fbpx
สีสันของคนหม่นมืด : McQueen

สีสันของคนหม่นมืด : McQueen

 ‘นรา’ เรื่อง

ช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา คาบเกี่ยวจนถึงขณะนี้ มีหนังสารคดีที่น่าสนใจเข้าฉายตามโรงในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนังไทยอย่าง Girls Don’t Cry ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์  2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ของณฐพล บุญประกอบ และผลงานจากต่างประเทศอย่าง Westwood : punk, icon, activist และ Ryuichi Sakamoto : Coda รวมถึง McQueen ที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟัง

McQueen เป็นสารคดีว่าด้วยชีวิตและผลงานของลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน แฟชันดีไซน์เนอร์ที่กลายเป็นตำนาน ผู้มีผลงานโดดเด่นและก่อให้เกิดข้อถกเถียงโต้แย้ง ทั้งในด้านบวกด้านลบมากที่สุดคนหนึ่ง ในช่วงระหว่างทศวรรษ 1990-2010

McQueen อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน

ก่อนดูหนังเรื่องนี้ ผมมีความหวั่นกังวลอยู่พอสมควร เนื่องจากโลกของแฟชันนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่ ‘หนูไม่รู้’ อย่างใสสะอาดในระดับได้คะแนนศูนย์เต็มสิบ จึงเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจ ตามไม่ทัน และเข้าไม่ถึง ไม่ซาบซึ้งคล้อยตามไปกับหนัง

หลังจากดูหนังจบลง ผมได้ข้อสรุปดังนี้ครับ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องแฟชันของผม ยังคงเสมอต้นเสมอปลายเลวร้ายเท่าเดิม แต่ด้วยความเก่งในการถ่ายทอดเรื่องราวของคนทำหนัง รวมถึงความเข้มข้นน่าสนใจของชีวิตบุคคลที่นำมาบอกเล่า ทำให้ McQueen กลายเป็นสารคดีที่ดูง่าย สนุกชวนติดตาม และทรงพลังในการสร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง

หนังเล่าถึงเส้นทางชีวิตของลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ซึ่งเข้าข่าย rags-to-riches จากพื้นเพครอบครัวชนชั้นล่าง สู่การค้นพบศักยภาพความสามารถของตนเอง และตระหนักว่าสิ่งใดคืองานที่รักชอบอย่างแท้จริงในขณะเป็นวัยรุ่น การฝึกฝนเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานออกแบบแฟชัน (ลีไม่เคยเรียนมาโดยตรงหรือมีความรู้ตามหลักวิชาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน) ก้าวแรกๆ ในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเข้าสู่วงการ มีผลงานสร้างชื่อ (และอื้อฉาว) จนกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในเวลาอันรวดเร็ว

ความสำเร็จ ชื่อเสียง และความร่ำรวยที่ถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กัน จนยากแก่การรับมือจัดการได้เท่าทัน บวกรวมกับบาดแผลชีวิตรุนแรงฝังลึกในวัยเยาว์ บุคลิกนิสัยที่ฝังจิตฝังใจอยู่กับความมืดหม่นและอารมณ์ฉับไวอ่อนไหวเปราะบางแบบศิลปิน ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาสารพัดสารพัน ทั้งความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน เพื่อนเก่า และคนรัก อีกทั้งความสูญเสียอันหนักหน่วงหลายครั้งหลายครา ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดผลลัพธ์ขัดแย้ง 2 อย่าง ด้านหนึ่งก็ขับเคลื่อนให้งานออกแบบแฟชันของแม็คควีนรุดหน้าก้าวไกล แต่ในอีกด้านหนึ่งก็นำพาชีวิตของเขาไปสู่จุดที่ ‘ก้าวเดินต่อไปไม่ไหว’ กระทั่งนำไปสู่โศกนาฏกรรมอันเศร้าสะเทือนใจ

เส้นทางและรายละเอียดในชีวิตของแม็คควีนนั้น เหมือนหนังที่เป็นเรื่องแต่งหรือนิยายดรามาชั้นดี

ลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน

ถึงตรงนี้ ผมขออนุญาตเลี้ยวแวะข้างทางยืดยาวพอสมควร มีข้อสังเกตเกี่ยวกับอย่างหนึ่งในการทำหนัง ซึ่งผมพบเห็นมาเป็นเวลาพอสมควร นั่นคือ ขณะที่หนังจำนวนหนึ่งที่เป็นเรื่องแต่ง มีแนวโน้มพยายามมุ่งไปในทางสมจริง หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งด้วยเทคนิควิธีของภาพยนตร์ (เช่น ตัดต่อลำดับภาพแต่น้อย ถ่ายทำแบบลองเทค ลดทอนการเคลื่อนกล้อง จัดแสงให้ดูเป็นธรรมชาติมากกว่าจะคำนึงถึงความสวยงาม ใช้มุมกล้องที่ไม่โลดโผนและรักษาระยะไม่นำพาผู้ชมเข้าไปใกล้ชิดกับตัวละคร จนกลายเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ในวงนอก ฯลฯ)  การเขียนบทผูกเรื่องให้เรียบง่าย เหมือนเป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งจำลองลักษณะของภาพให้ออกมาใกล้เคียงกับหนังข่าวหรือสารคดี (บางเรื่องก็ไปถึงขั้นจงใจปลอมตัวเป็นสารคดีแบบที่เรียกว่า mockumentary ตัวอย่างไม่ไกลนักก็เช่น หนังเรื่อง I, Tonya)

แนวโน้มของหนังที่พยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อสร้างความสมจริงนั้น ผมคิดว่า เป้าหมายเจตนาหลักๆ ก็เพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อถือในเรื่องที่บอกเล่านะครับ

ในทางตรงกันข้าม หนังสารคดีนั้นอยู่บนพื้นฐานของเรื่องจริง โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การร้อยเรียงลำดับข้อมูลที่มีอยู่ จัดระเบียบให้แก่วัตถุดิบจำนวนมาก เลือกสรรว่าควรจะเน้นประเด็นเนื้อหาอันกระจัดกระจายไปในทิศทางใดให้เด่นชัด และตัดทิ้งคัดออกในประเด็นใด เพื่อไม่ให้รบกวนหรือแย่งชิงพื้นที่ในการเล่าประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอ

ที่สำคัญคือ เมื่อได้ยินคำว่าหนังสารคดีทีไร ผู้ชมส่วนใหญ่ในวงกว้าง มักจะมีภาพและความเชื่อฝังลึกล่วงหน้า ถึงน้ำเสียงท่าทีเป็นงานเป็นการ ความเคร่งเครียดจริงจัง ความแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา และย่อหย่อนปราศจากความบันเทิง อันเป็นผลมาจากหนังสารคดีเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นหมวดหมู่แขนงใหญ่ของหนังสารคดี และเป็นหนังสารคดีในแบบที่ผู้ชมคุ้นเคยผ่านตามากสุด

ด้วยต้นทุนพื้นฐานต่างๆ ข้างต้นทั้งหมด จึงทำให้หนังสารคดีส่วนใหญ่ในระยะหลังๆ รวมถึงปัจจุบัน มักสร้างขึ้นโดยมีโจทย์สำคัญว่า ทำอย่างไรจึงจะเล่าเรื่องให้เกิดความสนุกน่าติดตาม

วิธีการนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี บางครั้งรสบันเทิงเกิดขึ้นจากหัวข้อประเด็นที่สารคดีนำเสนอมีสีสันฉูดฉาดจัดจ้านชวนให้สนใจเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว (เรื่อง 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว อาจนับได้ว่าเข้าข่ายนี้ได้ ขณะเดียวกันคนทำหนังก็ยกระดับความบันเทิงโดยใช้วิธีที่ผมกำลังจะกล่าวถึงด้วยเช่นกัน) บางครั้งเกิดจากวัตถุดิบข้อมูลที่มีอยู่ (อันนี้หมายถึงฟิล์ม ภาพ ฟุตเทจ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์เก็บไว้ หรือตัวบุคคลที่มาให้สัมภาษณ์) แต่วิธีการที่พบเห็นได้มากสุดและเป็นที่นิยมมากสุด คือ หยิบยืมวิธีการเล่าเรื่องของหนังเพื่อความบันเทิงมาใช้

องค์ประกอบหลักๆ 3-4 อย่าง ซึ่งหนังสารคดียืมมาจากหนังเพื่อความบันเทิงก็คือ การตัดต่อลำดับภาพ การถ่ายทำเหตุการณ์บางส่วนเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ เพื่อเสริมเข้ากับภาพข้อมูลที่มีอยู่ การใช้ดนตรีประกอบ เพื่อโน้มน้าวเร้าอารมณ์ของผู้ชมให้รู้สึกตามที่หนังต้องการ

และที่สำคัญคือ การลำดับวางเค้าโครงเล่าเรื่องให้มีลักษณะเป็น narrative form

คำศัพท์นี้หมายถึง แบบแผนหรือโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งทำกันมาบ่อยและได้ผล จนเกิดเป็นข้อสรุปหรือหลักการที่ยึดถือสืบต่อมา

narrative form นี้มีที่มาจากละครเวที วรรณกรรม แล้วข้ามแขนงมาถึงหนัง มีนิยามหรือหลักเกณฑ์ที่ให้รายละเอียดกันอยู่หลายตำรา ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง (ส่วนใหญ่ใจความหลักตรงกัน ข้อแตกต่างคือ การแตกรายละเอียดมากน้อยผิดแผกกัน) แม้กระทั่งชื่อเรียกขานก็ยังมีได้หลายอย่าง  เช่น บางตำราก็เรียกว่า dramatic structure

สรุปอย่างง่ายๆ ไม่เคร่งครัดและเลี่ยงความเป็นวิชาการ narrative form คือ โครงสร้างในการเล่าเรื่อง ซึ่งเริ่มจากการปูพื้นแนะนำตัวละคร สถานการณ์ เวลา สถานที่ (บางเรื่องอาจมีบทเกริ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเล่าต่อไปอย่างหลวมๆ เช่น ฉากเริ่มเรื่องของหนังชุดเจมส์ บอนด์ทุกภาค หรือตัวอย่างค่อนข้างล่าสุดคือ ฉากบนรถไฟที่ตุรกีในเรื่อง The Equalizer 2)

ถัดมาคือ จุดเร่งเร้าความสนใจ (ตัวอย่างที่ง่ายและชัดสุด คือ ฉากต่อสู้ในหนังแอ็คชันหรือหนังซูเปอร์ฮีโร) ซึ่งจะแทรกสลับเข้ามาเป็นระยะๆ ระหว่างที่เรื่องราวเหตุการณ์คืบหน้า

เรื่องนั้นจะเล่ามาจนถึง ‘จุดพลิกผันหักมุม’ (คำนี้ควรระบุไว้ว่าหมายถึง turning point เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทั้งทิศทางและอารมณ์ของหนัง (turning point นี้มักจะสังเกตได้ชัดในหนังรักโรแมนติก ตัวอย่างที่ผมนึกออกฉับพลัน คือเรื่อง ‘แผลเก่า’ ฉบับพี่เชิด ทรงศรีกำกับ หลังจากช่วงจีบกันแบบพ่อแง่แม่งอนระหว่างไอ้ขวัญกับอีเรียม ซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์ขันและความรื่นรมย์ turning point คือฉากที่ทั้งคู่สาบานรัก และโดนจับได้ว่าลักลอบคบหารักกัน ถัดจากนั้นโทน อารมณ์และสถานการณ์ของตัวละคร ก็กลับกลายไปในทางรันทดสลดเศร้า)

เมื่อเกิดจุดพลิกผันหรือจุดเปลี่ยนแล้ว ลำดับถัดไปคือ สถานการณ์คับขัน ถ้าเป็นหนังแอ็คชันก็เป็นระยะที่ตัวเอกพลาดพลั้งเสียที ถ้าเป็นหนังรัก พระเอกกับนางเอกก็เกิดผิดใจบาดหมางกันและส่อแววย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนนำไปสู่อีกองค์ประกอบสำคัญ

สิ่งนั้นคือ ‘จุดสุดยอด’ หรือ climax ของเรื่องที่ทุกอย่างคลี่คลาย ถ้าเป็นหนังสืบสวนสอบสวนลึกลับก็จะเผยโฉมเฉลยตัวฆาตกร ถ้าเป็นหนังบู๊ก็จะเป็นการเผชิญหน้าต่อสู้กันขั้นแตกหัก ถ้าเป็นหนังรักก็จะคลี่คลายลงเอย (อย่างสมหวังหรือผิดหวัง) แต่ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นไร ช่วงนี้คือช่วงที่เป้าหมายของหนังจะต้องนำพาอารมณ์คนดูไปสู่ขีดขั้นสุด

กลับมาต่อที่ McQueen นะครับ สารคดีเรื่องนี้มี narrative form ที่ชัดเจนจะแจ้งมากและตรงตามขนบแบบแผนที่มีอยู่เป๊ะๆ ทุกลำดับขั้นตอน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเรื่องราวในชีวิตของลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ซึ่งมีชีวิตเหมือนนิยายหรือเรื่องแต่ง (พูดอีกอย่างคือ มีเส้นทางชีวิตเป็น narrative form อยู่ก่อนแล้ว)

ลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน

อย่างไรก็ตามจากฟุตเทจดั้งเดิมที่คนทำหนังมีอยู่ รวมทั้งแง่มุมทางเนื้อหา ซึ่งมีประเด็นให้เลือกเน้นนำเสนอได้หลายหลากมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความหลงใหลในด้านมืดของแม็คควีน เบื้องหลังการทำงานแฟชันโชว์แต่ละชุด รายละเอียดในการทำธุรกิจ ความรักที่เริ่มต้นอย่างสุขสมแล้วจบลงด้วยการแยกทาง ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ความผูกพันภายในครอบครัว การเจาะลึกถึงสาเหตุของโศกนาฏกรรม หรือการสำรวจตัวตนเบื้องลึกของแม็คควีนในทางจิตวิทยา  หรือคุณค่าของผลงานที่เขาสร้างสรรค์

พูดง่ายๆ คือ McQueen มีทางแยกให้หยิบจับหรือเลือกเดินเยอะ และถ้าเลือกแง่มุมใด พล็อตและโครงสร้างของหนังก็อาจจะพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงกลายเป็นอีกเรื่องได้ไม่ยาก ในแง่นี้ผู้กำกับจึงมีบทบาทสำคัญในการชี้วัดตัดสินว่าหนังจะออกมาเช่นไร

เท่าที่เป็นอยู่ McQueen เลือกที่จะนำเสนอให้ผู้ชมได้เห็นภาพรวมกว้างๆ ครอบคลุมหลายๆ แง่มุมข้างต้นที่กล่าวมา ไม่ได้เจาะจงลงลึกส่วนใดมากเป็นพิเศษ ถ้าจะมีการให้น้ำหนักความสำคัญอยู่บ้างก็คือ การทำให้ตัวหนังเป็นทั้งการสดุดีผลงานของแม็คควีน และความพยายามที่จะสำรวจตรวจสอบต้นสายปลายเหตุของเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้น ผ่านการบอกเล่าไทม์ไลน์หรือเส้นทางชีวิตของเขา

McQueen แบ่งการเล่าเรื่องเป็น 5 บท ตามชื่อการแสดงโชว์ 5 ครั้งสำคัญของเขา ซึ่งเกิดขึ้นเรียงตามลำดับเวลา ดำเนินเรื่องกระชับฉับไว ผ่านบทสัมภาษณ์บุคคลจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา (และมีภาพการให้สัมภาษณ์ของแม็คควีนผ่านสื่อต่างๆ เป็นการเทียบเคียง) ความน่าทึ่งคือ การร้อยเรียงและเลือกบทสัมภาษณ์แต่ละบุคคลอย่างเหมาะเจาะ จนเรื่องเล่าดำเนินไปอย่างสอดคล้องลื่นไหล บวกรวมกับการใช้ภาพแทรกสลับ ถึงขั้นหนึ่ง ผมก็ลืมไปเลยว่ากำลังดูหนังสารคดี และรู้สึกเหมือนกำลังดูหนังดรามาชั้นดี โดยมีบรรดาผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหลาย (รวมทั้งตัวแม็คควีน) กลายเป็นตัวละครที่กำลังสวมบทบาทโลดแล่นบนจอ

นอกเหนือจากวิธีการเล่าเรื่องที่ดีและสนุกเข้มข้นชวนติดตามมากๆ แล้ว ผมคิดว่าความดีงามในสารคดีเรื่องนี้ มีอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ

อย่างแรกคือ การทำให้ผู้ชมเข้าถึงความงาม พลังความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถเข้าขั้นอัจฉริยะของแม็คควีน

ความรู้สึกของผมหลังจากดูจบ ผมคิดว่าการแสดงแฟชันโชว์ของแม็คควีน (โดยเฉพาะโชว์ 5 ครั้งสำคัญในแต่ละบท) ข้ามเส้นไปไกลเกินกว่าการออกแบบเสื้อผ้าอาภรณ์ แต่เป็นการทำงานศิลปะชนิดหนึ่ง มีทั้งความงาม ความสุนทรี การทดลองที่กล้าหาญ บุกเบิกริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ยั่วเย้าท้าทายให้ผู้ชมเกิดข้อถกเถียง ตีความ ครุ่นคิดต่อผลงานที่เขานำเสนอ

ที่สำคัญ แฟชันโชว์ของแม็คควีน มีแก่นสารสาระและแนวความคิดที่แน่ชัด โดยเฉพาะแง่มุมเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกกระทำทางเพศ บางคอลเล็คชันเช่น Highland Rape แสดงนัยยะชัดเจนเกี่ยวกับการข่มขืน ผ่านการออกแบบเสื้อผ้าที่มีร่องรอยฉีกขาด  การแต่งแต้มรอยเปรอะเปื้อนที่ชวนให้นึกจินตนาการถึงคราบน้ำกาม การติดเครื่องประดับในตำแหน่งล่อแหลม ทรงผม การแต่งหน้า ท่วงท่าการเดินของนางแบบที่มีสภาพเหมือนบอบช้ำมาจากการถูกกระทำย่ำยี

หรือบางคอลเล็คชัน เช่น Voss ที่ล้ำและดูเหมือนการทดลองทางศิลปะชั้นเยี่ยม ออกแบบฉากและตำแหน่งของผู้ชมให้นั่งดูเงาสะท้อนของตนเองในกระจก และเมื่อเริ่มทำการแสดง แสงไฟรอบข้างที่ดับลง สว่างเฉพาะบนเวที ซึ่งมีกระจกกั้น (นางแบบไม่สามารถมองเห็นผู้ชม ขณะเดียวกันคนดูก็มีสถานะกลายเป็นพวกถ้ำมอง) ก็ทำให้โชว์ชุดนี้จำลองบรรยากาศชวนหลอนของสถานบำบัดคนไข้โรคจิต และสื่อสะท้อนถึงความป่วยไข้ในจิตใจของมนุษย์)

ที่น่าสนใจมากคือ หนังเล่าถึงกำเนิดแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานแฟชันจากเรื่องราวที่มืดหม่นดำสนิท เช่น เหตุการณ์ก่อคดีฆาตกรรมของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ นิยายสยองขวัญเรื่อง ‘น้ำหอม’ รวมทั้งการปลดปล่อยระบายออกของด้านมืดมากมายที่สุมแน่นอยู่ในตัวของแม็คควีน

งานออกแบบของแม็คควีนนั้น หวือหวา จัดจ้าน แรง ท้าทายขนบ หลอน น่าสะพรึงกลัว และหมิ่นเหม่คาบเส้นศีลธรรม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เปี่ยมด้วยความงามอันประณีตและความวิจิตรบรรจง

แฟชั่น น้ำหอม

จุดเด่นประการต่อมาของหนังก็คือ การสะท้อนภาพของแม็คควีน ซึ่งเป็นชีวิตของศิลปินอัจฉริยะที่ต้องแลกเปลี่ยนพรสวรรค์ที่มีด้วยรายจ่ายราคาแพง ทั้งประสบการณ์เลวร้ายในวัยเยาว์ ความฉับไวต่อเรื่องทุกข์เศร้ามากกว่าปกติ การดิ้นรนต่อสู้ทำงานหนักขั้นหักโหม การยืนกรานเชื่อมั่นในความคิดอุดมคติของตนเองท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตี การถูกสภาพแวดล้อมและสถานะคนดัง ผลักดันให้ต้องเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ จนนำไปสู่ปัญหาเรื่องการสูญเสียตัวตนดั้งเดิม และอีกมากมายสารพัดสารพันปัญหา ล้วนแล้วแต่หนักหน่วงสาหัส

สิ่งที่ผมชอบคือ หนังไม่ได้เล่าเรื่องชีวิตมืดหม่นของแม็คควีน แบบบีบคั้นฟูมฟาย แต่ค่อยๆ ปล่อยให้แง่มุมต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนผ่านผลงานของเขา และผ่านคำบอกเล่าของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคน เป็นชิ้นส่วนเศษเสี้ยวเล็กๆ ที่ค่อยๆ ปะติดปะต่อจนเกิดภาพรวม บางแง่มุมก็เป็นเพียงการคาดเดาข้อสันนิษฐานของผู้ให้ปากคำ ซึ่งยังไม่อาจพิสูจน์ยืนยัน บางข้อมูลก็เป็นการเล่าที่ผู้ชมตระหนักได้ว่า อาจเล่าผ่านมุมมองที่เจือด้วยอคติและฉันทาคติ

ทั้งหมดนี้เมื่อประกอบรวมกับลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของแม็คควีน ส่งผลให้ผู้ชมตระหนักรับทราบถึงปัญหาความทุกข์ในชีวิตของเขาแบบกว้างๆ และยังคงมีแง่มุมเบื้องลึก โดยเฉพาะความสลับซับซ้อนในจิตใจของแม็คควีน ที่ยากจะมีใครเข้าใจและเข้าถึงรู้สึกได้โดยถ่องแท้

ไม่เฉพาะแต่เมื่อเทียบกับหนังสารคดีด้วยกันเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมความครอบคลุมไปถึงหนังอื่นๆ ทุกประเภททุกแนว ผมคิดว่า McQueen สมควรนับเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มหนังยอดเยี่ยมประจำปี อย่างไร้ข้อสงสัย

ลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save