fbpx
ความแตกแยกในชาติ : จากมุมมองสัตว์สังคม

ความแตกแยกในชาติ : จากมุมมองสัตว์สังคม

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

สหรัฐฯ เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชวนให้เราขบคิดเรื่องความแตกแยกในชาติ ในปัจจุบัน สังคมสหรัฐฯ อยู่ในจุดที่เรียกว่าแตกแยกร้าวลึกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

สองพรรคใหญ่อย่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตนับวันยิ่งเดินในทิศทางตรงกันข้าม พรรครีพับลิกันนับวันยิ่งขยับ “ขวา” ขณะที่พรรคเดโมแครตนับวันยิ่งขยับ “ซ้าย” สองพรรคนี้เห็นไม่ตรงกันสักเรื่อง

ที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ก็คือ แฟนคลับของแต่ละพรรคมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับจุดยืนของพรรคในทุกเรื่อง แตกต่างจากในสมัยก่อนที่คนสหรัฐฯ แต่ละคนมักมีความเห็นค่อนข้างผสมผสาน (เช่น เห็นด้วยกับรีพับลิกันในเรื่องความมั่นคง เห็นด้วยกับเดโมแครตในเรื่องเศรษฐกิจ ฯลฯ) ปัจจุบัน มีคนจำนวนเกือบครึ่งในทั้งสองพรรคที่บอกว่า เกลียดคนที่สนับสนุนอีกพรรคหนึ่ง นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยพบว่า คนสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงที่จะคบแฟนที่สนับสนุนอีกพรรค และไม่อยากมีเพื่อนบ้านหรืออยู่ในชุมชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง!!

นักวิชาการและนักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ พยายามเสนอคำอธิบายความแตกแยกในชาติ บางคนมองปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในสหรัฐฯ ที่รุนแรงมากขึ้น, บางคนมองปัญหาเชิงเทคนิค เช่น เรื่องระบบเลือกผู้สมัครขั้นต้นภายในพรรค (Primary System) ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดกลางๆ ได้เป็นตัวแทนพรรค, บางคนมองว่าเป็นปัญหาของสื่อมวลชน เพราะสื่อเน้นเสนอข่าวความขัดแย้งหรือประเด็นที่สร้างความแตกแยก เพื่อดึงดูดผู้ชมรายการ, บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องของการออกแบบโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เรามักมองเห็นแต่โพสต์ความเห็นของคนที่คิดเหมือนเรา

แต่ยังมีนักวิชาการและนักวิเคราะห์ที่มองอีกมุมอย่างน่าสนใจ โดยเสนอว่าความแตกแยกในชาติ มีรากเหง้ามาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม ทำให้เราหลงเล่นพรรคเล่นพวกโดยไม่รู้ตัว ปิดกั้นความเห็นต่าง จนความแตกแยกค่อยๆ ร้าวลึก

ในหนังสือ The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion นักจิตวิทยาอย่าง Jonathan Haidt พยายามตอบคำถามว่า เพราะเหตุใดคนเราจึงแตกแยกอย่างรุนแรงในเรื่องความเชื่อทางการเมืองและศาสนา? และเพราะเหตุใดจึงยากมากที่เราจะมองคนที่คิดต่างจากเราว่าเป็นคนดีเหมือนกับพวกพ้องน้องพี่ของเรา?

คำตอบก็คือ คนเราไม่ได้ใช้หรือมีเหตุผลขนาดนั้นในการคิด เวลาที่เราคิด เราใช้อารมณ์ความรู้สึกก่อนเพื่อน จากนั้นการให้เหตุผลจึงค่อยตามมา อารมณ์ความรู้สึกทางศีลธรรม (ว่าสิ่งนี้ดีสิ่งนี้เลว) ผูกเราและผูกตาเรา นั่นก็คือ ผูกเราเข้ากับกลุ่มคนที่รู้สึกคล้ายๆ เรา และเหมือนเอาผ้าผูกตาเราด้วย จนปิดตาปิดใจที่จะรับฟังคนกลุ่มตรงข้ามที่มีระบบความคิดความเชื่อแตกต่างจากเรา

ส่วนในหนังสืออีกเล่มชื่อ “How to Think?: A Survival Guide for the World at Odds” นักเขียนขึ้นชื่ออย่าง Alan Jacobs บอกว่าอารมณ์ความรู้สึกทางศีลธรรม จริงๆ ก็มาจากอารมณ์พวกพ้องนั่นเอง เขาเสนอว่า ธรรมชาติของคนไม่ได้ใช้ความคิดเพื่อแสวงหาความจริง แต่เราใช้ความคิดเพื่อผูกและรักษาสัมพันธ์กับคนรอบตัวเรามากกว่า ดังนั้น คนเราจึงไม่ได้คิดอะไรอย่างเป็นกลาง ตรงกันข้ามเราใช้ความรู้สึกก่อนเสมอว่า พวกเดียวกับเราคิด (หรือน่าจะคิด) อย่างนี้ และเราจึงค่อยหลอกตัวเองว่า นั่นเป็นความคิดของเราด้วย และเป็นความคิดที่มีเหตุผลมากๆ

โดยธรรมชาติ เราคิดและพูดเพื่อให้ตนเป็นที่รักของพวกพ้อง (ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่) บางคนอาจเห็นแย้งว่า ก็ยังมีตั้งหลายคนที่พูดจาแหกคอกสวนกระแสสังคม คำตอบก็คือ เขาเหล่านั้นก็คิดและพูดเช่นนั้น เพราะเขาต้องการเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนแหกคอกสวนกระแสสังคมด้วยกันนั่นเอง

Alan Jacobs มองว่า ธรรมชาติสัตว์สังคมของเราหลายครั้งสร้างอคติ ขัดขวางการรับฟังความเห็นต่าง จนทำให้เราคิดได้อย่างจำกัดและไม่คมชัดเท่าไรนัก เขาได้ให้เทคนิคการคิดไว้หลายอย่าง เช่น เมื่ออ่านหรือได้ยินคนโต้แย้งเรา ให้รอ 5 นาที ก่อนพูด/เขียนตอบ, ก่อนที่จะวิจารณ์ความเห็นใคร ต้องมั่นใจเสียก่อนว่าคุณสามารถอธิบายความเห็นและเหตุผลที่ดีที่สุดจากมุมของเขาได้อย่างถูกต้อง, ระวังการใช้ภาษาในการให้เหตุผล เพราะภาษาเป็นตัวนำการคิด ฯลฯ

เขายังเคยให้สัมภาษณ์ว่า ยิ่งถ้าเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ ยิ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมากมาย ไม่ใช่จะคิดง่ายๆ ว่าทำตามหลักการของพวกตัวเอง แล้วปัญหาทุกอย่างจะหมดไป แต่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์และเปิดรับฟังความเห็นต่างมากขึ้น

ทำให้ผมหวนนึกถึงแนวคิดเชิงวิพากษ์ในโลกตะวันตก ที่มองว่าคำใหญ่ๆ ที่มักใช้กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละพวก ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตย” “นิติรัฐ” “ธรรมาภิบาล” “ศีลธรรม” “คนดี” “กลไกตลาด” “รัฐสวัสดิการ” “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ฯลฯ คนเราใช้คำเหล่านี้เพื่อแสดงว่าตนเป็นพวกใคร ทั้งๆ ที่คำเหล่านี้เอาเข้าจริงมีความหมายที่ยืดหยุ่นและไม่แน่นอน เวลานำมาปฏิบัติจริง มีทางเลือกหลายร้อยทางที่แตกต่างกัน ประชาธิปไตยเองมีร้อยพ่อพันธุ์แม่ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจระบบตลาดเสรีและรัฐสวัสดิการก็มีหลากหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้น การคิดให้ลุ่มลึกและลงไปที่สาระจริงๆ จึงจำเป็น แต่ก็ยากยิ่งนัก ถ้าเราไม่คอยสำรวจทบทวนตัวเอง

David Brooks คอลัมนิสต์ชื่อดังของ New York Times ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อธิบายความแตกแยกร้าวลึกขึ้นทุกวันในสหรัฐฯ ด้วยมุมมองสัตว์สังคม เขามองว่า ในยุคปัจจุบัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนแตกสลาย ทำให้คนเริ่มแสวงหาพรรคพวกจากทางอื่นมาเติมเต็ม เช่น โดยยึดสีผิว (เช่น พวกคนขาว vs พวกคนดำ) หรือโดยยึดชาตินิยม ต่อต้านต่างชาติและคนต่างด้าว ดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปลุกกระแสแบ่งแยกพวกเรา vs พวกเขาจนชนะการเลือกตั้ง

แนวคิดที่ว่า ความแตกแยกในชาติ ไม่ได้มาจากหลักการ ศีลธรรม หรือเหตุผลอะไรมากมายเท่ากับธรรมชาติความเป็นสัตว์สังคม (และต้องการเข้ากับพวกพ้อง) ของมนุษย์ ชวนให้ผมคิดถึงสังคมไทยเหมือนกันนะครับ จำได้ว่ามีฝรั่งเคยถามผมว่า พรรคทักษิณเป็นพวกคนเหนือและอีสาน ส่วนอีกพรรคเป็นพวกคนใต้กับคนกรุง เข้าใจอย่างนี้ถูกไหม? หรือหลายคนก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องเล่าของ Benedict Anderson ซึ่งท่านเคยเล่าว่า คนขับแท็กซี่ที่ไทย บอกท่านว่า รักทักษิณมาก เนื่องจากทักษิณเป็นคนจีนแคะ (ฮากกา) คนจีนแคะมีความกล้าหาญ มีเกียรติ และมีอุดมการณ์ ส่วนสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นจีนไหหลำ ชอบโกหกและงี่เง่า อภิสิทธิ์เป็นคนจีนฮกเกี้ยนและเวียดนาม ฮกเกี้ยนดูถูกคนอื่น และรู้สึกว่าฉลาดกว่าคนอื่น ส่วนนักการเมืองอีกคนเป็นคนแต้จิ๋ว เป็นนกสองหัวไม่น่าไว้วางใจ!

ในด้านหนึ่ง ถ้ามองความแตกแยกในชาติจากมุมมองสัตว์สังคม ก็ดูจะแก้ยาก น่าหมดหวัง (เพราะไม่ใช่ว่า แก้ระบบใดระบบหนึ่ง แล้วความแตกแยกจะหมดไป) แต่ในอีกด้านหนึ่ง มุมมองเรื่องสัตว์สังคมก็ดูทรงพลังไม่เบาเช่นกัน เพราะเราแต่ละคนเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวเองได้เลย ลองฝึกสำรวจและทบทวนตัวเรา พยายามคิดให้กว้าง ลึก และรับฟังคนที่คิดต่างจากเรามากขึ้น อย่าเอาแต่คิด พูด (และโพสต์เฟซบุ๊ก) แบบนี้ เพราะรู้สึกว่าน่าจะถูกใจพวกเดียวกับตนแน่ๆ

David Brooks เคยบอกในคอลัมน์ของเขาว่า มุมมองสัตว์สังคมยังอาจช่วยให้เราคิดหากลวิธีโน้มน้าวใจฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย แทนที่จะคิดโน้มน้าวด้วยเหตุผลอย่างเดียว ก็ต้องเปลี่ยนมาสร้างเรื่องราวและสร้างภาพกลุ่มของเราให้น่าดึงดูดใจ ให้คนรู้สึกว่ากลุ่มนี้ดี เท่ ก้าวหน้า สร้างสรรค์ จนอยากเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม แม้แต่การสร้างเรื่องราวของชาติ ก็ต้องพยายามสร้างเรื่องราวที่เปิดให้คนทุกกลุ่มเข้าเป็นส่วนหนึ่งได้ (เช่น สหรัฐฯ เป็นชาติแห่งการเปิดกว้าง และให้โอกาสทุกคนบรรลุศักยภาพของตน) มากกว่าจะสร้างเรื่องราวของชาติที่บอกว่าคนอีกกลุ่มผิด ไม่รักสถาบันพื้นฐานของสังคม และไม่มีจิตวิญญาณความเป็นคนสหรัฐฯ

Alan Jacobs เองก็เล่าในหนังสือถึงชมรมการเมืองของมหาวิทยาลัยเยลล์ ซึ่งมีเกณฑ์การรับสมาชิกที่แปลกประหลาด นักศึกษาใหม่ที่สนใจจะเข้าชมรมจะต้องเข้าร่วมกลุ่มถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะเสียก่อน หลังจากการถกเถียง จะต้องรายงานว่า มีช่วงใดบ้างที่เหตุผลของคนที่เห็นต่างได้เปลี่ยนความคิดของตน จุดมุ่งหมายเพื่อจะให้นักศึกษาใหม่ฝึกรับฟังความเห็นต่างอย่างจริงจัง พยายามทำความเข้าใจกรอบคิดและการมองโลกของคนที่เห็นต่าง

และที่สำคัญ ตระหนักว่าการถกเถียงมีขึ้นเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อเอาชนะคนที่ไม่ใช่พวกตน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save