fbpx

จักรวาลของนางงามจักรวาล : มิสยูนิเวิร์สจากยุคทรัมป์ถึง WME-IMG ว่าด้วยความงาม ธุรกิจ และการเมือง

การประกวดมิสยูนิเวิร์สถือเป็นหนึ่งในเวทีการประกวดนางงามที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราที่กระแสการประกวดร้อนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งล่าสุด (มิสยูนิเวิร์ส 2020) ที่ได้เปลี่ยนหลายคนให้กลายมาเป็นติ่งนางงามโดยไม่ทันตั้งตัว

บทความนี้จึงอยากเป็นตัวช่วยให้ผู้อ่านได้รู้จักการประกวดมิสยูนิเวิร์สในบริบทร่วมสมัยมากขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ความซับซ้อนในมิติด้านความงาม การเมือง และธุรกิจที่ผูกโยงเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น และอาจทำให้การรับชมนางงามเป็นกิจกรรมที่เป็นมากกว่าการเสพสื่อบันเทิงธรรมดาๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ

มิสยูนิเวิร์สยุคทรัมป์ : ยุคมืดของการประกวดนางงาม

มิสยูนิเวิร์สได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาโดยตลอด เพราะหลายคนตีตราว่าการประกวดนางงามเป็นการสร้างมาตรฐานความงามรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุของการแบ่งแยกกีดกัน การตีตราว่าร้าย และการลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์เพศหญิงให้เหลือเพียงวัตถุแห่งปรารถนาในโลกที่คุณค่าความเป็นชายถือครองอำนาจนำ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีมากสำหรับเวทีมิสยูนิเวิร์สในช่วงปี 1996-2015 ยุคที่ ‘โดนัล ทรัมป์’ เป็นเจ้าของเวทีการประกวด

ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนผมซื้อกิจการมิสยูนิเวิร์ส ผมทำให้ชุดว่ายน้ำเล็กลง รองเท้าส้นสูงสูงขึ้น และเรตติ้งก็พุ่งขึ้นด้วย” ทรัมป์ให้ความสำคัญกับความงามทางกายภาพ เขามักไม่พอใจและพูดเสียดสีคณะกรรมการที่กองประกวดเชิญมาร่วมตัดสิน “พวกเขา (กรรมการ) ดีใจที่ได้เห็นผู้หญิงเป็นหมอบนเวที”

สาวงามผู้คว้ามงกุฎส่วนมากมักในยุคทรัมป์เป็นตัวแทนจากประเทศแถบลาตินอเมริกาผู้มีผมสีบลอนด์ รูปร่างดี และผิวขาวหรือผิวแทน (ตามแฟชั่น) มักมีเสียงซุบซิบว่าหากสาวงามที่กรรมการเลือกมาเป็นผู้หญิงผิวสีเสียส่วนมาก ทรัมป์จะทำการคัดเลือกใหม่ด้วยตัวเขาเอง

หนึ่งในกิจกรรมการเก็บตัวที่สำคัญมากสำหรับสาวงามผู้เข้าประกวดคือ ‘วันพบทรัมป์’ พวกเธอจะแต่งหน้าทำผมจัดเต็มเพื่อดึงดูดให้ทรัมป์สนใจและพูดคุยกับเธอ เพราะนั่นอาจการันตีว่าเธอมีโอกาสจะผ่านเข้ารอบ

Adwoa Yamoah มิสแคนาดาปี 2012 เคยเล่าว่าทรัมป์จะพูดคุยกับสาวงามที่เขาถูกใจรูปลักษณ์ของเธอ รวมถึงตัวแทนจากประเทศที่เขาทำธุรกิจอยู่หรือสนใจจะไปลงทุน ในวันพบทรัมป์ มิสแคนาดาได้ยินบทสนทนาประเภทว่า “ผมมีตึกทรัมป์ที่นั่นด้วยนะ” หรือ “ผมกำลังวางแผนจะสร้างตึกทรัมป์ที่นั่น” และหากว่าทรัมป์เลือกใคร เขาจะหันไปหา Paula Shugart ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองประกวดตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงทุกวันนี้และส่งสัญญาณให้เธอรับรู้ว่าเขาเลือกสาวงามคนนั้น จากนั้น Paula จะจดบันทึกลงในสมุดของเธอ เป็นที่รู้กันว่านั้นคือ ‘Trump card’ คำบอกของมิสแคนาดาตรงกับเรื่องที่ ประณม ถาวรเวช หรือในวงการนางงามเรียกกันว่า ‘พี่แจ๊ส’ พี่เลี้ยงนางงามสัญชาติไทยหนึ่งเดียวในกองประกวดมิสยูนิเวิร์สเคยเล่าไว้ในรายการ ‘Gossip จักรวาล’ ทางช่อง Youtube ยิ่งไปกว่านั้นมิสแคนาดายังเล่าให้ฟังอีกว่าทรัมป์บอกกับใครต่อใครว่าเขาเป็นคนเลือก 9 ใน 15 คนที่จะผ่านเข้าสุดท้าย

ทรัมป์ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเขาใช้การประกวดมิสยูนิเวิร์สเป็นสะพานสร้างเครือข่ายเพื่อผลประโยชน์ธุรกิจของเขา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือกรณีของมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2013 ทรัมป์ตัดสินใจจัดประกวดที่กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซียโดยมี Aras Agalarov มหาเศรษฐีชาวรัสเซียให้ความช่วยเหลือในหลายเรื่อง เขาทั้งคู่ใช้โอกาสนี้ในการเจรจาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน รวมถึงผลงานเพลงของ Emin Agalarov ลูกชายของ Aras Agalarov ยิ่งไปกว่านั้น ทรัมป์ยังพยายามใช้โอกาสนี้เชิญเชื้อ ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ มาร่วมอีเวนต์สำคัญของมิสยูนิเวิร์ส แต่ก็ไม่สำเร็จ

การประกวดมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2013 ได้กลายมาเป็นเรื่องอื้อฉาวในปี 2017 ขณะที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าทรัมป์ได้เข้าพบกับปูตินในช่วงระหว่างการจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่มอสโกและทั้งคู่ร่วมพูดคุยกันเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แต่ทรัมป์ยืนกรานปฏิเสธ

ตลอดช่วงระยะเวลาที่ทรัมป์ถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์ส เขาได้สร้างวีรกรรมอื้อฉาวไว้มากมาย อาทิ การเข้าห้องแต่งตัวของสาวงามในขณะที่พวกเธอกำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า ซึ่งทรัมป์กระทำเช่นนั้นทั้งในเวที Miss USA และ Miss Teen USA ซึ่งเป็นเวทีการประกวดเครือข่ายเดียวกับมิสยูนิเวิร์ส

Alicia Machado มิสยูนิเวิร์สปี 1996 จากประเทศเวเนซุเอลา เคยให้สัมภาษณ์ว่าขณะที่เธอดำรงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สและมีโอกาสได้ร่วมงานกับทรัมป์ เขามักจะเรียกเธอว่า ‘นางงามสาวใช้’ เพื่อเหยียดชาติพันธุ์ของเธอ และ ‘ยัยเครื่องกินอัตโนมัติ’ ‘นางงามหมูอ้วน’ เนื่องจากเธอมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 50-60 ปอนด์หลังจากได้รับตำแหน่ง ซึ่งนั่นเป็นผลจากโรคอะนอเร็กเซียและบูลิเมีย ที่เธอประสบในช่วงเตรียมตัวประกวด อันที่จริงแล้วเธอต้องการนักโภชนาการเพื่อฟื้นฟูรูปร่างและสุขภาพของเธอ แต่ทรัมป์กลับใช้ความป่วยไข้ของเธอเป็นกระแสเรียกความนิยมโดยการเชิญกองทัพนักข่าวมาทำข่าวเธอขณะออกกำลังกายและแถลงว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของเธอนั้นเป็นปัญหาเรื่องการกินตามใจปากและทัศนคติที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่

ครั้งหนึ่งในช่วงใกล้การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 1997 นักข่าวพูดกึ่งแซวว่า Alicia เป็นผู้หญิงที่สวยมากและเขาอยากให้เธอดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 ปี แต่ Alicia ตอบอย่างไม่ลังเลว่า “No, please” ต่อหน้าทรัมป์และกล้องวิดีโอที่กำลังถ่ายทอดสด

ประเด็นเรื่องน้ำหนักของมิสยูนิเวิร์ส 1996 ได้กลายมาเป็นคำถามในรอบ 3 คนสุดท้ายของการประกวด Miss USA 1997

“มิสยูนิเวิร์สคนล่าสุดเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนถึงน้ำหนักตัวของเธอที่เพิ่มขึ้น หากคุณเป็นเธอ คุณจะทำอย่างไร”  

Brook Lee สาวงามจากรัฐฮาวายผู้คว้าชัยชนะ ตอบว่า “ฉันจะมองตัวฉันเองด้วยหัวใจ มองจากภายในให้ทะลุออกมาภายนอกและตระหนักรู้ว่าฉันคือผู้หญิงคนเดิมคนนั้นที่ได้รับมงกุฏในค่ำคืนนั้น รูปลักษณ์ภายนอกของฉันที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้สำคัญอะไรเลยสักนิดเดียว เพราะฉันคือผู้ชนะ นั่นคือสิ่งที่ฉันเป็น ดังนั้น ไม่ว่าฉันจะเฉิดฉายหรือตกต่ำ สูงขึ้นหรือเตี้ยลง จมูกจะเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น ฉันก็ยังคงเป็นผู้ที่สวมใส่มงกุฎบนศีรษะ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ฉันก็ยังคงเป็นตัวแทนที่ดี”

และเธอยังคงตอบย้ำประเด็นเดียวกันนี้อีกครั้งในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 1997 จากคำถามที่ว่า “หากวันหนึ่งชีวิตไม่มีข้อจำกัดใดๆ มากำหนด และคุณสามารถทำอะไรก็ได้ คุณจะทำอะไร”

เธอตอบว่า “ฉันจะกินทุกอย่างในโลก และฉันจะเบิ้ล 2 ด้วยค่ะ”

คำตอบที่ได้สร้างเสียงฮือฮานั้นทำให้เธอคว้ามงกุฏมิสยูนิเวิร์ส 1997 มาครองและกลายเป็นตำนานที่ทุกคนกล่าวถึงจวบจนปัจจุบัน

ชัยชนะของ Brook Lee รวมถึงนางงามจักรวาลอีกหลายคนที่ไม่ได้ตรงตามมาตรฐานแบบทรัมป์ได้เผยให้เห็นถึงมิติที่ซับซ้อนของการ ‘คานอำนาจ’ ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส กล่าวคือปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจในการตัดสินใจของทรัมป์มีมากมายล้นเหลือ แต่อำนาจนั้นก็ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและแข็งแรงคงทนในทุกๆ ปี เพราะในบางปี ความพึงพอใจของทรัมป์ก็ไม่อาจมีชัยเหนือมติของคณะกรรมการ กระแสของแฟนนางงาม บริบทของสังคมโลก หรือแม้แต่อุดมการณ์เชิดชูสิทธิสตรีหรือสิทธิมนุษยชนที่องค์กรมิสยูนิเวิร์สเคลมว่ายึดถือ

การถ่วงดุลทางอำนาจในปริมณฑลแห่งความงามนี้เป็นเรื่องที่สุดแสนจะสามัญของสรรพสิ่งที่ดำรงคงอยู่ในโลกที่ประชาธิปไตยวิ่งคู่ขนานกับทุนนิยม และยังคงดำรงอยู่ในการประกวดมิสยูนิเวิร์สในยุคถัดมา

มิสยูนิเวิร์สยุค WME-IMG : จากความสวยสู่แรงบันดาลใจ

เนื่องจากทรัมป์ต้องเตรียมตัวลงสมัครเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ผนวกกับแรงกดดันจากเหตุที่เขาแสดงความเห็นต่อผู้อพยพชาวเม็กซิกันว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรมและเป็นนักข่มขืนในสังคมอเมริกา

ทรัมป์จึงจำใจต้องขายธุรกิจมิสยูนิเวิร์ส โดยมีผู้มารับช่วงต่อคือสังกัดดารานักแสดงชื่อดังระดับโลก ‘WME-IMG’ ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2015 ซึ่งนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหลายต่อหลายเรื่อง

มิสยูนิเวิร์ส ยุค WME-IMG พยายามขับเน้นความงามบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งความแตกต่างหลากหลาย คนที่จะเป็นมิสยูนิเวิร์สได้จำเป็นต้องมีเรื่องราวในชีวิตและทัศนคติต่อโลกที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงทั่วโลก มีสติปัญญาที่ฉลาดหลักแหลม มีจิตสาธารณะ เด็ดเดี่ยว กล้าคิดกล้าแสดงออก

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมรูปแบบการประกวดจึงเปลี่ยนแปลงไปจากยุคทรัมป์อย่างชัดเจน ซึ่งแต่เดิมการถ่ายทอดสดหมดเวลาส่วนมากกับการเดินแบบชุดว่ายน้ำและชุดราตรี แต่ปัจจุบันนี้เราได้เห็นเบื้องหลังชีวิตและทัศนคติของสาวงามผู้ผ่านเข้ารอบผ่านวีทีอาร์ การพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (ซึ่งถูกตัดออกไปในการประกวดครั้งล่าสุด) รวมถึงรอบตอบคำถามที่เชื่อมโยงประเด็นการเมืองและพลวัตทางวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น

ไม่ใช่เพียงแต่รูปแบบของการแข่งขันเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่ยังมีรายละเอียดอื่นๆที่ชี้ชัดว่ามิสยูนิเวิร์สุค WME-IMG ทำตามเจตนารมณ์ว่าด้วยการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคของปัจเจกบุคคล

ในช่วงตลอดระยะเวลา 6 ปีที่มิสยูนิเวิร์สอยู่ภายใต้การควบคุมของ WME-IMG เรามีโอกาสได้เห็นสาวงามที่รูปลักษณ์หรือรูปร่างไม่ได้ตรงกับ ‘ความงามในอุดมคติ’ ที่ถูกขับเน้นในยุคทรัมป์พาเหรดกันเข้ารอบ

Siera Bearchell ตัวแทนสาวงามจากแคนาดาผู้เข้าร่วมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2016 เป็นนางงามที่ยืนยันว่ารูปร่างที่มีขนาดตัวใหญ่เกินกว่า ‘มาตรฐานความงามแบบขนบ’ ของเธอไม่ได้เป็นปัญหากับการประกวดและโลกควรจะต้องเปลี่ยนทัศนคติกับความงามแบบเดิมๆ ได้แล้ว

อีกทั้งเรายังมีโอกาสได้เห็นทรานส์เจนเดอร์จากประเทศสเปน Angela Ponce เข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สในปี 2018 แม้ว่าเธอไม่ผ่านเข้ารอบ แต่เธอก็ได้รับโอกาสจากกองประกวดให้ได้ขึ้นโชว์ตัวบนเวทีพร้อมถอดสายสะพายซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยกจนเธอได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมอย่างท่วมท้น

ในรอบการประกวดชุดประจำชาติปี 2020 เราได้เห็น Bernadette Belle สาวงามจากประเทศสิงคโปร์สวมชุดประจำชาติสีขาวแดงที่มีข้อความว่า “Stop Asian Hate” (ยุติความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย) และ Thuzar  Wint Lwin สาวงามจากพม่าผู้ชูป้าย “Pray for Myanmar” (โปรดช่วยเหลือเมียนมา) และรูปภาพที่เธอชูสามนิ้วเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านคณะรัฐประหารพม่าในวันประกวดจริง

https://www.instagram.com/p/CO149SOKN81/

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุค WME-IMG ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของมิสยูนิเวิร์ส สะท้อนถึงความพยายามลบภาพจำเก่าๆ ที่เคยมีมาในยุคทรัมป์ (รวมถึงภาพจำในอดีตเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอคติทางเพศ) และขับเน้นคุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชนให้การประกวดนางงามยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกระแสธารของโลก

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ดูเหมือนว่ามิสยูนิเวิร์สในยุค WME-IMG ช่างสวยงามและไร้ที่ติ แต่อันที่จริงแล้วภาพจำของมิสยูนิเวิร์สในบางเรื่องก็ยังคงหนีไม่พ้นข้อครหาเฉกเช่นเดียวกับยุคทรัมป์ นั่นคือเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ในยุคที่ WME-IMG ถือครองลิขสิทธิ์ หนึ่งในประเทศที่เข้ามามีบทบาทในองค์กรมิสยูนิเวิร์สมากคือประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจชาวฟิลิปปินส์ตบเท้าเข้ามาร่วมลงทุนเป็นผู้สนับสนุน เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ‘Olivia Quido’ รองเท้าจาก ‘JoJo bragais’ สื่อจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ‘Lazada’ (สังกัดประเทศฟิลิปปินส์) และแอปพลิเคชัน ‘QIY’ ฯลฯ ซึ่งนั่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สายสะพายประเทศฟิลิปปินส์แข็งแกร่งมากในยุค WME-IMG

ในช่วง 2015-2020 สาวงามจากฟิลิปปินส์สามารถคว้ามงกุฏไปได้ถึง 2 ครั้ง คือ Pia Alonzo Wurtzbach ในปี 2015 และ Catriona Gray ในปี 2018

ชัยชนะของ Catriona Gray เป็นที่คลางแคลงใจแฟนนางงามทั่วโลกจากภาพการดื่มแชมเปญฉลองบนเครื่องบินส่วนตัวร่วมกับ Chavit Sinson นักการเมืองแนวหน้าของฟิลิปปินส์และเจ้าหน้าที่กองประกวดของมิสยูนิเวิร์สหลายคนหลังจากจบการประกวด แต่ในแง่ของศักยภาพหรือภาพที่เห็นบนเวทีการประกวด ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า Catriona Gray คือคนที่เหมาะสมกับมงกุฏมิสยูนิเวิร์สมากที่สุดในวันนั้น

อีกหนึ่งการเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้นในการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2019 คือ Telemundo ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงมากในแถบลาตินอเมริกาเข้าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส นักวิเคราะห์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่านี่น่าจะเป็นสัญญาณการทวงคืนบัลลังก์ของสาวงามลาตินอเมริกา หลังจากที่พวกเธอพ่ายแพ้ต่อสาวงามจากแอฟริกาใต้และเอเชียแปซิฟิกมาหลายต่อหลายปี

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะหากพิจารณาจากผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในปี 2019 ผู้เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 3 ใน 5 คนเป็นสาวงามจากสาธารณรัฐโดมินิกัน เม็กซิโก และอาร์เจนตินา และอีก 2 ประเทศคือแอฟริกาใต้และประเทศไทย

แต่ผลการประกาศผู้ชนะเลิศกลับหักปากกาเซียนจนแตกกระจายเมื่อ Zozobini Tunzi สาวงามจากแอฟริกาใต้ปาดมงกุฎมาเป็นของเธอด้วยคำตอบทรงพลังที่ว่า

“สิ่งสำคัญที่เราควรสอนเด็กผู้หญิงคือภาวะความเป็นผู้นำ นั่นคือคุณสมบัติที่เด็กสาวหรือผู้หญิงเราไม่เคยมี ไม่ใช่เพราะพวกเราไม่ต้องการ แต่สังคมแปะป้ายว่าพวกเราไม่คู่ควร ฉันเชื่อว่าพวกเรา (ผู้หญิง) คือสิ่งมีชีวิตที่มีพลังมากที่สุดในโลก ฉะนั้นเราควรได้รับโอกาสในทุกๆ เรื่อง เราควรสอนเด็กๆ ให้เข้ามามีบทบาทกับโลกใบนี้ ไม่มีสิ่งใดสำคัญกว่าการได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโลกใบนี้และลงหลักปักฐานตัวเองให้แข็งแกร่ง”

ชัยชนะของ Tunzi ในปี 2019 กอบกู้ความเชื่อมั่นในความยุติธรรมของมิสยูนิเวิร์สยุค WME-IMG ก่อนที่จะถูกทำลายลงในปีถัดมาเมื่อสาวงามจากเม็กซิโก Andrea Meza คว้ามงกุฏไปแบบค้านสายตาคนดู แต่พูดให้ถึงที่สุด เมื่อพิจารณาจากประวัติการทำงานทั้งในแวดวงบันเทิงและสิทธิมนุษยชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอเองก็มีคุณสมบัติที่คู่ควรกับมงกุฏนางงามจักรวาล เพียงแค่เธอไม่โดดเด่นที่สุดบนเวที

จะว่าไปผลการตัดสินในยุค WME-IMG ก็มีความคล้ายคลึงกับในยุคทรัมป์โดยเฉพาะช่วง 2 ปีหลังมานี้ เกิดภาพชัดเจนว่าผลการตัดสินเกิดจากการขับเคี่ยวระหว่างอำนาจของทุนและความยุติธรรมบนฐานคะแนนของกรรมการ กระแสแฟนนางงาม และบริบทของสังคมโลก ปัจจัยนี้เองที่ทำให้เราไม่อาจคาดเดาได้ 100% ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เพราะในแต่ละปี เราไม่รู้ว่าฝั่งใดจะแข็งแกร่งกว่า

ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการขับเคี่ยวของสองขั้วอาจทำให้หลายคนเบื่อหน่ายและรู้สึกผิดหวังหากผลไม่เป็นดั่งใจปรารถนา แต่ในมุมกลับ ความไม่แน่นอนนั้นพร้อมจะจุดความหวังครั้งใหม่ให้บังเกิดขึ้นได้เมื่อฤดูกาลการแข่งขันใหม่มาถึง เพราะอย่างน้อยๆ เรารู้อยู่ในใจว่าการถ่วงดุลอำนาจแห่งความงามนั้นพร้อมจะเอนเอียงไปหาความยุติธรรมได้เสมอ ไม่วันนี้… ก็วันหน้า

การประกวดมิสยูนิเวิร์สจึงเปรียบเสมือนภาพจำลองของกลไกทางสังคมในโลกที่ทุนนิยมเดินทางคู่ขนานกับประชาธิปไตย ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับทิศทางความไปได้ในเรื่องต่างๆ แต่ระบบ กติกา รวมถึงเสียงของเราในฐานะ ‘ผู้เล่น’ ก็มีความหมายและมีพลังมากพอที่จะลุกขึ้นมาคานอำนาจของทุนไม่ว่ามันจะยิ่งใหญ่เพียงใด

และด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ การประกวดนางงามจึงไม่ใช่สื่อบันเทิงไร้สาระดังที่หลายคนเข้าใจ เพราะมันอาจทำให้ใครหลายคนเรียนรู้ว่าเสียงของเขามีความหมาย แม้ว่ามันจะจำกัดอยู่เพียงแค่ปริมณฑลแห่งวัฒนธรรมมวลชน แต่ใครจะรู้ว่านั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการตระหนักรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเสียงของเขามีความหมายในทุกๆ พื้นที่ หากเขาเลือกที่เปล่งมันออกมา

หรืออย่างน้อยๆ เสียงของคนอื่นๆ ที่ดังก้องในเวทีการประกวดนางงามก็น่าจะช่วยเปิดหูเปิดตาและทำให้ใครหลายคนยึดโยงตัวเองกับความเป็นพลเมืองโลก

…ซึ่งสวนทางโดยสิ้นเชิงกับกับความเป็นพลเมือง ‘ทิพย์’ อย่างที่ ‘เขา’ หลอกลวง


อ้างอิง

MISS UNIVERSE

Trump’s Miss Universe Gambit

Trump in Moscow: what happened at Miss Universe in 2013

A Timeline of Donald Trump’s Creepiness While He Owned Miss Universe 

When Donald Trump brought Miss Universe to Moscow

Trump Criticizes Former Miss Universe | Alicia Machado Speaks Out

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save