่งรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต จนพัฒนาเป็น ‘โรงงานของโลก’ อย่างสมบูรณ์

แต่ปัจจุบัน ด้วยการยกระดับเศรษฐกิจที่รวดเร็ว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เกิดจากนโยบายลูกคนเดียวซึ่งใช้มาอย่างยาวนาน ทำให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานของจีนค่อยๆ ลดลงเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด กล่าวคือ จีนได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้จีนไม่ใช่ตลาดที่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน เช่น เวียดนามและกัมพูชา

สอง การค้าโลกที่เคยเปิดกว้าง ในช่วงการเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจของจีน คนจีนยังมีรายได้ต่ำและไม่มีกำลังการบริโภค ตลาดสำคัญของสินค้าที่ผลิตจากจีนคือตลาดโลก กล่าวคือ จีนเป็น ‘โรงงานของโลก’ ที่ดึงดูดทุนจากทั่วโลก ให้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแรงงานราคาถูก และทำการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก จีนทำเช่นนี้มาได้ต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่คลื่นกระแสโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีกำลังถาโถม

แต่ปัจจุบัน โลกตะวันตกกลับเกิดกระแสตีกลับ หันมาต่อต้านโลกาภิวัตน์และการค้าเสรี รวมทั้งมองจีนเป็นภัยคุกคาม ดังจะเห็นได้จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ส่งผลให้มีการย้ายโรงงานออกจากจีนไปหาแหล่งผลิตใหม่ รวมทั้งเกิดเป็นกระแสการแยกห่วงโซ่การผลิตเป็น ‘ทวิภพ’ (The Great Decoupling) คือ แยกห่วงโซ่การผลิตของโลกตะวันตกออกจากจีน แม้ว่าจะไม่สามารถทำจริงได้ทันที และไม่สามารถทำได้ในทุกภาคอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมบางภาคก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดังกล่าว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไฮเทค 

สาม บุญเก่าที่มาจากการลงทุนของภาครัฐ หลังวิกฤตการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008 แม้ว่าจีนจะประสบปัญหาการส่งออกหดตัว เนื่องจากกำลังการบริโภคในโลกตะวันตกที่ลดลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ในช่วงนั้น จีนได้อาศัยเครื่องจักรที่เหลืออีกหนึ่งตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือการลงทุนจากภาครัฐ โดยเน้นไปที่การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ สะพาน ถนน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน จนเกิดเป็นมหกรรมการก่อสร้างมโหฬารทั่วประเทศ เกิดการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยเน้นการสร้างโครงข่ายความเชื่อมโยงระหว่างเมืองและภายในเมือง การลงทุนเหล่านี้ทำให้จีนไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกมากนัก และยังคงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูงได้ในทศวรรษที่ผ่านมา

แต่ปัจจุบัน บุญเก่าข้อนี้ก็หมดลงอีกเช่นกัน เพราะจีนได้ก่อสร้างสะพาน ถนน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน มากมายหลายที่ จนถ้าจะเดินหน้าลงทุนก่อสร้างต่อไป ก็จะเหลือแต่โครงการที่ไม่จำเป็น หรือเป็นการลงทุนที่ฟุ่มเฟือยไม่คุ้มประโยชน์ กล่าวคือ จีนกำลังก่อหนี้ก้อนใหม่ และเพิ่มพูนปัญหาหนี้เดิม ซึ่งเป็นระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมเศรษฐกิจของจีน

นักวิเคราะห์ชาวจีนส่วนใหญ่จึงพูดทำนองเดียวกันว่า จีนได้เข้าสู่ยุค ‘ความจริงใหม่ที่ต้องยอมรับ’ (New Normal) จากเหตุผล 2 ข้อ ข้อแรกคือ เศรษฐกิจจีนหมดยุคที่จะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 แต่ถ้าเติบโตได้เพียงร้อยละ 5-6 ก็ถือว่าดีมากแล้ว และข้อที่สองคือ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นความขัดแย้งระยะยาว อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ความขัดแย้งทางการค้าจะลดความตึงเครียดลงในปี ค.ศ. 2020 เพราะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์คงไม่ต้องการยกระดับสงครามการค้า เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน 

นักเศรษฐศาสตร์จีนมักปลอบผู้คนว่า เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ร้อยละ 5-6 ก็เป็นความสำเร็จมหาศาลแล้ว เพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้เติบโตในระดับนี้ และเมื่อเอาร้อยละ 5-6 คูณกับขนาดเศรษฐกิจจริงของจีนในปัจจุบัน ซึ่งใหญ่โตขึ้นกว่าก่อนมาก จะได้ว่าปีหนึ่งๆ ส่วนการเติบโตใหม่ของจีนจะมีขนาดใหญ่เท่ากับขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศของประเทศขนาดกลาง เช่น ตุรกี เลยทีเดียว ดังนั้น จีนจึงควรพอใจ อย่าไปโลภมาก แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ ที่จีนตั้งเป้าจะเติบโตร้อยละ 5-6 นั้น จะไปเอาการเติบโตมาจากไหน ในเมื่อบุญเก่าทั้งหลายหมดสิ้นลงไปแล้ว

คำตอบของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จีนที่ชวนคิดบวกก็คือ จีนมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 2 ข้อ ที่เป็นวาสนาของประเทศ และเป็นกรรมดีจากการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 2 ข้อนี้เป็นจุดแข็งที่ไม่มีใครพรากไปจากจีนได้ 

หนึ่ง คือ ขนาดตลาดที่ใหญ่ หรือที่ฝรั่งมักจะเรียกว่า ข้อได้เปรียบเรื่องขนาด (scale) ถ้าพูดให้พิสดารหน่อยก็ต้องบอกว่า เป็นบุญที่สะสมมาตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ทำให้จีนเป็นรัฐเดี่ยวขนาดใหญ่ที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน กลายเป็นตลาดเดียวที่มีขนาดมหึมาตั้งแต่ยุคโบราณ

สอง จีนผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มากที่สุดในโลก ข้อนี้เป็นเพราะวัฒนธรรมนิยมการศึกษาของชาวจีน ทั้งยังมีบริบททางประวัติศาสตร์ ที่จีนเคยมองว่าตนเองตกต่ำและเข้าสู่ยุคแห่งความอัปยศ 100 ปี ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง เนื่องมาจากความอ่อนด้อยในเรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดค่านิยมว่าวิทยาศาสตร์สร้างชาติ แม้ข้อเท็จจริงคือ คนจีนที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในสหรัฐฯ แต่คนเก่งในระดับกลางหรือที่เรียกว่าเป็นแรงงานทักษะในเมืองจีนมีปริมาณมากที่สุดในโลก และแม้คุณภาพของพวกเขาจะไม่ได้อยู่ในระดับยอดเยี่ยม แต่ถือว่าอยู่ในระดับใช้ได้

กุญแจที่นักวิเคราะห์มองว่า จะเป็นโอกาสรอดของจีนคือ การยกระดับสู่เทคโนโลยีในยุค 4.0 และ 5.0 ตอนนี้มีคำกล่าวกันแพร่หลายในจีนว่า จีนโชคดีที่ขึ้นรถด่วนขบวนสุดท้ายในยุคอุตสาหกรรม 2.0 และ 3.0 ทัน และโชคดีที่ขึ้นรถด่วนขบวนแรกในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ 5.0 มาได้

อุตสาหกรรมยุค 4.0 และ 5.0 เป็นยุคของเศรษฐกิจดิจิทัล อินเตอร์เน็ต ปัญญาประดิษฐ์ Internet of Things และ 5G โดยหัวใจของการพัฒนาเทคโนโลยียุค 4.0 และ 5.0 ไม่ได้อยู่ที่การคิดค้นสิ่งใหม่ (ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ได้เปรียบจีนอย่างมาก) แต่อยู่ที่วาสนา 2 ข้อข้างต้น คือ ขนาดตลาดและแรงงานทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมากที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้งาน ดังที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะยิ่งก้าวหน้าเร็วขึ้นเมื่อมีข้อมูลดิจิทัลปริมาณมหาศาล    

เทคโนโลยี 4.0 และ 5.0 จะเป็นตัวสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่สำหรับจีน เพราะจะตอบโจทย์การยกระดับสินค้า ยกระดับอุตสาหกรรม ทดแทนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลในระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ยังตอบโจทย์การเป็นตลาดผู้บริโภคภายในประเทศขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตลาด E-Commerce ในแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่ไม่ใช้เงินสด เมื่อประชากรจีนจำนวนมหาศาลเป็นพลเมืองดิจิทัล ก็จะยิ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งต้องใช้ปริมาณข้อมูลมหาศาลเป็นเชื้อเพลิง 

จีนในยุคทศวรรษใหม่ จึงเป็นจีนที่เศรษฐกิจเก่าเสื่อมถอยและค่อยๆ หมดยุคลง เพราะจีนหมดความได้เปรียบและหมดบุญแล้ว ส่วนจะสำเร็จต่อไปหรือไม่นั้น ย่อมอยู่ที่จีนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดจากการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ และสร้างโอกาสรวมทั้งโมเดลธุรกิจใหม่ๆ จากเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยใช้ประโยชน์จากพื้นฐานของจีนคือ ความได้เปรียบเรื่องขนาดและแรงงานทักษะ

ทุกวันนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีจึงเป็นกระแสที่ร้อนแรงมากในจีน เพราะนอกจากเส้นทางนี้ก็ไม่มีเส้นทางอื่น จะหันหลังกลับไปหาอดีตก็ไม่ได้อีกแล้ว มีแต่ต้องหักร้างถางพงลุยต่อไปข้างหน้า ขึ้นรถด่วนขบวนแรกบุกไปสู่อนาคตพร้อมๆ กับฝรั่ง 

เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย (Huawei) ได้กล่าวไว้อย่างแหลมคมว่า “หน้าหนาวครั้งนี้ คนที่จะรอดความเหน็บหนาวไปได้ ไม่ใช่เพียงผู้ที่หลบจำศีลด้วยความอดทนและรอจังหวะเปลี่ยนฤดูเช่นในสมัยก่อน แต่ต้องเป็นคนที่คิดริเริ่มคว้าโอกาสใหม่” เพราะหน้าหนาวรอบนี้ไม่ใช่เรื่องของวงจรฤดูกาล ที่เดี๋ยวฤดูใบไม้ผลิก็จะวนกลับมาตามธรรมชาติ หรือเมื่อฤดูใบไม้ผลิในจีนกลับมาอีกครั้ง ก็จะเป็นฤดูใบไม้ผลิที่ไม่เหมือนเดิม คือต้นไม้ที่อยู่รอดและผลิใบจะเปลี่ยนชนิดไป ส่วนต้นไม้ที่ตายไปแล้วจะไม่หวนกลับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save