fbpx
แปดขุนเขา

Mountains as places of education, memory, bromance, and so on and so on…


ภาพของลูกชายที่ปีนขึ้นไปบนตักพ่อ ในขณะที่พ่อกำลังกางแผนที่ศึกษาเส้นทางการเดินเขา ความยินดีที่เกิดขึ้นจากการเล่าเรื่องที่ตนเองสนใจให้ลูกฟัง ภูมิทัศน์ รวมไปถึงความรู้ต่างๆ ถูกถ่ายทอดออกมา หนึ่งในใจความสำคัญคือยอดเขาเป็นจุดหมายปลายทาง เราจะลงก็ต่อเมื่อถึงจุดที่ขึ้นต่ออีกไม่ได้แล้วเท่านั้น

หลายปีต่อมา เด็กน้อยที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวในวันนั้นออกมายืนรออย่างเตรียมพร้อมตอนเช้าตรู่เพื่อออกไปผจญเส้นทางสูงชันกับพ่อ จากนั้น เทือกเขาแอลป์ในอิตาลีได้เปิดเผยให้เห็นความซับซ้อนของจิตใจในสายสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ที่มีฉากหลังเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของขุนเขา

ก้าวแรกของการเดินทางนำไปสู่ก้าวต่อไป คู่รักที่ละทิ้งอดีตและถิ่นพำนักเดิมจากแคว้นเวเนโตมาสู่เมืองมิลาน ปิเอโตรลูกชายของพวกเขาถือกำเนิดที่นั่น ไม่นานนัก สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้พัดพาชีวิตของครอบครัวกวัสติไปสู่กรานาหมู่บ้านนอกหุบเขา ณ ที่แห่งนี้ ปิเอโตรได้พบกับบรูโนเด็กชายเจ้าถิ่น

ด้วยความช่วยเหลือของแม่ ปิเอโตรได้ผูกมิตรกับบรูโน ทั้งสองใช้ชีวิตนอกบ้าน ในทุ่งหญ้า ริมลำธาร ชีวิตที่มาจากพื้นฐานอันแตกต่างกันได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน

เมื่อความสนิทสนมเพิ่มมากขึ้น บรูโนได้มีโอกาสไปเดินเขากับปิเอโตรและพ่อของเขา ความใกล้ชิดทำให้ครอบครัวกวัสติอยากพาบรูโนไปเรียนหนังสือในเมือง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เด็กชายทั้งสองจำต้องแยกจากกันไปตามเส้นทางชีวิต แต่ขุนเขายังคงเป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงพวกเขาทั้งคู่ มิตรภาพลงรากลึก เหนียวแน่น และแข็งแรง

ช่วงชีวิตวัยรุ่นและความเป็นผู้ใหญ่ทำให้ปิเอโตรเป็นปฏิปักษ์กับทุกอย่างที่มาจากพ่อ จนกระทั่งเมื่อพ่อของเขาเสียชีวิต แง่มุมต่างๆ ที่เขาไม่เคยรู้ถูกเปิดเผยออกมาหลังการจากไป หนึ่งในนั้นคือมรดกเป็นที่ดินในกรานา เขาจึงได้รับรู้ถึงเรื่องราวของการเดินเขาของพ่อและบรูโนที่เกิดขึ้นระหว่างที่เขาเว้นระยะห่างจากครอบครัว

การจัดการมรดกตามความต้องการของพ่อทำให้ความสัมพันธ์ของปิเอโตรและบรูโนกลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง ขุนเขาทำให้ปิเอโตรตระหนักถึงตัวตนของพ่อที่เขาเคยปฏิเสธในชีวิตของตัวเองมากขึ้น และรู้ดีว่าสิ่งที่เขาปรารถนาคือการใช้ชีวิตที่หนอื่น

ที่หิมาลัยดินแดนแสนไกลจากบ้านเกิด ปิเอโตรได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวของแปดขุนเขาที่รายรอบเขาพระสุเมรุ ส่วนที่กรานา บรูโนใช้ชีวิตอย่างคนภูเขา ทำเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ ทั้งสองพบปะกันทุกครั้งที่ปิเอโตรกลับมาเยี่ยมบ้าน หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตของทั้งสองเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนคือความผูกพันอันเป็นความหมายของมิตรภาพ

ภูมิประเทศของภูเขานั้นเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูง ยิ่งสูง อากาศยิ่งบางเบา คุณลักษณะเหล่านี้เราไม่สามารถสัมผัสได้จากพื้นราบด้านล่าง ถ้าไม่ก้าวเดินขึ้นไป สิ่งที่เราสัมผัสได้อาจมีเพียงทัศนียภาพทางสายตาเพียงผิวเผิน เฉกเช่นเดียวกันกับ แปดขุนเขา นวนิยายที่เรื่องราวภายในได้กลายตัวเองไปเป็นความสูงชันขึ้นเรื่อยๆ ทุกบรรทัด ขุนเขาเป็นสถานที่ของการเรียนรู้ ทั้งจากลักษณะทางกายภาพของขุนเขาเอง และจากชีวิตของผู้คนที่พำนักอาศัยอยู่ที่นั่น

ที่ระดับแรกเริ่ม เราสัมผัสได้ถึงความสำคัญของสถานที่ที่มีความสัมพันธ์ต่อบุคลิกลักษณะของคน การพบเจอกันของคนที่มาจากเมืองและคนที่อยู่ในชนบทสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่าง ความแตกต่างที่ผิดสัดส่วนจะผลักอีกฝ่ายออกไปเป็นคู่ตรงข้าม แต่เมื่ออยู่ในสัดส่วนพอดีก็สามารถกลมเกลียวเกื้อหนุนกัน สมดุลในมิตรภาพระหว่างปิเอโตรและบรูโนก่อให้เกิดภาพของสัญลักษณ์หยินหยางที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในความคิดของทั้งสองเมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป

ที่ระดับความสูงต่อมา หูของเราอาจได้ยินเสียงเพลง Father and Son ของ Cat Stevens บรรเลงคลอไปในบรรยากาศ หรือใครบางคนอาจประหวัดไปถึงประโยคซึ่งพูดถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่จะมาถึงเมื่อเกิดการสูญเสียอย่าง “You are not really a man until your father dies.” จุดประสงค์ของการแก้ไขบาดแผลในอดีตและความต้องการทำให้ปัจจุบันดีขึ้น บางครั้งก็นำไปสู่แผลใหม่ที่ลึกกว่าเดิมในอนาคต และโชคร้ายที่หลายครั้งการสื่อสารผิดวิธีหรือความไม่เข้าใจกันนำไปสู่ปลายทางที่ทั้งพ่อและลูกชายไม่ต้องการ

ในระดับความสูงสุดท้ายก่อนถึงยอดเขา อากาศที่บางเบา บรรยากาศที่หนาวเย็นจะทำให้โหยหาความอบอุ่น เรื่องราวที่ประสบพบพานจะทำให้เราย้อนกลับเข้าไปในความทรงจำเพื่อหวนระลึกถึงใครสักคนที่เข้าอกเข้าใจและพร้อมยื่นมือมาช่วย เราอาจคิดถึงเสียงนุ่มทุ้มของ James Taylor ในเพลง You’ve Got a Friend (อาจจะมีใครสักคนส่งเสียงประท้วงว่าทำไมไม่เป็นเสียงของ Carole King ล่ะ ใจเย็นก่อนนะ นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชาย และไม่มีประเด็นที่ต้องเน้น Gender มาข้องเกี่ยว) หลายคนอาจคิดถึง Brokeback Mountain ของ Annie Proulx หรือกังขาว่ามีอะไรซ่อนเร้น แต่สิ่งที่เปิดเผยให้เห็นเด่นชัดคือความสัมพันธ์แบบ Bromance (ขอเรียกว่า “น้ำมิตรแห่งชาย”) หรือ Comrade in arms (สหายร่วมรบ) ที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าอกเข้าใจในลักษณะนิสัยกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งนำไปสู่การเคารพในการตัดสินใจของอีกฝ่าย ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน นี่คือคุณค่าของคุณธรรมในการคบหาที่ไม่ต้องพึ่งหน้ากากคุณงามความดีหรือท่าทีมากมารยาทอันพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมเมืองหรือสังคมแห่งการหาผลประโยชน์

บนยอดเขา บริเวณที่เวิ้งว้างวังเวง จุดที่บางครั้งความว่างเปล่ารอบกายทำให้เราถามตัวเองด้วยคำถามดูหมิ่นความพยายามว่าขึ้นมาเพื่ออะไร ความทรงจำที่ผ่านมาทั้งหมดบนเส้นทางอาจตอบเราว่าเพื่อการเรียนรู้ เราอาจคิดถึงประโยคที่ว่า “แล้วเราก็พูดกันว่า ใครได้เรียนรู้มากกว่ากัน คนที่ท่องไปบนแปดขุนเขา หรือคนที่ไปถึงยอดพระสุเมรุ”

มิตรภาพสามทศวรรษของปิเอโตรและบรูโนไม่อาจบอกได้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นฝ่ายอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ในหนังสืออาจมีคำตอบให้ ซึ่งเราก็มีสิทธิ์เห็นแย้ง แต่ความหมายที่เรามอบให้กับเรื่องราวที่จบลงจะบอกให้รู้ว่า  ตัวเรานั้นพอใจกับตัวเลือกใดมากกว่ากันระหว่างเส้นทางของแปดขุนเขาหรือยอดสุดพระสุเมรุ


หมายเหตุ

แปดขุนเขา (Le otto montage) นวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกของเปาโล คนเญตติ (Paolo Cognetti) นักเขียนอิตาเลียน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2016 ได้รับรางวัล Premio Strega ของอิตาลี และรางวัล Prix Médicis étranger ของฝรั่งเศส ในปี 2017 แปลเป็นภาษาไทยโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save