fbpx

‘NEW (AB)NORMAL/(ผิด)ปกติใหม่’ ประมวลภาพความจริงโควิดกับคนไทยใน ๑๕ นาที

ในปีที่โรงหนังส่วนใหญ่ในบ้านเราต้องปิดให้บริการอย่างยาวนาน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ กลับกลายเป็นปีที่หนังอิสระไทยมีโอกาสได้สร้างชื่อเสียงในเวทีเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติอย่างคึกคักมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา

โดยล่าสุดภาพยนตร์สั้นสัญชาติไทยเรื่อง ‘ผิดปกติใหม่’ หรือ ‘New Abnormal’ ของผู้กำกับ สรยศ ประภาพันธ์ ก็เพิ่งจะมีโอกาสได้เข้าร่วมประกวดในกลุ่มภาพยนตร์สั้น Orizzonti ความยาวไม่เกิน 20 นาที ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ระหว่างวันที่ 1-11 กันยายน 2021 ที่ผ่านมา ถึงแม้หนังจะไม่สามารถคว้ารางวัลใดๆ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นตัวแทนถ่ายทอดภาพปัญหาการฝ่าวิกฤตโควิดในแบบไทยๆ ให้ชาวโลกได้ประจักษ์ทราบว่าบ้านเราเองก็จัดว่าสะบักสะบอมไม่แพ้ชาติไหนๆ เลยเหมือนกัน

และด้วยเงื่อนไขเคร่งครัดรัดกุมของการเดินทางทั้งไปและกลับสำหรับการเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสในช่วงเวลาแห่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศไทยที่ขาดวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับเช่นนี้ ทำให้ผู้กำกับ สรยศ ประภาพันธ์ รวมถึงสื่อนักวิจารณ์อย่างผู้เขียนเองไม่สามารถร่วมเดินทางไปยลโฉมภาพยนตร์เรื่องนี้บนจอใหญ่ในเทศกาลได้ แม้ต่อให้จะได้รับเชิญอย่างดิบดีเพียงใดก็ตาม โชคดีที่ทางเทศกาลเปิดฉายหนังสั้นที่เข้าร่วมประกวดในเทศกาลผ่านรูปแบบออนไลน์ Venice Sala Web ผ่านเว็บไซต์ Festival Scope ให้ผู้ชมที่ไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานยังมีโอกาสชมได้ หนังสั้นเรื่อง ‘ผิดปกติใหม่’ จึงถือว่าได้ฤกษ์ World Premier และ Online Premier ในเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน

‘ผิดปกติใหม่’ เป็นหนังสั้นตลกหน้าตายที่ยังรักษาลายเซ็นประจำตัวในการทำหนังของผู้กำกับสรยศ ประภาพันธ์ ผู้เคยมีผลงานหนังสั้นหยอกแซวคนทำเสียงให้วงการหนังเรื่อง Death of a Soundman และเคยได้เข้าประกวดในเทศกาลเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อปี 2017 โดยตลอดระยะเวลา 15 นาที ‘ผิดปกติใหม่’ ไม่ได้มีเส้นเรื่องใดเป็นเส้นเรื่องหลัก หากหนังประกอบไปด้วย fragment หรือฉากสั้นๆ บรรยายสถานการณ์ของผู้คนที่กำลังผจญกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จนวาทกรรมความ ‘ปกติใหม่’ อาจต้องกลายเป็นความ ‘ผิดปกติใหม่’ อันยากจะทำใจยอมรับ

หนังเปิดฉากด้วยภาพของผู้คนที่ทยอยกันขึ้นบันไดเลื่อนเข้าห้างสรรพสินค้า แต่ต้องหยุดให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้อุปกรณ์คล้ายปืนอวกาศยิงกบาลส่งเสียงตี๊ดๆ อย่างที่พวกเราในอดีตคงจะนึกภาพไม่ออกเลยว่าเราในวันนี้จะต้องเจอกับอะไรแบบนี้กันเป็นปกติ จากนั้นหนังก็เริ่มถ่ายทอดปัญหาสารพัดสารพันอันเกิดจากการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขอันยุ่งเหยิงวุ่นวาย ไล่มาตั้งแต่การขาดแคลนหน้ากากอนามัย ที่ไม่ว่าใครจะเดินไปถามเภสัชกรร้านไหน ก็จะได้คำตอบเดียวกันว่า “หมดค่ะ”  

ภาพสองหนุ่มที่พบกันในห้องน้ำชาย แล้วเผลอทักทายจับไม้จับมืออย่างลืมตัวว่าต้องรักษาระยะห่าง ความระโหยโรยแรงเหนื่อยเพลียหลังการเข้าเรียนออนไลน์ผ่านทางหน้าจอทั้งวัน จนถึงขั้นต้องกองฟุบ และรีบสั่งอาหารด้วยบริการแอปพลิเคชันให้ทันออร์เดอร์สุดท้ายก่อนเวลาเคอร์ฟิว ฝ่ายผู้ให้บริการอาหารอย่างไรเดอร์ส่งอาหาร ก็ต้องทำทุกวิถีทางให้ตารางการจัดส่งอาหารเป็นไปตามออร์เดอร์ ขนาดประสบอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ ก็ต้องคอยก้มนับเม็ดชาไข่มุกให้ครบตามที่ลูกค้าสั่ง เพราะหวังที่จะได้รับรีวิวเรตติ้งดีๆ โดยไม่มีกะใจมาร้องโอดโอยกับบาดแผลที่กำลังเจ็บปวด

ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลต้องการจะเยียวยาผู้ยากไร้ ก็หัวใสเมตตาด้วยการให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟน ราวกับไม่รู้ว่าโอนเงินไป ก็มีแต่จะเข้ากระเป๋าสตางค์ของคนรวยที่มีปัญญาซื้อสมาร์ตโฟน แล้วปล่อยให้คนยากไร้นอนรอความตายต่อไปโดยไม่มีใครเหลียวแล  

หรือจะเป็นคำถามยอกใจที่ไม่ว่าจะมองในแง่ไหนก็หาเหตุผลฉันวิญญูชนไม่ได้ว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงตัดสินใจไม่ร่วมโครงการวัคซีน COVAX ภาพผู้นำที่ล้ำยุคทันสมัยเฉพาะการใช้แท็บเล็ตมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หากกลับไม่ได้ใส่ใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างจริงจัง 

ในขณะที่เหล่าคนรวยก็ยังตั้งกลุ่มปาร์ตี้ลงอ่างอย่างไม่เดือดเนื้อร้อนใจ นั่งฟังเสียงวิจารณ์การบริหารวัคซีนของรัฐบาลโดยคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าวัคซีนจะมาถึงมือเมื่อไหร่และพวกเขาจะได้เป็นคิวแรกๆ หรือไม่อย่างผ่อนคลายสบายใจ ปิดท้ายด้วยภาพการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของเหล่าเยาวชน ประกอบเพลงแฮมทาโร่จอมหม่ำผู้ชอบขม้ำภาษีประชาชน จนโดนเจ้าหน้าที่จับกุมตัว ฉีดน้ำ และยิงปืนข่มขู่กระทั่งฝูงชนสลาย กลายเป็นภาพติดตาที่ไม่ต่างไปจากสิ่งที่เคยเห็นในโลกความเป็นจริงตามสื่อต่างๆ เลย

ผู้กำกับสรยศ ประภาพันธ์ ถ่ายทอดฉากต่างๆ ที่สร้างจากแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเหล่านี้ ด้วยลีลาตลกเนิบนิ่งหน้าตาย ไม่ต่างจากผลงานของผู้กำกับระดับชั้นบรมครูอย่าง Aki Kaurismaki, Elia Suleiman และโดยเฉพาะ Roy Andersson (ผู้กำกับแสดงความคารวะด้วยการโชว์ภาพปก DVD ภาพยนตร์เรื่อง Songs from the Second Floor ในฉากหนึ่ง) โดยจัดองค์ประกอบภาพในแต่ละซีนอย่างละเอียดประณีต และให้นักแสดงสวมบทบาทกันอย่างแห้งแล้งไร้อารมณ์ ราวเป็นซากมนุษย์ที่หมดลมหายใจทว่ายังเดินเหินพูดคุยได้ในโลกที่แทบจะไร้ความหวังอย่างสิ้นเชิงแห่งนี้

ถึงแม้ว่าลีลาหนังของสรยศ ประภาพันธ์ จะสร้างความตลกด้วยการขยายสถานการณ์ให้ดูล้นและโอเวอร์เกินจริงอย่างไร แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้อยู่ดี ว่าทุกสิ่งที่ได้เห็นล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงมาแล้วทั้งสิ้น (หวังว่าจะไม่มีใครร้อนตัวเพียงเพราะหน้าเหมือน) นึกแล้วก็น่าใจหายที่ประเทศไทยของเราจากที่เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประชาชนช่วยกันรับมือกับโควิดได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก กระทั่งมียอดผู้ติดเชื้อรายวันเป็นศูนย์แม้จะยังไม่มีวัคซีนใดๆ ในตอนนั้น จะพลิกผันมาเป็นประเทศที่โดนโควิดกลายพันธุ์ระลอกใหม่โจมตีอย่างหนักหน่วงรุนแรงที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาเริ่มถอดหน้ากาก ฟื้นตัวกันแล้ว

ความตลกทั้งหลายในหนังสั้นเรื่องนี้จึงมีสมบัติของการเป็นงาน ‘ตลกขื่น’ ยิ่งดูก็ยิ่งจุก ยิ่งกระอัก ยิ่งหน้าชา เป็นความฮาในแบบที่หัวเราะไม่ออก เพราะทุกๆ ความล้มเหลว ความไร้ตรรกะ ความขาดแคลน ความสูญเสีย ความขัดแย้ง และความรุนแรงที่ปรากฏล้วนเป็นหายนะที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวไทยเราจริงๆ แถมตัวหนังยังเหมือนจะบอกเราด้วยว่าคงทำอะไรให้ดีไปกว่านี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มองเห็นแต่เส้นทางตัน ครั้นจะมองเป็นเรื่องขำขันมันก็ยังต้องรู้สึกผิดทุกๆ ครั้งที่ได้เปล่งเสียงหัวเราะ

และสิ่งนี้เองที่น่าจะเป็นบทบาทสำคัญของหนังตลกเสียดสี ที่สามารถเป็นคันฉ่องส่องสะท้อนความจริงได้ดียิ่งกว่างานสารคดีหรืองาน drama ในแบบ neo-realist เป็นไหนๆ เพราะงานตระกูลนี้สามารถใช้ ‘ความจริง’ ในการจ้วงแทงใครๆ ได้อย่างไม่ต้องเกรงใจ แล้วอาศัยความทีเล่นทีจริงหยิกๆ หยอกๆ มาเป็นเกราะกำบังป้องกัน

ได้แต่หวังว่าบรรดา ‘ฝันร้าย’ ที่ได้เห็นในหนังสั้นเรื่อง ‘ผิดปกติใหม่’ นี้จะกลายเป็นข่าวเก่า เป็นเรื่องเล่าที่เห่ยเชยพ้นสมัยไปได้ในเร็ววัน ให้มันต้องกลายเป็นเพียง ‘ความหลัง’ ย้อนทวนความทรงจำในวันที่ประเทศไทยจะกลับมา ‘แข็งแรง’ ได้ใหม่อย่างแท้จริง

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวคราวการฉายหนังสั้นเรื่อง ‘ผิดปกติใหม่’ ได้ที่ Minimal Animal

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save