fbpx

มุราลีสายฟ้าฟาด Minnal Murali

ผมเจอะเจอหนังเรื่อง Minnal Murali ด้วยความบังเอิญใน Netflix โดยไม่รู้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งเดียวที่พอจะคาดเดาล่วงหน้าได้คือเป็นหนังตลก

จนกระทั่งดูไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็ทราบเพิ่มเติมขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่านอกจากจะเป็นงานรื่นรมย์เบาสมองแล้ว ยังเป็นหนังในแนวซูเปอร์ฮีโรด้วย

ครั้นทราบเช่นนี้ ท่าทีปฏิกิริยาของผมก็เปลี่ยนแปลงไปฉับพลัน จากเดิมที่ดูด้วยอารมณ์เฉื่อยเนือยเรื่อยเปื่อย กลายเป็นความกระตือรือร้นสนใจ ต่อมอยากรู้อยากเห็นเรื่องของชาวบ้านชาวช่อง เดินเครื่องทำงานเต็มกำลัง เกิดเป็นความกระหายใคร่รู้ว่า ‘หนังซูเปอร์ฮีโรอินเดีย’ จะออกรสและออกฤทธิ์เช่นไร

ที่รู้สึกเช่นนี้ก็เพราะหนังตระกูลซูเปอร์ฮีโรนั้น แม้จะเป็นประเภทหนังยอดนิยม มีการสร้างออกมาเยอะ มีผู้ชมทั่วโลกติดตามอย่างหนาแน่นชุกชุม แต่เมื่อมองย้อนไปยังแหล่งผลิต แทบจะเป็นการผูกขาดโดยวงการหนังอเมริกันประเทศเดียวเท่านั้น (อาจนับญี่ปุ่นเป็นข้อยกเว้นอีกประเทศก็ได้นะครับ)

พ้นจาก 2 ประเทศนี้แล้ว การทำหนังซูเปอร์ฮีโรแลดูเป็นของแปลก ผิดที่ผิดทาง และไม่รู้สึกสนิทใจ จนลามเลยไปถึงการไม่ยอมรับคล้อยตามขณะดู

อันที่จริงหนังซูเปอร์ฮีโรต่างด้าว (หมายถึงหนังสัญชาติอื่นๆ ทั่วโลก นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น) รวมๆ แล้วน่าจะมีอยู่เยอะ ผมเองก็น่าจะเคยผ่านตามาบ้าง แต่เมื่อระลึกย้อนทบทวนดู กลับนึกไม่ออกเลยว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

ผมจึงลองคิดดูว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? พบว่าคำตอบและความเป็นไปได้มีเยอะแยะไปหมด ตั้งแต่ทุนสร้าง ความชำนาญของบุคลากร ความรู้เกี่ยวกับงานสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ฯลฯ

พูดได้ว่า หยิบจับอะไรขึ้นมาก็ดูจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หนังซูเปอร์ฮีโรเกิดขึ้นได้ยากไปซะทั้งนั้น เปรียบได้เหมือนพืชผลพันธุ์พิเศษที่ปลูกแล้วโตงอกงาม ออกดอกออกผลได้เฉพาะแค่ในญี่ปุ่นและอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ล่วงเลยถึงปัจจุบัน ประดาสาเหตุทั้งหลายแหล่ข้างต้น อย่างเช่นทุนสร้าง เทคนิคพิเศษ หรือความรู้ความชำนาญ อะไรต่างๆ เหล่านี้ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับการทำหนังซูเปอร์ฮีโรอีกต่อไปแล้วนะครับ เนื่องจากโลกเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้นด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ สามารถถ่ายเทแลกเปลี่ยนเรียนทันกันได้สะดวกขึ้นกว่าในอดีต (ตัวอย่างชัดๆ คือเวลาดูหนังซูเปอร์ฮีโรของ Marvel เครดิตตอนท้ายเรื่องจะพบชื่อทีมงานเป็นชาวเอเชียเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย รวมถึงคนไทย) รวมไปถึงการร่วมทุนสร้างข้ามชาติ ระดมเงินจากหลายๆ แหล่ง

ผมเชื่อของผมเองแบบไม่ยืนยันความถูกต้องนะครับว่า มี 2 ปัจจัยที่ยังคงเป็นกำแพงอุปสรรคขนาดมหึมาสำหรับการสร้างหนังซูเปอร์ฮีโร ซึ่งบรรดาคนทำหนังจากประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถฝ่าข้ามไปได้ง่ายๆ

อย่างแรกคือรากฐานความคุ้นเคย

อเมริกามี comic ของค่าย DC และ Marvel เป็นต้นทุนอันอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ญี่ปุ่นมี manga เป็นวัตถุดิบอันมั่งคั่ง ทำหน้าที่ปูพื้นสร้างความคุ้นเคยกับซูเปอร์ฮีโรมายาวนาน และมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ เมื่อบอกเล่าเปลี่ยนจากสื่อหนังสือนิยายภาพมาเป็นสื่อภาพยนตร์จึงราบรื่นง่ายดาย

ปัจจัยต่อมาคือทั้ง 2 ประเทศ มีภาพพจน์ของความทันสมัยไฮเทค เป็นผู้คิดค้นพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การให้กำเนิดซูเปอร์ฮีโรแล้ววางทาบเรื่องราวเหตุการณ์ลงไปบนฉากหลังทางสังคมจึงแลดูสอดคล้องกลมกลืน ไม่ขัดเขินประดักประเดิด

ผมคิดว่าทั้ง 2 เงื่อนไขนี้ประกอบรวมและเกี่ยวเนื่องกันอย่างแนบแน่น จนเกิดเป็นสายธารการ์ตูนและหนังซูเปอร์ฮีโรที่แข็งแรงในอเมริกาและญี่ปุ่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งโดยลำพัง

เคยมีคนถามผมว่าทำไมหนังไทยจึงไม่ค่อยมีหนังซูเปอร์ฮีโร ผมตอบไปประมาณว่าทำยาก และที่ยากกว่านั้นคือจะทำอย่างไรให้คนดูเชื่อ?

มานึกได้ภายหลังว่า มีหนังไทยแนวซูเปอร์ฮีโรอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น หนังชุดขุนพันธ์ ของก้องเกียรติ โขมศิริ ซึ่งเลือกมาทางย้อนยุค และแสดงความเก่งกล้าของตัวละครโดยใช้คาถาอาคม ซึ่งเป็นคนละเกณฑ์คนละมาตรฐานกับซูเปอร์ฮีโรของฮอลลีวูดหรือหนังญี่ปุ่น

ย้อนหลังไปนานกว่านั้น หนังอย่างอินทรีแดง อินทรีทอง เหยี่ยวราตรี ก็พอจะนับเป็นซูเปอร์ฮีโรแบบไทยๆ ได้เหมือนกัน แต่ความรู้สึกของผม หนังเหล่านี้โน้มเอียงไปทาง ‘คนนอกกฎหมายช่วยตำรวจจับผู้ร้าย’ เสียมากกว่า ยังไม่ไปถึงขั้นพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง

อินทรีแดงฉบับปี 2553 ของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มีคุณสมบัติตรงตามขนบของหนังซูเปอร์ฮีโรสากลอย่างแท้จริง ในหมวดหมู่เทือกแถวเดียวกับ Batman แต่หนังก็ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ และมีปัญหาเกี่ยวกับงานด้านเทคนิคพิเศษ ซึ่งใช้ทุนสร้างมโหฬารในเวลานั้น เทียบแล้วก็ยังเป็นรองหนังฝรั่งอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงเลี่ยงไม่พ้นปัญหาคลาสสิกคือซูเปอร์ฮีโรเป็นเรื่องที่เชื่อยากในหนังไทย

หนังไทยซูเปอร์ฮีโรอีกจำนวนหนึ่งอย่างผลงานของสมโพธิ แสงเดือนฉาย เช่น ท่าเตียน, ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ, หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์, หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง, ยอดมนุษย์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ก็เป็นการนำเอาตัวละครจากวรรณคดีและตำนานพื้นบ้านที่มีอยู่แล้วมาสวมบทบาทเป็นซูเปอร์ฮีโร ไม่ใช่การสร้างขึ้นใหม่ และต้องผนวกเอาซูเปอร์ฮีโรจากญี่ปุ่นมาร่วมมือปราบอธรรมพิทักษ์โลก

หนังกลุ่มนี้จึงเป็นซูเปอร์ฮีโรแบบครึ่งๆ กลางๆ ในความรู้สึกของผม

อ้อมโลกไปไกลเลยนะครับ เจตนาก็เพื่อจะบอกว่า เพราะผมมีความเชื่อเป็นทุนเดิมว่าหนังซูเปอร์ฮีโรที่ไม่ได้ made in U.S.A. หรือ made in japan สร้างความเชื่อถือให้ผู้ชมยอมรับได้ยาก ดังนั้นการมาพบเจอซูเปอร์ฮีโรภารตะจึงเป็นเรื่องชวนลุ้นระทึกเร้าใจว่าจะไปรอดหรือจอดไม่ต้องแจว

ผลสอบออกมาปรากฏว่าผ่านฉลุย รวมถึงสามารถแก้โจทย์เรื่องความน่าเชื่อถือได้อย่างชาญฉลาด จนผมถึงกับรำพึงรำพันว่า ทำไมเราถึงไม่เคยคิดในมุมนี้มาก่อน

Minnal Murali เป็นหนังอินเดียปี 2022 พูดภาษามลยาฬัม (Malayalam) หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าเป็นผลผลิตจาก Mollywood

เนื้อเรื่องนั้นเป็นไปตามระเบียบแบบแผนของหนังซูเปอร์ฮีโรทุกประการ เหตุเกิดในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง ช่วงเวลาในหนังไม่ได้ระบุชัด แหล่งข้อมูลที่ผมอ่านเจอก็กล่าวไว้ไม่ตรงกัน มีทั้งทศวรรษ 1980 และ 1990 แต่ดูจากเสื้อผ้าหน้าผมที่ปรากฏในหนังแล้วน่าจะเป็น 1980 นะครับ

หนังเล่าเทียบเคียงสลับระหว่างตัวละครหลัก 2 คนตั้งแต่ต้นจนจบ รายแรกเป็นหนุ่มเท่ทันสมัยประจำหมู่บ้านชื่อเจซัน มีอาชีพเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งและวางแผนตระเตรียมไปขุดทองในอเมริกา แต่กลับติดขัดมีปัญหาเรื่องการทำหนังสือเดินทาง เนื่องจากโดนนายตำรวจใหญ่ประจำหมู่บ้านกลั่นแกล้งขัดขวาง โทษฐานที่บังอาจมาจีบลูกสาว ซ้ำร้ายกว่านั้น คนรักของเจซันยังหมั้นหมายและแต่งงานกับชายอื่น ส่งผลให้อกหักยับเยินและจมอยู่กับความเศร้า

อีกหนุ่มหนึ่งเป็นลูกจ้างในร้านน้ำชาชื่อศิปู ซึ่งโดนนายจ้าง รวมถึงผู้คนในหมู่บ้านเหยียดหยันดูแคลน และรุมรังแกอยู่เนืองๆ ศิปูเคยชอบสาวสวยชื่ออุษา แต่เธอก็หนีตามชายอื่นไปนานหลายปี ก่อนกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้งหลังเลิกรากับสามี พร้อมด้วยลูกสาวที่ป่วยเป็นโรคร้าย การกลับมาของหญิงสาวที่ศิปูหมายปอง ส่งผลให้ชีวิตซังกะตายของชายหนุ่มกลับมาคึกคักและมีเป้าหมาย เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือแม่ม่ายลูกติด หวังพิชิตใจเธอ

และแล้วชีวิตของ 2 หนุ่มก็แปรเปลี่ยนไป ในวันที่ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ออกรายการโทรทัศน์เล่าว่า เกิดปรากฏการณ์ดาวเสาร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสเรียงตัวเป็นรูป 3 เหลี่ยม ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกๆ 700 ปี ส่งผลให้เกิดพลังงานสนามแม่เหล็ก ทำให้ฟ้าแลบฟ้าผ่าอย่างหนาแน่น

คงเดาได้ไม่ยากนะครับว่าในค่ำคืนดังกล่าว เจซันและศิปูโดนฟ้าผ่าพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นหนังก็เป็นไปตามสูตรของหนังซูเปอร์ฮีโรอย่างครบครัน แบบที่ผู้ชมสามารถคาดคะเนพล็อตกว้างๆ ทะลุปรุโปร่งได้ไม่ยาก

เพื่ออรรถรสในการดู ผมคงไม่ลงสู่รายละเอียดมากนัก ขออนุญาตเล่ากว้างๆ แค่ว่าเหมือนนำเอาหนังเรื่อง Spider-Man ผนวกควบกับ Joker นั่นคือด้านหนึ่งเล่าถึงเส้นทางของชายหนุ่มคนหนึ่งว่ากลายมาเป็นซูเปอร์ฮีโรได้อย่างไร ขณะที่อีกฟากก็เล่าถึงชะตาชีวิตที่ค่อยๆ ก้าวเดินเข้าสู่ด้านมืดตามลำดับของฝ่ายผู้ร้าย

ขณะที่โครงเรื่องคร่าวๆ เดาได้ไม่ยาก และตรงตามขนบหนังซูเปอร์ฮีโรของฮอลลีวูดไม่มีผิดเพี้ยน รายละเอียดปลีกย่อยตามรายทางกลับไม่เป็นไปตามสูตร

อย่างแรก หนังจงใจเล่นกับข้อห้ามอย่างหนึ่งของการเขียนบท ในหนังส่วนใหญ่ทุกๆ แนว มักระมัดระวังไม่ให้ตัวละครรู้อะไรต่อมิอะไรช้ากว่าคนดู เพราะจะทำให้ตัวละครดูไม่ค่อยฉลาด จางรสในการลุ้นเอาใจช่วยและสร้างความประหลาดใจ รวมทั้งอาจทำให้รู้สึกว่าดำเนินเรื่องอืดช้า (เนื่องจากคนดูรู้ล่วงหน้าไปไกลโขแล้ว)

Minnal Murali เจตนาเล่นกับการรู้ช้าของตัวละครอย่างเต็มที่และใจเย็นเป็นน้ำแข็งโรยแป้งตรางู ความสนุก (มากๆ) ส่วนหนึ่งอยู่ที่คนดูรู้ตั้งแต่ตัวละครทั้งสองโดนฟ้าผ่าแล้วว่าผลลัพธ์ถัดจากนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด แต่หนังก็ประวิงเวลา ค่อยๆ เล่าแบบขยี้รายละเอียดไปทีละนิด จนคนดูต้องลุ้นเอาใจช่วยว่าเมื่อไหร่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง

พูดง่ายๆ กว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโรและจอมวายร้าย เส้นทางนั้นยาวไกลและเยิ่นเย้อพิรี้พิไรมาก มีทั้งการพักฟื้นร่างกายให้หายบอบช้ำหลังจากโดนฟ้าผ่า, การค้นพบความผิดปกติต่างๆ, ความสามารถพิเศษที่ค่อยๆ ปรากฏทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว การทดสอบอิทธิฤทธิ์ว่าทำอะไรได้บ้าง และสิ่งใดที่ทำไม่ได้, การปกปิดอำพรางไม่ให้ผู้คนล่วงรู้ว่าเป็นซูเปอร์ฮีโรและผู้ร้าย ฯลฯ

ขั้นตอนเหล่านี้มีอยู่ในหนังแนวซูเปอร์ฮีโรทั่วไป แต่ Minnal Murali น่าจะเป็นส่วนน้อยที่แจกจางจาระไนกันถี่ถ้วนและค่อยเป็นค่อยไปมากเป็นพิเศษ

ลักษณะเช่นนี้ ควรจะทำให้หนังน่าเบื่อและไม่สนุก แต่ Minnal Murali กลับตรงกันข้าม เพราะการใช้จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือบทหนังเต็มไปด้วยอารมณ์ขันมากมาย

อารมณ์ขันโดยรวมของหนังไม่ใช่แก๊กแรงๆ ที่เรียกเสียงหัวเราะจะแจ้ง แต่เป็นตลกน่ารักๆ ที่ดูแล้วอมยิ้ม และทำให้หนังมีเสน่ห์มากๆ

จุดเด่นต่อมาคือ กว่าเหตุการณ์จะเป็นไปตามครรลองหนังซูเปอร์ฮีโร หนังก็มีพื้นที่มากมายสำหรับการเล่าเรื่องราวปลีกย่อยและเปิดโอกาสให้ผู้ชมทำความรู้จักคุ้นเคยกับตัวละครรายล้อม ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกครอบครัวของเจซัน (ตัวละครหลานชายนั้นน่ารัก ขบขัน และขโมยซีนอยู่เกือบตลอดเวลา) หรือทีมตำรวจประจำหมู่บ้านที่เป็นผู้ร้ายแบบการ์ตูน

ตัวละครและเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้คนเหล่านี้ชวนรื่นรมย์มาก ให้อารมณ์และเสน่ห์คลับคล้ายการดูหนังไทยยุคเก่าอย่าง มนต์รักลูกทุ่ง (หรือจะยกตัวอย่างใหม่กว่านั้นก็เช่น มนต์รักทรานซิสเตอร์ ช่วงที่พระเอกยังไม่ได้หนีเข้ากรุงเทพฯ)

ข้างต้นนี้เชื่อมโยงกับอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญสูงสุดของ Minnal Murali นั่นคือการเลือกทำหนังซูเปอร์ฮีโร บนฉากหลังที่เป็นชนบทห่างไกลความเจริญและความทันสมัย (การกำหนดให้เหตุการณ์เกิดในช่วงทศวรรษ 1980 ยิ่งช่วยสนับสนุนแง่มุมนี้ให้เด่นชัดขึ้น เมื่อทั้งหมู่บ้านไม่มีโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต)

พูดง่ายๆ คือหนังย้อนศรภาพเดิมฝังใจผู้ชมที่ว่า ซูเปอร์ฮีโรเคียงคู่กับความทันสมัย หันเหกลายเป็นการโลดแล่นวาดลวดลาย แสดงฤทธิ์เดชโดยมีทุ่งนาเป็นฉากหลัง ขับเคี่ยวต่อสู้กันบนรถโดยสารประจำหมู่บ้าน (ซึ่งมีสภาพเหมือนรถเมล์มินิบัสผสมกับรถสองแถว) ตัวละครไม่ได้สวมเครื่องแบบหรือมีรูปลักษณ์ที่ดูล้ำ แต่เป็นซูเปอร์ฮีโรที่นุ่งผ้าโธตี สวมรองเท้าแตะ (กว่าตัวละครจะปรากฏโฉมในชุดซูเปอร์ฮีโรจริงๆ ก็ปาเข้าไปช่วง 10 นาทีสุดท้ายของหนังนู่นแล้วนะครับ)

การเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรท่ามกลางบรรยากาศแบบท้องถิ่น ไม่เพียงแค่ส่งผลให้ผู้ชมเชื่อคล้อยตามและยอมรับได้สนิทใจเท่านั้น แต่ยังทำให้หนังมีกลิ่นอายอินเดียอยู่เต็มเปี่ยม จนกลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรที่ด้านหนึ่งเป็นไปตามขนบครบถ้วน และอีกด้านหนึ่งก็มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างโดดเด่น

สิ่งที่ผมชอบอีกอย่างหนึ่งคือ การย่อส่วนให้ระดับของการเป็นผู้พิทักษ์และทำลายล้างของคู่ตัวละครอยู่ในขอบเขตเล็กๆ พอเหมาะพอสมกับสถานที่เกิดเหตุ ไม่มีการมุ่งหมายครองโลกหรือทำลายล้างจักรวาล มีเพียงแค่ความอาฆาตมาดร้ายเล่นงานผู้คนในหมู่บ้านเพื่อตอบโต้ที่ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ, การปล้นธนาคาร (ซึ่งเป็นอาคารซอมซ่อชั้นเดียว), การอาละวาดในงานโรงเรียน เพื่อเอาคืนฝ่ายตำรวจ และเหตุลอบวางเพลิงที่ไม่หนักหนารุนแรงมากนัก

ทุกอย่างที่กล่าวมา สามารถนำไปทาบจับกับหนัง marvel ได้หมดและตรงกันเป๊ะ เพียงแต่เปลี่ยนสเกลจากระดับโลก ระดับจักรวาล กาแล็กซี มาเป็นระดับหมู่บ้าน

แม้ Minnal Murali จะโดนพิษสงของโควิด-19 เล่นงาน ตั้งแต่ช่วงเตรียมงานสร้าง ช่วงถ่ายทำ รวมกระทั่งการออกฉาย จนท้ายสุดก็ตัดสินใจเผยแพร่ทางสตรีมมิงโดยตรง ไม่เข้าโรง แต่ก็ประสบความสำเร็จแบบลงเอยด้วยดี ทั้งจำนวนยอดผู้ชม และเสียงตอบรับคำวิจารณ์

มันไม่ใช่หนังที่ยอดเยี่ยมดีงามเลิศเลอหรอกนะครับ แค่ดีแบบน่าพึงพอใจ แต่ถ้าคำนึงถึงความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรอินเดีย งานชิ้นนี้ก็เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งมาก

โดยเฉพาะในประการสำคัญคือ มันเป็นหนังที่สร้างสรรค์และเปี่ยมด้วยรสชาติแปลกใหม่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save