fbpx
Mental Models อัลกอริทึมแห่งความคิด

Mental Models อัลกอริทึมแห่งความคิด

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

เป็นที่รู้กันว่าเมื่อสกัดเรื่องแต่งทั้งหลายในโลกให้ถึงขีดสุด เราจะแยกออกมาได้หกรูปร่างพื้นฐาน

นักวิจัยจากเวอร์มอนต์ศึกษาเรื่องนี้ผ่านการวิเคราะห์อารมณ์ตัวบท ไม่ต่างจากวิธีที่นักการตลาดพยายามจับอารมณ์ของฝูงชนบนโซเชียล พวกเขาใช้วิธีการเดียวกันกับนิยายอังกฤษ 1,700 เรื่อง แยกเส้นกราฟอารมณ์ขึ้นลงออกมาได้หกแบบถ้วน

หนึ่งคือ Rag to Riches เป็นการพัฒนาไต่ขึ้นมาจากโชคร้ายไปสู่โชคดีตามลำดับ สองกลับกัน Riches of Rag คือเรื่องราวของเศรษฐีตกอับ หรือคนต้นดีปลายร้าย สามคือเรื่องแบบ Icarus ที่ติดปีกบินสูงขึ้นแล้วร่วงหล่นลงสู่ผืนพิภพ สี่คือ Oedipus ตกต่ำ-พุ่งสูงขึ้น-ก่อนร่วงลงอีกครั้ง ห้าคือ Cinderella เป็นรูปแบบ ขึ้นสูง-ตกต่ำ-และขึ้นสูงอีกที และสุดท้ายแบบที่หกคือ Man in a hole – ตกต่ำแล้วขึ้นสูง

น่าทึ่งที่ไม่ว่ามหากาพย์จะซับซ้อนซ่อนเงื่อนแค่ไหน เราต่างแยกเส้นเรื่องเล็กๆ ออกมาได้ในหกแบบนี้ทั้งสิ้น อาจเป็นเส้นกราฟซ้อนซ่อนภายในหรือพาดผ่านทับกันบ้าง แต่ความจริงในหน่วยเล็กๆ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเรารู้เรื่องนี้แล้ว เราก็อาจมองเรื่องแต่งด้วยสายตาที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเห็นมันเป็นรูปร่างแฟร็กทัลของหน่วยเล็กๆ หกชนิด – จะว่าไป มันคือโมเลกุลที่ประกอบกันเป็นเรื่องเล่านั่นเอง

ผมเกิดนึกสงสัยว่าเมื่อเรื่องแต่งต่างประกอบด้วยโมเลกุลพื้นฐานเช่นนี้ แล้วเรื่องจริง ปรากฏการณ์จริงจะประกอบด้วยโมเลกุลพื้นฐานในรูปแบบไหน

หนังสือนอนฟิกชันในช่วงหลังอาจมีสีสัน บอกเล่าเฉดเรื่องจริงเพื่อสกัดข้อมูลออกมาเป็นบทเรียนในรูปแบบแตกต่างกัน แต่พื้นฐานของหนังสือเหล่านี้มีส่วนประกอบที่ซ้ำไปซ้ำมาอยู่ เราเห็นฟลินน์เอฟเฟกต์ (Flynn Effect) ถูกบอกเล่าด้วยวิธีการแตกต่างทว่าซ้ำเดิมหลายครั้ง รวมถึงเรื่องดันนิ่ง-ครูเกอร์ ที่ถูกใช้ประยุกต์เพื่ออธิบายปรากฏการณ์น้อยใหญ่ เรื่องอคติในใจมนุษย์อย่างการหลีกเลี่ยงการเสีย (Loss Aversion) หรือการยึดสมอ (Anchoring) ก็มีให้เห็นในหนังสือและบทความดาษดื่น

ความดาษดื่นไม่ใช่เรื่องน่าน้อยเนื้อต่ำใจ มันอาจดาษดื่นด้วยความที่มีประโยชน์ก็ได้ สิ่งที่ผมอยากรู้คือ มีลิสต์ใดในโลกนี้ไหมที่ไล่เรียงส่วนประกอบพื้นฐานให้เห็นจะแจ้งและครบถ้วนเหมือนกับที่นักวิจัยจากเวอร์มอนต์ทำกับเรื่องแต่ง

ปรากฏว่ามี – และไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนอื่น ทว่าใหม่สำหรับผม – คือแขนงวิชาที่เรียกว่า Mental Models

ไม่มีคำนิยามคำว่า Mental Models ที่เป็นที่ยอมรับกันถ้วนทั่ว แต่โดยพื้นฐาน มันคือการอธิบายกระบวนการทางความคิดที่มีต่อปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นบนโลก มันเป็นการแทน (Representation) โลกรอบตัวอย่างเป็นระบบ ประโยชน์ของ Mental Models คือการทำให้เรามองโลกผ่านฟิลเตอร์แตกต่าง ซึ่งอาจทำให้กระบวนการคิดเฉียบคมหรือชัดเจนมากขึ้น คำอธิบายหนึ่งที่ผมชอบคือเราอาจมอง Mental Models เป็นอัลกอริทึมส่วนบุคคล

ครั้งยังเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผมเก็บอัลกอริทึมเหมือนคนเก็บเครื่องมือสารพัดประโยชน์ ยิ่งรู้จักอัลกอริทึมมาก – ตั้งแต่วิธีการเรียงค่าแบบบับเบิลที่ง่ายที่สุดแต่ห่วยที่สุด ไปจนถึงอัลกอริทึมเข้ารหัสแบบ RSA ที่มีประโยชน์แต่ซับซ้อน – ก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ปัญหาหนึ่งเมื่อถูกมองผ่านเลนส์แตกต่างของอัลกอริทึมหลากหลาย ก็คล้ายกับว่าปัญหานั้นถูกกระเทาะเปลือกจนเหลือเนื้อเป็นความจริงขึ้นทุกที

ยิ่งเราสะสมวิธีคิดที่เป็น Mental Models และนำไปปรับใช้มากเท่าไร เราก็ยิ่งสามารถมองปรากฏการณ์ต่อหน้าได้อย่างตัดขาดและเชื่อมโยงไปพร้อมกันมากเท่านั้น หนึ่ง Mental Models คือหนึ่งอุปกรณ์ที่เราสามารถเก็บลงกล่องเครื่องมือ เป็นสกรู เป็นน็อต เป็นเลื่อย มีดและสิ่ว ไม่ต่างจากการแกะสลักหิน การแกะกระเทาะปัญหาหนึ่งๆ ให้สะบั้นอาจต้องใช้หลายอุปกรณ์ผสมกัน

Scott E. Page ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาระบบซับซ้อน สังคมศาสตร์และการจัดการจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สอนไว้ในวิชา Model Thinking ถึงประโยชน์ของ Mental Models ว่าการเข้าใจโมเดลทำให้เราคิดได้เป็นระบบกว่าเดิม ทำให้เราเห็นความจริงอย่างที่เป็น เช่น เมื่อรู้ว่าเส้นรอบวงกลมนั้นมีค่าเท่ากับ 2πr เราก็สามารถตอบคำถามที่ว่าหากต้องการใช้เส้นเชือกล้อมโลกที่เส้นศูนย์สูตร โดยยกเส้นเชือกให้สูงกว่าพื้น 1 เมตรและกำหนดให้พื้นโลกราบเรียบและเป็นทรงกลมสมบูรณ์ จะต้องใช้เส้นเชือกยาวกี่เมตร มันทำให้เราสื่อสารกับคนรอบข้างได้ชัดเจน และทำให้เราพบขอบเขตทางตรรกะของคำพูด เช่น เมื่อมีสุภาษิตขัดกัน อย่าง “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” และ “Too many cooks in the kitchen” เราควรเลือกเชื่อสุภาษิตใดในสถานการณ์ไหน

นอกจากนั้นยังทำให้เราสามารถพยากรณ์ (Predict) เหตุการณ์ในอนาคต รวมถึงทำนายเหตุการณ์ในอดีต (Retrodict) เช่น ตรวจสอบโมเดลทำนายหุ้นกับผลลัพธ์ในอดีตได้อีกด้วย และเมื่อโมเดลมีความแข็งแกร่งมากๆ ก็อาจทำให้เรารู้ตัวแปรซ่อนเร้นอย่างที่ Urbain Le Verrier นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสใช้โมเดลกลศาสตร์ของนิวโตเนียนชี้ถึงการมีอยู่ของดาวเนปจูนก่อนค้นพบจริง

เมื่อมันหมายความถึงกระบวนการคิด Mental Models จึงแทรกซึมอยู่ในทุกวงการ ตั้งแต่จิตวิทยาการตลาดไปจนวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่วิศวกรรมไปจนถึงชีววิทยา โมเดลจากแขนงวิชาหนึ่งอาจถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอีกวิชาได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น โมเดลการแพร่กระจายของโรคอาจปรับใช้กับการเผยแพร่ข่าวสารในยุคอินเทอร์เน็ตที่ยืมคำมาใช้โต้งๆ ว่าไวรัล หรือการเข้าใจเรื่องเอนโทรปีอาจทำให้เราเข้าใจคุณค่าในการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องหมายเหตุไว้ตัวใหญ่ๆ คือโมเดลทั้งหมดนั้นผิด ไม่มีอะไรที่ถูกต้องสมบูรณ์เลย

George Box นักสถิติเคยกล่าวไว้ว่า “All models are wrong, but some are useful. – โมเดลทั้งหมดนั้นผิด แต่ก็มีบางอันที่มีประโยชน์” ซึ่งหมายความว่าไม่มีโมเดลใดที่แทนความจริงได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการผูกยึดตัวเองเข้ากับโมเดลหนึ่งๆ โดยไม่โงหัวขึ้นมาเลือกใช้อุปกรณ์อื่นเลยอาจเป็นเรื่องโง่เง่า

Box กล่าวต่อว่าอย่างดี ทุกโมเดลก็เป็นเพียงการประมาณการณ์ความจริงเท่านั้น คำถามที่ควรถามคือ เราจะอนุญาตให้โมเดลหนึ่งๆ ผิดได้แค่ไหน จึงจะเลิกใช้มัน (หรือใช้มันในสัดส่วนที่น้อย) ไม่ต่างจากคำกล่าวที่ว่า “The Map Is Not the Territory – แผนที่ไม่ใช่อาณาเขต” เพราะถ้าแผนที่เป็นอาณาเขตเสียแล้ว มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไร และอันที่จริงความหมายของคำว่าโมเดลก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่ามันเป็นเพียง ‘แบบ’ เท่านั้น ไม่ใช่ของจริง เหมือนกับที่โลกนี้ไม่มีวงกลมสมบูรณ์แบบเพราะโลกนี้ยุ่งเหยิง ซับซ้อนและเป็นกายภาพเกินไป

ประเด็นสำคัญจึงเป็นการเลือกใช้โมเดลหลายตัวเพื่อมองปัญหาหรือสถานการณ์หนึ่งๆ

ปัจจุบันบนอินเทอร์เน็ตมีผู้รวบรวม Mental Models ไว้มากมายอยู่แล้ว แต่อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้า ความดาษดื่นไม่ใช่ข้อพิสูจน์ของความไร้ประโยชน์ หากเราเลือกอ่านและเลือกใช้โมเดลที่เกี่ยวข้อง ประยุกต์ถูกวิธี เราก็สามารถสกัดประโยชน์ออกมาได้ นั่นคือความหวังของการเดินทางตามหาโมเดลผ่านบทความชุดนี้ และหวังว่านี่จะเป็นการเดินทางที่พาเราเข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าความจริงนั้นจะหมายถึงอะไรก็ตาม

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save