fbpx
Neuralink ของ Elon Musk นั้นน่าทึ่ง, คำถามคือมันผิดศีลธรรมหรือเปล่าต่างหาก?

Neuralink ของ Elon Musk นั้นน่าทึ่ง, คำถามคือมันผิดศีลธรรมหรือเปล่าต่างหาก?

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ฉากภาพยนต์ sci-fi ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับแมชชีน เพื่อเพิ่มศักยภาพของการทำงานหรือใช้ถ่ายเทข้อมูลความทรงจำไปมาเป็นสิ่งที่เรามักพบเห็นกันบ่อยครั้ง จนถึงเมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่องที่คนคิดว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันกำลังจะเกิดขึ้นจริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อ Elon Musk ออกมาพูดถึงความหน้าทางเทคโนโลยีของบริษัท Neuralink ที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อหลายปีก่อน

แน่นอนว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก เพราะถึงตอนนี้เราก็พอรู้แล้วว่าความสามารถอันโดดเด่นอย่างหนึ่งของ Elon Musk คือการดึงเอาผู้ที่มีความสามารถด้านต่างๆ มารวมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในอัตราเร่ง จนเกิดเป็นโปรเจ็กต์ล้ำหน้าที่บางครั้งก็แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้

การ ‘อ่าน-เขียน’ ข้อมูลระหว่างสมองกับแมชชีนนั้นเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอยู่แล้ว เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย โดยเฉพาะทางการแพทย์ แต่หลายต่อหลายครั้ง คำถามที่มักถูกหลงลืมท่ามกลางแสงสปอตไลท์บนความตื่นเต้นของเทคโนโลยีประเภทนี้คือ “มันผิดศีลธรรมบ้างรึเปล่า?” ต่างหาก

ทำได้หรือไม่ได้คือเรื่องหนึ่ง แต่ควรทำรึเปล่าก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องถกเถียงไปพร้อมๆ กันด้วย

นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นในหน้าประวัติศาสตร์ของการแพทย์ เพราะเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนจนทำให้เราเข้าใจร่างกายอันซับซ้อนของมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งของ ‘ประสาทเทคโนโลยี’ (neurotechnology) ที่ศึกษาเกี่ยวกับสมองมนุษย์ ทั้งทางด้านจิตใต้สำนึก ความคิด การทำงานของสมองและการสั่งการต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะเราทุกคนยังเชื่อว่าสมองคืออวัยวะส่วนที่เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง เป็นรากของตัวตนที่ทำให้เราเป็นเรา เป็นแหล่งประมวลผลของข้อมูลและสิ่งรอบตัว เป็นห้องเก็บความรู้สึก ความคิด และแรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนการกระทำของเราในทุกๆ วัน

ด้วยเหตุนี้ประเด็นเรื่องความเสี่ยงหรือศีลธรรมเมื่อเกี่ยวข้องกับประสาทเทคโนโลยีจึงซับซ้อน ละเอียดอ่อนและสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันจะไปกระทบกับบรรทัดฐานทางสังคม คุณค่าของสิ่งที่เคยเป็นมาโดยตลอด และอาจจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์กลุ่มหนึ่งไปเลยก็ได้ นี่คือเส้นบางๆ ของคำถามแห่งศีลธรรม เมื่อสิ่งที่ ‘ทำ’ และ ‘ควรทำ จะสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แม้ว่าเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างสมองมนุษย์กับแมชชีนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จนเมื่อไม่นานมานี้คำถามทางศีลธรรมเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกหยิบมาพูดคุยอย่างจริงจัง เพราะเป็นเพียงคำถามเชิงทฤษฎีเท่านั้น แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ออกมาในแนวคิดคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังห่างไกลจากความจริงที่ว่า มนุษย์ทั่วไปจะเริ่มได้ใช้กันแล้ว เป็นอย่างมาก

ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมีข่าวเรื่องความคืบหน้าของเทคโนโลยีจาก Neuralink ออกมา คำถามเรื่องศีลธรรมและอีกมากมายจึงกลับมาเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องหาคำตอบตกลงกันให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดขึ้นจริง มีหลักการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมรองรับ มีเงินทุนที่ช่วยหนุนหลัง และมีบุคลากรที่มีความสามารถ

เมื่อเทียบกับระบบเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (พัฒนาโดย Brown University ในชื่อ BrainGate ซึ่งมีการใช้งานจริง) ที่มี ‘สายสื่อประสาท’ (threads) ซึ่งมีความแข็ง ทำให้ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสมอง เพราะสมองมนุษย์มีการเคลื่อนที่ในกะโหลก สายสื่อประสาทของ Neuralink นั้นอ่อนกว่า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 4 ถึง 6 ไมโครเมตร (เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์มาก) และระบบปัจจุบันของ BrainGate มีขั้วไฟฟ้า (electrodes) เพียง 128 ขั้ว ทำให้รับส่งข้อมูลกับสมองได้น้อยกว่าของ Neuralink ที่มีมากถึง 3,072 ขั้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ Neuralink ได้พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ฝังสายสื่อประสาทดังกล่าวเข้าศีรษะมนุษย์ หน้าตาคล้ายกล้องจุลทรรศน์ผสมจักรเย็บผ้า สามารถฝังสายสื่อประสาทได้ 6 เส้นต่อนาที โดยใช้การทำงานแบบอัตโนมัติทั้งหมดเพื่อความแม่นยำ ซึ่งหุ่นยนต์นี้สามารถเลี่ยงเส้นเลือดเพื่อลดความระคายเคืองในสมองได้เอง ยังไม่พอ ต่อไปพวกเขาจะพัฒนาระบบแอพพลิเคชันเพื่อควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้แบบไร้สายผ่านสมาร์ทโฟนอีกด้วย

และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด

แต่ ‘great power comes great responsibility’ บริษัทอย่าง Neuralink (หรือใครก็ตามที่พัฒนาเทคโนโลยีแขนงนี้) ต้องคิดให้ละเอียดถี่ถ้วนในการสร้างนวัตกรรมที่ทั้งมีประโยชน์และไม่ผิดศีลธรรมด้วย

ประเด็นแรกที่เราต้องพูดถึง คือผลกระทบทางร่างกายของผู้ใช้งาน แน่นอนว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก ซึ่งความคาดหวังก็คือ กลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีนี้ต้องทำการทดลองที่มากเพียงพอแล้ว ก่อนจะนำมาใช้ในมนุษย์ เพราะถึงแม้จะใส่เข้าไปในร่างกายได้อย่างปลอดภัย แต่ผลกระทบทางร่างกายที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละบุคคลก็อาจจะแตกต่างกันออกไป ทุกอย่างยังเป็นอะไรที่ไม่แน่นอนทั้งสิ้น

ประเด็นที่สอง อาจจะละเอียดอ่อนกว่า เพราะเป็นเรื่องทางจิตวิทยาและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เราเริ่มเห็นการใช้งานของเทคโนโลยีแบบนี้ในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตหรือโรคเกี่ยวกับสมอง โดยให้พวกเขาควบคุมหรือสั่งงานอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอื่นๆ ด้วยสมองได้

แต่เมื่อก้าวผ่านประเด็นของ ‘การรักษา’ มาเป็น ‘การเพิ่มประสิทธิภาพ’ เมื่อไหร่ การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ พฤติกรรม และสภาพจิตใจของผู้ใช้งานจะเริ่มต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ สิ่งที่พวกเรายังไม่รู้ก็คืออุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้บุคลิกภาพของแต่ละคนเปลี่ยนไปไหม จะก่อให้เกิดปัญหาทางสภาพจิตใจที่คาดไม่ถึงรึเปล่า จะมีอาการเสพติดการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ไหม อาจจะกลายเป็นหายนะเลยก็ได้ ถ้าผู้ใช้งานเกิดต้องพึ่งพาอุปกรณ์เหล่านี้ก่อนที่ผลกระทบระยะยาวจะแน่ชัด

และมาถึงประเด็นที่สามซึ่งน่าห่วงที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะมันจะสร้างผลกระทบในระดับสังคม ไม่ใช่แค่ในระดับบุคคลอีกต่อไป ประเด็นที่ว่าก็คือเรื่องข้อมูลและสิทธิของผู้ใช้งาน ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเป้าหมายของ Neuralink ไม่ได้หยุดเพียงแค่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ แต่สุดท้ายแล้วคือการเชื่อม A.I. เข้ากับมนุษย์ให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุนี้มันจึงเป็นคำถามทางศีลธรรมและความรับผิดชอบที่ต้องตอบให้ได้ก่อนมันจะเกิดขึ้น

สมมติว่าวันหนึ่งเราอยากฝังอุปกรณ์ตัวนี้เข้ากับสมองเพื่อเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ของตัวเอง คำถามก็คือเมื่อฝังเข้าไปแล้วใครเป็นเจ้าของอุปกรณ์ตัวนั้น? ใครสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้บ้าง? จากข้อกฎหมายแล้วคุณอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของก็ได้ หรือบางทีคุณอาจจะบอกว่าไม่แคร์ ไม่เป็นไร แต่ถ้าวันหนึ่งบริษัทส่งบิลมาเก็บค่าบริการแล้วบอกว่าจะปิดเครื่องนี้เพราะคุณค้างจ่ายค่าบริการมาหลายเดือนแล้ว หรือบางทีคุณลืมกดปุ่มอัพเกรดซอฟแวร์ สุดท้ายโดนแฮกเกอร์ดึงข้อมูลออกไปจากสมอง

คำถามต่อมาก็คือในเมื่อมีคนอ่านข้อมูลจากสมองคุณได้แล้ว ทำไมจะเขียนเข้าไปไม่ได้? เพราะอย่าลืมว่าในเมื่อเราสามารถคอนโทรลอุปกรณ์นี้จากสมาร์ทโฟน ผู้ใช้งานอาจจะซื้อ in-app purchases เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับตัวเอง เพิ่มความจำ เพิ่มการตัดสินใจที่เฉียบคม อาจจะคิดเลขเร็วขึ้น เรียนเก่งขึ้น หรือสร้างลักษณะนิสัยที่เป็นอีกคนหนึ่งไปเลย เพียงปลายนิ้วคุณก็ถูกอัพเกรดเป็นเวอร์ชั่น 2.0 ทันที

แล้วถ้าเกิดว่าบริษัทโฆษณาซื้อสิทธิ์ในการส่งสัญญาณบางอย่างไปให้ผู้ใช้งานให้รู้สึกถึงอารมณ์ร่วมที่แตกต่างกันเมื่อเห็นโฆษณา เป็นการขยายความรู้สึกแบบสั่งได้จากบริษัทโฆษณา มูลค่าของมันจะมหาศาลขนาดไหน

คิดต่อไปว่าถ้าสมาร์ทโฟนของคุณหาย ก็เตรียมตัวกดชัตดาวน์สมองตัวเองได้เลย

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงจินตนาการ และโอกาสเกิดขึ้นอาจจะน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อเทคโนโลยีเติบโต สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่เราเองในฐานะผู้ใช้งานอาจจะต้องคอยตรวจสอบว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่รึเปล่า

ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี จินตนาการอันเลวร้ายที่กล่าวมาไม่เกิดขึ้นเลย (ขอบคุณพระเจ้า)​ ก็มาถึงคำถามต่อไปที่ว่าใครจะเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้บ้าง? เมื่อวันหนึ่งเทคโนโลยีแบบนี้ถูกวางจำหน่าย สังคมจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งทันที ฝั่งที่เข้าถึง และฝั่งที่อยู่ด้านนอก ฝั่งที่เข้าถึงจะสามารถพัฒนาความสามารถของตนเองไปได้ไกลกว่าเดิม (ที่แต่ก่อนก็มีความได้เปรียบอยู่แล้วในระดับหนึ่ง) สิ่งที่เกิดตามมาคือช่องว่างของชนชั้นที่ถูกถ่างออกจนแทบเทียบกันไม่ติด อาชีพการงาน โอกาสในสังคม รายได้ และระดับคุณภาพชีวิต สิ่งเหล่านี้ผู้ด้อยโอกาสจะยิ่งถูกกดให้ต่ำลงไปเรื่อยๆ จนอาจจะไม่สามารถลืมตาอ้าปากในสังคมได้

นี่คือความเป็นไปได้และยิ่งตอกย้ำประเด็นทางสังคมอันเปราะบางที่โหดร้าย

จนกว่าเราจะช่วยกันตอบคำถามเหล่านี้ (เชื่อว่ามีอีกหลายประเด็นที่ต้องพูดถึงนอกเหนือจากบทความนี้) เทคโนโลยีการเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์อาจจะนำมาซึ่งปัญหามากกว่าทางออก ข่าวดีก็คือ ยังพอมีเวลาสำหรับ Neuralink เพื่อจะรีดเอาคำถามเหล่านี้ออกก่อนที่เทคโนโลยีของพวกเขาจะเริ่มถูกใช้งานในวงกว้าง

แต่จนแล้วจนรอดถ้า Elon Musk กับทีมยังก้มหน้าก้มตามุ่งพัฒนาต่อไปโดยไม่ใส่ใจกับประเด็นเหล่านี้ อนาคตอาจจะไม่ได้สวยหรูเหมือนกับที่พวกเขาคาดหวังเอาไว้ก็เป็นได้

อ้างอิง

https://www.blognone.com/node/110887

https://edition.cnn.com/2019/07/20/tech/elon-musk-neuralink-brain-chip-experts/index.html

https://www.theverge.com/2019/7/16/20697123/elon-musk-neuralink-brain-reading-thread-robot

https://onezero.medium.com/elon-musk-wants-to-read-your-brain-f011b9aec3a5

https://www.neuralink.com/

https://onezero.medium.com/neuralinks-technology-is-impressive-is-it-ethical-812afb38b19e

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save