fbpx
Mary Macarthur ลูกคนรวยที่เรียกร้องสิทธิให้แรงงานผู้ถูกกดขี่

Mary Macarthur ลูกคนรวยที่เรียกร้องสิทธิให้แรงงานผู้ถูกกดขี่

ค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิในการลาพักผ่อน การได้รับเงินชดเชยของผู้หญิงที่ลาคลอดลูก และสวัสดิการของคนทำงานในทุกวันนี้ ไม่ได้มีที่มาจากนายทุนใจดี แต่มาจากการต่อสู้เรียกร้องเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และคนที่มีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานั้นคือแมรี่ แม็คคาร์เธอร์ (Mary Macarthur) ลูกสาวนักธุรกิจใหญ่ที่เลือกต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน


เปลี่ยนเป้าหมายชีวิต เพราะเข้าประชุม


แมรี่คงไม่ได้คาดคิดว่า การเข้าไปฟังการประชุมของกลุ่มเจ้าของธุรกิจร้านค้า เพื่อนำข้อมูลมาใช้บริหารธุรกิจของครอบครัว จะทำให้ความคิดของเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

เธอเกิดในปี 1880 ที่สก็อตแลนด์ เป็นลูกสาวของนักธุรกิจขายผ้าผู้ร่ำรวย ธุรกิจของพ่อเธอไปได้ดีจนมีร้านค้าอยู่หลายสาขา เธอเข้าทำงานที่ร้านค้าของพ่อเธอในตำแหน่งนักบัญชี และเตรียมตัวเป็นทายาทนักธุรกิจผู้ร่ำรวยคนต่อไป

แต่ในปี 1901 พ่อของเธอแนะนำให้เข้าประชุมกับเจ้าของธุรกิจร้านค้าในเมือง ทำให้เธอได้ยินเรื่องราวการเอาเปรียบแรงงานของเจ้าของธุรกิจ ทั้งการให้ค่าแรงน้อยนิดแต่ต้องทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง สภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครรู้หรือใส่ใจเท่าไหร่ในยุคสมัยนั้น

หลังการเข้าประชุม เธอจึงเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตจากการสานต่อธุรกิจของพ่อให้ประสบความสำเร็จ เป็นการเรียกร้องสิทธิที่เป็นธรรมให้แรงงานผู้ถูกขูดรีด


สมัครเข้าสหภาพแรงงาน แต่ไม่ดีพอเลยขอตั้งใหม่


เมื่อความคิดเปลี่ยนแล้ว แมรี่ไม่รอช้าที่จะสานต่อสิ่งที่อยากเห็น นั่นคือชีวิตแรงงานที่ดีขึ้นและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน หลังจากย้ายบ้านมาอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษแล้ว เธอจึงสมัครเข้าสหภาพแรงงานสตรี WTUL (Women’s Trade Union League) ในปี 1903 แต่เข้าร่วมไปได้สักพักก็รู้สึกว่าสหภาพไม่มีเงินทุนเพียงพอ และไม่มีอำนาจผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนงานได้ เธอจึงตัดสินใจก่อตั้งสหพันธ์แรงงานสตรีแห่งชาติ NFWW (National Federation of Women Workers) ในปี 1906 โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงแรงงานเข้าร่วมกลุ่มให้มากที่สุดและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนงาน

สิ่งที่เธอและ NFWW ทำนั้นไปไกลกว่าแค่การจัดตั้งองค์กรและเชิญชวนให้แรงงานมาสมัครสมาชิกเพียงเท่านั้น แต่สามารถจุดประเด็นให้สังคมรับรู้ถึงความรันทดของชีวิตแรงงานที่สามารถสั่นสะเทือนไปถึงนโยบายของรัฐบาล


บอกให้โลกรู้ว่าแรงงานถูกกดขี่


เพื่อให้โลกได้รู้ว่าชีวิตแรงงานนั้นลำบากและถูกเอารัดเอาเปรียบแค่ไหน แมรี่ลงพื้นที่จริงในโรงงานต่างๆ และนำมาถ่ายทอดให้สังคมวงกว้างรับรู้ผ่านนิทรรศการ Sweated Industries Exhibition ในปี 1906 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายของแรงงานที่ต้องอดทนทำงานหนักเพื่อนายทุนในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับแรงงานผู้หญิงและเด็กที่ทำงานมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมงแลกกับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด หรือไม่ก็ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เลวร้าย เช่น อากาศหนาวจัด ห้องทำงานที่สกปรก ฯลฯ

ผลลัพธ์ของการจัดนิทรรศการในครั้งนั้นได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม มีผู้คนเกือบ 3 หมื่นคนเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ และหนังสือคู่มือของนิทรรศการที่บรรยายชีวิตของแรงงาน 45 คน ก็ขายหมด 5 พันเล่มในเวลาเพียง 10 วัน นอกจากนั้นเธอยังจัดทำหนังสือพิมพ์ The Woman Worker เพื่อนำเสนอข้อมูลความรู้ให้แรงงานผู้หญิงตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิให้กับตนเอง และนำเสนอข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกสหภาพแรงงาน

พลังของการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อของเธอและ NFWW สร้างความตื่นตัวให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาของแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแรงงานจำนวนมากตื่นตัว รัฐบาลก็นิ่งเฉยไม่ได้ จึงออกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำในปี1909 (The 1909 Trade Boards Act) เป็นผลสำเร็จ โดยเริ่มต้นใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ก่อน

แต่ชีวิตของแรงงานก็ไม่ง่ายดายขนาดนั้น เมื่อเจ้าของธุรกิจไม่ยอมจ่ายค่าแรงตามกฎหมาย สิ่งที่เธอและเหล่าแรงงานต้องทำคือการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ควรได้รับ


ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้


การต่อสู้ครั้งสำคัญของแรงงานที่กลายเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในอังกฤษ เกิดขึ้นในปี 1910 ที่เมือง Cradley Heath เริ่มต้นจากการที่เจ้าของธุรกิจหลายแห่งไม่ยอมจ่ายค่าแรงตามที่กฎหมายกำหนด แมรี่และ NFWW จึงอาสาเข้าไปเจรจากับนายจ้างเพื่อต่อรองให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามที่ควรได้รับ แต่ไม่เป็นผล เมื่อแรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรม เธอจึงตัดสินใจปลุกระดมแรงงานหลายร้อยคนให้หยุดงานประท้วง

แต่การต่อสู้ระหว่างแรงงานกับนายจ้างไม่เคยง่ายเลยสักครั้ง

ปัญหาแรกคือเรื่องเงิน การประท้วงหยุดงานต้องใช้เงินทุนมากมายในการดำเนินการ ทั้งค่าครองชีพให้แรงงานที่เข้าร่วมประท้วง ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้แรงงานมาเข้าร่วม ฯลฯ

ปัญหาที่สองคือจุดประเด็นให้สังคมตื่นตัวเพื่อกดดันนายจ้าง หากไม่มีแรงกดดันจากสังคมแล้ว การจะให้นายจ้างยอมจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้น คงเป็นแค่ความฝัน

เธอจึงใช้ประสบการณ์ในการทำหนังสือพิมพ์ สื่อสารเรื่องการประท้วงของแรงงานไปยังสังคม โดยเขียนข่าวแจกสื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น Daily Express  The Times  ฯลฯ สัมภาษณ์แรงงานที่มีชีวิตยากลำบากซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง บทสัมภาษณ์ที่ดึงดูดความสนใจคนในวงกว้างมากที่สุดคือ บทสัมภาษณ์นางเพเชียนส์ ราวด์  (Patience Round) แรงงานโรงงานผลิตโซ่อายุ 79 ปี ที่ต้องทนทำงานหนักมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมงมาตั้งแต่อายุ 12 ปี นางเพเชียนส์ให้สัมภาษณ์ว่า “การประท้วงที่ Cradley Heath ทำให้ฉันรู้จักกับสิทธิของแรงงานที่ไม่เคยรู้จักมาตลอดชีวิต”

นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว เธอยังใช้พลังของสื่อภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น นำเสนอข่าวการประท้วง โดยติดต่อให้สำนักข่าว บริติช ปาเต (British Pathé) ถ่ายทำสารคดีการประท้วงของแรงงาน และจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ ถึงแม้จะเป็นสารคดีที่ไม่มีเสียงด้วยเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้น แต่สารคดีเรื่องนี้ก็สามารถเข้าถึงกลุ่มคนดูได้เกือบ 10 ล้านคน

ด้วยทักษะการเขียนข่าว การเล่าเรื่อง การวางแผนการใช้สื่อของเธอที่นำเสนอปัญหาของแรงงานให้สังคมรับรู้ ทำให้การประท้วงในครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 10 สัปดาห์ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งการได้รับเงินบริจาคจากประชาชนและภาคธุรกิจมากกว่า 4 พันปอนด์ (คิดเป็นเงินไทยในตอนนี้ประมาณหนึ่งแสนกว่าบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมากในสมัยนั้น) รวมไปถึงจุดประเด็นให้สังคมตื่นตัวถึงสิทธิของแรงงาน จนกดดันให้นายจ้างยอมจ่ายค่าแรงตามกฎหมายขั้นต่ำเป็นผลสำเร็จ

แม้เรื่องราวความทุ่มเทในการเรียกร้องสิทธิให้แรงงานจะผ่านมาร้อยกว่าปีแล้ว แต่ผลงานและอุดมการณ์ของเธอยังส่งผลมาถึงคนรุ่นหลัง


สิ่งที่เธอทิ้งไว้


แมรี่เสียชีวิตลงปี 1921 จากโรคมะเร็งด้วยอายุแค่ 40 ปีเท่านั้น แต่สิ่งที่เธอและแรงงานในอดีตร่วมกันต่อสู้ก็ส่งผลมาถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานในปัจจุบัน ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิการลาคลอดของผู้หญิง กฎหมายแรงงานต่างๆ  รวมถึงการที่เธอมีส่วนร่วมในการจัดตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) ที่มีภารกิจส่งเสริมให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์

อาจจะมีหลายคนที่มองว่าคนธรรมดาหนึ่งคนจะไปเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร แต่แมรี่ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอทำได้ ด้วยการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมุ่งมั่นในการสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ถึงความไม่ยุติธรรมที่แรงงานได้รับ เมื่อสังคมรับรู้ก็เกิดพลัง จากเสียงของเธอเพียงหนึ่งคนกลายเป็นร้อยคน พันคน หมื่นคน แสนคน ล้านคน จนกลายเป็นเสียงที่มีพลังมหาศาลและเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในที่สุด

————————–

อ้างอิง

  1. https://www.bclm.co.uk/media/learning/library/witr_marymacarthur.pdf
  2. https://neu.org.uk/media/2941/view
  3. https://warwick.ac.uk/services/library/mrc/archives_online/digital/tradeboard/1906
  4. https://www.wcml.org.uk/our-collections/activists/mary-macarthur/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save